ปกิณณกธรรม ตอนที่ 563


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๖๓

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๓


    ผู้ฟัง นี่ก็ตรงกับที่คุณสุรีย์ถาม นามรูปเป็นเหตุ เป็นปัจจัย แห่งการบัญญัติ วิญญาณขันธ์

    ท่านอาจารย์ ขณะที่วิญญาณจิตเกิด

    ผู้ฟัง ถ้าไม่มีเจตสิก

    ท่านอาจารย์ จิตเกิดไม่ได้ ปฏิสนธิ ก็ต้องมีรูปเป็นที่เกิด

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น นามในที่นี้ก็คือเจตสิก หมายถึง

    ผู้ฟัง จิตเกิดเดี่ยวๆ โดยไม่มีเจตสิกเกิดร่วมไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ถ้าเราฟังก็เหมือนกับเราเข้าใจว่า จิตมีนามกับรูปเป็นเหตุ ที่จะบัญญัติจิต คือหมายความว่า มีการปรากฏของจิตที่จะให้รู้ว่าเป็นจิต แต่แม้แต่คำว่า เจตสิก ลองคิดดูขนาดที่ว่าขณะนี้เป็นธาตุรู้ ที่กำลังเห็น แล้วก็เป็นธาตุรู้เสียง ขณะที่เสียงปรากฏเป็นสภาพที่กำลังได้ยิน สามารถที่จะรู้ว่าเสียงนั้น มีลักษณะอย่างไร แล้วพอกล่าวถึงเจตสิก มิยิ่งละเอียดกว่า ที่จะไปรู้ว่าเหตุจริงๆ คือเจตสิก คือนาม ได้แก่อะไรนี่ก็

    แสดงให้เห็นว่า แม้แต่การที่เราจะศึกษาธรรม เห็นพระปัญญาคุณมากน้อยแค่ไหน ว่าต่างกับเพียงที่เราฟัง แล้วก็แค่เข้าใจ แต่ของพระองค์ สามารถที่จะรู้จริงๆ ในลักษณะของเจตสิก ซึ่งเป็นเหตุที่จะให้เกิดจิตในขณะนั้น เพราะฉะนั้น เราก็ฟังชื่อว่าเจตสิกเป็น นามธาตุ เป็นธรรมซึ่งเป็นนามธรรม เกิดพร้อมจิต พรากจากกันไม่ได้เลย นามขันธ์ ๔ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ครบ คือ จิตเจตสิกนั่นเอง จิตก็เป็นวิญญาณขันธ์ แต่เจตสิกก็คือ เวทนาเจตสิกเป็นเวทนาขันธ์ สัญญาเจตสิกเป็นสัญญาขันธ์ เจตสิกอื่นอีก ๕๐ ก็เป็นสังขารขันธ์ นี่คือการเรียน

    แต่สภาพของเจตสิก ที่จะเป็นเหตุให้เกิดจิตในขณะนั้น จะรู้ได้ไหม เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่ฟังเหมือนเข้าใจๆ แต่ว่าจะเข้าใจจริงๆ ก็ต่อเมื่อค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏนามธรรมบ้าง รูปธรรมบ้าง แม้เล็กน้อย แต่วันหนึ่งก็ต้องเพิ่มขึ้น ความเข้าใจก็มากขึ้น

    ผู้ฟัง เข้าใจ ก็หมายความว่า ต้องเข้าใจขณะที่สภาพธรรมกำลังปรากฏ ถ้าเข้าใจตามตำราหรือรู้เรื่องตามตำราก็ยังไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้จะไม่มีใครรู้ เรื่องเหตุให้เกิดจิต เพราะว่าเป็นเจตสิกกับรูป ขณะที่สภาพเห็น กำลังเห็น เวลาที่มีการระลึก ที่จะเข้าใจว่า ขณะนี้ที่เห็นเป็นธาตุรู้ เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่มีรูปร่างเลย แต่ว่าสามารถจะเห็น ขณะที่ได้ยินก็มีสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่มีรูปร่างเลย แต่สามารถได้ยินเสียง นั่นคือ ลักษณะของจิต ส่วนเจตสิกนั้นก็หลังจาก ที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม ก็จะมีลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งไม่ใช่จิต คือ ไม่ใช่สภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธาน ในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ เช่น ความรู้สึกต่างกับจิต ก็ค่อยๆ เข้าใจ ความหมายของเจตสิก ก็คือสภาพธรรมที่เกิดกับจิต แล้วก็เป็นนามธรรม แต่ไม่ใช่จิต

    ถ้ากล่าวถึงรูปหยาบ ได้แก่จักขุปสาทรูป โสตปสาทรูป ฆานปสาทรูป ชิวหาปสาทรูป กายปสาทรูป ในความหมายของผู้รู้ คิดดูสิว่า ขณะนี้ใครรู้ จักขุปสาทรูป แต่เพราะเหตุว่ามี แล้วก็กระทบกับสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ผู้ที่เพียงเข้าใจ โดยที่ไม่ประจักษ์ลักษณะของจักขุปสาทรูป ก็รู้ว่ามีจักขุปสาทรูปแน่นอน เป็นรูปที่มองไม่เห็นอยู่ที่กลางตา แต่ว่าสามารถกระทบกับสิ่งที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ จึงปรากฏได้ นี่คือความหยาบ ซึ่งลองคิดดูก็แล้วกัน ว่าหยาบไหม สำหรับผู้ที่ไม่รู้ไม่เข้าใจ ไม่สามารถที่จะรู้ได้ แต่ผู้ที่รู้จริงๆ ก็ทรงแสดงไว้ว่า เป็นรูปที่หยาบเพราะอะไร เพราะเหตุว่าตลอดวันหนึ่งๆ รูปนี้ก็มีเกิดขึ้น แล้วก็ดับไป ถึงไม่รู้โดยประจักษ์แจ้ง แต่ก็สามารถที่จะเข้าใจได้ว่า รูปนี้ต้องมีแน่นอน เช่นเดียวกับ สี กลิ่น รส โอชา และโผฏฐัพพะ ซึ่งได้แก่ ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม รวมอีก ๗ รูป เป็นรูปหยาบ ๑๒ รูป ไม่ว่าจะเกิดภพไหน ภูมิไหน รูปอื่นไม่ได้ปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ความหลากหลายของรูปที่ปรากฏทางตา ก็มีทั้งที่เลว ที่ประณีต ที่เป็นอิฏฐารมณ์ ที่เป็นอนิฏฐารมณ์ ที่น่าพอใจ ที่ไม่น่าพอใจ

    เสียงก็เช่นเดียวกัน เสียงไม่ว่าจะภพไหนภูมิไหน ก็มีเสียงทั้งที่เสียงที่น่าฟัง แล้วก็เป็นเสียงซึ่งไม่น่าฟังเลย เพราะฉะนั้น ก็มีทั้งที่เลว ที่ประณีต แต่ว่าจะเป็นภพไหน ภูมิไหนก็ตาม โดยประเภทแล้วคือว่าปรากฏให้เข้าใจตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้น จึงหยาบกว่ารูปอื่นซึ่งไม่ได้ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ถึงแม้ว่าลักษณะของรูปจะหลากหลาย ตามภพภูมิ แต่ก็คือ รูป ซึ่งปรากฏเป็นปกติประจำวัน ในภพนั้น ชาตินั้น ซึ่งสามารถที่จะรู้ได้ สามารถที่จะศึกษา สามารถที่จะเข้าใจได้

    การศึกษาธรรมโดยนัยต่างๆ ก็ต้องประกอบกันให้เข้าใจความหมายด้วย แม้ว่าจะทรงแสดงว่า เป็นรูปหยาบ ทั้งสิ่งที่ปรากฏทางตา และจักขุปสาทรูป แต่รู้ตามความเป็นจริงหรือเปล่า

    กว่าจะเข้าใจได้จริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ก็จะต้องมีการอบรมเจริญปัญญา ที่สามารถที่จะทำให้เห็นสภาพธรรมว่าไม่ใช่เรา แต่ว่าต้องเป็นการอบรมจริงๆ ด้วยปัญญาจริงๆ ไม่ใช่ด้วยการไปทำอย่างอื่นแล้วก็คิดว่ารู้แล้ว ละกิเลสแล้วซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย

    ถ้ารู้จะรู้อะไร ในเมื่อสภาพธรรมขณะนี้ เป็นอย่างนี้ ทางตาที่กำลังเห็น ถ้าจะรู้คือปัญญาเกิด ปัญญาก็คือ รู้ความจริงของสภาพธรรม ในขณะเห็น สิ่งที่ปรากฏเป็นรูป ธาตุรู้คือนามธรรม ก็เป็นสิ่งซึ่งจะต้องศึกษาจาก ความเป็นจริงในชีวิตประจำวัน แล้วก็จะเข้าใจธรรมขึ้นได้

    วิทยากร. รูปหยาบ ๒ ประเภท คือ สี กับตา สีพูดตามลักษณะ หยาบกว่าตา รู้ได้ง่ายกว่า ตามันรู้ยาก จักขุปสาทรู้ยาก แต่ว่าทั้ง ๒ ท่านก็จัดเป็น โอฬาริกรูป รูปหยาบ ที่ท่านอาจารย์สอนบ่อยๆ คือสี เพื่อต้องการจะให้ รู้ได้ง่ายๆ สีก็เกิดดับ ตาก็เกิดดับ ที่เป็นอดีตก็ดับไปแล้วในอดีต ที่เป็นปัจจุบันก็กำลังจะดับไปในปัจจุบัน ที่เป็นอนาคตก็ยังไม่มาถึง แล้วรูปไหน ที่ว่าเป็นตาของเรา เรายึดมั่น อุปาทานที่บอกว่า อุปาทาน เรายึดว่าเป็นของเรา แท้จริงมันดับไปตลอดเวลา

    ผู้ฟัง สำหรับเวทนา สัญญา สังขาร ท่านยกผัสสะมาเป็นเหตุ แต่เมื่อมาเป็นวิญญาณขันธ์แล้ว ท่านกล่าวแต่เพียงว่านามคือตัวเจตสิกเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ ใช่ ก็เป็นที่เข้าใจอยู่แล้ว ถ้าศึกษาทั้งหมดว่าแยกจากกันไม่ได้เลย แล้วแต่ว่าจะทรงยกเหตุอะไรขึ้นมากล่าว เช่น เวทนาความรู้สึก เห็นชัดๆ เลย เมื่อมีการกระทบก็มีความรู้สึกในสิ่งที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง หมายความว่า ตัวกระทบ เป็นสิ่งสำคัญสำหรับ เวทนา สังขาร วิญญาณ

    ท่านอาจารย์ ผัสสเจตสิก คุณสุรีย์จำ ขณะนี้จำอะไร ถ้าพูดถึงจำ

    ผู้ฟัง จำตัวที่มากระทบ

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้ว ทุกคนกำลังจำ กขณะ ซึ่งไม่ใช่ทุกคน เจตสิกนี้ทำกิจจำ ทุกขณะจิต เพราะฉะนั้น ขณะนี้ที่กำลังจำ คำที่ได้ยิน เพราะผัสสะกระทบเสียง จำเสียง พอนึกถึงคำก็ผัสสะกระทบคำ หรือความหมาย ก็เป็นเรื่องของสภาพธรรม

    ผู้ฟัง หมายความว่าผัสสะนี้เป็นตัวกระทบ

    ท่านอาจารย์ ไม่อย่างนั้น เวลาศึกษาจะสงสัยหมด ว่าทำไมเป็นอย่างนี้ ทำไมเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่เรื่องทำไม แต่เป็นเรื่องที่จะเข้าใจว่าเราสามารถที่จะรู้ อย่างนั้น เข้าใจอย่างนั้นได้ แล้วก็ทรงแสดงโดยการที่หลากหลาย จะยกอะไรขึ้นมาก็ได้ แค่นี้คุณสุรีย์ก็เข้าใจ จะกล่าวตรงนี้ได้ไหม ว่าเจตสิกเป็นหตุ

    ผู้ฟัง ก็ได้

    ท่านอาจารย์ ก็ได้ แล้วทำไม ต้องทำไม

    ผู้ฟัง ดิฉันว่าทำไม ๓ อันแรกท่านเน้น ผัสสะๆ ๆ แต่เมื่อมาพอถึงวิญญาณแล้ว ท่านใช้รวมเลยว่าเป็น นามซึ่งหมายถึงเจตสิก

    ท่านอาจารย์ หลากหลายโดยนัยของการเทศนา จะเทศนาอย่างไรก็ได้ ให้เราสามารถที่จะเข้าใจได้ อย่างความจำเมื่อกี้นี้ เวลาที่พูดถึงว่าพอนึกอะไรขึ้นมา ก็ทราบว่าจำสิ่งที่นึก จึงเกิดนึกสิ่งนั้นขึ้นมา อันนี้พอจะกล่าวได้ไหม ว่ามีผัสสะ เป็นเหตุที่จะให้เกิด สัญญาความจำในเรื่องนั้น ถ้าไม่มีการกระทบเรื่องนั้นเลย จะจำได้หรือเปล่า จะจำเรื่องนั้นไหม กับสิ่งที่ไม่เคยเห็นเลย แล้วจะไปจำสิ่งที่ไม่เคยเห็นเลยได้ไหม ไม่เคยได้ยินเลย แล้วจะไปจำเสียงที่ไม่เคยได้ยินเลยได้ไหม

    ผู้ฟัง ข้อปฏิบัติที่ละสักกกายทิฏฐิ กับละมานานุสัยก็แบบเดียวกัน ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ตลอดตั้งแต่เป็นพระโสดาบัน ถึงเป็นพระอรหันต์

    ผู้ฟัง แสดงถึงเรื่องการละสักกายทิฏฐิ ผู้ที่มีปัญญาสามารถ ที่จะละได้ ถึงความเป็นพระอรหันต์

    ท่านอาจารย์ ระดับขั้นของปัญญาต่างกัน การรู้สภาพธรรม ไม่ได้ต่างเลย เห็น เป็นเห็นปกติของปุถุชน ของผู้ที่อบรมเจริญปัญญา ของผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรม ของผู้ที่เป็นพระโสดาบัน ผู้ที่เป็นพระสกทาคามี เห็นไม่เปลี่ยน ยังคงเป็นเห็น แต่ว่าปัญญาความรู้ที่จะละกิเลสต่างกัน ต่างขั้น

    สำหรับพระโสดาบันท่านก็สามารถที่จะละการยึดถือสภาพธรรมทั้งหมด ที่เคยไม่รู้ก็สามารถที่จะรู้ เป็นอนัตตาอย่างไรไม่เที่ยงอย่างไร เกิดดับอย่างไร ละกิเลสได้เพียงแค่ทิฏฐิความเห็นผิด วิจิกิจฉาความสงสัย แต่กิเลสอื่นยังมี ท่านก็ยังเห็นปกติ แต่ท่านก็รู้ตามความเป็นจริงว่า ไม่สามารถที่จะละความติดข้อง ในสิ่งที่ปรากฏทางตา รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะได้ เพราะว่าปัญญาของท่านเพียงประจักษ์แจ้งความจริง เป็นอริยสัจธรรมขั้นพระโสดาบันเท่านั้น เพราะฉะนั้น ก็ต้องอบรมเจริญปัญญา จนกว่าจะเห็นว่า เป็นสิ่งซึ่งไม่มีประโยชน์ หรือว่าไม่มีความหมายใหม่เลย หรือว่าสาระเลย จนกว่าจะถึงความเป็นพระอนาคามี จนกว่าจะถึงความเป็นพระอรหันต์

    ผู้ฟัง รูป๑๒ ซึ่งเป็นรูปหยาบ เป็นสิ่งที่สติสามารถจะระลึกได้ แล้วก็มีปสาทรูป ๕ ก็เลยสงสัยว่าเวลาที่สติเกิด ก็จะเป็น มันจะไม่มีชื่อ ก็จะเป็นเพียง แค่นามหรือรูปแค่นั้น คิดว่าปัญญาขนาดปุถุชน สามารถที่จะรู้ถึงปสาทรูป ๕ ขณะที่สติเกิดหรือ

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้เห็น ใช่ไหม

    ผู้ฟัง เห็น

    ท่านอาจารย์ อะไรปรากฏ

    ผู้ฟัง ก็เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ท่านอาจารย์ รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ แล้วหรือยัง ถ้าสิ่งที่ไม่ปรากฏจะไปเพียรรู้ หรือว่าจะทำอย่างไร หรือว่าจะศึกษาลักษณะของสิ่งที่ปรากฏให้ เข้าใจถูกต้อง

    ผู้ฟัง เวลาเห็น ก็เป็นเห็นภายนอก

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องมีภายในภายนอก ขณะนี้กำลังเห็น มีสิ่งที่ปรากฏ ถ้าปัญญาเกิดปัญญาจะรู้อะไร

    ผู้ฟัง ปัญญาก็รู้ว่าเป็นสิ่งที่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ซึ่งไม่ใช่นามธรรม แล้วก็สภาพเห็นก็กำลังเห็นด้วย เพราะฉะนั้น ควรจะรู้อะไร

    ผู้ฟัง ควรจะรู้อะไร อันนี้ไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่ไม่ปรากฏควรรู้ไหม ในเมื่อมีสิ่งที่ปรากฏแล้วไม่รู้ จะไปรู้สิ่งที่ไม่ปรากฏ

    ผู้ฟัง ไม่จำเป็น

    ท่านอาจารย์ ถ้าคนที่ไม่ได้ศึกษาธรรมเลย เขาจะคิดไหมว่าเขาเห็นผิด

    ผู้ฟัง เขาก็ไม่รู้

    ท่านอาจารย์ แม้แต่มีความเห็นผิดก็ยังไม่รู้ เพราะฉะนั้น ไม่ต้องกล่าวโดยนัยต่างๆ เลยทั้งสิ้น สำหรับผู้ที่ไม่ได้ศึกษา บางคนเขาบอกว่าเขามีปัญญาสามารถ ที่จะรู้ด้วยตัวของเขาเอง ว่าอะไรดี อะไรชั่ว อะไรควรทำ ไม่ควรทำ ขณะนั้นถ้าจะบอกว่าเขามีความเห็นผิด เขาก็ไม่เชื่อแน่นอน ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีความเห็นผิด

    เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ว่ามีความเห็นผิดใดๆ บ้าง ต้องเป็นความละเอียดขึ้น ของความรู้ไม่ใช่เพียงแต่ฟัง ก็คงจะไม่ลืม ว่าพระธรรมที่ทรงแสดง โดยพระปัญญาคุณ ๔๕ พรรษาโดยละเอียดมาก

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่เริ่มศึกษาก็จะค่อยๆ พิจารณาอย่างคน ที่คิดว่าตัวเอง ไม่เคยมีความเห็นผิดเลย พอฟังแล้วเรื่องธรรมก็ค่อยๆ รู้ว่าแท้ที่จริง มีความเห็นผิดอะไรบ้าง ตามความเป็นจริงของแต่ละบุคคล ซึ่งหลากหลายมาก แต่สำหรับ ความเห็นผิดว่าเป็นเรา หรือสักกายทิฏฐิ บางทีบางคนก็ไม่ยอมที่จะรับว่าเป็นอย่างนั้น เขาคิดว่าความเห็นผิด เป็นความเห็นผิดเรื่องอื่นต่างหาก

    เพราะฉะนั้น ต้องอาศัยการศึกษาจริงๆ แล้วก็ปัญญาที่เพิ่มขึ้น ก็สามารถที่จะรู้ว่าการ ยึดถือขันธ์ ๕ ละเอียดแค่ไหน ขณะนี้เราเพียงแต่รู้ว่านี่เป็นเรา รูปเป็นเรา แล้วก็เป็นของเรา เอารูปเป็นเรา เจ็บไหม แขนของเรา ตาของเรา รูปของเรา ขณะนี้ปัญญาระดับนี้เท่านั้น แต่ถ้ามีความรู้เพิ่มขึ้นกว่า จะคลายความไม่ใช่เรา สละความเป็นเราออกจากสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เมื่อนั้นความยึดมั่นที่เป็นสักกายทิฏฐิ ก็จะละเอียดสามารถที่จะเข้าใจในอรรถนี้ได้ ฉันใด ก็แสดงเปรียบเทียบให้เห็นว่า การที่เราจะเข้าใจธรรมก็ต้องตั้งแต่ขั้นต้น แล้วค่อยๆ ละเอียดขึ้น

    ผู้ฟัง ขณะที่สติปัฏฐาน เกิดระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง ไม่จำเป็นจะต้องนึก อย่างตำราว่า ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่นึก แต่เยื่อใยความเป็นเราที่จะต้องละ เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็คือว่า รูปเป็นรูป นามเป็นนาม แต่เยื่อใยที่ยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นเรา คือ ความหมายของ อุปาทานขันธ์ ตัวเยื่อใยความยึดถือ ตัวนี้ จะต้องเป็นตัวที่ปัญญารู้แล้วละ

    ผู้ฟัง ถ้าแจ่มแจ้งโดยสภาวะลักษณะ จริงๆ มันจะสงสัยใน ๒๐ นี้ไหม

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นจะรู้ว่า หนทางละนั้นคืออย่างไร

    ผู้ฟัง ไม่ต้องไปจำแนกว่า รูปมี ๔

    ท่านอาจารย์ จะเห็นความเยื่อใยในขันธ์ ๕ ละเอียดขึ้น ที่จะต้องให้หมดสิ้นไปด้วยปัญญา อันนี้ก็คงจะคลุมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม หรือไม่ใช่ปรมัตถธรรม ก็ไม่ใช่ตัวตน แต่ก็แปลอย่างนี้ก็ง่ายที่สุดคือ ทุกอย่างไม่ใช่ตัวตน ไม่มีตัวตน เพราะว่าอริยสัจ หมายความถึง ธรรม ที่ทำให้เป็นพระอริยบุคคล เป็นสัจธรรม ต้นไม้ใบหญ้าไม่มีทางที่จะมีอริยสัจ คือความรู้ แจ้งในสัจที่จะทำให้ต้นไม้ใบหญ้า เป็นพระอริยได้เลยไม่มีทางเลย เพราะว่าไม่ใช่สภาพรู้

    เพราะฉะนั้น การอ่าน กับ ความเข้าใจ ซึ่งเคยเข้าใจมาแล้วก็ต้องประกอบกัน พระสูตรนี้บ่งชี้ หมายความถึงการรู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่ได้หมายความว่า ให้ไปไม่รู้ลักษณะของรูป แต่หมายความว่าไม่ว่าจะเป็นรูปใดๆ ก็ตาม ปัญญาที่รู้ความจริงของรูปนั้น จะทำให้เป็นพระอริยบุคล ก็ต้องเป็นผู้ที่เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ที่จะอบรมเจริญปัญญา ที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ซึ่งต้นไม้ใบหญ้าไม่มีการอบรมเจริญปัญญา ที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม เพราะไม่ใช่สภาพรู้

    ผู้ฟัง จิตตชวาโยธาตุ ธาตุของผู้อื่น หมายถึงว่า

    ท่านอาจารย์ คุณเริงชัย ขณะใดที่จิตเกิด เป็นสภาพรู้ หรือธาตุรู้ ต้อง มีสิ่งที่จิตรู้ ต้องมีอารมณ์ เพราะฉะนั้น เวลาที่จิตกำลังมีอะไรเป็นอารมณ์ไม่ต้องไปคิดถึงว่าภายใน ภายนอกอะไรเลย แม้ว่าความจริงอารมณ์นั้นจะ เป็นอย่างนั้น แต่ว่าปัญญาของผู้ที่จะอบรมให้รู้ความจริง ไม่ใช่ให้รู้ภายในภายนอก แต่ให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม หรือเป็นรูปธรรม

    ผู้ฟัง ถ้าระลึกรู้ที่ผู้อื่น

    ท่านอาจารย์ ยังไม่มีผู้อื่นเลย ปรมัตถธรรม จะไม่มีผู้อื่นเลย เพราะเหตุว่า เพราะจิตเกิดจึงมีธาตุ ที่กำลังรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะฉะนั้น ขณะนั้นถ้าปัญญาไม่เกิด ก็คือ อวิชชาไม่สามารถจะรู้สิ่งที่เป็นอารมณ์ ที่กำลังปรากฏ และไม่สามารถที่จะ รู้สภาพธรรม ที่กำลังรู้อารมณ์นั้นว่าไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นก็คือว่าจะต้องมี ความเข้าใจโดยระลึกรู้ ลักษณะซึ่งไม่ใช่เรา สภาพรู้ขณะนั้นกำลังรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือว่าพิจารณาสิ่งที่ปรากฏ เป็นปัญญาที่รู้ความจริง แม้ว่าจะเป็นภายใน ภายนอกก็จริง แต่ขณะที่กำลังระลึกรู้ไม่ได้มีความคิดว่าเป็นภายในหรือภายนอก การที่เราจะพูดถึงเรื่องรูปภายใน เพราะเป็นเรื่องของวิถีจิต ถ้าเราจะเรียนวิถีจิตโดยที่ไม่เห็นความสำคัญว่า รูปมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างไร เป็นทวาร หรือเป็นวัตถุอย่างไร เราก็จะไม่เข้าใจความหมาย ว่า ภายในคืออย่างไร เราก็เพียงท่องว่า ในรูป ๒๘ รูป รูปภายในมี ๕ รูป รูปที่เหลือเป็นรูปภายนอก นัยนี้หมายความว่าโดยปรมัตถธรรม ไม่ได้กล่าวถึงสัตว์ บุคคลใดๆ ทั้งสิ้น

    แต่พูดโดยภาวะลักษณะ ความสามารถ หรือความพิเศษของรูป เพราะเหตุว่า ทุกคนก็ทราบว่าถ้าไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย เราจะเห็นได้อย่างไร จะรู้ไหมว่าขณะนี้สีสันวัณณะต่างๆ เป็นอย่างนี้ หรือเสียงเป็นอย่างนี้กลิ่นเป็นอย่างนี้ รสเป็นอยางนี้ เย็นร้อนอ่อนแข็งเป็นอย่างนี้

    ทั้งๆ ที่ตัวก็เป็นมหาภูตรูป ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า แต่ว่าถ้าไม่มีกายปสาท เป็นรูปภายใน ที่สามารถจะกระทบกับสิ่งที่ เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว ลักษณะเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว ที่ตัวก็ไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ในขณะนี้เองที่เรากำลังนั่งฟัง มีรูปเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ปรากฏหรือเปล่า ถ้าไม่มีขณะนั้นก็คือว่า จิตเกิดขึ้นโดยอาศัยรูปอื่นเป็นทวาร หรือว่าเป็นทางที่จะรู้ สิ่งที่กำลังปรากฏ

    ในขณะนี้ที่กำลังเห็น ไม่ได้อาศัยกายปสาทรูปเลย กายปสาทรูปมี เป็นกัมมชรูป เป็นรูปที่เกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน เมื่อมีการเกิดขึ้นของรูปที่เป็น กัมมชรูป ก็ต้อง ดับ ขณะนี้กัมมัชรูปก็เกิดดับไปเรื่อยๆ โดยที่ขณะใดที่กายปสาท ไม่ได้กระทบกับโผฏฐัพพะ ขณะนั้นจะไม่รู้แม้แต่ว่าที่ตัวอ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว เป็นแต่เพียงความทรงจำซึ่งไม่เลือน ยังคงเข้าใจว่ามีตัวเราทั้งตัวกำลังนั่งอยู่ ตลอดทั้งๆ ที่เพียงแค่เห็น แค่เห็น ก็ยังเข้าใจว่ามีเราที่กำลังนั่ง ก็เห็น หรือเวลาที่ได้ยินก็เหมือนกัน ทั้งๆ ที่เสียงเท่านั้นปรากฏ ก็ยังทรงจำไม่เลือนว่าขณะนี้มีเรา ที่กำลังนั่งแล้วก็ได้ยินเสียง นี่แสดงให้เห็นถึงอัตตสัญญา ความทรงจำว่าเป็นเรามีมาก จำไว้หมดประกอบกันไว้ ทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

    ด้วยเหตุนี้จึงต้องศึกษาให้เข้าใจการเกิดขึ้นของจิต เพื่อที่จะได้ทราบว่าแท้ที่จริง เวลาที่สภาพธรรมหนึ่ง สภาพธรรมใดปรากฏ สภาพธรรมอื่นทั้งหมด เช่น รูปไม่ปรากฏ แล้วก็เกิดแล้วดับแล้วทั้งหมดเพราะว่าการเกิดดับเร็วมาก นี่ก็เป็นสิ่งที่จะทำให้เราเข้าใจขึ้น ในเรื่องของวิถีจิตว่า เวลาที่ศึกษาวิถีจิตก็ต้องเข้าใจให้ตรงจริงๆ เช่น ขณะที่กำลังเห็นทางตา จะไม่มีอย่างอื่นเลย มีแต่จิตซึ่งเกิดดับสืบต่อ ตามลำดับทีละหนึ่งขณะ แต่ว่าเป็นไปด้วยความรวดเร็วมาก เพราะฉะนั้น เลยไม่เห็นการเกิดดับซึ่งสืบต่อ ก็ทำให้เหมือนกับว่ามีการเห็นอยู่ตลอดเวลา

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 102
    25 มี.ค. 2567