ปกิณณกธรรม ตอนที่ 430


    ตอนที่ ๔๓๐

    สนทนาธรรม ระหว่างเดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถาน ประเทศอินเดีย

    พ.ศ. ๒ ๕๔๗


    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าขณะนี้เป็นธรรม แต่ว่า ยังไม่ได้ปรากฏลักษณะของธรรม เพียงแต่ว่าเกิดขึ้น ปรากฏ แล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว โดยที่ว่า ถ้าไม่มีการฟังธรรมให้เข้าใจก่อน ก็ไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมที่ได้ยินได้ฟังเลย เพราะฉะนั้น ขณะนี้ ถ้าจะพูดเรื่องสติ ก็ยากสำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มที่จะฟัง เพราะเหตุว่าแม้สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ก็จะต้องมีความเข้าใจที่มั่นคง ในลักษณะที่เป็นสภาพที่เป็นนามธรรม ที่ใช้คำว่านามธรรม คือสามารถที่จะรู้ จะเห็น จะคิด จะนึก ไม่เหมือนก้อนอิฐ ใบไม้ อะไรเลย แต่ว่าขณะนี้มีทั้งความรู้สึก มีทั้งความจำ นั่นคือลักษณะของนามธรรมทั้งหมด แต่ก็เกิดแล้วก็ดับไป เร็วมาก ทุกวันตั้งแต่เกิดโดย ที่ว่าถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิด ไม่รู้ลักษณะนั้นจริงๆ ก็เพียงแต่ฟังเรื่องราวหรือจำชื่อเท่านั้น เพราะฉะนั้น เรื่องของปัญญาที่จะต้องเจริญต่อไป เพียงแค่ฟังนิดเดียว เป็นไปไม่ได้เลย ต้องอาศัยฟังบ่อยๆ ฟังนานๆ ฟังแล้วฟังอีก แล้วขณะนั้น ถ้ายังเป็นปัญญาของคนอื่น ยังไม่ใช่ของเราเอง เราก็รู้ว่า ไม่สามารถที่จะถึงความเข้าใจของผู้ที่ได้อบรมเจริญสติสัมปชัญญะแล้ว แต่ก็เพียงรู้ว่า จะมีปัญญา ๓ ระดับ ปัญญาขั้นฟัง แล้วก็เข้าใจสิ่งที่กำลังได้ยินได้ฟัง ต้องมีก่อน แล้วก็เมื่อได้ยินได้ฟังแล้วก็มีปัญญาของตัวเองที่จะไตร่ตรอง เข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง มั่นคง ถูกต้อง แจ่มแจ้งขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยให้สภาพธรรม คือ สติสัมปชัญญะเกิด แล้วก็รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้ พูดซ้ำไปซ้ำมาอย่างนี้ วันก่อนก็คงพูดอย่างนี้ วันก่อนๆ โน้นก็พูดเหมือนอย่างนี้ แต่ก็เป็นเรื่องที่ฟังแล้วก็จริง แม้พระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดง เรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจตามปกติ ข้อความในพระไตรปิฎกก็ยืนยันให้รู้ว่า สิ่งต่างๆ ในขณะนี้ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ที่จะต้องอบรมเจริญปัญญา จนกว่าจะรู้อย่างที่พระองค์ทรงแสดง

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์เคยกล่าวว่า สติระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏในชีวิตประจำวัน ก็คือลักษณะที่ธรรมดาๆ ที่อยู่ในชีวิตประจำวัน

    ท่านอาจารย์ ไม่ผิดจากขณะนี้เลย เหมือนเดิม แต่ว่าขณะนั้นเวลาที่สติสัมปชัญญะเกิด ก็จะรู้ว่าขณะนั้น สติกำลังรู้ ซึ่งก่อนนั้น เวลาที่สติไม่เกิด ก็ไม่เหมือนขณะที่สติเกิด แต่ว่าลักษณะของสภาพธรรม ไม่เปลี่ยนเลยสักนิดเดียว เหมือนเดิมในขณะนี้ทุกอย่าง

    ผู้ฟัง อย่างนั้นปัจจุบันนี้ ถ้ายังไม่ระลึกสภาพธรรมที่ปรากฏ แล้วก็ยังไม่ได้รู้ว่าอันนี้คือสติระลึกสภาพธรรมที่ปรากฏ ก็คือไม่มีสติ หรือหลงลืมสติ

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง อยากมีสติแต่ชื่อ อย่าคิดว่าได้สติแต่ชื่อ เพราะว่าขณะนั้นจะทำให้สติไม่เกิด แล้วไม่เจริญด้วย เพราะหลงเข้าใจว่า เป็นสติ แต่ชื่อคิดว่าเป็นสติ แต่ลักษณะของสติ ต้องกำลังมีลักษณะสภาพธรรมเดี๋ยวนี้เอง ที่สติกำลังรู้ตรงนั้น

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ให้โอวาทกับคนที่คิดจะปฏิบัติใหม่ๆ ว่า ให้เอาเบื้องต้นที่พอจะไปปฏิบัติได้

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้ว คำว่า ปฏิ-ปัต-ติ เป็นภาษาบาลี ภาษาไทยใช้คำว่าปฏิบัติ ปฏิ แปลว่าเฉพาะ ปัต-ติ แปลว่าถึง แค่นี้เราก็ไม่รู้แล้ว ซึ่งคนที่รู้ภาษาบาลีก็จะเข้าใจได้ ว่าหมายความว่าถึงเฉพาะ แต่ถึงแม้ว่าจะรู้ภาษาบาลี แปลได้ว่า ถึงเฉพาะ แต่ก็ไม่รู้ว่าถึงเฉพาะอะไร และอะไรถึง เพราะฉะนั้น อย่าเพิ่งใช้คำนี้ โดยที่ว่า เรายังไม่ได้เป็นความเข้าใจของเราเอง แล้วก็ตามๆ คนอื่นไป เพราะถ้าเป็นในลักษณะนั้นแล้วละก็ เราจะไม่เข้าใจอะไรเลย แต่เราจะทำตามคำที่คนอื่นบอกไปเรื่อยๆ แต่จริงๆ พระธรรมโดยเฉพาะพระพุทธศาสนา คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อให้ผู้ที่ได้ฟังเกิดปัญญาของตนเอง

    ถ้ายังไม่รู้ ยังไม่เข้าใจ ยังไม่ได้เป็นปัญญาของเรา อย่าปฏิบัติ เพราะว่าถ้าปฏิบัติ ไม่ทราบว่าผิดหรือถูก จะรู้ได้อย่างไรว่าปฏิบัติผิดหรือถูก ถ้าไม่ใช่ปัญญาของเราที่รู้ตั้งแต่ต้นว่า พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้อะไร และก็สอนหนทางที่จะทำให้รู้ความจริงนั้นด้วย พระศาสนามี ๓ ระดับ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ปริยัติคือการศึกษาสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เดี๋ยวนี้มีสิ่งที่ปรากฏ แล้วก็เริ่มมีความเข้าใจว่า เรายังไม่ได้รู้สิ่งที่ปรากฏ เลย มีความหลงผิด เข้าใจว่าเป็นเรา ทั้งหมดที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน แต่ขณะที่เห็น ไม่ใช่ขณะที่ได้ยิน จะพร้อมกันก็ไม่ได้ เช่นเดียวกับขณะที่รู้สึกเป็นสุข ก็ไม่ใช่ขณะที่กำลังเป็นทุกข์ ลักษณะคนละอย่าง เกิดไม่พร้อมกันด้วย

    สภาพธรรมที่เกิดแล้วดับไปก่อน สภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งจึงจะมีปรากฏได้ ถ้าสุขยังมีอยู่ ทุกข์ก็ปรากฏไม่ได้ หรือว่า ถ้าทุกข์ยังมีอยู่ สุขก็ปรากฏไม่ได้ นี่ก็คืออย่างห่างไกล อย่างหยาบมาก กับความเป็นจริง ซึ่งสภาพธรรมเกิดขึ้นและดับไปอยู่ทุกขณะนี้ตามเหตุตามปัจจัย เพราะฉะนั้น ถ้าเรายังไม่เข้าใจเรื่องของสภาพธรรม ก็ไม่ใช่ปัญญาที่จะถึงขั้นปฏิปัตติ ถึงเฉพาะลักษณะของสภาพธรรมได้ เราข้ามขั้นไม่ได้เลย ต้องมีปริยัติ คือการฟัง และเป็นความเข้าใจของเราเองที่เพิ่มขึ้น ก็จะทำให้มีการระลึกได้รู้ว่า สิ่งที่เราได้ยินได้ฟัง คือสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ แล้วลักษณะของแต่ละอย่างที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ก็เป็นตามที่เราได้ยินได้ฟัง

    เพราะฉะนั้น สติสัมปชัญญะ ก็จะรู้ตรงลักษณะทีละอย่าง จนกว่าจะค่อยๆ รู้ขึ้น นี่คือมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งปกติมี ๕ องค์ เกิดขึ้น ไม่ใช่เรา เป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่าง แล้วก็กำลังทำกิจของสภาพธรรมนั้นๆ ไม่ใช่เราปฏิบัติ เหมือนกับขณะนี้ ต้องเข้าใจว่า ไม่ใช่เราเห็น แต่เป็นสภาพธรรมที่สามารถเห็นเมื่อมีตา กระทบกับสิ่งที่ปรากฏ ถ้าคนนั้นตาบอดสิ่งที่ปรากฏ อย่างที่ปรากฏกับคนตาดีขณะนี้ ก็ปรากฏไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ทั้งหมดเป็นธรรมที่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย แม้แต่การปฏิบัติก็ต้องเป็นปัญญาที่เข้าใจเรื่องราวของสภาพธรรมในขณะนี้ก่อน อย่าเพิ่งไปข้ามขั้น ต้องขอประทานโทษที่กล่าวอย่างนี้ เพราะเหตุว่าความจริงก็คือว่า เป็นอย่างนี้ ต้องเป็นปัญญาของเราเอง ถ้ายังคงเป็นของคนอื่นที่ไม่ใช่ของเรา การฟังทั้งหมดจะไม่ได้ประโยชน์เลย แต่การฟังเมื่อเป็นปัญญาของเราเมื่อไร จะมากจะน้อยอย่างไร นั่นคือประโยชน์ของการฟัง

    ผู้ฟัง พี่อ้อมฝากถาม คงจะเห็นว่าวันนี้เป็นวันแรกของการมาอินเดีย ก็เลยอยากจะฟังท่านอาจารย์พูดถึง คุณค่าของการที่เราได้มาอินเดียครั้งนี้

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้ว ก็มีคำถามเรื่องนี้ว่า มาอินเดียทำไม คำตอบก็หลากหลาย แล้วส่วนใหญ่ก็คิดว่าถ้ามาแล้วก็จะเกิดกุศลได้หลายอย่าง เช่น การได้ฟังธรรม ได้บูชาสถานที่ที่ควรระลึกถึงพระมหากรุณาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระปัญญาคุณ ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า อันนั้นก็ตามระดับขั้นของความคิดว่า ขณะนั้นแต่ละคนคิดอย่างไร แต่สำหรับดิฉันเองจะไม่มีคำถามว่า มาอินเดียทำไม เพราะมีการสะสมที่จะมาอินเดีย เพราะฉะนั้น ก็เป็นคำตอบที่ว่า มาเพราะว่ามีการสะสมที่จะมา ส่วนที่ว่ามาแล้ว ก็ได้มีโอกาสที่จะกราบ ระลึกถึงสถานที่ซึ่งแม้ว่าจะมีคนที่อยากมา แต่ไม่มีโอกาสได้มาก็มีมาก บางคนก็อยากจะมา แต่ก็สิ้นชีวิตไปก่อนก็ได้ หรือว่าอาจจะไม่แข็งแรงพอที่จะมา เกิดเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นก็ได้ เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า แม้แต่แต่ละบุคคลซึ่ง ได้มาถึง ณ สถานที่นี้ อยู่ตรงนี้ ก็ต้องมีเหตุปัจจัยที่ทำให้ขณะนี้สภาพธรรมขณะนี้เกิดขึ้นเป็นอย่างนี้ แต่เมื่อมาแล้ว สิ่งที่ควรระลึกถึงก็คือว่า สังเวชนียสถาน หรือว่าชมพูทวีปทั้งหมดที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงประสูติ ตรัสรู้ แสดงพระธรรม แล้วก็เสด็จดับขันธปรินิพพาน ไม่มีในโลกอื่นเลย ในจักรวาลอื่นด้วย แต่มี ณ สถานที่นี้ และไม่ใช่แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นี้พระองค์เดียว แม้ ๓ พระองค์ก่อน เพราะว่ากัปนี้ เป็นภัทรกัป มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๕ พระองค์ แต่ที่ตรัสรู้และทรงแสดงพระธรรมแล้ว ๔ พระองค์ เราอยู่ในยุคสมัยของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสมณโคดม ซึ่งไม่ได้หมายความว่าก่อนนี้เราไม่เคยเกิด ก็เกิดกัปไหน แม้แต่พระองค์เองก็ ๔ อสงไขยแสนกัป แล้วเรานานกว่านั้นหรือเปล่า พระองค์ได้พบได้เฝ้าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า รวมทั้งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ทีปังกร เป็น ๒๔ พระองค์ แล้วเราไม่ทราบ กี่พระองค์ แต่ว่าถึงอย่างไรก็ตามก็เป็นบุญที่ได้กระทำไว้ ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่ละเอียด ที่จะศึกษา และก็ตรงต่อพระธรรม เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ไม่คลาดเคลื่อน จึงจะเป็นผู้ที่เป็นสาวก แม้ว่าจะไม่ใช่เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่พระปัจเจกพระพุทธเจ้า เป็นผู้ที่มีสาวกบารมี คือมีการฟัง มีการอบรม จนกว่าจะได้ รู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็เป็นการสะสมที่ทำให้ เมื่อบรรลุคุณธรรมก็เป็นระดับของสาวก แต่ว่าสาวกก็มีหลายขั้น ตั้งแต่พระอัครสาวก พระมหาสาวก จนกระทั่งถึงพระสาวกธรรมดา ซึ่งแม้ไม่มีชื่อในพระไตรปิฎก แต่ปัญญาของท่านก็เช่นเดียวกัน เพียงแต่ว่าไม่มีเรื่องราวซึ่งเป็นพิเศษที่จะทำให้คนอื่นได้พิจารณาได้เห็นการที่ท่านเหล่านั้นได้บำเพ็ญบารมีมา

    เพราะฉะนั้น เวลาที่นมัสการ ขณะที่มีความเข้าใจแม้นิดเดียว ก็จะมีการระลึกถึงพระคุณที่ว่า ที่เข้าใจอย่างนี้เพราะท่านผู้ใด ถ้าไม่มีการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จะไม่มีใครสามารถที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง ที่กำลังปรากฏในขณะนี้เลย เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่ว่าขณะนั้น จะมีการระลึกถึงพระคุณ ในขณะไหน ถ้าในขณะที่สติสัมปชัญญะเกิด เป็นการบูชาที่ประเสริฐยิ่ง เพราะว่าเป็นผู้ที่ได้ฟังแล้วก็อบรม จนกระทั่งเห็นว่า หนทางเดียวที่จะทำให้ออกจากสังสารวัฏฏ์ได้ก็คือ ได้รู้ ธรรมที่กำลังปรากฏ ด้วยสติสัมปชัญญะ เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่ทัศนะของแต่ละบุคคล แล้วแต่ว่าใครจะมาเพราะอะไร แต่ก็ได้มาแล้ว เมื่อมาแล้ว ทุกครั้ง เราก็ได้กระทำการบูชา ในพระคุณ ตามกำลังของสติปัญญา คงจะเป็นเรื่องยาวของแต่ละบุคคล ซึ่งที่นี่ก็เป็นแต่เพียงคนเดียวที่พูดถึง เพราะว่าสำหรับดิฉันเองจะไม่มีคำถาม แต่ว่ามีการสะสมที่จะมาอินเดีย

    ผู้ฟัง สงสัยว่า ได้เห็นครั้งหนึ่งก็ให้รู้ว่าตรงที่เห็นคือวิบาก หรือกรรมหรืออะไรอีกอย่าง จำไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้กำลังเห็น มีเห็น แล้วเราก็เคยได้ยินคำว่า กรรม ซึ่งเป็นเหตุที่จะให้เกิดวิบาก คือผล เพราะฉะนั้น ต้องทราบว่ากรรมมีจริง แล้วก็วิบากก็มีจริง แต่ว่ารูป สิ่งที่ไม่รู้อะไร ทำกรรมอะไรก็ไม่ได้ แล้วก็จะเป็นธรรมที่เป็นผลของกรรมก็ไม่ได้ ต้องเป็นนามธรรม ซึ่งขณะนี้ที่กำลังนั่งอยู่ ทุกคนก็มีทั้งนามธรรมและรูปธรรม รูปธรรมไม่ใช่สภาพรู้ รูปไม่ใช่กรรม และรูปไม่ใช่วิบาก ในขณะนี้จิต เจตสิก หรือว่า นามธรรม เป็นกรรมและเป็นวิบาก แต่ในขณะที่เห็นเดี๋ยวนี้ ขณะนี้ทุกคนกำลังเห็น แล้วก็เราเลือกไม่ได้ ถ้าเกิดใครตาบอด เห็นขณะนี้ก็ไม่มี เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ที่กำลังเห็น ให้ทราบว่าเป็นผลของกรรม ผลของกรรมก็คือทางตาเห็น ทางหูจิตได้ยิน ทางจมูกจิตได้กลิ่น ทางลิ้นจิตลิ้มรส ทางกายจิตรู้สิ่งที่กำลังกระทบสัมผัส

    ในขณะนี้เห็นมี เคยเป็นเราเห็นก็ทราบว่าเห็น เป็นวิบาก เป็นผลของกรรม ขณะนี้ได้ยินเสียง ก็เป็นผลของกรรมอีก ไม่ได้ยินเลย ดีไหม ไม่ให้ได้ยินเลย ไม่ดี ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ผลของกรรมจะมี ๒ อย่าง คือถ้าเป็นสิ่งที่ปรากฏ เสียงที่ดี ก็เป็นผลของกุศลกรรม ถ้าเป็นเสียงที่ไม่ดี ขณะนั้นก็เป็นผลของอกุศลกรรม เช่นเดียวกับทางตา ถ้าเราเห็นสิ่งที่น่าพอใจ ขณะนั้นก็เป็นผลของกุศลกรรม ถ้าเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ขณะนั้นก็เป็นผลของอกุศลกรรม ทางตา ทางหู ทางจมูก ก็มีกลิ่นทั้งที่น่าพอใจ และไม่น่าพอใจ ขณะที่กำลังรู้กลิ่นที่น่าพอใจ ขณะนั้นก็เป็นผลของกุศลกรรม ถ้าขณะได้กลิ่นที่ไม่น่าพอใจ ขณะนั้นก็เป็นผลที่ได้กลิ่นที่ไม่น่าพอใจ เป็นผลของอกุศลกรรม เพราะฉะนั้น ทางที่จะรับผลของกรรมก็มี ๕ ทาง คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ๕ ทาง หลังจากนั้นแล้ว พอเห็นแล้ว ได้ยินแล้ว จะเป็นกุศลหรืออกุศล ก็เริ่มที่จะสะสมสำหรับกระทำกรรม หรือถึงความเป็นกรรมบถ ที่จะทำให้เกิดผล คือเห็นได้ยินพวกนี้เป็นต้น

    ผู้ฟัง เห็นครั้งหนึ่งก็มีวิบาก

    ท่านอาจารย์ ตัวเห็นเป็นวิบาก

    ผู้ฟัง แล้วก็เป็นผลของกรรมใหม่ด้วย

    ท่านอาจารย์ แล้วชอบหรือไม่ชอบในสิ่งที่เห็น ชอบหรือไม่ชอบไม่ใช่วิบากแล้ว

    ผู้ฟัง เป็นเหตุใหม่

    ท่านอาจารย์ เป็นเหตุใหม่ ที่จะทำให้เกิดกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม แล้วถ้ามีกุศลกรรม

    ผู้ฟัง แล้วเป็นทั้งวิบาก และเป็นกรรมในขณะเดียวกัน

    ท่านอาจารย์ คนละขณะ เพราะฉะนั้น จึงมีกิเลสวัฏฏ์ เป็นปัจจัยให้เกิดกรรมวัฏฏ์ กรรมวัฏฏ์เป็นปัจจัยให้เกิดวิปากวัฏฏ์ ถ้าไม่มีกิเลส กรรมก็ไม่มี ถ้ากรรมไม่มี วิบากก็ไม่มี ขณะนี้ที่กำลังเป็นวิบาก คือกำลังเห็น ก็แสดงว่า เป็นผลของเหตุในอดีต

    ที่จริงการเดินทางคราวนี้ก็มีเรื่องของวิบากมากมายเลย วิบากทุกขณะที่เห็น ที่ได้ยิน เราก็คงจะไม่กล่าวถึง ดูทุกคนก็เป็นธรรมดา แต่พอมีเหตุการณ์พิเศษเกิดขึ้นผิดปกติ เราก็จะมาพิจารณาว่าขณะนั้น เป็นผลของกุศลกรรม หรือเป็นผลของอกุศลกรรม วิบากแรกที่ทุกคนทราบ คือ กระเป๋าสีส้มของดิฉันก็ไม่มีที่สนามบิน ก็ทำให้หลายคนคิดไปว่า ก็ต้องเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว เพราะว่าจริงๆ แล้วเป็นเรื่องราว แต่ว่าเรื่องราวทั้งหมดก็ต้องมาจากแต่ละ ๑ ขณะที่เห็นบ้างได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง ก็คิดว่าต้องเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว เพราะว่ามีกระเป๋าที่หาย ๒ ใบ คือของดิฉันใบหนึ่ง แล้วก็ของน้องสาวอีกคนหนึ่ง อีกใบหนึ่ง ทุกคนมีกระเป๋าเรียบร้อย ก็เข้าใจว่ากระเป๋าก็หายไปแล้ว นี้คือวันแรก วันที่ ๑ พอวันที่ ๒ คุณพรรณิภาก็บังเอิญ หินที่ขอบห้องน้ำ ที่วางถ้วยแก้ว วางแปรงสีฟัน อะไรพวกนี้ ตกถูกเท้าเลือดออก และแตก แต่ว่าเรามีผู้ที่อนุเคราะห์ได้ คือคุณสุกัญญาก็ช่วยทำให้เรียบร้อย เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะเป็นผลของอดีตกรรมที่ได้ทำแล้วเกิดขึ้น ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย เราจะเห็นได้ว่ากรรมทำได้ทุกอย่างแนบเนียน ตามเวลาด้วย ตรงตามเวลาของกรรมนั้น คือว่าต้องเป็นในขณะนั้น ไม่ใช่ขณะอื่น ตลอดเวลาที่เดินมา เมื่อไม่ถึงเวลาที่กรรมนั้นจะให้ผล ก็ไม่เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ แต่พอถึงเวลา จะหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย เกิดแล้ว เป็นแล้ว เจ็บแล้ว แต่ก็ยังมีกุศลวิบากที่ได้รับการดูแล แล้วก็ดีขึ้นหรือเปล่า นี่ก็เป็นเหตุการณ์ ในวันที่ ๒ แล้วก็ในวันที่ ๒ ตอนกลางคืนก็ได้ข่าวว่า กระเป๋าที่หาย ก็ไม่ได้หายไปไหน อยู่ที่สนามบินที่กรุงเทพ เขาไม่ได้เอาขึ้นเครื่อง เพราะฉะนั้น ก็คงจะรับกลับได้เวลาที่ถึงกรุงเทพ แต่ว่าของในนั้นก็คือของที่จะนำมาบูชา แต่ของอื่นก็มีบ้าง เพราะฉะนั้น ก็เพียงขาดของที่จะบูชา ที่ได้ตั้งใจจะนำมาถวาย ก็เป็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ทราบว่าต่อจากนี้ มีใครมีวิบากอะไรบ้างหรือเปล่า มีไหม

    ผู้ฟัง อาหารเป็นพิษ อาหารระหว่างทางไม่สะอาด เพราะว่าเห็นขาแมลงสาบอยู่ในผัก แล้วหนูก็ทานเข้าไปมากเลย อาเจียนใหญ่ แต่ก็ดีขึ้นแล้ว

    ท่านอาจารย์ ที่จริงขณะนี้ก็กำลังเป็นวิบาก แต่เราก็ไม่กล่าวถึง เราจะกล่าวเฉพาะบางวิบาก ซึ่งเรารู้ว่า ไม่มีใครสามารถจะทำได้เลย นอกจาก กรรม ทำไมต้องเป็นขาแมลงสาบ แล้วทำไมต้องอยู่ตรงนั้น คนอื่นไม่เป็นไร คนอื่นไม่เห็นขาแมลงสาบ รับประทานตามปกติ

    มีใครอีกไหม ถามเรื่องกรรมวิบาก ก็แสดงให้เห็นว่า เรามีความมั่นคงจริงๆ ในเรื่องของกรรมที่ได้ทำแล้ว

    ผู้ฟัง ไม่ตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป ที่เข้าใจก็คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ คือสติปัฏฐาน แต่ในขณะที่ผมยังเพิ่งเริ่มศึกษา พอที่จะเข้าใจเช่นไรในการดำรงชีวิตประพฤติอยู่ในการดำเนินชีวิตประจำวันที่ว่า ไม่ตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป อาทิเช่น ได้ยินในพระสูตรว่า การที่พระเจ้าพิมพิสารไม่ใส่รองเท้า แล้วก็ได้ยินได้ฟังมาว่า การที่จะมายังสถานที่สังเวชนียสถานทั้ง ๔ ควรจะมีการนอบน้อม ทีนี้พิจารณาในสภาพของตัวเองแล้ว มีบางครั้ง ก็มีความคิดว่าเออ ควรจะถอดนะ บางครั้งก็ เอะ เอาอย่างไรดี รู้สึกสับสนนิดหน่อย

    ท่านอาจารย์ รู้สึกปัญหาอยู่ที่ทางสายกลาง ทำอย่างไรถึงจะเป็นทางสายกลาง ความจริงคำนี้ คือ มัชฌิมาปฏิปทา ซึ่งหมายความเฉพาะการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นมรรคมีองค์ ๘ เพราะว่าปกติของเรา ไม่มีใครที่จะเอาอะไรมาเป็นเครื่องวัดว่าขนาดไหนจะพอดี สำหรับคนอ้วน รับประทานแค่ไหน พอดี สำหรับคนผอม รับประทานแค่ไหน พอดี เพราะฉะนั้น นี่ไม่ใช่เรื่องของการที่จะเป็นการอบรมเจริญปัญญา เพราะเหตุว่า เป็นเพียงการบำรุงรักษาร่างกายให้มีชีวิตอยู่ต่อไป แต่พระธรรมที่ทรงแสดง ถ้าเราไม่เข้าใจจริงๆ เราจะเอาไปใช้ตามความคิด ตามความเข้าใจของเรา ซึ่งทำให้คนเข้าใจความหมายของมัชฌิมาปฏิปทาผิดไป

    สำหรับที่ใช้คำว่า มัชฌิมาปฏิปทา คือหนทางซึ่งไม่สุดโต่งไปข้างหนึ่งข้างใด เพราะว่า ในครั้งที่ทรงประสูติและตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ความเห็นต่างๆ มากมายเหลือเกิน เช่น มีการทรมานตัว เพราะคิดว่า ถ้าทรมานแล้วกิเลสก็จะน้อยลง หรือว่าคนที่ไม่เห็นเรื่องของการที่จะต้องมีชีวิตที่จะอบรมเจริญปัญญา ก็ไม่เห็นประโยชน์ของปัญญา ก็เข้าใจว่าเพียงเกิดมามีความสุขก็พอแล้ว เพราะฉะนั้น สุขเท่าไรก็สุขไปเถอะ สุขมากๆ ในชีวิตนี้ก็เป็นสิ่งที่ดีสำหรับชีวิตนี้แล้ว แต่ว่าพระธรรมที่ทรงแสดง ทำให้คนมีความเข้าใจถูกในสภาพธรรม ซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะแสดงได้เลย เพราะเหตุว่าทุกคนแม้ว่ามีสภาพธรรมกำลังปรากฏ ในขณะนี้ แต่ไม่รู้ และไม่สนใจที่จะรู้ด้วย มีชีวิตวันหนึ่งๆ โดยที่ผ่านสิ่งที่ปรากฏ เพื่อให้เข้าใจถูก โดยที่ว่า ทั้งชาติอาจจะไม่มีความเข้าใจถูกเลยก็ได้ ถ้าไม่มีโอกาสได้ยินได้ฟังพระธรรม เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นคุณค่าของคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ที่ทรงบำเพ็ญพระบารมี เพื่อตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า สามารถที่จะมีพระมหากรุณาทรงแสดงธรรม โปรดบุคคลอื่นให้รู้ตาม แล้วก็หมดกิเลสได้ด้วย เพราะฉะนั้น หนทางนี้ ไม่ใช่หนทางที่คนอื่นที่ได้ปฏิบัติมาแล้ว จะเป็นหนทางเดียวกับบุคคลทั้งหลายเหล่านั้น ก็ไม่ใช่ แต่ว่าเป็นหนทางที่ละเอียด แล้วก็ลึกซึ้ง เพราะเหตุว่าทรงแสดงเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังมีจริงๆ กำลังปรากฏ ทาง ๑ ทางใดใน ๖ ทาง

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 100
    10 มี.ค. 2568