ปกิณณกธรรม ตอนที่ 583


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๘๓

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๔


    ท่านอาจารย์ อันนี้ต้องเข้าใจ เราอย่าไปเพียงจำชื่อ แต่ทุกครั้งที่เห็น รู้ว่าเป็นวิบาก ทุกครั้งที่ได้ยิน ไม่ว่าจะเห็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดีก็ตามแต่ ให้ทราบว่าเป็นวิบาก แล้ววิบากอีก ๒ ดวงก็คือ สัมปฏิจฉันนะเกิดต่อจากทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวงนี้ แล้วต่อจากสัมปฏิจฉันนะก็คือ สันตีรณะ ก็เป็นวิบาก เป็นเรื่องของกรรมเดียวกัน ที่ทำให้ห็น หรือว่าได้ยินสิ่งเดียวกัน จบเรื่องของวิบาก ที่เป็นอเหตุกะ หลังจากนั้นไม่ใช่วิบากแล้ว ที่จะต้องเข้าใจให้ถูก ก็คือ ต้องรู้เรื่องชาติของจิตแล้วลำดับการเกิดของจิต แล้วเมื่อเข้าใจดีแล้วถึงจะเป็นเรื่องกิจของจิต เพราะว่าจิตทุกดวงจะต้องเกิดมากระทำกิจการงานต่างๆ

    ผู้ฟัง ถามว่า ปฏิสนธิจิต เมื่อเขาเกิดมา ทำกิจอะไรบ้างไหม ที่เราพอจะเข้าใจได้ในขณะนี้

    วิทยากร. ปฏิสนธิจิต เกิดขึ้นก็ดับไป ไม่เกิดอีกเลย จนกระทั่งจุติแล้ว จึงทำหน้าที่ปฏิสนธิใหม่ ทำกิจสืบต่อ ภพใหม่ ปฏิสนธิ แต่ว่าสืบต่อปฏิสนธินั้น ก็เรียกว่า ภวังคจิต จิตที่รักษาภพชาติ หรือว่าดำรงภพชาติ ถ้าจะแปล ภวังคจิต ภวะ-อังค แล้วก็ จิต จิต-ตะ จิตเป็นองค์ของภพ ของการเกิด หมายความว่าสืบต่อจากปฏิสนธิ แต่ไม่ใช่ปฏิสนธิ ปฏิสนธิของคนๆ หนึ่งในภพหนึ่ง ต้องเป็นจิตดวงเดียวเท่านั้น จนกว่าจะตายแล้ว จึงจะเกิดขึ้นมาใหม่ เรียกว่าปฏิสนธิ บางคนไม่เข้าใจว่า ปฏิสนธิ แปลว่าเกิด แต่เข้าใจว่า ตรงกันข้าม ปฏิสนธิ แปลว่า ตาย จุติ ซึ่งแปลว่าตาย แปลว่า เคลื่อน หมายความว่าตาย แต่ไปเข้าใจผิดว่า จุติ แปลว่า เกิด บางคนอย่างนี้ก็มี

    ท่านอาจารย์ มีใครทราบไหมว่า ปฏิสนธิจิต ชาติหน้าจะเป็นจิดดวงไหน ใครรู้บ้าง ตายแล้วทุกคนต้องตายแน่ แล้วก็ปฏิสนธิจิต จะเป็นจิตดวงไหนใน ๑๙ ดวง

    ผู้ฟัง ไม่รู้

    ท่านอาจารย์ แน่ใจหรือ รู้บางนิดๆ หน่อยๆ ได้ไหม

    ผู้ฟัง นอกจากจะเดา เอาว่าทำบาปไว้มาก

    ท่านอาจารย์ ที่ไม่เดา ที่พอรู้บ้าง นิดๆ หน่อยๆ ไม่ได้เลย หรือ

    ผู้ฟัง กามาวจรวิบาก

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ไม่ได้ทาน แล้วจะไปเป็นรูปพรหม จะไปปฏิสนธิ ด้วยรูปาวจรวิบากไม่ได้ อรูปฌานก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็เป็นโอกาสของปฏิสนธิจิต ๑๐ ดวง แล้วแต่ว่าจะเป็น อกุศลวิบาก หรือกุศลวิบาก

    เป็นผู้ที่ฉลาดก็จะรู้ได้เลยว่า หลังจากที่เห็นแล้ว เป็นกุศล หรือ อกุศล แต่ผู้ที่ไม่มีปัญญาก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า หลังจากเห็นแล้วจิต เป็นอะไร ในขณะนี้ มีเห็น แล้วก็เร็วมากเลย เมื่อวาระนั้นคือมีรูปปรากฏ แล้วก็ชวนจิตในวาระนั้น เป็นอะไร ถ้าไม่มีปัญญาก็ไม่สามารถจะรู้ได้ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าคนที่ไม่มีปัญญา แล้วก็มีแต่โลภะ มีความต้องการแล้วก็สามารถ ที่จะทำให้ฌานจิตเกิดได้

    ผู้ฟัง ขณะนี้เรามีการฟังธรรม แต่ว่าเราไม่ได้มีการสะสมการน้อมไปในการที่เจริญฌาน อนาคตชาติเราก็จะไม่ได้ฌาน

    ท่านอาจารย์ ใครทราบถึงอดีตบ้างว่า อาจจะเคยได้ฌาน เคยเป็นรูปพรหม เคยเป็นอรูปพรหมมาแล้วก็ได้ ในสังสารวัฏที่ยาวนาน

    ผู้ฟัง ก็น่าจะมีอุปนิสัยในชาติปัจจุบันนี้

    ท่านอาจารย์ เรื่องของฌานไม่ใช่เป็นเรื่องของอุปนิสัยแบบกุศลอื่น เป็นเรื่องของความชำนาญแคล่วคล่อง เพราะฉะนั้น ถ้ามีการสะสมก็คือมีการสะสมของศรัทธา มีการสะสมของสติ มีการสะสมของวิริยะ แต่ที่จะเป็นไปในทางหนึ่ง ทางใดก็แล้วแต่ชาติหนึ่งชาติใด

    อย่างในชาติที่ไม่มีโอกาสที่จะได้ฟังพระธรรม ขณะนั้นไม่สามารถที่จะมีการอบรมเจริญมรรคมีองค์ ๘ แต่ถ้าผู้นั้นมีความสามารถจากการสะสม แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นผู้ที่มีการสะสมโดยที่ไม่มีปัญญา ผู้นั้นก็สามารถที่จะให้ฌานจิตเกิด แต่ผู้ที่ไม่มีการสะสมถึงระดับที่ฌานจิตเกิด ก็มีการสะสมที่จะให้กุศลจิตระดับอื่นเกิดเช่น ความสงบ ในชีวิตประจำวัน อย่างบางคนก็มีอุปนิสัย ในการที่จะช่วยเหลือผู้อื่น มีกรุณา ที่สะสมมามาก เราจะสังเกตเห็นได้ว่า เวลาที่เห็นคนตกทุกข์ได้ยาก เขาจะเป็นผู้ที่รวดเร็วในการที่จะช่วยเหลือ ในขณะที่คนอื่นเขาก็มีกุศลจิต ก็อาจจะมีความสงสาร แต่ว่าไม่ว่องไว ไม่มีมากเท่ากับผู้ที่ช่วย เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ซึ่งทำให้เป็นอุปนิสัยในชีวิตประจำวัน ที่จะเกิดได้

    ผู้ฟัง แต่สำหรับผู้ที่เกิดในพระพุทธศาสนาแล้ว ท่านก็เห็นประโยชน์ ของการอบรมเจริญปัญญาด้วย แล้วก็เห็นประโยชน์ในการเจริญสมถะด้วย อบรมไปด้วยกัน ก็มีใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ อย่างนี้ คือว่า เรื่องใหญ่ที่สุดที่จะออกจากสังสารวัฏ ไม่ใช่เรื่องฌาน แล้วเรื่องยากมากก็คือ การที่จะละโลภะ ความติดข้องซึ่งการที่เรายังวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปพรหม หรือกามโลก หรือ อรูปพรหม หรือที่ไหนใดๆ ก็ตามทั้งหมด เป็นเพราะยังมีความติดข้อง ในความเป็นในรูปในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ในโผฏฐัพพะ อย่างผู้ที่ไปสู่รูปฌาน หรือรูปโลก ไปเกิดเป็นรูปพรหมไม่ได้ ก็เพราะเหตุว่ายังมีความติดข้องอย่างมาก ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น เราก็ค่อยๆ ไล่ไป ทีละเล็กทีละน้อย แล้วเราก็สามารถ จะรู้ได้ว่า ถ้าตราบใด ไม่เห็นโลภะ แล้วก็ไม่รู้หนทางที่จะละโลภะ เราก็อาจจะเจริญกุศลได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นทาน เป็นศีล เป็นสมถภาวนา แล้วก็ไปเกิดในพรหมโลกได้ แต่ว่าออกจากสังสารวัฏไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีโอกาสได้ฟังพระธรรม จุดมุ่งของเขา ประโยชน์จากการได้ยินได้ฟังพระธรรม อยู่ที่การอบรมอะไร แม้ว่าคนนนั้นอาจจะเป็นคนที่ได้ฌานมาแล้ว อย่างพวกที่เกิดมาในสมัยที่ได้ฟังพระธรรม จากพระโอษฐ์ ได้มีโอกาสเฝ้า แต่ว่าเป็นผู้ที่ได้ฌานมาแล้ว คล่องแคล่วแล้ว มีวสีแล้วก็ตามแต่ แต่จุดมุ่งของเขา ถ้ายังคงเป็นเพื่อฌานต่อไป ขณะนั้นเขาก็ออกจากสังสารวัฏไม่ได้

    แต่เมื่อได้ฟังแล้ว เห็นว่าหนทางเดียว ที่จะออกได้ก็คือว่าละ ความติด โลภะติดในทุกอย่าง โลภะติดในกุศล โลภะติดในทาน โลภะติดในศีล โลภะติดในความสงบของจิต โลภะติดในรูปฌาน อรูปฌานด้วย โลภะสามารถที่จะติดได้ทั้งหมด เพราะฉะนั้น ผู้นั้นเมื่อได้ฟังธรรมแล้ว ก็รู้ว่ามีหน้าที่อย่างเดียว คือ อบรมเจริญปัญญา เพื่อละโลภะ ไม่ว่าจะเป็นโลภะในอะไรๆ ทั้งสิ้น

    นี่เป็นจุดสำคัญมาก ที่เรามีความมั่นคง มีศรัทธาตั้งมั่นแล้วด้วยดี ในการที่จะเห็นประโยชน์ว่า การศึกษาธรรมทั้งหมดเพื่อเข้าใจ แล้วก็เพื่อที่จะรู้ว่าโลภะอยู่เมื่อไร แล้วก็ตรงไหน ไม่อย่างนั้นเราก็เขวไปตามโลภะได้

    ผู้ฟัง โลภะ สามารถติดในวิปัสสนาด้วยไหม

    ท่านอาจารย์ ตราบใดที่ยังไม่ดับหมด

    ผู้ฟัง อันนี้ก็น่าจะไม่ต่างกัน เพราะว่าเราก็ยังคงฟังธรรม ยังศึกษาธรรมอยู่

    ท่านอาจารย์ แต่เพื่ออะไร อย่างหนึ่ง เราเพื่อละ เพื่อรู้ตามความเป็นจริงไม่ได้สนใจว่าต้องไปเป็นฌาน หรือต้องสงบระดับฌาน แล้วก็มีความรู้ด้วยว่าแล้วแต่อะไร จะเกิด เพราะฉะนั้น บุคคลที่อบรมเจริญปัญญาจริงๆ ก็สามารถที่จะรู้ได้ว่า ทุกอย่างเกิดเพราะเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น ถ้าขณะนั้นจิตสงบระดับใด

    ข้อสำคัญก็คือว่า สามารถที่จะรู้แล้ว ละ ว่าไม่ใช่เรา หรือว่ามีความยินดีพอใจ ในสุขสงบอย่างนั้น แล้วผู้ที่อบรมเจริญฌานแค่นั้นไม่พอ ต้องมากกว่านั้นอีก ต้องสงบมากกว่านั้นอีก ต้องถึงอุปจารสมาธิ หรือว่าต้องถึง อัปปนาสมาธิ นั่นคือผู้ที่ต้องการความสงบ โดยการที่ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า ขณะนั้นมีโลภะอยู่ตรงนั้นหรือเปล่า

    เพราะฉะนั้น จึงต้องเป็นผู้ที่อาจหาญจริงๆ ที่จะรู้ว่าไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมใดๆ ปัญญาก็จะต้องศึกษา หมายความว่ารู้ความจริงของสภาพธรรมนั้น ว่าเป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม เพื่อละ ถ้าตราบใดที่ยังไม่มีแม้แต่การละ เมื่อนั้นก็จะไม่สามารถประจักษ์สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้

    ผู้ฟัง มีเหตุผลหลายๆ อย่างที่ทำให้ผมมีความเชื่อว่า สำหรับผู้ที่ได้ฌานในอดีตเขาต้องเคยได้ฟังธรรมมาก่อน

    ท่านอาจารย์ พวกที่ไม่ได้ฟังธรรมเลย มีไหม

    ผู้ฟัง ในอดีตชาติคิดว่าน่าจะมี เพราะว่าเขาจะสามารถสังเกตลักษณะของจิต แล้วก็รู้ลักษณะของวิตก วิจาร

    ท่านอาจารย์ คนที่ไม่เคยฟังธรรมเลย ก็สามารถที่จะรู้ได้ว่าโกรธ สามารถที่จะรู้ได้ว่ากำลังสนุก เพียงแต่ว่าเราไม่ใส่ชื่อ กำลังร้องไห้อย่างนี้ ก็รู้ว่าขณะนั้น เป็นโทมนัส ไม่ต้องเรียกอะไรเลย แต่สภาพธรรมนั้น ก็เป็นอย่างนั้น

    จากคำพูดเราก็สามารถจะรู้ได้ว่าเกิดจากจิตอะไร นี่อย่างหยาบ คือหมายความว่าจิตจริงๆ ของแต่ละคนที่นั่งอยู่ในที่นี้ เราไม่สามารถจะรู้ได้ แต่เมื่อมีกาย มีวาจาก็ทำใหเราสามารถที่จะรู้ว่าจิต ที่ทำให้มีกายอย่างนั้น มีวาจาอย่างนั้นเป็นอกุศลจิต หรือกุศลจิต แค่นี้ แต่คนที่มีความละเอียดมากกว่านี้อีก เขาก็ยังสามารถที่จะพิจารณาจิตจากการสะสม ว่าขณะนั้นเป็นอกุศล แม้ว่าไม่ได้ฟังธรรมเลย แต่เขาไม่สามารถที่จะรู้ว่า ไม่ใช่ตัวตน เป็นนามธรรม และเป็นรูปธรรม แต่เขาสามารถที่จะรู้สภาพของธรรม ที่เกิดในขณะนั้นได้ ว่าขณะไหนดี ขณะไหนไม่ดี อย่างโกรธ กับเมตตา ไม่รู้จักชื่อเลย แต่เขาก็ยังสามารถที่จะรู้ความต่างว่า ๒ อย่างมีลักษณะที่ต่างกัน

    ผู้ฟัง อันนี้ปรากฏชัด แต่ว่าสำหรับวิตก วิจาร โดยเฉพาะปิติกับสุข ปิติกับโสมนัส เป็นเรื่องที่แม้เราศึกษาธรรมแล้ว บางทีเรายังแยกไม่ค่อยออก แล้วสำหรับผู้ที่ไม่ได้ฟังธรรม ถ้าไม่เคยสะสมในอดีตมาที่จะอบรมปัญญามาด้วย จะสามารถแยกออกระหว่างปิติกับสุข

    ท่านอาจารย์ โดยมากเราคิดเรื่องชื่อ ว่านี่ชื่ออะไร

    ผู้ฟัง ลักษณะ

    ท่านอาจารย์ แน่นอนอย่างโลภะ มี เราก็ไม่รู้ว่าจะบัญญัติคำนี้ว่าอย่างไร แต่เมื่อทรงบัญญัติว่าโลภะ ตัณหา หรือว่า ชื่อต่างๆ นันทิราคะ ความหมายอย่างเดียวกัน ทำให้เราสามารถที่จะเข้าใจละเอียดจากพระธรรมเทศนา แต่แม้ว่าไม่มีคำ สภาพธรรมก็ต่างกัน

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะอบรมสมถภาวนา ภาวนาอบรมให้มั่นคงขึ้น มากขึ้นต้องเป็นผู้ที่มีปัญญา ไม่ใช่คนที่ไม่มีปัญญา แต่ปัญญาของเขาละเอียดที่จะสามารถรู้ สภาพของจิตในขณะนั้น แล้วก็สำหรับเวลาที่จะอบรมเจริญความสงบ ยังไม่สามารถที่จะถึงอัปปนาสมาธิ หรืออุปจารสมาธิ หรือจะกล่าวตามลำดับก็คือไม่ถึง อุปจารสมาธิ หรืออัปปนาสมาธิได้ทั้งหมด บางคนอบรมตั้งนานมากก็ยังไม่ถึงอุปจารสมาธิ เพราะฉะนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะต้องไปรู้จัก วิตก วิจาร ลักษณะที่เกิดร่วมกับจิตในขณะนั้น เพราะว่าขณะนั้น ความสงบไม่พอ ที่จะถึงอัปปนาสมาธิ เพราะฉะนั้น ก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ แต่ว่าวันหนึ่งๆ ทุกคนคิดหรือเปล่า คิด ไม่ได้ใส่ชื่อเลยว่าภาษาบาลีเรียกว่าอะไร แต่รู้ว่าคิด มี เป็นสภาพธรรมคิด

    ผู้ฟัง เราไม่ได้รู้ด้วยปัญญา

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง แต่ว่า หมายความว่าสภาพธรรมนั้น มี เราไม่รู้จักชื่อ แต่คิดก็มี ๒ อย่าง คิดที่เป็นกุศล กับคิดที่เป็นอกุศล มีใครไม่รู้บ้าง ว่าคิดไม่ได้คิดอย่างเดียว แต่บางครั้งคิดเป็นกุศล บางครั้งคิดเป็นอกุศล เพราะฉะนั้น แม้ไม่ใส่ชื่อเลย เขาก็ยังสามารถที่จะรู้ความต่าง ของกุศลจิต และอกุศลจิต โดยไม่มีชื่อที่จะเรียก อย่างที่ได้ทรงแสดงไว้โดยละเอียด เพราะฉะนั้น เรื่องของสภาพธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง แล้วแต่ แต่ละบุคคล สามารถที่จะมีความละเอียด สามารถที่จะการพิจารณา สามารถที่จะรู้ความต่าง แต่ไม่สามารถที่จะรู้ชื่อได้

    ผู้ฟัง ท่านแสดงไว้ว่าสำหรับพวกพรหมว่า ยังมีตา ยังมีหูอยู่ทั้งๆ เป็นผู้ที่เห็นโทษของสี เสียง กลิ่นรส โผฏฐัพพะแล้ว แต่ว่ายังเห็นประโยชน์ ของการที่จะได้เห็นกับได้ยิน เพราะว่ามีโอกาสที่จะพบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีโอกาสจะได้ฟังพระธรรม คิดว่าก็คงจะต้องมีการสอนกันมาตั้งแต่ในอดีตว่ายังมีประโยชน์ ในการที่จะได้พบพระพุทธเจ้า และพระธรรมอีก

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นี้ พระองค์เดียว มีมานับไม่ถ้วน เพราะฉะนั้น ในสังสารวัฏ มีใครบ้างที่จะเคยได้ฟัง ได้ฟังแล้ว ได้ฟังแบบไหน ได้ฟังแบบเข้าใจจริงๆ อบรมเจริญปัญญา หรือว่าฟังแล้วก็ยังต้องมาฟังอีกในแสนโกฏิกัปป์ที่ได้ยินมาแล้ว แล้วก็จะมีการค่อยๆ เข้าใจว่าเป็นธรรม ขณะนี้เป็นธรรม เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคลจริงๆ แต่ต้องทราบว่าไม่ว่าจะเป็น สมถภาวนา หรือวิปัสสนาภาวนา ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญา และแม้แต่พรหม ก็มีพรหมที่มีความเห็นผิดก็มี พรหมที่ไม่มีปัญญาก็มี พรหมที่มีปัญญาก็มี

    ในสังสารวัฏที่ยาวนานมาก มนุษย์ที่ได้ฟังธรรมาแล้ว ในชาติก่อนๆ ก็มี ที่ไม่ได้ฟังก็มี หรือแม้แต่พรหมที่ได้ฟังก็มี ที่ไม่ได้ฟังก็มี เพราะฉะนั้น เราก็ควรที่จะศึกษา สิ่งที่เราสามารถจะรู้ได้ เข้าใจได้ คือในปัจจุบันนี้ ถ้ามีการฟังธรรม มีความเข้าใจ มีความละเอียด มีการที่จะ รู้ลักษณะของสภาพธรรม รู้หนทางว่าทางไหนเป็น มรรคมีองค์ ๘ หรือว่า เป็นอริยสัจ เป็นสัจจญาณ ผู้นั้นก็ยังสามารถที่จะรู้ได้ว่า ต้องเป็นหนทางนั้นจริงๆ ไม่ใช่หนทางอื่น ซึ่งในขณะที่หลายคน พอได้ยิน ชื่อมรรคมีองค์ ๘ ก็ไม่เข้าใจอะไรเลย เรียกแต่ชื่อ แล้วก็เรียกตามชื่อ แล้วก็ทำอะไรคิดว่าขณะนั้นเป็น มรรคมีองค์ ๘ เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล

    ผู้ฟัง อาจหาญร่าเริง ที่จะรู้รูป กับนาม ท่านอาจารย์ ทำไมถึงกับต้องอาจหาญร่าเริง เพราะว่ามันรู้ยากแล้วต้องอดทน หรือว่าจะไม่เชื่อในสิ่งนั้นหรืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ กล้าที่จะรู้ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง กล้า คือ ไม่เชื่อใช่ไหม ที่จะว่ามันเป็นรูปกับนามเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ เชื่อ แต่ไม่ได้รู้ความจริง ไม่ได้ประจักษ์แจ้ง ไม่พอ

    ผู้ฟัง ต้องถึง คือหมายความว่าต้องประจักษ์แจ้งตรงนั้นจริงๆ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ คำใดที่ตรัส ตรัสจากการที่ได้ประจักษ์แจ้ง เพราะฉะนั้น ผู้ที่กล่าวตาม ก็ต้องรู้ตามความเป็นจริงว่าเพียงกล่าวตาม หรือว่าอบรมเจริญปัญญา เพื่อที่จะประจักษ์แจ้ง

    ผู้ฟัง จะต้องอาจหาญร่าเริงด้วย ที่จะต้องรู้สภาพธรรมที่ดี แล้วก็ไม่ดีด้วย

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้ สภาพธรรมกำลังปรากฏ อาจหาญคือเดี๋ยวนี้ สติเกิดระลึกได้ ไม่หวั่นไหว ขณะนี้ไม่เอา จะให้เป็นสมาธิ จะสงบ หรือจะอะไรก็แล้วแต่ที่จะคิดไป โดยที่ไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ แล้วเดี๋ยวนี้ เพราะว่าสภาพธรรมปรากฏสั้นมาก ขณะใดที่สติเกิดรู้แล้วดับเลย เพราะฉะนั้น การที่สติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมใดๆ ก็ต้องเป็นผู้ที่ ไม่ได้มีโลภะที่จะต้องการอื่น อาจหาญที่จะไม่เป็นไปตามโลภะ หรือความต้องการที่จะทำอย่างอื่น

    ผู้ฟัง สภาพธรรมก็เป็นอนัตตา แต่ในขั้นที่เรา คล้ายๆ ว่าศึกษาอบรม ความเชื่อว่าเป็น อนัตตาก็มีได้ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ โดยคิด

    ผู้ฟัง โดยคิด ใช่ไหม ถ้าสติปัฏฐานเกิด อันนั้นก็จะเป็นขั้นหนึ่ง ที่จะเชื่อมั่นคงหรือ

    ท่านอาจารย์ ยัง ระลึกเพื่อที่จะรู้จริงๆ ว่าเป็นอย่างนั้น ขณะนี้ไม่มีเรา นี่คือเข้าใจว่าอย่างนี้ แต่จะไม่มีเราจริงๆ เป็นแต่เพียงนามธรรม และรูปธรรมทั้งหมด ทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ต้องอบรม

    ผู้ฟัง คราวที่เราอบรมบ่อยๆ คือระลึกรู้สภาพธรรมที่เกิดขึ้นตามความจริงตอนที่สติเกิด แล้วมันจะเป็นปัจจัยให้เราเชื่อตรงนั้นจริงๆ

    ท่านอาจารย์ ค่อยๆ รู้ความจริง

    ผู้ฟัง ต้องใช้เวลามากๆ เลย

    ท่านอาจารย์ จิรกาลภาวนา

    ผู้ฟัง อย่างผมที่มาฟัง อาจารย์บรรยายธรรม จัดเข้าในพุทธบริษัท ๔ หรือเปล่า วัดผมก็ไม่ได้ไป ศีลผมก็ ไม่ถือศีล ผมก็ไม่ได้ฆ่าสัตว์ อะไรพวกนี้ อย่างพวกที่ฟังธรรม อะไรพวกนี้ แต่ไม่ได้ไปทำบุญที่วัด อะไรพวกนี้ จัดเข้าในพุทธบริษัท ๔ หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ พุทธบริษัท ๔ ภิกษุ ๑ ภิกษุณี ๑ อุบาสก ๑ อุบาสิกา ๑

    ผู้ฟัง ที่เป็นอุบาสก อย่างผมเป็นอุบาสก หรือเปล่า อุบาสก หมายความว่าผู้ที่ปฏิบัติธรรม ฟังธรรม

    ท่านอาจารย์ เลื่อมใสในพระรัตนตรัย ถ้าเลื่อมใส่ในพระรัตนตรัย ต้องทั้งพระพุทธรัตน พระธรรมรัตน พระสังฆรัตนด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีการศึกษา สามารถที่จะเข้าใจไหม ในความเป็น รัตนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือว่าในพระธรรม ตั้งแต่ปริยัติ จนกระทั่งถึงโลกุตตรธรรม ถ้าไม่รู้เลย อย่างนี้ จะชื่อ ว่าเลื่อมใส หรือเปล่า แล้วก็พระอริยสงฆ์ จะทราบได้อย่างไร ว่าหนทางไหนจะทำให้เป็นพระอริยบุคคล เพราะว่า พระพุทธศาสนา เป็นคำสอน ของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงพระคุณ ๓ คือ พระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาคุณ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ศึกษาจะไม่รู้จัก พระคุณทั้ง ๓ ได้เลย

    ผู้ฟัง ตอนนี้ผมก็ยังไม่ได้ศึกษาพระธรรม ตอนนี้ยังไม่ได้ศึกษา เพียงขั้นการฟังที่อาจารย์บรรยายในทางวิทยุ

    ท่านอาจารย์ ฟัง คือ ศึกษา ขณะใดที่เข้าใจ ขณะนั้นคือศึกษา แต่ว่าระดับไหน ระดับฟัง ปริยัติศาสนา หรือว่าอบรมเจริญปัญญา ที่จะรู้แจ้งสภาพธรรม ตามความเป็นจริงว่าจริง ตามที่ได้ทรงแสดงไว้ทั้งหมด

    ผู้ฟัง ถ้าฟังแล้วเข้าใจ คือ ศึกษาอบรม

    ท่านอาจารย์ รู้ว่านี่คือพระพุทธศาสนา นี่คือคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ถ้าจะเป็นชาวพุทธโดยที่ว่า ไม่สามารถที่จะบอกได้ว่าอะไรคือคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ชื่อว่าเป็นชาวพุทธโดยที่ว่า ไม่รู้ไม่ได้ศึกษา สิ่งที่ตนเองกล่าวว่าเลื่อมใส หรือนับถือ

    ผู้ฟัง อย่างไรจึงชื่อว่าเป็นบุคคลที่มีพระรัตนตรัยเป็นสรณะ คุณธรรมอย่างไร ที่ชื่อได้ว่ามีพระรัตนตรัยเป็นสรณะ

    ท่านอาจารย์ ต้องเป็นผู้ที่ตรง ถ้ามีพระรัตนไตรเป็นสรณะ หมายความว่าเป็นที่พึ่ง ที่พึ่งที่นี่ไม่ได้พึ่งทรัพย์สิน ไม่ได้พึ่งยามทุกข์ แต่ว่าพึ่งพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาคุณ ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งจะรู้ได้ต่อเมื่อศึกษา

    วิทยากร. ขอเรียนเพิ่มเติมที่มีท่านผู้ถามว่า พุทธบริษัท ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ภิกษุ ภิกษุณีเป็นเพศบรรชิต ภิกษุ คือเพศบรรชิตที่เป็นฝ่ายบุรุษ เป็นฝ่ายชาย ภิกษุณีก็เพศบรรชิตที่เป็นสตรีเป็นผู้หญิง อุบาสก คือ เพศผู้นับถือพระพุทธศาสนาที่เป็นชาย อุบาสิกา คือ ผู้นับถือพระพุทธศาสนาที่เป็นผู้หญิง คำว่า อุ-บา-ส-กะ หรือ อุบสิกา มีความหมายว่าเป็นผู้เข้าไปนั่งใกล้พระรัตนตรัย เข้าไปนั่งใกล้พระรัตนตรัย ก็อย่างที่ท่านอาจารย์ท่านว่า คือ นั่งใกล้ หมายความว่า เราซาบซึ้ง ในพระคุณของพระองค์ พระคุณของพระองค์อย่างง่ายๆ เราไม่ต้องเอาถึง ๓ เอาแค่ว่า พระองค์ทรงตรัสรู้ ทรงรู้สภาพธรรม ตามความเป็นจริงธรรม ธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้ ตามความเป็นจริง พระธรรมที่เป็นจริงนั้นแหละ คือพระธรรมที่พระพุทธองค์ ทรงตรัสรู้ พระสงฆ์ ก็คือผู้ที่ปฏิบัติ ตามที่รู้ที่พระพุทธองค์สอน จนเข้าใจความจริงของสภาพธรรมนั้น ก็พระรัตนตรัย เมื่อเข้าใจอย่างหนึ่ง คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่างหนึ่ง ก็ต้องเนื่องถึงกันหมด แยกกันไม่ได้เลย แยกกันไม่ออก เพราะฉะนั้น คำว่านั่งใกล้ ทีนี้เราถึงแค่ไหนที่ว่านั่งใกล้

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 102
    25 มี.ค. 2567