ปกิณณกธรรม ตอนที่ 596


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๙๖

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๔


    ท่านอาจารย์ ธรรมดาๆ ธรรมดาทุกอย่างไม่ได้ผิดปกติเลย พระพุทธเจ้า ยังใช้คำว่า ตถาคต แล้วคนอื่นจะไม่พูดคำพยัญชนะเรียกตัวเองได้อย่างไร

    ผู้ฟัง อันนี้เป็นปัญหาที่ว่าความเข้าใจถูกต้อง ก็คือทำอะไรไม่ได้ เพราะเป็นสภาพธรรม แต่ว่ามีสติในการที่จะรู้สภาพธรรม ทุกขณะไหม

    ท่านอาจารย์ ที่ทำอะไรไม่ได้หมายความว่า มีความรู้ว่าเป็นสภาพธรรม นั่นเอง ที่ทำ ไม่ใช่ว่าแต่ก่อนนี้เคยเป็นเราที่รับประทานอาหาร ตอนนี้ก็รับประทานอาหารไม่ได้แล้ว แต่ก่อนเคยใช้คำว่า เรา ดิฉัน ผม ก็ใช้ไม่ได้แล้ว อย่างนั้นไม่ถูกต้อง หมายความว่าไม่เข้าใจธรรม ถ้าเป็นในลักษณะนั้น ถ้าเข้าใจธรรมก็คือเข้าใจว่าตลอดชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย เป็นจิต เจตสิก รูป แล้วมีธรรม ก็คือ ปรมัตถสัจจะ กับ สมมติสัจจะ มีสภาพธรรม ซึ่งเกิดปรากฏ แม้ไม่ต้องเรียกชื่อ กับเวลาที่นึกถึงชื่อเรื่องราวต่างๆ ของสิ่งที่ปรากฏ เพราะเป็นชีวิตจริงๆ ซึ่งเราค่อยๆ เข้าใจความจริงขึ้น

    ผู้ฟัง คำว่า เป็นปกติ ก็คือ เป็นตามอัธยาศัยของเรา

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้ ทุกอย่างมีปัจจัยเกิดขึ้น ที่คิดที่พูด ที่เห็น ทั้งหมดเป็นปกติ

    ผู้ฟัง เห็นด้วยกับท่านอาจารย์ ที่ว่าการอบรมเจริญปัญญา ต้องเป็นไปตามลำดับขั้น เพราะฉะนั้น เราต้องมีความใส่ใจในสภาพธรรม ที่เป็นนามธรรม และรูปธรรมก่อน เพราะจากการศึกษาเรื่องของปรมัตถธรรม ถ้าหากเราไม่ใส่ใจ ไม่พิจารณาสภาพธรรม จากการที่เราได้เรียนได้ยินได้ฟังมา สภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม ก็ไม่ประจักษ์ให้เราได้พิสูจน์ เพราะฉะนั้น ถ้าหากในชีวิตประจำวัน เราศึกษาพระธรรมแล้ว แล้วเราไม่ใส่ใจในสภาพธรรม ที่เป็นนามธรรม และรูปธรรมแล้ว การอบรมปัญญา ที่จะเข้าใจถึงลักษณะสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม ก็ให้เราเข้าใจนั้นยากมาก แล้วถ้าหากเราจะไปรู้ประเภท ของจิต แล้วถ้าเราไม่เริ่มจากการรู้ ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม แล้วการที่จะรู้ว่าขณะใด จิตที่เป็นกุศล และอกุศลเราก็จะ รู้ไม่ได้ แล้วเราก็จะเข้าใจยิ่งขึ้นถ้าหากเรา สามารถที่จะพิจารณาสภาพธรรม ที่เป็นนามธรรม และรูปธรรม และขณะใดที่เป็นกุศล และ อกุศล แล้วเราก็จะรู้ได้ว่าขณะใดที่มีสติ แล้วก็หลงลืมสติ เพราะฉะนั้น ต้องเป็นไปตามลำดับขั้น

    ท่านอาจารย์ ข้อสำคัญต้องทราบว่าการศึกษามี ๓ ขั้น ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ

    ถ้าเป็นเรื่องของปริยัติในขณะที่เรากำลังศึกษาเรื่องราว ของสภาพธรรม ทั้ง ๓ ปิฎก อรรถกถา ข้อความที่เรากล่าวถึงเมื่อกี้นี้ ก็เป็นปริยัติ

    ปฏิบัติ ก็คือขณะใดที่สัมมาสติเกิด ระลึกลักษณะของสภาพธรรม ขณะนั้นก็ไม่มีใครไปบังคับบัญชาได้ เพราะฉะนั้น เราก็ต้องรู้ว่าเรากำลังเรียนปริยัติอยู่ ไม่ใช่ว่าเราไปรู้แจ้งสภาพธรรม โดยที่ไม่มีปฏิปัตติ หรือว่าสติปัฏฐานเกิดเลย เป็นปัญญาต่างขั้นกัน ก็ต้องเข้าใจให้ถูกต้อง ไม่ใช่ขั้นปริยัติ แล้วก็ ไม่ใช้คำอะไรเลย ไม่ได้ เหมือนเดิม เพราะว่าการศึกษาบางคนไม่เข้าใจคิดว่าเป็น เรื่องของการอ่านหรือการฟังเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วผู้ทรงปริยัติ ไม่ได้หมายความว่าเป็นผู้ที่อ่าน และจำ แต่ต้องเป็นผู้ที่เข้าใจ สามารถที่จะมีปัญญา ถ่องแท้ที่จะรู้อรรถที่นั่นด้วย เพราะฉะนั้น แต่ละคน เวลาที่ศึกษาพระไตรปิฎก สามารถที่จะรู้ประมาณ คือปัญญาของตัวเองว่าเราจะมีปัญญาระดับไหน อย่างพระไตรปิฎกทั้งหมด พระมหากรุณาคุณ พระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณทั้ง ๓ พระคุณ ทรงแสดงทั้ง พระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม โดยละเอียด โดยลึกซึ้ง โดยรอบครอบทั้งหมดสิ้นเชิง แล้วเราสามารถที่จะทรงไว้แค่ไหน ทรงไว้นี้ไม่ใช่แค่จำ แต่สามารถที่จะเข้าใจในอรรถด้วย อย่างวันนี้ที่เราอ่านเรื่อง โธตกะปัญหาที่ ๕ นี้ เรามีความเข้าใจอะไร

    แม้แต่ว่า คำที่ประมวลไว้ทั้งหมด แค่รู้ชัด ความเข้าใจของเราแค่ไหน แต่การที่เราจะไปเอาพยัญชนะมากๆ แล้วก็เพียงแต่จำไว้ คำแปล เปิดพจนานุกรม แล้วคิดว่าคำนี้หมายความว่าอย่างนี้ แต่ตัวจริงๆ ของธรรมหรือ อรรถอันนั้นคืออะไร เพราะฉะนั้น การทรงปริยัติไม่ได้หมายความว่า เพียงแต่การจำ หรือว่าการอ่าน แต่ต้องหมายความถึงปัญญาที่สามารถ จะเข้าถึงอรรถนั้นด้วย

    อย่างโธตกะปัญหาที่ ๕ แสดงชัดเลย ใช่ไหม ฟังน้อย รู้มาก ถ้าเราอ่านมาก แต่เรารู้ไม่เท่าท่าน เพราะฉะนั้น แค่นี้เอง เท่านี้ แต่ท่านสามารถที่จะเข้าใจได้หมด ไม่ว่าจะเป็นโลกเบื้องบน ส่วนเบื้องบน หรือว่า ส่วนเบื้องต่ำ หรือว่า ส่วนเบื้องขวาง ท่านฟังท่านเข้าใจ เพราะว่ามี สภาพธรรม กำลังปรากฏ ความหมายของรู้ชัด ท่านก็รู้ ความหมายถึงการที่ว่าศึกษาธรรม เป็นเครื่องดับกิเลส ท่านก็ต้องเข้าใจ นี่คือผู้ฟังน้อยแต่รู้มาก เพราะเหตุว่า ได้เป็นพหุสูตร ในอดีตมามากแล้วที่จะเข้าใจ แน่นอน เพราะฉะนั้น เวลาที่เราฟังธรรม เราก็สามารถจะรู้ถึงอดีต ที่เราได้สะสมมาว่า เราสะสมมามากน้อยแค่ไหน ที่จะเข้าใจได้แค่ไหน ในข้อความเดียวกัน

    ผู้ฟัง แรกๆ ถ้าสมมติว่า พึ่งเข้ามาใหม่ๆ ก็คือรู้ คือไม่เคยได้ฟังธรรม ก็ฟังตรงนี้ ก็คือรู้แล้วว่า ทำไมไม่ใช่ตัวตนเป็นตัวตน ใช่ไหม ก็รู้ว่าตัวเองไม่ปกติ ถึงว่าก็อยากจะเข้าใจว่า ปกติ เพราะรู้ว่าผิดปกติ

    ท่านอาจารย์ มีใครปกติดูหนังบ้างไหม เป็นปกติหรือเปล่า ดูละคร อ่านหนังสือพิมพ์ รับประทานอาหารอร่อย ไปมาหาสู่เพื่อนฝูง มาสนทนาธรรม ศึกษาธรรม นี่คือชีวิตจริง ชีวิตจริง คือปกติ

    ผู้ฟัง ความหมายคือ ถ้าเราคิดว่า คือการฟังพระธรรมให้เห็นถูกยิ่งๆ ขึ้นก็พอแล้ว ไม่จำเป็นว่าต้องทำตามเหมือนที่ว่าฟังเพลงไม่ได้ อะไรอย่างนี้ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ คงไม่มีใครไม่ฟังเพลง ไม่มีข้อห้ามเลย

    ผู้ฟัง ร้องเพลงไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่มีข้อห้ามเลย สำหรับพระภิกษุ การร้องเพลง คือ การ้องไห้ในพระวินัย

    ผู้ฟัง เราก็รู้ว่านี่คือไม่ถูกต้อง

    ท่านอาจารย์ สำหรับใคร

    ผู้ฟัง สำหรับพระภิกษุ ใช่ไหม แน่นอนหนทางคือ ชนะ ชนะกิเลส

    ท่านอาจารย์ แล้วเราเป็นใคร พระโสดาบันหรือยัง แล้วจะเป็นพระอรหันต์ หรือ

    ผู้ฟัง ก็จำเป็นไหมที่ว่าแบบ บางครั้งก็น่าจะแบบ ฝึกๆ ไว้หน่อย

    ท่านอาจารย์ ความคิดมีได้ ความคิดมีได้ แต่ จริงหรือเปล่า ระงับ กดไว้ หรือว่ามีความเข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรม ไม่มีใครชอบ อกุศลเลย อกุศลน่ารังเกียจ แล้วกิเลสที่มีกำลังแรงก็น่ารังเกียจมาก แต่ว่าแต่ละคนมีหิริ โอตตัปปะ ไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้น เวลาที่ใครที่สะสมมาในการฟังธรรม แม้แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า วิชชาจรณะของพระองค์คือ หิริ โอตตัปปปะด้วย

    เพราะฉะนั้น หิริ โอตตัปปะ ของแต่ละคนก็ ตามการสะสม ตามการพิจารณา ถึงแม้ว่ายังไม่ได้เป็นพระโสดาบัน ยังไม่ได้เป็นพระอริยบุคคล แต่หิริ โอตตัปปะในชีวิตประจำวัน ของแต่ละคนก็ต่างกัน เพราะฉะนั้น เราก็สามารถที่จะรู้ความจริงได้ว่าขณะใด อกุศลระดับใดเกิด ขณะนั้นไม่มีหิริ โอตตัปปะ เป็นด้วยกำลังของ อหิริ อโนตตัปปะ แต่เวลาที่มีกุศลจิตเกิด มีปัญญาเกิดจึงเห็น แต่เวลานั้นไม่เห็น

    เพราะฉะนั้น การฟังธรรมคือเพื่อประโยชน์ ให้รู้ความจริง แล้วความจริงเป็นสังขารขันธ์ ความเข้าใจความจริง เป็นสังขารขันธ์ จะปรุงแต่งบุคคลนั้นก็จะค่อยๆ มีกุศล แต่เราก็ไม่ใช่ไปมุ่งหวังทันที ว่ามันจะไม่มีเลย ซึ่งมันไม่ถูกต้อง ตามความเป็นจริงเป็นอย่างไร ก็คือเป็นอย่างนั้น ให้รู้ตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง ข้อสังเกตผมคือว่า ถ้าสติมันไม่เกิด เราก็กลับมาคิดอีก ทำไมมันไม่เกิด อาจารย์ก็บอกว่า อย่าไปคิดถึงมัน มันแล้วไปแล้ว มันเกิดมันดับ มันเกิดมันดับ มันก็หลุดไปเรื่อยทุกที หลุดไปเรื่อยทุกที

    ท่านอาจารย์ มิฉะนั้นก็นั่งคิดไปเรื่อยทุกที

    ผู้ฟัง นั่นนะสิ

    ท่านอาจารย์ มันก็แค่คิด

    ผู้ฟัง ผมก็กลุ้มใจกับตัวเอง

    ท่านอาจารย์ ไม่ นั่นคือความเป็นเรา ความเห็นผิดว่าเป็นเราลึกมาก เพราะฉะนั้น ก็ย้อน กลับมาหาตัวเราทุกที เราอยากจะไม่มีกิเลสเลย ถูกต้องไหม แต่ว่าเป็นเราแน่ๆ ที่คิดอย่างนั้น ไม่ใช่เป็นปัญญาที่รู้ว่า กิเลสก็ไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง เหมือนกับ ถ้าไม่คิดเลย ก็เหมือนกับมันเรื่อยเฉื่อย

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ห้ามคิด แต่ว่าให้เข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง พิจารณาตั้งแต่ต้นให้ เข้าใจให้ถูกต้อง

    ผู้ฟัง แต่บางคน เขาบอกว่าสัตว์ แม้แต่อยู่ในบ้านเรา มันก็อาจจะเคยเป็นพ่อเป็นแม่เราก็ได้ ผมก็ถึงต้องรักแมว รักหมา รักอะไรขึ้น คืออย่างน้อยมันทำให้เรามี เมตตาจิต

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวก่อนนะ รัก กับ เมตตา คุณเด่นพงษ์ว่าเหมือนกัน หรือต่างกัน

    ผู้ฟัง ผมก็ว่ามันใกล้กัน

    ท่านอาจารย์ ต้องแยก ถ้าไม่แยกก็เอาอกุศล เป็นกุศล แล้วไม่มีทางที่จะคลายอกุศลด้วยเพราะเข้าใจว่าเป็นกุศล ต้องตรง ธรรมนี้ต้องตรง

    ผู้ฟัง ผมเห็นด้วยว่าต้องตรง แต่มันยังไม่เข้าใจว่า ตรง มันคืออะไร

    ท่านอาจารย์ ตรง คือ รักเป็นโลภะ เมตตาเป็นโสภณ มีความเป็นมิตร เป็นเพื่อน หวังดี เกื้อกูล ไม่จำกัดด้วย ว่าใช่ว่าคนนี้ชาติก่อนเป็นพ่อเป็นแม่ ถึงจะหวังดีต่อคนนี้ กว้างขวางไม่มีประมาณ ไม่ว่ากับใคร ไม่มีขอบเขต นั่นคือเมตตา

    ผู้ฟัง มีคำถามฝากมาถามว่า พยาธิที่อยู่ในท้องเรานี้ก็เป็นสัตว์ที่มีชีวิต แล้วเราทานยาไปเพื่อจะฆ่าพยาธิ เป็นคำถามที่ฝากมาถาม

    ท่านอาจารย์ จากพระสัพพัญญุตญาณ การตรัสรู้ ก็จะมีความชัดเจนมาก เพราะว่าได้ทรงแสดงไว้ เรื่องของชีวิตรูป กับ ชีวิตนาม แยกเป็น ๒ ส่วน คือนามธรรมส่วน ๑ แล้วก็รูปธรรมส่วน ๑ ปนกันไม่ได้ เพราะเหตุว่านามธรรมจะเป็นรูป ไม่ได้ แล้วรูปก็จะเป็นนามไม่ได้ แต่ว่ารูปใดๆ ก็ตามซึ่งเกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน เวลาที่กรรมเป็น สมุฏฐานให้รูปเกิด ในกลาป หรือกลุ่มซึ่งเกิดนั้น จะมีนอกจากมหาภูตอรูป ๔ อุปาทายรูป ๔ สี เสียง กลิ่น รส โอชา เป็นอวินิพโภครูป ๘ ก็ยังจะต้องมีชีวิตินทริยรูป ซึ่งเป็นรูปที่เกิดจากกรรม เพราะฉะนั้น ชัดเจนว่าเมื่อเป็นรูปที่เกิดจากกรรม ก็หมายความว่าต้องเป็นสัตว์ เพราะว่าเกิดจากกรรม

    พวกรูป ต้นไม้ใบหญ้าทั้งหลาย ที่เราเห็นเจริญเติบโต ไม่ได้เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน เพราะฉะนั้น ส่วนย่อยละเอียดที่สุดของรูปต่างๆ ทุกรูปที่ไม่ได้เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน แม้ในตัวของเรา ซึ่งไม่ได้เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐานกลุ่มหรือกลาปนั้นไม่มีชีวิตินทริยรูป สำหรับนามชีวิต ได้แก่ ชีวิตินทริยเจตสิก ซึ่งเกิดกับจิตทุกขณะ เป็นเจตสิกซึ่งอุปถัมภ์ หรือว่าทำให้สหชาตธรรมตั้งอยู่ มีอายุตามกำหนดของสหชาตธรรม คือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้น ก็แยกกันระหว่าง นามธรรมกับรูปธรรม ถ้าเราไม่ตั้งต้นว่าคืออะไรก็จะมีปัญหาอยู่ตลอด แต่ถ้าทราบว่าคืออะไร รูปก็คือรูป ไม่ใช่นาม

    ผู้ฟัง แต่ผมยังสงสัย ที่อาจารย์อธิบาย แล้วอะไรคือชีวิตินทริย ตรงนี้ เราไม่รู้ พยาธิ มีหรือเปล่าชีวิตินทริย หรือเชื้อโรคมีหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ เราไม่เอาคำ ที่เป็นบัญญัติ เช่น พยาธิ หรือคนหรืออะไรเลย เรากำลังพูดถึงลักษณะของรูปแต่ละกลาป ซึ่งมีสมุฏฐานต่างๆ รูปที่เกิดจากจิต ไม่มีชีวิตินทริยรูป รูปที่เกิดจากอุตุก็ไม่มี ที่เกิดจากอาหารก็ไม่มี เพราะฉะนั้น รูปที่เกิดจากรรมเท่านั้น แสดงว่าต้องเป็นสัตว์ เป็นผลของกรรม ที่จะทำให้กลุ่มของรูปอันนี้เกิดขึ้นมาได้ ซึ่งในตัวของเรามีทั้ง ๔ สมุฏฐาน รูปใดซึ่งไม่ใช่เกิดจากรรม รูปนั้นจะไม่มีชีวิตินทริยรูป แม้ในตัวนี้

    ผู้ฟัง อาจารย์บอกว่ามันต้องมีชีวิตินทริย ตัวนี้ จะมีได้ก็ต้องเป็น ไม่ใช่เป็นนาม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น รูปนี้เรามองไม่เห็น ชีวิตินทริยรูปนี้ไม่มีใครมองเห็นเลย แม้แต่จักขุปสาทรูปก็มองไม่เห็น โสตปสาทรูป รูปใดๆ ก็มองไม่เห็น มีรูปๆ เดียวเท่านั้นที่เห็น คือ สิ่งที่ปรากฏทางตา แต่แม้กระนั้น ความที่เป็นชีวิตินทริยรูปซึ่งเกิดจากกรรม แล้วก็ภาวะรูปซึ่งเกิดจากกรรม ก็ทำให้รูปที่ปรากฏทางตามีความวิจิตรต่างกัน ซึ่งจิตสามารถที่จะเห็น และสัญญาความทรงจำ สามารถจะจำในความต่าง แต่ถ้าสัญญาไม่ดี อย่างรูปปั้นขี้ผึ้ง ถ้ามีอยู่ตรงนี้สักคนหนึ่ง เราอาจจะไม่รู้เลยว่าเขามีชีวิตหรือเปล่า เพราะว่าความเหมือนมาก แต่แม้กระนั้นก็ไม่มีสักกลุ่มหรือกลาปเดียว ซึ่งจะมีชีวิตินทริยรูป นี้เป็นความต่างโดยเด็ดขาด

    ผู้ฟัง เราศึกษาเรื่องของสภาพธรรม อบรมเจริญปัญญา เจริญสติปัฏฐาน ที่จะรู้ลักษณะของนาม ของรูป ศึกษาเรื่องของขันธ์ ๕ ด้วย ก็เป็นความละเอียดของสภาพธรรม แต่ว่าสำหรับอาหาร ๔ นี้ ก็ความจริง เราก็รู้เรื่องของนามธรรม รูปธรรมแล้ว แล้วการที่เราจะมา ระลึก ลักษณะของอาหาร ๔ เหล่านั้น จะเป็นเรื่องขอการระลึกรู้ หรือว่าเป็นเรื่องการพิจารณา

    ท่านอาจารย์ เราจะมาต้องการระลึกคงไม่ได้ แต่หมายความว่า ทั้งหมดที่ทรงแสดงธรรม เป็นสิ่งที่เป็นจริง มีจริงอย่างนั้น แม้ว่าเราจะเกิดมา แล้วเราก็มีชีวิตอยู่ทุกวัน บริโภคอาหารทุกวัน ทำอะไรๆ ทุกวันก็ไม่เคยรู้ความจริง ว่าสภาพธรรมที่เกิด เกิดจากอะไร แม้แต่อาหารที่รับประทาน รับประทานกุมมาศ ก็ไม่รู้ว่ารับประทานขนมกุมมาศ แต่ว่าพอมีชื่อเข้ามาก็งง ว่ากุมมาศ คือขนมชนิดไหน ประเภทไหน แต่ถ้าสามารถที่จะเข้าใจได้ ก็คือชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้น สำหรับอาหารที่เราบริโภค หรือรับประทานกัน เป็นคำๆ ทุกวันนี้ ก็ไม่มีใครสงสัย ต้องนำมาซึ่งผล คือ ความเจริญเติบโตของร่างกาย เวลาที่ศึกษาธรรม เราสามารถที่จะศึกษาโดยทั่วๆ ไปให้เข้าใจ แล้วก็โดยละเอียด แล้วก็โดยลึกถึงสภาพธรรมแต่ละอย่างด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าเรายังไม่เข้าใจเรื่องของชีวิตประจำวันที่พอจะเข้าใจได้ แล้วเราจะไปเข้าใจส่วนที่ลึกละเอีดยก็คงเป็นไปไม่ได้

    เพราะฉะนั้น สำหรับ กวฬิงการาหาร ก็คืออาหารที่เรารับประทานทุกวัน อันนี้ไม่มีข้อสงสัย ว่าย่อมนำมาซึ่งผล แต่ชีวิตก็ไม่ใช่มีแต่ กวฬิงการาหาร เพราะว่าถ้าเราดูข้อความที่อุปมาที่ว่า เหมือนเด็กซึ่งมารดาให้เกิด แล้วก็อาหารก็เหมือนแม่นมที่ให้ดื่มนม

    เพราะฉะนั้น แม้ว่าจะแสดงปัจจัย หลายๆ ปัจจัย สภาพธรรม ทุกอย่างที่เกิดต่างก็เป็นปัจจัยซึ่งกัน และกัน โดยนัยต่างๆ แต่ปัจจัย ๑ ก็คืออาหาร คือสภาพธรรม ซึ่งนำมาซึ่งผล ถ้าเป็นรูปอาหาร เราไม่สงสัย แต่พอถึงนามอาหาร เราจะคิดไหม ว่าในบรรดาของสภาพธรรม คือ จิต และเจตสิก สภาพใดเป็นอาหารนำมาซึ่งผล

    เพราะฉะนั้น ก็ทรงแสดงไว้ว่าในชีวิตประจำวัน สภาพที่เป็นนามอาหารก็มี ๓ คือผัสสะเป็นอาหารอย่าง ๑ เจตนาก็เป็นอาหารอย่าง ๑ วิญญาณก็เป็นอาหารอย่าง๑ แม้ว่าสภาพธรรมอื่น ก็เป็นปัจจัย นำมาซึ่งผลด้วย แต่ว่าทรงแสดงแยกโดยประเภทของสภาพธรรมนั้นๆ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าสภาพธรรม ซึ่งเป็นอาหารปัจจัย นำมาซึ่งผล ก็จะไม่พ้นจากนามอาหาร ๓ ถ้าเราไม่กล่าวถึง อาหารที่เป็นรูป เช่น ผัสสเป็นเจตสิก มีใครมองเห็นเจตสิกไหม ขณะนี้มีไหม มี สามารถที่จะฟัง เข้าใจ แต่ว่าสามารถที่จะรู้ลักษณะของ ผัสสเจตสิกได้ไหม ขึ้นอยู่กับปัญญาของแต่ละคน

    เพราะเหตุว่าสภาพธรรมใดที่มีจริง สภาพธรรมนั้นผู้มีปัญญา ย่อมสามารถที่จะเห็นความจริงของสภาพธรรมนั้นได้ เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่ แต่ละบุคคลว่าจะมีการปัญญาระดับไหน ที่สามารถจะเห็นสภาพธรรมใด

    เห็นที่นี่หมายความถึง เห็นด้วยปัญญา คือสามารถที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งปรากฏกับสติ แต่ถ้าสติไม่ระลึก แม้ว่ามีสภาพธรรม เช่น โสภณเจตสิก หรือว่าอัญญสมานาเจตสิก เหล่านี้ก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้เลย ก็เพียงแต่ได้ยินชื่อเท่านั้น เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมก็ให้ทราบว่าเป็นการศึกษาพระปัญญาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงแสดงโดยละเอียด โดยพระปัญญาซึ่งให้ผู้ฟังมีความเข้าใจขึ้นตามลำดับ ตามลำดับนี่ต้องเข้าใจจริงๆ ว่าเป็นความเข้าใจ ไม่ใช่เป็นการเพียงจำ หรือเป็นเพียงการฟัง แต่ต้องเป็นด้วยความเข้าใจ

    โดยมากเวลาที่ศึกษาธรรม บางคนก็ไม่พิจารณา ให้เข้าใจ แต่จะสงสัย สงสัยว่าทำไม เช่น สภาพธรรมอื่นก็มี แต่ทำไมอาหาร ๔ เท่านั้น ที่ทรงแสดงว่าเป็นอาหารปัจจัย นี่แสดงให้เห็นว่าความไม่รู้ของเรามากมาย แม้ว่าจะทรงแสดงด้วยพระปัญญาคุณ โดยการตรัสรู้ แต่เราก็ยังเกิดความสงสัย ด้วยความไม่รู้ ว่าทำไมสภาพธรรมอื่น จึงไม่ใช่อาหาร หรือไม่ใช่อาหารปัจจัย

    แต่ก็ต้องพิจารณาถึงผัสสเจตสิก เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นสภาพธรรม ซึ่งกระทบอารมณ์ เพราะว่าผัสสะเป็นเจตสิกเป็น นามธรรม เป็นสภาพรู้ หรือธาตุรู้ ซึ่งไม่ใช่จิต ไม่ได้ทำหน้าที่อย่างจิต แต่ทำหน้าที่ของผัสสเจตสิก คือกระทบอารมณ์ ขณะนี้มีสภาพธรรมกำลังปรากฏ จริงหรือเปล่า ใครไม่มีสภาพธรรมปรากฏบ้าง นี่คือการที่เราจะถามตัวเอง ถ้าไม่มีคนถาม เราก็อาจจะไม่คิด ว่าเราเข้าใจคำว่า ธรรม นี่แค่ไหน ธรรมที่เราเรียน ธรรมที่เราอ่าน ธรรมที่เราฟัง หรือพิจารณากับธรรมที่กำลังปรากฏ ถ้ารู้ว่าทุกอย่างที่มีจริงเป็นธรรม เพราะเหตุว่า สภาพธรรม ที่เกิดจะไม่พ้นจากจิต เจตสิก รูป

    แต่สภาพธรรมใดกำลังปรากฏ ในขณะนี้ เมื่อมีจริง เกิดขึ้นปรากฏสภาพธรรมนั้นเป็นอะไร เป็นจิตหรือเป็นเจตสิก หรือเป็นรูป แค่นี้ก็ไม่รู้แล้ว ถูกไหม รู้เรื่อง แต่หมายความว่ารู้ลักษณะของจิตในณะนี้ รู้ลักษณะของเจตสิกในขณะนี้ รู้ลักษณะของรูปในขณะนี้ จริงๆ หรือเปล่า แม้ว่ากำลังปรากฏ เช่น ทางตา รูปแน่นอน ที่ปรากฏ รู้ลักษณะ ที่เป็นรูปหรือเปล่า เพราะฉะนั้น การฟังธรรม นี่ต้องฟัง แล้วก็พิจารณา ฟังแล้วก็ฟังอีก ไม่ใช่หมายความว่าฟังแล้วเข้าใจทันที ฟังแล้วเข้าใจขึ้นอีก ก็ต้องฟังต่อไปอีก เพื่อให้เข้าใจ แจ้มแจ้งขึ้นอีก จนกว่าจะมั่นคง ด้วยการประจักษ์แจ้ง

    เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ถ้าถามว่า ธรรมกำลังปรากฏ หรือเปล่า คำตอบคืออะไร หรือยังไม่มีคำตอบ ปรากฏเพราะผัสสเจตสิก ถ้าไม่มีผัสสเจตสิกกระทบ สภาพธรรมนั้นปรากฏไม่ได้เลย แต่เราสามารถที่จะรู้ลักษณะของผัสสเจตสิกไหม แม้สภาพธรรมที่ปรากฏ เราก็ยังไม่เห็นความเป็นธรรม เพราะฉะนั้น ไม่ต้องไปคิดเรื่องที่จะไปรู้ลักษณะของผัสสเจตสิก มนสิการเจตสิก หรือว่าเจตสิกอื่นๆ ที่ไม่ปรากฏแม้มีในขณะนี้ที่จิตเกิด อย่างน้อยที่สุด มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗ ประเภทแล้ว ถ้าเป็นฝ่ายดี ที่เป็นโสภณ ก็มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยมากกว่านั้น

    เพราะฉะนั้น ไม่มีทาง ที่เราจะไปคิดเอง เข้าใจเองในเรื่องธรรม นอกจากว่าเมื่อทรงชี้ว่าสภาพธรรม ใดเป็นอาหาร เราก็ศึกษาให้เข้าใจว่า สภาพธรรมนั้นเป็นอาหารจริงๆ อย่างที่ทรงแสดงไว้ เพราะเหตุว่า ถ้าผัสสเจตสิกจะไม่เกิด ไม่กระทบ เจตสิกอื่น และจิตก็เกิดไม่ได้ หรือโดยสหชาตปัจจัย คือ จิต และเจตสิก ต้องเกิดร่วมกัน แม้ผัสสะก็เกิดเองไม่ได้ ต้องมีจิต นี่ก็เป็นเรื่องที่เราจะเห็นความลึกล้ำของสภาพธรรม ซึ่งเป็นนามธรรม แม้มีจริงเกิดขึ้นดับไปในสังสารวัฏ ก็ไม่มีทางที่จะรู้ความจริงได้ ถ้าไม่ศึกษาแล้วค่อยๆ พิจารณา ให้เข้าใจจริงๆ พอเริ่มที่จะเห็นว่าผัสสะเป็นอาหารหรือยัง เป็นผัสสาหาร เป็นนามธรรม เป็นเจตสิก แล้วจากพระสูตรนี้ก็คงจะเข้าใจได้ว่า อาหารมี ๔

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 102
    25 มี.ค. 2567