ปกิณณกธรรม ตอนที่ 434


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๔๓๔

    สนทนาธรรม ระหว่างเดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถาน ประเทศอินเดีย

    พ.ศ. ๒๕๔๗


    ผู้ฟัง เรื่องขอบเขต แสดงว่า ถ้ารูป จะมีขอบเขต หรืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ เพราะว่ายังมีสัณฐานของรูป มีการกำหนดของรูป อย่างเสียง ก็เฉพาะลักษณะขณะนั้น แต่ว่าธาตุรู้ไม่ใช่เสียง ไม่มีรูปร่างใดๆ เลย แต่ว่าสามารถที่จะรู้ลักษณะของเสียง รู้แจ้งเสียงนั้น

    ผู้ฟัง เมื่อคืนนี้ประมาณตอนตี ๔ ดิฉันก็ตื่นขึ้นมาได้ยินเสียงจาม แต่เป็นเสียงที่ไกลมากเลย ลักษณะนั้น

    ท่านอาจารย์ ขอบเขตไหม ที่อยู่ของเสียงมีไหม ไม่ใช่ตรงนี้แต่ตรงโน้น นั้นก็คือขอบเขต

    ผู้ฟัง เรื่องฝัน อยากกราบเรียนถามท่านอาจารย์เรื่องการนอนไม่หลับ ภวังคจิต ไม่เกิด

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้ว ภวังคจิตแม้ขณะนี้ก็เกิด สลับแต่ละวาระ เช่น ถ้ารูปที่ปรากฏทางตาดับแล้ว จิตต้องเป็นภวังค์ คั่นอยู่ก่อนที่จะเป็นวิถีจิตอื่น

    ผู้ฟัง การนอนไม่หลับเกิดขึ้นจากอะไร เพราะความคิดเรามันวนเวียน

    ท่านอาจารย์ ถ้ามีแต่ ความเข้าใจถูกต้อง ว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่มีปัญหาเลย เพราะว่าเราจะรู้ว่า ขณะไม่หลับก็มีการเห็น หรือว่ามีการได้ยิน หรือว่ามีการคิดนึกซึ่งเกิดเพราะเหตุปัจจัยทั้งหมด ไม่มีใครจะไปบังคับบัญชาได้เลย

    ผู้ฟัง เวลาที่เราอายุมากขึ้น รูปเสื่อมแต่จริงๆ แล้วจิตไม่ได้รับการพัฒนาขึ้น แต่ทำไมถึงจำไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ถ้าเรามีเรื่องที่จะจำน้อย ไม่มาก เราก็จำได้ แต่ถ้ามีมากขึ้นๆ ๆ เราจะจำ แล้วก็นึกถึงได้ทั้งหมดหรือเปล่า ไม่มีใครที่จะจำทุกสิ่งทุกอย่างได้ แต่ว่าสิ่งที่เราจำได้มีไม่มาก ตลอดชีวิตของเรา เราก็คงจะจำบางเหตุการณ์ ชัดเจนไม่ลืม แต่บางเหตุการณ์ก็ลืมไปแล้ว แม้ว่าอาจจะเพิ่งเป็น ปี ๒ ปีที่ผ่านแล้วก็ได้ นี้ก็ไม่ได้หมายความว่า จะต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับอายุ แต่ว่าอายุจริงๆ คือ การเกิดดับสืบต่อของขันธ์ที่แสดงกาลเวลาที่ต่อเนื่องกันมา จึงปรากฏความเก่า เพราะฉะนั้น ถ้าเรามีความจำเพิ่มขึ้นๆ มาก จนกระทั่งแก่ลงก็ยิ่งเพิ่มขึ้นในความจำ เราก็ต้องลืมเป็นธรรมดา แม้แแต่ยังไม่แก่ก็ลืมได้ แล้วเราจะสงสัยอะไร

    ผู้ฟัง ถ้าสัญญาเจตสิกไม่เกิด

    ท่านอาจารย์ สัญญาเจตสิกเกิดกับจิตทุกขณะ

    ผู้ฟัง วิตกไม่เกิด

    ท่านอาจารย์ วิตกก็เกิดกับจิตเกือบทุกขณะ แล้วแต่ว่าขณะนั้นจะตรึกถึงอะไร

    ผู้ฟัง เมื่อสักครู่ก็สนทนากับเพื่อนที่มาด้วยกัน เขาก็พูดถึงเรื่องจิตสั่ง เหมือนกับว่า เราจะทำอะไรมันก็จิตนี้แหละสั่ง เคยฟังธรรมเกี่ยวกับเรื่องจิตตชรูป มันจะเกี่ยวกันอย่างไร

    วิทยากร.ในเรื่องนี้ก็เป็นความเข้าใจ และเป็นประเด็นสนทนากันบ่อย เพราะว่าผู้ที่ศึกษาพระพุทธศาสนาด้วยกัน บางทีท่านก็อาจจะเข้าใจว่าจิตสั่ง แล้วก็ดูเหมือนจะมีคำคล้องจองว่า จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว แล้วที่พี่บงกล่าวถึง จิตตชรูป ก็คือ รูปที่เกิดจากจิต รูปที่เกิดจากจิต โดยความเป็นจริงแล้วที่ท่านแสดงไว้เกิดขึ้นพร้อมจิตแล้วก็ดับพร้อมจิต เช่น รูปที่เป็นกายวิญญัติรูป หรือว่า วจีวิญญัติรูป เพราะฉะนั้น ไม่ใช่หมายความว่าจิตจะไปสั่งรูปได้เลย แม้จิตก็สั่งจิตไม่ได้ แต่เป็นไปตามการสะสม ใครยังอยากจะโกรธบ้าง แต่เมื่อมีเหตุปัจจัย ก็โกรธขึ้น และเมื่อความโกรธเกิดขึ้นโทสมูลจิตนั้นก็เป็นปัจจัยให้เกิดรูป ที่เกิดกับความโกรธ

    เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจสภาพ ตามความเป็นจริง เราจะค่อยๆ ประกอบความมั่นคงที่จะไม่ เป็นตัวตน เพราะ ความเป็นตัวเรานี้มาก แล้วเราก็เอา ความเป็นตัวเรามาใส่ในปรมัตถธรรม เราศึกษาธรรมนิดๆ หน่อยๆ แล้วเราก็เลยคิดว่า จะต้องจิตเป็นตัวสั่ง รูปเป็นตัวรับคำสั่ง ที่เป็นไปอย่างนั้นๆ แต่ความจริงแล้วไม่มีอะไรสั่งอะไร แม้จิตก็จะไปสั่งจิต สั่งอะไรไม่ได้ จิตก็เกิดแล้วก็ดับแล้ว รูปก็เกิดแล้ว ก็ดับแล้ว แต่เป็นปัจจัยแก่กัน และกันได้ แต่ไม่ใช่ว่าโดยการสั่ง

    ท่านอาจารย์ ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด และต้องเป็นเรื่องที่เข้าใจจริงๆ ถ้ายังไม่เข้าใจก็ต้องไตร่ตรอง ไม่ ว่าเราจะได้ยินได้ฟัง คำที่กล่าวกันจนชินแต่ว่าเวลาที่เราศึกษาธรรมต้องเป็นผู้ที่ละเอียด เช่น คำว่าสั่ง หมายความว่าอะไร เห็นไหม เพียงแค่นี้เราก็ข้ามไปแล้ว โดยที่ไม่รู้เลยว่าสั่งคืออะไร สั่งอย่างไรด้วย คือ ๑. สั่งคืออะไร และ ๒ สั่งอย่างไร ถ้ายังตอบไม่ได้ ก็ไปคิดว่าจิตสั่ง โดยที่เราไม่รู้เลยว่า สั่งคืออะไร

    ผู้ฟัง ถ้าอยากจะเดินไป

    ท่านอาจารย์ ก็เดิน ทุกคนก็เดิน อยากจะเดินก็เดินไป มีความต้องการที่จะยื่นมือไป รูปก็เคลื่อนไหวไปตามความต้องการของจิต ขณะนั้นไม่ได้คิดอะไรเลย เวลานี้ใครจะลุกขึ้นยืน จะต้องมาสั่งอะไร หรือเปล่า ว่าลุกขึ้น เดินไป เพราะฉะนั้น แม้แต่คำว่า สั่ง คืออะไร ถ้ายังไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ หมายความว่า คำนั้นไม่ถูกต้อง ถ้าเป็นคำที่ถูกต้องก็สามารถที่จะเข้าใจได้ ว่าธรรมดาเวลาที่เราใช้คำว่า สั่ง เราหมายความว่าอะไร อย่าเพิ่งคล้อยตามหรือว่า เอาไปใช้ แต่ต้องถามให้เข้าใจว่า เวลาบอกว่าสั่ง หมายความว่าอย่างไร อย่าเพิ่งไปกล่าวถึงว่า จิตสั่ง เพียงแค่สั่งคำเดียว หมายความว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง สั่ง ก็คือบอกให้ทำอะไร แล้วก็มี สิ่งที่รับคำสั่งนั้น

    ท่านอาจารย์ ใครบอก บอกอะไร เห็นไหม ใช้คำว่า บอก แล้วบอกอะไร บอกใคร จะไปบอกรูปทำไม รูปไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น ไปบอกสักเท่าไรรูปก็ไม่รู้เรื่อง แล้วจะบอกอะไร

    ผู้ฟัง บอกมหาภูตรูป

    ท่านอาจารย์ บอกไม่ได้ มหาภูตรูปแข็ง แล้วก็เป็นที่รองรับธาตุอื่น ไม่ใช่สภาพรู้เลย เพราะฉะนั้น แม้แต่คำว่าสั่ง ก็ต้องเข้าใจให้ถูกต้อง จะใช้คำนี้ได้หรือ แล้วจะสั่งใคร สั่งอะไร

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นเข้าใจว่า ถ้าสั่งมันเหมือนกับเป็นอัตตา ตัวตนที่ จะทำได้อย่างนั้นด้วยหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ เป็นเรื่องคิดเท่านั้นเอง เพราะว่าหลังจากเห็นแล้วก็คิด หลังจากที่ได้ยินแล้วก็คิด แต่ปกติธรรมดาที่คุณเข็ม กำลังวางไมโครโฟน ลงไปไม่ได้สิ่งอะไรลงไปเลย ใช่ไหม แต่มีจิตที่ต้องการ ที่จะให้มีการเคลื่อนไหวของกาย กายก็เคลื่อนไหวไปตามความต้องการของจิต ไม่ได้พูดไม่ได้สั่งอะไรเลย โดยเฉพาะสั่งรูป อย่าคิดเลย ว่ารูปจะไปรับคำสั่งอะไรได้ เพราะว่า รูป ไม่ใช่สภาพรู้

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กล่าวถึงว่า มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง สนใจประโยคนี้มากเลย แล้วมีหลายคนที่สงสัยว่า มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่งอย่างไร ศึกษาอย่างไร ปฏิบัติอย่างไร จึงจะมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่งได้

    ท่านอาจารย์ ถ้าฟังเผิน ค้านกันแล้ว ไหนว่า อนัตตา แล้วก็กลายมาเป็น มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง พระธรรมทรงแสดงไว้โดยละเอียด ภาษาชาวโลก จะเข้าใจกันอย่างไร ไม่ได้ละทิ้ง ภาษานั้นเลย อย่างตถาคต หมายความถึงใคร ก็ต้องใช้คำ ที่แสดงให้เห็นหมายความถึงใคร ตนที่นี่ ทรงแสดงไว้แล้วว่า ถ้าไม่มีปรมัตถธรรม คือ จิต เจตสิก รูป จะมีอะไรหรือเปล่า แต่เมื่อมีแล้ว ไม่ใช่คนอื่น เพราะฉะนั้น จึงมีคำเฉพาะขันธ์ ๕ที่นี่ หรือขันธ์ ๕ ที่โน้น เสียเวลา ไม่ใช่ผู้เฉลียวฉลาดในการใช้ภาษา จึงต้องใช้คำ ที่แสดงให้เข้าใจว่า พระธรรมต้องสอดคล้องกัน ตนถ้าไม่มีจิต เจตสิก รูป ไม่มี แต่เมื่อมีแล้ว ไม่ใช่ไปอาศัยคนอื่น ไม่ใช่ไปอาศัยขันธ์ ๕ ของคนอื่นที่จะทำให้เราเกิดปัญญา แต่ต้องอาศัยขันธ์ ๕ นี้แหละที่จะเป็นเกาะ หรือเป็นที่พึ่งได้ โดยการที่ว่า ถ้าจะเป็นที่พึ่งหรือเป็นเกาะ ก็คือหนทางเดียวที่จะออกจากสงสารวัฏ ที่เป็นเกาะคือสติปัฏฐาน

    ผู้ฟัง ในมรรคมีองค์ ๘ มีคำว่า สัมมาสติ แล้วมิจฉาสติ มีไหม

    ท่านอาจารย์ มีมิจฉามรรคไหม แล้วก็สัมมามรรค ๘ แล้วมี มิจฉัตตะ ๑๐ แล้วสัมมัตตะ ๑๐ ด้วย มิจฉัตตะ ก็คือธรรมที่เป็นทางผิด ๑๐ การเป็นผิด ๑๐ แล้วก็ สัมมัตตะ ก็คือการเป็นถูกต้อง ๑๐ เพราะฉะนั้น ก็มีทั้ง มิจฉามรรค ๘ สัมมามรรค ๘ เมื่อรวมมิจฉาญาณ และมิจฉาวิมุตติ ก็เป็น มิจฉัตตะ ๑๐ ทางฝ่ายสัมมามรรคก็คือ นอกจากสัมมามรรค ๘ ก็ยังมี สัมมาญาณ และสัมมาวิมุตติ รวมเป็น ๑๐

    ผู้ฟัง แล้วมิจฉาสติ เป็นอย่างไรบ้าง ช่วยยกตัวอย่าง

    ท่านอาจารย์ ได้แก่โลภมูลจิต เพราะว่าสติต้องเป็นโสภณธรรมที่เกิดกับโสภณจิตเท่านั้น แต่ทรงแสดงมิจฉามรรคเพื่อเปรียบเทียบให้เห็นว่า หนทางผิดมี แล้วถ้าไม่ใช่หนทางถูก ทั้งหมดต้องเป็นหนทางผิด จะมาสลับปนกันไม่ได้

    ผู้ฟัง อยากให้ยกตัวอย่างของการเกิดมิจฉาสติด้วย

    ท่านอาจารย์ ขณะใดก็ตามที่มีความเป็นเรา ที่คิดว่า เราจะเจริญสติปัฏฐาน ขณะนั้นผิดหรือถูก

    ผู้ฟัง น่าจะผิด เพราะมี เป็นตัวตน

    ท่านอาจารย์ นั่นก็คือมิจฉามรรค แล้วมีความต้องการได้แก่โลภมูลจิตซึ่งเป็นมิจฉาสติ

    ผู้ฟัง ผมขอสอบถามอย่างเช่น นักแสดงกายกรรมปีนเส้นลวดเส้นเดียว เขาต้องต้องตั้งสติไว้ที่เดิน ผ่านไปอีกฝั่งหนึ่งได้ ตอนนั้นตั้งสติ เป็นมิจฉาสติด้วยหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ต้องทราบก่อน ว่าสติไม่ใช่สมาธิ อย่าปน ๒ อย่าง สติเป็นโสภณธรรมเป็นสภาพที่ระลึก เป็นไปในกุศล เวลาที่มีการให้ทาน ไม่ใช่เรา แต่ขณะนั้นมีสติที่ระลึกเป็นไปในทาน เพราะฉะนั้น กุศลทุกประเภท จะขาด โสภณเจตสิก ๑๙ ประเภทไม่ได้เลย สำหรับสมาธิ มีทั้งมิจฉาสมาธิ และสัมมาสมาธิ สมาธิได้แก่ เอกัคคตาเจตสิกซึ่งเกิดกับจิตทุกดวง แต่สำหรับสติเจตสิกไม่ใช่ สมาธิ เพราะฉะนั้น จะเกิดเฉพาะกับโสภณจิต เท่านั้นเอง

    ผู้ฟัง ใช้คำว่า สติ ก็ต่อเมื่อเป็นโสภณจิต

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ถ้าไม่ได้เป็นไปในทาน ศีล ภาวนา เช่น การข้ามถนน หรืออะไร การไต่ลวด อะไรอย่างนี้ ก็ไม่ใช่สติ

    ผู้ฟัง เราจะเรียกว่าเป็นอะไร

    ท่านอาจารย์ สมาธิ ได้ ทำอะไรด้วยการจดจ้องขณะนั้น ก็เป็นลักษณะของสมาธิ

    ผู้ฟัง มีสมาธิ แต่ไม่มีสติก็ได้ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ได้ เพราะเหตุว่าเอกัคคตาเจตสิกเกิดกับจิต ทุกประเภท

    ผู้ฟัง แล้ว สัมปชัญญะ เล่า

    ท่านอาจารย์ สัมปชัญญะ เป็นปัญญาระดับที่ ต้องเกิดกับสติที่เป็นไปในภาวนา ไม่ว่าจะเป็นสมถภาวนา หรือว่าสติปัฏฐาน

    ผู้ฟัง หมายถึงมีสติต่อเนื่อง หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ไม่เกี่ยว

    ผู้ฟัง สัมปชัญญะนี้ เป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เป็นปัญญาที่เกิดพร้อมสติที่รู้ลักษณะของสภาพธรรม ถ้าเป็นเรื่องของการที่ให้จิตสงบ ขณะนั้นก็เป็นปัญญาที่สามารถจะรู้ว่า ขณะใดเป็นอกุศล และขณะใดเป็นกุศล และก็อบรมเจริญกุศลจิตยิ่งขึ้น จนกระทั่งลักษณะของความสงบปรากฏ นั่นเป็นสมถภาวนา แต่ต้องรู้ลักษณะสภาพของจิตในขณะนั้น จึงจะสามารถละ นิวรณธรรมได้ เพราะว่า อกุศลทั้งหมดเป็น นิวรณธรรม เพราะฉะนั้น สำหรับสติปัฏฐาน ซึ่งไม่ใช่ สมถภาวนา สติสัมปชัญญะ ก็สามารถที่จะรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรม แล้วก็มีความเข้าใจถูกต้องในลักษณะนั้นเพิ่มขึ้น จนกว่าจะประจักษ์แจ้งความจริงของสภาพธรรมนั้น

    ผู้ฟัง คุณอรรณพ ได้ยินกันบ่อยๆ กล่าวถึง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เรียนถามว่า ๓ คำนี้ มีอยู่ในขณะนี้ อย่างไร ในลักษณะอย่างไร แล้วจะปรากฏให้รู้ได้อย่างไร

    วิทยากร.อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือลักษณะของสภาพธรรม ที่เกิดขึ้นแล้วดับไป คือจิต เจตสิก และรูป ซึ่งจิตเกิดขึ้นแล้วก็ต้องดับ เจตสิกซึ่งเกิดขึ้นพร้อมจิตก็ต้องดับพร้อมจิต รูปแม้จะมีอายุยาวกว่าจิต แต่ก็เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้น สภาพธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้วดับไป จึงไม่เที่ยง เพราะเกิดแล้วดับ จะเที่ยงได้อย่างไร ความเกิดดับไม่ใช่ยาวนานเลย สภาพธรรมทั้งหลายที่เกิดแล้วดับ จึงไม่เที่ยง ไม่เที่ยงไม่ใช่แค่ชั่วโมงเดียว ครึ่งชั่วโมงหรือนาทีหนึ่ง แสนที่จะเร็ว เพราะฉะนั้น จะยิ่งไม่เที่ยงมากกว่าที่เราเข้าใจว่า นานวัน จึงจะสลายไป แต่สลายไปทุกขณะเลย คือความไม่เที่ยงของสภาพธรรมจริงๆ ในขณะนี้ เป็นทุกข์ คือ ทนอยู่ไม่ได้ ไม่สามารถจะทน ดำรงสภาพนั้นอยู่ได้ ต้องดับไปอย่างรวดเร็วนั่นเอง และเป็น อนัตตา คือ ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตน เพราะเป็นเพียงสภาพธรรม และเป็นสภาพธรรม ที่เกิดแล้วดับด้วย แต่สำหรับความเป็นอนัตตา แม้พระนิพพานซึ่งเที่ยง และเป็นสุข คือ เพราะไม่เกิดดับ แต่พระนิพพานก็เป็นอนัตตา เพราะไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นสภาพธรรมที่ไม่เกิดไม่ดับ เพราะฉะนั้น ถ้าพูดถึงสภาพธรรม ที่เกิดดับ เพราะเกิด ล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว จึงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา และ ที่พี่บงถามต่อเนื่องไปว่า อย่างไร จึงจะรู้ ในความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เพราะความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ของสภาพธรรมจริงๆ รวดเร็วมาก ในขณะนี้นี่เอง เพราะฉะนั้น ปัญญาที่จะรู้ ก็จะต้องเป็นปัญญาพร้อมสติ ที่มีการสะสมอบรม แล้วจึงจะรู้ความจริง ซึ่งเกิดดับแสนที่จะรวดเร็ว ตรงนี้ได้ เพราะว่าไม่ใช่การเกิด แล้วดับนานๆ จิตแม้ว่าจะเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป แต่รวดเร็วเหลือเกิน เพราะฉะนั้น ปัญญาที่คมกล้า ที่จะรู้ ความเกิดดับของสภาพธรรมในขณะนี้ ก็ต้องเป็นปัญญาที่เป็นวิปัสสนาญาณ

    ผู้ฟัง ฟังท่านอาจารย์กล่าวเหมือนว่า การอบรมต้องไม่คลาดเคลื่อน การที่จะรู้ลักษณะสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ แล้วก็จะรู้ว่า เราไม่รู้อะไรมากน้อยแค่ไหน คลาดเคลื่อนแค่ไหน อย่างเช่นเมื่อกี้นี้ คุณบง แน่ใจหรือ ว่าคนที่มีความสุข ไม่เดือดร้อน หรือว่าคนที่เกิดมาแล้ว ไม่เดือดร้อน มีหรือ

    ผู้ฟัง มีแต่เขาก็

    ท่านอาจารย์ มีหรือ หิวไหม เหนื่อยไหม โกรธไหม รำคาญไหม แค่รำคาญ หมั่นไส้ บางคนก็บอก อย่างนั้น ก็เดือดร้อนแล้ว ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ทุกข์ มีทั้งทุกข์กาย และทุกข์ใจ ระหว่างที่ทุกข์กายไม่มี ไม่เจ็บ ไม่ปวด ไม่เมื่อยตรงไหน แต่ใจเดือดร้อนหรือเปล่า ด้วยความไม่พอใจ เพราะฉะนั้น จากคำพูดที่เราสนทนากัน ไม่ว่าจะได้ยินได้ฟังอะไร แสดงถึงความเดือดร้อนใจหรือเปล่า ถ้าขณะนั้นมีความไม่พอใจ นี่คือ ทุกข ทุกข ซึ่งชาวโลกรู้จัก แต่ว่าไม่รู้ว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตนเป็นสภาพธรรม เพราะเหตุว่า ลักษณะของธรรม ไม่เปลี่ยน ปวดเจ็บ ไม่ว่าตรงไหน จะใช้ ชื่อโรคร้ายแรง หรือไม่ร้ายแรงอย่างไร ความจริงก็สภาพที่เป็นทุกข์ของกาย ขณะนั้นมีใครบ้างที่ไม่มี มดต่อยมีไหม ยุ่งกัดมีไหม แค่นี้ก็แสดงว่า ต้องมีทุกข์ แต่ว่าเพราะว่าไม่สนใจ แล้วสามารถที่จะเยียวยาแก้ไขได้ ก็เลยผ่านไป แต่ปฏิเสธไม่ได้ ทุกข์เกิดแล้ว บังคับบัญชาไม่ได้ นี้คือทุกข์กาย ทุกข์ใจนี่ใครไม่มีบาง ง่วงหรือเปล่า รำคาญ หรือเปล่า แค่นี้ มาแล้วทุกข์ใจ นี่คือ ทุกขเวทนา กับโสมนัสเวทนา ถ้าไม่รู้ก็แก้ไปเรื่อยๆ แล้วก็ไม่เห็นว่า เราก็เกิดแล้ว เกิดเล่า เกิดแล้วเกิดอีกก็เพียงเพื่อที่จะมีความทุกข์ทั้งกาย และใจนั่นเอง นี่คือลักษณะของทุกขเวทนา แต่ถ้าเป็นโสมนัสเวทนา หรือว่าความพอใจ ความพอใจของเรายั่งยืนหรือเปล่า ได้สิ่งนี้ เปลี่ยนแล้ว วิปรินามทุกข เปลี่ยนจากสิ่งนี้เป็นสิ่งอื่น ไม่อย่างนั้นเราคงไม่ต้องไปหาซื้ออะไรกันมากมาย แค่อย่างเดียวก็พอ ถ้าเราพอใจจริงๆ ก็ต้องพอแล้ว แต่นี่ความพอใจ ไม่เคยที่จะไม่เปลี่ยนแปลง จากสิ่งหนึ่งก็ไปสู่อีกสิ่งหนึ่ง แม้แต่กำลังรับประทานอาหาร เราก็เดินดูจนรอบ ว่าจะหยิบอันไหน จะตักอันไหน มากน้อยแค่ไหน อันนี้อันเดียวพอไหม ไม่ อันนี้ชอบตักมาแล้ว อันอื่นอีก ก็ชอบอีก นี่คือลักษณะของทุกข์ซึ่งไม่เห็น เพราะว่าเป็น วิปรินามทุกข ซึ่งเป็นสุข หรือโสมนัสเวทนา แสดงให้เห็นว่า สุขหรือโสมนัสก็ไม่เที่ยง ไม่พอ แล้วก็เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งทุกข์ที่เห็นยากที่สุด ก็คือสังขารทุกข์ ซึ่งไม่ว่าอะไรก็ตามที่เกิดแล้ว จะไม่ดับไม่มีเลย

    ถ้ายังไม่ถึงทุกข์อันนี้ ไม่ใช่อริยสัจ เพราะฉะนั้น ก็ไม่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ เพราะว่าการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ซึ่งขณะนี้เป็นสัจธรรม แต่ยังไม่ถึงความเป็นอริยะ เพราะเหตุว่า ปัญญายังไม่ได้รู้ตามความเป็นจริงของธรรมในขณะนี้ เพราะฉะนั้น กว่าจะรู้ได้ ต้องอาศัยการฟังพระธรรม แล้วก็การเข้าใจ แล้วก็เห็นประโยชน์ ของการที่จะเจริญกุศล จนกระทั่งถึงขั้นที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ ไม่ใช่เป็นไปไม่ได้เลย แต่ต้องทีละเล็ก ทีละน้อย ไม่ใช่ว่าใครสามารถที่จะมีปัญญาแล้วก็ดับกิเลสได้ทันที แต่ต้องเป็นผู้ตรง ที่จะเข้าใจถูกตั้งแต่แรก ว่าปัญญา รู้อะไร ขณะนี้ มีสิ่งที่ปรากฏ อวิชชา ไม่สามารถจะรู้ได้ เหมือนม่านที่ดำสนิท ที่ขวางกั้น ไม่ให้เห็นลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ ในลักษณะที่เป็นรูปธรรม นามธรรมเกิดดับอย่างรวดเร็ว แล้วเมื่อไรจะมีแสงไฟของปัญญา ตั้งแต่เล็กที่สุด กว่าจะสามารถเห็นผ่านม่านมืด ไปสู่การประจักษ์แจ้ง ความจริงของสภาพธรรม เพราะว่าสิ่งที่พระองค์ทรงตรัสรู้ และทรงแสดง เป็นความจริง ซึ่งใครก็ปฏิเสธไม่ได้ อวิชชาเมื่อไร เห็นแล้วไม่รู้ ก็คืออวิชชา ปัญญาเมื่อไร เห็นแล้วค่อยๆ เข้าใจขึ้น ต้องมีสิ่งที่กำลังปรากฏให้ไม่เข้าใจ หรือว่ามีสิ่งที่ปรากฏให้เข้าใจ ซึ่งเดิมเป็นสิ่งที่ปรากฏแล้วไม่เข้าใจไม่รู้ จนกระทั่งเป็นสิ่งที่ปรากฏเหมือนเดิมธรรมดา แต่ค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นต้องรู้ ปัญญารู้อะไร เมื่อไร ต้องมีสิ่งที่ปัญญาจะต้องรู้จริงๆ ไม่ใช่เพียงแต่ไปเดาเอา ว่าถ้าอบรมอย่างนั้น อย่างนี้แล้วปัญญาจะเกิด เราจะต้องละคลายความสงสัย ความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมเช่นสิ่งที่ปรากฏ ทางตา เวลานี้ มี ถ้ายังไม่ประจักษ์ก็ยังสงสัย เกิดแล้วดับ คิดดู แล้วก็เป็นธาตุซึ่งไม่มีรูปร่างเลย แต่สามารถเห็น แล้วลองคิดถึงความมืดสนิท แล้วก็มีธาตุรู้ซึ่งสามารถจะรู้ แม้ในความมืดสนิท ตามความเป็นจริงได้ นี้ก็แสดงให้เห็นว่า ค่อยๆ ฟังไป ค่อยๆ อบรมไป แล้วก็ตรงทางคือความเป็นจริงไม่อย่างนั้น เราก็จะถูกโลภะชักพาไปตั้งแต่เริ่มต้นคือ ไม่เข้าใจว่าขณะนี้ปัญญาเกิดได้ เพราะฉะนั้น ก็จะไปทำอย่างอื่น ซึ่งถ้าทำอย่างอื่นสักเท่าไรก็ตาม ไม่สามารถที่จะรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ก็ไม่ใช่ปัญญา

    ผู้ฟัง ขออนุญาต มีผู้เขียน ถามมา ๓ ข้อ เป็นเรื่องที่น่าสนใจ คือ เรื่องของอุเบกขามีกี่อย่าง ในประเด็นของพรหมวิหารก็มีอุเบกขา ในเรื่องของญาณก็มีอุเบกขา เวทนาก็มีอุเบกขา มีความแตกต่างกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เชิญคุณธิดารัตน์

    วิทยากร. ถ้าพูดถึงอุเบกขาที่อยู่ในพรหมวิหาร ก็จะเป็นเจตสิกซึ่งเป็น ตัตรมัชฌัตตตา คือมีความตรงไม่เอนเอียงไปเป็นอกุศลนั่นเอง เป็นการว่างเฉย ด้วยเจตสิกซึ่งเป็น ตัตรมัชฌัตตตา อันนี้คืออุเบกขาพรหมวิหาร ส่วนอุเบกขาเวทนาก็เป็น สภาพที่ไม่ใช่สุข ไม่ใช่ทุกข์ เป็นลักษณะของเวทนาที่เป็นความรู้สึกเฉยๆ

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 100
    23 มี.ค. 2567