ปกิณณกธรรม ตอนที่ 431
ตอนที่ ๔๓๑
สนทนาธรรม ระหว่างเดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถาน ประเทศอินเดีย
พ.ศ. ๒ ๕๔๗
ท่านอาจารย์ หนทางนี้ ไม่ใช่หนทางที่คนอื่นที่ได้ปฏิบัติมาแล้ว จะเป็นหนทางเดียวกับบุคคลทั้งหลายเหล่านั้นก็ไม่ใช่ แต่ว่าเป็นหนทางที่ละเอียด ลึกซึ้ง เพราะเหตุว่าทรงแสดงเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังมีจริงๆ กำลังปรากฏ ทาง ๑ ทางใดใน ๖ ทาง เพราะว่า ขณะที่เรานอนหลับสนิท สภาพธรรมใดๆ ก็ไม่ปรากฏ แม้ว่ามีจิตเกิดดับ เพราะว่าไม่ใช่คนตาย แต่ไม่มีการเห็น ไม่มีการได้ยิน ไม่มีการได้กลิ่น ไม่มีการลิ้มรส ไม่มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่มีแม้แต่การคิดนึก เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า เมื่อไม่ใช่ขณะที่หลับสนิท เพราะว่าไม่มีใครที่เกิดมาแล้ว หลับสนิท ไม่ตื่นเลย ต้องมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏ เช่น ขณะนี้ มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา เพราะฉะนั้น หนทางที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่ใช่ไปทรมานตัว หรือไม่ใช่มีเราจงใจ ตั้งใจ จะเพียรเพื่อที่จะให้รู้ พอได้ยินได้ฟังว่า ต้องไปเดิน หรือ ต้องไปนั่ง ๗ วัน ๑๕ วัน เราก็อาจจะคิดว่าหนทางนั้นเป็นทางที่จะทำให้รู้ แต่รู้อะไร แม้แต่พียงว่ารู้อะไรก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้น ก็ไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเป็นคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า สอนให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ และกำลังปรากฏ จนกระทั่งเป็นปัญญาของบุคคลนั้นเอง ที่ค่อยๆ เห็นถูก ค่อยๆ เข้าใจถูกในสิ่งนั้น โดยที่ว่าไม่มีตัวเราที่จะไปปฏิบัติ
ทางสายกลางไม่ใช่ตัวตนปฏิบัติด้วยความไม่รู้ แต่ต้องเป็นการอบรมตามลำดับขั้นตั้งแต่ขั้นฟังปริยัติ แล้วก็ถึง ปฏิปัตติ แล้วก็ถึงปฏิเวธ ๓ ขั้นนี้จะข้ามขั้นไม่ได้เลย เพราะเหตุว่า ถ้าไม่เคยฟังคำสอนเรื่องสภาพธรรม ที่ไม่ใช่ตัวตน ในขณะที่เห็น มีจริงๆ แต่เป็นสภาพธรรมที่เกิดเห็นแล้วก็ดับ แล้วก็เป็นสภาพธรรมที่ไม่รูปธรรมด้วย เพราะว่า รูปธรรมไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย เพราะฉะนั้น เราจะผ่าน ณ สถานที่นี้ มากี่ชาติแล้วก็ตาม ชาตินี้ บางคนอาจจะผ่านสัก ๒ ครั้ง ๓ ครั้ง บางคนก็อาจจะเพิ่งมาเป็นครั้งแรก แต่ว่าในอดีตไม่มีใครสามารถจะรู้ได้ ผลจากการได้ยินได้ฟังพระธรรมในชาติก่อนๆ ก็จะทำให้เรามีความสนใจ แล้วรู้ว่าเมื่อเป็นปัญญา ปัญญาต้องรู้สิ่งที่มีจริง และกำลังปรากฏ เพราะสิ่งที่ไม่ปรากฏในขณะนี้ โดยดับไปแล้ว หรือว่ายังไม่เกิดขึ้น ใครจะไปรู้ความจริงของสิ่งนั้นได้ แต่สิ่งที่กำลังมีนี้แหละ ต้องมีการฟังด้วยความเข้าใจที่มั่นคงว่า นี้คือสัจธรรม ถ้าใช้ภาษาบาลี ก็ใช้คำว่า สัจจะ กับธรรม คือสิ่งที่มีจริงๆ แล้วก็เป็นพระอริยบุคคลโดยการรู้แจ้งความจริงของสัจธรรม ไม่ใช่ว่าไม่รู้อะไรเลย
เราเคยได้ฟังมาแล้ว ทำให้เราไม่ไปหนทางอื่น แต่ว่าฟังพระธรรมต่อไป เพื่อที่จะได้รู้ว่า ปัญญาระดับขั้นปริยัติ ก็คือการฟังให้เข้าใจยิ่งขึ้นในเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ จนกว่าความเข้าใจของเราจะมั่นคงว่า ตลอดชีวิต เราไม่ได้หวังความเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี เพราะว่าถ้าไม่มีความรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่มีทางที่ดับกิเลส ถึงความเป็นพระอริยบุคคลได้ เพราะฉะนั้น ไม่ต้องไปถามใครเลย ระหว่างที่ฟัง เราก็รู้ว่ากำลังฟังเรื่องนี้ แล้วเรามีความเข้าใจในคำที่ได้ยิน เพราะว่าเรื่องๆ หนึ่งต้องมีคำมากมาย เริ่มจากคำว่า ธรรม เรามีความเข้าใจในความหมายของคำว่า ธรรม แค่ไหน มั่นคงจริงๆ ว่า ธรรมต้องเป็นสิ่งที่มี ไม่ใช่ไม่มี แล้วก็ขณะนี้ มีธรรมไหม ทางตา ถ้าเห็น กำลังเห็นมีจริง เห็นก็เป็นธรรม แล้วสิ่งที่ปรากฏให้เห็นก็มีจริง ธรรม คือ สิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏให้ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ความเข้าใจของเรา จะไม่พ้นไปจากความเข้าใจสิ่งที่กำลังมีในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นในขณะไหนก็ตาม ก็มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อไรก็คือ ตอนแรกไม่ได้ฟัง ไม่เข้าใจ แต่พอฟังขณะนี้ กำลังเริ่มเข้าใจเรื่องของสิ่งที่มี เพราะฉะนั้น ก็จะมีความต่างของปัญญาที่เพียงเข้าใจเรื่อง กับการรู้ว่า เพียงเข้าใจเรื่อง ยังไม่ได้เข้าใจตัวจริงๆ เลย เพราะว่าทรงแสดงว่า สภาพธรรมที่เกิด มีปัจจัยจึงเกิดได้ แล้วเมื่อเกิดแล้วก็ดับไปเร็วมาก เมื่อเป็นความจริงอย่างนี้ ปัญญาก็จะอบรม จนถึงขั้นที่สามารถประจักษ์แจ้งความจริงนี้ได้ นี่คือผลของการที่เกิดมา ได้ยินได้ฟังธรรม ในชาตินี้จะมากน้อยเท่าไร ก็สะสมไป เพื่อที่ว่าวันหนึ่งก็จะประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรมในขณะนี้ ก็จะหมดความสงสัย ในพระพุทธ ในพระธรรม ในพระสงฆ์
แต่ว่าขณะนี้ก็เพียงได้ยินได้ฟังว่า ขณะนี้มีจริง เราก็รู้ว่าจริง แล้วสภาพธรรมที่ปรากฏให้เห็น ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย สภาพธรรมใดที่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้ เป็นธรรมประเภทหนึ่ง ใช้คำว่า รูปธรรม หรือจะใช้คำว่า รูปขันธ์ ก็ได้ อย่างที่เราได้ยินคำว่าขันธ์ ๕ รูปขันธ์ หมายความถึง รูปทุกรูป ซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ เสียงก็เป็นรูปขันธ์ เสียงเมื่อกี้นี้ดับไปแล้ว แต่เสียงใหม่ก็มี เพราะฉะนั้น เสียงเก่าก็เปลี่ยนรูปขันธ์ไม่ได้ ก็ยังคงเป็นรูปขันธ์ แต่รูปขันธ์ที่เกิดแล้วดับไป และอันใหม่ก็กำลังปรากฏ เกิดดับ ข้างหน้า รูปขันธ์ ก็จะคือเกิดปรากฏ แล้วก็ไม่รู้อะไร เพราะฉะนั้น รูปขันธ์ ก็เป็นส่วนหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ แต่ว่าถ้ามีรูปขันธ์อย่างเดียว โลกไม่เดือดร้อนเลย ใครจะเดือดร้อน กับไฟไหม้ ฝนตก น้ำท่วม ไม่มีใครไปรู้ไปเห็นเลย แต่ว่าธรรม ซึ่งเป็นธาตุ มี ๒ อย่าง คือสภาพธรรมที่เป็นรูปธรรม เราเข้าใจได้ เพราะเราอาจจะฟังจากสาขาวิชา หลายๆ สาขา ก็พอจะเข้าใจเรื่องของรูปธรรม แต่นามธรรม หรือนามธาตุ โดยความเป็นธาตุ เราอาจจะคิดไม่ถึงว่า แท้ที่จริงแล้ว แทนที่จะถามว่าทำไมมีอย่างนี้ ทำไมเป็นอย่างนั้น ก็คือว่าสิ่งนั้นมี ใครจะไปให้ไม่มีไม่ได้ อย่างแข็งมี ใครจะไปให้แข็งไม่มี ไม่ได้ ฉันใด เพราะฉะนั้น นามธรรมคือจิต ก็เป็นธาตุอีกชนิดหนึ่งซึ่งมี ใครจะให้ไม่มีจิต ไม่ได้ เพราะว่ามีธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นจิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ แล้วก็เกิดขึ้นพร้อมกับนามธรรมซึ่งเป็นเจตสิก เพราะว่าจะไม่มีสภาพธรรมอย่างหนึ่งอย่างใด เกิดตามลำพังอย่างเดียว ต้องมีสภาพธรรมอื่นเกิดร่วมด้วย นี่ก็เป็นสิ่งที่มีจริงๆ แต่ต้องอาศัยการฟัง ฟังแล้วฟังอีกทุกชาติ จนกว่าจะรู้ว่า ขณะใดก็ตามที่เมื่อฟังแล้วรู้แล้ว ก็จะรู้ความต่างกันของขณะที่สติอีกขั้นหนึ่งเกิด แล้วกำลังรู้ตรงลักษณะ ขณะนั้นคือทางสายกลาง เพราะเหตุว่าขณะนั้นไม่มีเราที่จะยินดีในสิ่งที่กำลังปรากฏ หรือยินร้ายในสิ่งที่กำลังปรากฏ หรือยินดีในสิ่งที่ไม่ปรากฏ เพราะไม่ชอบสิ่งที่กำลังปรากฏ ก็เป็นเรื่องที่ว่าสภาพธรรมจริงๆ เกิดแล้วดับเร็วมาก ไม่ต้องไปยินดียินร้าย เกิดแล้ว ดับแล้ว มีแต่การไม่รู้ที่ทำให้เกิดความพอใจและไม่พอใจ ในสิ่งซึ่งปรากฏแล้วดับไปแล้วด้วย แต่ในความรู้สึกของคนที่ยังไม่ได้ประจักษ์การเกิดดับ สิ่งนั้นเหมือนสืบต่อจนกระทั่งไม่ดับเลย ปรากฏเหมือนเป็นสิ่งที่เที่ยง
ถ้ามีการเข้าใจเพิ่มขึ้น เราก็เริ่มที่จะเข้าใจถูกแล้วก็ค่อยๆ เข้าใจตามว่า สภาพธรรม เกิดดับสืบต่อจนเป็นโลก ซึ่งเต็มไปด้วยสัตว์บุคคล เหมือนอยู่ในทะเล หรือมหาสมุทร ทะเลภาพ เวลานี้ทะเลภาพจริงๆ คนโน้นบ้าง คนนี้บ้าง เสื่อบ้าง ต้นไม้บ้าง อะไรบ้างทั้งหมด แต่ลักษณะจริงๆ ก็คือเป็นสิ่งที่กระทบตา แล้วก็มีการคิดนึกถึงสิ่งนั้น โดยการทรงจำว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด
ก็ต้องอบรมความเข้าใจ เพราะว่าพระพุทธศาสนา เป็นปัญญา พุทธ คือ ปัญญา เป็นคำสอนของผู้รู้ เพื่อให้ผู้ฟังรู้ตาม เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ใช่ปัญญา ก็อย่าไปทำอะไรเลย ทำแล้วเป็นอย่างไร ก็ยังไม่รู้เหมือนเดิม ก็ไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้ฟัง ตามความเข้าใจ คืออบรมด้วยการฟังพระธรรม ด้วยความเข้าใจ ก็เริ่มศึกษาตามคำสอนที่พระองค์ทรงเทศนาสั่งสอนไว้ ในสิ่งที่มีอยู่จริง แล้วเราก็เริ่มค่อยๆ รู้ตาม ตรงนั้นไป แล้วก็เริ่มเข้าใจว่า รูปธรรมคือสภาพที่ไม่รู้ นามธรรมคือสภาพที่รู้ อบรมไปเรื่อยๆ เช่นนี้
ท่านอาจารย์ แต่ว่าตอนแรกๆ เราจะคิดถึงชื่อ รูปธรรมไม่ใช่สภาพรู้ แต่แข็งขณะนี้กำลังปรากฏ แล้วถ้าเป็นสติสัมปชัญญะที่กำลังมีลักษณะแข็งปรากฏกับสติที่กำลังรู้ตรงนั้น ชั่วขณะนั้นไม่มีชื่อ ไม่มีการนึกคิด ถ้านึกคิด ขณะนั้น เป็นอีกขณะหนึ่ง เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า กว่าเราจะรู้ได้ว่า เวลาที่มีแข็งปรากฏ มีแข็งกับมีสภาพรู้แข็งเท่านั้น ถ้าเราเข้าใจว่าเป็นความจริงอย่างนี้ การประจักษ์แจ้งต้องจริงอย่างนี้ด้วย คือไม่เหลืออะไรเลย นอกจากธาตุรู้ซึ่งไม่มีรูปร่างเลย มืดสนิท แล้วก็กำลังรู้สิ่งที่แข็ง
ผู้ฟัง การที่เราจะพิจารณาอบรมจนถึงการรู้เช่นนั้น ก็ต้องผ่านขั้นการคิดนึกก่อน
ท่านอาจารย์ ไม่มีใครที่จะบังคับ ไม่ให้คิดได้เลย เราคุ้นเคยกับความคิดจน แทบจะกล่าวได้ว่า แม้ว่าสภาพธรรม ปรากฏทางตา ดับแล้ว เราก็คิด เสียงที่ได้ยินทางหูดับแล้ว เราก็คิด ไม่มีอะไรปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เราก็จำไว้ แล้วก็คิด เพราะฉะนั้น เราอยู่ในโลกของความคิดซึ่งเป็นโลกของสมมติบัญญัติมานานมาก จนกระทั่งไม่รู้ว่า ตัวจริงของธรรมกำลังเกิดดับไป แล้วสิ่งที่ดับแล้วจะไม่กลับไปอีกเลย เหลือแต่ความทรงจำ จริงๆ ก็อยู่กับความคิด ซึ่งก็จะต้องกับคำที่ได้ทรงแสดงไว้ว่า อยู่คนเดียวในโลก โลก คือ โลกของแต่ละคน เมื่อรู้ความจริงก็คือว่า เป็นเพียงชั่วขณะหนึ่ง ซึ่งสภาพรู้เกิดขึ้นและดับไป จึงไม่ใช่ตัวเรา ความจริงเป็นอย่างนั้น
ผู้ฟัง ในการศึกษาธรรม หรือในการประพฤติปฏิบัติธรรม ต้องไม่พัก และก็ไม่เพียร เพราะว่า ถ้าเราศึกษามากๆ ไป ก็กลายเป็นเพียรเสียแล้ว ถ้าพอหยุดการศึกษาก็กลายเป็นพักเสียแล้ว ซึ่งอันที่จริงไม่ใช่ ใช่ไหม ขอความกรุณาท่านอาจารย์อธิบายตรงนี้
ท่านอาจารย์ ทั้งหมดเป็นเรื่องเข้าใจว่า ธรรมทั้งหลาย บังคับบัญชาไม่ได้เลย พระธรรมที่ทรงแสดง ทรงแสดงเหตุและผล เพื่อที่จะให้ผู้ฟังพิจารณาไตร่ตรอง จนกระทั่งเป็นความเข้าใจของตัวเองที่ค่อยๆ เจริญขึ้น ถ้าเราจะเพียรผิด อย่างเดี๋ยวนี้ มีสภาพธรรมกำลังปรากฏ จะรู้ลักษณะของนามธรรมเป็นอย่างไร อันนั้นถูกไหม เพียรอย่างนั้นถูกไหม เพราะฉะนั้น แม้ขั้นฟังก็ยังต้องฟัง เพื่อละความไม่รู้ และละความติดข้อง เพราะเหตุว่า ไม่มีใครสามารถที่จะละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้ โดยปัญญาไม่เกิด โดยความเห็นถูกในสิ่งที่กำลังปรากฏไม่มี แล้วก็จะไปละการยึด ติดข้องในสภาพที่กำลังปรากฏไม่ได้ ด้วยเหตุนี้แม้แต่เพียงฟังแค่นี้ จะเพียรโดยที่ว่าเดี๋ยวนี้จะเพียร ก็ผิด แต่ว่าเป็นเรื่องเพียรเข้าใจ โดยการฟัง โดยการสนทนา โดยการอ่าน หรือว่าอย่างไรก็ตามแต่ จนกระทั่งค่อยๆ เข้าใจ และก็รู้ว่า พระธรรมที่ทรงแสดงที่เราเข้าใจว่าเป็นพระไตรปิฎก คือ การประมวลพระธรรมที่ทรงเทศนาทั้งหมด เพื่อให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ไม่ใช่เราไปติดอยู่ที่ว่าหน้านั้น บทนี้ หัวข้อนั้น ปริเฉทนี้ หรืออะไรอย่างนั้นไม่ใช่เลย เพราะว่าทั้งหมดเพื่อเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมเดี๋ยวนี้ที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น การศึกษาก็คือศึกษาด้วยความเข้าใจถูกต้องว่า ธรรม ไม่ใช่อยู่ในหนังสือ หรืออยู่ในที่อื่นที่เราจะมานั่งคิดว่า หน้านั้น บรรทัดนี้ แต่ก็คือสิ่งที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้เอง สิ่งที่ปรากฏในขณะนี้เดี๋ยวนี้ แสดงถึง ๔๕ พรรษา ไม่ว่าจะแสดงโดยความเป็นอายตนะ โดยความเป็นธาตุ โดยอริยสัจ โดยปฏิจจสมุปบาท คือสภาพธรรมเดี๋ยวนี้นั่นเอง ไม่ได้หมายความว่า เราไปติดที่คำ แล้วก็ไม่รู้ตัวจริงของสภาพธรรม เพราะฉะนั้น ไม่พักไม่เพียรก็คือว่า ไม่ได้ทอดทิ้งหรือละเลย แต่ไม่ใช่หมายความว่า เราบังคับตัวเราให้เป็นอย่างนี้ ถ้าเป็นอย่างนั้นว่า เราจะบังคับตัวเรา นั่นก็คือไม่เข้าใจความเป็นอนัตตา ไม่เข้าใจพระธรรม เพราะเหตุว่าการที่จะละ ความเป็นตัวตนได้
ขณะนี้มีอะไรที่กำลังปรากฏ ปัญญาต้องรู้ถูกเห็นถูกในลักษณะทั้งหมด ไม่ใช่เว้นนั่น เว้นนี่ อย่างทางตาไม่รู้หรอกว่า ขณะนี้ก็เป็นเพียงขณะที่มีธาตุชนิดหนึ่งที่สามารถกระทบจักขุปสาท แล้วจิตเห็นเกิดขึ้นเห็นสิ่งนั้นแล้วก็ดับไป ถ้าไม่เข้าใจอย่างนี้ เราก็ยังคงติดในสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ว่าพอฟังแล้ว เราจะรู้ว่ายาก เพราะว่าสิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วก็ผ่านไปสู่ทางใจ จดจำสีสันวัณณะ ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ สืบเนื่องกันรวดเร็วมาก ยากที่จะแยกออก เพราะฉะนั้น จะแยกออกได้ด้วยปัญญาที่เห็นถูกต้อง ในลักษณะของความต่างของธาตุ หรือความต่างของธรรมแต่ละลักษณะ ซึ่งมีลักษณะเป็นนามธรรมบ้าง เป็นรูปธรรมบ้าง
ถ้าพ้นจากการรู้ลักษณะของสิ่งที่มีจริง ขณะนั้นก็เป็นเพียงขั้นคิดถึงเรื่องราวของสิ่งนั้น แต่ว่าขณะที่จะรู้ว่าไม่ใช่คิด แต่มีลักษณะนั้นปรากฏจริงๆ ให้ค่อยๆ เข้าใจตรงตามที่ทรงแสดง อย่างแข็ง สามารถจะปรากฏได้ทางกาย สิ่งที่ปรากฏทางตา สามารถปรากฏได้ เมื่อกระทบกับจักขุปสาท นี่ก็คือ กำลังพูดถึงลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรม แต่ละอย่าง จนกว่าสติจะรู้ตรงลักษณะนั้น แล้วปัญญาก็เข้าใจถูกตามที่ได้ยินได้ฟังในความต่างของสภาพธรรมแต่ละอย่าง จนกระทั่งไม่มีความเป็นเรา ก็ต้องเป็นจิรกาลภาวนา แต่เป็นผู้ที่อดทน จะเข้าใจโอวาทปาฏิโมกข์ ขันติเป็นตบะอย่างยิ่ง ที่จะเผากิเลสได้ ถ้าขาดความอดทน ก็ไม่มีทางที่จะสำเร็จได้ ก็เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ต้องคิดมาก เพราะว่าจริงๆ ในพระสูตร แสดงหลายนัยมาก แล้วแต่ละนัย เราฟัง แต่กว่าเราจะรู้ลักษณะจริงๆ ของสิ่งที่ได้แสดง ที่ทรงแสดง ต้องเป็นปัญญาของเราเอง
ผู้ฟัง อยากจะกราบเรียนถามเกี่ยวกับเรื่องอกุศลที่เกิดในจิตใจของเรา อย่างที่เราได้ศึกษาธรรม เราก็พอจะทราบว่า อกุศลจิต หรือว่า กุศลจิต จะต้องมีเหตุและปัจจัย ที่ทำให้เกิดขึ้นในสภาพธรรมต่างๆ กัน โดยชีวิตประจำวันของเรา เราก็มักจะโทษว่า อกุศลจิตของเราเกิด เพราะบุคคลหรือว่าตัวตนผู้อื่นเป็นเหตุและปัจจัยทำให้เราโกรธ
ท่านอาจารย์ พระพุทธเจ้าโกรธไหม ถ้าจะกล่าวว่า คนอื่นเหตุอื่นทำให้โกรธ พระพุทธเจ้า โกรธไหม
ผู้ฟัง พระพุทธเจ้า ไม่โกรธแล้ว
ท่านอาจารย์ ทำไมเล่า
ผู้ฟัง เพราะว่าดับกิเลสหมด ไม่เหลือเลย
ท่านอาจารย์ เราโกรธ เพราะอะไร เพราะคนอื่นทำให้ หรือเพราะกิเลสเรายังมี
ผู้ฟัง เพราะกิเลสเรายังมี แล้วจริงๆ แล้ว เราเองอยู่ในขั้นศึกษาธรรม กิเลสมันก็ย่อมจะต้องมีอยู่ตลอดระยะเวลา จากการศึกษาก็ได้ฟังมาว่า วิบากที่เกิดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็มีทั้งกุศลและอกุศล แต่ว่าเราเองเราก็ยังโกรธสิ่งที่ได้รับกระทบอยู่
ท่านอาจารย์ เป็นพระอรหันต์หรือเปล่า หรือว่าเป็นพระอนาคามีหรือเปล่า ผู้ที่ไม่โกรธ คือพระอนาคามีบุคคล แล้วเราเป็นใคร แล้วเราจะมานั่งสงสัยว่าทำไมเรายังโกรธ
ผู้ฟัง เปลี่ยนคำถามใหม่ ถ้าสมมติว่า เรายอมรับว่าเราโกรธ แต่ว่าความโกรธของเรามีกำลัง สามารถที่จะประทุษร้ายผู้อื่นด้วยวาจาและด้วยกาย
ท่านอาจารย์ ก็ใครที่จะไม่ไปสู่อบายภูมิ
ผู้ฟัง พระโสดาบัน
ท่านอาจารย์ พระโสดาบัน ถ้ายังไม่เป็น ก็ถ้ากิเลสมีกำลังเมื่อไร กายก็ร้าย วาจาก็ร้าย ใจก็ร้าย
ผู้ฟัง แล้วมีทางบรรเทาบ้างไหม
ท่านอาจารย์ ด้วยความเป็นเรา หรือว่าด้วยความค่อยๆ เข้าใจว่า ไม่มีเรา เพราะว่าถ้ายังคงมีเราตราบใด อย่าคิดเรื่องไม่มีอกุศลจิต หรืออกุศลกรรม
ผู้ฟัง อยากจะทราบว่าการเจริญเมตตา เป็นปรมัตถธรรม แต่เราทำอย่างไรจะให้เท่าเทียมกัน คือหมายความว่าเพื่อนฝูงแต่ละคน รวมทั้งพ่อแม่ พี่น้อง คนใกล้ชิดต่างๆ ว่าเราจะทำอย่างไรจะให้แสดงความเมตตา ให้เท่าเทียมกันโดยการใช้วาจา หรือการกระทำต่างๆ
ท่านอาจารย์ ถ้ารู้ตามความจริง เรามีเมตตาน้อย หรือว่าเรามีเมตตามาก ความจริง ถ้าเป็นผู้ที่มีเจริญเมตตา หรือพระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องเมตตา แล้วผู้นั้นเห็นประโยชน์ ก็อบรมเมตตาได้มาก แต่อบรม แต่ไม่ใช่ว่า ตัวเรา อะไรๆ ก็ตัวเรา เมื่อไรตัวเราจะเป็นอย่างนี้ เมื่อไรตัวเราจะเป็นอย่างนั้น แต่ว่าจริงๆ แล้วปัญญาทั้งหลายก็จะเกื้อกูลกัน ถ้าเรามีความรู้ถูกว่า ขณะนี้สภาพธรรมเท่านั้นที่เกิด แล้วเราเรียกชื่อต่างๆ กัน อย่างเห็น คุณนีน่า อันนี้ก็คุณสุกัญญา แต่คือ ธรรม เพราะฉะนั้น ถ้าเรามีความเข้าใจธรรมเพิ่มขึ้น เราจะมีการที่เมตตาเพิ่มขึ้นหรือเปล่า เพราะเหตุว่า เรารู้แม้แต่เหตุ และผล ถ้าใครที่กำลังตกทุกข์ได้ยากลำบาก เราก็รู้ถึงเหตุที่เขาได้กระทำมาแล้ว เพราะฉะนั้น ในขณะที่ใครก็ตาม กำลังทำสิ่งที่เป็นอกุศล เขาต้องได้รับผลนั้นแน่นอน เรามีเมตตา หรือว่าเราโกรธ นี่แสดงให้เห็นว่า ใจของเราจริงๆ เราไม่ได้รู้เลยว่า เราสะสมอกุศลไว้มาก เราเพียงแต่ว่าอยากจะมีกุศลมากมาย แต่เราไม่ได้รู้ตัวจริงๆ ของเราเลย ถ้าเรามีความเข้าใจถูกต้อง ภาษาบาลีที่ใช้คำว่า เมตตา หรือ มิตตะ คือ ความเป็นเพื่อน ความเป็นเพื่อน คือ การที่พร้อมจะเกื้อกูล ช่วยเหลือ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าคนนั้นเป็นใคร แต่ว่าเราพร้อมที่จะเกื้อกูลช่วยเหลือ หรือแม้แต่ว่า มีความรู้สึกเป็นเพื่อนกับคนนั้น ก็แสดงว่าเราไม่คิดจะทำร้าย หรือว่าเราไม่รังเกียจเขาด้วย เพราะจริงๆ เรื่องของเมตตา ก็เป็นเรื่องที่ขณะนั้น จิตใจต้องอ่อนโยน แล้วก็เป็นผู้ที่รู้จักตัวเองตามความเป็นจริงว่าเราเมตตา หรือว่าเรามีโลภะ อย่างพี่น้องเรา เรามีเมตตาหรือโลภะ ถ้ามีปัญญาเราสามารถจะรู้ ขณะที่ต่างกัน ถ้าขณะใดที่เราผูกพัน สนุกสนานกับวงศาคณาญาติ ขณะนั้นไม่ใช่เมตตาเลย เราจะมีการเลี้ยง การรื่นเริง การให้ของขวัญ การที่ทำให้เขามีความสุข ขณะนั้นคือโลภะ แต่ขณะใด ถึงแม้ว่าจะเป็นญาติเราก็เหมือนคนอื่น เราก็มีการที่จะสงเคราะห์ เวลาที่เขาเห็นผิด หรือว่าสามารถที่จะเกื้อกูล ให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นญาติ หรือไม่เป็นญาติก็ตาม อันนั้นก็คือเมตตา บางคนก็ถามว่าทำอย่างไร ญาติ พี่น้อง ถึงจะสนใจธรรม แล้วก็เจริญกุศล ก็ทำไมเฉพาะญาติพี่น้องเล่า คนอื่นไม่ได้หรือ ถ้าเราไม่จำกัดเฉพาะญาติพี่น้องของเรา แล้วเราไม่คิดว่าทำไม เมื่อไร ญาติพี่น้องจะสนใจ ไม่ว่าใครทั้งนั้น ถ้าเราสามารถที่จะเกื้อกูลให้เขาเข้าใจได้ เจริญกุศล นั่นคือเมตตา
เมตตา คือ ความเป็นมิตร ถ้าเราสามารถจะรู้ขณะที่ต่างกันของโลภะ กับเมตตา เมตตาของเราก็เจริญขึ้น โดยไม่ไปตู่โลภะว่าเป็นเมตตา ไม่ไปคิดว่าขณะที่เป็นโลภะ เป็นเมตตา อีกอย่างหนึ่งรู้สึกว่า แต่ละคนเมตตาคนดีง่าย แล้วก็จะเจริญเมตตาให้มากๆ พอถึงคนชั่วแล้ว ไม่เมตตาเลย แล้วเมื่อไรเราจะมากได้ นี่ก็เป็นสิ่งที่จะต้องค่อยๆ อบรมไป เพราะว่าอกุศลสะสมมามาก จะให้มีแต่กุศลก็ยาก
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 421
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 422
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 423
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 424
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 425
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 426
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 427
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 428
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 429
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 430
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 431
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 432
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 433
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 434
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 435
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 436
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 437
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 438
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 439
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 440
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 441
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 442
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 443
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 444
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 445
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 446
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 447
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 448
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 449
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 450
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 451
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 452
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 453
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 454
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 455
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 456
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 457
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 458
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 459
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 460
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 461
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 462
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 463
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 464
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 465
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 466
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 467
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 468
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 469
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 470
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 471
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 472
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 473
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 474
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 475
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 476
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 477
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 478
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 479
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 480