ปกิณณกธรรม ตอนที่ 552


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๕๒

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๓


    ท่านอาจารย์ ในส่วนที่ ๒ พระองค์เสด็จเข้าไปยังพระคันธกุฎี ทรงมีพระสติสัมปชัญญะ สำเร็จสีหไสยาสน์ โดยพระปรัศว์เบื้องขวา ในส่วนที่ ๓ พระองค์เสด็จลุกขึ้นประทับนั่ง ตรวจดูสัตว์โลกด้วยพุทธจักษุ เพื่อทรงเห็นบุคคลผู้ได้สร้างบุญญาธิการไว้ โดยคุณมีทาน และศีล เป็นต้น ในสำนักแห่งพระพุทธเจ้า ในปางก่อนทั้งหลาย นี้เป็นกิจในปัจฉิมยาม ต่อจากนั้นก็ตรวจดูอย่างนี้แล้ว ก็จะดูว่ามีใครที่จะเสด็จไปโปรด เช่น กสิภารทวาชพราหมณ์

    ผู้ฟัง สำหรับการนอนของพระพุทธเจ้า แสดงท่านหลับ เพราะว่าพอตื่นขึ้นมีคำว่า กระปรี้กระเปร่า ถ้าท่านเข้าฌานอย่างเดียวก็คงไม่มีคำว่า กระปรี้กระเปร่า

    ท่านอาจารย์ ที่จริง ฌานเป็นกุศล แต่สำหรับพระอรหันต์แล้ว เป็นกิริยา มีประโยชน์มากทีเดียว เพราะเหตุว่า ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ และปัญญา เพราะฉะนั้น รูปซึ่งเกิดจากกุศลจิต ก็ต้องเป็นรูปที่ดี แต่แม้กระนั้นคนเราตลอดหมด กี่ยามกี่ยามจะไม่ให้มีการหลับเลย ไม่ได้

    ผู้ฟัง สัทธรรม ๗ เริ่มตั้งแต่ศรัทธา ตัวแรก

    วิทยากร.สัทธรรม ๗ ศรัทธาเป็นข้อที่ ๑ ศรัทธาก็มาจาก สัง กับ ธา-ธาตุ แปลว่า ตั้งไว้ด้วยดี หรือ ตั้งไว้โดยชอบ หมายความว่าเชื่อด้วยความเลื่อมใสในพระรัตนไตร เป็นข้อที่ ๑. ศรัทธา

    ท่านอาจารย์ ทุกท่านในขณะนี้ที่ฟังพระธรรม ต้องมีศรัทธาเจตสิกแน่นอน เป็นสภาพที่ผ่องใส ขณะนั้นไม่ประกอบด้วยอกุศลเจตสิก แต่ว่าวันหนึ่งๆ ถ้าพิจารณาดูแล้ว ควรที่ศรัทธาจะเกิดมากได้ แต่ว่าถ้ามีปัจจัยที่จะให้ อกุศลเกิด ขณะนั้นศรัทธาก็เกิดไม่ได้ เช่น ขณะที่จะอยู่ในสถานการณ์ใดๆ ก็ตาม กำลังโกรธ ขณะนั้นเป็นอกุศลจิต เป็นอกุศลธรรมทั้งหมด เป็นอกุศลเจตสิก มีศรัทธาที่จะเห็นโทษของโกรธ แล้วกุศลจิตเกิดไหม

    เพราะฉะนั้น ไม่ว่าอกุศลในวันหนึ่งๆ จะมีมากมายสักเท่าไรก็ตาม แต่ถ้าเป็นผู้ที่มากด้วยศรัทธา สะสมศรัทธา เห็นประโยชน์ของกุศล ขณะนั้นก็มีปัจจัยที่ศรัทธาจะเกิดขึ้นแทนอกุศล แล้ววันหนึ่งๆ เราไม่เคยรู้สึกตัวเลยว่ามีอกุศลมากมายเท่าไร ก็แสดงให้เห็นว่าศรัทธาที่จะต้องเจริญขึ้นอีกมากเท่าไร จึงจะสามารถดำเนินไปสู่หนทางที่จะดับกิเลสทั้งหลายได้ แต่ถ้าเรายังคงปล่อย วันหนึ่งก็มีอกุศลมาก ศรัทธาความผ่องใสของจิตที่เห็นประโยชน์ของกุศลที่เป็นกุศลไม่เกิดเลย ขณะนั้นก็หมักหมม เพิ่มอกุศลขึ้น แล้วก็ศรัทธาก็มองไม่เห็นเลย

    แต่ว่าในขณะที่กำลังฟังธรรม มีศรัทธา แต่ว่าการฟังพระธรรม ไม่ใช่เพียงฟังเพื่อเข้าใจ แต่เพื่อประพฤติปฏิบัติตามด้วย เพราะฉะนั้น การเจริญของศรัทธาก็มีหลายขั้น เช่น ขั้นฟัง ฟังได้ บางคนก็ชอบฟังพระธรรมแต่คิดไหมว่า ไม่ใช่ฟังเท่านั้น ต้องประพฤติตาม แล้วก็เพื่อประพฤติตามจริงๆ เมื่อเข้าใจประโยชน์ ของธรรมที่เป็นฝ่ายกุศลเพิ่มขึ้น ศรัทธาก็จะเพิ่มขึ้นด้วย

    เพราะฉะนั้น ใครก็ตามที่มีความรู้สึกว่า แต่ก่อนที่จะได้ฟังพระธรรม มีอกุศลเกิดมาก แต่เมื่อฟังพระธรรม เห็นประโยชน์ของทั้งทาน ทั้งศีล ทั้งคุณธรรมอื่นๆ ศรัทธาก็เริ่มที่จะเจริญขึ้น ในชีวิตประจำวัน กว่าจะถึงกาลที่จะเป็นโพชฌงค์ ซึ่งต้องเริ่มจาการอบรมเจริญคุณธรรมในชีวิตประจำวันก่อน เพราะฉะนั้น ก็จะทำให้เห็นได้ว่า สำหรับแต่ละคน ย่อมรู้จักตัวเองตามความเป็นจริงว่า ขณะใดที่มีปัจจัยให้อกุศลจิตเกิด มีปัจจัยที่ศรัทธาจะเกิดแล้วเป็นกุศลไหม ก่อนที่จะถึงสติปัฏฐาน ก่อนที่จะถึงโพธิปัคขิยธรรมทุกขั้น

    เพราะถ้าไม่มี จรณะ จรณะ คือความประพฤติที่เป็นไปทั้งหมด ของพระผู้มีพระภาค ตั้งแต่ครั้งเป็นพระโพธิสัตว์ ไม่ใช่ว่าจะมาบำเพ็ญตอนพระชาติสุดท้าย เพราะฉะนั้น ในชาตินี้ ซึ่งทุกคนหวัง ที่จะเจริญสติปัฏฐาน ที่จะเจริญโพชฌงค์ ที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ย้อนไปแล้วเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าไม่มีธรรมในชีวิตประจำวัน แต่ละชาติ ซึ่งเป็นจรณะ ซึ่งเป็นคุณธรรมที่จะทำให้ดำเนินไปสู่หนทางที่จะดับกิเลส

    ผู้ฟัง รู้แต่ชื่อ คือดิฉันพอจะเข้าใจแล้วว่า เข้าใจลักษณะสภาพธรรมกับพูดเฉยๆ ว่ารู้แต่ชื่อ แต่จะเรียนถามท่านอาจารย์ว่า ที่เรียกว่า รู้แต่ชื่อ จริงๆ แล้วเขาก็รู้ความต่างกันด้วย ใช่ไหม อย่างโทสะ กับ โลภะอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ ความต่างก็ชื่ออีกเหมือนกัน

    ผู้ฟัง ตกลง ไม่ได้รู้เลย

    ท่านอาจารย์ ตัวจริงๆ ของธรรมขณะนี้ ไม่มีเราเลย ไม่มีเลยจริงๆ เป็นสภาพปรมัตถธรรม เป็นจิต เป็นเจตสิก เป็นรูปทั้งหมด ถ้ารู้ก็รู้อย่างนี้

    ผู้ฟัง สภาพรู้ซึ่งเป็นนามธรรม ก็มีลักษณะที่ต่างๆ กัน ท่านอาจารย์ก็หมายถึงลักษณะที่แตกต่างกันไป ก็เป็นลักษณะของเจตสิก ซึ่งแตกต่างไปกับลักษณะของจิต ใช่ไหม ที่อาจารย์ พยายามอธิบายตอนนี้

    ท่านอาจารย์ สภาพธรรม ปรมัตถธรรม มี ๔ สภาพธรรมที่มีปัจจัยทำให้เกิดขึ้นก็มี ๓ คือจิต เจตสิก รูป อันนี้ฟังเหมือนชื่อ แต่ความจริงลักษณะของจิตก็คือจิต ลักษณะของเจตสิกแต่ละชนิดก็เป็น เจตสิกแต่ละชนิด ลักษณะของรูปก็เป็นรูป ซึ่งเราเรียนเพื่อที่จะให้เข้าใจให้ถูกต้อง และถูกต้อง คือ ถูกต้องในสภาพที่กำลังปรากฏ ถ้าไม่ปรากฏแล้วจะรู้ความจริงได้อย่างไร เพราะฉะนั้น มีสภาพธรรมปรากฏตั้งแต่เกิด จนกระทั่งถึงเดี๋ยวนี้ จนกว่าจะตาย แต่ว่ารู้ความจริงที่เป็นจิต เป็นเจตสิก รูป ที่ไม่ใช่เราหรือเปล่า หรือเพียงฟังเรื่องราวของจิต เจตสิก รูป

    ผู้ฟัง เพราะว่าสภาพรู้ และธาตุรู้ ทั้งจิต และเจตสิกต่างก็เป็นสภาพรู้ แต่เขามีลักษณะที่แตกต่างกัน อาจารย์พยายามอธิบายตรงนี้ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ แสดงว่าจิต ไม่ใช่เจตสิกแต่ละอย่าง โลภะ ที่ต้องการได้ผลมากๆ เร็วๆ พระธรรมทั้งหมดที่เป็นคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นเรื่องละ ต้องลืมไม่ได้เลย ถ้าใครคิดว่าจะต้องการ หรือจะได้ นั่นคือความเป็นเรา ความเป็นตัวตน ซึ่งทำให้ต้องการ และไม่มีวันจะถึงอะไรเลย เพราะเหตุว่าโลภะ เป็นเครื่องเนิ่นช้า แล้วก็ไม่สามารถที่จะทำให้เข้าใจ ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ใครก็ตาม ถ้ารู้ตามความเป็นจริงว่ามีอกุศลมากเท่าไร และการที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรม ก็คือในขณะนี้ จะเป็นโพชฌงค์ หรือว่าจะเป็นสติปัฏฐาน จะเป็นอิทธิบาท จะเป็นอินทรีย์ หรือจะเป็นอะไรทั้งหมด ซึ่งเป็นโพธิปัคขิยธรรม ที่อบรมแล้ว เจริญแล้ว สภาพธรรมเกิดดับตามปกติ ในแสนโกฏิกัปป์ที่ผ่านมา และข้างหน้าก็จะเหมือนอย่างนี้

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่ามีตัวตนซึ่งไปพยายามทำ แต่ว่าสภาพธรรมเป็นจริงอย่างไร อบรมเจริญปัญญาที่จะเข้าใจให้ถูกต้อง ในลักษณะสภาพธรรมนั้นเพิ่มขึ้น ผู้นั้นจะรู้เลย ว่ามีความเข้าใจพระธรรมเพิ่มขึ้น มีความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมเพิ่มขึ้น แล้วต่อไปถ้าถึงความสมบูรณ์ของปัญญา ก็สามารถที่จะรู้ได้ ว่าปัญญาสามารถที่จะประจักษ์ความจริงของสภาพธรรม แล้วต่อไปยังสามารถที่จะรู้ได้ว่า เริ่มคลาย เริ่มสละ ความเป็นเรา ทีละเล็ก ทีละน้อย น้อยมาก ตามระดับขั้นของปัญญาที่เพิ่มขึ้น จนกว่าจะถึงกาลซึ่งสามารถที่จะสละความเป็นเราได้ทั้งหมด ก็ต้องเป็นเรื่องจริง

    ผู้ฟัง น้อยจนไม่มีความรู้สึกเลย บางครั้งไม่อยากจะไปรู้อานิสงส์ ถ้าไปรู้อานิสงส์ก่อนเราจะต้องทำสักอย่างแล้วเว้นผล

    ท่านอาจารย์ ด้วยความเป็นตัวเรามากมาย ทำให้อยากเป็นอย่างนั้นบ้าง ไม่อยากเป็นอย่างนี้บ้าง

    ผู้ฟัง ก่อนหน้านั้นเป็นอย่างนี้ ตอนนี้ไม่มีเลย ฟังไปกลายเป็นใช้วิริยะ ไม่ใช้สติ กลายเป็นใช้วิริยะ ฟังไปเรื่อยๆ เอาวิริยะเป็นตัวหลัก คือ ตัวอินทรีย์กลายเป็นอย่างนั้น ไม่ได้ใช้สติเลย

    ท่านอาจารย์ นี่เป็นชื่อทั้งหมดเลย หรือเปล่า

    ผู้ฟัง สภาพ

    ท่านอาจารย์ ถ้าสภาพของวิริยะ ใครใช้ได้

    ผู้ฟัง หมายถึงว่า เวลานั้นรู้ความรู้สึก อารมณ์ที่ว่าใช้วิริยะ ฟังไปเรื่อยๆ

    ท่านอาจารย์ แต่จริงๆ ใช้วิริยะ ได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ แต่สามารถที่จะรู้ เข้าใจสภาพธรรมในขณะนี้ ซึ่งขณะนั้นก็เป็นวิริยะ ไม่ใช่ไม่มีวิริยะ

    ผู้ฟัง มี แต่มันไม่เด่น

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องอบรมเจริญขึ้นจนกว่าจะเป็นอินทรีย์ จนกว่าจะเป็นพละ ขณะนี้เป็นวิริยะ หรือเปล่า วิริยะเกิดกับโมหะด้วย เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ ว่าการที่เราฟังธรรมมานานวันนี้ ก็ต้องมีวิริยะ มีจรณะ คือมีศีล มีอินทริยสังวร มีศรัทธา มีสติ มีวิริยะพร้อม เรากล่าวต่อไปถึงองค์อื่นไหม คงไม่ต้องมีวิริยะ หรือทำวิริยะ หรือใช้วิริยะ เพราะว่าวิริยะเกิดกับจิตส่วนมาก เว้นจิต ๑๖ ดวงที่เป็นอเหตุกะ

    บางคนก็อาจจะคิดว่า เพียงการศึกษาพระอภิธรรม รู้เรื่องราวของพระอภิธรรมก็พอ แต่มีความเห็นผิดในการอบรมเจริญสติปัฏฐานได้ นี่แสดงให้เห็นว่าเพียงเรื่องราว หรือว่าจำนวนหรือตัวเลข ไม่สามารถที่จะทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ถ้าเป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง อย่างที่ทรงแสดงไว้ว่า จรดกระดูกแม้แต่ข้อความสั้นๆ เช่น ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เป็นธรรม ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร แล้วไม่มีเจ้าของด้วย ถ้าศึกษาจริงๆ เข้าใจจริงๆ ก็จะทำให้รู้ว่าการอบรมเจริญปัญญา รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ถูกต้อง ตามความเป็นจริงในลักษณะซึ่งไม่ใช่ตัวตน ลักษณะซึ่งเป็นนามธรรมมีจริงๆ ลักษณะที่เป็นรูปธรรมก็มีจริงๆ ในขณะนี้ เพราะฉะนั้น นี่คือปัญญา ทำให้ผู้นั้นไม่เข้าใจผิด ไม่เห็นผิด

    เพราะว่าบางท่านอาจจะมีความรู้เรื่องจำนวน และตัวเลข แต่ว่าขณะนี้เข้าใจว่า อบรมเจริญปัญญาไม่ได้ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็จะไม่ตรงกับพระพุทธพจน์ที่ว่า สติเป็นประโยชน์ในที่ทั้งปวง แล้วสติที่เป็นประโยชน์ ในที่ทั้งปวง ประโยชน์ของสติสูงสุดก็คือ สติปัฏฐาน ที่สามารถจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ เพราะเหตุว่าถ้าสติไม่เกิด ไม่ระลึก ปัญญาไม่สามารถจะรู้ แม้ว่าสภาพธรรมกำลังเผชิญหน้า กำลังปรากฏ ทางตา ทางหูทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แล้วทุกคนก็ทราบว่าจิตเกิดขึ้น ดำรงอยู่เพียงชั่วหนึ่งขณะสั้นๆ แล้วก็ดับ

    ขณะนี้จิตเกิดดับนับไม่ถ้วน โดยที่ไม่มีใครรู้ลักษณะของจิต ซึ่งเป็นธาตุรู้ เป็นสภาพรู้ แต่ว่าปัญญาสามารถอบรมได้ สามารถเข้าใจได้ สามารถรู้ได้ สามารถประจักษ์ได้ เพราะฉะนั้น การเป็นผู้ที่ละเอียด จะทำให้เข้าใจในพระพุทธพจน์ โดยที่ไม่มีการค้านกันเลย เช่น ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา สติก็ต้องเป็นอนัตตา แล้วปัญญาก็เป็นสภาพที่สามารถที่จะรู้แจ้ง รู้ถูกต้องตามความเป็นจริงของสภาพธรรม

    ซึ่งในขณะนี้เป็นธรรมทั้งหมด ไม่มีสักอย่างเดียวซึ่งไม่ใช่ธรรม แล้วก็ใช้คำหลายคำ เพื่อที่จะให้ปัญญารู้ชัดขึ้น เป็นธาตุ ธา-ตุ ถ้าใช้คำว่า ธาตุ ทุกคนก็เข้าใจว่า ไม่มีของใคร เป็นสภาพธรรมที่มีจริงอย่างหนึ่ง แล้วมีลักษณะเฉพาะของสภาพธรรมนั้นๆ ซึ่งปัญญาสามารถที่จะเข้าใจได้จริงๆ ถ้าศึกษาวิชาการอื่น ก็เป็นแต่เพียงเรื่องราวของสภาพปรมัตถธรรม เป็นความทรงจำเรื่องสภาพธรรม แต่ว่ามีเราที่กำลังจำ ที่กำลังคิดเรื่องราวต่างๆ ไม่ใช่ความรู้จริงๆ

    เพราะฉะนั้น ปัญญาเจตสิกเป็นสภาพที่เห็นถูก เข้าใจถูก ในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงซึ่งมีหลายขั้น แต่ว่าขั้นที่จะทำให้เห็นถูกต้องว่า เป็นปรมัตถธรรม หรือเป็นอภิธรรมก็ต้องเป็นสติปัฏฐาน ซึ่งขณะนั้นปัญญาสามารถที่จะพิจารณารู้ลักษณะของสิ่งที่สติระลึกได้ ต้องให้สอดคล้องกัน ทั้งปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ มิฉะนั้นเราจะศึกษาทำไม ว่าสภาพธรรมเกิด แล้วก็ดับ ถ้าไม่สามารถที่จะรู้ได้ในขณะนี้ แล้วการศึกษาว่าสภาพธรรมเป็นจิต เจตสิก รูป เกิดดับอย่างรวดเร็วแต่ละทวาร คือแต่ละทาง ปัญญาก็ต้องสามารถรู้ตรง ตามความเป็นจริงอย่างนั้นด้วย เพราะฉะนั้น ก็ต้องตรงทั้งปริยัติ และปฏิบัติ และปฏิเวธ ถ้าไม่เป็นไม่มีทางที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมได้ เพราะว่าเราก็เคยฟังมาแล้วเรื่องของ นามธรรม รูปธรรม ๒ คำ หรือว่าปรมัตถธรรม คือ จิต เจตสิก รูป แล้วก็สามารถที่จะรู้ความละเอียด โดยศึกษาเรื่องของจิตเพิ่มขึ้น เจตสิกเพิ่มขึ้น แต่ขณะนี้สภาพธรรมกำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น กว่าจะละสละความเป็นเราที่เห็น ก็ต้องอาศัยการฟังอีกมากมาย พร้อมทั้งการอบรมเจริญปัญญา ตามที่ได้ยินได้ฟังด้วย

    ผู้ฟัง ก็เป็นผู้ที่ทรงจำได้มาก ทรงจำท้ทั้งพระไตรปิฎก แต่ว่าไม่เข้าใจสภาพธรรม จะเป็นพหูสูตรไหม

    ท่านอาจารย์ ลองคิดถึงทัพพี เราใช้คนแกง จะแกงหม้อไหนก็ได้ ทัพพีก็คนได้หมด แต่ว่าทัพพีไม่สามารถที่จะรู้รสของแกงได้ฉันใด ผู้ที่ฟังมาก แล้วก็จำมาก แต่ไม่รู้ประโยชน์ ประโยชน์นี้สำคัญที่สุดว่า ฟังเพื่ออะไร นี้เป็นจุดที่ถูกต้อง ที่ว่าถ้าจิตตั้งไว้ชอบ ขณะนั้นก็สามารถที่จะอบรมสิ่งที่เป็นประโยชน์

    แต่ว่าถ้าเราฟังมาก เพื่อที่จะรู้ และจำมาก แต่เราไม่สามารถที่จะเข้าใจว่าประโยชน์ ของการฟังเพื่อเข้าใจถูกต้อง ตามความเป็นจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ การเรียนของเราก็เป็นการสูญเปล่า เพราะว่าถึงแม้ว่าจะเรียนไป แต่สภาพธรรมก็กำลังปรากฏ แล้วก็ยังคงมีความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ทั้งๆ ที่ศึกษาว่าไม่ใช่เรา ไม่มีตัวตน ขณะที่เห็น เป็นธาตุ หรือเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดเมื่อมีสิ่งที่กระทบกับจักขุปสาท คือเหตุผลต้องกำกับตลอด จิตนี้จะเกิดเมื่อรูปนี้กระทบกับจักขุปสาท เป็นปัจจัยให้มีสภาพรู้ หรือธาตุรู้ที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ เราก็ฟัง แต่ถ้าฟังแล้วไม่น้อมที่จะค่อยๆ เข้าใจ ค่อยๆ เห็นว่าธาตุชนิดนี้มี จริงๆ กำลังเป็นอย่างนี้ กำลังทำกิจอย่างนี้ ก็จะทำให้เราไม่มีทางที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมเลย ก็เพียงฟังไปตลอด

    อีกอย่างหนึ่งหลายคนก็อาจจะบอกว่า คนที่ฟังธรรมแต่ความประพฤติในชีวิตประจำวัน ไม่เป็นธรรม ไม่สอดคล้องกับธรรม มีไหม หรือว่าไม่มี มีแน่นอน เพราะฉะนั้น ผู้นั้นถึงว่าจะรู้มากจำได้มาก แต่มีการเห็นประโยชน์ เห็นคุณค่าของพระธรรมว่า เพื่อสิกขา คือ ประพฤติปฏิบัติตาม การศึกษาไม่ใช่ศึกษาเพียงเรื่องราว หรือคำ แต่ศึกษาด้วยการน้อมที่จะเข้าใจ เพื่อจะประพฤติปฏิบัติตาม

    เพราะฉะนั้น บางคนเรียนมาก แต่ไม่เมตตา ก็เห็นได้ว่า เรียน เข้าใจเรื่องราว แต่ขณะนั้นระลึกได้หรือเปล่า ว่าทรงสอนเรื่องสภาพของจิต หรือธรรมฝ่ายดี ซึ่งตรงกันข้ามกับฝ่ายอกุศล เพราะฉะนั้น คนนั้นอาจจะอยากเรียนมากๆ อ่านหนังสือมากๆ ฟังเทปมากๆ แต่ว่าไม่สนใจที่รู้ว่า จรณะ คือความประพฤติในชีวิตประจำวัน ขั้นศีล มีหรือไม่ ถ้ายังสามารถที่จะล่วงศีล โดยที่ไม่เห็นโทษ ไม่เห็นภัย แล้วไม่เห็นประโยชน์ ว่าเรียนทำไม ถ้ายังคงมีความประพฤติที่ไม่เป็นไปในทางฝ่ายกุศล คนนั้นก็จะมีแต่ความจำเรื่องราวของสภาพธรรม แต่ไม่ได้ประโยชน์ หวังอย่างเดียวเพียงว่า ให้สติปัฏฐานเกิด ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่จะให้สติปัฏฐานเกิดโดยที่ว่าเป็นผู้ที่จรณะก็ยังไม่มี

    วิทยากร. ที่ท่านอาจารย์พูดอยู่นี้ มีตัวอย่างใน ธรรมบท ท่านพระโปฐิละ ท่านก็เป็นอาจารย์ถึง ๑๘ คณะ ท่านก็ทรงจำพระไตรปิฎกไว้มากมาย ตอนนั้นท่านยังไม่เข้าใจ จนกระทั่งต้องไปหาสามเณรซึ่งเป็นพระอรหันต์ บอกให้

    ท่านอาจารย์ ถ้าเข้าใจสภาพธรรม โดยละเอียดจริงๆ ก็จะรู้ความจริงว่าจิตหนึ่งขณะ ที่เกิดขึ้นมีเหตุปัจจัยพร้อมที่จะเกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น ไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนเหตุปัจจัยได้

    เพราะฉะนั้น จึงใช้คำว่า สังขตธรรม ปัจจัยปรุงแต่งแล้วเกิด ไม่ว่าจะเป็นกายที่ดี หรือไม่ดี วาจาที่ดี หรือที่ไม่ดี ก็เป็นสังขตเมื่อเกิด เพราะเหตุว่าปรุงแต่งแล้วเกิดขึ้นเป็นอย่างนั้นๆ แต่ถ้าเข้าใจความหมายของอดทน ว่าไม่ใช่เพียงแต่อดทนที่จะไม่พูด หรือว่าไม่ทำ สิ่งซึ่งไม่เป็นประโยชน์ หรือว่าจะทำให้คนอื่นไม่สบายใจ แต่อดทนยิ่งกว่านั้นมาก คือ อดทนที่จะรู้ลักษณะสภาพของจิต สภาพของธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งเลือกไม่ได้ แล้วก็ได้ศึกษามาแล้วว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรม เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรมเท่านั้น แต่จะต้องอดทนที่จะค่อยๆ เข้าใจสภาพธรรม ที่กำลังเกิดขึ้นปรากฏสั้นมาก แล้วดับไป เพราะฉะนั้น จึงไม่มีการเลือก จึงไม่มีการคอย จึงไม่มีการหวัง แล้วความอดทนอันนี้ จะเห็นได้ว่าต้องอดทนนานแสนนาน กว่าที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ นิดเดียวแล้วดับ ยังไม่มีใคร ไปทันเปลี่ยนแปลงว่าจะทำอย่างนี้ จะกำหนดอย่างนั้น จะดูอย่างโน้น จะให้เป็นอย่างนี้อย่างนั้น สภาพธรรมนั้นดับแล้ว ให้เข้าใจตามความเป็นจริงว่าขณะนี้สภาพธรรม มีปัจจัยเกิดขึ้น เป็นสังขตธรรม สิ่งที่เกิด ดับเร็วมาก เพราะฉะนั้น ชั่วขณะที่มีการระลึกลักษณะของสภาพธรรม ความอดทนจะมากกว่าความอดทนอื่นสักแค่ไหน ที่จะอดทนจนกว่าจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เพียงเกิดแล้วก็ดับ อย่างเร็วมาก แต่ก็เป็นความจริง ต้องอดทนเพิ่มขึ้นอีก คือ อดทนทางกาย ทางวาจาก็ยังไม่พอ ก็ต้องทางใจ และที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมด้วย แล้วก็จะเห็นประโยชน์ของความอดทนจริงๆ

    ผู้ฟัง ตอนนี้ก็ทำสารบัญเทปอยู่ แล้วก็เจอประโยคที่ว่าอดทนที่จะระลึกรู้สภาพธรรม ก็ไม่ค่อยเข้าใจว่าทำไมต้องเป็นความอดทน น่าจะใช้คำว่า เป็นความเพียรมากกว่า

    ท่านอาจารย์ ความเพียรกับความอดทน ต่างกันหรือเหมือนกัน ไม่เหมือน อดทนต่อการที่จะไม่แสวงหาสิ่งซึ่งไม่ใช่สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ โดยระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    เพราะว่าใจนี่อยากที่จะรู้แจ้ง อริยสัจธรรม อยากที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม อยากที่จะประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรม พยายามหาวิธีนานาประการ แต่ว่าหนทางเดียว วิธีเดียวก็คือว่า ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏขณะนี้ สภาพธรรมใดกำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ขณะนี้ระลึกแล้ว ยังไม่รู้ชัด

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 102
    25 มี.ค. 2567