ปกิณณกธรรม ตอนที่ 463


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๔๖๓

    สนทนาธรรม ที่ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

    พ.ศ. ­๒๕๔๐


    ผู้ฟัง มีพระอาจารย์ ที่รักษาโรคให้ผู้อื่นโดยใช้พลังจิต ไม่ทราบว่าท่านอาจารย์ ว่าเป็นสิ่งที่น่าเชื่อถือได้หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ไม่ทราบ สงสัยเรื่องพลังจิต หรือเปล่า ถ้าเราทราบว่า เอกัคคตาเจตสิกเป็นสภาพที่ตั้งมั่นในอารมณ์ แล้วถ้าตั้งมั่นในอารมณ์ใดบ่อยๆ ก็ทำให้เป็นจิตที่เป็นสมาธิ เมื่อเป็นสมาธิแล้วก็มีกำลังมากกว่า ขณะที่ไม่เป็นสมาธิ แต่ว่าเป็นสมาธิ ประเภทมิจฉาสมาธิ หรือว่าสัมมาสมาธิ แล้วยังต้องประกอบด้วย สภาพปัจจัยอื่นด้วย ในการรักษาโรคแม้ว่าเราจะมียา อย่างเทียบกับสมัยปัจจุบัน แต่ไม่ใช่ทุกคนกินยาอย่างเดียวกันแล้วหาย แม้ว่าอาการของโรคจะคล้ายคลึงกัน นั่นก็แสดงให้เห็นว่า ถึงแม้ว่าจะมีสมาธิ ก็ไม่ใช่ว่าจะไปสามารถทำสิ่งหนึ่ง สิ่งใดที่จะทำให้พ้นจากกรรมของบุคคลนั้น แต่เป็นเพียงปัจจัยหนึ่ง ซึ่งก็แล้วแต่ว่า เหมือนกับการรับประทานยา จะต้องการธาตุไฟเพิ่มขึ้น หรือว่าจะเป็นธาตุดินหรืออะไรก็แล้วแต่ ก็เป็นเรื่องของสภาพของจิต ซึ่งมีพลัง เพราะเหตุว่ามีความตั้งมั่นในอารมณ์ หนึ่งอารมณ์ใดนานๆ แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้ว เรื่องของสมาธิ ก็เป็นเรื่องที่จะต้องศึกษา ให้ชัดเจนว่า ขณะนั้นเป็นสัมมาสมาธิ หรือเป็นมิจฉาสมาธิ และไม่ควรจะตื่นเต้นกับผลเพียงเล็กน้อยจากสมาธิ ถ้าเทียบกับทางโลกเวลานี้ คนที่สร้างจรวดยานอวกาศต่างๆ ไปโลกต่างๆ ได้ เขาทำสมาธิ หรือเปล่า หรือว่าเขาอาศัยการที่เขาได้ศึกษา เรื่องราวต่างๆ ทางวิชาการ ไม่ใช่เป็นการนั่งทำสมาธิ อย่างคนที่คิดว่า สมาธิจะมีพลัง แต่เขาก็ยังอาศัยส่วนประกอบจากการศึกษาทางด้านวิชาการ สามารถทำสิ่งซึ่งเราคงจะอัศจรรย์ พวกคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ไร้สาย อะไรๆ อีกสารพัดอย่าง เกิดจากจิต แสดงให้เห็นว่า จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์เท่านั้นจริงๆ แต่ต้องมีเจตสิกอื่นๆ แล้วทางด้านอื่นๆ ด้วย เพราะเหตุว่าทางด้านทางโลก ทางวิทยาการสมัยใหม่ ยังสามารถที่จะวิจิตรได้อย่างนั้น แต่ถ้าเป็นฝ่ายกุศลจิต ความน่าอัศจรรย์ของสภาพของจิตซึ่งไม่มีกิเลส จะมากมายสักเพียงไหน เพราะฉะนั้น ในพระไตรปิฎก จะมีคำว่า พระผู้มีพระภาค หายจากพระเชตวัน สู่พรหมโลก ชั่วลัดนิ้วมือเดียว หรือว่าเพียงจากแขนที่ยื่นออกไปแล้วงอเข้ามา สามารถที่จะะเป็นไปได้ไหม่ในเมื่อเวลานี้ ความรวดเร็วของทุกสิ่งทุกอย่างก็ยังปรากฏ ให้เราเห็นได้ว่าเป็นไปได้ จากคนซึ่งไม่รู้สภาพธรรม และคนที่ยังมีกิเลสเต็ม แม้แต่เอกัคคตาเจตสิกของเขาก็เป็นเอกัคคตาเจตสิกขั้นอกุศล ไม่ใช่ขั้นกุศล เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ถึงเรื่องความหลากหลายของจิต แล้วก็การที่เราจะคิดว่าพลังของจิต จะมีไหม มีได้ทั้งฝ่ายอกุศล ทั้งฝ่ายกุศล แต่ว่าถ้าเป็นฝ่ายกุศลจริงๆ แล้วต้องมากมายมหาศาลกว่ามากจริงๆ

    ผู้ฟัง ขอกราบเรียนท่านอาจารย์ คือยังมีความต้องการ ความกระจ่างเพิ่มขึ้นอีกนิด เกี่ยวกับเรื่องว่าอารมณ์ก่อนจุติจิต ดูเหมือนว่าจะสำคัญมาก เพราะว่าจะทำให้ไปสู่ การปฏิสนธิต่อไป มีความสืบเนื่องกัน ตรงนี้ ขอความกระจ่างตรงนี้ด้วย

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้กำลังเห็น กรรมไหนทำให้เห็นเดี๋ยวนี้ ยากแสนยาก ไม่มีใครสามารถจะรู้ได้เลย แต่เห็นมีแล้ว เป็นผล เป็นวิบาก นี้เราทราบได้ว่า มีวิบากทางตา ๒ ประเภท คือ กุศลวิบาก กับ อกุศลวิบาก แม้ขณะนี้ยังไม่รู้ว่าเป็นผลของกรรมใด ตอนใกล้จะตายจริงๆ เป็นผลของกรรม ๑ ในชาตินั้นหรือก่อนชาตินั้นก็ได้ ซึ่งสามารถจะเป็นปัจจัยทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด สืบต่อจากจุติจิต เพราะฉะนั้น กรรมที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเป็น ชนกกรรม คือกรรมที่ทำให้เกิด ทำให้ปฏิสนธิเกิดสืบต่อ จากจุติจิต เพราะฉะนั้น การที่เราใกล้จะตายจริงๆ รวดเร็วมากเหลือเกิน ไม่รู้เนื้อรู้ตัว อย่างที่ว่าจะต้องมาเตรียมตาย ถ้าเตรียมอยู่ก็ไม่ตาย เพราะว่าตอนตาย เป็นเรื่องของกรรมที่จะทำให้จุติจิตเกิด ที่ภาษาไทยเราใช้คำหนึ่งที่เหมาะมาก คือว่า ถึงแก่กรรม แต่ว่าสั้นก็ต้องให้เข้าใจด้วย ถึงแก่กรรมหมายความว่าถึงแก่การที่กรรมนั้น สิ้นสุดที่จะให้ผล เป็นบุคคลนั้นอีกต่อไป สิ้นสุดสภาพที่จะให้ผลเป็นบุคคลนั้น เพราะฉะนั้น กรรมที่จะทำให้ปฏิสนธิ ซึ่งเป็น ชนกกรรม เราไม่สามารถจะรู้ได้ เหมือนขณะนี้ ที่เราเห็น เราก็ไม่สามารถจะรู้ได้ว่าเป็น ผลของกรรมอะไร ฉันใด ตอนที่ใกล้จะตายจริงๆ ใครจะรู้ ว่าจะเห็นอะไร จะได้ยินอะไร เพราะว่าเป็นเรื่องของกรรม ที่จะทำให้อารมณ์นั้นปรากฏ เมื่ออารมณ์นั้นปรากฏแล้ว จะเศร้าหมอง หรือผ่องใส ก็เป็นเรื่องของการสะสมที่ว่า กรรมที่เป็นชนกกรรม เมื่อเป็นอกุศลกรรม แม้อารมณ์นั้นปรากฏ ก็ทำให้มีความโลภ หรือมีความโกรธ หรือว่ามีการที่จะเป็นอกุศลในขณะนั้น จิตเศร้าหมองด้วยอกุศล เป็นปัจจัยให้ อกุศลวิบาก ปฏิสนธิ ถ้าก่อนจะตายจริงๆ ซึ่งเราไม่รู้ แล้วก็จิตผ่องใสเป็นกุศล เป็นปัจจัยให้กุศลวิบากปฏิสนธิ ทั้งหมดเป็นเรื่องของธรรม เป็นเรื่องซึ่งไม่มีใครเป็นตัวตน ที่จะไปเลือก หรือว่าจะไปบังคับบัญชาได้ เพราะฉะนั้น แม้แต่ พระนางมัลลิกา พระมเหสีของพระเจ้าปเสนทิโกศลท่านก็เป็นผู้หญิงที่มีปัญญา แล้วก็ได้ทำบุญไว้มาก ท่านก็เกิดในนรก ๗ วัน

    ผู้ฟัง เมื่อกี้ที่ท่านว่า เอกัคคตาจิต จะต้องเป็น กุศลจิต ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เอกัคคตาเจตสิก เป็น เจตสิกที่เกิดกับจิตทุกประเภท ทุกขณะ เป็นกุศลก็มี เป็นอกุศลก็มี

    ผู้ฟัง ปัจจุบันนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ คนส่วนใหญ่ เขาก็กำลังสนใจเกี่ยวกับเรื่องการเจริญสติ การภาวนา การทำสมาธิ มาถึงวันนี้ ณ ขณะนี้ ท่านก็ได้ให้ข้อคิด และฉุกคิดว่า จะต้องเป็นสมาธิที่มาจาก เอกัคคตาเจตสิก

    ท่านอาจารย์ ที่เป็น สัมมาสมาธิ

    ผู้ฟัง ที่เป็น สัมมาสมาธิ จะขอความกรุณาท่านสรุป ลักษณะสัมมาสมาธิ ที่เราควรจะตระหนักกันไว้ ลักษณะเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เอกัคคตาเจตสิก หรือสมาธิ เกิดกับอกุศลก็เป็นอกุศลสมาธิ มิจฉาสมาธิ ถ้าเกิดกับกุศลจิตก็เป็นกุศล หรือสัมมาสมาธิ เพราะฉะนั้น สำคัญที่จิต ว่าเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล หรือสำคัญที่สภาพ เจตสิกฝ่ายดี หรือฝ่ายไม่ดีที่เกิดกับจิต

    ผู้ฟัง สภาพดังกล่าวที่จะบอกว่าเป็น สัมมาสมาธิ ที่ท่านว่าจะต้องมีองค์ประกอบสำคัญ คือต้องเป็น เอกัคคตาเจตสิก

    ท่านอาจารย์ ตัวเอกัคคตาเจตสิก เป็น สมาธิเจตสิก

    ผู้ฟัง เป็นสมาธิเจตสิก นอกจากนี้ ไม่ใช่สมาธิ

    ท่านอาจารย์ ปัญญา ไม่ใช่สมาธิ สติ ไม่ใช่สมาธิ เพราะฉะนั้น เจตสิก ๕๒ ชนิด จะแยกออกมาเป็นแต่ละ ๑ อย่าง แม้ว่าจะเกิดร่วมกัน อย่างจิตขณะ ๑ จะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยอย่างน้อยที่สุด ๗ ชนิด ๗ ประเภท รวมเอกัคคตา ๑ เจตนา ๑ เวทนา ๑ สัญญา ๑ แล้วยังมีเจตสิกอื่น

    ผู้ฟัง ต้องดูให้เป็น ๑ เดียว

    ท่านอาจารย์ อย่างละหนึ่ง ละหนึ่งเจตสิกแต่ละประเภท เรื่องของการที่จะเจริญ ความสงบ เป็นสมถภาวนา หรือว่าเจริญปัญญาที่เป็น วิปัสสนาภาวนา หรือสติปัฏฐาน เป็นเรื่องของปัญญาที่เห็นโทษของอกุศล ไม่ใช่ว่าใครก็ตาม ไม่รู้เรื่องอะไรเลย แล้วก็อยากทำสมาธิ แล้วก็มานั่งทำสมาธิกัน ขณะนั้นเป็นด้วยโลภะ มิจฉามรรค หรือมิจฉาสมาธิ ต้องเกิดกับความต้องการ มีความต้องการพอใจที่จะทำ มีความหวังมีความติดข้องจึงทำ แต่ถ้าเป็นเรื่องของปัญญาแล้ว จะไม่ใช่ด้วยความหวัง หรือว่าไม่ใช่ด้วยความต้องการ แต่เป็น เรื่องที่เห็นโทษของอกุศล แล้วแต่ว่าระดับขั้นว่า เห็นโทษของอกุศลประเภทใด

    ผู้ฟัง อย่างสมมติว่าในช่วงชีวิต ๑ ในวันหนึ่ง ของผม ผมมีความรู้สึกว่า ช่วงนี้มันเครียดเหลือเกิน ผมอยากจะผ่อนคลาย (Relax) อยากจะสบายๆ นั่งพักผ่อน ทำใจให้สบายๆ ตามที่ท่านอาจารย์ท่านบอกว่าจะเอาอะไรเป็น อารมณ์ก็ได้ ไม่วาจะนับ ๑ ๒ ๓ หรือจะพิจารณาลมหายใจ เข้าออก สั้นยาว หนักเบา หรือแม้กระทั่ง ยุบหนอ พองหนอ แต่จุดหมายผม สำหรับผมเองอยากจะพักผ่อน เท่านั้นเอง ให้มันสบายเท่านั้นเอง คงจะไม่ไกลถึงปัญญาอย่างที่ท่านว่า เพราะยังไม่ได้ศึกษา

    ท่านอาจารย์ มิจฉาสมาธิ ยากหรือง่ายคะ มิจฉาสมาธิ

    ผู้ฟัง มันคงจะง่ายกว่า

    ท่านอาจารย์ ง่ายแสนง่าย ไม่ต้องทำอะไรเลย เพียงแค่ อยาก ก็เป็น มิจฉาสมาธิแล้ว แต่ที่จะเป็น สัมมาสมาธิ ไม่ง่ายอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ก็อยู่ที่ว่าเราต้องการ มิจฉาสมาธิ หรือ สัมมาสมาธิ แล้วมิจฉาสมาธิ ไม่ต้องมีปัญญาเลย ทุกประเทศ ทุกชาติมีสมาธิ รูปแบบต่างๆ เพราะว่าไม่ต้องทำอะไรยากเลย สักอย่างเดียวง่ายๆ บางคนก็บอกนั่ง จริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องของท่าทาง แต่เป็นเรื่องของจิต ผู้นั้นต้องมีปัญญารู้ว่าจิต ที่สงบเป็นกุศล ต่างกับจิตที่ไม่สงบ เป็นอกุศลอย่างไร ต้องประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ ไม่ใช่เพียงประมาณเอาว่าขณะนี้ เป็นอกุศลไม่ได้ เพราะว่าจริงๆ แล้วเกิดสลับกันได้เร็วมาก เพราะฉะนั้น ผู้นั้นจึงต้องประกอบด้วยปัญญาที่คมไว ที่จะสามารถจะรู้ตัวจริง คือ สภาวะของจิต ว่าเป็นกุศล หรือเป็น อกุศล แล้วจึงจะค่อยๆ ละอกุศล แต่ถ้าเราไม่รู้ เราทำไปด้วยความต้องการ ก็คือว่า โลภะ เป็นฝ่ายอกุศลที่มีความต้องการ เพราะคนเรา มีโลภะมากมายมหาศาลใน รูปแบบต่างๆ อย่างท่านพระภิกษุทั้งหลาย ท่านก็อาจจะละ อาคารบ้านเรือน ละวงศาคณาญาติ ละอาหารอร่อย ละฟุตบอล ละอะไรทุกอย่าง แล้วยังมีอะไรอีกที่ท่านต้องการ มีไหม ละไปอย่างนั้นแล้ว

    ผู้ฟัง ท่านก็อยากจะสงบของท่าน

    ท่านอาจารย์ นั่นสิ ท่านก็ต้องอยากสงบ หรือท่านก็ยังอยากจะได้ผลของการปฏิบัติ ซึ่งไม่ใช่ปัญญา การอยากได้ทั้งหมดไม่ใช่ปัญญา ปัญญาต้องเป็นเรื่องรู้ ความจริงแล้วละความอยาก มิฉะนั้นโลภะ จะไม่เป็น สมุทัย

    ผู้ฟัง ขออนุญาต เพราะฉะนั้น ถ้าเผื่อท่านอยากจะ ท่านใช้คำว่า ต้องใช้ปัญญา

    ท่านอาจารย์ มิได้ ต้องอบรมเจริญ ให้มีขึ้น

    ผู้ฟัง ปุถุชนทั่วไป คงจะไม่มี ยังไม่เห็นปัญญาอย่างที่

    ท่านอาจารย์ ไม่มี

    ผู้ฟัง เพราะจะต้องเริ่มต้นด้วย อยาก อย่างน้อยๆ ก็อยากจะสงบ อยากจะพักผ่อน อยากจะสบาย คงจะมองไม่เห็น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่สัมมาสมาธิในคำสอนของพระพุทธเจ้า ในพระพุทธศาสนา แต่เป็นสมาธิทั่วไป ทั่วโลกที่เขาทำด้วยความอยาก ไม่ว่าชาติไหน ถ้าทำสมาธิโดยที่ไม่มีปัญญา แล้วต้องเป็นไปด้วยความอยากหรือความต้องการทั้งหมด จะบอกว่าไม่ต้องการ ไม่ได้เลย

    ผู้ฟัง ผมว่าทุกวันนี้ เขาก็คงจะต้องเริ่มต้น อย่างนี้ ผมคนหนึ่งมานั่งตรงนี้

    ท่านอาจารย์ ทุกชีวิตเกิดมา เพราะมี อวิชชา แต่ว่ามีหนทางที่จะละอวิชชา เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าเมื่อเราทุกคนมี อวิชชา เกิดมา แล้วเราก็จะต้องมีอวิชชาไปเรื่อยๆ ถ้าเราไม่มีโอกาสที่จะได้ฟังพระธรรม เราก็คงจะต้องมี อวิชชาต่อไป แต่ว่าเมื่อมีโอกาสได้ฟังพระธรรมแล้ว มีโอกาสที่วิชชาจะเกิดแล้วก็จะเจริญขึ้น เพราะฉะนั้น เมื่อเราทราบอย่างนี้ก็มีทางเดียงคือ ฟังหรือศึกษา คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเรานับถือ และยกย่องว่าพระองค์ เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจริงๆ คำนี้ไม่ใช่ว่ามารดาหรือบิดาตั้งให้ ใครตั้งให้ ใครอยากจะเรียกใครว่าเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้เลย เพราะเหตุว่า เป็นพระคุณนาม ต้องสำหรับผู้ที่ ได้ตรัสรู้ด้วย พระญาณจริงๆ ถึงระดับขั้นที่เป็นสัมมาสัมพุทธเจ้าจึง จะมีพระนามอย่างนี้ได้ ถ้าเราเข้าใจความหมายอย่างนี้ แล้วเราจะศึกษาไหม ในเมื่อทรงแสดงพระธรรมไว้ให้เราในยุคนี้ ได้มีโอกาสได้รู้ว่านี้คือพระธรรมจากพระโอษฐ์ ทรงแสดงอย่างนี้ ทรงชี้แจงอย่างนี้ ความจริงเป็นอย่างนี้ก็ตรวจสอบได้ แทนที่เรามีอวิชชา แล้วก็ไม่แสวงหาวิชชา แล้วก็ปล่อยให้มีอวิชชาต่อไป

    ผู้ฟัง ผมก็ว่าทั่วๆ ไป ที่เริ่มเข้ามาก็คงจะเป็นประเภท มีกิเลสด้วยกันทุกคน แล้วก็คงมีอวิชชาด้วย

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง แต่ไม่รู้ว่านี่คืออวิชชา แล้วนี่คือกิเลส อย่างน้อยๆ ถ้าเผื่อเข้ามาก็ต้อง อยากจะรู้ อยากจะฟัง อยากจะซัก อยากจะถาม ผมว่าตรงนี้ เริ่มต้น ตอนแรกก็ไม่รู้ นี่คืออวิชชา เพราะความไม่รู้ถึงอยากจะรู้ อยากจะซัก อยากจะถาม

    ท่านอาจารย์ แต่ ต้องเป็นผู้ที่เห็นประโยชน์ว่าจะรู้ได้อย่างไร

    ผู้ฟัง แต่สิ่งแรกต้องเริ่มต้นจาก อยากรู้ก่อน เมื่ออยากรู้แล้ว เราเอาความรู้นั้น ไปปฏิบัติ จนกระทั่งเห็นประโยชน์ นั่นแหละถึงจะ

    ท่านอาจารย์ เราใช้คำว่า อยาก ในภาษาไทย แต่สภาพธรรม ต่างกันเป็น ๒ อย่าง คือ โลภเจตสิก เป็นสภาพที่ติดข้อง แต่ฉันทเจตสิกไม่ใช่โลภเจตสิก เป็นความพอใจที่จะกระทำ

    ผู้ฟัง ตัวนี้ก็เป็นตัวเดียวกับศรัทธาไหม

    ท่านอาจารย์ ศรัทธาก็เป็นเจตสิก ๑ ใน ๕๒

    ผู้ฟัง ตัวเดียวกัน

    ท่านอาจารย์ ไม่ ๑ ใน ๕๒ ศรัทธาเป็น ๑ เจตสิก ฉันทะ เป็น ๑ เจตสิก โลภะ เป็น ๑ เจตสิก บางทีเราใช้คำว่าสงบในภาษาไทย แต่ว่าสภาพธรรม จริงๆ เป็นอกุศล ในขณะนั้น ที่เราใช้ว่าสงบ เวลาที่เราไม่มีโลภะ ความติดข้อง แล้วก็ไม่มีโทสะด้วย ดูเหมือนสงบ เพราะไม่มี ๒ อย่างนี้ แต่ความจริงเป็นอกุศลประเภทหนึ่ง คือโมหมูลจิต เพราะว่าไม่มีปัญญาขณะนั้นที่ จะรู้ความจริง เพราะฉะนั้น สิ่งที่เรามองดูเสมือน หรือเสมอกับที่เราเข้าใจว่า เป็นความสงบความจริงไม่ใช่ เป็นอกุศล

    สนทนาธรรม ที่ ซอยนวลน้อย ถ.เอกมัย

    พ.ศ. ๒๕๔๑


    ผู้ฟัง ถ้าเป็นผู้ที่เราเคารพนับถือ ทุกคนถ้าได้รับคำถามอย่างที่ผมได้รับนี้ จะมีความรู้สึกอย่างไร ผมจำได้ว่า คราวที่แล้ว ที่นี่ มีอยู่ท่านหนึ่ง ได้พูดว่าผมเลิกไปวัดแล้ว จำกันได้ไหม ต่อๆ ไปผมจะไม่วัดอีกแล้ว ผมจำไม่ผิดอย่างนี้ ผมว่าเสียหายมากๆ เลย เพราะฉะนั้น ผมจึงอยากจะวิงวอน อยากจะขอร้อง ว่า บุคคลใดก็ตาม ถ้าเกิดพูดถึงเรื่อง พระขึ้นมาในทางที่ว่ามันไม่จบเสียทีประเด็นนี้ ยาวเป็นชั่วโมง ถ้าสมมติว่า บันทึกเทป ออกเทปไป ความเสียหายจะเกิดขึ้นกับพวกเราทุกคน คือเขามีความคิดหันหลังให้วัด หันหลังให้พระอย่างนี้ ผมไม่เข้าใจว่า สถานการณ์ เช่นนี้ควรจะแก้ไขกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ต้องขอขอบคุณอาจารย์ ที่ทำให้เราได้มีโอกาส ทำให้คนอื่นได้เข้าใจความจริงใจ และความคิดของเรา แต่ว่าขอให้อาจารย์ พูดถึงเป็นข้อๆ ได้ไหม จะได้ทราบว่าจุดไหนที่เขาไม่เข้าใจ เพราะว่าถ้าฟังเทป จะมีอยู่ตอนหนึ่ง ที่ดิฉันกล่าวไว้ในเทปว่า มีคนถามดิฉันว่า ดิฉันนับถือพระภิกษุรูปไหน เหมือนกับที่จะให้เจาะจง ว่ารูปนี้ รูปนั้น ต้องการที่จะให้รู้ว่า รูปนี้มีปฏิปทาถึงกับดิฉันนับถือ หรืออะไรอย่างนั้น แต่ไม่ใช่อย่างนั้นเลย ดิฉันตอบว่า ดิฉันเคารพพระคุณเจ้าทุกรูป ที่ไม่มีเจตนาที่จะละเมิดพระวินัย เพราะเหตุว่าการที่จะเป็นพระภิกษุ ต้องศึกษาพระวินัย ต้องทำตามพระวินัย เพราะเหตุว่าชีวิตของพระต่างกับชีวิตของคฤหัสถ์ เพราะฉะนั้น ถ้าจะพูดถึงความเคารพก็จะต้องเคารพบุคคลซึ่งไม่มีเจตนาที่จะล่วงพระวินัย ถ้าจะล่วงพระวินัยโดยที่ไม่ได้ศึกษามีมาก เพราะว่าบางท่านบวชก่อน แล้วก็ไม่ได้ศึกษาพระวินัยเลย บางท่านก็บอกว่า ตอนบวชไม่ทราบเลย พระภิกษุรับเงินทองไม่ได้ แต่ว่าเมื่อบวชแล้วศึกษาพระวินัยแล้ว จึงได้เข้าใจว่า สำหรับพระภิกษุ ต้องเป็นผู้ที่ไม่ยินดีในเงิน และทอง นี่เป็นการกล่าวตรงตามพระวินัยทุกอย่าง เพราะฉะนั้น เวลานี้ชาวพุทธเราคงจะมีส่วนน้อยมาก ที่ศึกษาพระธรรม และพระวินัยด้วย คือบางท่านก็อาจจะศึกษาบางส่วน แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้วผู้ที่เป็นพุทธศาสนิกชน พุทธบริษัท ต้องเกื้อกูลซึ่งกัน และกัน คฤหัสถ์ก็ต้องเกื้อกูลบรรพชิต บรรพชิตก็เกื้อกูลคฤหัสถ์ ตามวินัย ตามธรรม ถ้าคฤหัสถ์จะเกื้อกูลพระภิกษุก็คือว่า มีความเข้าใจให้ถูกต้อง ในพระวินัย พอที่จะไม่ทำสิ่งซึ่งเป็นการส่งเสริมให้พระภิกษุผิดพระวินัยต่อๆ ไป เพราะฉะนั้น ใครจะมีความคิดอย่างไรก็ต่างคนต่างคิด แต่ผู้ที่เคารพในพระรัตนตรัยเหนือสิ่งอื่นใด ก็ต้องพยายามที่จะช่วยให้ผู้ที่ประพฤติผิดพระวินัยได้ประพฤติถูก ด้วยความหวังดี แต่ไม่ใช่ด้วยการที่แสดง ความไม่เคารพ หรือว่าด้วยการก้าวร้าว เพราะว่าสำหรับดิฉันเอง ทุกครั้งที่ดิฉันเจอพระภิกษุ ดิฉันก็เคารพนอบน้อมทุกรูป ในฐานะที่ระลึกถึงพระสังฆรัตน แล้วดิฉันจะไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวของพระแต่ละรูปเลย แต่ว่าในขณะเดียวกัน ก็มีความจำเป็นที่จะต้องให้ทุกคน เข้าใจข้อปฏิบัติตามพระวินัยให้ถูกต้องด้วย มิฉะนั้นแล้ว พุทธบริษัทก็ไม่ได้ทำประโยชน์ซึ่งกัน และกัน แต่ถ้าเราเป็น อุบาสก อุบาสิกา แล้วเราเข้าใจพระวินัย เราก็สามารถที่จะเกื้อกูล คือให้พระภิกษุท่าน ไม่ใช่เพียงมีชีวิต แต่ว่าให้ท่านมีชีวิตในเพศบรรพชิต ตามพระวินัยด้วย ซึ่งหลายคนก็อาจจะไม่เห็นด้วย บอกว่ายุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป พระภิกษุต้องมีเงิน มีทอง ต้องรับเงินรับทอง แล้วก็มีการเดินทางมีอะไรต่างๆ นั้น ก็เป็นแต่ละบุคคลที่จะคิด เขาทำ แต่สำหรับดิฉันๆ ไม่ทำ เพราะเหตุว่า ดิฉันรู้ว่าถ้าทำ โทษจะเกิดกับใคร จะเกิดกับผู้นั้นเองทีประพฤติผิดพระวินัย ถ้าเป็นเรื่องของการปวารณาได้ เป็นเรื่องของการที่จะอุปถัมภ์ บำรุง วัดวาอาราม แล้วมีไวยาวัจกรแล้วเราก็ทำหน้าที่ของอุบาสก อุบาสิกา ไม่ให้พระต้องมีจิต ยินดีในเงิน และทอง โดยการคิดว่าเงิน และทอง เป็นของท่าน เพราะเหตุว่าตามพระวินัยจริงๆ มีไวยาวัจกร คือ ผู้รับปัจจัย หมายความว่าเราถวายปัจจัย เราไม่ได้ถวายเงินทอง กับพระ แต่ปัจจัยนี้จะได้มาด้วยเงิน ซึ่งเมื่อพระภิกษุรับไม่ได้ ก็จำเป็นต้องมีไวยาวัจกรเป็นผู้รับ เพราะฉะนั้น ก็ชื่อว่าเราได้ถวายปัจจัย เพราะเงินสำหรับหาปัจจัย มาถวายพระภิกษุ ซึ่งสะดวกมากสำหรับเพศบรรพชิต ใครก็ตามไม่ต้องใช้เงิน สบายๆ ไม่ต้องนั่งนับ ไม่ต้องกังวล มันจะหมด มันจะหาย หรือมันจะเหลือเท่าไร แต่ว่าได้อะไรก็ได้จากผู้ที่มีศรัทธา แล้วสิ่งที่เราต้องการในชีวิต ก็คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ซึ่งก็เป็นสิ่งที่จำเป็น ต่อการที่จะมีชีวิต เพื่อจะศึกษา และปฏิบัติธรรม ในเพศของบรรพชิตก็จะต้องเป็นไปตามพระวินัยด้วย ถ้าดิฉันทำอย่างนี้ ดิฉันจะทำผิดหรือเปล่า ทุกคนก็ควรจะได้พิจารณา ว่าดิฉันทำอย่างนี้ผิดหรือเปล่า ในการที่จะไม่ถวายเงิน แต่ถวายปัจจัย โดยให้แก่ไวยาวัจกร แล้วก็เป็นการที่บำรุงวัดหรือจะทำอะไรก็แล้วแต่ สำหรับพระคุณเจ้ารูป หนึ่งรูปใดก็ตาม ซึ่งเป็นปัจจัยสำหรับท่าน แต่ว่าไม่ใช่ว่า นำเงินไปใส่บาตร หรือว่ายื่นให้ โดยไม่รู้ว่าสิ่งนั้นไม่ควรแก่บรรพชิต เพราะจริงๆ แล้ว บรรพชิต แม้ว่ามีผู้ถวายปัจจัยโดยให้กับไวยาวัจกร ท่านต้องไม่มีจิตยินดีว่าเป็นของท่าน หมายความว่าเงินนั้นเป็นเพียงปัจจัยที่เขาถวายให้ สำหรับเครื่องอุปโภค บริโภคอะไรก็แล้วแต่ แต่ต้องไม่ยินดีว่าเป็นเงินของท่าน นั่นจึงจะถูกต้องตามพระวินัย เพราะเหตุว่าตามพระวินัย จะอาบัติ เมื่อมีจิตยินดี แต่ใครจะถวายเท่าไรก็ตาม ก็ไม่มีจิตยินดีว่าเป็นของท่าน แต่เป็นสิ่งที่เขาให้สำหรับเพศบรรพชิต สำหรับพระภิกษุ สำหรับอาหารยารักษาโรค หรือสำหรับวัดวาอาราม แต่ไม่ใช่ของท่าน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 100
    23 มี.ค. 2567