ปกิณณกธรรม ตอนที่ 429


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๔๒๙

    สนทนาธรรม ระหว่างเดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถาน ประเทศอินเดีย

    พ.ศ. ๒๕๔๒


    ท่านอาจารย์ คนที่มีปัญญาจึงรู้ว่าขณะนั้นไม่ใช่ตัวเราทำ ไม่ใช่เราพยายามทำ ไม่ใช่เราจะดู ไม่ใช่เราอยากจะเห็นการเกิดดับ เพราะเหตุว่ามีความมั่นคงในการที่รู้ว่าสภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้น เมื่อเห็นว่าเป็นอนัตตาแล้ว ก็รู้ว่าสติจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อมีสัญญาความจำ ความเข้าใจอย่างมั่นคง ในสภาพธรรม เพราะฉะนั้น ไม่มีการที่จะไปรอ ไปคอย ไปหวัง แต่เวลาใดที่สัมมาสติเกิด ระลึก ขณะนั้น เขารู้ ว่าไม่ใช่เขาจงใจ ไม่ใช่เขาตั้งใจ ไม่ใช่ตัวเขาที่จะดู หรือจะทำ แต่เมื่อสติเกิด สติระลึกที่ลักษณะของปรมัตถธรรม สภาพธรรมซึ่งขณะนั้นจะต้องพร้อม ด้วยองค์ของมรรคมีองค์อื่น เช่น สัมมาสังกัปปะก็เป็นวิตกเจตสิก ขณะนั้นจรดในลักษณะของอารมณ์ ถ้าสัมมาสังกัปปะไม่จรด ปัญญาก็ไม่สามารถที่จะเห็นในลักษณะนั้นได้ชัดเจน ว่าลักษณะนั้นเป็นนามธรรม หรือเป็นรูปธรรม เพราะว่าขณะนี้ จะมีรูปธรรมทางตาอย่างเดียวปรากฏ โดยไม่มีนามธรรมที่เห็นไม่ได้ แล้วเห็นนั้นก็ไม่ใช่เราเห็น แต่เป็นนามธรรม

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีปัญญา เมื่อรู้ลักษณะของสัมมาสติ ก็รู้ว่าขณะนั้นเป็น ขณะที่ปัญญาจะอบรม ถ้าสติไม่ระลึก ก็เพียงขั้นฟังไปเรื่อยๆ แต่ว่า ไม่มีการรู้ลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรม ต่อเมื่อใดที่สติระลึก สัมมาสังกัปปะ เขาก็ทำหน้าที่ของเขา วิริยเจตสิกก็ทำหน้าที่ของเขา ไม่มีเราจะไปเพียรอีก แต่มีการรู้ลักษณะของสภาพธรรม โดยค่อยๆ เข้าใจ เป็นการกระทำกิจของมรรคมีองค์ ๘ เมื่อระลึกแล้วก็ค่อยๆ ศึกษา สิกขา คือ ค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ที่สติระลึกว่า ลักษณะนั้นเป็นนามธรรม หรือเป็นรูปธรรม ถ้าเป็นอย่างนี้เป็นปกติ เบาสบาย สัมมาสติไม่เกิด เมื่อไม่เกิดก็ไม่เกิด แต่ถ้าใครก็ตาม ที่สัมมาสติไม่เกิด แล้วอยากให้เกิด เครื่องกั้นมาทันที

    เพราะฉะนั้น ผู้นั้นจะเห็นโลภะ ตั้งแต่เริ่มทีเดียว แม้ว่าสติไม่เกิดในขั้นธรรมดา ตั้งแต่ต้น ผู้นั้นก็เห็นว่า ถ้าอยากให้สติเกิดก็เป็นโลภะ แต่ถ้าจะอยากหรือไม่อยาก มีปัจจัยของสติจะเกิด สติก็เกิด เพราะฉะนั้น สติเกิด ก็คือขณะที่จะค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมศึกษาโดยสภาพของมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งปกติมีองค์ ๕ เขาก็ทำกิจการงานของเขา ถึงแม้ว่าจะช้า จะยาก จะนาน แต่เขารู้ว่านั่นคือหนทางที่จะละโลภะ ต้องรู้หนทางที่จะละ โลภะ ไม่อย่างนั้นโลภะ จะเข้ามาขัดขวางทุกระยะ ให้เลือกอารมณ์นั้น ให้เลือกอารมณ์นี้ ตรงนี้ไม่ได้ ตรงนั้นไม่ได้ ทำอย่างนั้นแล้วจะเร็วขึ้น ทำอย่างนี้แล้วจะดี ซึ่งนั่นไม่ใช่มรรคมีองค์ ๘ เลย เป็นเครื่องกั้นทั้งหมด หลงทางไปเลย

    เพราะฉะนั้น การที่ทรงแสดงว่า อริยสัจ ๔ เห็นยาก เพราะลึกซึ้ง ทั้ง ๔ แล้วก็ลึกซึ้งจึงเห็นยาก ก็รวมมรรคมีองค์ ๘ รวมหนทางที่จะอบรมเจริญปัญญาด้วย ทำให้ผู้ฟังไม่ประมาทเลย ไม่ทิ้งคำนี้ เพราะเหตุว่ายากจริงๆ ที่จะเห็นว่าหนทางนี้ เป็นหนทางละโดยตลอดตั้งแต่ต้นจนสุดท้าย มิฉะนั้นก็ไม่ถึงพระนิพพาน ไม่สามารถจะประจักษ์ ลักษณะของนิพพานได้ เพราะอยากอยู่ตลอดเวลา

    ใครก็ตามที่ทำไปด้วยความอยาก ไม่มีทางที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ เพราะไม่เห็นโลภะ คิดว่าโลภะที่จะละ ต้องละบ้าน ละที่อยู่ ละอาหารอร่อย ละอะไรทั้งหมด แต่นั่นไม่ใช่ ไม่ใช่ละโลภะในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส เพราะว่ายังละไม่ได้ ด้วยความเหนียวแน่น ที่จะละได้ต้องเป็น พระอนาคามีบุคคล แต่ละโลภะแรก ก็คือ ละโลภะที่เกิดร่วมกับความเห็นผิดทั้งหลาย แม้ในการอบรมเจริญปัญญา ถ้าไม่ละอันนี้ก็ไม่มีทางถึง เพราะฉะนั้น คำถามของคุณชมเชย ก็คงจะทราบ ไม่ใช่สังกัปปะ ชื่อว่า สังกัปปะทั้งหมดแล้ว จะเป็นมรรคมีองค์ ๘ ไม่ได้

    ผู้ฟัง ขอบพระคุณ

    ท่านอาจารย์ โดยมากพอได้ยินคำ หรืออ่านอะไร ความเป็นตัวตนมีอยู่ เพราะฉะนั้น ก็มีการเป็นเราที่จะทำ อย่างได้ยินคำแปลของ โยนิโสมนสิการ

    โยนิโสมนสิการ คือ มนสิการอย่างแยบคาย แปลตรงตัว เห็นแปลกันว่า กระทำไว้ในใจด้วยความแยบคาย เพราะฉะนั้น พอได้ยินคำว่า กระทำไว้ในใจด้วยความแยบคาย พอชื่อว่า กระทำ ก็จะกระทำเลย เพราะคิดว่าต้องกระทำ แต่ทั้งหมดไม่มีใครที่เป็นเราที่จะกระทำ จิต เจตสิก เกิด ทำหน้าที่ของจิต และเจตสิกนั้นๆ ปัญญาที่จะรู้ความจริง ก็รู้ความจริงของสภาพธรรมแต่ละอย่าง แต่ไม่ใช่ว่าเป็นการที่ไปทำอะไรขึ้นมา ตามคำที่ได้ยินได้ฟัง หรือตามคำแปลในหนังสือ เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ ใครทำเห็นได้ มีไหม ใครทำได้ยิน ใครทำคิดนึก ใครทำคิดนึกโดยแยบคาย ใครทำคิดนึกโดยไม่แยบคาย

    ผู้ฟัง ก็ไม่มี

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่มี แล้วแต่การสะสม ขณะที่สะสมโดยการที่ฟังแล้วพิจารณาไตร่ตรอง ในเหตุในผล ขณะนั้น เป็นจิต และเจตสิกที่เกิดขึ้นทำกิจการงานร่วมกัน เพราะฉะนั้น ที่เราเรียนในหนังสือ เรื่องจิต เจตสิก ก็ต้องรู้ด้วยว่าไม่ใช่อยู่ที่อื่น ทุกขณะในชีวิต คือ จิต และเจตสิก ถ้าบอกว่ากระทำโดยไม่แยบคาย เราก็รู้ว่า ขณะนั้น จิต เจตสิกเกิดขึ้นไม่แยบคายจึงเป็นอกุศล ขณะใดที่บอกว่ากระทำแยบคาย ขณะนั้นก็คือ จิต เจตสิกเกิดเป็นกุศลแล้วจึงแยบคาย ใครจะไปทำได้ กุศลจิตก็เกิด อกุศลจิตก็เกิดแล้วตามเหตุตามปัจจัย ไม่มีใครอีกคนไปทำให้เกิด แต่ถ้ามีความเข้าใจคิดว่าเป็นเรา ที่กระทำให้เกิด ก็ไม่มีทางเข้าใจสภาพธรรมได้ เพราะเหตุว่าเป็นความเห็นผิด แม้นิด แม้หน่อย ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดมากว่า พยัญชนะว่าอย่างนี้จริง แต่ความหมายคืออะไร สภาพธรรม นั้นคืออะไร

    ถ้าเรามีความเข้าใจในสภาพธรรม ซึ่งเป็นธรรม อย่าลืมคำว่า ธรรมเป็นธรรม ไม่ใช่เอาธรรมมาเป็นเรา นั่นคือผิด แต่ธรรมเป็นธรรมเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ตามเหตุตามปัจจัย เราก็จะเข้าใจได้ว่า แม้กุศลจิตที่เกิด ที่เคยยึดถือว่าเป็นเราดีอย่างนั้น ดีอย่างนี้ ก็คือสภาพของกุศลจิตที่มีเหตุปัจจัยแล้วก็เกิด ถ้าเกิดจิตที่เป็นอกุศล เดือดร้อนใจ อย่างบางคนพูดอะไรไปแล้วก็ เออ ไม่น่าจะพูดอย่างนี้เลย ทำไมถึงพูดอย่างนี้ ก็มีปัจจัย ที่จะเกิดแล้วยังคุณมีรัง วันก่อนนั้นก็พูดน่ารัก เสร็จแล้วพอกลับไปบ้านก็ร้อนใจ ว่า เอ๊ะนี่ ถูกหรือเปล่า ดีหรือเปล่า อย่างนี้ แม้ขณะนั้นก็คือนามธรรม คือ จิต และเจตสิกซึ่งเกิด ไม่มีใครทำอะไรได้เลย เพราะไม่มีใคร มีแต่สภาพธรรม ซึ่งจะต้องเข้าใจให้ถูกต้อง ยิ่งเห็นว่าเป็นธรรม ยิ่งรู้ถูกต้องว่าเป็นธรรม ก็เบาสบาย เพราะว่าเป็นปัญญาจริงๆ

    เพราะฉะนั้น มีข้อความที่ว่า ถ้าศึกษาพระวินัย โดยไม่ถูกต้อง จะเป็นอย่างไรผล ทุศีล ถ้าศึกษาพระสูตร โดยไม่เข้าใจถูกต้อง จะเป็นอย่างไร เป็นมิจฉาทิฏฐิ เข้าใจผิด ถ้าศึกษาพระอภิธรรมโดยไม่ถูกต้อง จะฟุ้งซ่าน คิดโน่น คิดนี่ไปหมด อยากจะรู้โน่น รู้นี่อะไรต่างๆ เมื่อไม่อยู่ในฐานะ หรือสภาพที่สามารถจะรู้ได้ แต่ก็ยังไปคิดต่างๆ นี้เป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจจริงๆ ว่าเรียนเพื่ออะไร แล้วใครเรียน เรียนที่จะไปรู้จิตทุกดวงหรือเปล่า หรือว่าเรียนเพื่อที่จะให้เห็นตามความเป็นจริงว่าจิต มี เป็นสภาพธรรมขณะนี้กำลังเกิดขึ้น มีลักษณะตามประเภทของจิตนั้นๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เรา คือเพื่อปัญญาที่จะเข้าใจให้ถูกต้อง เพื่อที่จะเกื้อกูลว่า เวลาที่จะรู้สภาพของจิต ไม่ใช่เพียงขั้นฟังหรืออ่าน แต่จะต้องสามารถที่จะเข้าใจให้ถูกต้องจริงๆ ว่า ไม่ใช่ตัวตนอย่างไร จนกระทั่งประจักษ์แจ้งได้จริงๆ

    ผู้ฟัง เราพูด มันก็พูดกันไปเรื่องราวต่างๆ ไปเรื่อยๆ เย็นร้อนอ่อนแข็ง ตรงนั้น มันจะเกิดขณะไหนก็ได้ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้เกิดดับอยู่ตลอดเวลา แล้วแต่ว่าจิตจะรู้หรือไม่รู้

    ผู้ฟัง ส่วนมากไม่รู้ มันดู เหมือนกับแยกกันไปคนละทาง

    ท่านอาจารย์ พูดถึง จิต ไม่ได้พูดถึงปั.ญญา

    ผู้ฟัง ยังไม่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ เย็นร้อน อ่อนแข็ง เกิดดับอยู่ตลอดเวลา ตามปัจจัย เย็นร้อน อ่อนแข็งเกิดจากอุตุมีไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เขาก็เกิดดับไปเรื่อยๆ แต่จิตก็ไม่ได้รู้ ก็มี ไม่ใช่หมายความว่า จิตจะต้องรู้เย็นร้อน อ่อนแข็ง ทุกครั้ง

    ผู้ฟัง สักครู่นี้เราคุยกันเรื่อง กุศลที่จะทำให้ออกจากวัฏฏะ หรือปัญญา สมัยทีผมเริ่มสนใจในเรื่องการทำบุญทำทาน หรือว่าทำบุญใหม่ๆ แล้วก็บางทีก็ไปเลี้ยงพระ ทำน้ำปานะ ซื้อรากบัวหรืออะไรอย่างนี้เป็น เข่งๆ เจ้านายผมไปด้วย แล้วก็ช่วยกันหั่นทำ ต้ม อะไรต่ออะไร เหนื่อย เกี่ยงกันไป เกี่ยงกันมา ด่ากันไป โขมง โฉงเฉง เลยนะ แล้วก็คิดว่ามันได้บุญ แล้วต่อมาได้มีโอกาสได้ฟังธรรม ฟังที่ท่านอาจารย์บรรยาย เราก็คิดว่านั่นมันไม่ใช่บุญเลย อาจจะเป็นบุญเพียงนิดเดียว แล้วก็อกุศล เป็นบาปตั้งมากมาย ยังไม่รู้เลยว่าบุญอยู่ที่ไหน บาปอยู่ที่ไหน บุญบาปคืออะไร ก็เริ่มสนใจ ในขณะนั้นที่สนใจ ไม่ได้คิดออกจากวัฏฏะเลย ก็คิดว่าทำอย่างไร เราถึงจะได้ทำกุศลแท้ๆ สร้างเหตุที่เป็นกุศล เพื่อจะได้ไปรับวิบากที่ดี เกิดมาในภพหน้า ชาติหน้า เราจะได้ ร่ำรวยมีเงินมีทองมากมายมหาศาล ก็ทำด้วยความคิดอย่างนั้น แล้วความคิดอย่างนั้นก็นาน ผมคิดว่าจนป่านนี้ผมก็ยังไม่กล้าที่จะยืนยันว่า ออกจากวัฏฏ เพราะว่าผมยังมี ความสุขกายสบายใจ มีเพื่อนฝูงที่ดีๆ มีญาติพี่น้องมีอะไรที่เหมาะสม ถ้าผมมาอย่างนี้ มาเจอ เพื่อนที่เหมือนคอเดียวกัน หรือพูดภาษาเดียวกัน ทั้งโลภะ ทั้งปิสุณาวาจา ผรุสวาจาบ้าง อะไรบ้าง สัมผัปปลาปะ ก็ว่ากันไปเรื่อย โดยไม่รู้เลยว่า อกุศล มันเกิดสลับซับซ้อนมากมาย นานๆ อาจจะเกิดสักครั้งหนึ่ง นานๆ อาจจะเกิดสักครั้งหนึ่ง ก็ตอนนี้เหมือนกับว่า กลัวๆ กล้าๆ จะออกหรือไม่ออก อย่างนั้นลองถามใจตัวเองว่า ความเข้าใจในพระธรรมของเรามั่นคงแค่ไหน มีบ้างไหม ที่จะคิดออกไป ร้อยเปอร์เซ็นต์เลย หรือไม่น่าจะออก

    ท่านอาจารย์ ต้องบอกว่า อย่าพูดนะ ว่าจะอยากออก เพราะมันไม่จริง ปัญญาไม่ถึงระดับ เพียงแต่ว่าบางครั้ง บางคราว เริ่มที่จะเห็นทุกข์เล็กๆ น้อยๆ ต้องใช้คำว่า เล็กๆ น้อยๆ อะไรกันนี่ ตื่นมาก็เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก สนุกสนานไปวันๆ หนึ่ง พอกลางคืนก็หลับสนิท หายไปหมด ความสนุกสนานที่เคยได้ในวันนั้น ไม่มีอะไรเหลือเลย ทรัพย์สมบัติเงินทองเพื่อนฝูง อะไรก็ไม่เหลือ ระหว่างที่นอนหลับสนิท เหมือนไม่มีอะไรเลยซึ่งความจริงแล้วเป็นอย่างนั้นจริงๆ ใครว่า มี ก็คือไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม เพราะเหตุว่าสภาพธรรม แท้ๆ จริงๆ คือเกิดแล้วดับหายไปเลย ไม่กลับมาอีกทุกขณะ จิตเมื่อกี้นี้ที่เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง เมื่อดับแล้วไม่กลับมาอีก หายไปเลย โดยไร้ร่องรอย ไม่มีเหลือ แต่ว่ามีสภาพธรรมใหม่เกิดปรากฏให้ไม่รู้ คิดว่ายังคงเป็นเหมือนเดิมแล้ว ก็ยังคงอยู่ตลอดเวลา แต่ตามความจริงแล้ว ไม่มีอะไรเหลือทุกขณะ นี่คือความว่างเปล่า ว่างเปล่าจริงๆ เพียงเห็นแล้วก็หมด เพียงได้ยินแล้วก็หมด เพียงคิดนึกแล้วก็หมด แล้วเป็นอย่างนี้ทั้งวัน ทุกวัน ตั้งแต่เกิดจนตาย แล้วทุกชาติด้วย แต่ก็ยังน่าอยู่ ก็ยังเห็นอีก อร่อยอีก โน่นก็ดีนี่ก็ดี เพราะเหตุว่าปัญญาไม่ใช่ปัญญาระดับที่จะเห็นว่า ไม่ใช่เรา แต่เป็นธรรม ซึ่งต้องทำหน้าที่การงานเมื่อเกิด เช่น จิตเป็นธาตุรู้ หรือสภาพรู้ ทันทีที่จิตเกิดต้องทำหน้าที่รู้ เหนื่อยไหม เกิดมาเพื่อที่จะทำหน้าที่ของสภาพธรรมแต่ละอย่างเท่านั้น แล้วก็หมดไปๆ จริงๆ ถ้าปัญญาไม่ถึงระดับนี้ แม้ว่าจะเป็นวิปัสสนาญาณขั้นถึงที่ยากที่จะเกิด อุทยัพพยญาณ ประจักษ์การเกิดขึ้น และดับไป ก็ยังไม่ใช่ญาณขั้นที่จะละ หรือสละความเป็นเราได้ เพราะความเหนียวแน่น

    ทุกคนก็รู้ตามความเป็นจริงว่าวันหนึ่งๆ ทั้งๆ ที่รู้ว่าซ้ำไปซ้ำมา แล้วก็ไม่มีสาระ แต่ก็ติด เพราะว่าสะสมมามาก การที่จะละหรือสละวัฏฏะได้ หมายความว่าไม่กลับมาอีกเลย สู่วัฏฏะนี้ ออกจากวัฏฏะไป ก็ต้องเป็นปัญญา ระดับที่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมตามความเป็นจริง แล้วก็ตามลำดับขั้น ผู้ที่เป็นโสดาบัน ก็ไม่ได้คิดว่าท่านเป็นพระอรหันต์ ท่านเพียงแต่ประจักษ์แจ้งอริยสัจ ไม่มีความเห็นผิดในอริยสัจ ข้อหนึ่งข้อใดเลยทั้งสิ้น แล้วก็สามารถที่จะละได้ เพียงความเห็นผิด ที่เคยไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรม ความสงสัยในลักษณะของสภาพธรรม แต่กิเลสอื่นยังมีอยู่ แต่ท่านก็รู้ตามความเป็นจริงว่า ถึงมีก็ไปแล้วสู่การที่จะไม่ต้องเกิดอีก เพราะว่าได้ประจักษ์แจ้งความจริงของสภาพธรรมแล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าขณะนี้เพียงวันหนึ่งๆ ก็ เห็นทุกข์นานๆ ครั้ง หลายๆ วันครั้ง หลายๆ ปีครั้ง ที่จะเห็นว่าไม่มีสาระ แต่ก็น้อยมาก เพราะเหตุว่ายังเป็นตัวตนที่คิด เพราะฉะนั้น ใครจะกล้าบอกว่าจะออกจากวัฏฏะ ถ้าปัญญาไม่ถึงระดับขั้นนั้นจริงๆ

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 100
    23 มี.ค. 2567