ปกิณณกธรรม ตอนที่ 452


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๔๕๒

    สนทนาธรรม ที่ ซอยมีสุวรรณ คลองตัน พระโขนง

    พ.ศ. ๒๕๔๑


    ส. แต่คนที่มีการฟังมาก มีการเข้าใจลึกซึ้ง เข้าใจธรรมมาก เขาสามารถที่จะเห็น ความเป็นนามธรรม หรือรูปธรรมจากการที่เขาสะสม ความเข้าใจบ่อยๆ สภาพรู้ ธาตุรู้ จะฟังอีกว่าเป็น ธาตุรู้ประเภท ต่างๆ อย่างจักขุวิญญาณ เป็นธาตุเห็น เมื่อเกิดขึ้น มีหน้าที่เห็นอย่างเดียว เป็นธาตุชนิดหนึ่ง อาศัยจักขุปสาท ส่วนจิตได้ยินโสตวิญญาณ ก็เป็นธาตุอีกชนิดหนึ่ง มีเหตุต่างกันที่จะให้เกิด เพราะฉะนั้น จะเป็นธาตุเดียวกันไม่ได้ รู้สิ่งที่ต่างกันด้วย ก็จะเป็นธาตุเดียวกันไม่ได้ เพราะฉะนั้น ธาตุชนิดนั้นเมื่อเกิดโดยอาศัยเสียงกับโสตปสาท เกิดขึ้นได้ยินแล้วดับ นี่การที่ได้ยินได้ฟังบ่อยๆ แล้วก็เข้าใจ จะเกื้อกูล เวลาที่สติปัฏฐานเกิด เพราะฉะนั้น ความเป็นพหูสูตร คือสามารถที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ช้าหรือเร็วมากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับคนนั้น

    ถ. ขณะที่ลักษณะสภาพธรรมปรากฏ คือมีรูปธรรม นามธรรม ปัญญาจะศึกษาลักษณะรูปธรรมนามธรรม ต้องได้จากการฟังที่เข้าใจ คือสงสัยปัญญาที่จะเข้าใจในลักษณะสภาพธรรมที่สติระลึกรู้

    ส. ต้องอาศัยการฟัง แน่นอน แล้วไม่ใช่การฟังครั้งเดียว แล้วไม่ใช่การฟังเผินๆ ฟังแล้วไตร่ตรอง ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ค่อยๆ เข้าใจขึ้น พอสติเกิด ก็สามารถที่จะมีปัจจัยพอที่จะรู้ว่าสภาพนั้น เป็นนามธรรม หรือรูปธรรมได้

    ถ. ฟังไป เข้าใจไปเรื่อยๆ

    ส. นี่คือ การฟังธรรม คือฟังแล้วก็เข้าใจ เข้าใจขึ้นๆ ๆ ปัญญาทุกระดับคือเข้าใจขึ้น

    ถ. คือจะเข้าใจขึ้นทีละนิดๆ

    ส. ถึงความสมบูรณ์ เสร็จกิจ ต้องเป็นถึง ความเป็นพระอรหันต์ เขาใจขึ้นๆ สิ่งไหนที่ไม่เข้าใจก็พิจารณาแล้วก็มีปัจจัย ที่เมื่อสิ่งนั้นเกิดปรากฏ ก็พอจะรู้ได้ นั่นคือสิ่งนั้น ไม่ใช่ว่าไปหาตัวอย่างมาก่อน ให้เข้าใจ แต่เข้าใจว่าสภาพธรรม เป็นอย่างนี้เมื่อปรากฏ ก็ต้องเป็นอย่างที่กล่าวไว้ หรือทรงแสดงไว้ เราก็ไม่เหนื่อย เราก็ไม่สับสน เราก็ไม่วุ่นวาย เราก็ไม่ไปสงสัย เพราะเราก็ทราบว่าแม้แต่เพียงลักษณะตอนต้นๆ คือนามธรรม และรูปธรรม ต้องรู้จริงๆ โดยการระลึก เพราะฉะนั้น ถึงเราฟังไปแล้วก็ไม่ใช่ เรารู้ เพราะฉะนั้น ประโยชน์ไม่ได้อยู่ตรงนั้น แต่อยู่ตรงที่เมื่อฟังแล้ว สามารถจะรู้ว่าเป็นสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วก็เป็นปัญญาของเราเองทั้งหมด

    ถ. กราบท่านอาจารย์ได้ทราบ จากข้อความในพระไตรปิฎก จำได้บางส่วนว่า กุศลธรรมเป็นที่พึ่งเป็นขั้นๆ หรือ สูงสุดก็คือโลกุตตรกุศล กราบเรียนถามท่านว่า บุคคลนอกลัทธิ ความหมายของตนเป็นที่พึ่งของตน ก็ยังเป็น วิวัฏฏภาวิณีปฏิปทา แต่เขาก็มีที่พึ่งว่าจะไม่ทำบาป อกุศล ถูกต้องไหม

    ส. ที่พึ่งที่จะไม่ไปสู่อบายภูมิ ที่พึ่งจะไม่ได้รับอกุศลวิบาก จริงๆ ถ้าเราจะคิดถึงสภาพธรรม แล้วมีสิ่งที่เราจะเข้าใจได้อีกมากมาย ถ้าเรารู้จุดประสงค์ เรา เรียนแล้วเราไตร่ตรอง เราพิจารณา ค่อยๆ เข้าใจ ปัญญาก็เกิดเพิ่มขึ้น

    ถ. วันนี้ฟัง ท่านอาจารย์ก็เข้าใจเขึ้นมา อีกนิดหนึ่ง แต่คิดว่าความเข้าใจอันนี้ผมจะนำมาพิจารณา

    ส. ทำไมต้องใช้คำว่า นำมาพิจารณา

    ถ. เพราะตัวผมเองมีความรู้สึกว่า น่าจะนำมาใช้ได้

    ส. ทำไมต้องนำมาใช้ เข้าใจว่าเพียงคำพูด แต่ความจริงนั่นคือ ติดอะไรบ้างหรือเปล่า ติดอะไรสักนิดสักหน่อยหรือเปล่า ตามความเป็นจริง บางคนเขาบอกว่า เขาตั้งใจไว้เลย จะทำสิ่งที่ดีที่สุด แต่ก็อดไม่ได้ที่ คนโน้นจะคิดอย่างไร คนนั้นจะเข้าใจอย่างไร จริงๆ แล้ว ถ้าไม่ต้องตั้งใจ แต่ว่าเป็นเนื้อแท้ของคนนั้นจริงๆ ซึ่งตลอดชีวิตของเขา ทำสิ่งที่ดีที่สุดเสมอ แล้วไม่สนใจเลยว่าผลจะเป็นอย่างไร จะได้ดีอย่างที่ต้องการหรือไม่ คนอื่นจะคิด อย่างไร จะว่าอย่างไร โดยไม่ต้องไปนั่งคิดว่า เราจะต้องทำสิ่งที่ดีที่สุด เพราะว่ามีความเป็นเราอยู่ตรงนั้น แต่ว่าถ้าเป็นเนื้อแท้ในใจของเรา ที่ทุกอย่างที่เราทำจะยาก จะง่าย หรือจะอะไรก็ตามแต่ เราทำอย่างดีที่สุดที่เราะจะทำได้ จะตรวจหนังสือจะค้นคว้า จะคิด จะทำอะไรทุกอย่าง เต็มกำลังความสามารถโดยที่เรา ไม่ต้องไปตั้งใจไว้ เพราะว่าตั้งใจไว้ ตอนนั้นอาจจะไม่ตั้งใจที่ดีที่สุด แต่ถ้าในชีวิตของเรา ทุกอย่างเราพยายามทำดีที่สุดเต็มที่แล้ว อะไรจะเกิดขึ้นก็ไม่สนใจ แม้แต่การจะศึกษาธรรม การจะเข้าใจธรรม ชาตินี้จะได้เท่าไร จะมากน้อยเท่าไร สติปัฏฐานจะเกิดเท่าไร หรืออย่างไรๆ ดีที่สุดโดยที่ว่าไม่ต้องไปคิดว่า ความเป็นเราอยู่ตรงนั้น เพราะฉะนั้น ไม่ใช่มีการเป็นเราซึ่ง แอบๆ อยู่ ซ้อนๆ อยู่ แต่ว่าเนื้อแท้จริงๆ คือ ทำดีที่สุดเสมอ ดีกว่า ไม่อย่างนั้นเราก็จะเกิดความรู้สึกว่า เราทำไม่ค่อยดีคราวนี้ หรืออะไรอย่างนั้น ก็เป็นกังวลอีก เพราะฉะนั้น คำพูดของเรา ต่อไป เราจะทราบได้ว่า พอความเห็นถูกเพิ่มขึ้นการที่เราจะใช้คำ จะค่อยๆ เปลี่ยนไป เป็นอัตโนมัติ

    ถ. ผมต้องกราบขอบพระคุณท่านอาจารย์ด้วย เพราะว่าหลายครั้ง หลายหนที่ผมฟังท่านอาจารย์แล้ว เหมือนผมหลงเดินทางอยู่ในป่า แล้วท่านอาจารย์ ก็ดึงชักจูงมาจนกระทั่ง เห็นเป็นทาง แล้วเดินไปเดินมา หารู้ไม่ว่าเดินริมทางอีกแล้ว เดินริมทางบ้างอะไร กว่าจะเดินตรง คิดว่าตรง ที่ไหนได้ ไม่ตรงอีก อะไรอย่างนี้ ก็ต้องทีละเล็กทีละน้อยจริงๆ

    ส. แต่ข้อสำคัญที่ทุกคนจะได้ทราบก็คือว่า เรากำลังเข้าใจธรรมเพื่อละโลภะ ละความติดข้อง อันนี้สำคัญที่สุด เพราะส่วนใหญ่จะไม่ชี้จุดนี้ เพราะฉะนั้น เวลาเรียนยิ่งมีโลภะกันมากๆ แต่ว่าจริงๆ ให้เข้าใจจริงๆ ว่าเรื่องของโลภะ เป็นเรื่องละเอียด แล้วเป็นเรื่องที่จะต้องละจริงๆ ถ้าไม่ละจะอยู่ในสังสารวัฏฏ์นี่เอง ไม่มีทางจะออกจากสังสารวัฏฏ์ได้เลย เพราะฉะนั้น ยิ่งเห็นโลภะ ยิ่งรู้ว่า เรากำลังอบรมปัญญาเพื่อละโลภะ ทุกคำเพื่อละโลภะทั้งหมด มีจุดไหน มีช่องไหนที่จะละโลภะได้ ก็จะต้องได้รู้ช่องนั้น จุดนั้นว่า นี่คือโลภะ อยู่ตรงนี้ ที่จะต้องละ แม้แต่การฟังก็เพื่อละโลภะ ก็กำกับใจเราอยู่ตลอด ไม่ได้ไปหวังอะไร แต่ว่าเพื่อละโลภะ โลภะที่เกิดร่วมกับอวิชชา ที่ไม่รู้ในสภาพธรรม

    ถ. ถ้าอย่างนั้น ในขณะที่กำลังศึกษาเรื่องปรมัตถธรรม กำลังศึกษาในลักษณะของธรรม อยู่เดี๋ยวนี้เอง ที่ท่านอาจารย์ได้กรุณาบรรยายอยู่เสมอว่า ในขณะนี้เห็น เป็นธรรมไหม การที่เริ่มเข้าใจอย่างนี้ โลภะ ติดตามมาได้ไหม

    ส. แต่เร็วมาก เร็วมากทีเดียว

    ถ. ถ้าคิดจะนำมาเมื่อไร ก็ โลภะ ทันที

    ส. เป็นเราแล้ว

    ถ. เรื่องกรรม คือ อย่างฆ่าสัตว์ หรือว่าคนที่มีอาชีพฆ่าหมู ฆ่าเป็ด ไก่ ก่อนตายก็อาจจะมีการร้องแบบหมู แบบเป็ดไก่ ซึ่งจริงๆ แล้ว เรื่องของกรรมท่านอาจารย์ก็เคยบรรยายไว้ว่าเป็นเรื่องที่ปิดบัง

    ส. จริง แล้วเวลานี้ก็มีคนที่ สอนพระพุทธศาสนามาก แล้วคนที่นับถือพระพุทธศาสนา ที่บอกว่านับถือพระพุทธศาสนาก็มาก แต่ถ้าไม่มีการศึกษาธรรม เขาจะรู้ได้ไหม ว่าเขานับถือพุทธศาสนา หรือเปล่า หรือที่เขากำลังสอน จะตรงหรือว่าใกล้เคียง หรือมีส่วนที่ถูกต้องมากน้อยแค่ไหน อย่างในเรื่องของกรรม เพราะฉะนั้น ก็แทนที่เราจะไปคิดถึงคนอื่น ดิฉันว่า เราก็ไม่สามารถจะทำอะไรได้เลย กับความเห็นของคนต่างๆ แต่ว่าเราสามารถที่จะศึกษาพระธรรมให้ละเอียดขึ้น เข้าใจขึ้น แล้วเราก็จะเผยแพร่ เท่าที่เราจะทำได้ ตามที่เราเข้าใจถูกต้อง

    เพราะฉะนั้น แทนที่เราจะไปคิดเรื่องราว อย่างที่คนอื่นเขาอาจจะพอใจ พอได้รับฟังว่าคนฆ่าหมู พอใกล้จะตาย ก็จะต้องเป็นอย่างนี้ อย่างนั้นก็เรื่องของเขา เราก็ไม่สามารถที่จะไปเห็นไปรู้ แต่สภาพธรรม ที่มีจริงๆ แล้วก็ควรจะรู้ แล้วก็ยากที่จะรู้ แล้วก็น้อยคนที่จะสนใจ เราก็ควรจะให้เขาหันมาสนใจเรื่องนี้มากกว่า เพราะว่าถ้าเป็นเรื่องเป็นราวไม่มีวันจบ จากคนฆ่าหมู ไปคนฆ่าไก่ไปอะไรต่ออะไรอีกมากมายเลย กรรมก็สารพัด แจกแจงออกไปเป็นแต่ละกรรมก็เป็นเพียงเรื่องราว แต่ว่าสิ่งเหล่านั้น เขาได้ยินได้ฟังแล้ว แต่เขาไม่สามารถที่จะเกิดปัญญาของเขา ที่จะรู้สภาพธรรม ที่เป็นมรดกจริงๆ จากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า คือความเข้าใจถูกต้อง ในสภาพที่มีจริง แต่ไม่ใช่ตัวตนที่เป็นอนัตตา ไม่ใช่เพียงใช้คำว่า อนัตตา โดยที่ไม่ศึกษา แล้วก็เข้าใจว่ารู้แล้ว ว่า อนัตตาคือเท่านั้น ไม่พอ ต้องศึกษาให้มาก แล้วก็ชักชวนให้เขาเข้าใจ ให้สนใจในเรื่องนี้ แทนที่จะตามเขาไปในเรื่องโน้น

    ถ. การศึกษาความไม่เกิด แต่ตอนดับกับตอนไม่เกิด ไม่เหมือนกัน

    ส. ไม่ต้องไปคิดถึงคำเลย แต่ขณะนี้มีสภาพธรรม อบรมปัญญา เข้าใจขึ้น นี่เป็นหน้าที่ ไม่ต้องทำอย่างอื่น ว่าจะเกิดหรือจะดับ หรือว่าจะเข้าใจตอนนี้ ไม่เข้าใจตอนนี้ ขณะนี้ มีสภาพธรรม ที่เป็น นามธรรมกับรูปธรรมกำลังเกิดดับ เพราะฉะนั้น ปัญญาก็ค่อยๆ เข้าใจในลักษณะของนามธรรม ค่อยๆ เข้าใจในลักษณะของรูปธรรม แล้วไม่ต้องไปคิดล่วงหน้าถึงอะไรเลยทั้งสิ้น เพิ่มความรู้ ความเข้าใจในลักษณะที่เป็นนามธรรม และรูปธรรม นี้เป็นหน้าที่เป็นกิจ ที่จะต้องอบรมเจริญให้มากขึ้น มิฉะนั้น แทนที่จะอบรมอย่างนี้ เราก็ไปคิดในเรื่องอื่น ไปคิดเรื่องอื่นหมดเลย

    ถ. อาจารย์หมายถึงว่า ถ้าปรากฏแล้วศึกษาขณะนั้นได้

    ส. ความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้นในสภาพธรรม ที่กำลังมีในขณะนี้ ตามความเป็นจริง

    ถ. แต่ถ้าเป็นการเทียบเคียง

    ส. คือคิด

    ถ. ก็ควรที่จะเป็นว่า ขณะนั้นปรากฏ แล้วขณะนั้นศึกษา

    ส. คิด เป็นการเข้าใจลักษณะที่เป็นนามธรรม ฟังดูเหมือนกับคงจะไม่ยาก แต่ความจริงแล้ว ขณะนี้ นามธรรมเท่าไร นี่คือความไม่รู้ เพราะฉะนั้น ความเข้าใจธรรมของเรา จึงต้องละเอียดขึ้น เพื่อที่จะรู้ว่าขณะนี้ไม่ใช่มี อย่างที่เราคิดเพียงเท่านั้น มีมากกว่านั้นอีก ทางตาแล้วก็ทางใจ แล้วก็ทางหูแล้วก็ทางใจ แล้วก็สภาพธรรม ก็ปรากฏสั้นๆ

    ถ. แต่ว่าเวลาที่ศึกษาอย่างนั้น มันไม่ได้ตลอดเวลา

    ส. นั่นคือ เราทั้งหมด ทำอย่างไร ความเป็นเรา ถึงจะออกจากสภาพธรรมทั้งหมด ทั้ง ๕ ขันธ์ เพราะว่าโดยมากเราจะมีความคิดนึก กับความเป็นเราเข้ามาแทรกคั่นอยู่ตลอดเวลา บางทีก็นานมากเลย แล้วบางทีก็ยังพยายามหาหนทางให้ตัวเรานี่ทำ ซึ่งไม่ใช่การที่จะละความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งกำลังเป็น นามธรรม และรูปธรรมขณะนี้

    การฟังธรรม ต้องฟังด้วยความตั้งใจ อย่างละเอียดด้วยดีจริงๆ ที่จะเข้าใจให้ถูกว่า ไม่ใช่เรื่องเราทำ แต่เป็นเรื่องอบรมความรู้ ความเข้าใจธรรมจากการฟังแล้วก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    ถ. ขณะที่หลงลืมสติ ธรรมดา ที่ไม่รู้ตัวคิดนึกเรื่องอะไรต่างๆ กับขณะที่ เราทำเพื่อที่จะให้เข้าใจอย่างนี้ ก็ลักษณะก็ต่างกันอีก

    ส. แน่นอน อันพยายามทำผิดมาก

    ถ. ผิดมากว่า

    ส. แน่นอน เพราะว่าไม่ได้เข้าใจเลยว่าเป็นสภาพธรรม หลงลืมสติ ก็เป็นสภาพธรรม

    ถ. แต่เมื่อก่อนนี้ จะมีความพยายามทำอยู่มาก

    ส. ด้วยความเป็นเรา เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นหนทางที่ส่งเสริมความเป็นเรา ก็ยิ่งมีเราทำ แล้วก็ยิ่งมีเราที่ดีใจ ที่เรทำได้ ไม่มีการเข้าใจลักษณะของการละเลย

    ถ. แต่การสะสมสิ่งเหล่านี้ มันก็ยังหลงเหลืออยู่ มันก็ยังมี

    ส. เพราะฉะนั้น การอบรมจึงเป็นจิรกาลภาวนา ตรงที่สุด ธรรมดาที่สุด ธรรมชาติที่สุด ค่อยๆ รู้ไป ทีละเล็กทีละน้อยว่ายังมีเราอยู่ตรงไหน

    ถ. อีกคำถามหนึ่ง คือว่า เวลาที่สติระลึกรู้ทางปัญจทวาร ซึ่งระลึกรู้ รูปธรรมแล้วตามด้วยทางมโนทวาร ถ้าไม่ใช่การระลึกรู้ อย่างทางตา ระลึกรู้รูป รูปารมณ์ แล้วทางใจระลึกรู้ การเห็น แต่ว่ามันไม่ใช่การระลึกรู้ ความเห็น มันกลายเป็นโลภะ ไป มันก็คนละเรื่องไปเลย ก็ได้ไม่เป็นไรหรือ

    ส. ไม่ใช่เป็นเราไปทำอะไร ให้มันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ที่เราต้องการ สภาพธรรม ทุกอย่างเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยทั้งหมด แล้วปัญญาก็ค่อยๆ รู้นิดหนึ่ง รู้หน่อยหนึ่ง รู้ลักษณะของสภาพธรรมอย่างนั้นบ้าง อย่างนี้บ้าง เพื่อละความไม่รู้ นี่คือหน้าที่ นี่คือกิจ

    ถ. แล้วแต่ว่าอะไรจะเกิด อะไรจะตาย

    ส. แน่นอน ถึงจะเห็นความเป็น อนัตตาจริงๆ จุดที่ถูกต้อง คือ เห็นความเป็นอนัตตา ไม่ใช่ฟังเข้าใจ เป็นอนัตตา และอัตตาก็ทำให้เห็นเป็นอนัตตา อย่างนั้นไม่ได้ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าเราจะทอดทิ้งการเรียน แต่ว่า เราต้องรู้ว่าเรียนทำไม เรียนเพื่อให้เข้าใจจริงๆ ให้เข้าใจถูก ไม่ให้คลาดเคลื่อน ไม่ให้หลงผิด ว่าขณะนี้เป็นธรรม เรียนอะไรที่จะเกื้อกูลให้เห็นถูกต้อง ให้มีการละความไม่รู้ ที่เคยยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน อย่างนี้เราก็จะไม่เบื่อการเรียน แล้วเราก็จะไม่คิดว่า ทำไมต้องเรียนมากๆ แล้วทำไมเราเรียนไม่มาก ไม่มีปัญหาเรื่องเรียนมาก เรียนน้อยเลย ทั้งหมดเรียนให้เข้าใจธรรม แล้วถ้าเข้าใจธรรมจริงๆ การเรียนสะดวกมาก คือไม่ติดขัด ไม่มีการที่จะตรงโน้นขัดกับตรงนี้ ในเมื่อธรรมมีจริง มีลักษณะ ๒ อย่าง คือ นามธรรม และรูปธรรมเป็นอนัตตา แค่นี้ เราฟัง ในพระไตรปิฎก มากกว่านี้อีก ก็เพื่อให้เข้าถึงความเป็นอนัตตาของ นามธรรม และรูปธรรม ซึ่งมีจริงๆ แล้วต้อง ประจักษ์ ความจริงอย่างนี้ ไม่ใช่เราไปเรียน สิ่งที่เกินสติปัญญาของเรา

    อย่างบางคน ไม่เข้าใจเรื่องปรมัตถธรรม ๔ ไม่เข้าใจเรื่องขันธ์ ๕ แต่เรียนเรื่องปัจจัย อย่างนี้ เขาอาจจะเข้าใจว่า การฟังดีกว่าไม่ฟัง แต่ประโยชน์ ของการฟังคืออะไร ถ้าฟังตรงนี้เข้าใจ แต่ฟังตรงโน้นไม่เข้าใจ ควรจะฟังตรงไหน ให้เข้าใจเสียก่อน ไม่ใช่ว่าเราปิดกั้น ไม่ให้เขาเรียน แต่หมายความว่าการเรียนของเขาต้อง ให้เข้าใจตามลำดับจริงๆ เพราะว่าถ้าไม่เข้าใจตามลำดับ ไม่มีประโยชน์เลย ติดขัดไปหมดทุกตอน แต่ถ้าเขาไม่ไปเป็นคนใจร้อน เพราะธรรมเป็นเรื่องเข้าใจ เพราะฉะนั้น จะฟังธรรมมาก ฟังน้อย ไม่สำคัญเลย ถ้าเข้าใจเรื่องสภาพธรรมที่เป็นอนัตตา ก็จะสอดคล้อง กับการอบรมเจริญปัญญาด้วย คือทุกอย่างต้องกลมกลืนเข้ากันไปหมด ทั้งปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวท แต่แล้วแต่ว่ากำลังของสติปัญญา ตอนนั้นระดับนั้น ควรจะฟังอะไร ควรจะเข้าใจอะไร ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ให้ถูกต้องให้ดีจริงๆ ให้ชัดเจนเสียก่อน ไม่ใช่ว่า ขรุๆ ขระๆ เต็มไปหมด แล้วก็ไปเก็บอะไรมามากมาย

    เพราะฉะนั้น คนนั้นจะต้องเป็นตัวของตัวเองที่ว่า ตัวเองเป็นที่พึ่ง คือปัญญาของเขาเองเป็นที่พึ่ง ว่า เขาอยู่จุดไหน ตรงไหน แล้วเขาควรจะเข้าใจตรงไหน หรือว่าเราเรียนน้อย แต่เราเข้าใจมาก คือเข้าใจจริงๆ ในสิ่งที่เรียน แล้วการที่เข้าใจจริงๆ ในสิ่งที่เรียน สิ่งที่มีจริงปรากฏในพระไตรปิฎก ในรูปแบบต่างๆ แต่เป็นความเข้าใจทั้งหมด เช่น จะปรากฏในรูปแบบของขันธ์ ๕ ปรากฏในรูปแบบของอายตนะ ปรากฏในรูปแบบของธาตุ ของปฏิจจสมุปบาท ของอริยสัจ ถ้าเรามีความเข้าใจถูกตั้งแต่ต้น จะค่อยๆ เข้าใจตาม แล้วก็ลึก แล้วก็ละเอียด แล้วก็ตรง ไม่สับสน แต่ถ้าเรามุ่งที่จะเรียนตัวเลขมากๆ ตำรามากๆ แต่พื้นของเรา โดยที่เราไม่รู้ว่าเราอยู่ตรงไหน เพราะฉะนั้น แต่ละคน ก็เป็นคนที่จะต้องรู้จักตัวเองว่า เขาอยู่ตรงไหน ปัญญาของเขาจะรับอะไร แล้วก็จัดการตรงนั้นเสียให้เรียบร้อย เสียให้ดี เป็นพื้นฐานที่ถูกต้องที่ ว่าเขาจะได้ ต่อไปโดยไม่สับสน

    สนทนาธรรม ที่ วัดชลประทานรังสฤษฏ์

    พ.ศ. ๒๕๔๒


    วิทยากร. พวกเราได้มาประชุมกันที่โลงศพวันนี้ เป็นโอกาสดี เพราะว่า คนทุกคนเกิดมาแล้ว ก็ต้องตาย แต่ว่าการตาย คือการจากไปนี้ ไม่ใช่จากไปจริงๆ จากไปเพียงแต่ว่าหมดกรรมเก่า แล้วก็กรรมใหม่ก็มีโอกาสเกิดขึ้น แต่ว่าภาพที่ยังอยู่ ก็เป็นรูปชนิดหนึ่ง ซึ่งเคยเป็นที่อาศัยของจิต รูปนี้ท่านเรียกว่า อุตุชรูป ถ้าเราพิจารณาแล้ว ว่า คนไม่มี สัตว์ไม่มี มีแต่รูป ที่ประชุมกันเกิดขึ้นปรุงแต่งเป็นคน เป็นสัตว์ ความรู้ตามความเป็นจริงอย่างนี้ เราก็คลายความทุกข์ลงได้บ้าง แต่ถ้าเรายึดสิ่งที่มีจริง คือ นาม และรูปว่าเป็นเรา เป็นคน เป็นสัตว์ การที่ยึดอย่างนี้ นามรูปจากไปแล้ว เราก็เศร้าโศก แต่เมื่อเราเห็นตามความเป็นจริง ว่า นาม และรูปเป็นธรรมชาติ ต้องเกิดต้องดับ อาศัยกรรมเป็นปัจจัย เมื่อเราคิดได้อย่างนี้แล้ว จิตเราก็ไม่เศร้าโศก พระองค์จึงตรัสว่า ดูกร พราหมณ์ เมื่อผู้ใดเห็นตามความเป็นจริงว่า นามรูปไม่ใช่เรา โดยประการทั้งปวง อีกอย่างหนึ่ง เมื่อนามรูปเปลี่ยนแปลงไปหายไปก็ไม่เศร้าโศก ผู้นั้นชื่อว่าเห็นภัยในวัฏฏะ เราประชุมกันก็เพื่อจะแสดงธรรมบ้างเล็กๆ น้อยๆ ให้เข้าใจถึงว่า คนจริงๆ ไม่มี มีแต่รูปกับนาม เพราะฉะนั้น วันนี้ก็เป็นโอกาสดี

    ถ. ใน มลสูตร ที่กล่าวไว้ว่า เรามีศัตรูภายใน ได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ ซึ่งนี่ก็เป็นพระสูตรที่มีความไพเราะว่า จริงๆ แล้วเรามีศัตรู ติดตามเราไปตลอดทุกลมหายใจ

    ส. ศัตรูซึ่งเป็นที่รักเหลือเกิน ทราบไหม ว่าคนไหน ใครในบรรดา ศัตรู ๓ ตัว ศัตรู ซึ่งเป็นที่รัก รักจริงๆ โลภะ แสดงให้เห็นว่า ใครจะมาบอกเราสักเท่าไร นี่คือศัตรูที่ร้าย แสนร้ายที่สุด จะนำทุกข์โทษภัย มาให้อย่างใหญ่หลวง คนที่ไม่เคยร้องไห้ก็ต้องร้องไห้ คนที่ไม่เคยทุกข์โศกก็ต้องโศกเศร้า เพราะศัตรูตัวนี้ ซึ่งเรารักเหลือเกิน ต่อให้รู้ว่าเป็นศัตรูสักเท่าไร ถ้าปัญญาไม่สามารถที่จะละ ไม่ต้องการศัตรู คนนี้อีกต่อไป แสนยาก ทั้งๆ ที่เรารู้ว่าเขาทำร้ายอยู่ตลอดเวลา

    เพราะฉะนั้น อย่างการตายซึ่งทุกคนจะต้องประสบ ถามจริงๆ ว่าเรากลัวอะไร เรากลัวสูญเสียโลภะ ซึ่งเรามีต่อทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต ถ้าเราจะตาย เราห่วง อาจจะเป็นคนที่มีลูกมีหลาน มีเพื่อน มีฝูง มีสมบัติ มีทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่อยากจะพลัดพรากจากสิ่งต่างๆ เหล่านั้น แสดงว่าเรายังไม่กล้าที่จะสละโลภะ ยังต้องการโลภะ ยังหวงโลภะนั้นอยู่ ไม่อยากจะให้โลภะนั้นหมดไป ทั้งๆ ที่รู้ว่า โลภะไม่ดีก็ไม่อยากจะให้โลภะนั้นหมด

    เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรม ต้องทราบจริงๆ ว่าเป็นการค่อยๆ ฝืนนิสัย ของเราแต่เดิมซึ่งนิสัยเดิมของเรา ไม่รู้ความจริง เกิดมาก็มืดบอด สิ่งที่ไม่ควรจะติดข้อง ก็ติดข้อง สิ่งที่ควรจะละทิ้งอย่างโลภะ เราก็ไม่ยอมสละ เพราะฉะนั้น ขณะนี้ที่ฟัง เรากำลังเริ่มที่จะเปลี่ยนนิสัย ละจากการที่ติดข้อง ให้เห็นความจริงว่า ถึงเราจะติดข้องสักเท่าไร แท้ที่จริงก็คือสิ่งซึ่งไม่เที่ยง ไม่มีอะไรเลยสักอย่างเดียว ซึ่งจะเป็นของเราไปได้ แต่ถ้าตราบใดที่ยังไม่ถึงวันตาย เมื่อนั้นเราก็ยังเห็นว่าเป็นของเราอยู่ ยังเป็นเราแล้วก็เป็นของเราด้วย

    เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้วควรจะเห็นโทษภัยของโลภะ มากทีเดียวว่า เราไม่กล้าที่จะทอดทิ้ง ไม่กล้าที่จะสละ ไม่กล้าที่จะเป็นคนที่พยายาม ที่จะคลายโลภะ ถ้าใครค่อยๆ ละค่อยๆ คลายโลภะได้ คนนั้นเป็นผู้ที่ฉลาด ที่เห็นโทษจริงๆ ทั้งๆ ที่ละยาก แต่ก็วันหนึ่งก็ค่อยๆ สะสมไป ที่จะค่อยๆ ละไปทีละเล็กทีละน้อย ก่อนจะตาย เพราะว่าตายแล้วก็ทำอะไรไม่ได้ จะไปละโลภะตอนตายแล้วก็ไม่ได้ ต้องตอนที่กำลังมีชีวิตอยู่ในขณะนี้ แต่ว่าการที่จะละโลภะ ไม่ใช่ละด้วยความไม่มีโลภะเลย แต่ด้วยความว่า แม้โลภะเกิดขึ้นก็รู้ว่าขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 100
    23 มี.ค. 2567