ปกิณณกธรรม ตอนที่ 422
ตอนที่ ๔๒๒
สนทนาธรรม ระหว่างเดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถาน ประเทศอินเดีย
พ.ศ. ๒ ๕๔๒
ท่านอาจารย์ เมื่อวานนี้กับวันนี้ ก็ได้พูดถึงเรื่องขณะที่สติเกิด กับ ขณะที่หลงลืมสติหลายครั้ง พูดกับคุณนีน่า แล้วก็พูดกับพวกเราด้วย แต่ว่าถ้าจะพูดอีกสักครั้งหนึ่งที่นี่ ก็อาจจะทำให้คนที่ได้ฟัง ถ้าสงสัยก็ถาม ถ้าเข้าใจแล้ว ก็จะได้ทราบว่าขณะที่สติเกิด ต่างกับ ขณะที่หลงลืมสติอย่างไร คุณบุตร สาวงษ์ ขณะที่กระทบสัมผัสสิ่งที่อยู่ในมือ แข็งไหม
ผู้ฟัง แข็ง
ท่านอาจารย์ ทุกคนตอบได้ว่าแข็ง ขณะนั้นสติเกิดหรือเปล่า
ผู้ฟัง ไม่มี
ท่านอาจารย์ ไม่มี นี่คือความตรง เพราะว่าลักษณะที่แข็งมีจริงๆ ฟังแล้วก็อย่าเพิ่งเบื่อ ฟังแล้วฟังอีก แล้วค่อยๆ คิดตามความเป็นจริงว่า วันหนึ่งๆ เรากระทบแข็งกี่ครั้ง มีใครนับมีใครบอกได้ไหม ตั้งแต่ตื่น บอกไม่ได้เลย เพราะอะไร เพราะไม่ได้ใส่ใจในลักษณะที่แข็ง พอกระทบก็เป็นช้อน เป็นส้อม เป็นขันน้ำ เป็นแปรงสีฟัน เป็นอะไรๆ ทุกอย่างแม้แต่กระทบที่นี่ก็เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด นี้แสดงว่า แม้ปรมัตถธรรม จะปรากฏทางกาย มีการกระทบสิ่งที่อ่อนหรือแข็ง อาศัยกายปสาทรูป จึงมีรูปนี้ปรากฏได้ แต่ว่าสั้นมาก เพราะฉะนั้น ความทรงจำเรื่องลักษณะสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏก็ทำให้นึกถึงเรื่องราวต่างๆ ทันที ที่ใช้คำว่าทันที คนที่ศึกษาปรมัตถธรรม ก็ต้องเข้าใจด้วยว่าหมายความถึงจิตกี่ดวง เกิดทาง ทวารไหน คั่นด้วยภวังค์ไหน แล้วจะถึงทางมโนทวาร
เพราะฉะนั้น ที่พูดอย่างนี้ จะเห็นว่า โดยนัยของพระสูตร ไม่ได้แสดงเรื่องจิตแต่ละดวง หรือแต่ละวาระ แต่แสดงให้คนที่กำลังฟังในขณะนั้น สามารถจะพิจารณาได้ว่า ขณะที่เรากระทบแข็ง ไม่ได้มีสัมมาสติระลึก เพื่อที่จะศึกษาลักษณะที่แข็ง แต่ว่าเราหยิบอะไร เราเห็นอะไรเราทำอะไร สิ่งนั้นแข็งทั้งหมด แต่ดับเร็วมาก แล้วจิตอื่นก็เกิด สืบต่อจนไม่รู้ว่าขณะนั้น เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งปรากฏทางกาย ความรู้จริงๆ ก็คือว่า เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งที่กำลังปรากฏทางกาย แต่ไม่เคยรู้อย่างนี้ ไม่ได้ระลึกอย่างนี้ เหมือนกับทางตาก็มีสภาพธรรมอย่างหนึ่งปรากฏ ทางตาซึ่งคนตาบอดไม่เห็น แต่เราเลยไปถึงว่าเป็นคนนั้นคนนี้ เป็นดอกไม้สีแดงอยู่ข้างทาง นั่นก็แสดงให้เห็นว่า แม้สิ่งที่ปรากฏ ทางตามีจริง แต่ดับเร็วมาก แต่ความทรงจำเรื่องสิ่งนั้น เกิดสืบต่อทำให้เราไม่ได้มีการสังเกต ไม่มีการรู้ว่าแท้ที่จริง คือสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งปรากฏทางตา
ขณะนี้จริงๆ ถ้าจะศึกษาธรรมก็คือศึกษา สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ มีเห็น เคยเป็นเรา เคยเป็นคนนั้นคนนี้ เคยเป็นธูป เคยเป็นเทียน เป็นทุกอย่าง มีสักขณะหนึ่งไหมที่เริ่มที่จะรู้ เฉลียวใจหรือเกิดระลึกได้ว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ เมื่อเห็น ชั่วเห็น สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ปรากฏเฉพาะเมื่อเห็น เพียงชั่วขณะเห็น ถ้าขณะใดไม่เห็น สิ่งนี้ไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราทรงจำไว้ว่ามี แล้วก็ไม่เกิดดับเลย เป็นของเราอยู่ตลอดเวลา แท้ที่จริงเรารู้ไหมว่า ปรากฏทางตาเมื่อเห็น เพราะขณะใดที่ไม่เห็น สิ่งนั้นไม่ปรากฏ เราเพียงแต่ทรงจำไว้ว่า เป็นเรา หรือเป็นของเรา ไม่ต้องพูดถึงทรัพย์สมบัติ ซึ่งทุกคนก็คิดถึงว่ามีมาก มีอะไรๆ อยู่ที่ไหน อย่างไร แต่ว่าปรากฏทางตาในขณะนี้หรือเปล่า ความจริงก็คือจิตเกิดขึ้นทีละหนึ่งขณะ ต้องสอดคล้องกันทั้งปริยัติและปฏิบัติ เมื่อจิตเกิดขึ้นทีละ ๑ ขณะ ต้องรู้สิ่งเดียว ถ้าทางตา คือสีสันวัณณะกำลังปรากฏ ถ้าทางหู ชั่วขณะที่ได้ยินเสียง สิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ปรากฏ เฉพาะเสียงปรากฏกับจิตที่ได้ยิน ชั่วขณะหนึ่งๆ แต่เพราะการเกิดดับสืบต่อเร็วมาก แม้ว่าจะทรงแสดงโดยนัยของพระอภิธรรม ว่า จิตแต่ละวาระที่เห็นจะต้องมีจิตอะไรเกิดสืบต่อตามลำดับ แล้วเมื่อรูปดับไป ภวังคจิตเกิดคั่น มโนทวารในขณะนี้ก็รับรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาต่อ ถึงแม้ว่าจะทรงแสดงอย่างนี้ แต่ว่าสภาพธรรมในขณะนี้ ไม่ได้ปรากฏอย่างนั้น
เพราะฉะนั้น จึงต้องมีการอบรมเจริญปัญญาจากขั้นฟังให้เข้าใจโดยนัยของพระอภิธรรม ก็คือให้เห็นความเป็นอนัตตา ความละเอียดของสภาพธรรม ซึ่งเกิดดับสืบต่อ ทำให้ผู้ไม่รู้ก็ไม่สามารถที่จะรู้ความจริงว่า ไม่ใช่เรา แต่ผู้ที่ค่อยๆ รู้ขึ้น ก็จะมีขณะซึ่งระลึกได้ ในขณะนี้เอง ความจริงคือเป็นสิ่งที่เพียงปรากฏทางตา แค่นี้ พอที่จะระลึกได้ไหม ยังไม่ต้องไปถึงวิปัสสนาญาณอะไรเลย เพียงแค่รู้ความจริงว่า ขณะนี้ สิ่งนี้ปรากฏ ชั่วเห็น ขณะใดที่ไม่เห็น สิ่งนี้ไม่ปรากฏ เวลาที่เสียงปรากฏ ก็ให้รู้ความจริงว่าเสียงปรากฏ ชั่วขณะที่ได้ยิน แล้วก็ดับ เวลาคิดนึกเรื่องราวต่างๆ ที่จะมีเรื่องราวต่างๆ ในความทรงจำ ในการที่เราเป็นสุขเป็นทุกข์ได้ เพราะจิตคิดเรื่องนั้น จะสุขก็เพราะจิตคิดเรื่องที่ทำให้สุขเวทนา หรือโสมนัสเวทนาเกิด จะทุกข์ก็ต่อเมื่อคิดถึงเรื่องที่ทำให้โทมนัสเวทนาเกิด ถ้าไม่คิดทั้ง ๒ เรื่อง จะโทมนัสหรือจะโสมนัสได้ไหม เพราะฉะนั้น โทมนัส โสมนัสในเรื่องที่คิด หรือว่าในสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็จะต้องมีเวทนาคือความรู้สึกเกิดร่วมด้วย
ตามธรรมดาในชีวิตประจำวัน ทุกอย่าง สติเกิดก็คือ ขณะที่มีการระลึกได้ แล้วก็มีลักษณะที่ปรากฏให้ค่อยๆ รู้ ให้ค่อยๆ เข้าใจ แม้ว่าจะไม่ใช้คำว่าสติปัฏฐาน แต่สติเกิดหรือเปล่า ที่จะรู้อย่างนี้ ที่จะค่อยๆ เข้าใจอย่างนี้ ในสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่ไปพยายามให้เห็นว่า ไม่ใช่คน ไม่มีคนเลยที่นี่ แต่ตามความจริง ไม่มีอยู่แล้ว มีแต่สิ่งที่ปรากฏทางตากับความทรงจำ มีคนอื่น แต่ที่สำคัญที่สุด คือ มีเราอยู่ตรงนี้ แล้วก็เห็น
เพราะฉะนั้น ลึกลงไปที่สุด ก็คือการยึดถือรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ที่ไหน ของคนอื่น หรือว่าของเรา แต่ว่าถ้ารู้ความจริง ของเราอย่างไร ของคนอื่นก็อย่างนั้น ขณะนี้เหมือนมีคนมาก แต่เพราะจิตเกิดคิด ใช่หรือไม่ใช่ จิตเห็นแล้วก็คิด เพราะฉะนั้น คนที่ว่ามีมากๆ เพราะคิดจากสิ่งที่กำลังปรากฏ ทางตา เพราะฉะนั้น ถ้าสภาพธรรมปรากฏจริงๆ ไม่มีใครเลยทั้งสิ้น แต่มีธาตุรู้หรือมีสภาพรู้ซึ่งเกิดขึ้น แล้วแต่ว่าขณะนั้นจะรู้อะไร
เพราะฉะนั้น สติปัฏฐาน คือถ้ากระทบแข็ง ก็ศึกษาระลึกได้ในลักษณะซึ่งเป็นธรรมอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่ต้องทำอย่างอื่นเลย เพราะความจริงเป็นอย่างนั้น ระลึกทางกายก็มีสิ่งที่แข็งหรือเย็นหรือร้อนปรากฏ นี้คือสติระลึก ต่างกับเมื่อแข็งปรากฏแล้วก็ไม่มีการระลึกเลย ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ก็ฟังไปค่อยๆ เข้าใจขึ้นทีละนิดทีละหน่อย จนกว่าสติปัฏฐานจะเกิด ก็จะรู้ว่าขณะนั้นสติปัฏฐานเกิดแล้ว จึงมีการระลึกลักษณะที่เป็นปกติอย่างนี้ ธรรมดาอย่างนี้ แต่สติระลึก จึงเป็นขณะนั้นมีสติ ไม่ใช่ขณะที่หลงลืมสติ
ผู้ฟัง บุคคล เช่นใด จึงได้ชื่อว่ามีพระรัตนตรัยเป็นสรณะ
อ. สมพร พวกเรา เพราะว่ามีวัตถุ ๓ เป็นที่พึ่ง วัตถุหมายถึง พระรัตนตรัย วัตถุ แปลว่า เป็นที่เกิด เป็นที่อาศัยเกิด โดยมากพระรัตนตรัยท่านก็เรียกวัตถุ เหมือนกัน เรียกว่าวัตถุ ๓ พวกเราเลื่อมใสในพระรัตนตรัย เมื่อจิตเลื่อมใสแล้วก็เคารพบูชา เลื่อมใสนั่นคือศรัทธาเป็นผู้นำในเรื่องกุศลทั้งหลาย เกิดพร้อมกับจิต และเจตสิกอื่นๆ ก็เกิดร่วมกัน พระรัตนตรัยก็กล่าวแล้ว เพราะว่า เป็นที่ตั้งที่เลื่อมใส รัตนะประดุจแก้ว หรืออีกนัยหนึ่ง คำว่ารัตนะ เป็นที่ปลื้มอก ปลื้มใจ วัตถุสิ่งใดเป็นที่ปลื้มอกปลื้มใจ วัตถุสิ่งนั้นเรียกว่า รัตนะ มี ๓ อย่างคือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
ท่านอาจารย์ จะเห็นได้จริงๆ ว่า ถ้ายังเป็นความไม่รู้ หรือความไม่เข้าใจ หรือการไม่ศึกษา แม้แต่การที่จะถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ก็ยังเป็นปัญหาว่าถึงอย่างไร มีข้อความที่แสดงว่า ผู้ทรามปัญญา คือผู้ที่ไม่มีปัญญา ไม่สามารถที่จะมีพระรัตนตรัยเป็นสรณะ เราจะเห็นได้จริงๆ ว่า เราเคยได้ยินชื่อพระรัตนตรัย ตั้งแต่เด็ก พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วก็มีศรัทธา มีความเชื่อ มีความนอบน้อมว่าเป็นสิ่งที่ประเสริฐสุด แต่ไม่เข้าใจเลยว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าประเสริฐสุดอย่างไร บางคนก็คิดว่าท่านจะบันดาลสิ่งที่เราขอได้ อย่างนั้นเราพึ่งอะไรของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าจะพึ่งจริงๆ ก็พึ่งพระคุณทั้ง ๓ คือพระปัญญาคุณ เราต้องพึ่งพระปัญญาคุณแน่นอน เพราะเหตุว่าเราไม่สามารถจะรู้สภาพธรรมด้วยตัวของเราได้เลย ถ้าพระองค์ไม่ทรงตรัสรู้ด้วยพระปัญญาที่ทำให้พระองค์บริสุทธิ์ ถึงระดับที่เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และทรงพระมหากรุณา ซึ่งแม้แต่ว่าจะมีบุคคลเพียงคนเดียว ที่อบรมปัญญามาแล้วที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม แม้อยู่ไกลก็เสด็จไปโปรด เพื่อที่จะให้ผู้นั้นได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม เพราะจะมีสิ่งอื่นใดในโลกที่ประเสริฐกว่าการที่จะให้บุคคลใดสามารถที่จะมีปัญญาเข้าใจสภาพธรรมถูกต้อง สามารถที่จะดับกิเลสได้ เป็นสิ่งซึ่งยากแสนยาก ที่จะอนุเคราห์ เพราะเหตุว่า ถ้าไม่ใช่ปัญญาแล้ว ไม่สามารถเลยที่จะพ้นจากสังสารวัฏฏ์ หรือดับกิเลสได้ ด้วยเหตุนี้ แม้ว่าหนทางจะไกลแสนไกล ก็เสด็จไป เพื่อที่จะทรงอนุเคราะห์บุคคลนั้น นี้คือพระมหากรุณา เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ได้ศึกษาพระธรรม มีทางใดบ้าง ที่จะเห็นพระปัญญาคุณ การที่เราคิดว่า เราเข้าใจพระธรรมโดยไม่ศึกษา เราเทียบว่าเราเป็นใคร พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นใคร เราจึงสามารถที่จะเข้าใจธรรมได้โดยไม่ต้องศึกษา นี้เป็นความเข้าใจที่ผิด ผู้ที่นับถือพระศาสนา จะต้องเป็นผู้ที่ศึกษาพระธรรม มิฉะนั้นเรากล่าวไม่ได้เลยว่าเรานับถือ เพราะเราไม่รู้จัก สอนอะไรก็ไม่รู้ เพราะว่าไม่ได้ศึกษา เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญา จึงสามารถที่จะมีพระรัตรตรัยเป็นสรณะได้ แม้แต่พระธรรมรัตนะ ซึ่งหมายความถึง โลกุตตรธรรม นวโลกุตตรธรรม รวมทั้งปริยัติด้วย คือการศึกษา เพราะว่าแม้ว่านิพพาน เป็นโลกุตตรธรรม เป็นสภาพธรรมที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง ไม่เกิดไม่ดับ เป็นสภาพธรรมที่ดับกิเลส เพราะเหตุว่าไม่ใช่สภาพธรรมที่เกิดขึ้น
ผู้ที่รู้แจ้งนิพพานก็เป็นผู้ที่ข้ามพ้นจากความเป็นปุถุชน สู่ความเป็นพระอริยบุคคล เพราะอาศัยการศึกษาการฟังพระธรรม การอบรมจนกระทั่งรู้แจ้งสภาพธรรม ซึ่งเป็นอริยสัจ ๔ นี้จึงจะเป็นสรณะ เป็นที่พึ่งจริงๆ เพราะเหตุว่า ถ้าใครเพียงแต่จะให้ทาน รักษาศีล แล้วก็มีปัญญาระดับของฌาน คือความสงบของจิตที่สงบจนถึงระดับที่ทำให้เกิดในพรหมโลก ทั้งที่เป็นรูปพรหม อรูปพรหม ก็ยังกลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้ ยังมีโลภะ ยังมีโทสะ ยังมีโมหะ เพราะว่ายังไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้จริงๆ ว่า แม้ว่า จะกระทำสิ่งอื่นใด แต่ว่าถ้าไม่ศึกษาพระธรรม ไม่อบรมเจริญหนทางที่ทรงแสดงไว้ ผู้นั้นก็มีพระรัตนตรัยเป็นสรณะเพียงเล็กๆ น้อยๆ
เพราะฉะนั้น เราก็ควรจะได้พิจารณาตัวของเราเองว่า มีศรัทธา นับถือในพระปัญญาคุณ จึงได้มีการศึกษา แล้วเมื่อเริ่มเข้าใจ ก็เริ่มจะมีพระรัตนตรัยเป็นสรณะ เป็นที่พึ่ง เพราะระลึกถึงพระธรรมที่ทรงแสดงว่าเป็น อนัตตา อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด เมื่อมีปัจจัย เพราะฉะนั้น คนที่ได้ศึกษาจริงๆ ก็จะเริ่มเห็นความเห็นอนัตตา เห็นพระคุณของพระผู้มีพระภาค จากการที่ได้เข้าใจธรรม จนกว่าจะถึง ความเป็นพระอริยบุคคล เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่ต้องมีปัญญาด้วยการศึกษา ถ้ามิฉะนั้นแล้วก็ ถึงแบบที่ว่าเพียงเชื่อว่ามีพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลามีทุกข์ก็ขอ แล้วอย่างนั้นเป็นความเข้าใจที่ถูกหรือผิด จะมีพระรัตนตรัยเป็สรณะได้ไหม ก็ยังอยู่ต่อไปสังสารวัฏฏ์ด้วย การที่ไม่รู้จักพระคุณของพระรัตนตรัย
ผู้ฟัง เรามาไหว้ที่นี่ ด้วยศรัทธาเต็มเปี่ยม แล้วอาจารย์ก็บอกให้เราระลึกถึงสิ่งที่ปรากฏทางตา ทีนี้ถ้าเรานึกถึงว่าเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ศรัทธาที่เราเต็มเปี่ยม มันก็รู้สึกมันจะหดหายไป หนูอยากถามอันนี้
ท่านอาจารย์ ตรงกันข้าม ถ้ารู้จริงๆ ว่าเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา จะเห็นพระคุณชัดเจน พระผู้มีพระภาคไม่ทรงตรัสรู้ ไม่ทรงแสดงความจริงอันนี้ เราก็ยังหลงว่าเป็นเราเห็น แต่ความจริงใครเห็น เป็นธาตุรู้ซึ่งเกิดขึ้น เห็น แล้วก็ดับ ถ้าใช้คำว่า ธาตุ ไม่เป็นของใครเลย แล้วเกิดแล้วดับแล้ว แล้วสิ่งที่เกิดแล้วดับแล้ว เป็นของใคร
ผู้ฟัง แต่เราไม่ถึงขั้นนั้น เรามองเห็นก็เป็นเรา
ท่านอาจารย์ เราไม่ถึงขั้นนั้น เพราะอะไร
ผู้ฟัง กิเลส
ท่านอาจารย์ เพราะยังไม่ได้ศึกษาโดยถ่องแท้ จนกระทั่งปัญญาเจริญขึ้นตามลำดับขั้น ถ้าศึกษาแล้วมีความเห็นถูกขึ้น มีความเข้าใจถูกขึ้น ในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ วันหนึ่ง ความเข้าใจนั้นก็สมบูรณ์ แต่ต้องวันหนึ่ง
ผู้ฟัง เมื่อไร
ท่านอาจารย์ เมื่ออบรมแล้ว จะเอาวันเดือนปี คงไม่ได้ ต้องแล้วแต่เหตุ คือการสะสม
ผู้ฟัง สุจริต ๓ เป็นอาหารของสติปัฏฐาน ตามความเข้าใจของตนเองแล้ว หมายถึงต้องมี กายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต
ท่านอาจารย์ ถ้าคิดในแง่ที่เป็นประโยชน์ เวลาที่ได้ยินอย่างนี้ แล้วทำให้เราระลึกได้ว่า สุจริตของเรามีหรือเปล่า หรือมีแต่ทุจริต เพราะว่าโดยมาก ทุกคนต้องการผลจากการอบรมเจริญปัญญา คือ สติปัฏฐานอย่างเดียว ไม่คำนึงถึงกายวาจาเลยว่าเป็นอย่างไร ฟังธรรมเพื่อเมื่อไรสติปัฏฐานจะเกิด แต่กาย วาจา จะเป็นอกุศลศีล ไม่สนใจ แต่ว่าถ้าเรามีความเข้าใจในความละเอีดของธรรม รู้ว่าธรรม พระพุทธพจน์ทุกคำ เตือนให้เราเข้าใจถูก แม้แต่อกุศลจิตเกิด กายวาจาไหวไปตลอด ด้วยอกุศล ก็เป็นอกุศลศีล แล้ววันนี้ เรามีเท่าไร แค่นี้เตือนหรือเปล่า
เพราะฉะนั้น เวลาที่พูดว่าสุจริต ๓ เป็นอาหารของสติปัฏฐาน ก็เป็นการเตือนอีกว่าอย่ามุ่งหวังที่จะให้สติปัฏฐานเกิด โดยไม่คำนึงถึงกายวาจาเลย จะเป็นอย่างไร ก็ไม่สนใจทั้งนั้น แต่ขอให้สติระลึก ก็เป็นสิ่งซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะขณะนั้น หมายความว่า เป็นไปด้วยความหวัง แต่ไม่ใช่ด้วยการฟังพระธรรมแล้วก็ เห็นโทษของอกุศล แล้วค่อยๆ ขัดเกลา ละคลาย แต่ขัดเกลาจริงๆ ต้องเป็นขณะที่ปัญญาเกิด ขัดเกลาความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเคยยึดถือว่าเป็นเรา เพราะเหตุว่าผู้ที่จะเป็นพระโสดาบันบุคคล ต้องมีความเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรม จนประจักษ์แจ้ง เป็นวิปัสสนาญาณตามปกติในขณะนี้ ตามความเป็นจริง นั่นจึงจะเป็นปัญญาจริงๆ เพราะว่าปัญญาสามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ถ้าใครคิดว่าต้องไปทำอย่างอื่น ขณะนี้เกิดแล้วดับแล้ว ไม่มีทางที่จะเห็นความเป็นจริงว่าสภาพธรรม ขณะนี้เกิดเพราะเหตุปัจจัย แล้วไม่ใช่เรา แต่ว่าเป็นตัวตนทั้งหมดเลย ที่ทำอย่างอื่น ไม่มีทางที่จะรู้ว่าขณะนี้ ที่กำลังเห็น สติเกิดกับหลงลืมสติอย่างไร
ปัญญาซึ่งค่อยๆ สมบูรณ์ จนประจักษ์แจ้ง ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ต่างกับขณะที่สติปัฏฐาน เริ่มเกิด แต่ยังไม่ใช่วิปัสสนญาณอย่างไร แล้ววิปัสสนาญาณแต่ละขั้น จะทำให้มีการเริ่ม คลายความไม่รู้ทางตา แต่ก่อนนี้ไม่รู้ สนิทเลยว่าเป็นสิ่งที่เพียงปรากฏทางตา คิดว่ารู้ไม่ได้ด้วย แต่เวลาที่สติเกิด แล้วค่อยๆ รู้ แล้วปัญญาค่อยๆ สมบูรณ์ ก็จะเห็นการคลาย การยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตนจริงๆ หรือเป็นคนนั้นจริงๆ เพราะรู้ความจริงว่า เป็นสภาพธรรมแต่ละทางซึ่งเกิด และเมื่อประจักษ์ ความดับ การละคลายก็ยิ่งเพิ่มขึ้น แต่ทั้งหมดนี้ ต้องเป็นผู้ที่ละสมุทัย คือโลภะตั้งแต่ต้น ตั้งแต่เริ่มฟัง ไม่ใช่ฟังเพื่ออะไร เพื่อหวัง ถ้าฟังเพื่อหวังก็มีเครื่องกั้น เครื่องเนิ่นช้า คือโลภะ ได้แก่ ตัณหา มานะ ทิฏฐิ เป็นเครื่องขัดขวาง เป็นเครื่องกั้น การเจริญของธรรมฝ่ายกุศล เพราะฉะนั้น การฟังธรรมต้องประมวล แล้วก็รู้ว่าที่ทรงแสดงไว้อย่างนั้น เพราะอะไร หรือเพื่ออะไร ไม่ใช่ตัวหนังสือว่าอย่างนี้ ก็ไปทำสุจริต ๓ ให้สมบูรณ์ แต่ผู้ที่จะมีศีลสมบูรณ์ได้ แม้เพียงศีล ๕ คือผู้ที่เป็นพระโสดาบันบุคคล
ผู้ฟัง คุณแม่ก็ได้แสดงธรรม ผมก็เข้าใจว่า ธรรมทุกสิ่งทุกอย่างนี้ เป็นธรรมที่ ควรคำนับเท่านั้น แต่ธรรมที่เป็นสรณะคือ เป็นแต่เพียง พุทธวจนะ ที่เป็นปริยัติ ที่พระองค์ทรงแสดงเท่านั้น แต่ธรรมจริงๆ ที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ธรรมทุกสิ่งทุกอย่างนี้ ไม่ควรจะเป็นสรณะ เช่น รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ก็เป็นโทษ ไม่ควรจะเป็นสรณะเลย ถ้าพระพุทธเจ้าทรงแสดง พระพุทธวจนะนี้ จนเป็นที่ระลึก ผมเข้าใจอย่างนั้น
ท่านอาจารย์ บางทีคำถาม ก็อาจจะทำให้เราเข้าใจสภาพธรรมขึ้นอีกนิดหน่อยๆ เรื่อยๆ ขณะนี้กำลังเห็น แน่นอน ทุกคนกำลังเห็น สิ่งที่ถูกเห็นเราจะเรียกว่าอะไร
ผู้ฟัง รูป
ท่านอาจารย์ เรียกว่า รูป หมายความว่าสิ่งที่ถูกเห็นนั้น ไม่สามารถจะรู้อะไรได้ จึงเป็นรูป แล้วรูปก็มีหลายอย่างๆ แข็งก็เป็นรูป เสียงก็เป็นรูป เพราะฉะนั้น สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา เราจะเรียกอะไรดี ลองคิดดูสิว่า ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา แล้วเราจะเรียกสิ่งที่กำลังปรากฏ ขณะนี้ว่าอะไรดี
ผู้ฟัง สิ่งที่ปรากฏทางตา เราจะเรียกอะไรดี
ท่านอาจารย์ จะเรียกอะไรดี ขณะนี้มีจริงๆ เพราะ ขณะใดที่มีเห็น ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกเห็น ใช่ไหม ขณะนี้ มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น แล้วเราจะเรียกสิ่งที่ปรากฏให้เห็นว่าอะไรดี ไม่เรียกได้ไหม
ผู้ฟัง ไม่เรียกก็ได้
ท่านอาจารย์ ไม่เรียกก็ได้ เพราะฉะนั้น คำตอบก็คือ ไม่เรียกก็ได้ ถ้าเข้าใจว่าสิ่งนี้มีจริงๆ แล้วกำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ภาษาอังกฤษ จะเรียกอะไร ภาษาไทย จะเรียกอะไร ภาษาบาลีจะเรียกอะไรไม่สำคัญเท่ากับ ความรู้ว่าขณะนี้ มีสภาพเห็น แล้วก็มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น แต่ทีนี้ภาษาไทยเรา ก็ใช้คำที่ทำให้เข้าใจได้ คือสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ปรากฏเฉพาะทางตา คือต้องอาศัยตา สิ่งนี้จึงจะปรากฏได้ ความจริงข้างหลังก็มี สีสันวัณณะต่างๆ มีแสงสว่างมีอะไร แต่ตาไม่ได้อยู่ข้างหลัง เพราะฉะนั้น สิ่งนั้นจึงไม่ปรากฏ สิ่งนี้จะปรากฏต่อเมื่อกระทบกับจักขุปสาท จักขุปสาทเป็นรูปๆ หนึ่ง ซึ่งกรรมเป็นสมุฏฐาน ไม่มีใครสร้างจักขุปสาทได้เลย แล้วเราก็มองไม่เห็นด้วย เรารู้แต่เพียงว่ามีจักขุปสาท เพราะเรารู้ว่าเห็นมี เมื่อเห็นมี ก็ต้องหมายความว่า ต้องมีรูปซึ่งเป็นปัจจัย หรือเป็นสิ่งที่จะทำให้จิตเห็นเกิดขึ้น ถ้ารูปตา คือ จักขุปสาทไม่มี ไม่ว่าจะในสวรรค์ หรือบนโลกมนุษย์ หรือในรูปพรหม ไม่มีจักขุปสาท จิตเห็นจะเกิดได้ไหม ไม่มีจักขุปสาทที่อยู่กลางตา ซึ่งเป็นรูปพิเศษที่สามารถจะกระทบกับสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ อยู่กลางตา ถ้าไม่มีรูปนั้น ไม่ว่าจะอยู่ในสวรรค์ หรือพรหมโลก หรือในนรก หรือว่าเป็นเปรต หรือเป็นสัตว์เดรัจฉานก็ตาม สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ จะปรากฏได้ไหม ถ้าไม่มีจักขุปสาท
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ ไม่ได้
ผู้ฟัง แล้วคนตาบอดเขารู้ได้อย่างไร
ท่านอาจารย์ รู้อะไรได้ คนตาบอด ไม่เห็น เขาอาจจะรู้อะไรทางอื่น ได้ยินเสียงแต่ไม่เห็น เขาคิดนึกได้ แต่ไม่เห็น เพราะฉะนั้น เราเริ่มที่จะเห็นความเป็นอนัตตา สิ่งที่เราเคยยึดถือว่าเป็นเรา แล้วก็เห็นนานแสนนานมาแล้ว ก็เป็นเราเห็น เพราะไม่รู้ แต่ถ้ามีความรู้ถูกต้องจริงๆ ขณะนี้ สิ่งที่มีจริง ทำไมเราถึงต้องเรียน ต้องศึกษา เพราะว่าเป็นสิ่งที่มีจริง เราเคยหลงผิดว่าเป็นเรา หรือว่าเป็นของเรา เราต้องศึกษาจากผู้ที่ตรัสรู้แล้ว ซึ่งตรัสรู้ว่า สภาพธรรมไม่ใช่ของใครเลยสักอย่างเดียว
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 421
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 422
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 423
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 424
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 425
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 426
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 427
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 428
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 429
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 430
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 431
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 432
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 433
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 434
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 435
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 436
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 437
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 438
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 439
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 440
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 441
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 442
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 443
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 444
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 445
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 446
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 447
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 448
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 449
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 450
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 451
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 452
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 453
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 454
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 455
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 456
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 457
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 458
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 459
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 460
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 461
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 462
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 463
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 464
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 465
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 466
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 467
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 468
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 469
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 470
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 471
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 472
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 473
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 474
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 475
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 476
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 477
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 478
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 479
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 480