ปกิณณกธรรม ตอนที่ 571


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๗๑

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๓


    ท่านอาจารย์ ที่เคยกล่าวถึง ในชีวิตของเรา มีนามธรรม มีรูปธรรม แล้วรูป เราต้องการรูปงามๆ ทั้งนั้นเลย แม้ว่าเป็นเพียงรูป แต่ก็ต้องการรูปงามๆ อย่างในห้องนี้ ก็จะเห็นได้ว่า ที่โต๊ะมีแจกัน ต้องการรูปงามๆ แต่ว่าเวลาที่ปัญญาเกิดขึ้นรู้ลักษณะของสภาพธรรม ก็สามารถที่จะละกิเลสได้ตามลำดับ ถ้าเป็นพระโสดาบัน สภาพที่ไม่เที่ยง ความจริงไม่งามเลย จะงามไม่ได้ เพราะว่าลักษณะนั้นไม่เที่ยง แต่ละได้เพียงความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นตัวตน จนกว่าจะอบรมเจริญปัญญาเห็นความไม่เที่ยงมากขึ้นอีก จนกระทั่งเห็นว่าสภาพนั้นไม่งามเลย ถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคลเมื่อไร ก็ละการเห็นสภาพธรรมว่าไม่งาม ไม่ยึดติด แต่สภาพธรรมก็คงเป็นสภาพธรรม สิ่งที่เป็นอิฏฐารมณ์ก็มี สิ่งที่เป็นอนิฏฐารมณ์ก็มี เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าไปเห็นสิ่งที่เป็นอิฏฐารมณ์ว่าไม่สวย แต่ว่าความไม่งาม ความไม่ติดข้อง ในสิ่งซึ่งเคยติดข้องว่างาม ละ ด้วยพระอนาคามีบุคคล อนาคามีมรรคถึงจะละได้

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์พูดตอนต้นๆ ว่า จะต้องฟังต่อไปเรื่อยๆ จนรู้ว่าการกระทำทั้งหลาย หรือธรรมทั้งหลายไม่ใช่เรา ตรงนี้ เป็นจุดนี้จุดเดียว

    ท่านอาจารย์ ถ้าเข้าใจ ปรมัตถสัจจะก็สามารถจะเข้าใจความหมายของสมมติสัจจะได้ ถ้าไม่มีปรมัตถสัจจะก็ไม่มีสมมติสัจจะ

    ผู้ฟัง ฟังแล้วต้องรู้ว่า ธรรม ทั้งหลาย ไม่ใช่เรา ในขณะใดก็ตามที่ผมคิดจะเข้าไปนั่งใกล้ๆ จะไปทำสุจริต ๓ ขณะนั้นก็

    ท่านอาจารย์ กุศลจิต หรือ อกุศลจิต

    ผู้ฟัง ต้องเป็น อกุศลจิต เพราะว่า คิด

    ท่านอาจารย์ ก็มี ๒ อย่าง ทำไม จะเข้าไปนั่งใกล้ความเห็นถูกเป็นอกุศล

    ผู้ฟัง เพราะว่าขณะนั้นอยากจะให้สติปัฏฐานเกิด

    ท่านอาจารย์ ถ้าขณะนั้นเป็นความอยาก ต้องเป็นอกุศล นี่เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก เพราะฉะนั้น เวลาฟังแล้ว กว่าจะเข้าใจจริงๆ ว่าไม่ใช่เรา ก็จะมีเราเต็มที่เลย เราจะทำ เราจะดู เราจะตาม เราจะสังเกต เราจะทำอย่างนั้น เราจะทำอย่างนี้ แต่ถ้ามีความเข้าใจ แม้แต่คำแรกที่ได้ฟัง

    การฟังธรรม แม้ว่าจะฟังน้อย แต่ว่าเข้าใจจริงๆ ในความหมาย เช่น คำว่า อนัตตา ไม่ใช่เรา ฟังแล้วรู้ทันทีว่าไม่ใช่เรา เป็นอะไร เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง แล้วไม่ลืม ข้อสำคัญคือแล้วไม่ลืม ไม่ลืมแล้วยังไม่พอ ยังต้องสามารถที่จะประจักษ์ในชีวิตประจำวัน จนกว่าจะถึงวันที่ทุกอย่างเป็นธรรม ถ้าเราไม่เข้าใจอย่างนี้ก็จะมี เราแอบแฝงเข้ามาชวนไปทำอย่างนั้น ชวนไปทำอย่างนี้ด้วยความอยาก แต่ไม่เห็น

    ในอริยสัจ ๔ ก็จะเห็นได้ว่า โลภะ เป็นสมุทัย แต่ต้องเห็น ถ้าไม่เห็นก็ไม่ละ แม้แต่ตั้งต้น การที่เราจะมีโลภะติดตามไปเรื่อยๆ โดยที่เข้าใจว่าเป็นกุศลก็ไม่ถูกต้อง โลภะ จึงเป็นสิ่งที่เห็นยาก แม้ว่ามี แต่เพราะเหตุว่าลึกซึ้งจึงเห็นยาก แม้แต่หนทางที่จะอบรมเจริญปัญญา ก็เป็นหนทางที่จะละความเป็นเราโดยสิ้นเชิง โดยเด็ดขาด โดยไม่มีเหลือ ก็ต้องเป็นการเริ่มเข้าใจตั้งแต่ต้น แล้วก็ประคับประคองความเข้าใจอันนี้ให้มั่นคงขึ้น แล้วก็มั่นคงขึ้นไม่ว่าจะอ่านพระสูตร หรือว่าจะศึกษาพระอภิธรรม หรือว่าเวลาที่สติปัฏฐานเกิด ก็จะต้องมีความมั่นคงในความเป็น อนัตตา แล้วก็จะต้องมีความรู้จริงในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม

    เราพูดได้ว่าเป็นนามธรรมพูดได้ว่าเป็นรูปธรรม แต่ขณะนี้ที่เห็น ขณะนี้ที่คิดนึก ขณะที่จะเข้าไปนั่งใกล้ ขณะที่อะไรก็แล้วแต่ในชีวิตประจำวัน เป็นนามธรรม หรือเปล่า ทั้งหมดที่ฟัง ก็เพื่อให้ประจักษ์จริงๆ ในเพียงคำแรกที่ได้ยินว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แต่เมื่อไม่สามารถที่จะประจักษ์ความเป็นอนัตตา จึงต้องฟัง ต้องศึกษา ทั้งพระสูตร และพระอภิธรรม พระวินัย ทุกอย่างที่จะเกื้อกูล ให้เห็นความเป็นอนัตตา คือการสะสมให้มั่นคง ไม่ใช่ว่าพอบอกว่าธรรมเป็นอนัตตา แล้วก็มีเราที่จะทำอย่างนั้น อย่างนี้ แล้วก็ลืมคำว่า อนัตตา

    ผู้ฟัง ฟังธรรมท่านอาจารย์มาก็นานพอสมควร คิดว่าตัวเองมีความเข้าใจ ในเรื่องธรรมทั้งหลายเป็น อนัตตา ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ผมนายประทีปที่ไปทำธรรมได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ขณะที่เข้าไปนั่งใกล้นั่นใคร

    ผู้ฟัง ก็เป็นเรื่องของจิต เจตสิก ที่คิดที่จะไปนั่งใกล้

    ท่านอาจารย์ ต้องรู้ จริงๆ ว่าไม่ใช่ เรื่องจิต เจตสิก แต่เป็นสภาพของจิต เจตสิก ซึ่งเกิดดับ

    ผู้ฟัง ผมคิดว่าตัวเองเข้าใจว่า เข้าใจในเรื่องธรรมไม่ใช่เรา เป็นอนัตตา แต่พอฟังเรื่องพระสูตรที่ไร ก็คิดจะเอาไปทำทุกที

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ประโยชน์ คือต้องศึกษาพระอภิธรรมให้เข้าใจก่อนแล้วก็จะอ่านพระสูตรด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง

    ผู้ฟัง ในขณะที่คิดว่า นายประทีปคิดว่า ถ้าฟังพระสูตรแล้วจะเข้าไปนั่งใกล้ จะทำสุจริต ๓ จะ โยนิโสมนสิการอะไร ก็เป็นการเห็นผิด ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เป็นตัวตน คือเป็นคุณประทีปอยู่ตลอด

    ผู้ฟัง ผมไม่ถามว่าจะทำอย่างไร ผมเรียนถามว่า ผมจะเข้าใจตรงนี้ได้อย่างไร ในขณะที่คิดจะไปทำ คิดจะไปนั่งใกล้ คิดจะเป็นสุจริต ๓ คิดจะโยนิโสมนสิการ

    ท่านอาจารย์ ลืมอนัตตา แล้วหรือ

    ผู้ฟัง ฟังมานานแล้ว

    ท่านอาจารย์ ลืมไง ฟังแล้วก็ไม่อยู่ในใจจนจรดกระดูก

    ผู้ฟัง ถ้าคิดว่าตัวเองยังเข้าใจ คิดว่าเข้าใจอย่างนี้ ก็เป็นการเข้าใจผิด

    ท่านอาจารย์ ขณะใดที่ไม่ใช่อนัตตา เมื่อนั้นก็ยังเป็นเราอยู่

    ผู้ฟัง ความมั่นคง ในเรื่องธรรมทั้งหลาย เป็นอนัตตาก็ยังไม่มั่นคง

    ท่านอาจารย์ ใช่

    ผู้ฟัง ถึงแม้ว่าจะฟังมา ๑๐ กว่าปี

    ท่านอาจารย์ ไม่มั่นคงเลย

    ผู้ฟัง ต้องย้อนกลับไปทำ ความเข้าใจใหม่

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องย้อน สะสมต่อไปข้างหน้าเรื่อยๆ

    ผู้ฟัง จนกว่า จะเห็นว่าธรรมทั้งหลายไม่ใช่เรา

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้ที่เห็นเป็น นามธรรม เป็นธาตุรู้ หรือสภาพรู้ แม้แต่จะได้ยิน แม้แต่คิดนึก แม้แต่อะไรก็ตามแต่ นี่คือการชำระล้าง ค่อยๆ คลาย คำว่า คลายนี้จะไปคลายเมื่อไร ก็ต้องคลายในขณะที่กำลังเห็น เคยเป็นเราหนาแน่นมาก แต่พอรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม เพียงเล็กน้อยก็ยังไม่พอ นี่คือการอบรมเจริญปัญญา ต้องเพิ่มขึ้นมากขึ้น

    อริยสัจธรรม ๔ สามารถที่จะรู้แจ้งได้ แต่ต้องด้วยปัญญาที่สมบูรณ์ ใช้คำว่า ปัญญาที่สมบูรณ์ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เราทำ เป็นการอบรมเจริญปัญญา แล้วก็จะรู้จริงๆ ว่าปัญญาสามารถที่จะเจริญได้ สามารถที่จะรู้สภาพธรรม ตามที่เคยฟังมานานหนักหนาว่า ขณะที่เห็นก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง แต่นั่นเพียงฟัง ต่อเมื่อไรที่ได้รู้จริงๆ ว่าสภาพนามธรรม ซึ่งเป็นธาตุรู้ สิ่งที่กำลังปรากฏ ทางตา ก็คือ สภาพธรรมไม่ว่าจะได้ยิน ไม่ว่าจะคิด ไม่ว่าจะอะไรทั้งนั้น ในชีวิตประจำวันที่สติระลึก ขณะที่หลงลืมสติก็จริง แล้วก็ไม่มีตัวตนที่จะเยื่อใย ขณะที่ผ่านไปแล้ว แต่ว่าเวลาใดที่สติเกิดปัญญา ที่สะสมแล้ว สามารถที่จะรู้ได้ แต่ปัญญาที่ยังไม่สะสมก็ต้องเริ่ม สะสม จนกว่าจะรู้อย่างนั้นได้จริงๆ

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นวันนี้ ผมก็ได้หลักธรรมอันหนึ่งจากความเข้าใจตรงนี้ ว่าในขณะใดก็ตามที่ผมคิดจะไปทำ เรื่องของธรรม ขณะนั้นเป็นการเห็นผิด เป็นการเข้าใจผิด

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นไม่ใช่การรู้ว่าสภาพธรรม เป็นอนัตตา

    ผู้ฟัง พี่ทีป เวลาที่พี่ทีปกล่าวว่า นายประทีป รู้สึกดี เหมือนกับที่คิดว่า นายประทีป เป็นบัญญัติไม่มีตัวตน คือเวลาเรียกชื่อไปมันเหมือนกับว่าไม่มีตัวตน เป็นเฉพาะบัญญัติ

    ท่านอาจารย์ ความจริงความรู้สึกของคุณประทีป คือคุณประทีป ใช่ไหม ที่กล่าวว่านายประทีป

    ผู้ฟัง ถูกต้องเลย

    ผู้ฟัง ในชีวิตประจำวัน เรามีอกุศลจิตมากกว่า เพราะฉะนั้น แม้แต่สภาพธรรมที่ปรากฏ เป็นอารมณ์ ก็เป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลจิตมากกว่า ที่จะเป็นกุศลจิต

    ท่านอาจารย์ จริงๆ ถ้าเรามีความมั่นคง ในความเข้าใจเรื่องของ สภาพธรรม คือจิตเกิดขึ้นหนึ่งขณะก็จะต้องมีอารมณ์ ๑ จะมี ๒ อารมณ์ไม่ได้ แล้วก็เวลาที่บอกว่า เวลาที่มีความรู้สึกเกิดขึ้น แล้วก็สติสามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของความรู้สึกนั้นๆ ได้ ซึ่งต้องเป็นจิตต่างขณะ เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นความรวดเร็วของจิต ซึ่งเกิดดับสืบต่อกัน แล้วก็ไม่เคยรู้ถึงความรวดเร็วของการเกิดดับเลย แม้แต่การที่เห็นทางตาขณะนี้ สิ่งที่ปรากฏทางตา เมื่อรูปนั้นดับ ภวังคจิตเกิดคั่น มโนทวารวิถีจิตยังรู้ต่อ ในรูปที่ทางจักขุทวารวิถีเพิ่งรู้ แล้วดับไป

    นี่แสดงถึงการเกิดดับสืบต่ออยู่ตลอดเวลา ที่เราเห็นว่าเป็นคนที่นั่งอยู่ที่นี่นาน มีดอกไม้อยู่บนโต๊ะนาน มีเก้าอี้นาน มีทุกอย่างนาน ก็เพราะเหตุว่าการเกิดดับสืบต่อ สลับกันอย่างรวดเร็ว แม้แต่เพียงจากทาง จักขุทวารวิถี ไปถึงมโนทวารวิถี ซึ่งมีภวังคจิตคั่น ก็ยังไม่สามารถที่จะแยกออกได้เลย ยังไม่ต้องไปถึงความคิด หรือการรู้รูปร่างสัณฐาน ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร เพราะฉะนั้น นี่ก็จะเห็นความเกิดดับสืบต่ออย่างเร็วมากของจิต ซึ่งปัญญาสามารถที่จะเกิดแล้วก็รู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่ปรากฏ ตามลำดับขั้นโดยที่ว่าไม่ต้องไปแยกเลย ว่า เป็นทางปัญจทวาร หรือทางมโนทวาร เพราะว่า ไม่สามารถที่จะแยกได้ เมื่อสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเป็นอย่างไร ยังไม่เคยรู้เลย ในสภาพธรรมนั้น สติก็เริ่มที่จะเกิด ที่จะระลึก ที่จะเข้าใจในนามธรรม หรือรูปธรรมของสภาพธรรมที่ปรากฏ โดยไม่ต้องไปกังวลถึงเรื่องเกิดดับเร็วแค่ไหน แล้วก็จิตขณะหนึ่งมีอารมณ์ ขณะหนึ่ง เพราะว่าจิต จะไม่เกิดเพียงขณะเดียว เมื่อดับไปแล้วก็มีจิต เจตสิก เกิดสืบต่ออยู่เรื่อยๆ ทำให้สภาพธรรมปรากฏ ให้ศึกษาให้เข้าใจให้เริ่มรู้ได้ ในสภาพที่เป็นนามธรรมหรือรูปธรรม

    ผู้ฟัง ชีวิตดำรงแค่เพียง จิตเกิดดับ ขณะเดียว

    ท่านอาจารย์ ชั่วหนึ่งขณะ ชั่วหนึ่งขณะ แล้วก็เกิดอีก แล้วก็ดับอีก

    ผู้ฟัง มีคำถามอยู่ข้อ ๑ การที่รูปารมณ์กระทบกับจักขุปสาทรูป แล้วเป็นปัจจัยให้เกิดวิถีจิตทางตา เกิดขึ้น รูปทั้ง ๒ จะต้องยังไม่ดับไป แล้วเมื่อวิถีจิตทางตา สิ้นสุดลง รูปทั้ง ๒ จะดับพร้อมกันหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ มีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะเท่ากัน

    ผู้ฟัง รูปทั้ง ๒ คือรูปอะไร

    ผู้ฟัง รูปารมณ์ กับจักขุปสาทรูป เพราะฉะนั้น รูปทั้ง ๒ จะต้องกระทบกันที่อุปาทขณะ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เกิดพร้อมกันที่ไหน ที่จะดับพร้อมกัน ก็ดูว่าต้องเกิดพร้อมกันที่นั่น ถึงจะมีอายุ ๑๗ จิตได้ แล้วถึงจะดับ

    ผู้ฟัง เกิดพร้อมกันที่จักขุปสาทรูป

    ท่านอาจารย์ เกิดที่ไหนก็แล้วแต่ นับไปทั้ง ๒ อย่าง ที่จะต้องดับพร้อมกันก็คือ ต้องเกิดพร้อมกัน ที่นั่น เวลาเกิดต้องเกิดพร้อมกัน ถึงจะดับพร้อมกันได้

    ผู้ฟัง ผมอ่าน ผมก็พอเข้าใจ อาหารกับปัจจัย ก็คล้ายๆ กัน มันก็ไล่มาตั้งแต่คบสัตบุรุษมา เรื่อยๆ มา ไล่กลับไปไล่กลับมา ผมก็พอเข้าใจ แต่มันไม่ บอกไม่ถูก ตรงนี้ที่ผม หงุดหงิด

    ท่านอาจารย์ คุณเด่นพงษ์ทราบไหม ว่าหงุดหงิดเพราะอะไร

    ผู้ฟัง เพราะมันไม่รู้

    ท่านอาจารย์ นั่นสิ ไม่รู้แล้วอะไรอีก นอกจากไม่รู้

    ผู้ฟัง โทสะ หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ อะไรอีกที่เป็นเหตุให้เกิดโทสะ

    ผู้ฟัง โลภะ และทุกอย่าง

    ท่านอาจารย์ โลภะแน่นอน

    ผู้ฟัง แล้วทำไมเราไม่มีโลภะเสียเลย

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ไม่มีโลภะเสียเลย แต่หมายความว่าโลภะ เป็นเครื่องเนิ่นช้า เราไม่สามารถจะรู้ จะเข้าใจได้ว่า นี้เป็นเครื่องกั้น เพราะฉะนั้น เราก็ยังคงมีความอยากต่อไป ต่อเมื่อไรที่เราละ ความอยาก เพราะรู้ว่าอยากเท่าไร สติปัฏฐาน ก็ไม่เกิดเพราะความอยากแน่นอน จะเป็นเครื่องกั้นด้วย จะไปสนใจทำไมกับเครื่องกั้น

    ผู้ฟัง ตัวอยากเครื่องกั้นใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เขาครองโลกมานาน

    ผู้ฟัง พูดอะไรก็ไม่รู้เรื่อง

    ท่านอาจารย์ ครองโลกมานาน ไม่มีทางหลบออกไปจากเขาได้เลย ให้เห็นภัย ของโลภะ ว่าหนักหนาสาหัสขนาดนี้ แม้แต่เพียงจะค่อยๆ เข้าใจว่า ทุกอย่างต้องเกิดตามเหตุตามปัจจัย สติปัฏฐานจะไม่ได้เกิดเพราะความอยาก แค่นี้ ถ้ายังไม่สามารถที่จะตัดใจได้จริงๆ เราก็จะต้องเป็นทาสของโลภะ ไปเรื่อยๆ อยากต่อไป อยากอยู่นั้นแหละ แล้วก็รู้ด้วยว่า ถึงอยากเท่าไร ต้องรู้จริงว่า ถึงอยากเท่าไร สติปัฏฐานก็ไม่ได้เกิดเพราะความอยากแน่นอน

    ผู้ฟัง ผมก็อ่านเจอ ยิ่งอยากมันก็ยิ่งไม่รู้

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง ยิ่งอยากบังคับให้สติเกิด มั่นก็ยิ่งไม่เกิด

    ท่านอาจารย์ เป็นทาสของโลภะ ซึ่งยากที่เป็นอิสระ เวลาที่ ยิ่งอบรมเจริญปัญญามากเท่าไร ยิ่งเห็นโลภะ ซึ่งเคยครอบครองนานแสนนานละเอียดขึ้น ว่าไม่ใช่เพียงเท่านี้ มากมายมหาศาล แม้แต่เพียงหนทางข้อปฏิบัติ ที่ถูก กับที่ผิด ที่เห็นชัดๆ ก็ยังทิ้งไม่ได้ ไม่มีความอาจหาญร่าเริงพอ ที่จะรู้ว่านั่นไม่ใช่หนทาง หนทางนี้เป็นทนทางที่จะละอนุสัยๆ ซึ่งสืบต่ออยู่ในจิต เรื่อยมาโดยตลอด ซึ่งถ้าไม่ใช่ปัญญาที่สมบูรณ์จริงๆ ก็ไม่สามารถที่จะดับได้เลย เพียงแต่ระงับไว้ ด้วยความสงบเพียงครั้งคราว ด้วยความพอในในระดับนั้น ก็มี หรือว่าแม้แต่ว่าจะไม่ใช่ความสงบ ไม่ใช่กุศล เพียงแต่ว่านั่งเงียบๆ ก็ชอบ เพราะฉะนั้น โลภะจะติดตามไปตลอด ขณะใดที่ปัญญาไม่เกิดขณะนั้น โลภะจะเกิดได้

    คุณประทีป รู้ว่าเป็นดอกไม้จริงไหม

    ผู้ฟัง รู้ตามความนึกคิด รู้ว่าเป็นเพียงสมมติบัญญัติ

    ท่านอาจารย์ ถามว่า ถามว่าจริงไหม

    ผู้ฟัง รู้ว่าเป็นดอกไม้จริง

    ท่านอาจารย์ รู้ว่าจริง เป็นปรมัตถธรรม หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ถ้ารู้ว่าเป็นดอกไม้ ไม่ใช่ปรมัตถธรรม

    ท่านอาจารย์ รู้ว่าเป็นดอกไม้ จริงไหม

    ผู้ฟัง รู้ว่าเป็นดอกไม้ จริง

    ท่านอาจารย์ เป็นปรมัตถธรรม หรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ ใช่ เป็น เพราะฉะนั้น ถ้ามีความเข้าใจจริงๆ จะรู้ว่าเมื่อไรเป็นปรมัตถสัจ เมื่อไรเป็นสมมติสัจ จะเข้าใจความหมายของคำที่เราได้ยินได้ฟัง ตั้งแต่ต้น ว่าสัจจะมี ๒ อย่าง คือปรมัตถสัจ กับสมมติสัจ เพราะฉะนั้น เราจะไม่มีความสับสน ในการฟังพระธรรม และในการเข้าใจพระธรรม เพราะเรารู้ว่าสัจจะมี ๒ แล้วสัจจะที่ ๒ ตรงไหนทวารไหน เราก็สามารถจะรู้ได้ ว่าทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นปรมัตถสัจจะ แต่พอเป็นทางใจ ก็เริ่มที่จะมีการสะสมที่จะเข้าใจว่า สิ่งที่ปรากฏนั้นเป็นอะไร เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นปัญญาจริงๆ ทั้งหมด ที่เป็นจริง ที่เป็นปรมัตถธรรม ก็คือเป็นสติปัฏฐาน

    ผู้ฟัง วันนี้ผมฟังท่านอาจารย์ ด้วยความเข้าใจ อย่างนี้แล้ว สติปัฏฐาน ผมจะต้องเกิดเลยไหม

    ท่านอาจารย์ คุณประทีปสามารถที่จะรู้ความเป็นอาหาร ของธรรมที่ทรงแสดงไว้หรือเปล่า ว่ามีอะไรเป็นอาหาร แล้วก็อาหาร ไม่ใช่ว่าฟัง ปุ๊บ เป็นอาหารปั๊บ แต่นำมาซึ่งผล จากการฟังแล้วก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น เพราะฉะนั้น จุดประสงค์ไม่ใช่ เราต้องการสติ ไม่ใช่ว่าเราต้องการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่ใช่ว่าอยากที่จะให้สติปัฏฐานเกิด หรือว่ารับประกันได้ไหมว่า อย่างนี้แล้วสติปัฏฐานจะเกิด หรือว่า จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม รู้แจ้งลักษณะของนิพพานไหม นั่นไม่ใช่เรื่องที่ใครจะรับประกัน หรือใครจะบอก แต่ธรรมเป็นเรื่องเฉพาะตัว ที่คนนั้นจะรู้ว่า ก่อนนี้ไม่เคยรู้ ไม่เคยเข้าใจ แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น เข้าใจหรือเปล่า นี่คือผู้ตรง ถ้าเข้าใจก็คือเข้าใจ ซึ่งแต่ก่อนนี้ไม่เข้าใจ แล้วฟังแล้วฟังอีกก็เข้าใจขึ้นอีกหรือเปล่า หรือฟังแล้วก็ยังไม่เข้าใจเพิ่มเติมอีกเลย เป็นเรื่องตรง เพราะฉะนั้น ความตรงก็คือ ความรู้ ความเข้าใจ ความรู้ ความเข้าใจเท่านั้นที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่ใช่สติ สติเป็นแต่เพียงสภาพที่ระลึก แต่ว่าต้องมีการอบรมเจริญปัญญา ในขณะที่สติปัฏฐานเกิด อีกระดับหนึ่ง แล้วก็ไม่ใช่หมายความว่า พอมีความเข้าใจอย่างนี้แล้ว สติปัฏฐานจะต้องเกิดก็แล้วแต่ ว่าจะมีอาหารของสติเมื่อไร จะปรับปรุงเมื่อไร จะเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งเมื่อไร แล้วจะมีการรอคอยอยู่หรือเปล่า ถ้ามีการรอคอยอยู่สติจะเกิดไหม

    ผู้ฟัง ไม่เกิด

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่รอคอย แต่มีเหตุปัจจัยที่จะให้สติปัฏฐานเกิด สติปัฏฐาน จะเกิดได้ไหม

    ผู้ฟัง ก็เกิดได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ไม่ขึ้นอยู่กับการรอคอย หรือการหวัง แต่ขึ้นอยู่กับ แต่ละคน เมื่อฟังแล้วมีความเข้าใจ เพิ่มขึ้นไหม นี่ต่างหาก ที่จะเป็นปัจจัยที่จะทำให้ปัญญาเจริญ ขึ้นแล้วสติปัฏฐานเกิด คือความเข้าใจเพิ่มขึ้น

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์พูด ช่วยกรุณาให้ผมเข้าใจ ท่านอาจารย์อธิบายทีละขณะจิตเลย ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้กล่าวถึงขณะจิต พูดถึงว่าเป็นความเข้าใจเท่านั้น ที่จะทำให้ทุกอย่างเจริญขึ้น ที่สามารถจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ไม่ใช่ด้วยโลภะ หรือความต้องการ หรือไม่ใช่ด้วยการหวังรอ คิดว่าแล้วสติปัฏฐานจะเกิดไหม ถ้าเข้าใจอย่างนี้ นั่นใครคิด มีความหวังหรือเปล่า ถ้าไม่สนใจอย่างนี้เลย แล้วก็มีความเข้าใจเพิ่มจากการได้ฟัง พอได้ฟังแล้วก็เข้าใจขึ้นๆ ๆ ก็ละความที่ไม่เคยเข้าใจมาก่อน ควรจะเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่ไปหวังว่าแล้วสติปัฏฐานจะเกิดไหม

    ผู้ฟัง คุณประทีป ที่คุณตอบท่านอาจารย์ว่า รู้ว่าเป็นดอกไม้เป็นปรมัตถธรรม เป็นอย่างไร

    ผู้ฟัง เป็นลักษณะของความคิดที่มีจริง แล้วก็รู้ว่าสิ่งๆ นี้เป็นดอกไม้ เป็นสมมติบัญญัติ เป็นการสื่อความหมายให้รู้ว่า สิ่งที่กำลังปรากฏ ทางตา ที่มีสีสันรูปร่างหน้าตาอย่างนี้ เราเรียกว่า ดอกไม้ ซึ่งได้รับการอบรมสั่งสอน

    ผู้ฟัง ก็หมายความว่า ความคิด ใช่ไหม ความคิดที่เกิดขึ้น คิดว่าเป็นดอกไม้

    ผู้ฟัง มีจริง

    ท่านอาจารย์ ถ้าคุณประทีปไม่รู้ก็อาจจะรับประทานดอกไม้ก็ได้ เพราะไม่รู้ว่าเป็นดอกไม้

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ผู้ที่เข้าใจธรรม หรือผู้ที่สติปัฏฐานเกิด ก็รู้ ก็เห็นเหมือนเป็นดอกไม้เหมือนกัน รู้ เห็น แล้วก็เข้าใจว่าเป็นดอกไม้

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ต้องรู้ มโนทวารวิถีเกิดแล้ว สมมติสัจจะมีแล้ว ต้องรู้ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ถ้าไม่รู้ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด มีชีวิตในโลกนี้ ไม่ได้เลย อะไรก็ไม่รู้ทั้งหมด แค่เห็นแล้วจะรับประทานอาหารอย่างไร

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นก็ศึกษาธรรมแล้ว เห็น

    ท่านอาจารย์ เห็นถูกต้องตามความเป็นจริงว่าทุกอย่างเป็นธรรม ทุกอย่างที่มีจริง แล้วธรรมมี ๒ อย่างคือปรมัตถสัจจะ กับสมมติสัจจะ แล้วรู้ด้วยว่าสมมติสัจจะ ทวารไหน ทางตาไม่มีทางที่เป็นสมมติสัจจะได้เลย ทางหูก็เป็นสมมติสัจจะไม่ได้

    ผู้ฟัง เว้นแต่ทางใจเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ ทางใจคิดนึก เรื่องราวสารพัดอย่าง จริงๆ แล้วก็ดูเหมือนจะเป็นเรื่อง ที่บางคนคิดว่ายุ่งยาก ปรมัตถธรรม ปรมัตถสัจจะ กับสมมติสัจจะ แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ถ้าเข้าใจปรมัตถธรรม ปรมัตถสัจจะแล้ว เรื่องที่จะไม่เข้าใจบัญญัตินั้นเป็นไปไม่ได้เลย

    อีกอย่างหนึ่ง ก็คือว่าก่อนที่จะได้ฟังปรมัตถธรรม เราไม่รู้เลย ว่าเป็นปรมัตถธรรม เราอยู่ในโลกของบัญญัติตลอดเวลา คิดว่าสิ่งที่มี ที่เห็นทางตา เป็นสิ่งที่เที่ยง อย่างสิ่งที่ปรากฏทางตา นอกจากจะปรากฏเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ ยังเชื่อว่ามีคน มีสัตว์ มีวัตถุต่างๆ ในสิ่งที่ปรากฏทางตา มั่นคงแน่นแฟ้นคลายยากที่จะเห็นว่าเป็นแต่เพียง สิ่งที่ปรากฏทางตา

    เพราะฉะนั้น ที่ว่าทุกคนอยู่ในโลกของสมมติบัญญัติ ตั้งแต่เกิดจนตายทุกชาติ ที่ไม่ได้ฟังพระธรรม จะถูกไหม คือไม่รู้เลยว่าสภาพนี้เป็นธรรม หรือว่าเป็นปรมัตถธรรม แต่ไม่ต้องมีใครที่จะต้องบอกว่า ดอกไม้เป็นบัญญัติ โต๊ะเป็นบัญญัติ เพราะว่าอยู่ในโลกของบัญญัติตลอด โดยที่ไม่รู้ว่าเป็นปรมัตถธรรม ถ้าได้รู้ว่าเป็นปรมัตถธรรม จะรู้เลยว่า ขณะใดที่ไม่มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ ขณะนั้นทั้งหมดเลยต้อง มีบัญญัติเป็นอารมณ์ เพราะเหตุว่าปรมัตถธรรม มี ๔ คือ จิต ๑ เจตสิก ๑ รูป ๑ นิพพาน ๑ นอกจากนี้แล้วเป็นบัญญัติหมด

    แม้แต่เด็กเล็กยังไม้ได้รู้เลยว่า สิ่งนั้นเรียกว่าอะไร แต่จากการเห็น และการจำ เขาก็สามารถที่จะรู้ ว่าสิ่งนั้นคืออะไร โดยยังไม่รู้คำเลย เพราะฉะนั้น ก็มีบัญญัติ เป็นอารมณ์ ในขณะที่ไม่มีปรมัตถธรรม เป็นอารมณ์ เพียงแต่ว่ายังไม่รู้ว่าคำนั้น เรียกว่าอะไร สมมติกัน ใช้คำอะไรที่จะเรียกสิ่งนั้น แต่ขณะใดก็ตามที่ไม่มีปรมัตถธรรม เป็นอารมณ์ ขณะนั้นต้องมีบัญญัติเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้น หน้าที่คือเข้าใจปรมัตถธรรมให้มากขึ้น เพราะว่าบัญญัติเป็นเรื่องที่รู้กันอยู่แล้ว ไม่มีใครไม่รู้บัญญัติ

    ผู้ฟัง มี อสัญญสัตตาพรหม

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไรถึงไม่รู้

    ผู้ฟัง เพราะไม่มีจิต

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 102
    25 มี.ค. 2567