ปกิณณกธรรม ตอนที่ 461


    ตอนที่ ๔๖๑

    สนทนาธรรม ที่ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

    พ.ศ. ­๒๕ ๔๐


    ท่านอาจารย์ เราในชาติก่อน ตายอย่างไรก็ไม่ทราบ เป็นใครที่ไหนก็ไม่ทราบ มีพ่อแม่พี่น้องที่เขายังห่วงถึง ถ้าเขาอายุสัก ๙๐ ๘๐ เขาก็ยังคิดถึงเราอยู่ก็ได้ แต่เราก็ไม่มีการที่จะไปทราบได้เลย แต่ว่าขณะนี้ก็มีการเกิดของจิต สืบต่อตลอดเวลาจนถึงขณะสุดท้าย ซึ่งเมื่อขณะจิตสุดท้ายดับ ที่เราเรียกว่าตาย ก็เป็นปัจจัยให้จิตของชาติต่อไปทำกิจสืบต่อเป็นปฏิสนธิจิต

    เพราะฉะนั้น ก็คงไม่สงสัยเรื่องคำว่า อารมณ์ หรืออารัมมณะ ทุกอย่างที่เรียนหรือได้ฟัง ต้องเข้าใจจริงๆ แล้วก็ไม่เปลี่ยนด้วย ขณะใดที่จิตเกิด ไม่มีอารมณ์ได้ไหม ไม่ได้เลย กำลังนอนหลับ จิตเกิดหรือเปล่า เกิด รู้อารมณ์ไหม ขณะนอนหลับ จิตรู้อารมณ์หรือเปล่า ไม่ได้แล้ว ธรรมเปลี่ยนไม่ได้ จิตเป็นสภาพรู้ ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ เพราะฉะนั้น แม้แต่กำลังหลับสนิท ขณะใดที่จิตเกิด เป็นสภาพรู้ ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ ถ้ามีจิตแล้วจะไม่มีอารมณ์ไม่ได้ ถ้ามีจิต แล้วจะไม่รู้อารมณ์ไม่ได้ ถ้ามีจิตแล้ว จิตต้องรู้อารมณ์ เพียงแต่ว่าอารมณ์ในขณะที่หลับสนิทไม่ปรากฏ เพราะว่าไม่ใช่อารมณ์ใดๆ ของโลกนี้ ซึ่งต้องอาศัยตาจึงเห็น อาศัยหูจึงได้ยิน อาศัยจมูกจึงได้กลิ่น อาศัยลิ้นจึงลิ้มรส อาศัยกายจึงรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แล้วใจรับรู้ทุกอย่าง ที่ผ่านตา หู จมูก ลิ้น กาย เพราะฉะนั้น เราอยู่ในโลกของความคิดนึกเรื่องสิ่งต่างๆ ที่ผ่านทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วจดจำสืบต่อเป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ แล้วก็เพราะไม่รู้ความจริงอย่างนี้ ก็เลยเข้าใจว่าทุกอย่างที่ผ่าน กว่าจะดับก็แสนนาน แต่ความจริงไม่ใช่เลย เกิดดับอยู่ตลอดเวลา

    ผู้ฟัง คนทั่วไปจะเข้าใจสับสน แล้วคนก็จะนึกว่าจิตก็คือวิญญาณ ซึ่งจริงๆ ถ้าตามที่ท่านอาจารย์อธิบายคงจะไม่ใช่แล้ว

    ท่านอาจารย์ ทำไมเราต้องมีคำตั้งหลายคำ สำหรับเรียกผู้หญิง นารี กุมารี สตรี ฉันใด นี้เพียงคำสมมติ แต่ถ้าเป็นคำที่จะช่วยให้คนเข้าใจสภาพธรรม ก็ต้องใช้คำมากกว่าเพียงคำเดียว เพื่อที่จะให้เขาสามารถจะพิจารณาโดยมุมอื่น แง่อื่น

    ผู้ฟัง เราจะทำอย่างไร ให้เราอยู่ในโลกนี้โดยไม่มีความทุกข์ ให้เราเข้าถึงคำว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาให้ได้ เพราะว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราตอนนี้ อย่างเช่น สมมติว่าเราเกิดอารมณ์โกรธ เราไม่ทันมัน เราให้มันเข้ามาเป็นนายเรา ก็เกิดเป็นวิบากต่ออะไรอย่างนี้ เกิดทุกข์ลักษณะอื่น อย่างนี้

    ท่านอาจารย์ ถ้าจะศึกษาพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ต้องตัดเรื่องอื่นหมด คือที่เราเคยคิดว่าจะทำอย่างไร หรืออะไรต่างๆ คิดเอาเองไปหมดทุกสิ่งทุกอย่างว่า อันนี้เกิดขึ้นมาแล้ว แล้วก็เป็นทุกข์ เมื่อไรเราจะหมดทุกข์ นี้คือเรื่อง ความคิดนึกทั้งหมด แต่ถ้าจะศึกษาพระธรรมต้องตั้งต้นใหม่ ต้องใช้คำว่า ตั้งต้นใหม่จริงๆ เริ่มตั้งแต่เข้าใจคำว่า ธรรม แล้วปัญญาที่มีความเข้าใจจริงๆ จะทำให้เราค่อยๆ คลายความยึดมั่น เพราะว่า ความทุกข์ทั้งหมดมาจากการที่มีเรา แต่ถ้าเป็นสภาพธรรมที่เพียงเกิดแล้วดับ ลองคิดดูสิ ของใคร จริงๆ แล้วของใคร ที่ได้ยินเกิดขึ้นชั่วขณะหนึ่งแล้วดับ ได้ยินนั้นเป็นใคร หรือเป็นของใครในเมื่อดับแล้ว ไม่มีเหลือเลย แล้วจะเป็นของใคร ปรากฏเพียงชั่วขณะนิดเดียวตามเหตุตามปัจจัย แล้วดับ โลภะของใคร ก็ไม่มีอีก โทสะของใคร ก็เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างซึ่งเกิดแล้วก็ดับ เมื่อดับเลยหมดแล้วก็ไม่มีอะไรเหลือ เพราะฉะนั้น จึงต้องมีความรู้ความเข้าใจตามลำดับขั้น ให้มั่นคงแล้วก็จะเห็นตามความเป็นจริงว่า เมื่อไม่มีเรา ไม่มีตัวตน ไม่มีของเรา ทุกอย่างก็จะเบาลงไป

    อย่างใช้คำว่า กรรม กับโทสะ อย่างที่เราโกรธมาก เป็นกรรม ก็ไม่ใช่กรรมได้แก่เจตสิกชนิด ๑ ชนิดเดียวเท่านั้นใน ๕๒ ชนิด คือได้แก่เจตนาเจตสิก สภาพที่จงใจ เป็นสภาพกระทำกรรม เพราะว่ามีเจตนา หรือความจงใจที่จะทำ วิบากขณะแรกที่สุดเมื่อไร ของชาตินี้เมื่อไร ตอนเกิด เพราะฉะนั้น ปฏิสนธิจิตเป็นประเภทวิบาก คือเป็นผลของกรรมหนึ่ง แต่ไม่ใช่ตัวกรรม เพราะว่าใครก็เลือกเกิดไม่ได้ เราทำกรรมกันมามากมาย เฉพาะชาตินี้ชาติเดียวก็มาก และชาติก่อนๆ อีกซึ่งสามารถที่จะเป็นปัจจัยทำให้ ทันทีที่จุติจิตขณะสุดท้ายในชาตินี้ดับ กรรมนั้นทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด ถ้าเกิดเป็นมนุษย์เป็นผลของกุศล เพราะฉะนั้น จิตที่ทำกิจปฏิสนธิ เป็นกุศลวิบากจิต แต่ว่าถ้าไม่ได้เกิดเป็นมนุษย์ หรือเป็นเทพในภูมิที่เป็นสุคติภูมิ เกิดในนรกเป็นผลของอกุศลกรรม เพราะฉะนั้น จิตที่ปฏิสนธิเป็นอกุศลวิบากจิต ซึ่งกรรมเป็นปัจจัยทำให้อกุศลวิบากจิตเกิด ใครก็เปลี่ยนแปลงไมได้ จะทำให้เป็นอย่างอื่นก็ไม่ได้ เพราะว่าคงจะไม่มีใครที่จะอยากเกิดในภูมิที่ไม่ดี ในนรก เป็นเปรต เป็นอสูรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน นี้เป็นผลของอกุศลกรรม เพราะฉะนั้น ขณะที่เรารับผลของกรรมขณะแรกที่สุดคือปฏิสนธิ ซึ่งแล้วแต่กรรม จะเห็นได้ว่า ถ้ายิ่งเห็นคนมากเท่าไร หรือว่าสัตว์ประเภทต่างๆ มากเท่าไร ยิ่งเห็นความวิจิตรของจิตที่กระทำกรรม แม้แต่รูป ก็เป็นผลของกรรม แต่รูปไม่ใช่วิบาก เพราะว่ารูปไม่รู้อะไรเลย จะสูงจะต่ำจะดำจะขาว จะเป็นอย่างไร รูปก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้น รูปเป็นผลของกรรมจริง แต่ไม่ใช่วิบากที่เป็นวิบากจริงต้องเป็นจิตและเจตสิกซึ่งเป็นสภาพรู้เท่านั้น

    ผู้ฟัง เวลาที่เราพูดถึง ภูมิที่ไม่ใช่มนุษย์ พวกเปรต พวกอะไรอย่างนี้ อยากให้อธิบายตรงนี้ สมมติว่า เกิดการปรุงแต่งอารมณ์ ตอนนั้นเรากำลังมีสภาพโกรธ หรือริษยาใคร หรืออะไรอย่างนี้ ตอนนั้นขณะจิตตรงนั้นของเราก็เป็นเปรต เป็นอะไรไปแล้ว อย่างนี้ใช่หรือเปล่า หมายความว่าอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นอย่างนั้น จิตก็ไม่มีประเภทต่างๆ หลากหลาย ผู้ที่เข้าใจเรื่องกรรมและผลของกรรม สามารถที่จะกล่าวถึงจิตที่เป็นเหตุ และจิตที่เป็นผล ตามระดับขั้นว่ามีหลายระดับด้วย อย่างจิตเห็น กับจิตที่ริษยา ไม่ใช่จิตประเภทเดียวกันเลย จิตใดเป็นเหตุ จิตใดเป็นผล จิตเห็นเป็นผลของกรรม เพราะเหตุว่าทุกคนเกิดมา รับสภาพมีตา หู จมูก ลิ้น กาย โดยดี โดยไม่ได้ไตร่ตรองว่ามาจากไหน เกิดขึ้นได้อย่างไร แต่ว่าตามความเป็นจริง ทุกอย่างที่เกิด ต้องมีเหตุที่มาที่จะให้เกิดขึ้น คือ กรรมเป็นปัจจัย ผู้ที่ได้ศึกษาเข้าใจเรื่องของกรรม ก็จะรู้ว่า กรรมที่เป็นเหตุต้องตายตัวว่าต้องเป็นเหตุ จะเป็นผลไม่ได้ เมื่อกรรมเป็นเหตุ จิตที่เป็นผลของกรรมก็ต้องเป็นผลของกรรม จะกลับไปเป็นเหตุไม่ได้

    ในขณะที่เห็นขณะนี้ เป็นผลของกรรม จะให้เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้เลย จะเป็นเปรตเป็นอะไรก็ไม่ได้ เพราะว่าเกิดในภูมิมนุษย์ ไหนๆ เราก็เกิดมาแล้ว แล้วก็เป็นปรมัตถธรรมที่เกิด คือ จิต เจตสิก รูป ก็ควรที่จะได้ทราบเรื่องผลของกรรม ตั้งแต่เกิดเลย ขณะแรกที่สุดที่จิตเกิด ให้ทราบว่า เป็นประเภทวิบาก คือเป็นจิตที่เป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว แล้วเราก็จะต้องตาย แล้วก็กรรมหนึ่งก็จะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดอีกแน่นอน ซึ่งปฏิสนธิจิตเกิดเป็นผลของกรรม เพื่อที่จะได้ทราบเรื่องผลของกรรม หรือวิบาก ให้มากขึ้นว่าเมื่อไรบ้าง ตั้งแต่เกิดขณะแรก เป็นผลของกรรม กำลังนอนหลับสนิท เป็นกรรมหรือเป็นผลของกรรม เพราะทุกคนก็หลับทั้งนั้น เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ก็ไม่พ้นเรื่องจิต เจตสิก รูป

    ขณะที่นอนหลับสนิท ต้องมีจิตเกิด ไม่ใช่คนตายต้องมีจิต เพราะฉะนั้น จิตในขณะที่นอนหลับสนิทเป็นกรรมหรือว่าเป็นผลของกรรม เป็นผลของกรรม ทำให้ยังไม่ตาย ตายไม่ได้ ยังจะต้องตื่นขึ้นมารับผลของกรรม โดยเห็นทางตา ที่กำลังเห็นเป็นผลของกรรม โดยได้ยินทางหูนี่เป็นผลของกรรม โดยได้กลิ่นผลของกรรม โดยขณะที่ลิ้มรสซึ่งเลือกไม่ได้อยากจะได้รสอร่อยกลมกล่อมก็กลายเป็นรสอื่น ตามกรรมเหมือนกัน หรือกระทบสัมผัสทางกายก็คือผลของกรรม วันนี้ไม่มีการเจ็บไข้ได้ป่วย ยังไม่ใช่อกุศลวิบาก แต่ถ้าแม้กำลังนั่งอยู่ขณะนี้ เกิดเมื่อยสักนิด คันสักหน่อยหนึ่ง ไม่สบายกายขณะใด ขณะนั้นเป็นอกุศลวิบาก เป็นผลของอกุศลกรรม เราก็ควรที่ได้ทราบจริงๆ ว่า ชีวิตของเราส่วนหนึ่ง เกิดมาแล้วเป็นผลของกรรม แต่อีกส่วนหนึ่ง คือ เป็นการสะสมของกุศลหรืออกุศล ซึ่งเป็นเหตุที่จะให้กระทำกรรม แล้วแต่ว่าจะเป็นกุศลหรืออกุศล ซึ่งก็จะให้ผล ไม่พ้นจากการเกิดกับตา หู จมูก ลิ้น กาย เกิดแล้วก็ต้องเห็น ต้องได้ยิน ต้องได้กลิ่น ต้องลิ้มรส ต้องรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส

    ผู้ฟัง อยากให้ท่านอาจารย์ช่วยขยาย ผลของกรรมสักเล็กน้อย เพื่อว่าคนจะได้เข้าใจว่า บางคนทำดีแล้วทำไมยัง ปัญหานี้ ทำดีไม่มีใครสนใจ ส่วนคนที่เราคิดว่าเขาทำไม่ดี ก็มั่งมีศรีสุข อะไรทำนองนี้

    ท่านอาจารย์ ทีนี้คงไม่ต้องถามใครว่า เรากำลังได้รับผลของกรรมอะไร เพราะว่ารู้ตัวเอง เห็นเมื่อไรก็ตามที่เห็นสิ่งที่ดี ก็รู้ว่านี่เป็นผลของกุศลที่ได้กระทำแล้ว ขณะใดที่ได้ยินเสียงที่ไม่ดีก็ไม่มีใครทำให้ ไม่ต้องโกรธใครทั้งนั้น เป็นผลของกรรมของเราเอง ที่ทำให้มีโสตปสาทรูป แล้วมีเสียงนั้นกระทบพอดี แล้วก็ทำให้จิตเกิดขึ้นได้ยินเสียงนั้น อย่างบางคนเขาบอกว่า เขาคงจะเคยกระทำอกุศลกรรมทางหูมา เพราะว่าเวลาขับรถไปบังเอิญ ไปเปิดหน้าต่างตอนที่คนอื่นกำลังว่าอีกคนซึ่งอีกคนก็ไม่ได้ยิน เพราะว่าเขาก็ปิดกระจก แต่คนนี้ก็บังเอิญ ก็เป็นเรื่องที่ว่า ถ้าเข้าใจเรื่องกรรมจริงๆ จะทำให้เราพ้นจากการที่จะคิดโกรธเคืองใคร หรือเข้าใจว่าสิ่งที่เราได้รับเป็นผลจากการกระทำของใคร ไม่ว่าจะเป็นผู้บังคับบัญชา หรือว่าไม่ว่าจะเป็นผู้ร้ายต่างๆ นานา ก็ตามแต่ หรือใครก็ตาม เพราะว่าจริงๆ แล้ว ถ้าไม่มีกรรมเป็นปัจจัย สิ่งนั้นจะเกิดไม่ได้เลย

    ข้อความในพระสูตร พระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงธรรมกับพระภิกษุว่า ถึงแม้ว่าจะมีโจรมาเลื่อยอวัยวะน้อยใหญ่แขนขา สมควรไหมที่จะโกรธ ถ้าเป็นผู้ที่ฟังธรรมเข้าใจจริงๆ สงสารโจรไหม กระทำกรรมซึ่งเขาจะต้องได้รับผลแน่นอน ใครก็จะไปเปลี่ยนแปลงผลของการกระทำของเขาให้เป็นผลที่ดีไม่ได้ โดยมากเรามักจะสงสาร ปลายเหตุ อย่างเวลาที่เห็นคนตกทุกข์ได้ยาก แก๊สระเบิด หรืออะไรก็ตามแต่ สงสารมาก ช่วยกันใหญ่ น้ำท่วม ไฟไหม้ แต่ตอนที่เขากำลังกระทำอกุศลกรรม เราลืมสงสารว่าเขาจะต้องได้รับผลของกรรมนี้แน่นอน เพราะฉะนั้น ทำไมเราถึงจะสงสารช้า สงสารเขาเสียตั้งแต่ต้นเลย โดยที่ว่าไม่ต้องโกรธเคือง การที่เราจะเจ็บ เราอาจจะไม่มีใครมาทำร้ายเราเลย ตกบันไดก็ได้ มีดบาดก็ได้ อะไรก็ได้ ทุกอย่างเดินชนนั่นชนนี่ก็ได้ ตกภูเขา หรือตกบันไดก็ได้ แล้วเราก็จะไปโกรธบันได โกรธอะไรก็ไม่ได้ แต่พอเป็นคน เรากลับมีความคิดว่า เขาทำเรา แต่ความจริงเปล่าเลย ถ้าศึกษาปรมัตถธรรม ขณะนั้นไม่มีเขา และไม่มีเรา ทุกคนที่เคยอยู่ในโลกกว้าง แล้วก็มีคนมากมาย มีเรื่องราวต่างๆ มาก ย่อลงมาแล้วก็คือจิตขณะเดียวที่เกิด สืบต่อกันเร็วมาก จากทางตาที่เห็น กลายเป็นคน พูดเรื่องต่างๆ จำไว้หมด คนนี้เคยชอบ คนนั้นเคยชัง แต่ตามความจริงแล้ว ถ้าจิตนั้นไม่เกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น สภาพอย่างนั้นก็มีไม่ได้

    เพราะฉะนั้น พระธรรมที่ทรงแสดงไว้ อุปมาเหมือนกับกระจกเงา ซึ่งมีติดตัวเราไปตลอดเวลา แทนที่จะเห็นคนอื่นเป็นอย่างอื่น ก็เห็นสภาพจิตที่กำลังคิดอย่างนั้นๆ ว่า จิตที่คิดอย่างนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ซึ่งความจริงคนไม่มี ขณะนี้ มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา แล้วคิด แล้วจำว่า เป็นคน แต่สภาพธรรมจริงๆ คือจิตเห็นเกิดแล้วดับ แล้วจิตอื่นเกิดต่อ ดูความรวดเร็ว แล้วความทรงจำ ในสิ่งซึ่งเคยยึดถือว่าเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ ก็สะสมสืบต่อ จนกว่าคลายอัตตสัญญา ด้วยการฟังพระธรรมมากๆ มีความเข้าใจเพิ่มขึ้น จนสติสัมปชัญญะ ระลึกลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม ประกอบกับการที่เคยพิจารณาเข้าใจในสภาพธรรม ก็ทำให้สามารถเข้าใจสภาพที่สติกำลังระลึกลักษณะที่เป็นปรมัตถ แล้วถึงจะรู้ได้ว่า แท้ที่จริงแล้วในขณะนั้นสิ่งอื่นไม่มีเลย โลกกว้างใหญ่ไม่มี มีแต่สภาพธรรมเพียง ๑ อย่าง ที่กำลังปรากฏ แล้วขณะนั้นก็ไม่ใช่เรา แต่เป็นสภาพรู้ที่กำลังรู้สิ่งนั้น จึงจะสามารถเข้าใจความหมายของคำว่า อนัตตา แล้วก็ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ว่า ถ้าเป็นการประจักษ์แจ้งไม่ใช่ระดับขั้นเพียงฟังเรื่องราว แต่ว่ารู้จักตัวจริงๆ ของธรรม ก็จะมีปัญญาระดับขั้นที่สามารถจะแทงตลอดสภาพธรรมจริงๆ ซึ่งกำลังเกิดดับสืบต่อกัน แล้วก็จะค่อยๆ ถึงความสมบูรณ์ของปัญญาที่จะถึงความเป็นพระอริยบุคคลได้ ไม่ใช่โดยวิธีอื่นเลย แต่ว่าโดยวิธีอบรมเจริญปัญญา ความรู้ความเข้าใจตั้งแต่การฟังครั้งแรก มีสัญญาความจำอะไรในขณะนั้น จำเพียงตัวหนังสือ หรือว่าจำอรรถความหมาย เพราะฉะนั้น เวลาที่เสียงปรากฏทางหู เราได้ยินเสียง ทุกคนได้ยินเสียง แล้วเรายังมีความเข้าใจความหมายของเสียงสูงๆ ต่ำๆ ทางหู ทางตา เราเห็นสิ่งที่ปรากฏ เป็นเส้น กลมบ้าง เหลี่ยมบ้าง แล้วเราก็จำความหมาย

    เพราะฉะนั้น เราจึงมีการอ่านให้เข้าใจ หรือว่าการฟังให้เข้าใจ แต่ว่าจริงๆ แล้วไม่ใช่เพียงสิ่งที่ปรากฏ หรือว่าไม่ใช่เพียงเสียง แต่ต้องเป็นอรรถของสิ่งที่ได้ยิน เวลาที่เราพูดภาษาไทย เราอ่านภาษาไทย มีเสียง หรือความจำเสียงในขณะที่อ่านหรือเปล่า มีตัวเขียนว่า พาราณสี เป็นเสียง พา เป็นเสียง รา ณ สี หรือเปล่า หรือเป็นเสียงอื่น เวลาที่ได้เห็นการเขียนหรือตัวนั้น ก็ต้องเป็นเสียงอย่างนั้น เพราะฉะนั้น แท้ที่จริงแล้วเป็นการทรงจำเสียง แต่ว่าเสียงนั้นเป็นเสียงที่มีความหมาย ทำให้เราสามารถที่จะเข้าใจเรื่องราวได้ เพราะฉะนั้น การศึกษาการฟัง ไม่ใช่ฟังเพียงเสียง หรือว่าการอ่าน ไม่ใช่เห็นเพียงแต่หนังสือ แต่ว่าสามารถที่จะเข้าใจอรรถของสิ่งนั้น จึงจะเป็นการศึกษา

    ผู้ฟัง ในสมัยโบราณก็มีนั่งสมาธิ

    ท่านอาจารย์ ที่ว่าในสมัยโบราณมีการนั่งสมาธิ ไม่ทราบโบราณขนาดไหน คือว่าโบราณขนาดก่อนการตรัสรู้ ก็มี หรือว่าโบราณหลังจากที่ประสูตรแล้ว แต่ยังไม่บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณก็มี หรือว่าหลังจากนั้นก็มี แต่อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างควรจะทำด้วยปัญญาหรือความเข้าใจ ไม่ใช่ว่าไม่รู้อะไรเลยสักนิดหนึ่ง ได้ยินคำว่า สมาธิ ก็ยังไม่รู้เลยว่าสมาธิคืออะไร แล้วก็ทำแล้ว หรือว่าสนใจแล้ว อย่างนั้นจะถูกได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจตั้งแต่ต้นว่า สมาธิเป็นปรมัตถธรรมหรือเปล่า ไม่ใช่ทำ สภาพสมาธิ ลักษณะที่เป็นสมาธิ เป็นปรมัตถธรรม หรือเปล่า เป็น ปรมัตถธรรมมีกี่อย่าง ๔ อย่าง เพราะฉะนั้น สมาธิเป็นปรมัตถธรรม อะไรใน ๔ อย่าง โดยมากขั้นต้นจะเป็นขั้นเดา แต่ว่าพอเข้าใจความต่างจริงๆ ของจิต เจตสิก จะไม่ใช่ขั้นเดาอีกต่อไป เพราะว่า

    จิตเป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธาน ในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ที่ปรากฏ ไม่จำ ไม่รู้สึกสุขทุกข์ไม่โกรธ ไม่ชังอะไรทั้งสิ้นเลย เป็นแต่เพียงธาตุรู้ รู้อะไร รู้อารมณ์ เฉพาะอารมณ์ที่กำลังปรากฏเท่านั้น แต่ว่าหน้าที่อื่นทั้งหมดในชีวิตประจำวันที่เรากล่าวถึง เป็นลักษณะของเจตสิกประเภทต่างๆ

    วิริยะ ความเพียร เคยเพียรทำอะไรบ้างไหม เป็นปรมัตถธรรม หรือเปล่า เป็น เป็นปรมัตถธรรม อะไร เจตสิก

    เคยโกรธไหม เป็นปรมัตถธรรม หรือเปล่า เป็นปรมัตถธรรมอะไร เจตสิก

    ถ้าเราเข้าใจ แยกจิตออกไปส่วนหนึ่งต่างหากว่าเป็นธาตุที่เป็นใหญ่เป็นประธาน เฉพาะในการรู้แจ้งอารมณ์อย่างเดียวเท่านั้น ที่สภาพธรรมกำลังปรากฏทางตาให้เห็นแจ้งชัดเจนในขณะนี้ ก็เพราะเหตุว่าเป็นอารมณ์คือสิ่งที่จิตกำลังเห็น สภาพนี้จึงปรากฏได้ มิฉะนั้นแล้ว สภาพสีสันวัณณะจะปรากฏไม่ได้เลย จิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ในการรู้แจ้งอารมณ์เท่านั้น แต่ในขณะนี้จำด้วย ลักษณะที่จำเป็นเจตสิก ถ้าจะชอบหรือไม่ชอบ ลักษณะนั้นก็เป็นเจตสิก

    ถ้าแยกจิตออกไป ที่เหลือเป็นเจตสิกทั้งหมด ในบางครั้ง จะใช้คำว่า นามธรรม ๕๓ เราก็เข้าใจได้ พอใครพูดถึงนามธรรม ๕๓ หมายความว่า ถ้าเรามีความเข้าใจเรื่องจิตกับเจตสิกว่าต่างกัน เราก็รู้ว่า จิต ๑ เจตสิก ๕๒ เป็นนามธรรม ๕๓ เพราะเหตุว่าเจตสิก ๕๒ มีลักษณะเฉพาะของเจตสิกแต่ละหนึ่งจริงๆ เท่ากับจิต ๑ แล้วก็เจตสิกอีกแต่ละหนึ่งจริงๆ จึงรวมเป็น ๕๓ ซึ่งเป็นนามธรรมซึ่งเป็นสภาพรู้

    เพราะฉะนั้น สมาธิ สมาธิเป็นปรมัตถธรรม อะไร เป็นเจตสิก เพราะฉะนั้น ต้องทราบว่า สมาธิที่กล่าวถึง เป็นสภาพของเจตสิกชนิดหนึ่ง ซึ่งถ้าทราบว่าจิต ถ้าไม่มีเหตุปัจจัยแล้วจะเกิดไม่ได้เลย ทุกอย่างที่เกิดขึ้น ต้องมีเหตุปัจจัยทำให้เกิดขึ้น ปรุงแต่งให้เกิดขึ้น แม้จิตก็มีเจตสิกนั่นเองซึ่งเกิดร่วมกันปรุงแต่งให้เป็นจิตประเภทต่างๆ แล้วก็ทำให้จิตสามารถที่จะรู้อารมณ์ได้ เจตสิกมีอะไรเป็นปัจจัยให้เกิดขึ้น มีจิต เพราะเราไม่ได้กล่าวถึงว่ามีจิตกับเจตสิกต้องเกิดร่วมกันทุกครั้ง ให้เข้าใจชัดเจนว่า ขณะใดที่จิตเกิด ที่นั่นต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ขณะใดที่มีเจตสิกเกิด ที่นั้นต้องมีจิตและเจตสิกอื่นๆ เกิดร่วมด้วย เพราะเหตุว่าจิต ๑ ขณะที่เกิด จะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยอย่างน้อย ๗ ประเภท หรือที่ภาษาธรรมใช้คำว่า ๗ ดวง อย่างน้อย ถ้าเป็นอกุศลจิตก็เพิ่มอกุศลเจตสิกขึ้นอีก ถ้าเป็นโสภณจิตฝ่ายดีก็เพิ่ม โสภณเจตสิกฝ่ายดีขึ้นอีก มากกว่าทางฝ่ายอกุศล เพราะฉะนั้น เอกัคคตาเจตสิก ที่เราใช้คำว่า สมาธิ เป็นสิ่งที่มีจริง เพราะเหตุว่าได้แก่สภาพของเจตสิก ๑ ใน ๗ ซึ่งต้องเกิดกับจิตทุกขณะ เวลานี้มีเอกัคคตาเจตสิกไหม มี เพราะต้องเกิดกับจิตทุกขณะ เพราะฉะนั้น จะกล่าวว่ามีสมาธิได้ไหม

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 100
    17 มี.ค. 2568