ปกิณณกธรรม ตอนที่ 556


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๕๖

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๓


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่จะต้องเข้าใจจริงๆ ว่าไม่ใช่คนอื่น แต่เป็นตัวท่านในชีวิตประจำวัน ถ้าเกิดความคิดขึ้นมาว่า สิ่งอื่นบันดาลได้ หรือว่าสามารถที่จะมอบกรรมของเราให้คนอื่นได้ หรืออะไรอย่างนี้ ก็แล้วแต่ซึ่งเป็นขณะที่ไม่ใช่ปัญญาที่รู้ความจริงของสภาพธรรม ขณะนั้นก็เป็น สีลัพพตปรามาสอย่างที่มองเห็นได้

    แต่ที่ละเอียดกว่านั้นอีกก็คือว่า แม้สติปัฏฐานเกิด ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่มีความจงใจ เกิดความอยากติดข้อง ที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น หรือสภาพธรรมอื่นที่ละเอียด ขณะนั้นก็เป็นตัวตน เป็นอัตตา เป็นการลูบคลำหนทางประพฤติปฏิบัติ ซึ่งไม่ใช่เป็นหนทางละด้วยปัญญา ที่รู้ว่าสภาพธรรมใดจะปรากฏ แล้วแต่สติจะระลึก ถ้าสภาพธรรมนั้นไม่ปรากฏ แล้วขวนขวายหรือทำเพื่อที่จะรู้ ขณะนั้นก็ไม่ใช่หนทางที่จะเห็นความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม ที่กำลังมีในขณะนี้

    ขณะนี้เป็น อนัตตาทั้งหมด เห็นเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย บังคับบัญชาไม่ได้ เป็นอนัตตา ได้ยินในขณะนี้ก็เพราะเหตุปัจจัย บังคับบัญชาไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้ามีความคิดจงใจต้องการเพียงเล็กน้อย ขณะนั้นก็คือสีลัพพตปรามาส ซึ่งจะดับหมด ไม่เกิดอีกเลย เมื่อรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระโสดาบัน

    สำหรับสังโยชน์ที่ ๔ คือ กามราคะ กามก็ได้แก่รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ราคะ คือ ความยินดีติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ตามความเป็นจริง ธรรมเป็นเรื่องจริง เพราะฉะนั้น ความจริงเป็นอย่างไร ก็ต้องตรงตามความเป็นจริงอย่างนั้น ผู้ที่จะละ กามราคะ คือความยินดีพอใจ ในรูปในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ได้ต้องเป็นพระอนาคามีบุคคล ไม่ใช่พระโสดาบัน ไม่ใช่พระสกทาคามี เพราะฉะนั้น ผู้ที่เริ่มศึกษาเป็นใคร ต้องรู้จักตัวเองตามความเป็นจริง แต่ละขณะเกิดขึ้นต่างๆ กันไป แต่ละชีวิต ตามเหตุตามปัจจัย ปัญญาก็จะต้องรู้ ลักษณะของสภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่ง แล้วเกิดขึ้นให้รู้ตามความเป็นจริงว่า ลักษณะที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้เป็นสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม หรือเป็นรูปธรรม ไม่ใช่เรา ก่อนที่จะไปละความติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ได้เด็ดขาดเป็นสมุจเฉท

    สำหรับสังโยชน์ที่ ๕ ก็คือ ปฏิฆะ โดยศัพท์ หมายความถึง การกระทบกระทั่ง ใช่ไหม ปฏิฆะ

    วิทยากร. ปฏิฆะ ก็อย่างที่อาจารย์ เข้าใจแล้ว กระทบกระทั่ง ที่ชื่อว่า ปฏิฆะ เพราะอรรถว่า กระทบกระทั่ง ถ้าไม่กระทบกัน ก็ไม่ชื่อนี้ เป็นชื่อหนึ่งต่างหาก แยกออกมาจากโทสะ

    ท่านอาจารย์ ที่เป็นปฏิฆะสังโยชน์ หมายความถึง โทสะ

    วิทยากร. โทสะเป็นเครื่องผูกไว้ โทสะก็เป็นเครื่องผูก บางคนก็โกรธง่าย บางคนก็พิจารณาดู ความโกรธของคน บางคนไม่ใช่ทั่วไป โกรธง่ายเหลือเกิน บางคนโลภง่ายเหลือเกิน เพราะว่าสั่งสมมาไม่เหมือนกัน แล้วอัธยาศัยเก่า แล้วแต่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น การศึกษาต้องเข้าใจในแต่ละแห่งด้วย ถ้าเห็นข้อความนี้ที่นี่ก็อย่าไปคิดว่าที่อื่นก็จะต้องเป็นโทสะ แต่ว่าเป็นอีกความหมายหนึ่ง แต่สำหรับสังโยชน์ หมายความถึงโทสะ เพราะเหตุว่า เป็นการกระทบกระทั่ง ที่จะรู้สึกได้ วันหนึ่งๆ โลภะตั้งแต่เช้า รู้สึกไหมว่าโลภะกระทบ แต่พอเกิดขุ่นใจสักนิดหนึ่ง โกรธ หรืออะไรอย่างนี้ ก็จะเห็นได้ว่า จิตใจขณะนั้นถูกกระทบแรงพอที่จะรู้ได้ว่า เปลี่ยนแปลงจากปกติ เป็นลักษณะที่ขุ่นข้อง หรือว่าเป็นลักษณะที่โกรธ สำหรับผู้ที่จะละปฏิฆะ ก็จะต้องเป็นพระอนาคามีบุคคล

    เพราะฉะนั้น มีหลายคนที่ไม่ชอบ โทสะเลย เพราะรักตัวมาก ไม่อยากให้ตัวเองมีความรู้สึกที่ไม่สบาย ที่เดือดร้อน ที่ขุ่นใจ ก็ถามว่าทำอย่างไรถึงจะไม่มีโทสะ ต้องการอย่างเดียวคือทำอย่างไร อยากจะทำ แต่ว่าไม่มีใครทำสำเร็จ เพราะเหตุว่าไม่ใช่ปัญญา

    ถ้าเป็นตัวตน ขณะนั้นก็เป็น ความติดข้อง ซึ่งเป็นอกุศลๆ ไม่สามารถที่จะดับกุศลได้ แต่ว่าปัญญาเจตสิกเมื่ออบรมเจริญแล้ว เป็นธรรมฝ่ายกุศล ฝ่ายโสภณ ที่สามารถที่จะดับกิเลสได้ เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้ ถ้าเกิดโกรธ คิดหรือเปล่า ว่าทำอย่างไรถึงจะไม่โกรธ ถ้าคิดถูกหรือผิด หรือว่าเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดแล้ว ในขณะนั้นเป็นอย่างนั้น ว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดแล้วก็ดับ ถ้ามีความติดข้องอยู่ ก็จะพยายามทางอื่น ที่จะทำให้ไม่โกรธ

    แต่ถ้ามีปัญญาก็รู้ว่าขณะนั้นไม่ใช่เห็นไม่ใช่คิดนึก ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นสภาพธรรม แต่ละอย่าง ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย โทสะก็เหมือนกับสภาพธรรมอื่นๆ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีความติดข้องในโทสะ ก็จะทำให้สติ สามารถที่จะระลึก ลักษณะของสภาพธรรมได้ แล้วก็มีสภาพธรรมอื่นปรากฏ เริ่มเห็นสมุทัยสัจ คือความติดข้องซึ่งเป็นเครื่องกั้น ไม่ให้สภาพธรรมปรากฏตามความเป็นจริง เพราะเหตุว่า ถ้าขณะนั้นไม่มีความติดในโทสะ สติปัฏฐานเกิด ระลึกลักษณะของสภาพธรรมอื่น ก็เห็นได้เลยว่าขณะนั้นก็เป็นเพียงโทสะ เป็นสภาพธรรม อย่างอื่นเท่านั้น

    หนทางที่จะอบรมเจริญปัญญา ที่จะดับกิเลส เป็นสมุจเฉท เป็นหนทางที่ละเอียด ไม่ใช่เป็นหนทางที่เราจะทำ เพราะเราอยากที่จะไม่มีกิเลส อยากที่จะไม่มีโลภะ อยากที่จะไม่มีโทสะ ก็ต้องเป็นเรื่องที่ต้องฟัง แล้วก็พิจารณา ค่อยๆ อบรม

    สำหรับสังโยชน์ที่ ๖ คือ รูปราคะ ผู้ที่เห็นโทษของกาม รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แล้วก็อบรมกุศลจิตที่มั่นคง โดยที่ว่ามีรูปเป็นอารมณ์ ขณะนั้นก็สามารถที่จะบรรลุถึง อัปปนาสมาธิเป็นรูปฌาน แต่ว่ายังมีกิเลส ตราบใดที่ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรม ดับกิเลสไม่ได้เลย แม้ว่ารูปฌานจิตก็เกิด ติดข้องยินดีต้องการ ในรูปฌานนั้น สำหรับ อรูปราคะซึ่งเป็นสังโยชน์ ที่ ๗ ก็โดยนัยเดียวกัน

    สังโยชน์ที่ ๘ คือ มานะ ความสำคัญตน ทั้งหมดนี้ไม่ว่าจะเป็นรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา พระอรหันต์ดับ คือ อรหัตมรรคจิตดับ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ใครจะคิดว่า จะไปดับได้โดยที่ปัญญาไม่เกิด แล้วก็ต้องรู้กำลังของปัญญาด้วยว่า ปัญญาระดับไหน ละ อะไรได้ สำหรับมานะ ความสำคัญตน ใครไม่มีบ้าง ใครมีมาก รู้ตัวไหม เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่ตรงตามความเป็นจริง คนอื่นก็ไม่สามารถที่จะเอามานะของใครออกได้ นอกจากคนนั้นเอง แล้วก็จะเห็นได้จริงๆ ว่า ถึงแม้ว่า มานะ จะเป็นธรรมที่ละเอียด ต้องถึงอรหัตมรรค ถึงจะดับได้ แต่มานะ อย่างหยาบๆ ก็น่าจะเห็น ก็น่าที่จะละ เพราะเหตุว่าเป็นโทษ อกุศลทุกประเภทที่เกิด แล้วก็ไม่มีการ ละคลาย ไม่มีการอบรมเจริญปัญญา เหมือนการสั่งสมสิ่งที่มีพิษไว้ในใจ ตัวเองสะสมสิ่งที่มีโทษ แต่ว่าอยู่ในใจ เวลาที่คนคิดถึงร่างกาย แล้วก็อยากจะแข็งแรง เขาก็รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพราะคิดว่าจะทำให้ไม่มีโทษแก่ร่างกาย มัวแต่ใฝ่ใจในเรื่องของรูปเพียงอย่างเดียว แต่สภาพของจิต

    ถ้าไม่มีปัญญาแล้ว คนนั้นไม่สามาถจะเห็นเลยว่า เขาเสพ เขาสะสม สิ่งที่มีโทษมากมายไว้แค่ไหน ความโกรธในวันหนึ่ง ขณะหนึ่ง ความทุกข์ในวันหนึ่ง ขณะหนึ่ง ความเสียใจ แม้เล็กๆ น้อยๆ ความเศร้ามองของจิตใจ ความไม่แช่มชื่น ไม่เบิกบานนี้เป็นโทสะ ที่มองเห็นว่า ไม่อยากจะมี แต่อกุศลอื่นทั้งหมดเป็นพิษทั้งหมด แล้วก็ขณะใดที่เกิด ไม่ได้หายไปจากจิตใจเลย สะสมสืบต่อ สิ่งที่เป็นพิษต่อไปเรื่อยๆ เวลาที่พิษปรากฏ ก็มองเห็น ทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง

    เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่าแม้มานะ ต้องถึงอรหัตมรรค ถึงจะดับได้เป็นสมุจเฉท แต่มานะใหญ่ๆ ก็น่าจะที่จะเห็น แล้วก็เริ่มรู้ว่าเป็นพิษ บางคนไม่รู้สึกตัวเลย ที่จะบกอกว่า เขาทำอะไรเก่งมาก แต่ว่าคนที่ได้ยินได้ฟัง สามารถที่จะรู้ได้ไหม ว่าขณะนั้นจิตอะไรที่ทำให้มีวาจาอย่างนั้น คนเก่งก็เก่ง แต่ไม่ต้องบอกว่าเก่งได้ไหม หรือไม่ต้องรู้สึกว่ามีความสำคัญในความเก่ง ทั้งๆ ที่เป็นคนเก่ง ก็เป็นของธรรมดา สะสมมาที่จะเก่ง ก็เก่งในบางเรื่อง สะสมมาที่จะไม่เก่ง ก็ไม่เก่งในบางเรื่อง ก็เป็นของธรรมดาจริงๆ ไม่ควรที่จะไปยึดมั่นว่าเป็นเรา หรือมีความสำคัญว่าเป็นเรา

    เมื่อศึกษาธรรมแล้วก็ขอให้เห็น ความละเอียดของธรรม แล้วก็รู้ว่า ธรรมที่ทรงแสดง สำหรับทุกคนที่ฟังพระธรรม แล้วประพฤติปฏิบัติตาม แต่คนที่ไม่ฟัง ก็ไม่ทราบจะทำอย่างไร ก็ไม่มีหนทางเลย เพราะฉะนั้น หนทางแรก คือต้องฟัง คือสาวก สาวโก นี่เป็นผู้ฟังพระธรรม แล้วก็อบรมเจริญปัญญาด้วย

    เพราะว่าบางคนก็แปลกมาถามว่า คนนั้นเขาจำเก่งมากเลย เรียนพระอภิธรรมก็เก่ง อะไรก็เก่ง แต่ทำไมความประพฤติเขาเป็นอย่างนี้ นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ธรรมไม่ได้เกื้อกูล เพราะว่าไม่ได้ประพฤติปฏิบัติ เพียงแต่จำเรื่องราวเท่านั้นเอง แต่ถ้าใครก็ตามเห็นประโยชน์จริงๆ ก็รู้ว่ากิเลสมากก็จริง แต่ว่าพระธรรมมีคุณประโยชน์ เหนือสิ่งอื่นใดที่ว่าเป็นประโยชน์ สำหรับคนนั้นที่จะขัดเกลากิเลส เพราะฉะนั้น เขาก็ศึกษา อบรมขัดเกลากิเลสไปด้วย

    สำหรับเรื่องของมานะก็เข้าใจให้ถูกว่า ต้องถึงพระอรหันต์ถึงจะดับได้ แล้วมานะในวันหนึ่งๆ เกิดขึ้น ขณะใดที่เป็นอกุศล ขณะนั้นจะไม่รู้ว่าเป็นมานะ มานะในชาติตระกูลก็ได้ มานะในทรัพย์สมบัติก็ได้ มานะในวิชชาความรู้ มานะในความสามารถ มานะในตำแหน่ง ยศถาบรรดาศักดิ์ได้ทุกอย่าง เพราะฉะนั้น ก็เป็นสิ่งที่จะต้องพิจารณาว่า ขณะนั้นเป็นการสะสม สิ่งที่เป็นพิษไว้ในใจ ถ้ายังติดข้องอยู่

    สังโยชน์ที่ ๙ คือ อุทธัจจะ เป็น อกุศลเจตสิก เป็นสภาพที่ไม่สงบ ตรงกันข้ามกับโสภณเจตสิก เพราะฉะนั้น ขณะใด อกุศลจิตเกิด ขณะนั้นก็ต้องมี อุทธัจจเจตสิกเกิดร่วมด้วย มีโมหะ มีอหิริกะ อโนตตัปปะ และ อุทธัจจะ ๔ เจตสิกนี้เกิดกับ อกุศลจิตทุกประเภท

    สำหรับสังโยชน์ ที่ ๑๐ คือ อวิชชา วิชชา หมายความถึงความรู้ ความเห็นที่ถูกต้อง อะ ก็คือ ไม่ ไม่รู้ไม่เห็น สภาพธรรม ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะดับอวิชชาหมดเลย คือ พระอรหันต์ อรหัตมรรคดับอวิชชา จึงไม่มีทั้งอกุศลจิต และกุศลจิต หลังจากที่เป็นพระอรหันต์แล้ว จะมีแต่วิบากจิต คือ ผลของอดีตกรรมที่ได้กระทำแล้ว และเมื่อเห็นแล้วได้ยินแล้ว ปกติของคนที่ไม่ใช่พระอริยบุคคล ก็จะมีอกุศลเป็นส่วนใหญ่ แล้วคนที่เป็นพระอริยบุคคลก็แล้วแต่ ระดับขั้นของความเป็นพระอริยบุคคล ซึ่งดับกิเลสอะไรไปบ้างแล้ว กิเลสประเภทนั้นก็ไม่เกิด แต่สำหรับพระอรหันต์ หลังจากเห็นแล้ว ได้ยินแล้ว เป็นกิริยาจิต คือ ไม่ใช่ทั้งกุศลจิต ไม่ใช่ทั้งอกุศลจิต เพราะฉะนั้น จากอกุศลเบาบางเพิ่มเป็น กุศล จนกระทั่งดับกุศล เป็นแต่เพียงกริยาจิต หลังเห็นปกติธรรมดาอย่างนี้ พระอรหันต์ทั้งหลายจิตของท่านไม่เป็นกุศล ไม่เป็น อกุศล แต่เป็นกิริยาจิต นี่คือความต่างกันของปัญญา

    ผู้ฟัง พระสูตรมักจะกล่าวเสมอว่า ภิกษุเพ่ง พิจารณาดูรูปนั้นโดยแยบคาย ตรงนี้ พิจารณาดูรูปนั้นโดยแยบคาย จะต้องเป็นความรู้ระดับไหน

    ท่านอาจารย์ ขณะที่ฟังพระธรรม เข้าใจไหม เริ่มตั้งแต่ตรงนี้ ฟังบ่อยๆ เข้าใจขึ้นอีกไหม คำว่า เข้าใจ เป็น ภาษาไทย หมายความถึงปัญญา ความรู้ ความเห็นที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น เวลาที่ค่อยๆ เข้าใจขึ้น แล้วเวลาที่สติเกิด ระลึกลักษณะของสภาพธรรมเข้าใจไหม ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ สภาพที่มีลักษณะเป็นรูป เป็นรูปไม่ใช่เรา สภาพที่มีลักษณะเป็นนาม ก็เป็นนามธรรม เราชินกับชื่อมาก เราสามารถจะบอกได้ว่ามีเจตสิก ๕๒ ชินกับชื่อจริงๆ แต่เวลาที่สภาพของเจตสิกหนึ่ง เจตสิกใดปรากฏ รู้หรือเปล่าว่าไม่ใช่เรา แต่เป็น ธรรม

    เพราะฉะนั้น สติปัฏฐาน ก็หมายความว่าเพียงชื่อ ไม่พอ แต่ว่าเวลาที่สภาพธรรมนั้นๆ เกิดขึ้น สามารถที่จะรู้ลักษณะที่แท้จริง ของสภาพธรรมในขณะที่สติระลึกเท่านั้น เพราะอะไร เพราะเหตุว่าสภาพธรรมเกิดแล้วดับ เร็วมาก เพราะฉะนั้น สภาพธรรมใดที่ไม่ปรากฏ ไม่ต้องกังวลถึงเลย แต่ว่าขณะนี้สภาพธรรมใดปรากฏ ก็ต้องแล้วแต่สติจะเกิดระลึก หรือไม่ระลึก ถ้าสติไม่เกิด ไม่ระลึก ถึงแข็งจะปรากฏเหมือนไม่ปรากฏ ก็ผ่านไปเร็วมาก เร็วมากแล้วก็สั้นมาก เหมือนไม่ปรากฏเลยแล้วเวลาที่ปรากฏ เวลาที่ปรากฏกับโลภะ กับเวลาที่ปรากฏกับปัญญา พร้อมสติจะมีความต่างกันที่ว่า เวลาที่ลักษณะนั้นปรากฏด้วยโลภะ จะมีความเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แล้วจะมีบัญญัติเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นไม่ชัด เหมือนไม่ปรากฏเพราะว่าเร็วมาก แต่เวลาที่สติปัฏฐานเกิด เป็นสติสัมปชัญญะระลึกลักษณะของสภาพธรรม เพราะฉะนั้น ลักษณะของสภาพธรรมนั้น จึงปรากฏกับสติ เป็นลักษณะของธรรม เพราะฉะนั้น ก็ต้องเข้าใจให้ถูกต้องด้วยว่า ถึงแม้ว่าสภาพธรรมจะมี จะปรากฏ แต่ก็จะปรากฏกับจิตประเภทไหน ในลักษณะใด

    ผู้ฟัง ตรงนี้ก็การพิจารณาตรงนี้ ถ้าจะกล่าวก็ต้องหลายระดับ

    ท่านอาจารย์ ฟังดู ถ้าอ่านพระสูตรแล้วเหมือนตัวตน พินิจ เพ่งพินิจ พิจารณา ด้วยความแยบคาย ที่คุณวีระ กล่าวถึง เมื่อกี้นี้ แต่ตามความเป็นจริง สติเกิดแล้วก็ดับเร็วมาก แต่สภาพธรรม ที่สติต่อไปเกิด ไม่ใช่อันเก่าแล้ว เป็นคนละอัน สิ่งที่เกิดก็ดับไป แม้สติที่เกิดก็ดับไป

    เพราะฉะนั้น ปัญญาก็จะต้องค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมนั้นก่อน จนกว่าจะเพิ่มระดับขึ้น แต่ต้องรู้ว่าลักษณะนั้นเป็นนามธรรม หรือเป็นรูปธรรมไม่ต้องไปกังวลว่าจะทันหรือไม่ทันเพราะเหตุว่าสภาพธรรม ปรากฏนิดเดียวแล้วก็หมดไป แต่ว่าสติระลึกได้อีกบ่อยๆ ที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น

    ความหมายของเพ่งพินิจ พิจารณา โดยศัพท์ เหมือนกับว่าต้องทำ ตั้งหลายอย่าง ทั้งเพ่ง ทั้งพินิจ ทั้งพิจารณา ด้วยความแยบคาย ด้วยความแยบคายที่นี่ คือ ด้วยความเข้าใจถูกต้องจากการที่เคยฟังมาแล้ว แต่เมื่อลักษณะสภาพธรรมนั้นปรากฏ ต่างกับที่เคยฟัง เพราะว่าสติไม่เคยระลึกในลักษณะนั้น ลักษณะที่เป็นนามธรรม และรูปธรรม จึงไม่ได้ปรากฏ ตามความเป็นจริง ต่อเมื่อใดที่มีความเข้าใจ แล้วก็สติระลึก แล้วค่อยๆ เข้าใจขึ้น ซึ่งในขั้นที่ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ก็คงจะไม่ลืม คำอุปมาที่ว่า เหมือนกับการจับด้ามมีด เพราะฉะนั้น ถ้ายังมี ขณะต่อไปที่สงสัย ในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม ก็ให้ทราบว่า ในขณะนั้นก็ เวลาจับด้ามมีดก็สงสัยว่าด้ามมีดจะสึกได้หรือ

    ผู้ฟัง อาจารย์บอกว่าแข็งปรากฏอยู่ แต่สติไม่ได้ระลึก ขณะที่ดิฉันจับไมโครโฟน แล้วระลึกว่าแข็ง อย่างนี้สติเกิดระลึกแล้วหรือ

    ท่านอาจารย์ ต้องถามคนอื่นไหมเวลาที่สติเกิด เพราะฉะนั้น ต้องไม่ใช่

    ผู้ฟัง เรียนถามที่บอกว่า พึงละสังโยชน์ทั้งปวง ทำที่พึ่งแก่ตนประดุจบุคคลที่มีไฟไหม้ศีรษะ มีความรู้สึกว่าเหมือนกับว่าจะต้องรีบร้อน

    ท่านอาจารย์ คนที่ไม่เข้าใจ จะรีบร้อนทำอะไร แต่ทนที่เข้าใจก็จะรู้ได้ว่าทรงเตือน ทุกขณะที่จะเป็นปัจจัยให้มีการระลึกได้ สำหรับผู้ฟังในครั้งนั้นเป็นใคร ขอให้คิดถึงเมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปี ที่พระวิหารเชตวันผู้ที่มีศรัทธาบวชเพราะว่าสะสมมาที่จะอบรมเจริญปัญญาในเพศบรรพชิต

    ผู้ฟัง คือทุกขณะจิต ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ข้อสำคัญ คือ ถ้ารีบร้อน จะรีบร้อนทำอะไร

    ผู้ฟัง มันไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าทุกคนได้ยินคำว่าสติปัฏฐาน แล้วรู้ว่าเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม แต่ความเข้าใจเรื่องของมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งปกติมี ๕ องค์ หรือ ความเข้าใจเรื่องสติปัฏฐาน ยังไม่เพียงพอ เพราะเหตุว่าเพียงได้ยินชื่อ ตัวอยากก็อยากจะทำ หรือว่าอยากจะระลึก หรือว่ามีความจงใจที่จะทำ เหมือนอย่างที่คุณบุษบงถามบอกว่า เวลานี้แข็ง ก็กระทบ จับให้แน่นหรือให้รู้ตรงแข็งนั้น ด้วยความเป็นเรา ขณะนั้นไม่ใช่สติ แล้วก็ไม่ใช่ปัญญา เพราะฉะนั้น จึงถามว่าขณะนั้นเป็นสัมมาสติหรือเปล่า แต่ถ้าเป็นสัมมาสติ ผู้นั้นจะรู้ได้เลย ว่าไม่ใช่การถาม ลักษณะของสติไม่ใช่ลักษณะของสมาธิ แต่ลักษณะของสติก็บ่งชัดถึงลักษณะว่าเป็นสภาพระลึกรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ขณะนั้นจากความเข้าใจธรรม ก็รู้ว่าเป็นธรรมแล้วก็สติระลึก แค่ระลึกนั่นคือลักษณะของสติ มีสภาพลักษณะที่เป็นปรมัตถที่ไม่มีชื่อ แต่ว่ามีลักษณะปรากฏ เพราะฉะนั้น คนนั้นก็รู้ว่าต่างกับขณะที่เคย หลงลืมสติ

    ผู้ฟัง ในขณะที่เราเริ่ม อบรมเราก็ระลึกไปด้วยบัญญัติ อันนั้นจะไม่เป็นการเริ่มต้นที่จะอบรมหรือ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น แต่ละคนที่เราใช้คำว่า ภาวนา แล้วใช้คำว่า จิรกาลภาวนาด้วย การอบรมเจริญมรรคมีองค์ ๘ เป็นการอบรมที่ยาวนานจริงๆ ถ้าดูประวัติของสาวกแต่ละท่าน ก็จะเห็นว่าหลายชาติมากแสนกัป หรืออะไรอย่างนี้ เพราะฉะนั้น เราก็ยังไม่ต้องคำนึงถึง สิ่งที่ยังไม่มาถึง คือ กาละที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ไปกังวลทำไม ไปคิดทำไมกับขณะที่เป็น อภิสมัย อภิสมัย คือ ขณะที่ตรัสรู้อริยสัจธรรม สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมมีนิพพานเป็นอารมณ์ เราไม่ต้องไปคำนึงไกลถึงขนาดนั้น เพียงแต่ว่าให้เข้าใจความหมายของ จิรกาลภาวนา ว่าเป็นการอบรมที่ยาวนาน ตั้งแต่ขั้นการฟังด้วยดี ด้วยความเข้าใจจริงๆ

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 102
    25 มี.ค. 2567