ปกิณณกธรรม ตอนที่ 450


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๔๕๐

    สนทนาธรรม ที่ ซอยมีสุวรรณ คลองตัน พระโขนง

    พ.ศ. ๒๕๔๑


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ทุกอย่างที่เกิด เราต้องไม่ลืมว่า เพราะมีปัจจัยเฉพาะของสิ่งนั้น สิ่งนั้นจึงเกิดขึ้นได้ ถ้าเป็นอย่างนี้เราก็จะเข้าใจธรรมตั้งแต่ต้นไปเลย แม้จิตก็ต้องมีปัจจัยจึงเกิด เป็นประเภทต่างๆ อย่างจิตเห็นเพราะมีจักขุปสาท ถ้าไม่มีจักขุปสาท จิตเห็นก็เกิดไม่ได้ จิตได้ยินก็ต้องมีโสตปสาท ถ้าไม่มีโสตปสาทก็หูหนวก ใช่ไหม ได้ยินก็ไม่เกิด ก็เป็นเรื่องของเหตุผล ของสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ต้องเข้าใจ เมื่อเห็นแล้วโกรธ เมื่อเห็นแล้วโลภ เมื่อเห็นแล้วริษยา หรือเมื่อเห็นแล้วอะไรก็ตามแต่ เพราะมีสิ่งนั้น เป็นปัจจัยสะสมอยู่ในจิต เพราะฉะนั้น ถ้าจะมีปัญญาเกิดขึ้น หลังจากที่เห็น หลังจากที่โกรธแล้ว ก็เมื่อมีการสะสมของปัญญา ถ้าเกิดโกรธขึ้นก็มีปัจจัยที่มีการระลึก แล้วมีการรู้ความจริงในขณะนั้นได้ แต่ไม่ใช่เราจะไปหาอะไรมาใช้ เป็นไปไม่ได้เลย ตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ มีใครไม่มีจิต

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าต้องมีสภาพรู้ ซึ่งเป็น จิต เกิดดับสืบต่อ ทีละหนึ่งขณะตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งถึงเดี๋ยวนี้ เพราะฉะนั้น กำลังเห็น สภาพเห็น เป็นนามธรรม หรือรูปธรรม

    ผู้ฟัง ก็ต้องเป็นนามธรรม

    ท่านอาจารย์ เราตอบโดยความจำมันจะไม่ยากเลย แต่ตอบโดยความรู้ความเข้าใจ นามธรรม คือ สภาพรู้ หรือธาตุรู้ มันยาก เพราะฉะนั้น คนที่เขาบอกว่าเขาไม่เข้าใจเรื่องนามธรรม รูปธรรม ไม่ใช่ว่าเขาไม่รู้ชื่อ แต่ว่าการที่จะรู้ว่าเป็นสภาพรู้จริงๆ ซึ่งต่างกับสิ่งที่ไม่รู้อะไรเลย ก็ต้องเป็นอีกขั้นหนึ่ง ที่เขาก็จะเอาความรู้อันนี้มาตอบ จากความจริงที่เริ่มจะเข้าใจว่า มันเป็นนามธรรมอย่างไร ไม่ใช่ไปจำแต่ชื่อ หรือ เข้าใจแต่เพียงชื่อ เพราะฉะนั้น อย่างเห็น ลักษณะเห็น ทุกคนก็คิดว่าไม่ยาก ตอบได้ว่าเป็น นามธรรม แต่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ที่เป็นนามธรรมที่ไม่ใช่ รูป ต้องอาศัยการเข้าใจ การฟังว่า คือสภาพรู้ หรือธาตุรู้ซึ่ง คนตายไม่เห็นไม่มี คนตายมีรูปจริง แต่ไม่เห็น เพราะฉะนั้น เห็นต่างหากจากรูปที่ปรากฏทางตา แล้วมันกำลัง มี สิ่งที่ปรากฏให้เห็น แล้วสภาพเห็น จึงเห็นสิ่งนั้น เพราะฉะนั้น ลักษณะเห็น คือนามธรรม ต้องเข้าใจแล้วค่อยๆ พิจารณาไปอีก

    ผู้ฟัง สมมติ ได้ยินเสียงฟ้าร้อง ฟ้าคำราม

    ท่านอาจารย์ อะไรเป็นรูป

    ผู้ฟัง แสงประกายของฟ้า

    ท่านอาจารย์ แล้วอะไรเป็นนาม

    ผู้ฟัง สภาพการได้ยิน

    ท่านอาจารย์ ขณะที่ได้ยิน ลักษณะที่ได้ยินเป็นนาม เพราะคนตายไม่ได้ยิน คนตายมีหู แต่ไม่มีโสตปสาทรูป เพียงแต่มีรูปร่างของหู เพราะฉะนั้น เสียงใดๆ ก็ไม่ไปกระทบรูปแข็งนั้นได้ ที่จะให้เกิดการได้ยินขึ้น แล้วจิตก็ไม่มีด้วย เพราะฉะนั้น จิต มีลักษณะต่างๆ จิตเห็น เราไม่เคยรู้มาก่อนเลย ว่าที่เห็น เป็นจิต ที่ได้ยินเป็นจิต ได้กลิ่นเป็นจิต ลิ้มรสเป็นจิต รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เย็นร้อนอ่อนแข็งเป็นจิต คิดนึกเป็นจิต เราเพียงรู้ว่าเป็นจิต แต่ไม่รู้เมื่อไรเป็นจิตอะไร ขณะไหน เป็นจิตอะไร แต่การศึกษาจะทำให้เรารู้ว่า เราสามารถที่จะเข้าใจลักษณะที่ต่างกัน ของนามธรรม และรูปธรรม ก็จะทราบได้ว่าลักษณะใดเป็นจิต ลักษณะใดเป็นเจตสิก ลักษณะใดเป็นรูป ฟังเหมือนขั้นต้น แต่แค่นี้ ตลอดไปจนถึงความเป็นอรหันต์

    ผู้ฟัง ขอประทานโทษ ท่านอาจารย์ ถ้าพูดว่าฝนตกโดยเรายังไม่เห็น คือถ้าฝนตกแล้วเราเห็น เห็นว่าเม็ดฝนตกลงมา ก็เป็นสภาพเห็น ใช่ แต่ถ้าจะให้เป็นรูป เล่า มันจะอยู่ในสภาวะอย่างไร ถ้าให้ฝนตกเป็นรูป

    ท่านอาจารย์ แล้วทำไมถึงบอกว่าฝนตก

    ผู้ฟัง คิดแต่ไม่เห็น

    ท่านอาจารย์ แล้วมีอะไร ที่บอกให้รู้ว่าฝนตก

    ผู้ฟัง เสียง

    ท่านอาจารย์ เสียง นั่นจำได้ว่าเป็นเสียงฝน เพราะฉะนั้น เมื่อมีเสียงรู้ว่าเป็นฝนตก เพราะฉะนั้น เสียงเป็นนามธรรม หรือเป็นรูปธรรม

    ผู้ฟัง เสียง อ๋อ เสียงก็ต้องเป็นรูปธรรม

    ท่านอาจารย์ แล้วก็อะไรเป็นนามธรรม

    ผู้ฟัง การรับรู้ว่านั่นเป็นเสียงน้ำฝน

    ท่านอาจารย์ ยังไม่ถึงน้ำฝน ขณะ ที่เสียงเป็นรูปธรรม อะไรเป็นนามธรรม

    ผู้ฟัง ความรู้สึก ความเข้าใจว่านั่นก็คือฝน

    ท่านอาจารย์ ได้ยิน แค่ได้ยิน เป็นนามธรรม สภาพที่ได้ยินเป็นนามธรรม ที่นี้ข้อสำคัญที่สุดการศึกษาธรรมต้องทราบว่า ธรรมละเอียด ธรรมลึกซึ้ง ธรรมไม่ใช่สิ่งที่เราจะเข้าใจผิวเผิน หรือพยายามเอาสิ่งอื่นมาผสม มาแทรก ทำให้ความเข้าใจธรรมของเราบิดเบี้ยวไม่ตรง เพราะฉะนั้น ถ้าเราศึกษาเรื่องจิต เป็นนามธรรม เป็นนามธาตุ เป็นธาตุรู้แค่นี้ เรารู้แล้ว ไม่มีการที่จะมองเห็นจิตได้เลย แต่ จิตมี แล้วก็ต้องรู้ด้วยว่าลักษณะของจิต เป็นธาตุรู้ หรือเป็นสภาพรู้ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจิตชนิดไหน เกิดเมื่อไร ต้องรู้ เราอาจจะบอกว่าเรานอนหลับ ไม่รู้อะไรเลย นั่นคือเรา แต่เมื่อจิตเกิดเมื่อไร ต้องเป็นธาตุรู้เมื่อนั้น แล้ว สิ่งที่ถูกจิต รู้ ก็คืออารมณ์

    เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะเข้าใจสภาพธรรม ไม่เอาเรื่องราวต่างๆ ไปผสม หรือไปคิดวนเวียน ข้างซ้าย ข้างขวา หรืออะไร ตัดออกหมดเลย ไม่มีซ้ายไม่มีขวา แต่จิตเกิดขึ้นทีละหนึ่งขณะ แล้วในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิตต้องเกิดที่รูป เพราะฉะนั้น ใครก็ตามที่เกิดที่นี่ จะบอกว่า มีจิตล่องลอยอยู่ ตรงโน้น ตรงนี้ไม่ได้ จิต ขณะที่เกิดต้องเกิดที่รูป ๑ รูปใด จิตดับเร็วกว่ารูป รูปจะมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ แล้วเราก็ลองคิดดูก็แล้วกันว่า เราจะรู้รูปไหน เฉพาะรูปที่ปรากฏ รูปใดที่ไม่ปรากฏ รูปนั้นเกิดแล้วดับแล้วหมด นี่คือการที่จะรู้ความจริงว่า ไม่มีอะไรเหลือ ไม่มีตัวตนทั้งแท่ง ไม่มีเราจริงๆ ที่กำลังจดจำไว้ ทรงจำไว้ตลอดชาติ ว่าเป็นเรายังไม่พอ ยังเป็นคนนั้น ยังเป็นคนนี้อยู่ ยังเป็นคุณพ่อ คุณแม่ เป็นเรื่องราวต่างๆ นี่ประโยชน์ ของการศึกษาธรรม คือให้เข้าใจธรรมจนถึงแก่น จนจรดกระดูก จนถึงความจริงแท้ๆ ว่า สภาพธรรม คืออย่างนี้ แล้วเราก็จะไม่ไป ไขว้เขว เพราะขณะนี้เหมือนเรากำลังนั่งในห้องนี้ แล้วก็เห็นหลายอย่าง แต่ตามความจริง มีจิตเห็น หลังจากเห็น จิตคิด แล้วความคิดจะมารวดเร็วมาก ไม่ว่าเห็นอะไร ความคิดติดตามทันที โลกนี้ถึงได้เป็นโลกที่กว้างใหญ่ มีคนมากมาย แล้วก็เที่ยง คือไม่ประจักษ์การดับ เพราะว่าสภาพธรรม ที่ดับ เร็ว แล้วมีสภาพธรรม อื่นเกิดแทนจนไม่เห็นเลย ว่าสภาพธรรม เมื่อกี้นี้ดับไปแล้ว

    การศึกษา ศึกษาเพื่อที่เราจะเข้าใจว่า การที่จะละกิเลส ละความสงสัย ละความไม่รู้ในสภาพธรรม ละการยึดถือสภาพธรรม ว่าเป็นตัวตน ก็ด้วยปัญญา ที่เข้าใจจริงๆ ไม่ใช่โดยการทำ เพราะฉะนั้น ปัญหาที่ว่าพวกเรา ทำไมถึงช่างสบาย ไม่เห็นต้องไปทำอะไรนุ่งขาวห่มขาว ไม่ต้องไปอยู่ในถ้ำ ไม่ต้องเข้าป่า ไม่ต้องไปนั่งในห้องแคบๆ เพราะว่าเขาไม่เข้าใจคำว่า อบรม แล้วเขาไม่เข้าใจลักษณะของปัญญาด้วย ว่าปัญญาสามารถที่จะรู้ถูกต้องตามความเป็นจริง ของสภาพธรรมทุกอย่าง ถ้าไม่อย่างนั้น ดับกิเลสไม่ได้ ขณะนี้ คนที่ศึกษาธรรมแล้ว ตอบได้ไหมว่าเห็นเป็นธรรม หรือเปล่า

    ผู้ฟัง เห็นเป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ เมื่อห็นเป็นธรรมแล้ว ปัญญารู้เห็นขณะนี้หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ปกติก็จะไม่มีปัญญา

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นปัญญาที่จะละกิเลส ต้องรู้ขณะนี้หรือเปล่า เพราะว่าขณะนี้ เป็นธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วจะให้ไปทำอะไรที่ผิดปกติ เพราะฉะนั้น เขาจะไม่เข้าใจความหมายของคำว่า อบรม เขาคิดว่าต้องไปทำอย่างสาหัส ผิดจากความเป็นจริง ผิดจากตัวนี้แท้ๆ แล้วคิดว่าจะไปรู้ธรรม นี้เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าคนที่เข้าใจอย่างนั้น ไม่รู้ลักษณะของปัญญา ไม่เข้าใจความสามารถของปัญญา ว่าปัญญาที่อบรมแล้ว เจริญแล้วมีกี่ระดับ ตั้งแต่ขั้นฟัง ขั้นพิจารณา ขั้นระลึก ขั้นประจักษ์แจ้ง แล้วยังอีกมากมายเป็นวิปัสสนาญาณ ขั้นต่างๆ ตั้งแต่ ขั้นพระโสดาบันก็ปัญญาระดับ ๑ พระสกทาคามี พระอนาคามี จนถึงอรหัตมรรคจิตก็อีกระดับ ๑ แล้วถึงพระอรหันต์ก็อีกระดับ ๑ เขาไม่มีความรู้ ไม่มีความเข้าใจ ความจริง เขามีตัวตนที่ทำแล้วหวัง คิดว่าจะรู้ เพราะทำอย่างนั้น อย่างนี้ อย่างมื่อเช้า ไม่ทราบใครฟังวิทยุหรือเปล่า กลัวโลภะ แต่โลภะ มีจริง มีใครรู้บ้าง หลังจากเห็นแล้วเป็นความต้องการ ความติดข้อง เป็นโลภะแล้ว แล้วถ้าไม่รู้ เป็นเรา ทิ้งเลย ไปทำอย่างอื่น ไม่มีทางที่เขาจะรู้ลักษณะของสภาพธรรม ตราบใดที่เขาไม่สามารถที่จะรู้ความจริง ของสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่สอดคล้องกับการศึกษาที่ว่าทุกอย่างเป็นธรรม ถ้าศึกษามาแล้ว ว่าทุกอย่าง เป็นธรรม ต้องรับความจริงว่า เห็นเป็นธรรม ขณะนี้เป็นธรรมได้ยินเป็นธรรม

    เพราะฉะนั้น ปัญญาต้องรู้ธรรม เพราะถ้าไม่รู้ธรรมขณะนี้ จะไปรู้ขณะไหน ไปสร้างอะไรขึ้นมาปลอมแปลง ผิดปกติที่จะรู้ ไม่มีทางที่จะเห็นโลภะเลย เพราะเหตุว่า หนีโลภะตลอด พอเกิดโลภะก็กลัว ทำอย่างโน้นขึ้นมาทันทีต้องไม่อย่างนี้ ต้องไม่อย่างนั้น เพราะไม่มีทางที่จะ พ้นจากความเป็นทาสของโลภะ ได้ เพราะเขาไม่รู้ว่า แม้โลภะ ก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง นี้คือปกติ เพราะเหตุว่าในสติปัฏฐาน จะมีคำว่า เป็นผู้มีปกติ แล้วปกติ ไม่มีการทำได้เลย เห็น ขณะนี้เพียงระลึกเกิดขึ้น ไม่ต้องไปที่อื่นเลย รู้ลักษณะที่กำลังปรากฏสั้นมาก ไม่ต้องทำอะไรเลย ถ้าทำหนีอีกแล้ว ไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนั้นทันที แล้วจะไปรู้เมื่อไร ก็วิ่งหนีไปเรื่อยๆ ทุกขณะโดยไม่รู้ตัวด้วย ว่ากำลังวิ่งหนี แล้วไปหาอะไร ไม่รู้ไปหาอะไร ลองตอบ ว่าไปหาอะไร

    ผู้ฟัง สำหรับคนที่เขาคิดว่าในชีวิตประจำวันเขา เขาพยายามอยู่อย่างไม่นอนห้องแอร์ ไม่แต่งตัว

    ท่านอาจารย์ เป็นตัวตน เจริญปัญญาด้วยความเป็นตัวตน เจริญเท่าไรก็เป็นตัวตนที่เจริญ ไม่มีทางเลย

    ผู้ฟัง อย่างเรานอนห้องแอร์ ไม่มีวันที่จะละกิเลสได้ คือปล่อยตามกิเลส

    ท่านอาจารย์ พระโสดาบัน เป็นใคร สมัยไหนก็ตามแต่ พระเจ้าสุทโธทนะ เป็นใคร เป็นพระโสดาบันหรือเปล่า พระนางเขมา หรือใครๆ ก็ตามแต่ มหาเสนาบดีของแคว้นวัชชี เป็นใคร เป็นพระโสดาบันหรือเปล่า ท่านเหล่านั้นไปนั่งที่ไหน ไปทำอะไรหรือเปล่า หนีอะไรไป ไม่รู้ความจริงไม่มีปัญญา ถ้าขณะนี้ เป็นสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่รู้แม้ลักษณะของสติ มีตัวเขาที่จะทำ เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่แล้วแต่บุคคล ใครจะอบรมอะไรก็แล้วแต่ คือมีพวกที่จะทำ กับพวกที่เข้าใจความหมายของ ภาวนา คือ อบรม จริงๆ รู้ว่าปัญญา สามารถที่จะรู้ เข้าใจสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ และการละ

    ในพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้า ตรัสว่า จักขุวิญญาณเที่ยงไหม แล้วมาถามทำไมถ้าต้องไปที่อื่น ก็เวลานี้ก็มีจักขุวิญญาณ แล้วจะไปถามกันที่อื่น แล้วที่ตรงนี้ไม่ถามหรือ ใครที่ไปเฝ้าตรงไหน ถามตรงนั้นหรือเปล่า หรือรอไว้ว่า ตรงนี้ไม่ถาม ให้ไปถามตรงอื่น ว่าจักขุวิญญาณที่ยงไหม โสตวิญญาณเที่ยงไหม ฆานะวิญญาณเที่ยงไหม ก็เป็นสภาพธรรม ธรรมดาซึ่งปัญญากับอวิชชา ต่างกันมาก คือ อวิชชาไม่สามารถที่จะรู้ความจริงได้เลย ใช้คำว่า ได้เลย โลภะ ความติดข้องทำให้คว้าอย่างอื่นต่อไป ไม่สามารถที่จะเข้าใจว่าสติระลึก รู้ลักษณะของสภาพธรรมขณะนี้ แล้วก็สภาพธรรมนี้ แหละดับหมด แล้วก็สติสามารถที่จะเกิดอีกระลึกอีก จนกว่า จะค่อยๆ เข้าใจขึ้น ตามปกติ ตามความเป็นจริง ถ้าอย่างนั้น จะดับ อาสวะได้อย่างไร เพราะอาสวะ ไม่ใช่อนุสัย ใช้คำว่า ขีณาสวะ การเห็นของเราคนธรรมดา ผู้ที่ยังไม่ได้อบรมเจริญปัญญาเลย คนที่ไม่ได้ฟังธรรมเลย กับคนที่ฟังแล้วค่อยๆ เข้าใจขึ้น แต่สติปัฏฐานก็ยังไม่เกิด แล้วคนที่สติปัฏฐานเกิดแล้ว แต่ยังไม่ไดประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรม มีปัญญาต่างระดับขั้น จนกระทั่งพอถึงความเป็นพระอรหันต์แล้ว หลังจากเห็นแล้ว กุศลจิตก็ยังเกิดไม่ได้ ต้องเป็นกิริยาจิต นี้แสดงให้เห็นถึงระดับขั้นของปัญญาว่า ปัญญาสามารถที่จะดับกิเลสได้ ไม่อย่างนั้น เวลาเห็นแล้วก็ต้องเป็นโลภะ ต้องเป็นโทสะ ถ้าปัญญาไม่เกิด จะดับได้อย่างไร แต่นี้ปัญญาต้องรู้ความจริงของสภาพธรรมตามปกติ กว่าจะละ ความเป็นเรา เป็นตัวตน แล้วเกิดอีกอย่างมากที่สุดเพียง ๗ ชาติ คิดดูแล้วกัน เกิดมาแล้วเท่าไร แล้วสภาพธรรม ขณะนี้ เวลาเรียนบอกว่าเป็นธรรม แล้วไม่ให้รู้ ใครไม่ให้รู้ ถูกหรือผิด แต่ถ้าสอนหนทางที่จะทำให้สติคืออะไร การระลึกคืออะไร เป็นปกติอย่างไร สติมีโอกาสจะเกิดได้ไหม ถ้าคนนั้นรู้ว่าสติปัฏฐาน คือ สิ่งที่กำลังเกิดปรากฏ แล้วก็สติระลึก ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏแล้ว แล้วสติระลึก ผิดหรือถูก จะต้องไปจำกัดกิเลส จะต้องไปไม่อยู่ห้องแเร์ จะต้องไปอะไรๆ ถูกหรือผิด มาจากไหน มีหรือเปล่า ข้อความเหล่านี้ในพระไตรปิฎก แต่ว่าตรงกันข้าม สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงที่กำลังปรากฏ เป็นประโยชน์ในที่ทั้งปวง ไม่เคยแสดงโทษของสติเลย ไม่มีที่ไหนที่แสดงโทษของสติ แล้วถ้าขณะนี้สภาพธรรมปรากฏแล้วสติ เกิด ดีหรือเปล่า หรือไม่ได้ ต้องไม่อยู่ห้องแอร์ ต้องออกไปก่อน แล้วสติถึงเกิดหรืออย่างไร นี่ยังไม่เห็นประโยชน์ หรือยังไม่เห็นสาระ หรือยังไม่เห็นความจริงของการที่จะกล่าวอย่างนั้นว่า กล่าวได้อย่างไร

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์จะแนะนำผมอย่างไรดี ฟังธรรมแล้ว พิจารณาตนเองมากๆ แทนที่จะพิจารณาผู้อื่น

    ท่านอาจารย์ ขอโทษคุณประทีป ดิฉันคิดว่าพวกเราสิ่งหนึ่ง ซึ่งอาจจะขาดบ้าง หรือบ่อย ก็คือความอดทน อดทนที่จะฟังความเห็นของคนอื่น อดทนที่เขาอาจจะพูดตามความคิดของเขา แล้วก็ฟังเขาไป ถึงเวลาที่เราพูดเราก็พูดได้เพราะแต่ละคนก็ต้องมีเวลาหยุด แล้วก็ถามความเห็นซึ่งกัน และกัน แต่อย่าไปคิดว่า เขาไม่ควรที่จะพูดอย่างนี้ หรืออะไรอย่างนั้น มันจะไม่เป็นประโยชน์ อะไรอย่างนี้ ให้เป็นหน้าที่ของเขาที่จะค่อยๆ พิจารณาไปแล้วตอนหลังเขาก็จะรู้ว่า เขาจะพูดเรื่องนี้หรือไม่พูด

    ผู้ฟัง ผมกำลังกราบเรียนเพียงว่า ถ้อยคำอันนี้ ก็คงจะเข้าไปจำเหมือนที่ผม จำว่า อย่าไปเพ่งเล็งผู้อื่น ให้เพ่งเล็งตัวเองมากกว่าผู้อื่น

    ผู้ฟัง ถ้าเผื่อถามความเห็นผม จริงๆ แล้วสติปัฏฐาน หรือว่าปัญญา มันยังไม่ค่อยมี คือยังไม่ได้ปฏิบัติ

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ปฏิบัติ แต่แนวทางที่เราจะพิจารณาหนทางก่อน เวลานี้มีหนทางหลายทาง หนทางไหนที่เราคิดว่าเป็นเหตุเป็นผล ที่จะทำให้ปัญญาเจริญได้จริงๆ แม้ว่าช้า ต้องช้า หรือจะเร็วได้ ลองคิดดูอย่างนี้ แล้วปัญญาสามารถจะรู้ความจริง ในขณะนี้ของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับได้หรือเปล่า ถ้าไม่ได้สอนทำไม เรื่องจักขุวิญญาณไม่เที่ยงสอนทำไม สอนให้คิดเฉยๆ หรือว่าให้ประจักษ์แจ้ง สามารถที่จะอบรมเจริญปัญญา จนถึงการที่จะประจักษ์แจ้งได้ นี่คือประโยชน์ ของการศึกษา มิฉะนั้นแล้วเป็นโมฆะบุรุษหมดเลย ฟังอย่างหนึ่ง แต่ปัญญาไม่ได้รู้ ตามความเป็นจริงอย่างนั้น หรือว่าเข้าใจผิดไป

    เพราะฉะนั้น เวลานี้เรายังไม่ต้องพูดถึงเรื่องการปฏิบัติอะไรเลยทั้งสิ้น พูดถึงหนทาง หนทางไหนเป็นหนทางที่ถูก เพราะว่ามรรคมี ๒ อย่าง มิจฉามรรค กับ สัมมามรรค ทรงแสดงไว้ชัดเจน มิจฉามรรค ๘ ด้วย สัมมามรรคมี ๘ มิจฉามรรคทรงแสดงไว้ ๘ เลย ให้เทียบเคียงได้ ว่าขณะไหนเป็นมิจฉามรรค ขณะไหนเป็นสัมมามรรค

    เพราะฉะนั้น คนอื่นเรื่องของเขา แต่ว่าเรามีโอกาสจะฟังมากมายเลย หนทางนี้ทนทางนั้นแล้วเราก็พิจารณา แล้วเราก็จะได้อบรมสิ่งที่ถูกว่า ตรงตามที่ทรงแสดง หรือไม่ตรง ถ้าไม่ตรงก็หมายความว่าคนนั้นคิดเอง เข้าใจเอง แล้วเราจะเชื่อคนที่เขาคิดเอง เข้าใจเอง เป็นวิธีง่าย เป็นวิธีลัด เป็นวิธีที่จะรู้ได้ หรือว่าการอบรมเป็นจิรกาลภาวนา รู้อะไร รู้สภาพธรรมขณะนี้ ที่กำลังปรากฏ ขณะข้างหน้า ยังไม่มาถึงเลย ขณะก่อนก็ดับไปหมดแล้ว สิ่งใดที่กำลังปรากฏ สติเป็นสภาพที่ระลึกรู้ เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจว่าสติไม่ใช่สมาธิ ไม่ใช่เจตนา ไม่ใช่เราจะทำ แต่ว่า รู้ว่าขณะนั้น ต้องมีปัจจัยที่สติปัฏฐานเกิด สติปัฏฐานจึงเกิดได้ แต่ถ้าไม่มีไปบอกให้นั่งทำกัน ก็ไม่ใช่สติปัฏฐาน ไม่ใช่ปัญญา เพราะว่าเป็นเรื่อง การอบรมเจริญปัญญาจริงๆ ต้องรู้ว่าปัญญารู้อะไร เพราะสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วไม่รู้ เมื่อไรจะรู้ เมื่อไร วันไหน ไม่มีทาง ถ้าขณะนี้ไม่อบรม

    ผู้ฟัง ที่อาจารย์ พูดหมายความว่า ไม่ต้องไปหลีกหนีอะไรทั้งนั้น เมื่ออารมณ์อะไรมันเกิดมา ก็ปล่อยให้มันเป็นไปตามปกติ เราก็รู้ อารมณ์นั้น ก็หมายความว่า เจริญได้ทุกอารมณ์ ทีนี้ก็ที่พระพุทธเจ้า ท่านบัญญัติไว้ในพระวินัยต่างๆ วินัยสำหรับพระ วินัยสำหรับฆราวาส อย่างเช่น ไม่ให้นอนที่นอน ไม่ให้ใช้เครื่องสำอางต่างๆ แล้วก็ไม่ให้ดูมหรสพ ดูทีวี ดูอะไรพวกนี้ ไม่ทราบว่าเพื่อจะให้หลีกอารมณ์ ที่มันรุนแรงหน่อย ไปสู่อารมณ์ที่อาจจะมีโลภะ อะไรต่ออะไร น้อยลงหน่อย แล้วก็ให้ไปสู้กันในขณะนั้น อาจจะให้หลีกออกไปในที่สงบ สงัด ไม่ทราบว่าท่านอาจารย์ มีความเห็นอย่างไร ผมก็ยังไขว้เขวอยู่

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าโดยมาก คนศึกษาธรรม ไม่ได้พิจาณาละเอียดมากๆ พอเห็นว่าเป็นวินัย ก็คิดว่าควร จะทำ บัญญัติไว้อย่างนั้น อย่างนี้ แต่มองลึกลงไปอีกว่า เพราะอะไร จึงทรงแสดงอย่างนี้ หรือทรงบัญญัติอย่างนี้ เพื่อให้เห็น ความลำบาก ความยากของการที่จะอบรมเจริญปัญญา แม้เป็นภิกษุ ก็แสดงให้เห็นว่า ความยากของการที่จะรู้แจ้งสภาพธรรม ถึงอย่างนี้ๆ ๆ

    คฤหัสถ์ไม่ต้องพูดถึงเลย ว่าจะต้องยาก แต่ว่าคฤหัสถ์ที่อบรมเจริญปัญญามาแล้วในอดีต สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ในขณะที่พระภิกษุทำตามวินัยทุกอย่างแล้ว ไม่บรรลุ เป็นอย่างนี้หรือเปล่า มีจริงๆ หรือเปล่า เพราะฉะนั้น ขึ้นอยู่กับอะไร ขึ้นอยู่กับปัญญาตัวเดียว ที่ว่าปัญญาอบรมพอที่จะรู้แจ้งสภาพธรรม หรือเปล่า เพราะฉะนั้น แต่ละคนรู้จักตัวเองตามความเป็นจริงว่า คนที่บวช ไม่ใช่ไปถูกบังคับ แต่หมายความว่า เขาสามารถที่จะรู้อัธยาศัย อย่างท่าน รัฐปาละ ท่านก็รู้อัธยาศัยว่าท่านจะสะสมปัญญาในเพศบรรพชิต ท่านมองเห็นภัย ขณะที่พวกคฤหัสถ์ไม่เห็น

    หิริโอตตัปปะ มีมากมายหลายระดับขั้น แต่ว่าหิริ โอตตัปปะ แรกก็คือละอายที่จะไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม ไม่ใช่ไปละอายอย่างอื่นเลย อย่างพระโสดาบัน ชีวิตของท่านยังมีความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ท่านเป็นพระโสดาบันแล้ว รู้แจ้งอรัยสัจธรรมแล้ว แต่ท่านไม่หลงตัว ว่าท่านเป็นพระสกทาคามี หรือพระอนาคามี ท่านรู้สภาพธรรม ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น แม้พระโสดาบันยังเป็นอย่างนี้ แต่สามารถเป็นพระโสดาบันได้ด้วยปัญญา เพราะฉะนั้น คนธรรมดาที่ไม่ใช่พระโสดาบัน จะไม่มีความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อย่างพระอนาคามีหรือ เป็นไปไม่ได้เลย คนธรรมดาที่ไม่ใช่พระโสดาบัน แล้วจะไปเป็นอย่างพระอนาคามี เป็นไปไม่ได้ จะพยายามสักเท่าไรก็เป็นไปไม่ได้ เพราะอนุสัยกิเลสอื่น

    การที่จะเห็นโทษ ก็ควรจะเห็นโทษของความไม่รู้ และอบรมเจริญความรู้ ซึ่งทรงแสดงไว้ว่า ไม่ว่าจะเป็นอุบาสก อุบาสิกา ภิกษุ ภิกษุณี บรรพชิต คฤหัสถ์ อบรมเจริญปัญญาได้ รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ เพราะฉะนั้น ในเมื่อเราเป็นคฤหัสถ์ ชีวิตจริงๆ เราเป็นอย่างนี้ แล้วเราพยายามไปทำอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่เพศของเรา ด้วยความหวังว่า ถ้าทำอย่างนั้นแล้วปัญญาจะเกิด แต่หนทางนี้ที่ยาก แล้วก็ลึกซึ้งเพราะเหตุว่า เป็นหนทางละ ความหวัง ถ้ายังมีความหวังอยู่ตราบได้ แม้เพียงเล็กน้อย ก็ไม่ถึง ในอริยสัจ ๔ สมุทัย คือโลภะ เป็นสิ่งที่จะต้องละ ตั้งแต่ต้น ละหนทางผิดก่อน ไม่ใช่ไปละอย่างอื่น แต่ถ้าไปด้วยหนทางผิด อย่างไรๆ ก็ไม่มีทางที่จะรู้ แจ้งสภาพธรรมได้ เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นก็ต้องพิจารณาว่า หนทางไหนถูก และหนทางไหนผิด ในเรื่องของการอบรมเจริญปัญญา

    ผู้ฟัง เหตุใดในพระไตรปิฎก ท่านจึงทรงแสดงว่า ต้องไปหลีกเร้น แล้วก็คนสมัยใหม่ ก็ตามเข้าป่ากันไปหลีกเร้น เกิดปัญญา ซึ่งก็ไม่ใช่ ไม่ใช่ทาง อยากจะทราบเหตุผลว่าทำไม ในสมัยพุทธกาล ท่านให้หลีกเร้นไปในป่า

    ท่านอาจารย์ หลีกเร้นด้วยปัญญา ไม่ใช่หลีกเร้นด้วยความไม่รู้ ขณะนี้สติเกิด ปฏิปัตติ ถึงเฉพาะลักษณะของสภาพธรรมทีละอย่าง ขณะนั้นจะไม่มีคุณสุรีย์ หรือไม่มีใครอยู่ที่นี่ แต่ขณะนั้นสติระลึกที่แข็ง หรือว่าที่คิด หรือว่าที่เห็น หรือที่ได้ยิน ขณะนั้นสภาพธรรมปฏิบัติไม่ใช่เราจะทำ

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 100
    23 มี.ค. 2567