ปกิณณกธรรม ตอนที่ 427


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๔๒๗

    สนทนาธรรม ระหว่างเดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถาน ประเทศอินเดีย

    พ.ศ. ๒๕๔๒


    ท่านอาจารย์ คุณบุตร สาวงษ์ เข้าใจว่าต้องให้ศีลบริบูรณ์ แล้วสมาธิบริบูรณ์ก่อน หรือเปล่า จึงจะเจริญสติปัฏฐาน

    ผู้ฟัง ไม่ใช่ ในคัมภีร์ บุคคลบัญญัติ ในหมวด ๓ พระพุทธเจ้า ทรงแสดงจริงๆ ว่า เฉพาะ โสดาบันบุคคล และ พระสกทาคามีบุคคลเท่านั้น ที่มีศีลบริบูรณ์ แล้วก็ยังขาดสมาธิ และปัญญา หมายความว่า สมาธิ และปัญญา ยังไม่สมบูรณ์ไม่ว่า ปุถุชนมีรูปฌาน และอรูปฌาน สมาบัติ ๘ แล้วก็โสดาบันบุคคล หรือ สกทาคามีบุคคลนั้น ที่ได้สมาบัติ ๘ ก็ไมชื่อว่ามีสมาธิ สมบูรณ์ เพราะสมาธิสมบูรณ์นี้ เฉพาะพระอนาคามีบุคคล ที่ดับกามฉันทะเป็นสมุจเฉท นี้เป็นพุทธพจน์ ที่การแสดงด้วย พระสัมมาสัมพุทธจริงๆ ควรศึกษามาก แล้วก็พระอนาคามีบุคคล นี้ก็มีศีล มีสมาธิ สมบูรณ์ แต่ก็ยังมีปัญญาไม่สมบูรณ์ เพราะยังมีอวิชชาอยู่ เฉพาะพระอรหันต์เท่านั้นที่มีศีลสมบูรณ์ สมาธิสมบูรณ์ ปัญญาสมบูรณ์

    เพราะฉะนั้น ก็มีการเข้าใจผิดด้วยในการศึกษา อนุบุพพศึกษา นี้เป็นที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่า ไม่ใช่ได้อรหัตทันทีก็ต้อง ได้อนาคามีมรรคก่อนอรหัต ได้สกทาคามรรคก่อนได้โสดาปฏิมรรคก่อน ไม่ใช่ ได้อรหัตมรรคทันที แล้วก็ในอนุบุพพศึกษา คือการศึกษาโดยลำดับนี้ ก็มีผู้เข้าใจอย่างผิดว่า ต้องทำสมาธิให้สมบูรณ์ หรือก็ไม่สมบูรณ์ก็บริสุทธิ์ ถ้าบริสุทธิ์ ก็ใน รถวีนีตสูตร ก็บอกแล้ว ปุถุชนไม่มี ทำศีลนี้ให้สมบูรณ์ก่อน ก็ไม่ถูกต้องเพราะ ปุถุชนไม่มีศีลสมบูรณ์ไม่มีเลย พระวินัย พระธรรมนี้ก็ เป็นพระพุทธเจ้าจริงๆ แม้แต่สิกขาบทอย่างเล็ก เป็นอาบัติทุกกฏ หรือสังฆาทิเสส ก็เป็นจริงๆ อยู่ในสมัยนี้ ถ้าไม่เข้าในศีลแล้วก็ไม่มีโอกาสจะมีการเคารพในพระธรรมด้วย แล้วก็ไม่มีโอกาสจะเข้าใจในทางเจริญสติปัฏฐาน แล้วก็ไม่อาจจะทำศีลสมบูรณ์ในโสดาปัตติมรรคที่ละกิเลส

    ท่านอาจารย์ สำหรับภิกษุ ต้องรักษาให้สมบูรณ์ แน่นอน ถ้าอาบัติก็ต้องปลง ถ้าไม่ปลงก็จะมีความกังวลใจ แล้วอีกประการ ๑ ผู้ที่กล้าล่วงละเมิด แล้วก็ไม่ปลงอาบัติ มีความเคารพในพระศาสดาไหม เรื่องการเคารพพระรัตนตรัย ไม่ใช่เพียงแต่กราบไหว้ โดยเฉพาะคำสอน เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะเหตุว่าเป็นพระศาสนา ถ้าเราไม่ศึกษาด้วยความรอบคอบจริงๆ ไม่ใช่ด้วยความเปิดเผย ไม่ใช่ด้วยความตรง ก็ไม่ได้เคารพในพระศาสดา เพราะว่าเราทั้งหมดเป็นผู้ศึกษา เพราะฉะนั้น ทุกคนต้องพยายามทำความเห็นให้ตรงเท่าที่เราจะทำได้ ไม่ใช่ว่าไม่ตรง แต่ตรงหมายความว่าช่วยกันทำให้ตรงได้ เพราะว่าบางคน คนเดียวอาจจะ เข้าใจผิดก็ได้ แต่ถ้ามีสิ่งใดที่เข้าใจ หรือว่าเกรงว่าจะคลาดเคลื่อน ต้องช่วยกันรีบแก้ไขให้ตรง

    เพราะฉะนั้น สำหรับพระภิกษุแน่นอน ท่านจะไม่รักษาศีลให้บริสุทธิ์ หรือให้ครบถ้วน ก็ไม่ใช่พระภิกษุ สำหรับทิฏฐิที่ตรง ทิฏฐิก็คือความเห็นถูก เรื่องของการอบรมเจริญมรรคมีองค์ ๘ ที่จะให้ถึงรู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่ใช่เรื่องที่ไม่มีความรู้อะไรเลย แล้วก็จะพยายามที่จะไปทำขึ้นมา อย่างที่เราบอกว่า ตอนกลางวันให้พูดถึงเรื่องสติปัฏฐาน หรืออะไร แต่ไม่ใช่เรื่องไปทำ ขณะที่กำลังฟังธรรมให้เข้าใจถูก นี่คือการอบรมทิฏฐิ ความเห็นให้ตรง กับสภาพธรรม เพราะเหตุว่าบางคนอาจจะเข้าใจว่า ไม่ต้องมีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม เพียงแต่ไตร่ตรองตรึกตรอง แล้วปัญญาก็จะเกิด ที่เป็นวิปัสสนาญาณ ความเห็นผิดนี้มีมาก เพราะฉะนั้น ต้องทำความเห็นให้ตรงด้วย เรื่องของการอบรมเจริญปัญญาต้อง มีความรู้จริงๆ ว่าปัญญารู้อะไร สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ปัญญารู้ได้ไหม นี้เป็นสิ่งที่ต้องใคร่ครวญ ปกติอย่างนี้ สภาพธรรม เกิดเพราะเหตุปัจจัยหรือเปล่า ไม่ว่าจะเกิดเป็นโลภะ หรือเกิดเป็นโทสะ หรือเกิดเป็นอะไรก็ตามเป็นสภาพธรรมจริง ที่มีเหตุปัจจัยทำให้เกิดขึ้น เป็นอย่างนั้นๆ ไม่ใช่มีคนอื่นทำ ไม่ใช่มีเราที่พยายามจะไปทำให้เป็นอย่างนั้น จะไปพยายามโยนิโสมนสิการ พยายามที่จะให้บริสุทธิ์ หรือพยายามอะไร แต่ว่าสภาพธรรม ขณะนี้ ชั่วขณะสั้นๆ ที่ เกิดแล้วดับ ต้องมีปัจจัยทำให้เกิดขึ้น เป็นอย่างนั้น

    ปัญญาก็คือรู้สภาพธรรม ตรงตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น โดยการศึกษาให้เข้าใจให้ถูกต้อง แล้วก็จะรู้ว่าหนทางที่จะทำให้ปัญญาเกิดมี แต่ต้องเป็นหนทางที่เห็นยาก เพราะลึกซึ้ง ไม่ใช่จะเห็นง่ายๆ ว่าไม่ต้องทำอะไรเลย นั่งๆ เดินๆ แล้วก็จะได้ปัญญา นี้เป็นไปไม่ได้เลย ต้องมีการศึกษาตามลำดับด้วย คือต้องเข้าใจสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏให้ถูกต้องก่อน

    ธรรมทั้งหลายเป็น อนัตตา ลืมไม่ได้เลย ถ้าเข้าใจเรื่องสติปัฏฐาน จะรู้ว่าขณะใดสติเกิด ขณะใดหลงลืมสติ มิฉะนั้นไมทรงแสดงว่า สติปัฏฐาน มรรคมีองค์ ๘ เป็นหนทางทางที่จะทำให้รู้ อริยสัจธรรม ตามความเป็นจริงได้ คนที่เคยฟังธรรมแล้ว แต่กอ่นเคยคิดเรื่องอื่น ไม่เคยคิดเรื่อง ธรรมเลย แต่เวลาได้ฟังธรรมบ่อยๆ จะคิดเรื่องธรรมไหม ตามความเป็นจริง คิดก็คือคิด เพราะฉะนั้น เขาผู้นั้นจะทราบได้จริงๆ ว่านั้นเป็นปัญญาระดับไหน ระดับคิด คิดไปเท่าไรๆ ก็ไม่สามารถที่จะรู้สภาพธรรมได้

    แต่ถ้าศึกษาด้วยความเข้าใจจริงๆ สามารถที่จะเป็นปัจจัยให้สติปัฏฐานเกิดเพราะเป็น ความเข้าใจที่ถูกต้อง เช่น ถ้าจะพูดถึงเรื่องขันธ์ ๕ ชินหูมาก รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ แต่จะรู้จักขันธ์ได้อย่างไร วิธีที่จะรู้จักขันธ์จริงๆ รู้อย่างไร ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด มีทางไหมที่จะรู้ว่า นี่คือขันธ์ ไม่ใช่ชื่อ ขันธ์ แต่เป็นลักษณะของขันธ์ เพราะฉะนั้น ขันธ์ เป็นธรรม แน่นอน เป็นปรมัตถธรรมแน่นอน เป็นนามธรรม หรือรูปธรรมแน่นอน เพราะฉะนั้น ด้วยการอบรมเจริญสติปัฏฐาน เวลาที่ระลึกลักษณะของรูป รูปมีหลากหลาย ซึ่งเราไม่ค่อยได้สังเกต แต่เราอาจจะคิดว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่นผ้าที่นุ่ม กับผ้าที่หยาบกระด้าง เพียงแค่สัมผัสกระทบ แล้วไม่มีคำว่าผ้า ไม่มีความรู้สึกว่าเป็นผ้า แต่ว่าเป็นลักษณะที่นุ่ม หรือเป็นลักษณะที่แข็ง ขณะนั้น เรารู้ได้เลย แม้แต่รูปที่กระทบกาย ที่เราใช้คำว่า โผฏฐัพพะ ก็หลากหลาย เพราะฉะนั้น มีทั้งหยาบ มีทั้งละเอียด ไม่ใช่ไปจำชื่อว่า ขันธ์จำแนกออกเป็น หยาบ ละเอียด ไกล ใกล้ อดีต ปัจจุบัน อนาคต แล้วก็ท่องไป ๑๑ อย่าง แล้วก็รู้จักคำว่า ขันธ์ ไม่ใช่เลย แต่การที่จะรู้จักลักษณะของธรรมว่าเป็นธรรม ฟังมาว่าเป็น ธรรม แต่ตัวจริงธรรม ถ้าสติไม่ระลึกก็ไม่รู้ นี่เป็นธรรม แข็งนี้เป็นธรรม เห็นนี่เป็นธรรม ถ้าสติไม่ระลึกก็จำ แล้วก็พูดตามเท่านั้นว่าเป็นธรรม เพราะสติระลึก จึงรู้ว่าทั้งหมด เป็นธรรมแล้วก็มีลักษณะที่ต่างกันเป็น ๒ อย่าง นี่คือการอบรมปัญญาที่จะรู้จักธรรม แล้วเมื่อจำแนกเป็นขันธ์ เราจะรู้ เลยว่าความหมายของ ขันธ์ คืออะไร เพราะว่ามีลักษณะที่ต่างๆ กันออกไป ฝ่ายรูป ก็คือรูปทั้งหมด ไม่ว่าจะหยาบ หรือว่าจะเป็นรูปละเอียด หรือว่าเลว ประณีต อะไรก็ตามแต่ ก็อยู่ในประเภทของรูป และที่ความหมายที่ว่า ขันธ์ เป็นอดีต เป็นปัจจบัน เป็นอนาคต ถ้าปัญญาไม่ระลึกลักษณะของขันธ์ ยกตัวอย่างรูปขันธ์ก่อน ถ้าปัญญาไม่ระลึกลักษณะของรูป จะรู้ไหมว่า นั่นเป็นรูป มีแต่ชื่อรูป แต่ไม่รู้จริงๆ ว่าลักษณะนั้นเป็นรูป ต่อเมื่อใดสติระลึกที่ลักษณะของรูป ก็รู้ว่ารูปไม่ใช่นามธรรม สภาพธรรม มี ๒ อย่าง สภาพที่กำลังรู้ลักษณะของรูป เช่น แข็ง สภาพรู้ไม่ใช่รูป ลักษณะแข็งเป็นรูป เพราะฉะนั้น คนนั้นรู้จักลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม เมื่อปัญญาสมบูรณ์ รูปที่กำลังปรากฏเกิดแล้วดับ คนนั้นจะมีความสงสัยในความหมายของขันธ์ไหม ขันธ์ที่เป็นอดีต ขันธ์ที่เป็นปัจจุบัน ขันธ์ที่เป็นอนาคต เพราะเหตุว่ารูปที่กำลังปรากฏเป็นอารมณ์ เมื่อปัญญาสมบูรณ์ ถึงระดับที่จะประจักษ์การเกิดดับ ก็ประจักษ์การเกิดของรูป และการดับของรูป แล้วก็การเกิดของรูป และการดับของรูป เพราะฉะนั้น จึงรู้ว่ารูปที่เป็นอดีต คือที่ดับไปแล้ว รูปที่กำลังปรากฏ เป็นปัจจุบัน แล้วรูปที่จะเกิดสืบต่อจากอันนี้ ก็เป็นอนาคต เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ชื่อขันธ์ แต่ว่าเป็นการรู้ลักษณะของขันธ์ ซึ่งเป็นนามขันธ์ และรูปขันธ์

    เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมทั้งหมด ปริยัติ และปฏิบัติต้องตรงกัน ปฏิเวท ก็ต้องตรงด้วย ไม่ใช่ศึกษาอย่างหนึ่ง ปฏิบัติอย่างหนึ่ง แล้วไปรู้อีกอย่างหนึ่ง ไม่ใช่เลย แต่ว่าสภาพธรรม ในขณะนี้ ตามความเป็นจริง เป็นอย่างนั้น แต่เมื่อปัญญาไม่ถึงระดับที่จะรู้จริงๆ ที่จะประจักษ์จริงๆ ก็ต้องอบรม โดยการที่ว่ารู้ความต่างกัน ของขณะที่สติเกิด กับหลงลืมสติ นี้เป็นขั้นต้น ที่จะรู้ตัวจริงของธรรม ไม่ใช่เพียงแต่ชื่อ ธรรม แล้วก็ต้องรู้ว่าขณะที่สติเกิดเป็นปกติอย่างไร

    วันก่อนเราก็พูดกันแล้ว ครั้งหนึ่ง หรือหลายครั้งก็ไม่ทราบตั้งแต่มาคราวนี้ ว่าเรากระทบแข็งบ่อยๆ ตลอดเวลา ขณะที่สติไม่เกิด พอแข็งปรากฏแล้วดับเร็วมาก เพราะฉะนั้น เราก็มีความคิดว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดทันที เห็นก็เป็นเก้าอี้ กระทบสัมผัสก็เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่มีช่องว่างที่ความเข้าใจถูก จะเป็นปัจจัยให้สติปัฏฐาน เกิด ระลึกลักษณะนั้น แล้วก็รู้ว่าเป็นปกติธรรมดา เพียงแต่ว่าขณะใด ที่สติเกิด สภาพนั้นปรากฏกับสติด้วย ไม่ใช่เพียงปรากฏกับกายวิญญาณ สภาพที่รู้แข็งธรรมดา ซึ่งใครก็รู้ เด็กก็รู้ว่าแข็ง คนที่ไม่ได้ฟังธรรมก็รู้ว่าแข็ง แต่ไม่ใช่ ขณะที่แข็งปรากฏกับสติที่ระลึกลักษณะที่แข็ง อย่างอื่นก็เหมือนกัน นี้เป็นการที่จะค่อยๆ รู้ลักษณะของสภาพธรรมแล้วก็รู้ความต่างกันของขณะที่หลงลืมสติ กับขณะที่สติเกิด แล้วก็เป็นไปอย่างปกติ และต้องมีความอดทน ที่จะรู้ว่า ถ้าผู้ที่อบรมแล้ว จะเป็นพระโสดาบัน ก็คือ ขณะที่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรม สภาพธรรมปรากฏ ตามความเป็นจริง แล้วก็คลายความติดข้องสละความเป็นตัวตน จากสภาพธรรมทั้งหมดที่สติระลึก

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องของกาลเวลา เป็นจิรกาลภาวนา เพราะว่าแข็งก็เกิดดับไปเรื่อยๆ ตลอดในสังสารวัฏฏ์ สภาพธรรม ขณะนี้ เห็นก็เกิดดับสืบต่อ ไปเรื่อยๆ ทีละขณะ แล้วแต่ว่าสติเกิดเมื่อไร ระลึกเมื่อไรค่อยๆ เข้าใจสภาพธรรมนั้น ตรงตามความเป็นจริงเมื่อไร เป็นขั้นของการอบรมเจริญปัญญาว่า ข้ามขั้นไม่ได้เลย ถ้ายังไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่ต่างกันเป็นนามธรรม และรูปธรรม จะประจักษ์การเกิดดับของธรรมไม่ได้เลย

    การที่จะรู้ความจริง จนกระทั่งละความเป็นเรา ความเป็นตัวตน ก็รู้สภาพธรรม ที่มีปัจจัยเกิด ตามปกติ ไม่ใช่เราไปทำ เราไปคิด เราไปไตร่ตรอง ถ้าศึกษาพระสูตรเหมือนกับว่า ให้ทำตลอดเวลา ให้มีสติ ให้เพียร แต่ว่าขณะใดที่สติเกิด อาตาปี สัมปชาโน สติมา มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ เวลาที่สติเกิด ไม่ต้องไปทำความเพียรอย่างอื่นที่จะให้สติเกิด แล้วก็ไม่ต้องไป หาทางโน้น ทางนี้ ว่าต้องคิดก่อน หรืออะไรก่อน นั่นคือไม่ได้ฟังจนกระทั่งเข้าใจจริงๆ เพราะเหตุว่าการฟัง ต้องฟังด้วยความเข้าใจ แล้วก็จะรู้ได้ ขณะนี้สภาพธรรม เกิดเพราะเหตุปัจจัย ถ้าสติไม่เกิด ไม่มีการรู้ที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย แต่มีโลภะที่ทำให้เฉ ไปนิดหนึ่ง หลงทางไปอีกแล้ว ที่จะไปทำอย่างอื่น เช่น ไปคิด ไปพิจารณา ไปไตร่ตรองด้วยความหวังด้วยความต้องการ ด้วยความเป็นตัวตน แต่ขณะใดก็ตามที่สติระลึก ขณะนั้นก็เป็นอัธยาศัย หรืออุปนิสัย ที่คุณบุตร สาวงษ์ กล่าวถึง ที่จะน้อมไปสู่พระนิพพานโดยสติระลึก ลึกซึ้งมาก หนทางเจริญอบรมสติปัฏฐาน เห็นยากจริงๆ ว่าหนทางคือไม่ต้องทำอะไร แต่อบรมเจริญปัญญา คือความเห็นถูกความเข้าใจถูกตั้งแต่ต้น

    คนไม่ยอม จะทำ ทำไม่ยากหรอก ง่าย เวลาใครบอกให้ทำก็ทำ บอกให้คิดก็คิด บอกให้เดินก็เดิน บอกให้ทำอะไรก็ทำ แต่หนทางนั้นไม่ยาก แต่ที่เห็นยากว่านี่คือหนทางเพราะเหตุว่า โลภะ ไม่เข้ามาเกี่ยวข้อง วันนี้ก็อาจจะเป็นเรื่องหนักมากเลย สำหรับผู้ฟังใหม่ แต่ว่าอย่างไรๆ ก็ตาม จะได้เห็นว่า ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด ไม่ควรประมาท แล้วก็เวลาที่ศึกษาธรรมต้อง เข้าใจจริงๆ ให้ถูกต้อง พยัญชนะ หรือคำพูดอาจจะใช้อย่างไร ซึ่งอาจจะทำให้บางคนเข้าใจผิด แต่ผู้ที่ได้ศึกษาแล้วจริงๆ ก็คงจะไม่เข้าใจอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ก็คงจะต้องเป็นผู้ไม่ประมาท

    ผู้ฟัง ในการสนทนามานี้ก็ มีการทานกัน มีการพิจารณา แล้วก็มาถึง จิตสิกขา แล้วก็ผมก็พยายามพูดนิดหนึ่งก่อน ที่จะพูด จิตสิกขา ในการที่จะพิจารณา พระพุทธเจ้า ก็ทรงแสดงอยู่ใน อังคุตตรนิกาย อรรคกนิบาต เรื่องกำลัง ซึ่งใน ... ก็มี พหูสูต มีการพิจารณาเป็นกำลัง แล้วก็สมณะมีขันติเป็นกำลัง แต่ก็การพิจารณานี้ ก็ไม่อาจจะรู้อริยสัจธรรมได้ เป็นแต่เพียงกำลังของพหูสูต นี้ก็เป็นจริง เพราะว่าพหูสูตที่ได้ฟัง มามากมายก็ต้องมีการพิจารณา แต่ก็พระพุทธเจ้า ทรงแสดงธรรมที่ลึกซึ้ง อัตตกาวิจโล นี้ก็คือ ไม่อาจจะพิจารณาได้ บัณฑิตเวทนิโย บัณฑิตจึงอาจจะรู้ได้ นี้ก็พระพุทธเจ้า ทรงแสดงธรรม ที่ลึกซึ้ง ตลอดถึงที่พระพุทธเจ้า ตรัสรู้ ใหม่ๆ มีการน้อมไปเพื่อแสดงธรรม นี่ก็นิดเดียวเท่านั้น ไม่มีปรารถนาจะน้อมไปแสดงธรรมเพื่อโปรดสัตว์โลก แต่ก็เป็นเรื่องของพระพุทธเจ้า ก็มีการพิจารณาด้วยมหากรุณา สมาปฏิญาณ และก็ด้วยการอาราธนาของพรหมด้วย จึงปรากฏ ทรงแสดง ... ญาณ ไปแสดงธรรม นี้ก็เป็นแต่เพียงให้พิจารณาว่า ธรรมนี้ก็ลึกซึ้งมาก ก็ไม่ควรพิจารณาว่าธรรมนี้ แทนที่จะพิจารณาแล้วก็อาจจะตรัสรู้ อริยสัจธรรมได้ นี้ก็ความจริง แต่ก็ไม่อาจจะห้ามการพิจารณาได้ เพราะเป็นกำลังของพหูสูต แล้วก็มาถึง จิตสิกขา การศึกษาเรื่องจิตนี้ ในพระพุทธศาสนาทรงแสดงในเรื่อง ศีลสิกขา จิตสิกขา แล้วก็มีการแสดงถึงปัญญาสิกขา อยู่ใน อังคุตตรนิกาย เตกนิบาต ก็มีการแสดงเรื่องอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา ในอรรถกถาก็บอกว่าในขั้นศีล ศีล ๕ เป็นศีล ศีล ๘ เป็นอธิศีล ศีล ๘ เป็นศีล ศีล ๑๐ เป็นอธิศีล ศีลของฆราวาสเป็นศีล ศีลของบรรพชิตก็เป็นอธิศีล เพราะฉะนั้น ก็ในการพิจารณานี้ก็ ปัญญาของพวกเราก็ อาจจะมีการพิจารณาผิดก็ได้ เพราะพระธรรมเป็นลึกซึ้งมาก ตรวจอรรถกถาด้วย ในอรรถกถานี้ก็ยังลึก ธรรมลึกอาจจะพิจารณาผิด แต่ก็ในการปฏิบัติก็รู้ธรรมจริงๆ ไม่คลาดเคลื่อนจากสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ แล้วก็เป็นจริงตลอดเวลา เพราะสภาพธรรมเป็นจริง มีการระลึก ด้วยการศึกษาลักษณะธรรมจริงๆ นี้เป็นหนทางที่ดับกิเลสได้

    ผู้ฟัง แสดงว่า ถ้าบุคคลที่เข้าใจในเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน แม้มีปัจจัยให้ความสงบของจิตเกิด บุคคลนั้นก็สามารถจะระลึกรู้ในสภาพของจิตนั้นได้ แล้วพระองค์ก็ทรงมุ่ง แสดงเรื่องของการดับสักกายทิฏฐิ เพื่ออะไร

    ท่านอาจารย์ ถ้าอย่างนั้น ขอถามคุณวิชัย ว่าคุณวิชัยศึกษาธรรมเพื่ออะไร

    ผู้ฟัง เพื่อรู้ธรรม

    ท่านอาจารย์ แล้วรู้แล้วเป็นอย่างไร

    ผู้ฟัง คือ รู้ หมายถึงว่าจากที่ไม่เคยรู้เลย ก็ค่อยๆ รู้ขึ้น

    ท่านอาจารย์ รู้ขึ้นๆ แล้วเป็นอย่างไร

    ผู้ฟัง ก็ค่อยละความไม่รู้ลง จากที่ไม่รู้

    ท่านอาจารย์ เมื่อละความไม่รู้ ความไม่รู้ในอะไร

    ผู้ฟัง ในเรื่องของสภาพธรรม ที่มีอยู่จริงๆ

    ท่านอาจารย์ จุดประสงค์ คือละ ดับ สักกายทิฏฐิถูกไหม เพราะฉะนั้น ทุกคนที่เรียนธรรม เพื่อเข้าใจธรรม ก็เพราะเหตุว่า รู้ว่า ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ ต้องมีสภาพธรรมปรากฏ เป็นเครื่องยืนยันว่ารู้ หรือไม่รู้ ในสภาพธรรมนั้น ถ้าไม่เคยได้ฟังพระธรรมเลย ก็ไม่มีทางที่จะรู้ว่าขณะนี้ เป็นสภาพธรรม แล้วเพียงการรู้ว่าเป็นสภาพธรรม รู้แค่ฟังไม่พอ เพราะฉะนั้น ต้องรู้โดยการที่ว่าสติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ต้องเข้าใจความหมายว่า สติมีลักษณะอย่างไร สติไม่ใช่สัมมาสังกัปปะ ไม่ใช่สัมมาสมาธิ ไม่ใช่สัมมาวายามะ

    สติเป็นสติปัฏฐาน คืออย่างไร เพราะฉะนั้น ก็จะมีการศึกษาตามลำดับ คือศึกษาเรื่องราวของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏก่อน จนกว่าจะมีปัจจัยที่จะทำให้ สติปัฏฐานเกิด คนนั้นก็จะเข้าใจความหมายของขณะใด ในพระไตรปิฎก ที่กล่าวว่า หลงลืมสติกับมีสติ ข้อความนี้มีในพระไตรปิฎก แต่ไม่ใช่ให้เพียงคิดว่ามีคำ ๒ คำ คือมีสติกับหลงลืมสติ แต่ผู้นั้นสามารถที่จะรู้ว่าขณะใด เมื่อสติเกิด สติมีลักษณะอย่างนี้ จึงมีข้อความนี้ในพระไตรปิฎกว่า มีสติ และขณะใดที่สติไม่เกิด ไม่มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ คนนั้นก็เข้าใจพยัญชนะที่ว่า หลงลืมสติ

    การศึกษาที่จะให้เข้าใจธรรม ก็ต้องเป็นไปตามลำดับขั้น คือต้องเข้าใจเรื่องของสภาพธรรม ให้ถูกต้อง แล้วก็เข้าใจความหลากหลายของสภาพธรรม เช่น สัมมาสังกัปปะ ในขั้นคิดคืออย่างไร ที่เกิดพร้อมสติคืออย่างไร ขณะนั้นคิดหรือเปล่า ถ้าคิดเป็นเรื่องเป็นราว ขณะนั้นก็ไม่ใช่สติปัฏฐาน เพราะว่าขณะที่กำลังคิดก็มีเรื่อง ที่สัมมาสังกัปปะ ตรึก หรือจรดในเรื่องนั้น แล้วก็คิดเรื่องนั้น แต่เวลานี้สภาพธรรมกำลังปรากฏ คนที่ฟังอาจจะคิด ขณะนั้น ก็คือสัมมาสังกัปปะที่คิด แต่เวลาที่เกิดร่วมกับสัมมาสติ จะไม่ใช่คิด เพราะถ้าคิดขณะนั้นไม่มีลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏเป็นอารมณ์ เมื่อไม่มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ไม่มีการจรดในลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งไม่ใช่คิด อย่างที่คุณธงชัย บอกว่า ตอนแรกห้ามไม่ได้เลย ทุกคนก็เหมือนกัน คือเราไม่เคยได้ยินคำว่านามธรรมกับรูปธรรม แต่พอได้ยินก็คิดเรื่องนาม คิดเรื่องรูป เวลากระทบสิ่งใดที่แข็งก็บอกว่า เป็นรูป เพราะแต่ก่อนไม่เคยคิดอย่างนี้ แต่ผู้นั้นต้องมีปัญญารู้ว่า นั่นไม่ใช่สติปัฏฐาน ถึงจะฟังมาอย่างไร เรื่องลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม การประจักษ์แจ้ง ประจักษ์แจ้งตรงตามที่ทรงแสดง แต่ไม่ใช่เพียงคิดว่าขันธ์มีลักษณะอย่างนี้ หรือว่าสัมมาสังกัปปะมีลักษณะอย่างนี้ เพราะฉะนั้น สัมมาสังกัปปะที่ทรงแสดงโดยนัยของพระสูตร ซึ่งก็พูดถึงเรื่องสติปัฏฐานด้วย ก็จะต้องทราบความต่างของสัมมาสังกัปปะ ระดับคิด เหมือนกับขณะนี้สภาพธรรมกำลังปรากฏ กำลังเริ่มเข้าใจสภาพธรรม แต่ไม่ใช่รู้จักตัวธรรมจริงๆ

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 100
    23 มี.ค. 2567