ปกิณณกธรรม ตอนที่ 582


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๘๒

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๔


    ท่านอาจารย์ เวลาที่ความคิดนึกเกิดขึ้น กับวิปัสสนาญาณ ขณะนั้นไม่มีเราหรือไม่มีตัวตนหรือไม่มีรูปร่างกายที่เป็นทั้งแท่งอย่างนี้ ที่จะเป็นเราคงอยู่ แล้วคิดอย่างนั้น แต่จะรู้ว่านามธาตุที่คิด คืออย่างนี้

    ผู้ฟัง วิปัสสนาญาณขั้นที่ ๒, ๓ ขึ้นไปก็ไม่แตกต่างจาก วิปัสสนาญาณที่ ๑ เพียงแต่ว่า มีความเข้าใจละเอียดในเรื่องของปัจจัย ในเรื่องของการเกิดดับมากขึ้น

    ท่านอาจารย์ โดยมากคนจะแยก วิปัสสนาญาณที่ ๑ คือ ๑ หรือวิปัสสนาญาณที่ ๒ ก็คือ ๒ วิปัสสนาญาณที่ ๓ ก็คือ ๓ แต่ไม่ใช่อย่างนั้นเลย การที่คนเริ่มเรียน ก. ไก่ พอขึ้นชั้นไปเขาลืม ก. ไก่ หรือเปล่า หรือเอา ก. ไก่ ไปทิ้งไว้ที่ไหน หรือตลอดไป ก็คือ ก.ไก่ ไม่ว่าในตำรับตำราเล่มไหนทั้งสิ้น พระไตรปิฎกทั้งหมดก็มี ก. ไก่ อยู่

    เพราะฉะนั้น ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม ซึ่งประจักษ์แจ้งแล้ว จะเป็นอื่นได้อย่างไร นอกจากว่าจะประจักษ์เพิ่มขึ้น มีความเข้าใจในสิ่งที่กำลังปรากฏยิ่งขึ้น จึงจะเป็นวิปัสสนญาณขั้นต่อไป ไม่ใช่ว่าไปทิ้ง อย่างบางคนก็อาจจะคิดว่า ใน รถวินีตสูตร ก็แสดงอุปมาเหมือนกับ รถ ๗ คัน พูดถึงวิสุทธิ ๗ จากช่วงที่ ๑ แล้วก็ขึ้นต่อไปถึง คันที่ ๒ คันที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๖ ที่ ๗ แต่ต้องเข้าใจว่า นั่นเป็นคำอุปมา ถ้าไม่มีช่วงที่ ๑ ช่วงที่ ๒ จะมีได้อย่างไร เพราะฉะนั้น การอ่านธรรมต้องเข้าใจให้ถูกต้องด้วย ไม่ใช่เราคิด เอาของเราเอง แล้วพอหมดช่วงที่ ๑ ก็ขึ้นรถคันที่ ๒ แต่ถ้าไม่มีรถคันที่ ๑ มาถึงตรงนี้ เราจะไปขึ้นรถคันที่ ๒ ได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ปัญญาทั้งหมด ก็จะต้องสืบต่อกันไปเรื่อยๆ

    ผู้ฟัง วิปัสสนาญาณที่ ๑ นี่ เป็นการประจักษ์แจ้งความเป็นอนัตตา แล้วก็มีการสะสม อนัตตสัญญา ในขณะที่สติปัฏฐานเกิดขณะนั้น มีการสะสม อนัตตสัญญาไหม

    ท่านอาจารย์ เวลาที่สติปัฏฐานเกิด คนนั้นจะรู้ความต่างกันของ ตรุณวิปัสสนา กับ พลววิปัสสนา จะรู้เลยว่า ปัญญาแค่นั้น แม้ว่าเป็นวิปัสสนาญาณ แต่ก็ไม่ใช่สามารถจะรู้ทั่วถึงทุกขณะ เพราะฉะนั้น ก็เป็นระดับขั้นที่ต่างกัน

    ผู้ฟัง แต่ถ้าเป็นสติปัฏฐาน

    ท่านอาจารย์ สติปัฏฐานต้องเกิดตลอดเลย

    ผู้ฟัง หมายถึงว่า เวลาที่อบรมสติปัฏฐาน ขณะนั้นมีการสะสม

    ท่านอาจารย์ เวลาที่วิปัสสนาญาณยังไม่เกิด น้อมไปที่จะเข้าใจ แต่ไม่ประจักษ์ จนกว่าวิปัสสนาญาณจะเกิด คือการประจักษ์ แม้แต่ในขณะนี้ที่เราฟัง ค่อยๆ เข้าใจว่า อนัตตา หมายความว่าอย่างไร เป็นสภาพธรรม แต่ว่าไม่ได้แจ่มแจ้ง เพราะว่าลักษณะของนามธรรมไม่ได้ปรากฏ โลกทั้งโลกยังไม่หมดไป ยังปรากฏอยู่ว่าเป็นต้นไม้ เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นศาลา เป็นอะไร แต่คิดถึงว่าคำใดที่เป็นสัจธรรม คำนั้นเป็นคำจริง ไม่มีอะไรนอกจากนามธรรม และรูปธรรม ต้องจริงอย่างนี้ แล้วเวลาที่ประจักษ์ หรือปรากฏ คือต้องปรากฏอย่างนี้

    ผู้ฟัง มีวิธีพิจารณาอย่างนี้ได้ไหม คือ พิจารณาจากเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ถ้าเจตสิกนั้นเป็นอกุศลเจตสิก แล้วก็จะต้องเป็นอโสภณแน่ๆ เพราะว่าเขาจะไปเกิดกับโสภณธรรม ไม่ได้ อันนี้เป็นข้อ ๑ คือแน่ๆ คือสังเกตจากตัวเจตสิกก่อน ได้ไหม ว่าจะจำแนกออกเป็น โสภณ อโสภณได้อย่างไร สำหรับอกุศลเจตสิก เขาต้องไม่เกิดกับโสภณธรรมแน่ๆ อันนี้จะเป็นข้อสังเกตได้หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ถ้าพูดถึงการแบ่งจิตออกไปโดยโสภณ อโสภณ เพราะเหตุว่า วิธีแยกจิต แยกได้หลายนัย ถ้าแยกโดยโสภณ อโสภณ ก็หมายความว่าจิต และเจตสิกที่ไม่มีโสภณธรรมเกิดร่วมด้วย ต้องเป็นอโสภณ เพราะฉะนั้น จิตที่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย เท่านั้น ที่เป็นโสภณจิต ก็แยกเป็น ๒ โสภณ กับ อโสภณ

    สำหรับกิจที่เป็น อโสภณ บอกไว้เลยชื่อไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย ไม่ได้บอกว่า อกุศล แต่ใช้คำว่า อโสภณ หมายความว่าจิตนั้นไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย จิตที่ไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย ต้องเป็นอกุศลจิต ๑๒ และอเหตุกจิตทั้งหมด ชื่อบอกด้วย อเหตุกะ หมายความว่าไม่มีโสภณเหตุ เกิดร่วมด้วย รวมแล้วก็เป็น ๓๐ เพราะฉะนั้น

    สำหรับผู้เรียนใหม่ แล้วก็จะรู้โดยวิธีว่า จำแนกจิตเป็นหลายนัย นัยหนึ่ง คือโสภณจิต คือจิตที่ดีงาม หมายความว่ามีเจตสิกที่ดีงามเกิดร่วมด้วยประเภท ๑ และอโสภณจิต จิตที่ไม่ดีงาม หมายความว่าไม่ดีงาม ที่นี่หมายเฉพาะว่าไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น ความสำคัญอยู่ที่โสภณเจตสิก ถ้าไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วยแล้วละก็เป็น อโสภณทั้งหมด

    เราก็มาค่อยๆ ไล่เรียงดูว่าอกุศลจิตทั้ง ๑๒ ดวงเป็นประเภทไหน โสภณ หรือ อโสภณ อโสภณใช่ไหม เพราะเหตุว่า อกุศลจิตทั้ง ๑๒ ดวงไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วยเลย ต้องเป็นอโสภณ เพราะฉะนั้น ที่เหลือ ก็มี อเหตุกจิตอีก ๑๘ ดวง สำหรับกามาวจรจิต อเหตุก ๑๘ ดวงไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย ถ้าเราจะเรียนเราก็จำอย่างหยาบๆ กว้างๆ ไปก่อน คือจำว่า อเหตุกจิตทั้ง ๑๘ ดวงไม่มี โสภณเจตสิก เกิดร่วมด้วย

    เพราะฉะนั้น อโสภณจิตทั้งหมดจึงเป็น เท่าไร ๓๐ ดวง คือเป็นอกุศล ๑๒ เป็น อเหตุก ๑๘ เราต้องจำกว้างๆ ไว้ก่อน แล้วสำหรับอกุศลจิตก็ไม่มีปัญหาเลย ก็มาถึงว่า ทำไม อเหตุกจิตไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย ถ้าไม่รู้ว่า อเหตุกจิต มีอะไรบ้าง จะไม่มีเหตุผลเลย ว่าทำไมไม่มี อโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ถ้ารู้ว่า อเหตุกจิต ๑๘ ดวงมีอะไรบ้าง เราจะเข้าใจได้จริงๆ ว่า ขณะนั้นไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย อเหตุกจิต มีเท่าไร

    ผู้ฟัง อเหตุกะ มี ๑๘

    ท่านอาจารย์ อกุศลจิต มีเท่าไร

    ผู้ฟัง อกุศลจิตมี ๑๒

    ท่านอาจารย์ อโสภณจิตมีเท่าไร

    ผู้ฟัง ๓๐

    ท่านอาจารย์ ๓๐ ที่เหลือเป็นโสภณจิต

    ฟังชื่อดูเหมือนสับสนวุ่นวาย แต่ว่าเป็นทุกขณะในชีวิตประจำวัน ที่ควรจะรู้อย่างยิ่ง เพราะเหตุว่าเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว เพราะว่าโดยมากพอเราพูดถึงเรื่องกุศล อกุศล ซึ่งเป็นเหตุ แล้วเราก็มีความเชื่อเรื่องกรรม แต่เรายังไม่ทราบว่าเวลาที่กรรมให้ผล จิตอะไรเกิด เป็นผลของกรรม

    เพราะฉะนั้น การที่เราจะรู้เรื่อง อเหตุกจิต ๑๘ ดวง ก็มีประโยชน์ ที่จะรู้ได้ว่า จิตเหล่านี้เป็นผลของกรรม

    กุศลจิตเป็นผลของกรรมหรือเปล่า ไม่ใช้ อกุศลจิตเป็นผลของกรรมหรือเปล่า อกุศลวิบากเป็นผลของกรรมหรือเปล่า กุศลวิบากเป็นผลของกรรม เพราะฉะนั้น ต้องใช้ชื่อเต็ม จะเรียกอกุศลวิบากว่า อกุศลเฉยๆ ไม่ได้ ต้องเรียกว่าอกุศลวิบาก อกุศลจิตก็เป็นจิต พร้อมเจตสิก ที่เป็นอกุศลเกิดร่วมกัน พอถึงวิบาก ก็ต้องใช้คำว่า อกุศลวิบาก คือวิบากของอกุศล

    ขณะนี้เป็นกรรม หรือเปล่า นั่งอยู่เฉยๆ แล้วก็ฟังพระธรรม เป็นกรรมหรือเปล่า เป็นหรือไม่เป็น ไม่ได้ไปให้ทานที่ไหน แล้วเป็นกรรมหรือเปล่า เป็นหรือไม่เป็น ไม่แน่ใจ

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ เป็นกุศลประกอบด้วยปัญญา ในขณะที่เข้าใจ เพราะว่าเวลาที่เราให้ทาน ไม่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ได้ แต่เวลาที่ฟังธรรม ขณะใดที่เข้าใจ ขณะนั้นก็เป็นกุศลจิต ซึ่งไม่ได้เป็นไปในทานในศีลก็จริง แต่ว่า ขณะนั้นกำลังเป็นการอบรมเจริญปัญญา ที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง นี้เป็นเหตุ กำลังเป็นเหตุที่จะให้เกิดผลข้างหน้า

    เพราะเหตุว่า กรรมที่ได้กระทำแล้ว ก็เหมือนกับเม็ดพืชที่อยู่ในจิต แม้ว่าจิตขณะนี้จะเกิดดับ ไปเรื่อยๆ เกิดแล้วก็ดับๆ แต่สิ่งซึ่งมีอยู่ในจิตก็ จะสะสมสืบต่อไป พร้อมด้วยกาลเวลาที่าจะให้วิบากซึ่งเป็นผลเกิดเมื่อไร จิตที่เป็นประเภทวิบาก คือผลของกรรมก็เกิด เพราะฉะนั้น จิตก็เป็นกรรม วิบาก คือ ผลของกรรมก็เป็นจิตด้วยแต่ว่าเป็นจิตต่างประเภทกัน คือจิตประเภทหนึ่งเป็นเหตุ แล้วหลังจากนั้นแล้ว นานักขณิกกัม คือกรรมที่ให้ผลฝ่ายกาล หลังจากที่กุศลกรรม หรืออกุศลกรรมนั้นดับไปแล้วก็เป็น ปัจจัยที่จะให้กุศลวิบาก หรืออกุศลวิบากเกิดขึ้น ทั้งกุศลวิบาก และอกุศลวิบากก็เป็นจิต และเจตสิก แต่ต่างประเภทกัน

    ถ้าได้รับผลของกรรม ใครทำให้ ไม่ต้องไปคิดถึงคนอื่นอีกแล้ว ถ้าเข้าใจจริงๆ ก็คือว่าเราทำเอง ทั้งนั้นไม่ว่าเราจะทำอะไร ทั้งสิ้น ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เวลาปวดท้อง ใครทำให้ เป็นวิบากทางกาย เป็นทุกขกายวิญญาณ ผลของกรรมทางกายซึ่งจะต้องมีความรู้สึกที่ไม่สบาย ไม่มีคนอื่นทำให้เลย ถ้าเราเกิดบาดแผล แล้วก็มีคนมาทำตีรันฟันแทง เราก็ไปโกรธว่าเขาทำให้เราเป็นอย่างนั้น แต่ความจริงจะมีเขา หรือไม่มีเขา เวลาที่กรรมให้ผล ก็ทำให้ทุกขกายวิญญาณเกิดขึ้น เป็นผลของกรรม ไม่มีใครทำให้ปวดท้อง ใช่ไหม เกิดปวดขึ้นมาเอง นั่นแหละ คือถึงกาลที่กรรมที่ได้กระทำแล้ว จะทำให้วิบากทางกาย เกิดขึ้นเป็นทุกขเวทนา เป็นผลของกุศลกรรม หรืออกุศลกรรม ปวดท้อง เป็นผลของอกุศลกรรม

    ถ้ามีความเข้าใจจริงๆ เราจะไม่โทษใครเลยทั้งนั้น ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ ไม่มีอะไรบุคคล เพราะว่าเรา ศึกษาแล้วว่าเป็นจิต เจตสิก รูป เพียงแต่เราต้องเข้าใจว่าจิตใดเป็นเหตุ แล้วก็จิตใดเป็นผล เพราะฉะนั้น เวลาที่เราพูดถึง อเหตุกจิต เราหมายความถึง จิตที่เป็นผลของกรรม ที่เป็นอกุศลวิบาก คือเป็นผลของอกุศลกรรม มีเพียง ๗ ดวง นี่เราพูดไปแล้ว ใช่ไหม ก็ต้องพูดอีก เพราะว่าถ้ามาพูดถึงโสภณ อโสภณ ก็จะมาเกี่ยวกับ อเหตุกจิต หมายความว่า ผลของกรรมที่จะเกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ก็คือกรรมนั้นทำให้มีจักขุปสาท เพื่อที่จะเป็นปัจจัยให้จักขุวิญญาณ คือจิตเห็นเกิด ในขณะใดก็ตามที่เห็นอะไรก็ตาม ให้ทราบว่า ขณะนั้นเป็นผลของกรรม มีความมั่นคงแน่นอน ว่าผลของกรรมในขณะนั้น เกิดขึ้นเพราะกรรมที่ได้กระทำแล้ว แล้วไม่ใช่กรรมของคนอื่น กรรมของเราเอง อกุศลวิบาก มี ๗ ดวง จักขุวิญญาณอกุศลวิบาก๑ โสตวิญญาณอกุศลวิบาก๑ ฆานวิญญาณอกุศลวิบาก๑ ชิวหาวิญญาณอกุศลวิบาก๑ กายวิญญาณอกุศลวิบาก๑ คงเข้าใจ ว่าทำไมในพระไตรปิฎกถึงซ้ำๆ ๆ ๆ ทั้งๆ ที่ตาก็ต้องบอกอีกว่า จักขุวิญญาณ ทำไมรู้แล้ว ๕ แต่ยังต้องพูด โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ ต้องมีจุดประสงค์ เพื่อที่จะให้เข้าใจแจ่มแจ้งจริงๆ ในเรื่องผลของกรรม แล้วจะให้เข้าใจแจ่มแจ้งยิ่งขึ้นอีก ถ้าสามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน เมื่อพูดถึงสภาพธรรมใด สภาพธรรม นั้นกำลังปรากฏ พร้อมที่จะให้รู้ความจริง ถ้าอบรมเจริญปัญญา เพราะฉะนั้น ก็ต้องซ้ำ ๕ ถ้าย่อก็ตา หู จมูก ลิ้น กาย อะไรอีก ๒ สัมปฏิจฉันนะอกุศลวิบาก ๑ เกิดต่อจาก จักขุวิญญาณโสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ เพราะจิตต้องเกิดดับสืบต่อทีละหนึ่งขณะ จะไม่มีการขาดหายว่างเว้นเลย ขณะที่กำลังหลับสนิท จิตก็เกิดดับสืบต่ออยู่ตลอดเวลา จะไม่มีหยุดพักผ่อน ไม่มีจิต เป็นไปไม่ได้เลย

    เพราะเหตุว่าจิตทุกขณะ เป็น อนันตรปัจจัย คือทันทีที่จิตนั้นดับ ก็จะเป็นปัจจัยให้จิต เจตสิกขณะต่อไปเกิด เป็นลักษณะของธาตุชนิดนั้น ซึ่ง เป็นนามธาตุ เป็น ธาตุรู้ซึ่งเมื่อเกิดแล้วดับไป จะต้องเป็นปัจจัยให้จิต เจตสิกขณะต่อไปเกิด

    แต่ยังมีปัจจัยกำกับอีกปัจจัย ๑ คือ วิคตปัจจัย หมายความว่าจิต และเจตสิกนี้ต้องปราศไปก่อน แล้วจิตขณะต่อไปจึงจะเกิดขึ้นได้ ไม่ใช่ว่ายังมีจิตขณะนี้อยู่ แล้วจิตขณะนี้ก็ทำให้จิตอีกขณะหนึ่ง เกิดพร้อมๆ กัน ไม่ใช่ แต่หมายความว่าเมื่อจิตนี้ปราศไปแล้วหมด ก็เป็นปัจจัยให้จิต ขณะต่อไป เกิด เพราะฉะนั้น แต่ละคนก็มี จิตทีละหนึ่งขณะ ไม่มีใครมีจิต ๒ ขณะพร้อมกันโดย ปัจจัยนี้ คือ อนันตรปัจจัย กับ วิคตปัจจัย คืนนี้จะไปงานศพ ได้ยินแน่นอน เหตุปัจจัยโย อารัมมาณปัจจัยโย ผู้ที่เรียนแล้วก็พอจะทราบได้ ว่าหมายความถึงปัจจัยอะไรบ้าง แล้วปัจจัยสุดท้ายคือ วิคตปัจจัย ก็จำได้ ใช่ไหม ตอนนี้ก็ทราบได้ว่า วิคตปัจจัยก็คือ สภาพของจิต และเจตสิก ซึ่งเป็นปัจจัยให้ จิต เจตสิกต่อไป เกิดต่อเมื่อจิต เจตสิกนั้น ปราศไปหมดแล้ว ยังสงสัยไหม เรื่องของจิต เกิดทีละหนึ่งขณะ แล้วเราจำเป็นต้องรู้เรื่องชาติ ชา-ติ ด้วยว่า จิตนั้นเป็นเหตุ คือเป็นกุศล หรืออกุศล หรือว่าจิตนั้นเป็นวิบาก หรือว่าจิตนั้นเป็นกิริยา

    ผู้ฟัง ความใคร่ที่จะฟังธรรม ก็เป็นกุศล ใช่ไหม แล้วก็ ความอยากจะฟังธรรม คือความตั้งใจที่จะฟัง ธรรม ก็เป็นกุศล ขอคำอธิบาย ๒ คำนี้ด้วย

    ส.ก็ต้องเป็นผู้ที่รู้ว่ามีความอยาก หรือมีความตั้งใจที่จะฟัง

    ผู้ฟัง แล้วกุศล ๒ ประการนี้จะแตกต่างกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ถ้าอยาก อยากฟัง ขณะนั้นฟังแล้วหรือยัง

    ผู้ฟัง ความตั้งใจที่จะฟังธรรม

    ส.ความอยากฟัง เหมือนกันไหม อย่างวันนี้ จะมาที่นี่ ก็จะมา ก็มา ก็เป็นความตั้งใจธรรมดาๆ กับการอยากมาฟัง

    ผู้ฟัง หนูกำลังพิจารณาว่าสภาพจิตตรงนี้ ต้องละเอียดมาก เพราะว่า ความอยากเป็นโลภะ แต่ความตั้งใจ

    ท่านอาจารย์ เจตนา ตั้งใจเป็น เจตนาเจตสิก

    ผู้ฟัง ก็คนละขณะจิตแล้ว ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ คุณอุไร อยากใส่บาตร หรือ จะใส่บาตร

    ผู้ฟัง ตั้งใจจะใส่บาตร

    ท่านอาจารย์ หรืออยากใส่

    ผู้ฟัง ทำเป็นปกติ

    ท่านอาจารย์ นั่นสิ ถึงได้ถามว่าคุณอุไร ตั้งใจจะใส่บาตร สมมติว่าพรุ่งนี้ คิดว่าจะใส่บาตร ตั้งใจจะใส่บาตร กับคุณอุไรอยากใส่บาตร ความรู้สึกเหมือนกันไหม

    ผู้ฟัง ในความรู้สึกหนูเอง หนูคิดว่าไม่เหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ ก็บางคนก็อยาก แต่ไม่ได้ใส่ หลายคนก็บอกว่าอยากบวช ก็พูดตั้งหลายปี ก็อยากบวชๆ เพราะฉะนั้น เขาก็น่าจะพิจารณาได้ ว่าขณะนั้น เป็นความตั้งใจ หรือว่าเป็นความอยาก สภาพธรรมไม่เปลี่ยน แต่เพราะว่าไม่รู้ความจริง ก็เลยไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ว่าขณะนั้นเป็นกุศล หรือ อกุศล แล้วก็ไม่ใช่ว่าจะเอาป้ายชื่อไปติดไว้ ก็ไม่ได้ แต่เป็นสภาพธรรมที่มีปัจจัยเกิดขึ้น ชั่วขณะแสนเร็วแล้วก็ดับไป ที่ยากที่จะรู้ก็เพราะเหตุว่า เกิดแล้วก็ดับเร็วมาก เพราะฉะนั้น ต้องอาศัยการอบรมเจริญปัญญาจริงๆ จึงสามารถที่จะรู้ความต่างของสภาพของจิต ที่เป็นกุศล กับอกุศลได้

    ไม่ใช่ว่าเราจะนั่งวิจารณ์กันทั้งวันแล้วก็ยังบอกไม่ได้ว่า มันป็นกุศล หรือมันเป็นอกุศล เพราะเหตุว่าไม่ใช่ปัญญาที่ระลึกรู้ พร้อมสติที่ระลึก

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กล่าวเช่นนี้ก็คือว่าผู้ที่ได้อบรมเจริญปัญญา ต้องรู้ด้วยตัวของผู้นั้นเอง

    ท่านอาจารย์ ปัจจัตตังเวทิตัพโพ ขณะนี้มีวิบากไหม คุณอุไร ตอนนี้ก็รู้ผลของกรรมดี ตั้งแต่เกิด มามีตาทำไม มีหูทำไม มีจมูกทำไม มีลิ้นทำไม มีกายทำไม เป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว เพื่อที่จะให้จิตที่เป็นวิบาก ซึ่งเป็นผลของกรรมเกิดขึ้น แล้วก็ไม่ต้องไปคิดว่าใครทำ หรือคนอื่นทำ แต่มีปัจจัยที่สะสมมา คือเป็นผลของเจตนาที่ได้กระทำแล้ว

    ถ้าเป็นกุศลเจตนาก็ทำให้กุศลวิบากจิตเกิด ถ้าเป็นอกุศลเจตนาก็ทำให้อกุศลวิบากจิตเกิด ๗ ดวง อกุศลกรรมไม่ว่าจะร้ายแรง หรือว่าจะหนักเบาอย่างไรก็ตามแต่ เป็นปัจจัยให้อกุศลวิบากจิต เกิดเพียง ๗ ดวง แค่นี้เราจะไม่เข้าใจหรือ แค่นี้เราจะตำไม่ได้หรือว่า ๕ ดวง คือ จักขุวิญญาณเห็น โสตวิญญาณได้ยิน ฆานวิญญาณได้กลิ่น ชิวหาวิญญาณลิ้มรส กายวิญญาณรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส อีก ๒ ดวงเท่านั้นแหละ ไม่ยาก ไม่เหลือวิสัยที่จะจำ คือหลังจากที่วิญญาณจิตทั้ง ๑๐ ที่เป็นกุศลวิบาก ๕ อกุศลวิบาก ๕ ดับไปแล้ว จิตที่เกิดต่อ กรรมทำให้จิตนี้เกิด รับอารมณ์นั้นสืบต่อ มีอารมณ์เดียวกับจิตที่ดับไปก่อน เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่ถ้าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ทรงแสดง ใครจะรู้วาระของจิต ที่จะเกิดขึ้น แต่ละขณะตั้งแต่เกิดจนตาย

    แม้ในขณะที่เห็นในขณะนี้ว่า ก่อนจิตเห็น มีจิตอะไรเกิด แล้วหลังจากจิตเห็น มีจิตอะไรเกิด ก็รู้เพียงแค่เห็น ที่กำลังเห็น แต่ไม่สามารถจะรู้ได้ว่า มีจิตอะไรก่อน แต่ทรงแสดงไว้โดยละเอียด ซึ่งก็เป็นอเหตุกจิต ๑๘ ดวง ตอนนี้ก็ทราบว่า อกุศลวิบาก มี ๗ แล้วก็กุศลวิบากมี ๘ เพราะเหตุว่ามีอารมณ์ที่ดี ที่เป็นอิฏฐารมณ์ปานกลาง กับอารมณ์ที่ดีพิเศษ ก็เป็นผลของกรรมที่กระทำไว้ ถ้าเป็นผลของกรรมที่ประณีต ขณะนั้นก็ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ที่ประณีต ก็เป็นอกุศลวิบาก ที่เกิดต่อจากสัมปฏิจฉันนะ เป็นสันตีรณะ แค่นี้จริงๆ แค่ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส อยากได้หมดทุกวันมากขึ้นๆ ด้วยทำทุกอย่างเพื่อที่จะให้ได้สิ่งต่างๆ เหล่านี้ แต่ไม่ได้รู้เลยว่าหลังจากที่วิบากจิตเหล่านี้ ดับไปแล้ว ถึงกาลที่ กุศลจิต หรือ อกุศลจิตเกิด ส่วนใหญ่แล้ว เป็นความติดข้อง เป็นอกุศลประเภทโลภะมาก ขาดทุนหรือได้กำไรไม่ทราบ ได้อารมณ์ที่ดีมาชั่วครั้งชั่วคราวเล็กๆ น้อยๆ นิดเดียวแต่หลังจากนั้นก็เป็นอกุศล ถึงจะอย่างไรก็ยังอยากได้ ทิ้งโลภะนี้ไม่ได้ เพราะว่าสะสมมานานมากไม่ให้สัมปฏิจฉันนะจิตเกิดต่อจากจิต ๑๐ ดวงนี้ได้ไหม เพราะอะไร ทำไมบอกว่าไม่ได้ เพราะว่าเป็นวิบาก ซึ่งเป็นผลของกรรมแสนสั้น ชั่วขณะเล็กน้อย แต่ว่าประกอบด้วยปัจจัยหลายอย่างแล้วก็เป็นนามธรรม

    ผู้ฟัง การกระทำที่เป็นกุศลหรืออกุศล ที่ครบกรรมบถนั้น มันจะน้อยกว่า ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องไปเป็นเรื่อง ถึงเรื่องกรรม แต่ความจริงตอนนี้เราก็รู้ คร่าวๆ เรื่องกรรม ที่เป็นกุศลกรรม กับอกุศลกรรม แล้วก็รู้เรื่องผลของกรรม แต่ว่าความต่างก็คือว่า ตัวกรรมเป็นเหตุ เพราะฉะนั้น ก็มี เจตสิกเกิดร่วมด้วยมาก แล้วแต่ว่าจะเป็นกุศลกรรม หรืออกุศลกรรม แต่ทางฝ่ายวิบาก ซึ่งเป็นผล ให้ทราบว่า เวลาที่กรรมได้กระทำไปแล้วจะต้องให้ผล แล้วผลที่จะเกิดขึ้นก็คือ อเหตุกที่เป็นวิบาก ๑๕ ดวงคือเป็น ผลของอกุศลวิบาก ๗ ดวงแล้วก็ เป็นผลของกุศลวิบาก ๘ ดวง อันนี้ต้องเข้าใจ เราอย่าไปเพียงจำชื่อ แต่ทุกครั้งที่เห็น รู้ว่า เป็นวิบาก ทุกครั้งที่ได้ยิน ไม่ว่าจะเห็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดีก็ตามแต่ ให้ทราบว่าเป็นวิบาก

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 102
    25 มี.ค. 2567