ปกิณณกธรรม ตอนที่ 562


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๖๒

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๓


    ผู้ฟัง โวฏฐัพพนจิต มาตัดสินอารมณ์อย่างไร ก็เห็นแล้ว ตั้งแต่วิญญาณนั้น

    ท่านอาจารย์ เกิดก่อนชวนะ แล้วแต่ว่า ชวนะจะเป็นกุศล หรืออกุศล

    ผู้ฟัง มาตัดสินอีกทีอย่างนั้น หรือ

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่คนที่กำลังนั่งตัดสิน และไม่ใช่คำตัดสิน แต่เป็นเหมือนกิริยาจิตซึ่งต้องเกิดก่อน กุศล หรือ อกุศล เพราะว่าจิตก่อนนั้นเป็นวิบาก

    ผู้ฟัง ตอนแรกที่เป็นปัญจวิญญาณ อาจจะเห็นเป็นคน

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้เลย ปัญจวิญญาณจะเห็นเป็นคนไม่ได้ มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ มีรูป ๑๗ ขณะซึ่งยังไม่ดับ ยังไม่ถึงขณะที่ ๑๗ เพราะฉะนั้น ต้องมีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ นี่เป็นเหตุที่เราจะเรียน เรื่องรูป มีอายุเท่าไร ปรากฏทางทวารไหน เมื่อดับแล้ว ก็จะไปรู้อีกไม่ได้ เพราะว่าดับไปหมดแล้ว นอกจากว่ามโนทวารจะรับสืบต่อ จากทางปัญจทวาร แต่ต้องมีภวังค์คั่น

    ผู้ฟัง ดิฉันมานึกถึงว่า ตัดสินอารมณ์ตอนแรกก็

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องคิดเลย หมายความว่าจิตขณะนี้เกิดหนึ่งขณะก่อน กุศลจิต อกุศลจิต ตามการสะสมแล้วแต่ว่าจิตขณะต่อไปจะเป็นอะไร

    ผู้ฟัง ดิฉันมาเข้าใจผิดว่า ที่เห็นนั้น เห็นอาจจะ เห็นว่า สมมติเป็นสัตว์บุคคลอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ ขณะที่เป็นปัญจทวารวิถี จะไม่มีบัญญัติเข้ามาเกี่ยวข้องเลย ต้องฟังแล้วพิจารณาด้วย เพราะเหตุว่าถ้าฟังแล้วก็ไม่พิจารณา อาจจะจับข้อความแล้วข้ามบางตอนที่เป็นความสำคัญ เช่น ถ้าบอกว่า ถ้าอารมณ์ใดชัด วิถีจิตของเขา ก็จะสืบต่อไปจนถึงทางมโนทวาร ที่ชัดที่นี่ต้อง ต่อไปจะทราบว่า เมื่อชวนจิตเกิด ตทาลัมพนะจิตเกิด ที่ว่าชัดที่นี้เกี่ยวกับว่า อารมณ์นั้น เป็นอารมณ์ที่อายุเท่ากับ ๑๗ ขณะ ยังไม่ดับ ก่อนที่จะถึงชวนะ แต่ตามความเป็นจริงแล้ว นั่นเป็นเรื่องการเกิดดับสืบต่อของจิต แต่เวลาที่สติจะเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมไม่เลือก ข้อสำคัญที่สุดว่าอย่าให้มีจุดหนึ่ง จุดใดซึ่งเป็นจุดติด มีความข้อง มีความติด หรือมีความหวัง ไม่ว่าจะฟังเรื่องของความเพียร ไม่ว่าจะฟังเรื่องอะไรก็ตาม อย่างวิริยารัมภกถา ที่มีข้อความว่าให้มีการอบรมเจริญปัญญา เหมือนกับไฟไหม้บนศีรษะ ก็รีบทำกันเลย เพราะคิดว่าปฏิบัติคือทำ แต่ถ้าวิริยารัมพกถา จริงๆ ความเพียร ความอดทน แม้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นี้ จะหมดคำสอนไปแล้ว แต่ก็สามารถที่จะอบรมจนกว่าจะถึงพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ต่อไปก็ได้ ไม่รู้ว่าจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเมื่อไร เพราะว่าเป็นเรื่องละ ไม่ใช่เป็นเรื่องต้องการ

    บุคคลในครั้งสมัย พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ทีปังกร เวลาที่ทรงพยากรณ์ สุเมธดาบสว่า จะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสมณโคดมในอีก ๔ อสงไขยแสนกัป ไม่ใช่ชาติ ไม่ใช่วัน ไม่ใช่เดือน แต่เป็นกัปป บุคคลในครั้งนั้นร่าเริงว่า แม้ว่าคำสอนของพระศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระทีปังกร นี้ เขาไม่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ แต่อีก ๔ อสงไขยแสนกัป เขาอาจจะรู้ได้ ในสมัยของพระสมณโคดม ทำไมมีข้อความอย่างนี้ นี่เป็น วิริยารัมภกถา ที่ถูกต้องหรือเปล่า ว่าไม่ใช่มีตัวตนที่จะทำ ต้องการเหลือเกิน จะนั่งทั้งวันคืนทั้งวัน เลือดเนื้อ กระดูกจะเหือดแห้ง หรือว่าจะทำสัก ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี เพราะหวังว่า มีข้อความนี้ในพระไตรปิฎก แล้วแต่เหตุจะสมควรแก่ผล เมื่อไร สำหรับเหตุที่สมควรแก่ผล ๗ ปีก็ได้ ๗ เดือนก็ได้ ๗ วันก็ได้ หรือทันทีที่ได้ฟังพระเทศนาจบก็ได้

    การฟังพระธรรม ต้องฟังแล้วก็ ไม่ให้มีจุดที่เราจะไปติด หรือว่าถูกครอบงำด้วยโลภะ เพราะว่าจะหลงทางทันที โลภะ เป็นสมุทัยที่ต้องละ แต่ละได้เมื่อรู้ ถ้าไม่รู้ว่าถูกครอบงำด้วยโลภะ ไม่มีทางเลย ที่จะเป็นอิสระ ไม่ต้องไปกำหนดว่าจะต้องรู้เสียง ไม่ต้องไปกำหนดว่าจะต้องรู้เห็น หรือว่าไม่ต้องไปกำหนดว่า จะรู้สิ่งนั้นสิ่งนี้ นั่นเป็นสิ่งจูงใจ ด้วยโลภะ ที่ต้องการให้ไปทำอย่างนั้น ซึ่งไม่ใช่หนทางที่จะรู้ ความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม เพราะฉะนั้น ต้องฟังแล้วพิจารณาให้ละเอียด ว่าเป็นเรื่องละทั้งหมด

    เสียงเบาสติก็เกิดได้ เสียงดังโทสะก็ตกใจ สติก็ไม่เกิด เพราะฉะนั้น ให้ทราบตามความเป็นจริงว่า แล้วแต่ปัจจัยที่เป็น สังขารขันธ์ แล้วบุคคลนั้นก็จะเห็นความเป็นอนัตตาจริงๆ ว่าแล้วแต่ว่าขณะนั้น สติระลึก เพราะมีปัจจัยที่จะเกิด ไม่ใช่เราติดข้อง พยายาม ที่จะไปรู้อย่างนั้น หรือรู้อย่างนี้ สำคัญที่สุดคือให้เห็นสมุทัย คือ โลภะ ซึ่งทำให้หลงทาง เพราะว่าถ้ามีใครคิดว่าจะรู้สิ่งนั้น สิ่งนี้ ขณะนั้นไม่อิสระเลย รู้ได้เลยว่าถูกครอบงำด้วยความต้องการในสิ่งนั้น แต่ถ้าไม่มีโลภะ แล้วแต่สติจะเกิดเป็นปกติธรรมดา

    เพราะว่าสภาพธรรมเกิดปรากฏ เพราะเหตุปัจจัย แล้วดับไปเร็วมาก เราก็ไม่เดือดร้อน มีสภาพธรรมอื่นปรากฏ สติก็ระลึกได้ เมื่อไรก็แล้วแต่เหตุปัจจัยที่จะเกิดขึ้น ไม่ต้องไปเลือกว่า จะต้องรู้เห็น ไม่ใช่ให้รู้ สี หรือว่ารู้ได้ยิน ไม่ใช่ให้รู้เสียง นั่นเป็นเรื่องของโลภะ สภาพธรรมปรากฏ ทดสอบปัญญา ขณะนี้สติเกิดหรือเปล่า รู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมหรือเปล่า จะรู้ลักษณะของเป็นรูปธรรมหรือเปล่า รู้แค่ไหน เป็ความจริง เป็นผู้ตรง ผู้ที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมต้องเป็นผู้ตรง เมื่อไม่รู้ก็คือไม่รู้

    เมื่อสติเกิดก็คือสติเกิด ไม่ใช่เราจะทำ เมื่อสติเกิดแล้วระลึกอะไร ขณะนั้นเริ่มรู้หรือยัง สิกขา คือสิกขาเริ่มเป็น อธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาสิกขา เมื่อสติระลึกลักษณะของสภาพธรรม ที่เราฟัง ที่เราเรียน แต่ไม่รู้จักตัวจริง เพราะฉะนั้น เราก็จะเป็นผู้ที่ตรง ถ้าสติปัฏฐาน ไม่เกิดก็เป็นแค่ติด แค่เข้าใจ จะศึกษามานานเท่าไรก็ตามก็คือแค่คิด แค่เข้าใจ จะพิจารณาสักเท่าไร ก็คือแค่พิจารณา

    แต่ขณะใดที่สภาพธรรมกำลังปรากฏเฉพาะหน้า คือสติระลึก ขณะนั้นก็ศึกษาเพื่อที่จะเข้าใจ ความเป็นนามธรรม หรือรูปธรรมในขณะนั้น

    ผู้ฟัง โดยมากเราจะเร่งศึกษา โดยการฟัง การอ่านตำรา เป็นส่วนใหญ่ แต่สภาพธรรม ที่กำลังปรากฏจริงๆ ไม่ค่อยจะได้ศึกษา อย่างนี้ก็ มันรู้สึกว่ามันจะไม่ตรงเป้า ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ต้องทราบว่าการพิจารณาโดยไม่มีลักษณะปรากฏให้ค่อยๆ พิจารณา แล้วเมื่อไรจะพิจารณา หรือศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่มีอยู่ตั้งแต่เกิดจนตาย

    ผู้ฟัง คำว่า ศึกษาจริงๆ หมายถึงว่า ต้องขณะที่สภาพธรรมปรากฏ

    ท่านอาจารย์ แล้วศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง อ่านตำรา ฟัง อะไรพวกนี้ ก็เป็นการอบรม ไป

    ท่านอาจารย์ เป็นการลับปัญญาให้คม

    ผู้ฟัง ถ้าเผื่อให้ตัวอย่างแล้ว จะเข้าใจ เหตุที่เรียกว่า ขันธ์มากขึ้น ช่วยกรุณาอธิบายด้วย

    ท่านอาจารย์ สภาพธรรมใดๆ ก็ตามที่ปรากฏ เมื่อเป็นสภาพธรรมแล้วปรากฏ ถ้าไม่รู้ก็คือ อวิชชา แต่ถ้ารู้ก็คือรู้ในลักษณะของสภาพธรรมนั้นจึงจะคลายแล้วก็ละ การยึดถือสภาพธรรมนั้นว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะว่าตามความจริง ก็คือเป็นธรรม

    เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นที่เราจะไปนึกถึง เรื่องของรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไกล ใกล้ หยาบ ละเอียด เลว ประณีต นั่นเป็นสิ่งซึ่งเพียงชื่อ แต่เราไม่สามารถที่จะรู้ได้ ถ้าไม่มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ เท่าที่ได้ฟังมา เท่าที่ทราบว่าเป็นนามธรรม กับรูปธรรม

    เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะตั้งต้น ที่จะเข้าใจจริงๆ แล้วก็เวลาที่สติเกิด ระลึกลักษณะของสภาพธรรมแล้วแต่ว่า ขณะนั้นสภาพธรรมใดสติระลึก ไม่ใช่เราอยากจะไปเลือก หรือพยายามตั้งใจ ที่จะไปรู้ธาตุลม หรือ วาโยธาตุ หรือว่า วิการรูปต่างๆ แต่หมายความว่าขณะนั้น แล้วแต่ว่าสติระลึกที่สภาพธรรมใด มีปัญญาที่จะละความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมนั้นไหม ถ้าเรามัวแต่ไปคิดเรื่องราวต่างๆ โดยที่ว่าไม่ตั้งต้นตามลำดับจริงๆ อย่างไรก็ตาม ต้องทราบว่าสิ่งใดก็ตามที่ปรากฏ แล้วไม่เคยรู้ในลักษณะของสิ่งนั้น แล้วก็เป็นเรากับความสงสัย เช่น เวลาหลับตา กลางแดด ก็อาจจะมีสีต่างๆ ก็อาจจะสงสัยว่า นี่อะไร เป็นนามธรรม หรือเป็นรูปธรรม เป็นกรรมฐานไหม เป็นสติปัฏฐาน ได้ไหม แต่อะไรก็ตามที่มีจริง มีลักษณะปรากฏให้เห็น ขณะนั้นเห็น ก็จะต้องไม่ใช่เรา แต่ว่าเป็นสภาพธรรม ที่เป็นนามธรรม หรือเป็นรูปธรรมค่อยๆ ศึกษาไป แล้วเวลาที่สภาพธรรมปรากฏ เราก็จะรู้ อย่างลักษณะของโทสะ เป็นสภาพที่หยาบกระด้าง ขณะนั้นเลว หรือประณีต โดยศัพท์ใช้คำแสดงให้เห็น ความหลากหลายของสภาพธรรม แต่ก็คือสภาพธรรมตัวจริงในชีวิตประจำวัน มิฉะนั้นแล้วเวลาที่เราศึกษาธรรม เรารู้เรื่องมากมาย แต่ตัวจริงๆ ตั้งแต่เช้าจนกระทั่งถึงเดี๋ยวนี้ เป็นสภาพธรรมอะไรบ้าง หยาบบ้าง ละเอียดบ้าง ก็ไม่รู้ ก็มานั่งถามว่าหยาบเมื่อไร ละเอียดอย่างไร แต่ว่าความจริงมีทั้งหมดเลย แต่ว่าเมื่อปัญญายังไม่ถึงระดับที่จะรู้ ก็ไม่รู้

    เพราะฉะนั้น ปัญญาก็จะต้องรู้ว่า ที่จะรู้จริงๆ ไม่ใช่เพียงแต่เรื่องราว ก็คือมีความเข้าใจที่มั่นคงว่าขณะนี้เป็น ธรรม เราไม่พูดถึงขณะอื่น พูดถึงขณะนี้ เดี๋ยวนี้ เพื่อเตือนให้รู้ว่า ปัญญาของเราระดับไหน เห็นว่าทุกอย่างที่มีในขณะนี้ที่กำลังปรากฏ ทางตาทางหูทางใจ ถ้าจะคิดนึก หรือทางกายที่กระทบสัมผัส รู้จริงๆ ว่าเป็นเพียงธรรมอย่างหนึ่ง ลักษณะหนึ่งหรือเปล่า เพราะว่าคำพูดของเราก็ตั้งต้น ด้วยทุกอย่างเป็น ธรรม แต่กว่าปัญญาจะอบรมเจริญจริงๆ จนกระทั่งสามารถที่จะรู้ได้ว่าทุกอย่างเป็น ธรรมจริงๆ ก็ต้องมีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น แล้วก็ทุกอย่างก็จะค่อยๆ เข้าใจชัดขึ้น

    ผู้ฟัง การเจริญสติ นามรูปเป็นเหตุ เป็นปัจจัย แห่งการบัญญัติวิญญาณขันธ์ คล้ายๆ กับว่า นามรูปนี้เป็นเหตุให้จิตเกิด ถ้าเผื่อเราพิจารณาในแง่ของพระอภิธรรม หรือการเจริญสติ

    ท่านอาจารย์ ก่อนอื่นต้องทราบว่า ถ้าไม่มีอะไรปรากฏจะต้องบัญญัติ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ต้อง

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องเลย แต่เมื่อมี แล้วต้องการให้เข้าใจว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร ก็บัญญัติ เพราะฉะนั้น ในที่นี้ กล่าวถึงเหตุที่จะให้บัญญัติ ลักษณะของสภาพเห็น ที่กำลังมีในขณะนี้ มีจริงๆ แล้วเหตุที่จะให้บัญญัติ สภาพที่กำลังรู้ ก็ต้องมีด้วยว่าสภาพรู้ เกิดจากอะไร มีอะไรเป็นเหตุ เพราะว่าถ้าไม่มีเจตสิก ไม่มีรูป แม้ในขณะปฏิสนธิจิต ก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็ให้ทราบว่าทุกอย่าง มีเหตุมีปัจจัย แล้วแต่ว่าจะทรงยกปัจจัย หรือเหตุใดขึ้นกล่าว อย่างผัสสะ เป็นเหตุให้บัญญัติเวทนา ความรู้สึก จะมี ในสิ่งใด ก็หมายความว่าผัสสเจตสิกกระทบสิ่งนั้น สิ่งนั้นปรากฏ จิตรู้ และความรู้สึกในสิ่งนั้นที่กำลังปรากฏก็มีในขณะนั้น

    เพราะฉะนั้น ก็ให้เห็นความเป็นปัจจัยว่า แล้วแต่ว่าจะทรงยกธรรมใด ขึ้นเป็นเหตุของสภาพธรรมนั้นๆ หรือแม้แต่สัญญาความจำ ขณะนี้ทุกคนกำลังจำ หรือจะกล่าวก็ได้โดยปรมัตถธรรม คือ มีสัญญาเจตสิกเกิดกับจิตทุกขณะ ขณะนี้จำอยู่แล้ว ทุกอย่างบนโต๊ะ ทุกอย่างในห้อง เสียงที่ได้ยิน เป็นสัญญาเจตสิกทั้งนั้น ที่จำ แต่ว่าถ้าไม่มีการกระทบ สัญญาจะจำสิ่งนั้นไม่ได้ และจิตก็จะรู้สิ่งนั้นไม่ได้ ในขณะที่ได้ยินเสียง จำเสียง เพราะว่า เสียงปรากฏ เพราะขณะนั้นผัสสะกระทบเสียง จิตรู้เสียง สัญญาจำเสียง

    นี่ก็เป็นเรื่องที่ถ้าเราจะเข้าใจความสัมพันธ์ หรือความเกี่ยวข้อง ด้วยเหตุด้วยปัจจัยของสภาพธรรม ประกอบกันทั้งหมด เราก็จะไม่สงสัย หรือว่าไม่ข้องใจในพยัญชนะที่ได้ยินได้ฟัง เพราะเหตุว่าต้องเป็นอย่างนี้ตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง อ่านประโยคนี้แล้วมีความรู้สึกว่า นามรูปเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณขันธ์ ก็คือเกิดจิต นามรูปในที่นี้ เราจะพิจารณาว่า เขาเป็นอารมณ์ ทำให้จิตเกิดรู้ ได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ยังไม่รู้ลักษณะของนามธรรม ขณะนี้ที่กำลังเห็น เป็นจิต เราก็พูดกันอย่างนี้ เป็นจักขุวิญญาณ เป็นจิตเห็น เป็นนามธาตุ เป็นนามธรรม ที่กำลังเห็น เราก็พูดอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ถ้ายังไม่รู้ในลักษณะซึ่ง เป็นธาตุ รู้ แล้วเราจะไปรู้ว่าเหตุที่จะให้เกิดธาตุรู้คือ เจตสิกกับรูป แม้แต่ในขณะปฏิสนธิ ก็เป็นไปไม่ได้

    พระธรรมที่ทรงแสดง ทรงแสดงให้ผู้ศึกษา พิจารณาเกิดปัญญา ความเข้าใจกว้างขวางลึกซึ้ง ที่จะสามารถค่อยๆ พิจารณา จนกว่าจะสละละ ความเป็นเรา ให้ทราบจุดประสงค์ของการศึกษาว่า การศึกษาพระไตรปิฎก มีข้อความที่ลึกซึ้ง และกว้างขวางมาก ทั้งในพระสูตร และในพระอภิธรรม ซึ่งจะต้องพิจารณาให้เข้าใจ ให้เข้าใจสภาพธรรม ไม่ใช่ให้ไปติดตรงนั้นตรงนี้ แล้วก็สงสัยว่าทำไมถึงได้กล่าวว่าผัสสะเป็นเหตุที่จะให้บัญญัติ เวทนา สัญญา สังขาร พอถึงวิญญาณ ก็มีนามรูปเห็นเหตุที่จะให้มีบัญญัติวิญญาณ

    แม้แต่คำว่า บัญญัติ ก็ต้องรู้ว่า ต้องมีสิ่งที่มีปรากฏ แล้วใช้คำ บัญญัติ เพื่อให้รู้ ถ้าสิ่งนั้นไม่เกิด ไม่มีไม่ปรากฏ ก็ไม่จำเป็นต้องมีคำบัญญัติอะไรทั้งสิ้น ในสิ่งซึ่งไม่มีไม่ปรากฏ แต่ว่าสิ่งที่มีปรากฏในวันหนึ่ง คือรูปก็ปรากฏ เวทนาก็ปรากฏ สัญญาก็ปรากฏ สังขาร คือเจตสิกอื่น ได้แก่โลภะ โทสะ หรือสติ หรือศรัทธา หรือปัญญาหรือวิริยะ พวกนี้ ก็เป็นสภาพธรรมที่มีปรากฏรู้ได้ในชีวิตประจำวัน และวิญญาณก็ไม่ขาดเลย ตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่เคยขาดเลยสักขณะเดียว

    เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะไปรู้เหตุ ก็จะต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจริงๆ นี่คือการศึกษาสภาพธรรมที่มีจริงที่กำลังปรากฏ โดยอาศัยคำที่ทรงแสดงไว้ในพระไตรปิฎก ให้เข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้ เพราะฉะนั้น ถ้าศึกษาอย่างนี้ เราก็ไม่ลืมไปคิดถึงเรื่องราวต่างๆ แล้วก็ลืมสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้ แต่ถ้าเข้าใจว่า สภาพธรรมตั้งแต่เกิดจนตาย มี โดยที่ไม่เคยรู้ไม่เคยเข้าใจมาก่อน ต่อเมื่อได้ศึกษาก็รู้ว่า พระธรรมทั้งหมดที่ทรงแสดง ก็ให้ปัญญาสามารถ ที่จะเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงๆ แล้วก็ในขณะนี้ด้วย

    เพราะฉะนั้น ทุกขณะก็เป็นเครื่องที่แสดงให้เห็นว่า ความเข้าใจของเรา ในพระธรรมที่ได้ศึกษามาแล้วทั้งหมด มีมากน้อยขนาดไหน สามารถที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ได้ยินจนชินหู ว่าขณะนี้ที่เห็นเป็นสภาพรู้หรือเป็นธาตุรู้ เป็นธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ความจำ ไม่ใช่รูป ไม่ใช่เวทนาหรือความรู้สึก หรือไม่ใช่สังขารขันธ์ นี่ก็เป็นสิ่งซึ่ง ควรที่จะได้เข้าใจว่าการศึกษาจริงๆ ก็คือการศึกษาให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ แล้วก็จะตรงกับ พระธรรมที่ทรงแสดง

    แต่ถ้าเราไม่ศึกษาแบบนี้ เราอาจจะไขว้เขว แล้วก็ไม่ตรง ไม่สามารถที่จะเข้าใจถึง อรรถ ที่ได้ทรงแสดง เรื่องของสภาพธรรม แต่ว่าไม่มีตัวตน ไม่มีสีสัน ไม่มีกลิ่นไม่มีรสที่จะไปรู้ได้ว่า ธาตุรู้มี ลักษณะรูปร่าง กลิ่นอย่างนี้ เป็นเสียงต่างๆ เหล่านี้ เพราะเหตุว่า เป็นนามธาตุล้วน หมายความว่าไม่มีสิ่งใดเจือปนในธาตุชนิดนั้นเลย แต่ธาตุชนิดนั้น มี ไม่ใช่สิ่งที่เราจะมองเห็น จะกระทบจะสัมผัส แต่ว่าสามารถที่จะเข้าใจถูกต้องได้ ว่าลักษณะนี้มี จริงๆ ในขณะนี้ แล้วถ้าไม่เข้าใจในขณะนี้ที่มีจริงๆ การเรียนทั้งหมดของเราจะไม่มีประโยชน์ กี่ภพกี่ชาติก็ไม่ได้ประโยชน์ เพราะเหตุว่าไม่ได้รู้สภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะที่เห็น

    เพราะฉะนั้น ก็ต้องพิจารณา มีความเข้าใจ มีความมั่นคง แล้วก็เวลาที่มีการระลึกได้ ขณะนั้นก็ไม่ใช่เรา ก็จะเข้าใจในความหมายของ สัมมาทิฏฐิความเห็นถูกต้อง คือไม่ใช่เราที่ ทำ หรือว่าที่กำลังพยายามที่จะเข้าใจ

    หนทางนี้จึงเป็นหนทางที่ไกล ยาว ละเอียด แต่ว่าเป็นการอบรมปัญญาที่สามารถจะประจักษ์แจ้ง ในลักษณะของสภาพธรรม ที่มีจริงๆ ไม่ใช่เพียงโดยฟัง แต่สามารถจะประจักษ์ว่า ธาตุรู้เท่านั้น ซึ่งไม่มีอะไรเจือปนเลย ไม่มีรูป ไม่มีสี ไมมีกลิ่น ไม่มีรส ปรากฏเลย

    ในขณะนั้นที่ปัญญาสามารถ ที่จะรู้เฉพาะ ปฏิปัตติ ถึงเฉพาะลักษณะของธาตุรู้ ก็คือสามารถที่จะแยก ธาตุรู้ออกจากรูปที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้ แต่ไม่ใช่โดย ความเพียรที่เป็นเราที่จะทำ เพราะว่าทั้งหมด เป็นเรื่องการอบรมปัญญา แล้วก็จะรู้ว่าปัญญามีหลายขั้น ปัญญาที่สามารถที่จะค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ เข้าใจ ค่อยๆ อบรม ค่อยๆ ระลึก แล้วก็ค่อยๆ รู้ แต่ว่าเป็นความตรงว่าคนนั้น รู้หรือยัง ระลึกบ้างหรือเปล่า ค่อยๆ เข้าใจขึ้นบ้างไหม แม้เพียงนิดๆ หน่อยๆ เล็กๆ น้อยๆ แต่ว่าเมื่อสัมมาสติเกิด เท่านั้น ที่ปัญญาสามารถที่จะรู้ ความจริงของสภาพธรรมได้ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องชื่อ

    ผู้ฟัง ขณะที่สติระลึกรู้สภาพเห็น ธาตุเห็น ลักษณะเห็น

    ท่านอาจารย์ ว่าเป็นธาตุรู้ ลักษณะรู้

    ผู้ฟัง ขณะนั้นตัวเราที่ว่าเห็นก็ไม่มี ตาเห็นก็ไม่มี

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้ว กว่าจะเพิกถอน หรือไถ่ถอนความเป็นเราออกได้ นานมาก แล้วก็ต้องเป็นปัญญาระดับ ที่เป็นวิปัสสนาญาณ ระดับต่างๆ ด้วย นี่แสดงให้เห็นถึงความลึก ความเหนียวแน่นจริงๆ ซึ่งทุกคนก็ปฏิเสธไม่ได้เลย ว่าตราบใดที่ปัญญาไม่เกิด จะบอกว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราอย่างไร ก็ยังคงเป็นนึกเอา ว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ขณะที่นึกนั่นใคร ก็ไม่พ้นจากความเป็นเราอย่างลึก

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่ว่าถ้าศึกษาตรงแล้วก็มีความเข้าใจ มีความเห็นถูก แล้วรู้ประโยชน์ และคุณค่าของพระธรรมจริงๆ ว่าพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญพระบารมีที่จะตรัสรู้ เป็นสิ่งที่สามารถจะอบรมได้จริงๆ เข้าใจได้จริงๆ แต่ต้องเป็นผู้ที่อดทน ไม่ใช่เป็นผู้ที่ใจร้อน อยากจะรู้ในชาตินี้ หรือว่า ไม่กี่วัน กี่เดือน ก็สามารถที่จะหลงไป คิดว่าเข้าใจได้แล้ว นั่นเป็นสิ่งที่ไม่ตรง

    ถ้าตรง คือ ขณะนี้เป็นธรรม ตรงจริงๆ ไม่ต้องมีใครไปเปลี่ยนแปลง ไม่ต้องไปบิดเบี้ยว ไม่ต้องไปทำอย่างอื่น ย้ายไปที่โน่น ย้ายมาที่นี่ ดึงมาทางโน้น ไปทางนี้ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมเกิดดับ เร็วมากแล้วก็ค่อยๆ อบรม ความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง นี่ก็ตรงกับที่คุณสุรีย์ถาม นามรูปเป็นเหตุ เป็นปัจจัย แห่งการบัญญัติ วิญญาณขันธ์

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 102
    25 มี.ค. 2567