ปกิณณกธรรม ตอนที่ 477


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๔๗๗

    สนทนาธรรม ที่ ซอยนวลน้อย ถ.เอกมัย

    พ.ศ. ๒๕๔๒


    ผู้ฟัง แล้วเหตุไกล

    ท่านอาจารย์ อย่างอื่นนอกจากสิ่งที่ยกมา เป็นเหตุใกล้ อย่างอื่นก็ต้องเป็นเหตุไกล

    ผู้ฟัง รวมเหตุไกล หมายถึงชาติที่แล้วภพที่แล้วด้วยหรือไม่

    ท่านอาจารย์ จะกล่าวอย่างนั้นก็ได้หมดเลย เพราะเหตุว่าแม้เพียง จิตหนึ่งขณะที่จะเกิดขึ้นเป็นไป ไม่ใช่แต่เฉพาะปัจจัยเดียว อย่างโลภะในขณะนี้ ถ้าไม่เคยสะสมโลภะมาก่อนๆ ๆ โน้น ที่จะเป็นปัจจัย ขณะนี้โลภะก็เกิดไม่ได้ หรือโทสะก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ก็จะทราบได้ว่าทุกอย่างที่จะเกิด ก็ต้องมีปัจจัย ทั้งในขณะนี้ และก่อนๆ ด้วย ก็เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาตามลำดับ โดยละเอียด ข้อสำคัญที่สุดก็คือให้ทราบว่าขณะนี้เป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นสภาพธรรม ที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดงโดยละเอียด ถึงความเป็นสัจธรรม ธรรมที่มีจริงๆ มีลักษณะอย่างไร

    ผู้ฟัง ในขณะที่สติปัฏฐานเกิด อะไรคือเหตุผลที่ท่านจัดสัญญาไว้เป็นเหตุใกล้ของสติ

    ท่านอาจารย์ นี้คือคำที่บอกแล้ว ถ้าเอาคำมาจำ จะไม่เท่ากับความเข้าใจ เพราะว่าทุกคนจะถามว่าทำไมสติไม่เกิด ทำไมสติเกิดน้อย ทำอย่างไรสติเกิดมากก็พยายามไปหาเหตุใกล้ที่จะให้สติเกิด แต่ขณะที่สติเกิด คนนั้นจะรู้ว่าถ้าไม่มีความเข้าใจ เรื่องสภาพธรรมว่าขณะนี้เป็นธรรม ไม่มีความเข้าใจ และความจำในเรื่องนี้อย่างมั่นคง เพราะว่าเพียงคำว่า ธรรม ทุกอย่างเป็นธรรม สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ทุกอย่างเป็นธรรม เพียงเท่านี้ไม่เป็นปัจจัยให้สติเกิด แต่เวลาที่สติเกิด หมายความว่าขณะนั้นไม่ได้ มีแต่เพียงความเข้าใจ แต่ยังมีความจำ ที่ฟังแล้วฟังอีก ฟังอีกฟังแล้ว จนกระทั่งเป็นสัญญาที่มั่นคง เป็นสัญญาที่มั่นคงที่นี่ หมายความว่าไม่ลืม จึงมีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้ เพราะฉะนั้น ก็จะรู้ได้ว่า ถ้าไม่เคยฟัง ถ้าฟังนิดๆ หน่อยๆ ก็ไม่พอ เพราะฉะนั้น ขณะใดที่หลงลืมสติก็รู้ได้ว่าสัญญาไม่พอ ที่สติจะเกิด แต่ว่าเมื่อใดที่เกิด ขณะนั้น หมายความว่า เพราะมีความจำได้ มั่นคงว่าขณะนี้เป็นธรรม เพราะฉะนั้น สติจึงเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง ตามที่เราได้ศึกษา อันนี้มันตรงกับสัจจญาณหรือเปล่า ในเมื่อสัญญานั้นมั่นคง เพื่อที่เราจะเจริญสติ รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามที่เราได้ศึกษามา ด้วยความจำอย่างมั่นคง ดิฉันก็เลย โยงเข้าหาสัจจญาณว่า อันนี้องค์ธรรมมันเป็นตัวเดียวกันกับสัจจญาณหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ คือเราคงไม่ต้องไปหาถึงอย่างนั้น เพียงแต่ว่าเมื่อศึกษาเรื่องของสัจจญาณให้ทราบจริงๆ ว่าคืออะไรๆ ๆ แล้วทุกอย่างคือปรมัตถธรรม ทั้งนั้น มีความสัมพันธ์ มีความเป็นปัจจัยแก่กัน และกัน

    ผู้ฟัง แต่มันก็ต้องพึ่งพิงกัน และกัน

    ท่านอาจารย์ เราก็ต้องศึกษาให้เข้าใจจริงๆ อย่างได้ยินคำว่า สัจ-จะ-ญา-ณะ หรือ สัจจญาณ หมายความถึงอะไร หมายความถึง ความเห็นถูกต้องถ่องแท้จริงๆ ในอริยสัจ ๔ ไม่ใช่ในเรื่องอื่น แต่ในอริยสัจ ๔ ซึ่งทุกคนก็อาจจะเคยจำได้ ท่องมา หรือว่าเคยฟังมาแล้ว อริยสัจ ๔ สำหรับชาวพุทธ แม้แต่เด็กเล็กๆ ก็มีในหนังสือเรียน ทุกขอริยสัจ สมุทยอริยสัจ ทุกขนิโรธอริยสัจ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ หรือมรรคนั่นเอง เพราะฉะนั้น ชื่อเหล่านี้ ถ้าเราไม่เข้าใจขึ้น แล้วก็ไม่พิจารณาให้เข้าใจจริงๆ ก็ยังคง เป็นแต่ชื่อ ยิ่งมาเจอคำว่าสัจจญาณ ก็แสดงให้เห็นว่า ญาณเป็นปัญญา ปัญญาที่รู้อริยสัจ ไม่ใช่เพียงจำ หรือเพียงท่อง อย่างนั้น ไม่ใช่ญาณเลย ก็เหมือนเราอ่านอะไร แล้วเราก็จำได้ ว่าชื่ออะไร เท่านั้นเอง

    ญาณ เป็นปัญญา ต้องรู้จริงๆ ความหมาย ของปัญญา คือความเข้าใจถูกไม่คลาดเคลื่อน ในอริยสัจทั้ง ๔ อย่างทุกขอริยสัจ ต้องมีความมั่นคง มั่นใจ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง คลอนแคลนว่าหมายความถึงสภาพธรรมใด ก็ตามซึ่งมีปัจจัยเกิดแล้วดับนั้นคือ ทุกขลักษณะ ซึ่งเป็นทุกขอริยสัจ เราก็ทราบได้เลยว่าขณะนี้ ฟังเรื่องอะไร เรื่องสิ่งที่มีจริงๆ เป็นธรรม แล้วก็มีความเข้าใจด้วยว่า ธรรมขณะนี้ เกิดได้เพราะมีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง จะเกิดขึ้นมาเองลอยๆ ตามลำพังไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเห็น ไม่ว่าจะเป็นแข็ง ไม่ว่าจะเป็นเสียงซึ่งเราไม่เคยรู้ เราไม่เคยคิด เราไม่เคยสนใจ แต่ถ้าทราบว่าทุกอย่างขณะนี้ ที่ปรากฏ เพราะเกิด ถ้ายังไม่เกิดก็ไม่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะเป็น สังขารธรรม คือธรรมที่ต้องมีปัจจัยปรุงแต่ง แต่ต้องปรุงแต่งแล้วเกิด ในขณะนี้เป็นสังขตธรรม หมายความว่าปรุงแต่งแล้วเกิดสั้นๆ ขณะนี้เอง กำกับว่าต้องเป็นขณะที่กำลังปรากฏ เพราะปรุงแต่งแล้ว เกิด เมื่อมีความเข้าใจในทุกขสัจ เราก็จะไม่ไปทำอย่างอื่นเลย ไม่มีการจะไปที่อื่น แล้วคิดว่าต้องไปทำอย่างนั้น ต้องไปทำอย่างนี้ แล้วปัญญาจะเกิด แต่รู้ว่าปัญญามีหลายระดับขั้น ปัญญาขั้นฟังเข้าใจเรื่องราว แต่สภาพธรรมก็ปรากฏ โดยที่ไม่มีใครรู้ ถ้าเพียงแต่ฟังเรื่องราว และสภาพธรรมก็เกิดดับอยู่ตลอดเวลา โดยที่ไม่มีใครรู้ ถ้าเพียงแต่ฟังเรื่องราว เพราะฉะนั้น ก็จะต้องมีปัญญา อีกระดับหนึ่ง ซึ่งอาศัยการฟังแล้วก็มีความเข้าใจถ่องแท้ไม่คลาดเคลื่อน มีความมั่นคงจริงๆ ฟังไป แล้วก็เข้าใจละเอียดขึ้น เพราะว่าการฟังธรรม เป็นเรื่องละ ความไม่รู้ เป็นเรื่องละความต้องการ แต่ถ้าใครฟังแล้ว อยากให้สติปัฏฐานเกิด อยากให้ปัญญาประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ ผิดอีกแล้ว นี้คือความคลาดเคลื่อน เพราะฉะนั้น แม้สัจจญาณ ก็ต้อง รู้ว่าทำไมพระผู้มีพระภาค ทรงแสดง ไม่ใช่ทรงแสดงแต่เพียงอริยสัจ ๔ แต่ยังแสดง ญาณ ๓ รอบ คือ สัจจญาณ กิจจญาณ กตญาณ เพื่อกำกับไม่ให้หลงทาง ให้รู้จริงๆ ว่า ถ้ายังไม่มีเข้าใจอย่างนี้ ไปทำอย่างอื่นไม่มีทางเลย ที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเกิดแล้วก็ดับในขณะนี้ แม้แต่เพียงรู้ว่าเป็นธรรม รู้ว่าเป็นสังขตธรรม รู้ว่าเป็นสังขารธรรม เพราะฉะนั้น ก็จะต้องมีความมั่นคงในอริยสัจทั้ง ๔ แม้แต่โลภะก็ต้องรู้ ถ้าหวัง ความหวัง ไม่ได้ทำให้เกิดปัญญา แต่การฟังพิจารณา ละความไม่รู้ ละความหวัง ความคิดที่ต้องการ เพราะว่าขณะนี้สภาพธรรม เป็นอย่างนี้ ตามความเป็นจริงเกิดขึ้น และดับไป แต่อวิชชา และตัณหา คือความต้องการ ไม่สามารถที่จะทำให้ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมได้ บางคนคิดว่าเขาศึกษาปริยัติแล้ว เรียนเรื่องจิต เจตสิกแล้ว แต่เขาต้องการ เพราะฉะนั้น ความต้องการอันนั้น จะไม่ทำให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่มีทางเลย จนกว่าจะค่อยๆ ละความต้องการ ด้วยความรู้ขึ้น แล้วกว่าจะถึง นิพพานคือสัจจะที่ ๓ ซึ่งจะถึงได้ต่อเมื่อเห็นโลภะ สมุทัย และก็ละ จนกว่าจะละถึงระดับ ขั้นที่สามารถจะประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพานได้ ก็รู้ว่า หนทางที่จะประจักษ์ก็คือ ไม่ใช่อย่างอื่นเลย แต่ขณะนี้เอง ปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรม ในขณะนี้ แค่ไหน หรือเพียงฟังเข้าใจเท่านั้นเอง

    ผู้ฟัง บางครั้ง ฟังแล้วไม่เข้าใจ ตื่นยังไม่หลับก็คิดอยู่อย่างนั้น แล้วเราก็มานั่งนึกอาจารย์บอกว่า ไม่ให้คิดอยู่อย่างนี้ คิดกลายเป็นมามันดับไปแล้ว

    ท่านอาจารย์ ทั้ง ๒ อย่างเป็นธรรม ตอนที่คิดเรื่องธรรมก็เป็นธรรม ตอนที่คิดสงสัยว่า เราไม่เข้าใจอาจารย์ ให้คิดอย่างนี้ก็เป็นธรรมหมด ทั้งหมด ก็หมดไปแล้วด้วย ถ้าเข้าใจจริงๆ ก็ไม่เดือดร้อนเลย กับสิ่งที่ผ่านไปแล้ว เพราะว่าขณะนี้ เป็นสิ่งที่เกิดแล้วก็ดับ กำลังปรากฏชั่วขณะหนึ่งๆ

    ผู้ฟัง แต่ทุกวันนี้ที่กระจ่างขึ้นมาจริงๆ ก็คือว่า เคยเรียนเรื่องปริยัติ แล้วมาฟังอาจารย์ แล้วก็รู้สึกว่ามันเป็นการสับสนจริงๆ เพราะว่าระลึกอะไรขึ้นมา เรานึกถึงดวง ตรงนี้ เป็นความจริงเลย แล้วบางครั้งก็นึกว่า เราจะไปนึกถึงทำไม ตรงนั้นมันคนละส่วนกันนะ หรือนึกถึงสภาพธรรม อะไรอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ ดวงนี้ดวงเป็นรูปหรือดวงเป็นชื่อ

    ผู้ฟัง ดวงเป็นชื่อไม่ใช่ดวงเป็นรูป เหมือนเวลาเราเกิดโลภะขึ้นมา เราจะต้องรู้แล้ว ลูกน้องอะไรๆ ตามมาอย่างนี้ มันจะต้องลอยขึ้นมาในความรู้สึกเอง แต่ทีนี้บางครั้ง ตัวเองก็คิดว่า ไม่จำเป็นต้องไปคิดตรงนั้น แล้วมันเป็นเอง

    ท่านอาจารย์ ถ้าคิดเรื่องธรรม จะดีกว่าคิดเรื่องอื่นไหม

    ผู้ฟัง บางครั้งมันกลับมาคิดอีก

    ท่านอาจารย์ ต่อให้เราเรียนปริยัติมากมายสักเท่าไร แล้วกี่ชาติ ท่องเก่ง จำเก่ง เข้าใจเก่ง แต่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม เป็นโมฆะ

    ผู้ฟัง ตรงนั้นเข้าใจ แต่มัน ชอบนึกถึงเรื่อยเลย

    ท่านอาจารย์ นี่เป็นบันได ที่จะให้เข้าใจให้รู้ว่า จริงๆ แล้วเราศึกษาเพื่ออะไร เพื่อเข้าใจสภาพธรรม เดี๋ยวนี้ ให้เข้าใจจริงๆ ว่าไม่ใช่เรา เพราะการที่จะไปหมดความเห็นว่าเป็นเรา ยากแสนยาก นานแสนนานที่สะสมมาแล้ว ต่อให้ประจักษ์การเกิดดับก็ยังละความเป็นเราไม่ได้ จนกว่าจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ทั้ง ๔ ประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพานเมื่อไร ถึงจะดับกิเลสได้ เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่ว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิด ให้เข้าใจว่าเป็นธรรม ขณะนั้น ถ้าเป็นการรู้ลักษณะ

    ผู้ฟัง นี้คือการสรุปของตัวเองเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นการสรุปของตัวเอง คือคิด ก็ยังอยู่ในขั้นคิด ยังคิดอยู่ เพราะฉะนั้น ทุกคนก็จะอยู่ในความคิดของตัวเองหลายอย่าง คิดเรื่องธรรม แล้วสงสัยเรื่องธรรม แล้วไตร่ตรองเรื่องธรรม แล้วคิดเรื่องสติปัฏฐาน แล้วคิดว่าสติปัฏฐาน คืออะไร จนกว่าสติปัฏฐานจริงๆ จะเกิด แล้วก็ระลึกรู้ลักษณะของปรมัตถธรรม สภาพธรรมที่ศึกษา

    ผู้ฟัง ใช่เลย

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น แต่ละคนจะรู้ เหมือนกันทุกคน ทุกคนก็ต้องคิด เพราะเคยคิด กว่าสติปัฏฐาน จะเกิด

    ผู้ฟัง บางครั้งเกิดหงุดหงิด เหมือนกัน เราว่าเราจะไม่คิด

    ท่านอาจารย์ ก็เป็น ธรรมชนิดหนึ่ง หงุดหงิดด้วยความเป็นเรา

    ผู้ฟัง คือ เราคิดว่าเราจะไม่คิด แต่เขาก็เกิด คือผุดขึ้นมา

    ท่านอาจารย์ เป็นอย่างนี้ไป จนกว่าสติปัฏฐานเกิด

    ผู้ฟัง ความจำคือเหตุใกล้ของสติ มาฟังเรื่องของคุณอรพินท์ มาคิดอีกแล้วว่า สัญญา ใกล้กับ วิตกไหม อาจารย์ แต่ว่าเจตสิก ที่จะเป็นประธาน มันเกิดจากอะไร มันเกิดจากสติ และเกิดจากสัญญา ได้ หรือคิดนึกก็เกิดจากสัญญา เพราะว่าอันนี้ ก็ยอมรับ สัญญามันเกิดกับจิตทุกดวง แต่เหตุ ใกล้

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่ขณะนั้น

    ผู้ฟัง เป็น ขณะๆ คือเราจะเอาเป็นกฏเกณฑ์ไม่ได้ มันเป็นขณะ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ สติปัฏฐาน แสดงไว้ ใช่ไหม โดยที่ใครบ้างเวลาที่สติเกิด แล้วรู้ว่า นั่นเพราะสัญญา ความจำ

    ผู้ฟัง ไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่รู้ ทรงแสดงไว้

    ผู้ฟัง ทรงแสดง แต่คิดนึกนี้ ชัดเจน ดิฉันก็มาพิจารณา ที่คุณอรพินท์ พูดนี่มันใช่นะ มันใช่ มันเกิดกับจิตดวงที่ ดวงนั้นในขณะที่ ทั้งสัญญา และวิตก เกิดพร้อมกัน

    ท่านอาจารย์ แต่การศึกษาของเราไม่ใช่ไปพยายามที่จะแยกอย่างนี้ เวลาที่ฟังหรือศึกษา ธรรม เข้าใจ แล้วก็ไม่ต้องไปพยายามไขว่ขว้า หาอะไรอีก แต่ว่ารู้ว่เป็นการอบรมเจริญ ความเข้าใจถูกว่าไม่ใช่เป็นตัวเรา ไม่อย่างนั้นเราก็จะมีการติดข้อง ไขว่ขว้าหาอยู่เรื่อยๆ ว่า นี่อะไร นั้นอะไรซึ่งไม่มีวันจะจบโดยตำรา แต่ว่าทราบว่าขณะนี้สภาพธรรมกำลังปรากฏ แล้วจะเข้าใจขึ้นเรื่อยๆ ถ้าสติระลึกลักษณะของสภาพธรรมไม่ใช่เพียงเข้าใจชื่อที่เราฟังมาแล้ว แต่รู้ตัวจริงว่าชื่อทั้งหมดที่เรียนมาแล้ว คือตรงนี้ ที่กำลังปรากฏ อย่างขณะนี้ที่กำลังเห็น คือตรงนี้ที่เห็น เป็นสิ่งที่มีจริง แล้วมีสิ่งที่ปรากฏจริงๆ จะใช้คำว่า จักขุวิญญาณ จักขุทวาร หรือวิญญาณวิถี หรืออะไรก็แล้วแต่ นั้นเป็นชื่อทั้งหมด แต่ว่าลักษณะของสภาพธรรม ที่ปรากฏที่จะต้องเข้าใจในสภาพที่ต่างกันของนามธรรม และรูปธรรม ไม่อย่างนั้นเป็นโมฆะจริงๆ

    ผู้ฟัง บางทีจะพูดอย่างไร หรือจะบรรยายอย่างไรเข้าใจ แต่จิตลึกๆ

    ท่านอาจารย์ แต่ก่อนนี้เคยสะสมความเป็นเรา สะสมความสำคัญว่าเป็นเรา ด้วย เพราะฉะนั้น เวลานี้กำลังสะสมความเห็นถูก ว่าไม่ใช่เราแต่น้อยมาก แต่กำลังสะสม จนกว่าจะเพิ่มขึ้น

    ผู้ฟัง ภาษาพื้นๆ เรียกว่า ยังทำใจไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ถ้าคิดจะทำใจ ผิด แต่ชาวบ้านชอบใช้

    ผู้ฟัง ภาษาพื้นๆ

    ท่านอาจารย์ ชาวบ้านชอบใช้ แต่ถ้าเราเข้าใจถูกแล้วเราจะรู้เลยว่าเป็นเรื่องของสภาพธรรม ที่สะสมมา เพราะฉะนั้น ขณะนี้กำลังสะสมใหม่ ซึ่งน้อยกว่าเก่ามากมาย ที่เคยสะสมความติดข้อง ความเป็นเรา เพราะฉะนั้น ก็รู้ตามความเป็นจริงว่า ถึงจะเรียนก็มีความเป็น เรา ถึงจะเข้าใจสภาพธรรม ก็ยังเป็นเรา จะหมดความเป็นเรา ความเป็นสักกายทิฏฐิก็ต่อเมื่อเป็น พระโสดาบัน เพราะฉะนั้น ขณะนี้กำลังเห็นทาง ที่จะไปสู่การไม่มีเรา แต่ต้องเป็นไปทีละเล็ก ทีละน้อย เมื่อเทียบกับที่เคยสะสมมาแล้ว

    ผู้ฟัง ปัญญามันน้อย

    ท่านอาจารย์ ก็สะสมไปอีก เท่านั้นเอง หนทางเดียวแล้วอย่าไปเดือดร้อน ถ้าเดือดร้อนตัวตนก็เข้ามาเพิ่มอีกว่า เพราะมีความเป็นเราจึงเดือดร้อนอยากจะให้ถึงเร็วๆ

    ผู้ฟัง ขอบพระคุณมาก

    ท่านอาจารย์ คุณอารีย์ เคยโกรธ ไหม ขณะที่โกรธ ก่อนที่จะศึกษา ไม่ทราบว่า เป็นเจตสิก ใช่ไหม เป็นคุณอารีย์ แต่เวลาศึกษาแล้ว เริ่มรู้ ว่าเป็นสภาพธรรม อย่างหนึ่ง ภาษาไทยเราก็ใช้คำว่า โกรธ แต่ว่าภาษาบาลีใช้คำว่า โทสะ หรือ ปฏิฆะ รู้จักชื่อในภาษาบาลี เพราะว่าพระธรรมเป็น ภาษาบาลี เพราะฉะนั้น เราจะทิ้งภาษาบาลีไม่ได้ แต่เราเก็บเล็กผสมน้อยความเข้าใจ เวลาที่สนุก อร่อย เพลิดเพลิน เราบอกว่าเราชอบ ความจริงก็คือความติดข้องในสิ่งนั้น ซึ่งภาษาบาลีก็ใช้คำว่า โลภะ สภาพธรรมในชีวิตประจำวันทั้งหมด มีจริงๆ เวลาโกรธ เราไม่ต้องเรียกชื่อว่าโกรธ แต่ลักษณะอาการโกรธ จะต่างกับขณะที่กำลังดีใจ กำลังสนุก เพราะฉะนั้น ลักษณะที่ต่างจริงๆ มีจริงๆ ในวันหนึ่งๆ เป็นธรรมแต่ละชนิด เมื่อศึกษาแล้วก็ทราบได้เลยว่าอะไรเป็นนามธรรม อะไรเป็นรูปธรรม แล้วก็มีความเข้าใจตัวจริงๆ ของธรรม ว่าอย่างโกรธ ไม่มีรูปร่างเลย ความติดข้อง ความสนุกสนานเพลิดเพลินก็ไม่มีรูปร่าง แต่มีจริงๆ ความรู้สึก ดีใจก็มี เสียใจก็มี เป็นทุกข์บ่อยๆ ก็มี เป็นสุข บางคนอาจจะ นานๆ ครั้งก็ได้ ก็มี แล้วสุขทางกายก็มี สุขทางใจก็มี ทุกข์ทางกายเจ็บไข้ได้ป่วยก็มี ทุกข์ทางใจก็มี

    สภาพธรรม ที่ทรงแสดงทั้งหมด แสดงถึงสิ่งที่มีกับทุกคน แต่ทุกคนไม่เคยรู้ว่าเป็นธรรม เพราะฉะนั้น เมื่อฟังจึงรู้ว่าเป็นธรรมทั้งหมดเลย เพื่อจะเกื้อกูลให้เห็นว่า ถ้าเราแตกย่อยสภาพที่มีจริงในชีวิตประจำวันออก ไม่มีเราเลยสักขณะเดียว เป็นแต่เพียงนามธรรม หรือรูปธรรมแต่ละชนิดซึ่งอาศัยเหตุปัจจัยเกิดแล้วก็ดับ ไม่มีอะไรที่คงสภาพ ที่เที่ยง ขณะเห็นก็มีได้ยินต่างกันแล้ว สภาพธรรมหนึ่งต้องดับไป อีกสภาพธรรมหนึ่งจึงเกิดได้ แต่ถ้าเราไม่ฟังบ่อยๆ มันก็ไม่สามารถที่จะไป เข้าใจจริงว่า สภาพธรรม ที่มีเกิดแล้วก็ดับ อย่างรวดเร็ว เล็กน้อยมาก สุขที่เราต้องการ ก็ชั่วขณะนิดหนึ่งแล้วก็หมด ไม่มีใครจะไปยับยั้งให้สุขเวทนา เกิดแล้วไม่ดับเลย แต่ว่าเกิดติดต่อ สืบต่อ บางทีรู้สึกว่านาน บางทีรู้สึกว่าน้อย ก็เป็นไปโดยสภาพธรรมนั้นๆ ไม่มีใครจะไปบังคับ เพราะว่าทุกคนอยากจะมีแต่สุขเวทนา โสมนัสเวทนา อยากจะเห็นแต่สิ่งที่ดี ได้ยินดี ได้กลิ่นดี ลิ้มรสดี รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสดี นี่คืออยาก นี้คือต้องการ แต่ไม่รู้เหตุว่ามาจากไหน ที่เห็นมาจากไหน เพราะว่าทุกคนก็มีตา ๒ ข้าง แล้วก็จะเห็น บังคับไม่ได้อีก ว่าวันไหนจะเห็นอะไร จะได้ยินเสียงอะไร เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรม ที่เคยเป็นเรื่องราว หรือจำชื่อ เป็นดวงๆ อย่างที่ว่า แท้ที่จริงก็คือสภาพธรรม ที่มี และให้เข้าใจจริงๆ ว่าเป็นธรรมทั้งหมด

    เมื่อเรียนอะไร อย่าไปติดอยู่ที่ชื่อ แต่ให้รู้ว่า คือสภาพที่มีแล้วสภาพนั้นก็เกิดขึ้น เป็นอย่างไรก็ตรง ตามที่ทรงแสดงไว้เท่านั้น นี้ถึงจะเป็นการค่อยๆ เข้าใจสภาพธรรม แต่ว่าจะเข้าใจกว่านี้อีก เมื่อสติอีกระดับหนึ่งเกิด แล้วก็ระลึกในสภาพลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม

    เพราะว่าบางทีพอระลึกแล้วก็เป็นเรื่อง อย่างเดินไปเห็นดอกไม้สวยๆ ทุกคนก็ร้องพร้อมกันว่าโลภะ ดับไปแล้วตั้งนาน เห็นก็เหมือนกัน แต่ก็ยังเรียกชื่อ ว่าโลภะ เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่เราจำชื่อ จำเรื่องราว ไม่ใช่ระดับที่ สติ สามารถที่จะระลึกลักษณะที่ปรากฏ แล้วค่อยๆ รู้เพิ่มขึ้น ตรงตามที่ได้ศึกษา

    พระศาสนา มี ๓ ขั้น ปริยัติศาสนา การศึกษาเรื่องราวของสภาพธรรม ปฏิปัตติศาสนา คือการเข้าถึงลักษณะที่กำลัง มีศึกษาให้เป็นปัญญาที่เข้าใจถูกต้อง ปฏิเวธศาสนา คือสามารถที่จะประจักษ์แจ้งความจริง ตรงตามที่ทรงแสดง เพราะฉะนั้น ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ต้องตรงกันหมด ไม่ตรงไม่ได้เลย ถ้าไม่ตรงคนนั้นผิดแล้ว เข้าใจปริยัติอย่างไร ปฏิบัติต้องเป็นอย่างนั้น ปฏิเวธต้องตรงตามที่ทรงแสดง ตามความเป็นจริง ของสภาพธรรม นั้น ผู้นั้นถึงจะพ้นจากการปฏิบัติผิด หรือมิจฉามรรคได้

    ผู้ฟัง การที่คิดจำทำงานอะไรให้มันเด่น คงจะไม่ใช่มานะ

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวก่อน คุณแก้ว คุณแก้วชอบคนหยิ่งไหม

    ผู้ฟัง ไม่ชอบ

    ท่านอาจารย์ อีกความหมายหนึ่ง หยิ่งก็คือมานะ เพราะมีความสำคัญตน เพราะฉะนั้น ใครก็ตามที่มีความน่ารักเป็นกันเอง แล้วก็ทุกคนเสมอกับเรา มีความหวังดีเป็นมิตรจริงๆ ขณะนั้นเป็นธรรมฝ่ายดี แต่ถ้าคุณแก้ว คิดว่าคุณแก้วสำคัญ แม้แต่เพียงคิดยังไม่ต้องอยากสำคัญกับคนอื่นมากๆ เพียงแค่ คิดนิดหนึ่งว่าเราสำคัญ ขณะนั้น ดีไหม

    ผู้ฟัง ก็เป็นการยกตัว ขึ้นไปเหนือคนอื่น

    ท่านอาจารย์ ซึ่งละอยากมาก ในบรรดาอกุศลทั้งหลายซึ่งมีมาก มานะความสำคัญตน ต้องเป็นผู้ที่บรรลุคุณธรรมขั้นไหนถึงจะละ ความสำคัญตนได้ ลองคิด

    ผู้ฟัง พระอรหนัต์ หรือ

    ท่านอาจารย์ พระอรหันต์ พระโสดาบันยังละไม่ได้ คิดดู พระโสดาบันดับความเห็นผิดในสภาพธรรม ซึ่งเกิดดับ เห็นว่าเที่ยง เห็นว่าเป็นเรา เห็นว่าเป็นตัวตน เห็นว่าสวย เห็นว่าสุข นี้คือความเห็นผิดใน ๔ อย่าง แต่ว่าพระโสดาบันดับความเห็นผิดทั้งหมดด้วยประการใดๆ ไม่มีเหลือเลย ที่จะไปเชื่อว่ามีผู้สร้าง มีผู้บันดาล ต้องอาศัยผู้นั้นผู้นี้ ไม่มี แต่ว่ามีความมั่นคงที่จะรู้ว่าสภาพธรรม ขณะนี้เป็นอนัตตา เมื่อมีเหตุปัจจัยเกิดขึ้นอย่างไรก็ เป็นอย่างนั้น ตามเหตุตามปัจจัย แต่พระโสดาบัน ก็ยังละมานะไม่ได้ ยังละความติดข้องในรูปสวยๆ ในเสียงเพราะๆ ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ไม่ได้ ต้องเป็นพระอนาคามี ถึงจะละความติดข้อง ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะได้ แต่ก็ยังละมานะไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้จริงๆ ว่าเป็นสิ่งซึ่งละยาก เพราะเหตุว่าโดยมาก เรา เห็นมานะอย่างหยาบ แต่มานะละเอียดๆ เราไม่เห็น แต่ว่ามานะละเอียด เพียงคำพูดนิดเดียว ด้วยมานะ ถ้าคนนั้นมีสติ ก็จะรู้ได้ ว่าขณะนั้น เพราะอะไร จึงพูดอย่างนั้น

    ผู้ฟัง ละเอียดมาก

    ท่านอาจารย์ ละเอียดมาก

    ผู้ฟัง บางครั้งจะดับโดยลักษณะนี้ บางที่รู้สึกว่าเราสำคัญหรือว่าดี อะไรอย่างนี้ เรารู้สึกว่าบางทีก็ต้องมีคนอื่นที่ดีกว่า หรือสำคัญกว่า จะไปใช้อย่างนี้ คอยดับความรู้สึก

    ท่านอาจารย์ ก็จะเพิ่มมากขึ้น และยากขึ้น ถ้ามีมากขึ้น มานะไม่ใช่สิ่งที่ดีเลย ไม่ใช่สิ่งที่ดี ความสำคัญตน ตนไม่มี ตัวตนก็ไม่มี มีแต่สภาพธรรมที่เกิดแล้วก็ดับตามเหตุตามปัจจัย ก็ยังยึดมั่นแล้วสำคัญในสภาพธรรมนั้น เหมือนลูกโป่ง ลอยขึ้นไปสูงๆ ในลูกโป่งมีอะไรบ้าง ในนั้นมีอะไร ไม่มี ว่างเปล่า แต่ก็ลอยไป ลอยไป สูงขึ้น สูงขึ้น

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 100
    23 มี.ค. 2567