ปกิณณกธรรม ตอนที่ 472
ตอนที่ ๔๗๒
สนทนาธรรม ที่ ซอยนวลน้อย ถ.เอกมัย
พ.ศ. ๒๕ ๔๒
ท่านอาจารย์ แต่ว่าถ้าเราคิดถึงว่า เรายังไม่ได้เข้าใจพระธรรมมากมายอะไรเลย เพราะเหตุว่าขณะนี้ ทางตาที่กำลังเห็น เป็นธรรม เข้าใจตรงนี้แค่ไหนในคำว่า เป็นธรรม พอที่เราจะค่อยๆ รู้ขึ้นว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน หรือว่าเราจะไปได้อะไรจากการเห็นในขณะนี้ อยากจะทำอะไรให้มันเกิดการได้ขึ้นมา หรือว่าค่อยๆ มีความเข้าใจขึ้นว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา คือ ในขณะนี้จริงๆ นั่นขั้นฟังว่าเป็นอนัตตา แต่ว่าเป็นอนัตตาขณะที่กำลังเห็น สักแค่ไหน
เพราะฉะนั้น แต่ละคน ถ้าได้ศึกษาพระธรรมโดยละเอียด จะยิ่งเห็นความลุ่มลึกของพระธรรม แม้แต่อริยสัจ ๔ ซึ่งเราก็รู้โดยชื่อ ไม่เห็นยากเลย ที่ ๑ ก็คือทุกข์ ที่ ๒ ก็คือ สมุทัย ที่ ๓ คือ นิโรธ ที่ ๔ ก็คือมรรค ๔ คำมีในตำราด้วย ดูเหมือนไม่ยาก แล้วบางคนก็บอกว่า เข้าใจ ทุกข์คืออะไร สมุทัยคืออะไร นิโรธคืออะไร มรรคคืออะไร
แต่ถ้าศึกษาต่อไป แล้วก็คิดว่าพระธรรมทั้งหมด เป็นพระธรรมที่เกิดจากการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่แสดงไว้ มีข้อความว่า
สัจจะที่ ๑ คือทุกขสัจ สัจจะที่ ๒ คือทุกขสมุทยสัจ ได้แก่โลภะ หรือความติดข้อง (สัจจะที่ ๑ และ ๒) ลุ่มลึกเพราะเห็นยาก แค่นี้ เราเริ่มคิดแล้ว มันไม่ได้ง่ายอย่างที่เราคิดเลยว่าเรารู้แล้ว เราเข้าใจแล้วโดยชื่อ แต่ลองพิจารณาว่าลุ่มลึกๆ อย่างไร เราสามารถที่จะเข้าใจความหมายของคำนี้ไหม เพราะเห็นยากด้วย เพราะขณะนี้ โลภะมี ไม่เห็นอย่างที่อยากจะได้ ก็ไม่เห็นแล้วว่าเป็นโลภะ นี่คือความลุ่มลึกของโลภะ ทุกขอริยสัจ คือขณะนี้ สภาพธรรมเกิด เพราะมีปัจจัย ถ้าไม่มีปัจจัยไม่เกิด แม้แต่เห็น ก็ต้องมีปัจจัย ต้องมีตา ต้องมีสิ่งที่กระทบ ต้องมีปัจจัยอื่นอีก การเห็น ชั่วขณะหนึ่งสั้นๆ ที่เกิดขึ้นเห็นแล้วก็ดับ จึงเกิดขึ้นได้ นี่คือความลุ่มลึก แล้วใครจะเห็น ใครจะรู้ ใครทรงแสดง เพราะฉะนั้น ไม่ได้หมายความว่า คนที่ยังไม่ได้ศึกษาพระธรรม แล้วก็ได้ยิน แล้วก็อยากจะปฏิบัติ พอเขาบอกว่าปฏิบัติก็เหมือนได้ เราไปนั่งแล้วเราก็ได้ ได้อะไร ได้นั่งมา แล้วก็อาจจะนิ่งๆ ไม่ได้รู้อะไร ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่โลภะก็พอใจว่าขณะนั้นเราได้ แต่ว่าพระธรรมไม่ใช่เป็นเรื่องได้ เพราะเหตุว่าโลภะสมุทัย เป็นเรื่องละ จนกว่าจะหมด จนกว่าจะหมดจริงๆ เพราะว่าโลภะมีมากมายมหาศาล ตั้งแต่ที่เราฟังธรรม แล้วเราอยากได้โดยที่ปัญญาไม่เกิด แต่ก็อยากได้ กับ การที่ค่อยๆ เข้าใจ เพราะว่าปัญญา เป็นความเข้าใจถูกแม้เพียงฟังอย่างนี้ เราจะเห็นความลุ่มลึกของทุกขสัจกับสมุทยสัจ ไหมว่าลุ่มลึกจริงๆ เห็นยาก
สัจจะที่ ๓ กับที่ ๔ คือนิโรธ ได้แก่นิพพาน และมรรคสัจ เห็นยากเพราะลุ่มลึก ไม่มีใครเห็น นิโรธ พระนิพพานขณะนี้ เพราะลองคิดถึงความลึก ความลุ่มลึกว่าลุ่มลึกแค่ไหน ทางตาที่กำลังเห็นก็ยังไม่รู้เลยว่า เกิดแล้วดับ แล้วนิพพานนั้นจะลุ่มลึกกว่านี้หรือเปล่า โลภะทั้งๆ ที่ทำให้เราอยากได้โน่น อยากได้นี่ ไปนั่งทำอะไรๆ ต่างๆ คิดว่าได้ ก็ยังไม่เห็นว่าเป็นโลภะ เพราะฉะนั้น นิพพานจะลุ่มลึกสักแค่ไหน เพราะว่าต้องละคลายจนกระทั่งไม่ยินดีติดข้อง ในสภาพธรรมที่ปรากฏเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งเราติดมามากมายเหลือเกินในสังสารวัฏฏ์ ที่เราเกิดมาทุกวัน เพียงแค่เกิด ติดแล้ว ยังไม่ทันเห็น ยังไม่ทันได้ยิน ยังไม่ทันได้กลิ่น ยังไม่ทันลิ้มรส ยังไม่ทันรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย แม้ว่ามีกายปสาท แต่ใจ มโนทวารวิถีจะเกิดหลังจากที่ปฏิสนธิจิตดับ แล้วก็ภวังค์เกิดสืบต่อคั่น หลังจากนั้นความยินดีติดข้องจะเกิดเป็นวาระแรก นี้แสดงให้เห็นว่ามากมายแค่ไหน ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ยังไม่ทันจะประสบแต่ว่าโลภะก็มีแล้ว เพราะฉะนั้น จะเห็นได้จริงๆ ว่า คนที่จะเข้าใจความลุ่มลึกของนิพพาน และความลุ่มลึกของมรรคสัจหนทางที่จะไปสู่นิพพาน ต้องเป็นปัญญา ไม่ใช่ว่าเราอยากได้ จนกระทั่งปัญญารู้อะไรก็ไม่รู้ ทำอย่างไรก็ได้ทั้งหมด เหมือนกับว่า ปลอบใจเราว่าเราได้ แต่ขณะนั้นไม่ใช่ปัญญา
การฟังพระธรรมต้องทราบว่า เป็นเรื่องที่อดทนแล้วก็เป็นเรื่องที่ละเอียด เป็นเรื่องที่เรารู้ว่าเพื่อละความที่ไม่เคยรู้มาก่อน เราไม่เคยรู้เลย เรื่องสภาพธรรมตามปกติในชีวิตประจำวัน ศาสดาไหนก็สอนไม่ได้ ถ้าผู้นั้นไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเหตุว่าสัจธรรมต้องเป็นขณะนี้เดี๋ยวนี้ ไม่ใช่ว่าให้เราไปนึกหา ไปค้นคว้าที่อื่น เหมือนกับว่าอยู่ตรงนี้ปัญญาเกิดไม่ได้ ต้องไปปลีกตัว หรือต้องไปทำอย่างอื่น อย่างนั้นไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญา เพราะเหตุว่า ถ้าเป็นปัญญาจริงๆ หมายความว่าสามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีอยู่เดี๋ยวนี้ ขณะนี้ เพราะว่าขณะก่อนก็ดับไปหมดแล้ว ขณะต่อไปก็ยังไม่เกิดขึ้น
ถ้าเป็นปัญญาจริงๆ จะรู้อะไร ก็ต้องรู้สิ่งที่กำลังมีปรากฏ จนกระทั่งรู้ว่าลักษณะนั้นๆ เป็นอนัตตาอย่างไร ด้วยเหตุนี้ ปัญญาจึงเป็นเรื่องที่ต้องค่อยๆ อบรม แล้วผู้นั้นก็จะละความต้องการอย่างอื่น ไม่ได้มีความต้องการอย่างอื่นที่จะมาปลอบใจ แต่ว่ามีความที่อาจหาญร่าเริงที่จะรู้ว่า อะไรเป็นสัจธรรม และหนทางที่จะรู้จักสัจธรรมจริงๆ เป็นหนทางที่เห็นยากเพราะลุ่มลึกว่า นี่เป็นมรรค นี่เป็นหนทาง เพราะเราไปมัวคิดว่า อย่างอื่นเป็นหนทาง แต่ถ้าเป็นหนทางจริงๆ หนทางนั้นต้องให้เกิดปัญญา เพราะฉะนั้น แม้แต่เพียงการฟัง เป็นหนทางที่จะให้เกิดปัญญาไหม ถ้าเป็นก็คือว่าเราต้องฟังต่อไป จนกระทั่งเราเป็นผู้ที่ตรง และรู้ว่าเราเข้าใจเพิ่มขึ้นจากอะไร จากการฟัง จากการพิจารณา หรือว่าจากการไปทำอะไรก็ไม่รู้ ที่เราปลอบใจตัวเองคิดว่า เราได้แต่ว่าไม่ใช่ปัญญา ต้องเป็นผู้ที่ตรง
ผู้ฟัง อยากจะให้เกื้อกูลคนใหม่ คำว่า ตัณหาเป็นเครื่องกั้นของการฟังอย่างไร ซึ่งรู้สึกจะเข้าประเด็นกับอาจารย์พูดเมื่อกี้นี้
ท่านอาจารย์ ถ้าเราต้องการผล แต่เราไม่ต้องการที่จะฟังให้เข้าใจ นั่นคือเครื่องกั้นแล้ว เราจะไม่ฟัง หลายคนก็บอกว่าไม่ต้องฟัง ปฏิบัติเลยก็ได้ แต่นั้นไม่มีเหตุผลเลย เพราะว่าเป็นเรื่องของปัญญา ไม่ใช่เป็นเรื่องของการทำ ขณะนี้ถ้าไม่มีสภาพธรรมเกิดทำหน้าที่ของสภาพธรรม จะไม่มีอะไรเลย แต่ขณะนี้ เพราะสภาพธรรมเกิด แล้วไม่รู้ จึงคิดว่าเป็นเราหมด ที่กำลังเห็น ที่กำลังทำด้วย คิดว่าเป็นเรา โดยที่ไม่รู้เลยว่าเป็นธรรม เพราะฉะนั้น กว่าจะเห็นโลภะ เห็นยากเพราะลุ่มลึกจริงๆ
ผู้ฟัง หมายความว่าในขณะที่ฟัง ถ้าตัณหาเป็นเครื่องกั้นคือตัวโลภะ ถ้าเผื่อสมมติว่าเราฟังแล้ว เราก็อยากให้คนอื่นเขาชมว่าเราเก่ง อันนั้นก็เป็นตัณหาอันหนึ่ง
ท่านอาจารย์ ทั้งหมดเลย เขาไม่ละเว้นอะไรเลย สิ่งที่โลภะไม่สามารถที่จะมีเป็นอารมณ์ได้ คือ โลกุตตรธรรมทั้งหมด รวมทั้งมรรคจิต ผลจิตด้วย
ผู้ฟัง ตัวดิฉันด้วย คนอื่นไม่ทราบอย่างไร ขณะซึ่งศึกษาเราก็อยากจะไปเร็วๆ ๆ ๆ ๆ ๆ อันนั้นก็คือ
ท่านอาจารย์ โลภะ
ผู้ฟัง เป็นโลภะแล้ว เรายังไม่ได้รู้อะไรลุ่มลึกอย่างที่อาจารย์พูด แต่เราก็อยากจะไปถึงตรงลุ่มลึกตรงนั้น
ท่านอาจารย์ โดยไม่รู้อะไร ก็คือโลภะ
ผู้ฟัง โดยไม่รู้อะไรเลย แล้วหาทางลัดที่จะไปด้วย
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่มรรค เพราะเหตุว่า มรรคนั้นเป็นธรรมที่เห็นยากจริงๆ นี่คือหนทาง เพราะทุกคนไม่อยากจะมาทางนี้ ทุกคนอย่างจะไปทางอื่นที่ได้ เพราะฉะนั้น ไม่เห็นเลย หนทางคือละ หนทางคือรู้
ผู้ฟัง เครื่องกั้น ตัณหาเป็นเครื่องกั้น
ท่านอาจารย์ ตัณหาด้วย ทิฏฐิด้วย
ผู้ฟัง มานะ
ท่านอาจารย์ มานะก็เข้าใจว่ารู้แล้ว
ผู้ฟัง นึกว่าตัวเองเก่งแล้ว ไม่ต้องฟังแล้ว มานะมันมีสูงกว่า เสมอ และต่ำกว่า
ท่านอาจารย์ ถึงไม่เป็นอย่างนั้นก็ได้ นี่เขาแสดงให้เห็นเป็นการเปรียบเทียบเท่านั้นเอง แม้แต่ไม่มีใครเปรียบเทียบ แต่มีความสำคัญตน เพราะฉะนั้น ลักษณะของมานะ คือ ความสำคัญตน ความถือตน
ผู้ฟัง แต่พวกเรา จากความรู้สึกของดิฉันเอง ที่มานั่งฟังอาจารย์อยู่ ก็คือต้องการความรู้ แต่มันมีมานะที่ว่ามันด้อยกว่าอาจารย์ ไม่เข้าใจว่าเครื่องกั้นได้อย่างไร
ท่านอาจารย์ ถ้าขณะที่เป็นมานะ คุณสุรีย์ก็จะไม่ฟัง
ผู้ฟัง ด้อยกว่าก็ไม่ฟังด้วย
ท่านอาจารย์ ไม่จำเป็นต้องฟัง ด้อยก็ด้อยอยู่อย่างนี้
ผู้ฟัง ด้อยอยู่อย่างนี้เพราะว่า โง่ หรืออย่างไร
ท่านอาจารย์ เรื่องของมานะ เป็นเรื่องที่ละเอียด เช่นเดียวกับโลภะซึ่งเห็นยากเพราะเหตุว่าไม่ใช่อย่างตัวใหญ่ๆ ที่เราเห็น แล้วก็บอกว่าเป็นมานะ แม้แต่ตัวเล็กๆ ซึ่งเราไม่มีโอกาสจะเห็น ก็เป็นมานะ เรามัวแต่ไปเห็นอย่างใหญ่ แล้วเราคิดว่านั่นคือมานะ แต่ว่ามานะดับได้ด้วยอรหัตตมรรค พระโสดาบันก็ดับไม่ได้ รู้แจ้งอริยสัจธรรมแล้ว ไม่มีความเห็นผิดในสภาพธรรม ก็ยังดับมานะไม่ได้
ผู้ฟัง ตัวที่ ๓ ตัวทิฏฐิ
ท่านอาจารย์ ความเห็นผิด คิดว่าทางผิดเป็นทางถูก
ผู้ฟัง ผมพยายามจะหาวิธีว่าทำอย่างไร ผมก็ไม่อยากจะใช้คำว่า หลีกเร้นจนเกินไป มันจะมีทางที่จะทำให้เราได้ฝึก ฝึกอย่างไรให้รู้ อ่านไปด้วยแล้วก็เอามาฝึก เดี๋ยวนี้ ผมก็ใช้ความพยายาม แต่มันก็ยาก อย่างอาจารย์ว่า
ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าลู่ของคุณเด่น เป็นลู่ด้วยความเป็นตัวตน อันนี้เป็นจุดที่ละเอียด
ผู้ฟัง เห็นทีไรก็เป็นตัวตนทุกที
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น นี่เป็นจุดที่ละเอียดมาก เราหาลู่ แต่ลู่นั้นสำหรับเรา หรือว่าลู่นั้นเป็นทางที่จะละเรา
ผู้ฟัง นอกจากฟังแล้วไม่มีทางอื่นเลย
ท่านอาจารย์ ถ้าคิดถึงผู้ที่อบรมเจริญปัญญา แล้วเขาสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม เป็นตัวอย่าง เช่น ในครัวกำลังทำงานหุงต้มแกง แล้วก็เกิดไฟแรง น้ำแกงไหม้ เขาบรรลุคุณธรรมเป็นพระอนาคามี ท่านอนาถปิณฑิกะ ฟัง พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นพระโสดาบัน วิสาขามิคารมารดาก็เหมือนกัน โดยมากคฤหัสถ์จะไม่มีชีวิตที่ผิดแปลกไปจากปกติเลย เพราะเหตุว่าเรื่องของปัญญา เป็นเรื่องรู้แจ้งสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งต่างกันโดยเพศ บรรชิต ภิกษุ ภิกษุณี ไม่ได้ครองเรือนอย่างคฤหัสถ์ ส่วนคฤหัสถ์ไม่ได้เป็นผู้ที่ไปทำอย่างบรรพชิต เพราะเหตุว่าการอบรมเจริญปัญญา สามารถที่จะรู้สภาพธรรมที่สะสมมาตามความเป็นจริง กว่าจะได้มีการฟังพระธรรมสักครั้งหนึ่ง ไม่ทราบเลยว่า ปัจจัยในอดีตที่สะสมมาในแต่ละชาติ จากการเป็นบุคคลโน้น บุคคลนี้ ทั้งดีทั้งชั่ว ทั้งความเห็นผิด ทั้งความเห็นถูก สะสมมา ไม่ทราบว่าในชาตินี้ ชีวิตนี้ แต่ละคนถึงกาลที่จะได้ฟังธรรม สังขารขันธ์ปรุงแต่งมาจนกระทั่งถึงขณะที่พร้อมที่จะได้ฟัง นี่คือความเป็นอนัตตา เราต้องเห็นตามความเป็นจริงอย่างนี้ แล้วจะทำให้เราเห็นว่าไม่มีเราที่จะทำ แต่ว่าทุกอย่างที่เกิดมีปัจจัยจึงได้เกิดขึ้น แม้แต่ความคิด หลังจากที่ได้ยินได้ฟังแล้วก็ต่างกันไป
การเข้าใจตัวธรรมซึ่งเป็นตัวปัญญา ก็ไม่ใช่เรา เห็นไหมว่า กว่าจะละหมด การที่จะเป็นพระอริยบุคคล ที่ไม่มีความเห็นผิดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ที่สามารถที่จะรู้ความเป็นสามัญญลักษณะของนามและรูปทั้งปวงไม่ว่า ณ สถานที่ใด เพราะเหตุว่าปัญญาต้องสมบูรณ์ตามลำดับจริงๆ ขั้นแรกไม่สามารถจะรู้อย่างนี้ได้ ทุกคนก็ยอมรับว่าถูกต้องเพราะว่าปัญญายังอ่อนมาก แม้แต่ นามรูปปริจเฉทญาณ เป็นวิปัสสนาญาณ ก็ยังไม่สามารถที่จะประจักษ์การเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรม เพราะเป็น ตรุณวิปัสสนา เพราะฉะนั้น การฟังต้องฟังด้วยความแยบคายจริงๆ ข้อสำคัญที่สุดคือ รู้จักตัวเราเองว่า ขณะนี้ปัญญาเราแค่ไหน ถ้าปัญญาเราแค่นี้ แล้วเราจะไปทำอย่างอื่นที่เกินสติ และปัญญาโดยการไปนั่งนึก นั่งไตร่ตรองอย่างไร ก็ไม่สามารถที่จะรู้ว่า ขณะนี้สภาพธรรม ทุกขณะ แล้วแต่สติจะเกิดระลึก เป็นนามธรรมหรือรูปธรรม นั่นคือปัญญาที่ได้อบรมแล้ว เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจจริงๆ ว่าเป็นเรื่องของจิรกาลภาวนา การอบรม ไม่ใช่เป็นการทำ ถ้าการทำแล้วโลภะจะชอบมาก ได้โน่นนิดได้นี่หน่อย โลภะก็จะดีใจ แล้วโลภะก็อยากทำ เพราะว่าได้ นี้เรื่องของการที่ว่าไม่เห็นโลภะเลย
ผู้ฟัง ตกลงก็แสดงว่า ต้องฟัง
ท่านอาจารย์ เพราะอะไร เพราะปัญญาคือความเข้าใจถูก
ผู้ฟัง เราเคยเรียนรู้ ทฤษฎีการเรียนรู้ เราก็เรียนแล้วก็ฝึกปฏิบัติ เรียนแล้วฝึกปฏิบัติ ให้มีประสบการณ์ ให้มีทักษะ ให้มีอะไรอย่างที่เราเรียนรู้ มัน apply กับการศึกษาธรรมไม่ได้ ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ เหมือนกัน อย่างเวลาที่คุณเด่นพงศ์ฟังแล้ว เคยเกิดสติระลึกได้ไหมว่าเราไม่ควรพูดอย่างนี้ เราไม่ควรคิดอย่างนี้ แม้เพียงว่าเราไม่ควรพูดอย่างนี้ เราไม่ควรคิดอย่างนี้ เราไม่ควรทำอย่างนี้ นั่นคือสติจากการฟัง
ผู้ฟัง อย่างนั้นผมว่ามันไม่ใช่สติปัฏฐาน
ท่านอาจารย์ ยังๆ ไม่ใช่ เพราะฉะนั้น คุณเด่นพงศ์จะเข้าใจลักษณะของสติหลายๆ อย่าง เพราะว่าสติขั้นฟัง ขณะนี้ก็มี ถ้าไม่มีสติขณะนี้ ไม่ใช่กุศลจิต ไม่เข้าใจอะไรเลย เพราะฉะนั้น ขณะที่กำลังฟัง มีศรัทธา มีหิริ มีโอตตัปปะ มีสติ มีเจตสิกมากมายซึ่งเขาทำหน้าที่ของเขา ไม่ใช่เราทำ เพราะฉะนั้น เวลาที่ฟังธรรมแล้ว หลายคนซึ่งเคยเป็นคนที่โกรธมากๆ เกิดระลึกได้ กำลังจะพูดคำที่ไม่น่าจะพูด เขาเกิดสติระลึกได้ แม้ว่าขณะนั้นไม่ใช่สติปัฏฐาน แต่ยังรู้ว่าขณะนั้นไม่ใช่เขา แต่ว่ามีสภาพธรรม ที่มีการระลึกได้ แต่เพราะเหตุว่า ไม่รู้ว่าลักษณะนั้นเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม จึงไม่ใช่สติปัฏฐาน ไม่ใช่ว่าเราจะหวังว่าฟังมากๆ แล้วให้สติปัฏฐานเกิด แต่เพียงสติขั้นนี้ พอจะเห็นไหมว่าเขามีปัจจัยจึงเกิดได้ ถ้าไม่มีปัจจัยก็ไม่เกิด เพราะฉะนั้น สติปัฏฐาน ก็เหมือนกัน ถ้าไม่มีปัจจัยพอ เกิดไม่ได้ ไม่ใช่ว่าเราจะไปทำไปเพียร ไปพยายาม เพราะฉะนั้น จะมีคำสอนที่คล้ายกันมากอย่างหนึ่ง คือ คำสอนที่สอนให้ดู สอนให้พิจารณา แต่นั่นเป็นเรา แน่นอน จะดูอะไร จะคิดอะไร จะเพียรอย่างไร จะพยายามอย่างไรก็เป็นเรา ไม่ใช่การรู้ลักษณะว่าขณะใดที่สัมมาสติเกิดระลึก ยังไม่ทันจะเป็นเรา ที่จะคิด จะทำ แต่มีปัจจัยก็เกิด แล้วก็ดับ เพราะฉะนั้น เวลานี้ ถ้าใครจะมีปัญญา ระดับที่สัมมาสติระลึก ยังต้องถึงขั้นที่ว่า แล้วละความเป็นเรา หรือความต้องการอะไรในขณะนั้นหรือเปล่า ปัญญาต้องอบรมไปๆ ๆ จนกว่าสามารถที่จะรู้สภาพธรรมจริงๆ เป็นของจริง
ผู้ฟัง ต้องพยายามถอนออก
ท่านอาจารย์ ต้องทราบเหตุผล แล้วเป็นคนที่ตรง ทราบไหมว่า ทำไมถึงไม่เห็นสักทีว่าเป็น นามธรรม เป็นรูปธรรม แต่เป็นเราตลอด ทุกคนที่นี่ก็คงตอบเหมือนกันหมด แล้วมีเหตุผลที่เราสามารถจะรู้ได้ไหมว่า ทำไมเราถึงไม่สามารถที่จะรู้อย่างนั้นได้ ไม่ใช่เราอยากจะรู้อะไร เราก็จะรู้ได้ พยายามไปๆ ด้วยความเป็นเราแล้วก็จะรู้ ได้ นั่นไม่ใช่เลย การพยายามด้วยความเป็นตัวตนที่จะรู้ ไม่สามารถที่จะรู้ว่าไม่ใช่ตัวตน แต่ต้องเป็นปัญญาจริงๆ ที่สามารถที่จะเข้าใจในเหตุในผล เช่น ในขณะที่บอกว่า เวลาเห็นก็เป็นเราทุกที สามารถที่จะทราบได้ไหมว่า เพราะอะไร ถ้าสามารถจะรู้ตรงนั้นได้ เราก็อบรมได้ เพราะเหตุว่า สัมมาสติไม่ได้เกิด ไม่เคยรู้ลักษณะของสัมมาสติเลย ถ้าสัมมาสติไม่เคยเกิด แล้วเราจะไปรู้ลักษณะของสัมมาสติได้อย่างไร เราเพียงแต่รู้จักชื่อในหนังสือ แต่ตัวจริงๆ ของสัมมาสติไม่ได้เกิด ต่อเมื่อใดที่สัมมาสติเกิด สัมมาสติต้องเกิดพร้อมสัมมาทิฏฐิ เพราะเหตุว่า เป็นมรรคในมรรคมีองค์ ๘ ด้วยกัน เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าขณะนั้น เมื่อสัมมาสติเกิดแล้ว จะไม่รู้ว่านั่นเป็น สัมมาสติ เวลาที่สัมมาสติเกิด หมายความว่าปัญญารู้ ลักษณะของสติซึ่งระลึก ไม่ใช่เราที่ดู ไม่ใช่เราที่พยายามพิจารณา ไม่ใช่เราที่เพียร แต่ว่าขณะนั้น ลักษณะของการระลึกเป็นลักษณะของสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นสัมมาสติที่ระลึกถูก เพราะเหตุว่าได้ฟังมาว่าสภาพธรรมมีลักษณะที่ต่างกัน ๒ อย่าง คือ นามธรรมและรูปธรรม ก่อนที่สัมมาสติจะเกิด คนนั้นต้องมีความรู้อย่างนี้ ไม่ใช่ว่าไม่มีความรู้ หรือว่าไม่ใช่ไปอ่านหนังสือ แล้วก็ท่องได้ตอบได้ว่า ทางตาเห็นเป็นนาม สิ่งที่ปรากฏคือสีสันเป็นรูป ทางหูได้ยินเป็นนาม เสียงเป็นรูป อย่างนี้ไม่มีความหมายเลย อย่างนี้ไม่ใช่ความเข้าใจ อย่างนี้เป็นความจำ แต่ไม่มีความรู้อรรถ ไม่ได้มีการเข้าใจไตร่ตรองจริงๆ ว่าลักษณะซึ่งเป็น นามธรรมเป็นธาตุรู้ ซึ่งมี ต่างกับรูปซึ่งไม่ใช่สภาพที่ไม่รู้อะไรเลย
ปัญญาต้องมีเป็นลำดับขั้น ถ้าปัญญาขั้นนี้ไม่มีจริงๆ แล้วไปหวังให้สัมมาสติเกิด สัมมาสติจะไประลึกที่ไหน ก็ระลึกไม่ได้ แต่ถึงแม้ว่าเข้าใจ เราก็ต้องรู้ว่าสัมมาสติเกิดหรือยัง ถ้าไม่เกิดก็คือไม่มีปัจจัยที่สัมมาสติจะเกิด ไม่ใช่เราพยายามไปทำให้สัมมาสติเกิด แต่เราจะรู้เลยว่า เป็นเรื่องของสังขารขนธ์ เป็นเรื่องของอนัตตา เพราะฉะนั้น เป็นผู้ตรงที่ว่า เมื่อสัมมาสติไม่เกิด อย่ามีโลภะ อย่ากังวล อย่ามีเครื่องเนิ่นช้า คือโลภะ มาแล้ว หรือทิฏฐิ คิดว่าต้องทำอย่างอื่น หรือมานะ คิดว่าเราทำได้ เราสามารถจะรู้ได้ ไม่ใช่อย่างนั้นเลย เป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจสภาพธรรมถูกต้อง ตามความเป็นจริงของสภาพธรรม เพราะเมื่อสัมมาสติเกิด เริ่มเห็นความต่างของขณะที่หลงลืมสติ กับขณะที่สติเกิด แล้วยังเป็นหนทางอีกไกล ไม่ใช่ว่าไปพยายามที่จะเข้าใจว่าให้เป็นนามเป็นรูปให้ได้ ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้ อย่างนั้น
ผู้ฟัง ผมอ่านอภิธรรมของอาจารย์ อ่านแล้วมันก็ไม่เข้าใจ คือมันเข้าใจแต่ตัวหนังสือ มันไม่ realize มันบอกไม่ถูก ใช่คำว่าอย่างไรดี มันไม่ Clik มันอ่านแล้วมันก็แปลออก แล้วมันก็พอเข้าใจไปตามอักษร
ท่านอาจารย์ นั้นคือความจำ
ผู้ฟัง ผมก็คิดว่า ไปไม่ไหวแล้ว ก็กลับมาอ่าน บุญกิริยาวัตถุ ดีกว่า ง่ายดี มาอ่านศีลดีกว่าง่ายดี คือค่อยๆ อ่านไปอย่างนี้ ทาน ศีล สมาธิ ปัญญา กลับลงมาอ่านง่ายๆ ไปก่อนดีกว่า ไม่อย่างนั้นเรากลุ้มใจ กลับมาอ่านอะไรพวกนี้ ค่อยๆ สั่งสม ลดมานะของตัวเองบ้าง ลดทิฏฐิของตัวเองบ้าง อ่านๆ มันก็ยังไม่เข้าใจง่ายๆ ผมก็ไม่รู้ว่าจะพูดว่าอย่างไร ผมก็มา อยากมา แต่มันมาแล้วมันก็กลุ้มใจอยู่อย่างนี้
ท่านอาจารย์ กลุ้มใจเพราะความอยาก แต่ถ้าทิ้งความอยากไม่กลุ้มเลย วันนี้เข้าใจแค่ไหน นั้นคือแค่นี้ ฟังครั้งที่ ๑ เหมือนเราเรียนชั้นอนุบาล ๑ เราก็อยู่ตรงอนุบาล ๑ พอความรู้เราเพิ่มขึ้นมา เราก็เลื่อนชั้นไป เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่ว่าเราอยู่ตรงไหน แต่ว่าพระธรรมฟังได้หมด เพราะว่าจริงๆ แล้วคือสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ให้เราพิสูจน์ความเข้าใจของเราว่าเราสามารถเข้าใจได้แค่ไหน ไม่ต้องมีใครมาบอกเราว่าคุณเข้าใจแค่นี้ คุณผ่านขั้นนี้แล้ว คุณรู้แค่นี้แล้ว เพราะเหตุว่าคนนั้นจะเป็นผู้รู้เอง เป็นผู้ที่ตรงจริงๆ ว่า ความเข้าใจอย่างที่คุณเด่นพงศ์ว่า เข้าใจจากการอ่าน แล้วก็ไม่ตลอด ไม่ลึกซึ้ง แล้วก็ไปจับเล่มโน้น เล่มนี้บ้างก็ถูก เพราะเหตุว่าถ้ายังไม่เข้าใจก็คือยังไม่เข้าใจ ขณะใดที่เข้าใจ เปลี่ยนความเข้าใจให้เป็นไม่เข้าใจก็ไม่ได้ ก็เป็นความเข้าใจ
เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องความอดทนซึ่งในโอวาทปาฏิโมกข์ ก็ได้ทรงแสดงไว้ว่า ขันติเป็นตบะอย่างยิ่ง ไม่มีอะไรที่จะยากยิ่งกว่าความอดทน ที่จะเข้าใจธรรมที่กำลังปรากฏ ถ้าคนนั้น เป็นคนตรงก็จะรู้ว่าคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทำให้ผู้ฟังเกิดปัญญาของตนเองจริงๆ นี่คือพระคุณ เพราะว่าพระปัญญาของพระองค์มากมายมหาศาล แต่คนอื่นก็ไม่สามารถที่จะมีปัญญา แม้น้อยนิด ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ถ้าไม่ทรงแสดงพระธรรมเลย จะไม่มีใครที่จะมีโอกาสรู้เลย กี่ภพกี่ชาติว่า ไม่มีตัวตน มีแต่สภาพธรรมที่มีเหตุปัจจัยเกิดแล้วดับ แล้วถึงแม้ว่าจะได้ฟังอย่างนี้ ถ้าไม่ได้สะสมมาที่จะประจักษ์แจ้งจริงๆ หรือไม่ถึงกาลที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็รู้แจ้งอริยสัจธรรมไม่ได้ แต่จากวันนี้ไป ที่เริ่มเข้าใจขึ้น แล้วก็เป็นผู้ที่ตรงว่าเข้าใจขึ้น แล้วไม่เดือดร้อน กับการที่ ทำไมเราถึงไม่รู้อริยสัจ ทำไมเราถึงไม่เห็นเป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม นั่นคือความเดือดร้อนใจซึ่งมีเหตุมาจากโลภะ คือความต้องการ
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 421
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 422
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 423
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 424
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 425
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 426
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 427
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 428
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 429
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 430
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 431
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 432
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 433
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 434
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 435
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 436
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 437
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 438
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 439
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 440
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 441
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 442
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 443
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 444
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 445
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 446
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 447
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 448
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 449
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 450
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 451
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 452
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 453
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 454
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 455
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 456
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 457
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 458
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 459
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 460
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 461
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 462
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 463
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 464
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 465
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 466
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 467
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 468
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 469
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 470
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 471
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 472
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 473
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 474
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 475
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 476
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 477
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 478
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 479
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 480