ปกิณณกธรรม ตอนที่ 588


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๘๘

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๔


    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีปัญญาตามลำดับ เช่น ไม่มีนามรูปปริจเฉทญาณ จะมีการประจักษ์การเกิดดับของ อะไร เพราะว่าบางคนไปตั้งต้นที่ อุทยัพพยญาณ เพราะเข้าใจว่าขณะนั้นตามที่กล่าวไว้ถึงวิปัสสนญาณ ๑๐ หรือว่า วิปัสสนาญาณ ๙ ก็ตามแต่ ก็นับมาตั้งแต่ไหนแต่ต้องย้อนคิดไปอีกหลายๆ อย่างเช่น ถ้าไม่รู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม โดยประจักษ์แจ้งเป็นนามรูปปริจเฉทญาณ มีทางไหมที่อุทยัพพยญาณ การประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรม จะเป็นไปได้

    ผู้ฟัง ผม ฟังๆ แล้วก็รู้สึกว่า มันจะคิดมากสับสน อย่างนั้นก็ มหาภูตรูป ๔ ก็ไม่มี

    ท่านอาจารย์ มหาภูตรูป ๔ คือ อะไรบ้าง

    ผู้ฟัง ดิน

    ท่านอาจารย์ ดิน คืออะไร

    ผู้ฟัง ดินก็เป็นธาตุ

    ท่านอาจารย์ ธาตุชนิดไหน

    ผู้ฟัง ธาตุแข็ง

    ท่านอาจารย์ ใช่ แข็งมีไหม

    ผู้ฟัง แข็งมี

    ท่านอาจารย์ แล้วจะกล่าวว่าไม่มีได้ไหม

    ผู้ฟัง ก็บอกว่า อะไรก็ไม่มี หมายความ ทุกสิ่งนั้นไม่มี

    ท่านอาจารย์ ที่ไหน ที่ว่าไม่มี

    ผู้ฟัง นี่ ที่ๆ กำลังศึกษาอยู่นี่ แต่ว่าอันนี้เป็นของเที่ยง มีอยู่ตลอด หรือ

    ท่านอาจารย์ อะไรเที่ยง

    ผู้ฟัง มหาภูตรูป ยังมีอยู่ตลอด

    ท่านอาจารย์ เกิดดับด้วย ไม่มีสภาพธรรมใด ที่เกิดแล้วไม่ดับ

    ผู้ฟัง ทำไมมหาภูตรูป ยังมีอยู่ตลอด

    ท่านอาจารย์ มีปัจจัยที่จะให้เกิด ไม่ใช่เกิดมาเอง ปัจจัยก็มีถึง ๔ กรรมเป็นปัจจัยก็ได้ จิตเป็นปัจจัยก็ได้ อุตุเป็นปัจจัยก็ได้ อาหารเป็นปัจจัยก็ได้ ไม่มีใครยับยั้งการเกิดขึ้นของมหาภูตรูป ไม่มีใครยับยั้งการเกิดขึ้นของจิต เจตสิก แต่อบรมปัญญารู้ความจริงว่า เป็นอย่างนั้นๆ ๆ รูปเป็นอย่างนั้น เวทนาเป็นอย่างนั้น สัญญาเป็นอย่างนั้น สังขารเป็นอย่างนั้น วิญญาณเป็นอย่างนั้น ตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง มันมี ใช่ มันมี มหาภูตรูป ก็มี อุปาทายรูปก็มี จิตก็มี เจตสิกก็มี แต่มันมีอย่างไม่เที่ยง อย่างเป็นทุกข์ อย่างไม่ใช่เราไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน มันมี แต่ไม่ใช่ยั่งยืน มันมีแบบไม่ใช่ยั่งยืน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ถามให้ใกล้ชิดกับความจริงอีกว่า มีเมื่อไร

    ผู้ฟัง มีเมื่อเรารู้

    ท่านอาจารย์ เรารู้เมื่อไร เราจะรู้เมื่อไร

    ผู้ฟัง รู้เมื่อมีการสัมผัส

    ท่านอาจารย์ เมื่อปรากฏ ชั่วขณะที่ปรากฏเท่านั้นที่มี เพราะฉะนั้น ที่ทุกคนเข้าใจว่ามีทุกอย่าง ให้เข้าใจว่ามี ความจำว่ามี แต่ว่าตามความเป็นจริง ทุกอย่างมีเมื่อกำลังปรากฏแล้วดับเลยทันที ทุกขณะสิ่งที่ต่างๆ ที่ปรากฏ ปรากฏสั้นมาก จากปรากฏทางตา ก็มีเสียงปรากฏทางหู ทางใจที่คิดนึก เพราะฉะนั้น ก็เป็นการเกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็ว

    ผู้ฟัง มีผู้ถาม ขอความกรุณาอธิบายลักษณะของคำว่า ปัญญา โดยละเอียดด้วย

    ท่านอาจารย์ ปัญญาเป็นภาษาบาลี คุณนิพัฒน์ช่วยให้ความหมายภาษาบาลีด้วย

    วิทยากร. ปัญญาก็มีไวพจน์ คือคำที่ใช้แทนกันได้มาก ปัญญาในเนติปกรณ์ว่าไว้มากมาย หรือใน อภิธรรมวิภังค์ก็ว่าไว้มาก แต่คำ ตามตัวของศัพท์ คำว่าปัญญา มาจากคำว่า ปะ แล้วก็ ญา ปะ นี้แปลว่าทั่ว ญา แปลว่า รู้ ปัญญาคือ รู้ทั่ว รู้โดยประการต่างๆ รู้ทั่ว

    ท่านอาจารย์ ถามผู้ถาม ทำกับข้าวเก่งอร่อยเป็นปัญญาหรือเปล่า ถ้าทำปากกาได้ ทำเครื่องอัดเทปได้ เป็นปัญญาหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่เป็น

    ท่านอาจารย์ ใช่ มีคนพยักหน้า บอกว่าเป็น เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจจริงๆ ว่า ไม่มีเรา นี่ต้องยืนยันแน่นอน มีธรรม แล้วธรรมก็มีมากมายหลายอย่าง ธรรมที่เป็นรูปธรรม สามารถที่จะรู้ สามารถที่จะเข้าใจอะไรได้ไหม

    รูปธรรม นี่เราก็ต้องค่อยเริ่มรู้ความต่างกันของสภาพธรรมเบื้องต้น คือเป็นธรรมทั้งนั้นแหละ แต่ธรรมที่เป็นรูปธรรมก็มี ธรรมที่เป็นนามธรรมก็มี

    รูปธรรม คือสภาพที่มีนั้นไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย ทั้งสิ้น ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่สุข ไม่ทุกข์ นั่นเป็นรูปธรรม เพราะฉะนั้น รูปธรรมเป็นปัญญาได้ไหม ไม่ได้

    เพราะฉะนั้น จิตก็ไม่ใช่ปัญญา จิตเป็นใหญ่เป็นประธาน ในการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏทางหนึ่งทางใด เช่น ทางตา จิตรู้แจ้งในสภาพที่ปรากฏให้เห็น ถ้าเสียงปรากฏขณะใด จิตก็เป็นใหญ่เป็นประธาน เป็นสภาพที่รู้แจ้งในลักษณะต่างๆ ของเสียง ที่ปรากฏ

    ลักษณะของนามธรรมก็ต่างกันไป เป็นจิต ๑ โดยลักษณะที่ว่าแป็นใหญ่เป็นประธาน ในการรู้ เป็นเจตสิก ๕๒ ชนิด ซึ่งมีทั้งโสภณ อโสภณเจตสิก ซึ่งต้องศึกษาต่อไป เจตสิกที่เป็นกลางๆ ไม่ใช่โสภณ ไม่ใช่อกุศลก็มี

    การที่จะศึกษา หรือการที่จะใช้คำอะไร เราต้องเริ่มต้นตั้งแต่ความหมาย แล้วก็ยังลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ด้วย ไม่ใชเพียงแต่ว่าจับหนังสือเล่มหนึ่งเล่มใดแล้วอ่าน แล้วคิดว่านั่นเป็นปัญญา

    แต่จะต้องรู้ว่าถ้าจะพูดเรื่องปัญญา ปัญญาคืออะไร ปัญญามีจริงๆ ปัญญาเป็นสภาพที่สามารถจะเห็นถูก เข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น ซึ่งก็ต้องมีหลายขั้น หลายระดับด้วย แต่ถ้าเป็นความคิดเรื่องอื่น ความสามารถทางอื่น แต่ไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้ก็ไม่ใช่ปัญญา ไม่ใช่ปัญญาเจตสิก

    วิทยากร. ใน ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ท่านให้ความหมายของคำว่าญาณปัญญานี้ไว้ตั้ง ๕ อย่าง จักขุงอุทะปาทิ จักษุเกิดแล้ว ญาณังอุทะปาทิ ญาณเกิดแล้ว ปัญญาอุทะปาทิ ปัญญาเกิดแล้ว วิชชาอุทะปาทิ วิชาเกิดแล้ว อาโลโกอุทะปาทิ แสงสว่างเกิดแล้ว ๕ อย่าง ที่พระพุทธองค์ท่านทรงแสดง เฉพาะปัญจวัคคีย์ ก็มีความหมายของคำว่า หมายถึงปัญญาทั้งนั้น

    แต่ถ้าจะเอาตาม ธัมมสังคนีก็มีมากมายเลย มีปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ความติดใจ ความเลื่อมใส ความวิจัยธรรม ความกำหนดหมาย ความเข้าไปกำหนด ความเข้าไปกำหนดเฉพาะ ภาวะที่รู้ ภาวะที่ฉลาด ภาวะที่รู้ละเอียด ความรู้แจ่มแจ้ง ความค้นคิด ความใคร่ครวญ ปัญญาเหมือนแผ่นดิน ปัญญาเครื่องทำลายกิเลส ปัญญาเครื่องนำทางความเห็นแจ้ง ความรู้ชัดปัญญาเหมือนปฏัก ปัญญา อินทรีย์คือปัญญา ปัญญาพละ ปัญญาเหมือนสาตรา ปัญญาเหมือนปราสาท ความสว่างคือปัญญา แสงสว่างคือปัญญา ปัญญาเหมือนดวงแก้ว ความไม่หลง ความวิจัยธรรม สัมมาทิฏฐิ นี่เป็นปัญญาทั้งนั้นเลย เป็นชื่อของปัญญาทั้งนั้น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น คำถามของผู้ถาม ถามเรื่องปัญญา ปัญญาก็คือความเห็นถูกต้องในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตามความเป็นจริง

    วิทยากร. ต้องมีสิ่งรองรับด้วย อาจารย์ ใช่ไหม คือไม่ใช่เห็นอย่างอื่น ไม่ใช่ฉลาดในทางอื่น เช่น ฉลาดในการทำคอมพิวเตอร์ หรืออะไรต่ออะไรต่างๆ นานา แต่เป็นความฉลาดในการที่รู้ จากสภาพธรรมตามความเป็นจริง มีข้อจำกัดอย่างนั้น ปัญญาในทางพระพุทธศาสนา ที่เป็นสัมมาทิฏฐิ ต้องรู้ความจริงของสภาพธรรม ถึงจะเป็นปัญญาในสัมมาทิฏฐิ ในมรรคมีองค์ ๘ หรือในสติปัฏฐาน

    ท่านอาจารย์ ถ้าขยายความต่อไป ปัญญาเป็นเจตสิก เป็นสภาพธรรม ที่เกิดกับจิต แล้วก็เป็นโสภณเจตสิก คือ เป็นเจตสิกฝ่ายดี

    วิทยากร. เหตุเกิดของปัญญา ท่านแสดงไว้หลายนัยด้วยกัน เบื้องต้น ท่านแสดงไว้ ๔ อย่างก่อน หมายความว่า คบสัตบุรุษ ข้อที่ ๑ ข้อที่ ๒ ก็ฟังธรรมของท่าน ปัญญาเกิดทั้งนั้นแหละ คนที่จะคบสัตบุรุษ คบแล้วก็ฟังธรรม ปัญญาก็เกิดขึ้น ฟังธรรมแล้วก็ใคร่ครวญ คือ โยนิโสมนสิการ ใคร่ครวญธรรม ปัญญาก็เกิด ใคร่ครวญแล้ว ก็ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปัญญาก็เกิด นี่เหตุเกิดของปัญญา ท่านแสดงไว้หลายนัย เบื้องต้นเราต้องคบสัตบุรุษ ก็หมายความว่า บุรุษผู้สงบแล้ว ปัจจุบันเราก็ถือว่า กัลยาณมิตร ก็แทนสัตบุรุษได้ เพราะว่าสัตบุรุษ เช่น พระอรหันต์เป็นต้น หายาก ก็เราไม่รู้ว่าใครเป็นพระอรหันต์ แต่ว่าสมัยนี้ไม่มี พระอรหันต์ อย่างสูงแค่พระอนาคามีๆ ก็รู้ได้ยาก เพราะฉะนั้น เราก็ถือเอาส่วนรวม คือ กัลยาณมิตร มิตรผู้มีคุณธรรมดี มีความรู้ทางพระศาสนาก็ฟังธรรมของท่าน คบกัลยาณมิตร ฟังธรรมของท่าน แล้วก็ใคร่ครวญ เมื่อใคร่ครวญ เห็นว่าเป็นธรรมที่ถูกต้องแล้ว ก็ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ๔ อย่างนี้เป็นเหตุเกิดของปัญญาโดยตรง

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วเป็นเรื่องของการปะปนของภาษา คือภาษาไทยใช้คำว่าปัญญา โดยที่ยังไม่ได้ศึกษา จริงๆ ว่า หมายความว่าอะไร แต่ใช้ตามกันมา เป็นไม่ทราบกี่สิบปี จนกระทั่งความหมายเลือนไป แต่ว่าเมื่อได้ศึกษาธรรมแล้ว ก็จะมีชัดเจนในเรื่อง ของสภาพธรรม คือสภาพธรรมใดเป็นจิต สภาพธรรมใดเป็นเจตสิกต่างๆ แต่ว่า ถ้าเป็นเรื่องของปัญญา ต้องเป็นความเห็นถูกต้องในอะไร มีสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นความเห็นถูกต้อง ก็คือมีความเห็นถูกต้องในสิ่งที่ปรากฏ ถ้าสมมติว่าจะมีความเห็นถูกต้องในสิ่งที่ปรากฏได้อย่างไร ถ้าไม่มีการฟังเลย เป็น ไปได้ไหม

    ผู้ฟัง เป็นไปไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ปัญญาขั้นฟังมีไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องมีด้วย เพราะฉะนั้น จึงมีปัญญาหลายขั้น ถ้าเป็นภาษาไทยง่ายๆ คือ ความเข้าใจที่ถูกต้องในลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ

    ผู้ฟัง ถ้าเราพูดถึงลักษณะของปัญญาแล้ว การพิจารณาพระธรรมจากความเข้าใจนี่ เราก็ไม่ควร จะเอาเรื่องของทางโลกทางธรรมเข้ามาปะปนกัน

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้ เข้าใจไหม

    ผู้ฟัง ขณะนี้เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ นั่นคือปัญญา ไม่ใช่คุณประทีป เพราะว่าปัญญาเข้าใจ ไม่ใช่คุณประทีปเข้าใจ

    ผู้ฟัง มันเป็นลักษณะหนึ่ง ซึ่งเป็นความเข้าใจ ไม่ใช่ตัวผม

    ท่านอาจารย์ เป็นสภาพเข้าใจถูก เห็นถูก

    วิทยากร . ศึกษาเข้าใจเจตสิกหรือยัง เจตสิกต้องอาศัยจิตเกิด คำว่า เจตสิก เจ- ตะ แปลว่า จิต สิกะ แปลว่า เกิดในจิต สิ่งที่เกิดในจิต คือ อาศัยจิตเกิด เพราะฉะนั้น ท่านบอกว่าปัญญามีเจตสิกอะไรเกิด พูดอย่างนี้ยังไม่ตรง เพราะว่าปัญญาก็เป็นเจตสิก ทั้งหมดเจตสิกมี ๕๒ อาศัยจิตเกิด ถ้าจิตไม่เกิด เจตสิก ๕๒ ตัวใดตัวหนึ่งก็เกิดไม่ได้

    ผู้ฟัง ฝรั่งไปคิด ทำมนุษย์ ทำงานอะไรๆ ได้ เป็นตัวปลอม คอมพิวเตอร์อะไรนี่ ฝรั่งเขาก็ไม่เรียกว่าปัญญา เขาเรียกว่า Technical Know how หรือ Technic เขาไม่ได้เรียกว่าปัญญา เพราะฉะนั้น ปัญญาของเขาต่างกับที่อาจารย์เข้าใจ ผมว่าฝรั่งเขาให้ปัญญาไปคล้ายๆ คำว่า Vissium ความรอบรู้เท่านั้น แล้วความรอบรู้ ก็ไม่ใช่ปัญญาเจตสิก อย่างที่ในความหมายของพระศาสนา Vissium ความรอบรู้นี้หมายจิตที่ประกอบด้วยเจตสิกต่างๆ แล้วรอบรู้ในสิ่งต่างๆ เท่านั้น เพราะฉะนั้น ฝรั่งเขาจะไม่บอกว่า สร้างคอมพิวเตอร์ได้ สร้างมนุษย์ เทียมเทำงาน ได้ทุกอย่างไปโลกพระจันทร์ได้ เขาเรียกว่า Technical Know how หรือ Technic เท่านั้น

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์สมพรกล่าวไปแล้วว่า ปัญญาทางโลกเขาจัดเป็นเพียงศิลปเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ ที่จริงพระพุทธศาสนา เป็นสากลๆ จริงๆ คือไม่ จำกัดเชื้อชาติ ไม่ว่าจะเป็นชาติใดภาษาใด ต้องเรียน ต้องศึกษา มิฉะนั้นแล้ว เขาไม่สามารถที่จะเข้าใจพระธรรมที่ พระผู้มีพระภาค ทรงตรัสรู้ และทรงแสดงได้ เขาพยายามเปรียบเทียบ แม้แต่การจะใช้คำ บางคนก็อาจจะอยากใช้คำ เช่น Philosophy เป็นเรื่องของจิตใจ เรื่องของปรัชญา บางคนก็อยากจะใช้คำว่า Science แต่จริงๆ แล้วก็เป็นศาสตร์หนึ่งเท่านั้น แต่ว่าพุทธศาสตร์ คำสอนจะไม่เหมือนวิชาอื่น ถ้าเราเอาคำว่าศาสตร์ มาใส่คำว่าพุทธ เที่ยบกับศาสตร์อื่นเท่านั้นเอง หมายความว่าคุณค่าด้อยลงไปถึงคำว่า Science เท่านั้น อย่างหนึ่งเท่านั้นเอง แต่ตามความเป็นจริงแล้วมากมายมหาศาลเกินกว่านั้น เขาอาจจะไม่มีคำ ภาษาไทยก็ไม่มีคำที่ จะบรรจุ ความหมายของภาษาบาลีได้อย่างสมบูรณ์ ภาษาอังกฤษ หรือภาษาใดๆ ก็ไม่มีคำ ที่สามารถจะบรรจุ ความหมายของภาษาบาลีได้โดยสมบูรณ์ ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องใช้ภาษาบาลีเป็นหลัก แล้วก็พยายามอธิบายเพื่อให้เข้าใจ จะใช้คำอะไรก็ได้ ภาษาไหนก็ได้ เพื่อที่จะให้เข้าใจสภาพธรรมว่าเหนือ Science ที่คนเข้าใจว่า มีคำนี้ที่จะต้องใช้ คือ Science เท่านั้น แต่ Science ของเขาจะสูงต่ำประการใด เราไม่จำเป็นต้องไปยึดถือ กรอบของคำนี้ เพราะเหตุว่าการศึกษาธรรมไม่ใช่ว่าเป็นเรื่องของกรอบของภาษา แต่ว่าเป็นเรื่องการที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ เพราะฉะนั้น ไม่ต้องไปใช้คำอะไรอื่นที่จะต้องไปเปรียบเทียบว่าต้องใช้คำนี้ หรือจะต้องใช้คำนั้น แต่ว่าเป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจสภาพธรรม เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องใช้คำอื่นมาเทียบหรือมาต่อ

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ ต้องมีคำว่า ศาสนาพุทธ ถูกไหม ในเมื่อเป็นสากล

    ท่านอาจารย์ จำเป็น เพราะว่าศาสนา หมายความถึงคำสอน แล้วเราฟังคำสอน เราศึกษาคำสอน อะไร ทุกคนใช้ศาสนา คือคำสอน ของใคร ของบุคคลนี้ หรือของบุคคลนั้น หรือของศาสดานี้ หรือของศาสดานั้น ถ้าไม่ใช้เราจะรู้ได้อย่างไรว่านี้ต่าง จากคำสอนอื่นๆ

    ผู้ฟัง ถ้าเราพูดคำว่า ธรรม มันก็เป็นสากล

    ท่านอาจารย์ สำหรับคนที่เข้าใจก็รู้ว่พระพุทธเจ้า สอนพระพุทธศาสนา เป็นเรื่องของธรรม

    ผู้ฟัง อย่างนี้ก็เหมือนตีกรอบอยู่ดี หรือเปล่าว่าเป็นศาสนาพุทธที่พระพุทธเจ้า ทรงแสดง

    ท่านอาจารย์ มิได้ หมายความว่าเราต้องใช้ภาษาให้เข้าใจ เป็นสื่อ เช่น คำว่าศาสนา หมายความว่าอะไร หมายความถึงคำสอน แล้วใครสอน ต้องมีคนสอน ไม่ใช่อยู่ดีๆ ไม่มีใคร ก็มีตัวศาสนา หรือธรรม เกิดขึ้นมา จริง ธรรมมี แต่ว่าใครรู้ธรรม ใครประกาศ หรือแสดงธรรม

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้น เราพูดถึงธรรม เราอาจจะไม่จำเป็นต้องพูดถึงว่าเป็นศาสนาพุทธ แต่บอกว่าเป็นธรรมนี่คือ

    ท่านอาจารย์ นี่คือเราติดภาษา เพราะฉะนั้น ก็คือว่าพูดอะไรที่จะให้เข้าใจ ว่าเราหมายความว่าอะไร ในเมื่อทุกคนมีศาสนา คือหลักของชีวิตซึ่ง เป็นคำสอนของผู้ที่เคารพนับถือ มั่นใจว่าผู้นั้นเป็นผู้ที่ถูกต้อง ก็ถ้าเข้าใจความหมายของศาสนาอย่างนี้ ทำไมเราจะใช้คำว่า ศาสนาไม่ได้หรือ หรือเราไปคิดว่า เพราะว่าภาษาอังกฤษใช้คำว่า Religion เราก็ไปเอา คำนั้นมาคิด หรือว่ามาเทียบกับภาษาไทย ซึ่งความจริงไม่ต้อง ทำอย่างนั้น ไม่ต้องคิดอย่างนั้น เพราะเหตุว่าศาสนาเป็นภาษาอะไร เป็นภาษาบาลี เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจคำนี้ให้ถูกต้อง ว่าภาษานี้ใช้คำนี้ หมายความถึงอะไร ถ้าพูดถึงภาษาอังกฤษ ก็ต้องเข้าใจว่าคำนี้ภาษานี้ หมายความว่าอะไร ถ้าพูดถึงภาษาไทยก็ต้องรู้ว่าคำนี้ ภาษานี้หมายความว่าอะไร เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นภาษาบาลีก็ต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่าศาสนา หรือ ศาสนัง มีความหมายว่าอะไร ต้องเข้าใจสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังให้ถูกต้อง

    วิทยากร. ปัญญาย่อมรู้ทุกอย่าง รู้ว่าอันนี้เป็นบัญญัติ รู้ว่าอันนี้เป็นปรมัตถ การที่ท่านบอกว่าเหตุเกิดของปัญญามี ๔ อย่างมุ่งถึงปรมัตถเป็นใหญ่ แต่ว่าเราจะทิ้งบัญญัติไม่ได้ ทุกสิ่งทุกอย่างที่จะรู้กัน ได้ เพราะอาศัยบัญญัติ เราจะเห็นได้ว่า คบสัตบุรุษ สัตบุรุษมุ่งหวังให้ได้ปัญญา คือ ออกจากวัฏฏะ เพราะขณะที่เราฟังธรรม ท่านก็แสดงธรรมเพื่อให้เราออกจากวัฏฏะ ขณะที่เราพิจารณาธรรมก็อาศัยการฟังธรรมเป็นเหตุ เป็นปัจจัย พิจารณาเรียกว่า โยนิโสมนสิการ ก็เพื่อให้ได้ปัญญาที่ออกจากวัฏฏะ แล้วขณะที่ปฏิบัติก็เช่นเดียวกัน เพื่อให้ได้ปัญญาอันนี้ เพื่อออกจากวัฏฏะ มุ่งถึงปัญญาที่เป็นปรมัตถ

    ผู้ฟัง มีผู้ที่คิดว่าควรจะมี อกุศลจิตน้อยๆ วันหนึ่งก็ได้ถามว่า จะทำงานในชีวิตประจำวัน อย่างไรจึงจะให้อกุศลจิตเกิดน้อย

    ท่านอาจารย์ เรื่องจะทำ ใช่ไหม ก็หมายความว่าเป็นอัตตา

    ผู้ฟัง แต่ก็ดูเหมือนกับว่าเป็นความคิดที่ดี

    ท่านอาจารย์ ก็อัตตา คิดที่ดี แต่จริงหรือเปล่า ทำได้หรือเปล่า การที่จะเข้าใจสภาพธรรมให้ถูกต้อง กับการคิดจะทำ อะไรเป็นความถูกต้อง แล้วจริงๆ แล้วทุกคนรักตัวมากเลย มากที่สุดลึกมาก แม้แต่เพียงกุศลก็อยากจะให้มีมากๆ และอกุศลก็อยากให้มีน้อยๆ เพราะความรักตัว

    ผู้ฟัง แต่รู้สึกว่าเป็นปัจจัยส่วนหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ โดยมากจะโน่นนี่ นี่นั่น ไปเรื่อยๆ แต่จริงๆ แล้วสภาพธรรมขณะนี้ ถ้าปัญญาไม่เกิดแล้วเมื่อไรจะเกิด ก็นี่ไป นั่นมา อยู่นั่นแหละ ทางโน้นบ้างทางนี้บ้างแต่ไม่มีการรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้จนแล้วจนรอด จนตาย ชาติหนึ่งก็ไปอีกชาติหนึ่ง เพราะฉะนั้น ถ้ามีความเข้าใจจริงๆ เป็นปัจจัยให้มีการระลึก ฟังแล้วประโยชน์ คือสามารถจะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ นี่คือสิ่งที่ลืมไม่ได้เลย ไม่ใช่เพื่อสิ่งอื่นใดทั้งสิ้น แต่ไม่ใช่ด้วยโลภะ หรือด้วยความต้องการ

    แต่โดยการรู้จุดประสงค์ของการศึกษาจริงๆ ว่าเป็นไปเพื่อละความไม่รู้ เพื่อละความเห็นผิด เพื่อมีปัญญาที่เห็นถูกต้อง ตามความเป็นจริง จะไม่มีการที่จะถูกชักชวนไขว้เขว ด้วยโลภะประการต่างๆ เพราะว่ายังไม่เห็นตัวโลภะเลย เพราะฉะนั้น โลภะขณะใดเป็นอาจารย์ ขณะใดเป็นศิษย์ ก็ไม่เห็น ก็เป็นไปอย่างนี้ แต่ถ้ามีความเข้าใจถูกต้อง มีการศึกษามีการพิจารณาให้ เข้าใจว่าสิ่งหรือขณะที่ประเสริฐสุด คือขณะที่มีโอกาสได้ฟังพระธรรม มีโอกาสได้เข้าใจพระธรรม มีโอกาสได้ระลึกรู้ลักษณะของพระธรรม นี่คือขณะที่มีค่าที่สุด เพราะว่าขณะอื่นทุกขณะก็ล่วงไป โดยไม่มีอะไรเหลือเลย นอกจากโลภะติดตามไป หรือโทสะติดตามไป อกุศลต่างๆ ติดตามไป แล้วก็หวังว่าทำอย่างไรอกุศลจะเกิดน้อย นี่ก็เป็นความคิด แต่ว่าไม่ใช่ความจริง เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นคนที่เข้าใจในเหตุในผล จริงๆ ก็จะไม่คิด อย่างนี้ เพราะว่ามันเป็นไปไม่ได้ แต่ที่จะเป็นไปได้ก็โดยรู้เหตุรู้ผล

    แต่การศึกษาโดยละเอียดทำให้เราเข้าใจว่า ไม่มีตัวเราเลย เป็นเรื่องของจิตซึ่งเป็นเหตุที่จะทำให้เกิดผล คือวิบาก เพราะฉะนั้น เวลาที่ใครทำกรรมใดๆ ก็ตาม สามารถจะรู้ได้ ข้างหน้าคือวิบากอะไร จะเกิด จะมีการเห็น ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม ก็เห็นสิ่งที่ไม่ดี ได้ยินเสียงไม่ดี ได้กลิ่นไม่ดี ลิ้มรสไม่ดี กระทบสัมผัสสิ่งที่ไม่ดี เกิดทุกขเวทนาต่างๆ ไม่ใช่ใครทำให้เลย เพราะฉะนั้น จะไม่มีการคิดถึงคนอื่นในแง่ร้าย ว่าเขาทำเรา เพราะเหตุว่าแท้ที่จริงแล้วเป็นผลของกรรมของตัวเองทั้งหมด ก็จะเห็นความจริงของสภาพธรรมได้ว่า ขณะใดที่พูดถึงเรื่องกรรม ไม่ได้พูดลอยๆ แต่ขณะไหนที่เป็นกุศลจิต หรืออกุศลจิตซึ่งเห็นเหตุได้กระทำแล้ว เช่น การฟังธรรม เป็นกุศลกรรม กุศลวิบากย่อมเกิด จากกุศลกรรม เมื่อไรก็เมื่อนั้นแต่ว่ากุศลวิบากก็คือการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ในชีวิตประจำวัน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 102
    25 มี.ค. 2567