ปกิณณกธรรม ตอนที่ 446


    ตอนที่ ๔๔๖

    สนทนาธรรมที่ซอยมีสุวรรณ คลองตัน พระโขนง พ.ศ. ๒๕๔๑

    ส. ความติดข้องดีไหม

    ถ. ไม่ดี

    ส. เพราะว่าบางคนเขาบอกว่าติดน้อยๆ ก็ดี ติดมากถึงจะไม่ดี แต่ความจริงติดน้อยก็ต้องไม่ดีด้วย แล้วก็ให้เห็นว่าจะละอย่างไร โลภะ บบนั้น จะละได้อย่างไร ถ้าโลภะแบบมากๆ เห็นว่าเขาโกง เขาโลภ เขาอะไรอย่างนี้ เราก็ยังรู้สึกว่ามีโทษ มีอันตราย น่ารังเกียจ แต่โลภะชนิดที่พอเห็นก็ติด พอได้ยินก็ติด พอได้กลิ่นก็ติด พอลิ้มรสก็ติด พอกระทบสัมผัสก็ติด โลภะอย่างนี้จะละได้อย่างไร

    ถ. แล้วเราตื่นขึ้นมาก็ อกุศลทั้งนั้นเลย หรือ

    ส. ก็ใช่

    ถ. ถึงแม้ใจเราจะไม่มี อกุศล

    ส. ใจของเราเป็นอย่างไร ถึงได้ เป็นอย่างนั้น ไม่รู้เลย

    ถ. จิตเราบอกว่า ตื่นขึ้นมา ลุกขึ้นไปเข้าห้องน้ำ แปรงฟัน

    ส. นั่นแหละ อยากไหม

    ถ. มันจำเป็นต้องทำ

    ส. จำเป็นต้องทำด้วย ต้องการด้วย เพราะฉะนั้น โลภะ เห็นยากมาก ยากจริงๆ เพราะว่ามีโลภ อย่างหยาบ เห็นได้ชัด อย่างกลางเวลาที่เราอยากได้อะไรสักอย่าง เราก็ยังรู้ว่า นี่คือโลภะ นี่คือความอยาก ความต้องการ แต่โลภะที่ละเอียดกว่านั้น

    โลภะในอกุศลธรรม ๙ กองหรือ ๙ ประเภท มีโลภครบหมด ตั้งแต่อย่างละเอียดที่ไม่รู้สึกตัวเลย คือ อนุสัยกิเลส ไม่ปรากฏ กำลังหลับสนิท ทุกคนนอนหลับ ไม่ได้ทำอะไรเลย ไม่ได้อยากได้อะไรเลยทั้งหมด นั่นคือมีกิเลส โลภะ ที่ยังไม่ได้ดับ เพราะอะไร ตื่นปุ๊บอยากปั๊บ ไม่ใช่ให้คุณนุช ละโลภะ พระโสดาบันไม่ได้ละโลภะ เพียงละความเห็นผิด ความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรม

    ถ. แต่บางครั้งก็เห็นผิด แต่ก็อยากทำ

    ส. ก็เป็นเรา จนกว่าจะไม่มีเรา ถึงไม่มีเราแล้วก็ยังมีโลภะ พระโสดาบันมี โลภะ พระสกทาคามี มีโลภะ ในรูปในเสียง ในกลิ่น ในรส ในเรื่องสนุกสนาน ในทุกสิ่งทุกอย่าง เว้นพระอนาคามีเท่านั้น ที่ไม่มีความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส แต่ยังมีความข้องในภพชาติ ต่อเมื่อเป็นพระอรหันต์ คือ ดับ ไม่มีความต้องการใดๆ เลย แต่ให้เห็นความจริง ความจริง คือ ความจริง เรามีความไม่รู้มากแค่ไหน แม้มีโลภะ ก็ไม่รู้ว่ามีโลภะ เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้ก็เริ่มเข้าใจถูกขึ้น ทีละเล็ก ทีละน้อย

    ถ. พระอรหันต์เท่านั้นที่จะดับไปเลย พระอนาคามี พระโสดาบัน ไม่มี

    ส. กิเลสมีมากมายดับ เป็นขั้นๆ ดับเป็นประเภทๆ ไม่ใช่ว่าดับทีเดียวหมด ถ้าดับทีเดียวหมดก็ไม่ต้องมีพระโสดาบัน จากปุถุชนก็เป็นพระอรหันต์

    ถ. ปุถุชนธรรมดาก็เป็นได้ ใช่ไหม

    ส. เป็นแล้ว เวลานี้เป็นปุถุชนอยู่ ถ้าไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็ยังเป็นปุถุชนอยู่

    ถ. หมายถึงเป็น โสดาบัน ได้หรือ

    ส. ได้สิ

    ถ. ไม่ต้องบวช

    ส. พระพุทธเจ้า ก่อนเป็นพระพุทธเจ้า มีกิเลสไหม

    ถ. มี

    ส. เป็นปุถุชน

    ถ. แต่ท่านพิเศษ สะสมมา

    ส. เพราะฉะนั้น ก็สะสมไปสิ มีสิทธิ

    ถ. เมื่อกี้นี้ท่านอาจารย์อธิบาย รูปขันธ์ แล้วนามเล่า

    ส. ยัง เข้าใจรูปขันธ์ก่อน ว่าที่ทรงแสดง โดยอำนาจของการยึดถือซึ่งทุกคนปฏิเสธไม่ได้เลยว่ายึดถือ หรือติดในรูป มากมายมหาศาล เราไปเป็นพรหมไม่ได้ เพราะเรายังติดในรูปในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ก็อยู่อย่างนี้ ถ้าเป็นผลของกุศล ก็ได้สิ่งที่ดีทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ถ้าเป็นผลของอกุศลเมื่อไร ก็สิ่งที่ไม่ได้ให้ เป็นผลอยู่เท่านั้นเอง แต่ออกจากนี้ไม่ได้ เพราะว่ายังติดอยู่ ติดรูปมากไหม คุณนุช

    ถ. มาก

    . มีรูปอะไรที่คุณนุชไม่ติด

    ถ. ไม่มี

    ส. ไม่มีก็ต้องไม่มี

    ถ. เรียนถามอาจารย์ คนที่หลับแล้วฝันทุกคืน

    ส. คิดทางใจ เพราะฉะนั้น ที่เราใช้คำว่า หลับ คือ ภวังคจิต ต้องทราบว่าขณะใดก็ตาม ที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ไม่คิดนึก ขณะนั้นจิตทำกิจภวังค์ เพราะว่าจิตต้องการเกิดขึ้น เพื่อทำกิจการงาน ไม่ใช่เกิดมาเล่นๆ เลย จิตทุกดวง ทุกประเภท ต้องทำหน้าที่หนึ่ง หน้าที่ใด ใน ๑๔ หน้าที่ของจิต ถ้าเป็นภวังคจิต ก็หมายความว่าไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจสนิทเลย คือหลับสนิท เพราะฉะนั้น ขณะที่ไม่อาศัยทางหนึ่งทางใด ไม่อาศัยตาเห็น ไม่อาศัยหูได้ยินไม่อาศัยจิตใจนึกคิดไป ขณะนั้นเป็นภวังคจิต แบ่งจิตออกได้เป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ จิตที่เป็นวิถีจิต กับจิตที่ไม่ใช่วิถีจิต ถ้าจิตที่ไม่ใช่วิถีจิตก็คือ ขณะปฏิสนธิ ขณะเป็นภวังค์ ขณะจุติ ๓ ขณะ นี้เท่านั้น จำง่ายมาก ไม่เป็นวิถีจิตเพราะว่าไม่ได้อาศัยทวารหนึ่ง ทวารใดรู้อะไรเลย หลับสนิท แต่ขณะใดที่เห็น คืออาศัยตา เป็นวิถีจิต วิถีจิตหมายความถึง อาศัยทางหนึ่ง ทางใดเกิดสืบต่อ รู้อารมณ์เดียวกัน ทางตา ถ้าเป็นทางหู เสียงกระทบ ก็อาศัยโสต เป็นทวารเกิดขึ้นสืบต่อ รู้เสียงที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น จิตที่อาศัยทวาร เป็นวิถีจิตทั้งหมด จิตที่รู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นวิถีจิตทั้งหมด แต่ถ้าไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ใช่วิถึจิต ไม่ได้อาศัยทวาร ๑ ทวารใด พอจะทราบเรื่องรูปแล้ว ใช่ไหม รูปหยาบทั้งหมดมีเท่าไร

    ถ. รูปหยาบมี ๙ ใช่ไหม

    ส. ถ้าเราคิดถึงตำรา ไม่มีทางได้ แต่ถ้า คิดถึงตามความเป็นจริง รูปทางตา ๑ รูปทางหู ๑ รูปทางจมูก ๑ รูปทางลิ้น ๑ รูปทางกาย ๓ , ๗ รูปแล้วก็ตา ๑ หู ๑ จมูก ๑ ลิ้น ๑ กาย ๑ อีก ๕ รวมเป็น ๑๒ นี่คือรูปหยาบ รูปหยาบเพราะอะไร มีปรากฏในชีวิตประจำวัน สีปรากฏตลอด ตั้งแต่ลืมตา เสียงก็ปรากฏ กลิ่นก็ปรากฏ จมูกก็ปรากฏ รสก็ปรากฏ เย็นร้อนอ่อนแข็งก็ปรากฏจึงเป็น รูปหยาบใน ๒๘ รูป แล้วก็ที่เรารู้ว่ามีตา เพราะเหตุว่ามีเห็น ที่เรารู้ว่ามีหู เพราะเหตุว่ามีได้ยิน เพราะฉะนั้น รูปเหล่านี้ แม้เราไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะได้จริงๆ แต่รู้ว่ามี จึงเป็นรูปหยาบ เพราะฉะนั้น แม้รูปหยาบก็ยังแบ่ง เป็นรูปที่เป็นอารมณ์ คือ โคจรรูป ๗ แล้วที่เป็นปสาทรูป ๕ , ๑๒ รูป

    ถ. โอชากับรส

    ส. คนละอย่าง

    ถ. คนละอย่าง โอชาคืออะไร

    ส. โอชา คือ รูปที่ทำให้เกิดรูป รูปที่อยู่ในมหาภูตรูป แต่ไม่ใช่รส แต่ว่าเป็นรูปที่สามารถ ที่จะทำให้เกิดกลุ่มของรูปอีก เกิดต่อไป นี่เป็นเหตุที่เราต้องรับประทานอาหารที่อยู่ในมหาภูตรูป ไม่ใช่อาหารทั้งคำ อาหารทั้งคำ จะต้องมีธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ลม แล้วก็มีสี แล้วก็มีกลิ่น แล้วก็มีรส แต่ตัวโอชา เป็นรูป ที่ทำให้กลุ่มของรูปเกิด เป็นรูปที่เกิดจากอาหาร เรียกว่า อาหารชรูป รูปที่เกิดจากอาหาร เหมือนอย่างกับต้นไม้ใบหญ้า เป็นอุตุชรูป หมายความถึงรูปที่เกิดจากธาตุไฟ ร้อนหรือเย็น ไม่ใช่เกิดจากอาหาร ไม่ได้เกิดจากกรรม ไม่ได้เกิดจากจิต เพราะว่าถ้ามีรูปที่เกิดจากกรรม ร่างกาย เราอยู่ไม่ไหว นิดเดียวเล็กนิดเดียว จักขุปสาทอยู่กลางตา โสตปสาทอยู่กลางหู กายปสาทก็ซึมซาบอยู่ แต่ต้องมีรูปอื่นที่อุปถัมภ์ คือรูปที่เกิดจากอุตุ หรือรูปที่เกิดจากอาหาร ทำให้รูปนี้ดำรงอยู่ได้

    คุณนุช สัญญาคืออะไร สัญญาทุกชนิด ทั้งอดีต ทั้งอนาคต ทั้งปัจจุบันก็ไม่ใช่ เวทนา ไม่ใช่จิต ไม่ใช่รูป สัญญาเป็นสัญญา เพราะฉะนั้น อยู่ในกอง อยู่ในกลุ่มของสัญญา ไม่ว่าจะเป็นสัญญาไหน ก็ตามแต่ สัญญาจำสีที่ปรากฏ สัญญาจำเสียง สัญญาจำกลิ่น สัญญาที่ดับไปแล้ว สัญญาอะไรก็ตาม อะไรข้างหน้า ก็คือสัญญา นั่นเอง เพราะฉะนั้น จึงเป็นสัญญาขันธ์ อยู่ในประเภท ในกอง หรือในกลุ่ม ของสัญญานั้น จะใช้คำว่า กอง ก็คืออยู่กองนี้ ไม่ได้ไปกองไหน อยู่กองนี้เพราะว่า เป็นอย่างนี้ เป็นสัญญา ไม่ได้เป็นอย่างอื่น ก็กำกับลักษณะของปรมัตถธรรม อีกที่ ๑ ว่าในปรมัตถธรรม ทั้งหมด รูป เป็นรูปขันธ์ เพราะรูปไม่ใช่นามขันธ์เลย สักอย่างเดียว แล้วในบรรดานามขันธ์ทั้งหมด สัญญาเจตสิก เป็น สภาพจำ เวทนาเจตสิกเป็นสภาพที่รู้สึก เป็นเจตสิก ๒ อย่างใน ๕๒ อย่างที่แยกออกมาเป็นเวทนาขันธ์กับสัญญาขันธ์ ความรู้สึกของคุณนุชสำคัญไหม

    ถ. สำคัญ

    ส. สำคัญ เพราะฉะนั้น เป็น ๑ ขันธ์ เวทนา ความรู้สึก เป็นขันธ์ ๑ ใน ๕ ขันธ์ ตามการยึดมั่น

    ถ. รูปขันธ์ก่อนใช่ไหม

    ส. ก่อนอะไร

    ถ. รูปขันธ์ก็คือปรมัตถธรรม

    ส. รูปปรมัตถทุกอย่างทุกชนิด เป็น รูปขันธ์ได้แก่รูปปรมัตถ ใน ๕ ขันธ์ รูปขันธ์ ๑ นามขันธ์ ๔ และนามขันธ์ ๔ ต้องเกิดร่วมกันทุกครั้งไม่เคยแยก ไม่ว่าจะไปเกิดในรูปพรหม อรูปพรหม ที่ไหนก็ตาม นามขันธ์ ๔ คือจิต เจตสิก ต้องเกิดร่วมกันครบ

    ถ. ต้องมาด้วยกัน หรือ จิต เจตสิก

    ส. แล้วก็ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ๔ ครบ ที่นับว่าคุณนุชมี ๕ ขันธ์ เพราะว่ามีทั้ง รูปขันธ์และนามขันธ์ทั้ง ๔ ถ้าคนตาบอดเหลือกี่ขันธ์ คุณนุช

    ถ. ก็ ๕ ขันธ์เท่ากัน เพราะว่าตาไม่ได้เกี่ยว ใช่ไหม

    ส. รูปอื่นก็มีแม้ว่า ไม่ใช่ มีตา มีใครอยากไม่มีรูปบ้างไหม ไม่มีเลย จริงใจ ไม่ได้ถามถึงคนอื่น ถามถึงตัวเองแต่ละคน มีใครบ้างที่ไม่อยากมีรูป แล้วมีใครบ้างที่ไม่อยากมีนาม มีไหม ไม่มีเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ยังคงต้องมีนามรูปต่อไป เพราะยังมีความต้องการในนามรูปนั้นอยู่

    ถ. อย่างนี้ ก็เป็นอกุศล สิ

    ส. อะไรตรงไหนเป็นอกุศล

    ถ. ต้องการมีรูปนาม

    ส. แน่นอนๆ ใครไม่มีอกุศล คุณนุช

    ถ. พระพุทธเจ้า

    ส. นอกจากพระพุทธเจ้า มีใครอีกไหม

    ถ. พระอรหันต์

    ส. พระอรหันต์เท่านั้น รูปที่นี่ กับรูปที่ตัว เหมือนกันหรือต่างกัน ต่างกันตรงไหน แต่ลักษณะของรูปต่างกันไหม เฉพาะลักษณะของรูป ไม่ต่าง ไม่ว่ารูปจะอยู่ที่ไหนทั้งหมด จะอยู่ข้างนอก หรือจะอยู่ที่นี่ รูปก็คงเป็นรูปที่ไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ไม่ว่าเราจะกระทบสัมผัสตรงไหน รูปไม่เคยรู้เลย รูปไม่ใช่สภาพรู้ รูปที่มีลักษณะแข็ง เกิดขึ้นมีลักษณะแข็ง ก็แข็งเท่านั้น ไม่รู้อะไรเลย รูปที่เป็นเสียง เกิดขึ้นเป็นเสียง กระทบกับโสตปสาท จึงได้ปรากฏ ก็เป็นสภาพที่ไม่รู้อะไรเลย

    รูป ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในโลก นอกโลกในจักรวาลที่ไหนก็ตาม รูปก็เป็นเพียงรูปธรรมเท่านั้น เพราะฉะนั้น ถ้าเราสามารถที่จะแยกรู้ได้ จริงๆ ที่กายของเรา ว่ารูปเป็นเพียงรูปธาตุ หรือรูปธรรมเท่านั้น ไม่ใช่เรา ก็จะเห็นความไม่ใช่เรา ได้ แต่ถ้าเราไม่ได้เคยพิจารณาเลย ทั้งหมด ก็เป็นเราบ้าง หรือว่าเป็นของๆ เราบ้าง หรือว่าเป็นตัวเราบ้าง นี้ก็แสดงให้เห็นว่า ความไม่รู้ ทำให้เรายึดแม้แต่รูปซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ ว่าเป็นเรา อย่างผมก็ของเรา แขนนี้ก็ของเรา แต่พอออกไปข้างนอกตัว เล็บที่ตัดแล้ว จะเป็นของเราอีกไหม หรือไปตามมาเก็บไว้ดูแลรักษาไว้ นี่ของเรา ตอนที่อยู่ที่ตัวนี้ ก็เป็นของเรา แต่ว่าจริงๆ แล้วไม่มีเลย ไม่มีเจ้าของ รูปทุกรูปกำลังเกิดดับอย่างละเอียดยิบ ตามปัจจัย รูปใดที่เกิดแล้วดับแล้ว รูปนั้นไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ปัญญาจะรู้ความจริงเฉพาะสิ่งที่ปรากฏ เพราะว่าสิ่งไหนไม่ปรากฏ สิ่งนั้นเกิดแล้วดับแล้ว ทั้งหมดเลย

    ถ. ในชีวิตประจำวัน เราไม่ได้นึก เราส่วนมากจะนึก ว่า อ้อ นี่ของเรา

    ส. ถึงได้มีความทุกข์ ไง ปัญญาทำหน้าที่ของปัญญา ถ้าไม่มีปัญญาอย่าไปคิดเรื่องกัป

    ถ. คิดว่า คงมีหลายแสนกัป

    ส. สาวกที่บำเพ็ญ อย่างท่านพระสารีบุตร ๑ อสงไขยแสนกัป

    ถ. นั่นท่านฉลาดนี่

    ส. ถ้ารองจากท่านพระสารีบุตร ก็แสนกัป พระมหาสาวก

    ถ. เพราะฉะนั้น เราก็เหลือแค่ นิดหน่อย

    ส. เอาความจริง เราไม่ต้องวัดว่าเป็นกัป กำลังเห็นอย่างนี้รู้ หรือเปล่า แค่นี้ เครื่องพิสูจน์ นามธรรมเป็นอย่างไร รูปธรรมเป็นอย่างไร เพราะว่าเราศึกษาแล้วว่า มีแต่นามธรรมกับรูปธรรม ขณะที่เห็นเป็นจิต เจตสิกเกิดด้วยกัน กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏ แค่นี้รู้หรือเปล่า ถ้าไม่รู้ ก็ไม่ไปถึงไหน กี่กัป ก็กี่กัป พระพุทธเจ้า กี่พระองค์ก็ต้องผ่านไปๆ แต่ถ้าปัญญาค่อยๆ สะสม ค่อยๆ รู้ขึ้น ความรู้ก็ต้องเพิ่มขึ้น ก่อนที่จะเป็นท่านพระสารีบุตร ก่อนที่จะเป็นพระสาวกทั้งหลาย ท่านก็มาจากความไม่รู้เลย ไม่มีใครสักคนเดียวที่เกิดมารู้เลย โดยไม่ต้องศึกษา หรือว่าโดยไม่ต้องสะสม

    ถ. อย่างนั้น ทุกคนทุกสิ่งทุกอย่างก็สะสมมา ตั้งแต่ปางก่อน

    ส. นานมากเลย กว่าจะเป็นอย่างนี้ เดี๋ยวนี้ ขณะนี้ แล้วก็ต้องสะสมต่อไปอีก

    ถ. อยากรบกวน ท่านอาจารย์ให้ช่วย พูดลักษณะของเมตตา กับ โลภะ ที่แบบใกล้ชิดมาก จนบางครั้งเราคิดว่าเป็นเมตตา

    ส. โลภะ เป็นอกุศล เป็นสภาพที่ติดข้อง เพราะฉะนั้น ก็ทำให้เกิดทุกข์ได้ คือ ถ้าไม่ได้สิ่งที่ต้องการ เราก็จะเสียใจ โทมนัสขุ่นข้อง นั่นเป็นลักษณะของโลภะ แต่เมตตานี้เป็นความหวังดี มีความเป็นมิตร มีความเป็นเพื่อน พร้อมที่จะช่วยเหลือเกื้อกูล นั่นคือลักษณะของเมตตา และก็ไม่ได้หวังผลตอบแทน เพราะฉะนั้น จึงไม่มีการที่จะทำให้เกิดทุกข์ หรือโทมนัสใดๆ แต่ถ้าขณะใดที่เป็นโลภะ เป็นความติดข้อง แล้วไม่ได้สิ่งที่หวัง ก็เป็นทกข์ อย่างบางคนแม้แต่หวังจะให้คนอื่นดี หวังที่จะให้คนอื่นเข้าใจธรรม อยากให้มาศึกษาธรรม แล้วเขาไม่มา ก็โกรธ หรือเป็นทุกข์ ขณะนั้นก็จะต้องทราบว่าเป็นความติดข้อง แต่ถ้าเป็นความหวังดี มีความเป็นเพื่อน พร้อมที่จะเกื้อกูล ยังไม่ใช่โอกาส ยังไม่ใช่เวลาที่เข้าจะสนใจ เราก็ไม่เดือดร้อน รอกาลเวลาต่อไปว่าเมื่อไรเขาพร้อม เมื่อนั้นเราก็ช่วยเขาได้ด้วยความเป็นมิตร เพราะฉะนั้น สภาพธรรม ที่เป็นกุศลทั้งหมด จะไม่ทำให้เกิดทุกข์ แต่สภาพธรรมที่เป็นอกุศล ดูเหมือนดี แต่ความจริงนำมาซึ่ง ความทุกข์ เพราะว่าไม่ใช่กุศล

    ถ. เกี่ยวกับลูก ถ้าเราจะเกื้อกูลกับเขาในเรื่องของธรรม เราก็มีวิธีการที่จะพูดให้เขาเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องเมตตา ให้ลูกมีเมตตาต่อพ่อแม่ ด้วยการช่วยเหลือ พ่อแม่ทำการงานบ้าน หรือทำตัวเป็นเด็กที่ดี อะไรอย่างนี้ บางครั้งมันดูเหมือนจะใกล้ชิดกับโลภะ ที่เราต้องการอยากให้เขาเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ไม่ทราบว่า

    ส. พ่อแม่ทุกคนต้องทราบ พ่อแม่ไม่ได้มีแต่เมตตาลูก ขณะใดเป็นโลภะก็รู้ ขณะใดเป็นเมตตาก็รู้ ต้องตรง หรือว่าจะเป็นโลภะไปหมด ก็ต้องรู้ด้วย เพราะว่า ลูกของเรา ก็ต้องมีโลภะมาก แต่ขณะใดที่เขาเกิด เป็นลูกเราชาตินี้ ชาติก่อนเขาเป็นลูกใคร ชาติหน้าเขาจะเป็นลูกใคร หรืออย่างชาติก่อนอาจจะเป็นแม่ ชาตินี้มากิดเป็นลูก แต่ว่าความเป็นแม่ชาติก่อนก็หมดไปแล้ว เพราะเดี๋ยวนี้เขาเป็นลูก เขาจะมาเป็นแม่อยู่ไม่ได้ ต้องเป็นลูกซึ่งเราจะต้องทำหน้าที่ของแม่ ไม่ใช่ไปทำหน้าที่ของลูกกับเขา ก็ต้องแสดงให้เห็นว่า เป็นคนตรง

    ถ. บางครั้ง มีความรู้สึกเหมือนว่า คนใกล้ชิดเรา สามี ภรรยา พี่น้อง หรืออะไรก็แล้วแต่ เพื่อนฝูงที่ใกล้ชิดเรามากๆ ดูเหมือนว่าเราจะมีเมตตาต่อเขา ในหลายๆ เรื่อง หลายๆ ด้าน แต่บางครั้งพิจารณาจริงๆ แล้วไม่ใช่ มันกลายเป็นโลภะเสียมากกว่า

    ส. ก็ถูก ถ้าเป็นโลภะ ก็คือโลภะ เราก็ไม่หลอกว่าโลภะนั้นเป็นเมตตา

    ถ. เพราะฉะนั้น จะมีแต่เราเท่านั้น ที่จะรู้ว่าขณะนั้นเป็นโลภะ

    ส. แน่นอน คนอื่นจะรู้ไม่ได้เลย เพราะใกล้ชิดกันมาก

    ถ. ลักษณะมันจะออกมาชัด

    ส. เพราะอะไร คนที่เรารักเราต้องอยากให้เขาดี หวังดีกับเขาด้วยประการทั้งปวง อยากให้เขาสุข อยากให้เขาสบาย อยากให้เขาเจริญ อยากให้เขารุ่งเรือง คือคนที่เรารัก ถ้าเมตตา หมายความว่าไม่ใช่เฉพาะคนนี้ เหมือนกันหมด คนนี้หรือคนไหนก็คือเรามีความหวังดีต่อเขาเสมอกัน ง่ายที่สุดคือคนในบ้าน มีตั้งแต่พี่น้อง พ่อแม่ คนรับใช้ แล้วยังบ้านใกล้เรือนเคียงอีก เป็นเครื่องที่จะพิสูจน์ได้เลย ว่าโลภะ หรือว่าเมตตา

    ถ. คนในโลกทั้งโลกก็ญาติพี่น้องกันหมด

    ส. ไม่เคยเลยที่จะไม่เคยเป็นพี่น้องกัน ไม่เคยเลยที่จะไม่เป็นศัตรูกันด้วย

    ถ. เมื่อเราเคยเป็นลูกเขามา เคยเป็นอะไรมา

    ส. จะเป็นคุณยาย คุณทวด น้อง ของคุณนุชไปหมดเลยก็ได้ ชาติก่อนๆ

    ถ. อย่างนั้นเราก็ต้องดีต่อเขาหมดทั้งโลก

    ส. ดีไหมเล่า ทำไมคุณนุชถึงจะดีแต่ต่อพ่อแม่ พี่น้องญาติ คนอื่นล่ะ

    ถ. คนอื่นก็ดี แต่หมายถึงคนอื่น

    ส. คนอื่นก็ต้องดี ที่ไปไกลแสนไกล ก็ต้องดีอื่น แสนไกล ก็ต้องดีด้วย หมด คือดีอยู่ที่ไหน ใจของคุณนุชเอง อยากจะให้เสีย หรืออยากจะให้ดี

    ถ. ก็ต้องรักหมดทั้งโลก

    ส. กุศลจิต ถ้าเป็นกุศลก็คือกุศล

    ถ. เมตตาจะต้องประกอบด้วยปัญญา

    ส. ไม่ประกอบก็มีแล้วแต่การสะสม

    ถ. ในการที่เราจะมีเมตตาต่อคนทั้งโลก

    ส. เพิ่มขึ้น ต้องประกอบด้วยปัญญา ถ้าไม่ใช่เพิ่มขึ้น ไม่ได้เจริญขึ้น ก็เกิดเพราะอุปนิสัยที่สะสมมา

    ถ. ถ้าอย่างนั้น คำว่า รักกับเมตตา คนละเรื่อง กัน

    ส. ใช่ ถ้าทางฝ่ายธรรม รักคือโลภะ ความติดข้อง มีชื่อตั้งมากมายเลย ลักษณะต่างๆ แม้แต่ความหวัง ความหวังจะหวังอะไรก็ตามแต่ เพราะฉะนั้น หวังก็คือโลภะ

    ถ. โลภะ อย่างนี้เราก็ไม่ต้องรักลูก เราเมตตาลูก

    ส. คุณนุชจะพูดว่าอย่างนี้ อย่างนั้น ไม่ต้องไม่ได้ แล้วแต่ธรรมอะไรจะเกิดก็เกิด เป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น บังคับไม่ได้ ให้รู้ความจริงว่า โลภะคือโลภะ เมตตาคือเมตตา

    ถ. แต่หมายถึงว่า เราควรจะเมตตามากกว่ารัก

    ส. เราควรจะเป็นกุศลตลอดไป แต่เป็นไปไม่ได้ เพราะว่าต้องแล้วแต่เหตุปัจจัย

    ถ. ถ้าคิดจะมีเมตตากับลูก เรามีสิทธิจะมีเมตตากับทุกๆ คนได้ ใช่ไหม

    ส. ถ้าเราเข้าใจว่า เมตตามีลักษณะเหมือนกัน คือความหวังดี โดยที่ไม่ได้คิดว่าเขาเป็นของเรา

    ถ. แต่ในความเป็นจริงแล้ว ถ้าเรายังไม่มีปัญญาพอ เราไม่สามารถที่จะมีเมตตา คนอื่นเท่ากับลูก หรือสามี หรือพี่ หรือน้องเรา หรือคุณแม่ หรืออะไรอย่างนี้

    ส. ตามความเป็นจริง เรามีเมตตาต่อคนอื่น แต่เรามีโลภะ กับคนที่เกี่ยวข้อง เพราะว่าคนอื่น เป็นคนอื่น เราไม่รู้จัก แต่เราช่วยเขา เราหวังดีต่อเขา เราไม่ต้องการอะไรเลย นั่นคือเมตตา แต่คนที่ใกล้ชิด นี่ หนีโลภะยาก

    ถ. ถ้าอยากนั้น เท่ากับ เราสามารถจะมีเมตตาต่อคนอื่นมากกว่าที่เราจะมีต่อบุคคลใกล้ชิด

    ส. ถ้าเราเป็นคนตรง เราจะรู้ว่าขณะใดเป็นโลภะ ขณะใดเป็นเมตตา

    ถ. อย่างสามี เขาจะดูแลคนอื่น เพื่อนหรืออะไรอย่างนี้ ดีมาก เขาเป็นคนมีเมตตามาก ไม่ได้ชม เขาเป็นคนอย่างนั้นจริงๆ กับคนอื่น

    ส. ถ้าคุณแอ๊วทราบว่ากับคนไกล ที่เราสามารถที่จะเป็นเพื่อนกับเขา ช่วยเขาได้นั่นคือเมตตา เพราะว่าเราไม่รู้จักเขา แล้วเราไม่ได้หวังอะไรตอบแทนจากเขา เพราะฉะนั้น กับคนไกลเรามีเมตตา คุณแอ๊วก็ตอบได้เลยว่า คุณแอแลน มีเมตตากับคนไกล แต่คุณแอแลน มีโลภะกับคนใกล้ จริงๆ แล้วลักษณะคล้ายกันมาก คือความหวังดี ไม่ต้องการทำร้ายเลย เราไม่ทำร้ายคนที่เรามีเมตตา แล้วเราไม่ทำร้ายคนที่เรารัก แต่ว่าคนที่เรารัก เราไม่ทำร้ายเพราะรัก แต่ว่าคนอื่นที่เราไม่ทำร้ายเพราะเมตตา

    ถ. สมมติ ความรักเป็นอกุศล แล้วอย่างที่เกลียด ถ้ารักเขาดีกว่าเกลียด ไม่ใช่หรือ

    ส. เพราะว่าไม่ทำร้ายเขา

    ถ. ก็ไม่ดีกว่าที่จะเกลียด หรือ

    ส. เพราะฉะนั้น ถึงมี สมะโลภะ ที่เราพูดตั้งแต่ต้น โลภะ ที่ไม่ได้ทำร้ายหรือเบียดเบียนใคร

    ถ. หมายถึง อกุศลที่ดี

    ส. ไม่ใช่ดี อกุศล เป็นอกุศล แต่ไม่ถึงระดับที่จะทำร้ายหรือทำอันตราย กับคนอื่น

    ถ. แต่ก็เป็นอกุศลอยู่

    ส. เป็นอกุศล ต้องเป็นอกุศล เปลี่ยนไม่ได้

    ถ. นอกจากเมตตาเท่านั้น

    ส. เมตตาก็เป็นเมตตา ไม่ใช่อกุศล

    ถ. อย่างนี้ก็ควรจะเมตตา มากกว่ารัก

    ส. พูดแต่ควรๆ แต่จริงๆ จะเป็นอย่างไร ก็แล้วแต่เหตุปัจจัย

    ถ. แล้วแต่จิต

    ส. นี่เป็นเหตุที่เราจะต้องค่อยๆ ฟัง แล้วรู้ว่านี่คือพระพุทธศาสนา เป็นเรื่องที่ลึกลับ ล้ำลึก แล้วก็ยาก แล้วก็ละเอียด แล้วก็เป็นเรื่องละ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 100
    28 ธ.ค. 2564