ปกิณณกธรรม ตอนที่ 600


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๖๐๐

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๔


    ท่านอาจารย์ บาตาละ หรือ บาดาล หมายความถึง ไม่ตั้งมั่น ได้แก่ ก็ตัณหานั้นท่านเรียกว่า บาดาล เพราะอรรถว่าไม่ตั้งมั่น ต่อไปนี้ใช้คำภาษาบาลี แล้วก็เข้าใจกันได้สำหรับผู้ที่เข้าใจ ตัณหาของใครตั้งมั่นบ้าง เสื้อตัวนี้สวยดี เก่าแล้วให้คนอื่นไปหรือว่าไม่ใส่แล้วได้ นี่ก็แสดงว่าไม่ได้ตั้งมั่นคงอยู่นานเลย สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งคิดว่าชอบมาก พอใจมาก วันหนึ่งก็เบื่อได้ ฤษีข้ามขึ้นแล้ว คือ ข้ามขึ้นแล้ว ย่อมก้าวล่วง ซึ่งบาดาลนั้น ซึ่งมีรากเดียว เป็นสมุทรหมุนไปได้ ๑๒ ด้าน ก็พอจะจบส่วนนี้ได้ หรือว่ายังมีข้อข้องใจอะไรอีก

    ผู้ฟัง อย่างกรณีตัณหา จะอธิบายในแง่ปฏิจจสมุปบาท ได้โดยที่ทำให้เกิดอุปาทาน อุปาทานก็มีทั้งกามุปาทาน สีลัพพตุปาทาน มีทั้งทิฏฐุปาทาน แล้ว อัตตวาทุปาทาน ก็จะลงในกรณีคล้ายๆ กัน คือเป็น เครื่องรากของตัณหา ด้วยใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ใช่ คือตัณหามีอยู่ในที่ใด ที่นั้นก็เป็นเครื่องราก

    ผู้ฟัง ฤาษีที่ ก้าวพ้นแล้วก็คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็พระสาวกซึ่งเป็นพระอรหันต์ หรือ จะข้ามไปได้ก็คงจะ ข้ามไปด้วยปัญญา ซึ่งเป็นการตรัสรู้อริยสัจ ๔ พระพุทธเจ้าท่านคงมี ปฏิเวธญาณ มีการตรัสรู้เอง อยากพวกเราถ้าจะมีก็คงจะเพียงการรู้ สัจจญาณ เป็นการรู้ตาม ทีนี้สัจจญาณซึ่งจะทำให้เราละ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค หรือแม้แต่สักกายทิฏฐิ สัสสตทิฏฐิ หรือ อุทเฉททิฏฐิ เราจะละได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ เราละ ไม่ได้

    ผู้ฟัง เพราะว่าเรามีขันธ์ ๕

    ท่านอาจารย์ ใช่ ต้องอะไร

    ผู้ฟัง ปัญญา

    ท่านอาจารย์ ปัญญา

    ผู้ฟัง ที่นี้อย่างสัจจญาณนี่ ขอกราบเรียนท่านอาจารย์อธิบายว่า สัจจญาณเราสามารถที่จะ ละสักกายทิฏฐิ อุจเฉททิฏฐิ หรือ สัสสตทิฏฐิ ได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ สัจจญาณอย่างเดียว ละ ไม่ได้ ต้อง กิจจญาณ กับ กตญาณด้วย ๑๒ รอบ

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กรุณา อธิบายละเอียดนิดหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ สัจจญาณคือปัญญาที่รู้สัจธรรม ขณะนี้สภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ จริงไม่ได้หลอกลวง ไม่ได้เป็นมายาเลย สิ่งที่มีจริงก็คือปรากฏ ขณะใดก็จริงในขณะนั้น แต่ถ้าไม่รู้ว่าขณะนั้น ไม่ใช่เรา ก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า การศึกษาธรรม อบรมไปเพื่ออะไร ใช่ไหม เราจะฟังธรรมเพื่ออะไร ถ้าไม่รู้จริงๆ ว่าขณะนี้สิ่งที่กำลังปรากฏ ทางตามี แล้วก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นเพียงธาตุ หรือสภาพธรรมที่ปรากฏเมื่อกระทบกับจักขุปสาท เมื่อมีตา จักขุปสาท สิ่งนี้จึงปรากฏได้ คนตาบอด สภาพธรรมซึ่งเป็นสีสันวัณณะต่างๆ สว่างมืดพวกนี้ ไม่สามารถจะปรากฏได้เลย เพราะเหตุว่าต้องเป็นธาตุ หรือสภาพธรรม ที่ต้องกระทบกับจักขุปสาท จึงปรากฏ นี่ก็เป็นส่วนหนึ่ง ที่จะแสดงให้เห็นว่า ธรรมเป็นอนัตตา เป็นสิ่งที่มีจริงแต่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ตา ก็ไม่ใช่ของเรา มีกรรมเป็นปัจจัยทำให้เกิดขึ้น สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ไม่ใช่ของใคร เป็นธาตุที่สามารถกระทบกับจักขุปสาท ถ้าจะมีแหวนเพชร ไม่กระทบตา เห็นไหม ไม่เห็น เมื่อตาก็เกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย ไม่มีใครเป็นเจ้าของ สีสันวัณณะก็เป็นธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งจะปรากฏต่อเมื่อกระทบกับจักขุปสาท

    เพราะฉะนั้น สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นของใคร ก็ไม่มีใครเป็นเจ้าของเลย แม้แต่จักขุวิญญาณ คือ จิตเห็น เกิดขึ้นเพราะการกระทบกันของสิ่งที่ปรากฏกับจักขุปสาท เห็น แล้วก็ดับ มีจิตที่คิดนึกต่อมีจิตได้ยิน มีจิตต่างๆ เกิดสืบต่อ ตามลำดับ ตามความเป็นปัจจัยของจิตนั้นๆ

    เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า ถ้ามีการศึกษาเข้าใจจริงๆ ว่าสภาพธรรม เป็นอย่างนี้ เป็นสัจจญาณ ที่ปัญญาจะต้องอบรม จนสามารถที่จะประจักษ์แจ้งได้ ไม่ใช่เพียงแค่ฟัง เข้าใจ แล้วก็ไม่ได้อบรมเจริญปัญญา ถึงระดับที่จะเข้าใจ ตามที่ได้ศึกษา หรือตามที่ได้ฟังมา

    เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรม ก็จะต้องทราบว่าปัญญาที่เข้าใจก็จะทำหน้าที่ของปัญญา ไม่ใช่เป็นเราที่จะไปขวนขวาย ที่จะไปประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม เพราะเหตุว่าเราเป็นความเห็นผิด ไม่ใช่ความเห็นถูก แล้วไม่รู้ด้วยว่าลักษณะของปัญญา เจตสิกเป็นสภาพซึ่ง สามารถเข้าใจถูกเห็นถูก ตามความเป็นจริงของสภาพธรรม แม้ในขั้นการฟัง ก็เป็นการไตร่ตรองที่จะพิจารณาให้เข้าใจว่า สิ่งที่ได้ยินได้ฟังในขณะนี้เป็นจริงไหม เช่น สิ่งที่กำลังปรากฏ ทางตา เคยยึดถือว่าเป็นคน เป็นสัตว์ แต่สีสันวัณณะเท่านั้นที่กำลังปรากฏ จะเป็นอะไร จะเป็นแข็ง จะเป็นอะไรก็แล้วแต่ จะเป็นแกงทั้งหม้อ จะเป็นกลิ่น จะเป็นอะไรก็ตามแต่ แต่สิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่กลิ่น ไม่ใช่เสียง ไม่ใช่รส แต่ว่าเป็นสิ่งที่สามารถกระทบกับจักขุปสาทเท่านั้น

    เพราะฉะนั้น สภาพธรรม แต่ละอย่าง เป็น สิ่งที่มีจริง มีปัจจัยเกิดแล้วก็ดับ สัจจญาณ คือ รู้ว่าปัญญาอบรมรู้แจ้งสภาพธรรม ในขณะนี้ตามความเป็นจริงได้ เพราะฉะนั้น ก็จะไม่เป็นผู้ที่ไปทำอะไรขึ้นมา ด้วยความเข้าใจผิด เพราะความไม่มั่นคง ที่จะรู้ว่าการอบรมเจริญปัญญา จริงๆ คือ ขณะนี้มีสภาพธรรมปรากฏ ฟังเรื่องสภาพธรรม ที่ปรากฏให้เข้าใจก่อน เมื่อเข้าใจแล้วก็ไม่มีเราที่จะไปทำอะไรอีก เพราะบางคนบอกว่า พอเข้าใจแล้วจะได้ไปปฏิบัติ ก็ไม่ถูกต้อง เพราะเหตุว่าเป็นเราอีกแล้ว ที่จะปฏิบัติ ไม่ได้รู้เลยว่าเป็นปัญญาที่เข้าใจ เมื่อเข้าใจขึ้นๆ จนสามารถที่จะเข้าใจความต่างของสติขั้นทาน ขั้นศีล ขั้นสมถะ ขั้นอบรมวิปัสสนา ก็จะเห็นได้ว่า ความหมายของสติกับสติสัมปชัญญะต่างกัน เพราะฉะนั้น ใครก็ตาม ซึ่งไม่เข้าใจลักษณะของสติสัมปชัญญะ ก็จะเอาสมาธิ มาเป็นสติ แล้วก็เรียกว่าสติ แต่ความจริงขณะใดที่ไม่ได้ประกอบด้วยปัญญา แล้วก็มีความจงใจ ตั้งใจ ที่จะดู ที่พยายามจะรู้ ที่พยายามจะจดจ้อง ที่พยายามจะปฏิบัติ ขณะนั้นก็ไม่ใช่หนทางที่จะอบรมเจริญปัญญา เพราะว่าขณะนั้นเป็นตัวตน ที่กำลังทำ แต่ไม่ใช่เป็นการฟังจนกระทั่งเข้าใจ ความเข้าใจวันนี้ ก็คงจะต้องต่างจากความเข้าใจวันก่อนๆ ถอยไปจนกระทั่งถึงกี่ปี ที่ได้ฟังมา

    เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่าถ้าฟังต่อไป ความเข้าใจข้างหน้าต่อไปก็จะต้องต่างกับความเข้าใจวันนี้ ก็เป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญา ที่จะต้องเข้าใจความลึกซึ้ง ของมรรคมีองค์ ๘ ที่เป็นหนทางที่จะนำไปสู่ การรู้แจ้งอริยสัจธรรม แต่ถ้าไม่สนใจเรื่องมรรคมีองค์ ๘ ไม่ศึกษาให้เข้าใจ แล้วก็คิดว่าจะปฏิบัติ ขณะนั้นก็ไม่ใช่ปัญญา เพราะเหตุว่าไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าหนทางใดเป็นหนทางจริงๆ เพราะว่าหนทางนั้นต้องเป็นทางที่ ไม่ถูกโลภะครอบงำ ซึ่งความจริงเราที่ถูกโลภะครอบงำมาแล้ว ไม่สามารถจะรู้สึกตัวเลยว่า เราถูกหุ้มห่อด้วยอวิชชา แล้วก็ฉาบทาไว้ด้วยโลภะ เพราะฉะนั้น ก็แน่นหนา ต่อการที่จะไปรู้ความจริง เพราะว่าถูกหุ้มห่อไว้ด้วยความไม่รู้ แล้วยังฉาบทาไว้ด้วยความติดข้อง ต้องการ

    แม้แต่ผลของการที่ศึกษาธรรม บางคนก็อาจจะคิดไกล ว่าแล้วทำไม ไม่เห็นหมดโทสะ หรือว่าทำไมยังโกรธอยู่ ทำไมยังเป็นอย่างนั้น ทำไมยังเป็นอย่างนี้ นั่นคือไม่เข้าใจเลย สภาพธรรม เป็นธรรมมีปัจจัยก็เกิด เพราะฉะนั้น ไม่มีใครไปทำอะไรธรรมได้เลย นอกจากปัญญาที่จะค่อยๆ เข้าใจถูกต้อง ว่าไม่ใช่เรา ไม่ว่าจะเป็นธรรมประเภทใดทั้งสิ้น ก็คือเป็นสภาพธรรม แต่ละอย่าง นี่ก็คือสัจจญาณ ที่จะต้องเข้าใจหนทางคือการอบรมเจริญมรรคก่อน

    ผู้ฟัง สรุปแล้วสัจจญาณที่อาจารย์พูด ก็คือเป็นอริยสัจ ๔ เช่น ทุกขสัจ ก็ให้เรารู้ว่าสิ่งที่เป็นก็คือมีเพียงขันธ์ ๕ ที่เป็นนามรูป ทำให้เราละสักกายทิฏฐิได้ แล้วก็สมุทัยสัจ คือการที่ทำให้เรารู้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง ที่ท่านอาจารย์บอก คือมีเหตุมีปัจจัยจึงจะเกิด เพราะฉะนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ นั่นก็จะสามารถละ อุจเฉททิฏฐิได้ หรือแม้แต่นิโรธสัจ ซึ่งทำให้เรารู้ว่าสิ่งที่จะเที่ยงก็ไม่มี เพราะว่าเมื่อเหตุดับ สิ่งนั้นก็ต้องดับ อันนั้นก็สามารถที่จะละ อุจเฉททิฏฐิ สัสสตทิฏฐิได้ ที่นี้ ที่เรารู้คร่าวๆ รู้โดยปริยัติ จะเรียกว่าเป็นสัจจญาณได้ไหม

    ท่านอาจารย์ พอไหมที่รู้ชื่อต่างๆ เพราะฟังดูรู้มาก

    ผู้ฟัง แต่ว่าก็คงไม่ใช่ญาณ ไม่ใช่ปัญญา ก็เพียงแค่คิดตาม เท่านั้นเอง ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ใช่ ก็เป็นเรื่องชื่อที่เราจำได้ แต่ขณะนี้ แม้แต่จะรู้ว่าทางตาที่เห็น เป็นธรรม มีการระลึกบ้างหรือเปล่า คือ ระลึกให้สอดคล้องกับสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง เวลาได้ยินได้ฟังว่าทุกอย่างเป็นธรรม ไม่เว้นเลย ขณะที่เห็นเดียวนี้ ไม่ต้องไปคิดเรื่องอื่นเลยทั้งสิ้น แต่มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา นี่เป็นธรรมชนิดหนึ่ง แค่นี้คือฟังให้เข้าใจจริงๆ ว่า เป็นธรรมชนิดหนึ่ง เพื่อที่จะเป็นสัจจญาณ เพื่อที่จะจรดกระดูก ว่าเป็นความเข้าใจจริงๆ ว่านี่เป็นธรรม เพราะฉะนั้น ธรรมที่ปรากฏทางตา จะเป็นอื่นไม่ได้ นอกจากเป็นเพียงสภาพธรรม ชนิดหนึ่ง ซึ่งปรากฏเมื่อกระทบกับจักษุปสาท เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ ไม่ได้ระลึกอย่างนี้ เพราะว่าสติไม่ได้ระลึกทางตา ที่จะเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏให้ถูกต้อง แต่เมื่อฟังบ่อยๆ ก็จะมีปัจจัย ที่จะทำให้แม้ขณะนี้ก็ เห็นแล้วก็เข้าใจ ในสิ่งที่กำลังปรากฏ ว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง คือการศึกษากับการอบรมเจริญปัญญา ต้องตรง ไม่ต่างกันเลย จะทำให้สามารถที่จะเข้าใจว่า สิ่งที่กำลังศึกษ ากำลังเรียน ศึกษาอะไร เรื่องอะไร จริงอย่างไร แล้วจะค่อยๆ เข้าใจถูกได้อย่างไร แต่ไม่ใช่มีความเพียร ซึ่งพอได้ฟัง แล้วก็อยากจะรู้ ว่าสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเป็นรูปธรรม นามธาตุก็กำลังเป็นธาตุซึ่งกำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา นั้นเป็นเรื่องอยาก แต่ให้เข้าใจลักษณะของสติสัมปชัญญะ ซึ่งมีปัจจัยจึงเกิดระลึก ขณะนี้ที่กำลังเห็น คือค่อยๆ เข้าใจ แม้ว่าจะน้อยมากเหมือนจับด้ามมีด แต่เป็นหนทางถูก เพราะว่าไม่เคยระลึกมาก่อน ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาก็คืออย่างนี้ ธรรมดาอย่างนี้ ปรากฏอย่างนี้ แล้วเมื่อระลึกบ่อยๆ เข้า ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็สามารถจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งหลากหลาย ต่างกันไป เพราะเหตุว่าเป็นสภาพธรรม แต่ละอย่าง ซึ่งเกิดปรากฏแล้วก็หมดไป

    ผู้ฟัง ผู้ที่ศึกษาธรรมกับท่านอาจารย์ ก็จะต้องได้ยินอยู่เสมอว่า คำว่า อะไรปรากฏระลึก ตรงนี้ท่านอาจารย์กล่าวสั้น แล้วก็คิดว่าตรงมาก แต่ว่าอะไร ท่านอาจารย์ ถ้ายังไม่รู้ว่า อะไร คือ อะไร ก็เข้าใจอะไรไม่ได้เลย พอศึกษาแล้วก็ทราบว่าอะไร ก็คือสภาพธรรมที่ปรากฏ สี เสียง กลิ่น รส ทีนี้มัน ตรงที่ว่า ปรากฏแล้วระลึก ถ้ามันไม่ปรากฏก็รู้ตรงนั้นไม่ได้ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ใช่ สิ่งที่มีกำลังปรากฏ แล้วไม่รู้

    ผู้ฟัง พอท่านอาจารย์ กล่าวอย่างนี้ ท่านอาจารย์ก็เคยบอกว่า ที่จะปรากฏก็มีรูปกับ นาม คำว่า รูปกับนาม พอได้ยินว่า รูปกับนาม ดิฉันก็ไปพิจารณาว่า แล้วมันรูปหรือนาม ซึ่งมันก็ต้องผิด เพราะมันปรากฏได้อย่างเดียว

    ท่านอาจารย์ พอปรากฏแล้วก็ คิดเรื่องสิ่งที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง ต้องศึกษา ตรงนั้นเลย

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่รู้ลักษณะนั้น แต่ว่า แทนที่จะระลึกลักษณะที่เป็นนามธรรม หรือรูปธรรม ก็คิดเรื่องนามธรรม หรือ รูปธรรม

    ผู้ฟัง ใช่ ตรงนี้ก็ผิด เพราะว่า มันตรงนั้นปรากฏ จะต้องมีอย่างหนึ่ง อย่างใด เพราะว่าถ้ารูปปรากฏ ก็ต้องศึกษาลักษณะของรูปตรงนั้น

    ท่านอาจารย์ เวลานี้ สีสันวัณณะ ก็ปรากฏาทางตา แล้วเรากำลังพูดเรื่องอะไร แล้วจิตของเราคิดเรื่องอะไร

    ผู้ฟัง ดิฉันสับสน มาตรงที่ว่า ที่อาจารย์กล่าวว่า ตรงที่ปรากฏมันก็มีรูปกับนาม แล้วก็เลยไปคิดว่า แล้วนี่มันรูปหรือนาม ซึ่งจริงๆ แล้วมันก็ต้องปรากฏอย่างหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ มีสภาพธรรมปรากฏ แต่ไม่ได้ระลึกลักษณะที่เป็นนาม ลักษณะที่เป็นนามไม่ใช่ชื่อนาม ลักษณะที่เป็นรูปแต่ละรูป ไม่ใช่ชื่อรูป แต่ว่าทั้งๆ ที่ ขณะนี้เรากำลังสนทนาธรรม เรื่อง เอกมูลสูตร แล้วก็มีเห็น แล้วเราคิดเรื่องอะไร เราระลึกลักษณะของสภาพที่เห็น นามธาตุที่สามารถเห็น กับสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือว่าเราพูดเรื่องอะไร คิดเรื่องอะไร แทนที่สติจะระลึกลักษณะของสภาพที่มีจริงๆ ที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง ตรงนี้ ที่ดิฉันเข้าใจผิด ก็คือไปนึกถึงคำ ว่ามันเป็นรูปหรือนาม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็เป็นปัญญาที่ไม่ติดขัดในสภาพธรรม ที่มีจริงที่กำลังปรากฏ นี่คือพระปัญญาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ ซึ่งต้องมีความเห็นถูก เข้าใจถูก ในอริยสัจ ๔ คือสภาพธรรม ในขณะนี้ ที่มีปัจจัยเกิดแล้วก็ดับ แล้วก็สามารถที่จะละความติดข้อง ซึ่งเป็นนายช่างเรือน ซึ่งหนทางนี้เป็นหนทางที่จะละ โลภะ หรือความติดข้องได้

    ความติดข้องเป็นสิ่งที่มีจริง ละไม่ได้แน่นอน ถ้าไม่มีปัญญา มีใครคิดว่าจะละความติดข้องได้ ลองยกตัวอย่างสักคนสิ ที่คิดว่าจะละความติดข้องได้โดยที่ไม่มีปัญญาไม่รู้อะไรเลย แล้วคิดว่าละได้ แม้แต่ที่คิดก็เป็นโลภะ ขณะที่กำลังคิด ที่เข้าใจว่าละก็คือ โลภะ เพราะฉะนั้น ก็เป็นสิ่งที่มองไม่เห็นว่าขณะนั้นมีสภาพของธรรม ซึ่งจะต้องละด้วยโลกุตตระมรรค

    เรื่องของกิเลสมีหลายระดับ เพราะฉะนั้น เรื่องของการที่จะศึกษาธรรม ที่มีอยู่ในขณะนี้ จึงต้องเป็นการศึกษาที่จะสอดคล้องกับข้อ ๔ ที่ว่าจำเป็นไหมที่จะต้องศึกษาพระอภิธรรม ใช่ไหม คำถามอันนี้ ถ้าคนนั้นไม่รู้ว่า อภิธรรม คืออะไร ก็จะมีความเห็นต่างกัน บางคนก็บอกว่าไม่จำเป็น ไม่ต้องเรียนก็ได้ ไปนั่งปฏิบัติ ก็จะสามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ คนที่กล่าวอย่างนี้ ไม่เข้าใจธรรม แล้วไม่รู้ว่าธรรม คืออะไร แต่คิดว่ากำลังปฏิบัติธรรม และคิดว่ารู้ธรรม แต่ทุกคนที่มีปัญญา รู้ว่าขณะนี้ สิ่งใดที่มีจริงทั้งหมด เป็นธรรม ใช้คำว่า ธรรม เพราะมาจากคำว่าธาตุ หรือ ธา-ตุ ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เวลาที่พูดถึงสิ่งหนึ่ง สิ่งใดซึ่งเป็นธาตุ เช่น ลักษณะที่ร้อน มีใครเป็นเจ้าของความร้อน ลักษณะที่ร้อนบ้างไหม ของใคร ใครทำให้เกิดขึ้น ไม่มีเลย สภาพนั้นมีลักษณะอย่างนั้น

    ลักษณะที่แข็ง มีใครทำให้เกิดขึ้นได้ มีใครเป็นเจ้าของสิ่งที่แข็งบ้าง

    หรือแม้แต่เสียง มีจริงๆ มีปัจจัยก็เกิดแล้วก็ดับไป มีใครทำให้เสียงเกิดขึ้นได้ มีใครทำได้ไหม แม้แต่เสียงเป็นสภาพธรรม อย่างหนึ่ง ก็ต้องมีเหตุปัจจัย แล้วเสียงจึงได้เกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริง เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนแปลง ลักษณะของสภาพธรรมนั้นได้เลย ธรรมนั้นจึงเป็นปรมัตถธรรม ถ้าสนใจในศัพท์ ต่อไปก็จะมีผู้อธิบาย ให้ทราบว่าหมายความว่าอะไร ปรมัตถธรรม ซึ่งมีลักษณะเฉพาะอย่างๆ ซึ่งไม่มีใครสามารถจะเปลี่ยนแปลงได้ เป็นอภิธรรม

    เพราะฉะนั้น ความหมายเดียวกัน ถ้ารู้จักธรรม แล้วจะไม่รู้ว่าเป็นปรมัตถธรรม ได้ไหม ถ้ารู้จักธรรมเข้าใจว่าเป็นปรมัตถธรรม แล้วจะไม่ใช่ อภิธรรมได้ไหม เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย ถ้าเข้าใจธรรมแล้ว ต้องไปหาธรรม ที่ทางเหนือ ทางใต้ ตะวันออก ตะวันตกไหม ในบ้านมีธรรมหรือเปล่า นอกบ้านมีไหม เดี๋ยวนี้มีไหม นี่คือผู้ที่เข้าใจธรรม เพราะฉะนั้น ก็ตอบคำถามข้อที่ ๔ เพราะเหตุว่าข้อที่ ๑ และข้อที่ ๔ ก็เกี่ยวข้องกัน คือข้อที่ ๑ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ ความจริงซึ่งเป็น อริยสัจธรรม ของธรรมทั้งหมด ซึ่งมี ๔ อย่าง คือจิต ๑ เจตสิก ๑ รูป ๑ นิพพาน ๑ แต่ว่าลักษณะที่ต่างกันก็คือสภาพหนึ่งเป็นสภาพที่มีจริง แต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น ลักษณะนั้น เป็นรูปธรรม

    กลิ่น มีลักษณะปรากฏ เมื่อกระทบจมูก แต่ถ้าไม่กระทบจมูก จะไม่ปรากฏเลย เพราะฉะนั้น กลิ่นก็เป็นธรรมชนิดหนึ่ง ในอดีตกาลนานแสนนานมาแล้ว แสนโกฏิกัปป์ ใครเปลี่ยนลักษณะของกลิ่นให้เป็นอย่างอื่นได้ไหม ไม่ได้ จะปรากฏเมื่อกระทบจมูก

    เพราะฉะนั้น รูปธรรมทุกชนิด ไม่ว่าใกล้ ไกล หยาบ ละเอียด เลว ประณีต ภายใน ภายนอก ก็เป็นรูปธรรม ถ้าจำแนกโดยขันธ์ ก็เป็นรูปขันธ์ เพราะว่าธรรมทรงแสดงโดยหลายนัย เพราะว่าถ้าแสดงเพียงสั้นๆ ว่าทุกอย่างเป็นธรรม ก็ไม่เห็นละคลายอะไร แค่รู้ว่าเป็นธรรมแต่ว่ายังไม่ได้รู้มากกว่านั้นอีก ใช่ไหม

    แต่ถ้ารู้ว่าธรรมมี ๒ อย่างตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะในโลกนี้นอกโลกนี้ หรือโลกไหนก็ตาม ก็จะมีธรรม ๒ ประเภท ที่ต่างกันคือ ธรรมประเภท ๑ ไม่ใช่สภาพรู้ ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย เป็นฝ่ายรูปธรรมทั้งหมด ส่วนธรรมอีกประเภท ๑ เป็นสภาพรู้ หรือธาตุรู้ เมื่อใช้คำว่า ธรรม หรือธาตุ ความหมายเหมือนกัน

    เพราะฉะนั้น ถ้าคิดถึงรูปธาตุ ทุกคนก็ศึกษาได้ ใช่ไหม จะโดยวิชาการอย่างใดก็ได้ ให้รู้ว่าเป็นรูป แข็ง เย็น ร้อน มหาภูตรูป หรืออะไรก็ เป็นธาตุ แต่มีธาตุอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งต่างกับรูปเพราะเหตุว่าเป็นธาตุ ซึ่งสามารถรู้ ในเมื่อรูปธาตุไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย แต่ธาตุชนิดนี้เป็นธาตุรู้ มีจริงๆ ใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ให้ธาตุรู้ไม่เกิด ไม่ได้ เพราะเหตุว่า เมื่อเป็นสิ่งที่มีจริง มีปัจจัยปรุงแต่งธาตุรู้ก็เกิดขึ้น ไม่ใช่ว่ามีอยู่ก่อน แต่เมื่อมีปัจจัยปรุงแต่ง ธาตุรู้แต่ละชนิดก็เกิดขึ้นรู้ต่างๆ กัน

    เพราะฉะนั้น ธาตุรู้ซึ่งเป็นนามธาตุ มี ๒ ลักษณะที่ต่างกันอีก แต่ต้องอาศัยกันเกิดขึ้น ธาตุรู้ชนิดหนึ่ง เป็นใหญ่เป็นประธาน ในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ ที่กำลังปรากฏ อารมณ์หมายความสิ่งที่ถูกธาตุรู้ รู้ เพราะเหตุว่านามธาตุซึ่งเกิด ซึ่งเป็นจิต และเจตสิกเป็นสภาพรู้ ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ และสิ่งที่ถูกรู้ในภาษาบาลี ใช้คำว่า อารัมมณะ หรืออาลัมพนะ อารัมมณะ หมายความว่าเป็นที่มายินดีของจิต จิตไม่ต้องการอะไรเลย เกิดขึ้นรู้อารมณ์เท่านั้น ไม่สนใจไม่จำ ไม่อะไรทั้งหมด แต่ว่าเป็นสภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธาน ในการรู้แจ้งอารมณ์ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าอารมณ์นั้นจะน่าพอใจหรือไม่น่าพอใจ แต่ก็เป็นที่มายินดีที่จิต จะต้องรู้สิ่งนั้นที่ปรากฏ เช่น ทางตา เมื่อมีสิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนี้ กระทบกับจักขุปสาท จิตเกิดขึ้นเห็น ที่ขณะนี้ มีเห็น ก็คือเป็นสภาพธรรม ชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นแล้วรู้ว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเป็นอย่างนี้ ไม่เป็นอย่างอื่น เพราะจิตเป็นใหญ่เป็นประธาน ในการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ถ้าเป็นเสียง เสียงมีมากมาย หลายเสียง ไม่ว่าจะเป็นเสียงอะไรก็ตาม จิต เป็นสภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธาน ในการรู้แจ้งเสียงนั้นๆ ที่กำลังปรากฏให้รู้ นี่คือลักษณะของจิต ซึ่งเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งในขณะใดที่จิตเกิด ต้องมีนามธรรมอีกชนิดหนึ่งเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น นามธรรมนั้นจึงชื่อว่า เจตสิก เพราะว่าเกิดกับจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต ดับพร้อมจิต ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิต เจตสิก ต้องเกิดที่รูป จะเกิดนอกรูปไม่ได้ นี่ก็คือการเรียนเรื่องสภาพธรรม ซึ่งมีจริงๆ เป็นอย่างนี้จริงๆ จากการตรัสรู้ เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้า ทุกพระองค์ต้องรู้สัจธรรมเหมือนกันหมด ไม่ใช่รู้อย่างอื่น

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 102
    25 มี.ค. 2567