พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 548


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๔๘

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๒


    ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์กล่าวถึงเห็นอกุศลของคนอื่นเห็นได้ชัด ก็คิดถึงคำพูดของท่านอาจารย์ว่า ศัตรูภายใน อยากจะกราบเรียนท่านอาจารย์ว่า ศัตรูภายในเป็นอกุศลจิตทั้งหมดใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ กุศลไม่ใช่ศัตรูแน่ ไม่ทำร้าย แต่อุปการะ เวลานี้ทุกคนมักจะนึกถึงสิ่งที่เกิดแล้ว อย่างอันตรายหรือภัยพิบัติต่างๆ บางคนก็มีญาติพี่น้องที่ป่วยไข้เดือดร้อนต่างๆ รู้ไหมคะว่าเหตุของภัยมาจากไหน รู้ผลที่เกิดขึ้น แต่เหตุที่ทำให้เกิดไม่สามารถรู้ได้ เวลาเกิดอุบัติเหตุ โรคภัยไข้เจ็บ ไม่รู้ถึงเหตุที่นำมาซึ่งสิ่งนั้น ทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น ที่เราใช้คำว่า “มือที่มองไม่เห็น” เห็นไหมคะว่า ใครทำร้ายใคร แต่อันตรายเกิดแล้ว เพราะฉะนั้น ไม่ใช่จากคนนี้หรือคนนั้น ถ้าคิดว่า อันตรายเกิดจากคนนั้นคนนี้ เข้าใจผิด ถ้าคนนั้นไม่มีกรรมที่ได้กระทำแล้ว ภัยนั้นๆ ก็มาถึงไม่ได้ เพราะฉะนั้น เวลาที่เห็นสภาพธรรมที่เป็นอันตรายเกิดขึ้นกับใครหรือกับตนเอง ก็ให้ทราบว่า มีเหตุคือกรรมที่ได้กระทำแล้ว คนอื่นไม่ได้ทำให้

    เพราะฉะนั้น ภัยที่มองไม่เห็นก็คือขณะที่กรรมให้ผล กรรม มองเห็นไหมคะ ก็มองกรรมไม่เห็น เป็นภัยที่มองไม่เห็น เพราะเหตุว่าเวลาที่ทำอกุศลกรรมทำให้เกิดอกุศลวิบาก ซึ่งไม่ใช่คนอื่นได้รับ แต่ผู้กระทำกรรมนั้นเองได้รับ เพราะฉะนั้น กรรมทุกประเภทมองไม่เห็น เพราะขณะนี้เป็นกุศลกรรมจะให้ผลเมื่อไร จะให้เกิดที่ไหน ทางตาหรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายในรูปแบบใด ก็ไม่มีใครสามารถรู้ได้ ในรูปของลาภทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ยศ หรือสุข ทุกข์ต่างๆ มีเหตุทั้งนั้น แต่เมื่อไม่รู้ กรรมก็เป็นสภาพที่ปกปิด ที่ใช้คำว่า “ไม่เห็น” หมายถึงภัยที่มองไม่เห็นก็คืออกุศลกรรม ให้ผลแน่นอน ช้าหรือเร็ว แล้วกรรมที่เป็นอกุศลมาจากไหน ถ้าไม่มีกิเลสซึ่งเป็นศัตรูที่มองไม่เห็น ก็ไม่มีภัยที่มองไม่เห็น ก็ไม่มีอกุศลกรรม

    เพราะฉะนั้น ขณะใดที่จิตกระทำอกุศลกรรม เพราะเหตุว่ามีศัตรูที่อยู่ภายใน และป้องกันยาก เพราะเหตุว่าอยู่ในใจ จะป้องกันเมื่อไร เกิดแล้วรวดเร็วแล้วบ่อยๆ เพราะฉะนั้นก็ต้องสะสมมิตร คือ กุศลธรรมทั้งหลายเพื่อเป็นปัจจัยให้เกิดมากกว่าอกุศล เพราะเราไม่สามารถรู้ได้ว่า เคยทำอกุศลกรรมมามากน้อยเท่าไรในสังสารวัฏ และจะให้ผลเมื่อไรก็ไม่สามารถจะรู้ได้

    เพราะฉะนั้น ศัตรูภายในก็ปกปิด คิดว่าไม่ใช่ศัตรู คิดว่าคนอื่น แต่ความจริงไม่ใช่ เป็นอกุศลกรรมนั่นเองที่เป็นศัตรู ยอมรับไหมว่า มีศัตรู คิดที่จะละไม่ให้ศัตรูอยู่ในใจอีกหรือไม่ หรืออยู่ก็อยู่ไป แล้วใครได้รับผล ไม่ใช่คนอื่นเลย แค่นี้เรายังไม่สามารถมีความเห็นถูกต้องในเหตุผลตามความเป็นจริง ยังคงเป็นเรา แล้วเมื่อไรถึงจะรู้ว่า เป็นเพียงธรรมซึ่งเกิดแล้วเป็นปัจจัยที่จะให้ผลของกรรมนั้นๆ เกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นศัตรูที่มองไม่เห็น มีภัยที่มองไม่เห็น และเวลาที่ผลของกรรมที่เป็นกุศลหรืออกุศลเกิดขึ้นก็เป็นมือที่มองไม่เห็น คงจะเคยเห็นชีวิตต่างๆ ของคน ทั้งอดีต และปัจจุบันจากที่เกิดมาลำบาก แต่ก็สามารถผ่านพ้นความลำบากไปได้ และได้รับผลของกรรมดีที่ได้ทำแล้ว โดยที่ตอนเกิดก็ไม่สามารถจะรู้ได้ว่า ชีวิตของเขาจะเปลี่ยนแปลง เหมือนกับคนที่มีทุกอย่างพร้อม แต่ก็ต้องสูญเสียทุกอย่างได้ตามเหตุคือกรรมที่ได้กระทำแล้ว ก็เป็นสิ่งที่มองไม่เห็นว่า แท้ที่จริงทุกอย่างเป็นไปตามกรรม เหตุ และผลต้องตรงกัน

    ขณะนี้ไม่ต้องไปคิดถึงอุบัติเหตุหรือลาภยศอะไร เพียงแค่เห็นขณะนี้ ก็ไม่รู้ว่า เป็นผลของกรรมใด อย่างเสียงก๊อกแก๊กของพัดลมหมุน ผลของกรรมใด เมื่อไม่รู้ก็เพียงแต่จะรู้ว่า สิ่งนี้เกิดโดยที่ใครก็บังคับบัญชาไม่ได้ เป็นอุปัทวะ เพราะการประจวบกันของโสตปสาทรูป ซึ่งกรรมเป็นปัจจัยทำให้เกิด และยังไม่ดับ กระทบกับเสียง เฉพาะเสียงนั้นที่กระทบกับโสตปสาทรูป และยังเฉพาะกรรมนั้นที่ทำให้ได้ยินเสียงนั้น

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นสิ่งที่ไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาได้ เป็นธรรม เชื่อมั่นในกรรม และผลของกรรมหรือยัง

    ผู้ฟัง เชื่อมั่นค่ะ ขอเรียนถามอาจารย์วิชัยเรื่องวิถีจิต สงสัยว่า ทำไมโวฏฐัพพนจิตไม่ได้เกิดทางใจ ทำไมถึงเกิดทางปัญจทวารเท่านั้นเอง

    อ.วิชัย จริงๆ แล้วโวฏฐัพพนะเป็นกิจของจิต เราอาจจะได้ยิน โวฏฐัพพนจิต ก็คือกล่าวชื่อจิตตามกิจหน้าที่ของจิตนั้นๆ จิตที่เกิดขึ้นทำโวฏฐัพพนกิจเกิดขึ้นทางปัญจทวาร

    ผู้ฟัง เท่านั้นเอง ไม่เกิดทางใจเลยหรือ ใช่ไหมคะ

    อ.วิชัย หมายความว่าจิตที่เกิดขึ้นทำกิจนี้

    ผู้ฟัง ทำกิจนี้ทางปัญจทวาร

    อ.วิชัย ถูกต้องครับ

    ผู้ฟัง แล้วหลังจากนั้นก็เป็นชวนะทางใจ คือเข้าใจว่าวาระหนึ่ง มี ๑๔ กิจ เข้าใจว่า ทางปัญจทวารก็เป็นวิถีจิตแรก แล้วจะเป็นวิถีจิตทางตา หลังจากจักขุวิญญาณเห็นแล้ว ก็จะเป็นสัมปฏิจฉันนะ แล้วสันตีรณะ แล้วโวฏฐัพพนะ ทีนี้งงตรงนี้ว่า โวฏฐัพพนะทางปัญจทวารแล้ว ทีนี้ชวนะ

    อ.วิชัย ชวนจิตก็เกิดสืบต่อ ก็ทางเดียวกันก็คือต้องทางปัญจทวารทางใดทางหนึ่ง

    ผู้ฟัง จนหมดวาระ

    อ.วิชัย ถูกต้อง

    ผู้ฟัง แล้วหลังจากนั้นก็เป็นภวังค์ แล้วจะเกิดทางใจก็เหมือนกัน

    อ.วิชัย ก็มีวิถีจิตเกิดขึ้น หลังจากภวังคุปัจเฉทะดับแล้ว มโนทวาราวัชชนจิตก็เกิดขึ้น

    ผู้ฟัง เกิดขึ้นแล้วก็เป็นสัมปฏิจฉันนะ

    อ.วิชัย ทางมโนทวารจะไม่มีสัมปฏิจฉันนะ

    ท่านอาจารย์ กุศลจิต อกุศลจิต หรือกิริยาจิตของพระอรหันต์เกิดได้กี่ทาง ขอคำอธิบายจากคุณวิชัยค่ะ

    อ.วิชัย ชวนจิตเกิดขึ้นทางตาได้ไหมครับ เห็นแล้ว ขณะที่เห็นดับไปแล้ว สัมปฏิจฉันนะจิตเกิด ดับไปแล้ว สันตีรณจิตเกิด ดับไปแล้ว โวฏฐัพพนจิตเกิด ดับไปแล้ว จิตอะไรเกิดสืบต่อ ก็ต้องเป็นชวนจิต ชวนจิตขณะนั้นเกิดทางไหน ก็ต้องเป็นทางตา เพราะเหตุว่ายังไม่หมดวาระวิถีจิตทางตา

    เพราะฉะนั้น จิตที่เกิดขึ้นเป็นชวนจิตได้ ก็เป็นอกุศลจิต กุศลจิต มหากิริยาจิต จิตเหล่านี้ทำชวนกิจ หลังจากเห็นแล้วเป็นอกุศลแล้ว ถ้ายังไม่พูดถึงทางมโนทวาร

    ผู้ฟัง เมื่อมีชวนะก็ต้องได้

    อ.วิชัย ขณะนั้นอกุศลจิตก็เกิดขึ้นทำชวนกิจแล้ว กุศลจิตเกิดขึ้นก็ทำชวนกิจแล้ว ดังนั้นวิถีจิตทางตา ขณะแรกคือปัญจทวาราวัชชนจิต หลังจากนั้นจักขุวิญญาณ หลังจาก นั้นสัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะ และชวนจิต ดังนั้นชวนจิตขณะนั้นถ้าไม่ใช่พระอรหันต์ก็ต้องเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิตซึ่งเกิดขึ้นทำชวนกิจ คือ เสพซ้ำๆ แล่นไปในอารมณ์ที่ปรากฏในขณะนั้นโดยความเป็นกุศล หรือโดยความเป็นอกุศล

    ผู้ฟัง อย่างนี้ก็ต้อง ๒ ทาง

    อ.วิชัย ทวารมีกี่ทางครับ

    ผู้ฟัง ๖ ทาง

    อ.วิชัย เป็นได้ทั้ง ๖ ทาง จะจำกัดเฉพาะโลภะทางตาได้ไหมครับ หรือทางใจอย่างเดียวได้ไหม ฟังเสียงที่ปรากฏ ชอบไหมครับ

    ท่านอาจารย์ จักขุทวารวิถีจิตคืออะไร วิถีจิตคือจิตที่รู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใจ ที่ไม่ใช่ปฏิสนธิจิต ไม่ใช่ภวังคจิต ไม่ใช่จุติจิต ซึ่งไม่ต้องอาศัยทางหนึ่งทางใดก็รู้อารมณ์ได้ เพราะฉะนั้น วิถีจิตต้องเป็นจิตที่อาศัยทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทาง เกิดขึ้นรู้อารมณ์ จึงเป็นวิถีจิต ถูกไหมคะ ไม่ใช่ปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ

    เพราะฉะนั้น จักขุทวารวิถีจิตคืออะไร โสตทวารวิถีจิตคืออะไร ฆานทวารวิถีจิตคืออะไร ชิวหาทวารวิถีจิตคืออะไร กายทวารวิถีจิตคืออะไร ทีละทวารก็ได้ เดี๋ยวนี้เลย เห็นไหมคะ กำลังมี แต่ไม่รู้ชื่อ และไม่รู้ความเป็นไปเป็นมา ความละเอียดของธรรมคืออย่างไร กำลังมีจักขุทวารวิถีจิต แต่ไม่รู้ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้น คำถามคือ จักขุทวารวิถีจิตคืออะไร

    ผู้ฟัง จิตที่รู้อารมณ์ทางตา

    ท่านอาจารย์ ทั้งหมดเลยใช่ไหมคะระหว่างรูปที่กระทบจักขุปสาทยังไม่ดับ จักขุปสาทยังไม่ดับ เพราะฉะนั้น จิตทั้งหมดที่อาศัยจักขุปสาทเป็นจักขุทวารวิถีจิตเกิดขึ้นเห็นรูปที่ยังไม่ดับ จึงเป็นจักขุทวารวิถีจิต

    เพราะฉะนั้น กุศล อกุศลเกิดได้ไหม ได้ เพราะเหตุว่าหลังจากที่ปัญจทวาราวัชชนจิตดับไป จักขุวิญญาณเกิดแล้วดับไป สัมปฏิจฉันนะเกิดแล้วดับไป สันตีรณะเกิดแล้วดับไป โวฏฐัพพนะเกิดแล้วดับไป รูปยังไม่ดับ เพราะฉะนั้น ที่เป็นจักขุทวารวิถีต้องเป็นขณะที่จิตนั้นเห็นรูปที่ยังไม่ดับ โดยอาศัยจักขุปสาท

    เพราะฉะนั้น จิตใดๆ ก็ตามที่สามารถรู้รูปที่ยังไม่ดับ โดยอาศัยจักขุปสาท จิตนั้นทั้งหมดเป็นจักขุทวารวิถีจิต ภวังค์เป็นจักขุทวารวิถีจิตหรือไม่คะ

    ผู้ฟัง ไม่ใช่ค่ะ เพิ่งจะเข้าใจละเอียดขึ้นเดี๋ยวนี้เอง กราบขอบคุณท่านอาจารย์ค่ะ

    ท่านอาจารย์ กุศลจิตที่ไม่ได้อาศัยจักขุปสาทเป็นมโนทวารวิถีหรือไม่

    ผู้ฟัง เป็นค่ะ

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไรคะ

    ผู้ฟัง ทางใจไม่ต้องอาศัยปัญจทวาร

    ท่านอาจารย์ เพราะขณะนั้นไม่ได้อาศัยจักขุปสาทที่รู้รูปที่ยังไม่ดับ เพราะฉะนั้น ทางมโนทวารวิถีสามารถรู้อารมณ์ได้ทุกอย่าง ไม่เว้น

    ผู้ฟัง เข้าใจขั้นฟังว่า สิ่งเหล่านี้ก็คือขณะนี้นี่เอง คือ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏให้รู้ได้ ๖ ทาง จริงๆ แล้วเป็นอย่างไรสำหรับปุถุชนผู้ได้สดับกับผู้ไม่ได้สดับ

    ท่านอาจารย์ พระพุทธเจ้าสอนให้จำชื่อ หรือให้เข้าใจธรรม

    ผู้ฟัง ให้เข้าใจธรรมที่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น พอได้ยินคำว่า ขันธ์ เป็นชื่อใช่ไหมคะ เข้าใจว่า ขันธ์คืออะไร ไม่ใช่จำชื่อว่า ขันธ์ นี่คือความละเอียด แสดงสิ่งที่มีในขณะนี้ทั้งหมดตามความเป็นจริง ถ้าสิ่งนั้นไม่มี ก็จะไม่แสดง เพราะเหตุว่าได้ยินคำว่า ขันธ์ แล้วได้ยิน ๕ คำ คือ ขันธ์ ๕ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ จำชื่อหรือรู้ว่า ขันธ์คืออะไร รูปขันธ์คืออะไร เวทนาขันธ์คืออะไร สัญญาขันธ์คืออะไร สังขารขันธ์คืออะไร วิญญาณขันธ์คืออะไร ถ้าจำชื่อ ไม่มีทางตรงกับพระธรรมที่ทรงแสดงเพื่อให้เข้าใจธรรม

    เพราะฉะนั้น ที่ทรงแสดงว่า ขันธ์ ในภาษาบาลี ก็หมายความถึงสิ่งที่มีนั้นต้องเกิด ถูกต้องไหมคะ เกิดแล้วดับหรือไม่ ขณะที่ดับแล้วเป็นอดีต ขณะที่ยังไม่เกิดเป็นอนาคต ขณะที่กำลังปรากฏเป็นปัจจุบัน นี่คือความหมายของขันธ์

    เพราะฉะนั้น ฟังเมื่อไรก็คือสิ่งที่มีในขณะนี้ เกิดแล้ว เป็นสภาพธรรมที่เป็นขันธ์ เพราะสิ่งนั้นเกิดแล้วก็ดับ เป็นทั้งอดีต ปัจจุบัน อนาคต เมื่อวานนี้ขันธ์เป็นปัจจุบัน และเป็นอดีต ขันธ์ที่ยังไม่เกิดเป็นอนาคตก็เกิด หมดไปแล้วเมื่อวานนี้ ทั้งหมดเป็นขันธ์ เพราะฉะนั้น วันนี้ก็เหมือนกัน ขณะนี้กำลังเป็นขันธ์ แต่ไม่ใช่จำชื่อขันธ์ แต่รู้ว่าใช้คำว่า “ขันธ์” หมายความถึงสิ่งที่มีในขณะนี้ เกิดแล้วดับ แค่นี้คือเริ่มเข้าใจความหมายของขันธ์ คือเข้าใจทุกคำที่ได้ยิน ไม่ใช่จำทุกคำที่ได้ยิน แต่สามารถเข้าใจความหมายของคำว่า “ขันธ์”

    เพราะฉะนั้น สิ่งที่มีในขณะนี้เกิดแล้วก็ดับเป็นขันธ์ แล้วอะไรที่เกิดแล้วดับในขณะนี้ สิ่งที่เกิดปรากฏโดยไม่ใช่สภาพรู้ มี เช่น เสียง เสียงเกิดแล้วเสียงก็ดับไป เพราะฉะนั้น เสียงก็ต้องเป็นขันธ์ มีจริงๆ เสียงที่ดับเมื่อกี้เป็นอะไรคะ เป็นอดีต เสียงที่เมื่อกี้ยังไม่ได้ปรากฏ แต่เกิดต่อจากอดีตนั้นก็เป็นปัจจุบัน ซึ่งก่อนนั้นเป็นอนาคต เพราะเหตุว่าสิ่งที่กำลังปรากฏยังไม่ได้ดับไปเป็นอดีต เพราะฉะนั้น สิ่งที่เป็นอนาคตจะเกิดไม่ได้

    เพราะฉะนั้น เวลาที่สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามซึ่งเกิดแล้วดับ เป็นอดีต และสิ่งซึ่งยังไม่เกิด แล้วเกิดต่อ ซึ่งเคยเป็นอนาคต ก็เกิดเป็นปัจจุบัน เพราะฉะนั้น ความหมายของทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดปรากฏในขณะนี้ ก็คือความหมายของธรรมซึ่งเกิดแล้วไม่เที่ยง สิ่งที่ปรากฏในขณะนี้ที่ไม่รู้อะไรเลยก็มี ขณะนี้เสียงปรากฏ เป็นขันธ์ไหม เกิดแล้ว แล้วก็ดับ แล้วก็มีสภาพธรรมที่เกิดสืบต่อเป็นอดีต เป็นปัจจุบัน เป็นอนาคต

    เพราะฉะนั้น สภาพธรรมทั้งหมดที่ไม่ใช่สภาพรู้ ไม่ว่าจะเป็นที่ไหนก็ตาม ภายใน ภายนอก อยู่ที่ไหนเมื่อไร ที่โลกอื่นมีขันธ์ไหมคะ มี นรกมีขันธ์ไหมคะ ก็ต้องมี แต่ไม่ใช่เรา เป็นธรรม

    เพราะฉะนั้น พอได้ยินคำว่า “ขันธ์” ต้องเข้าใจ ไม่ใช่เพียงแต่จำ รูปขันธ์ขณะนี้กำลังมี เพราะเหตุว่าการปรากฏเกิดขึ้นในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จะมีทั้ง ๕ ขันธ์ ไม่ขาดขันธ์หนึ่งขันธ์ใด แล้วแต่เราจะรู้หรือไม่รู้ เช่น ขณะนี้ที่กำลังเห็น มีสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นขันธ์หรือไม่ เป็น เกิดแล้วก็ดับด้วย เป็นรูปขันธ์ เพราะไม่ใช่สภาพรู้ จักขุปสาทเป็นรูป ไม่ใช่สภาพรู้ เกิดแล้วก็ดับไป เป็นขันธ์ด้วย

    เพราะฉะนั้น ขณะที่กำลังมีสิ่งที่ปรากฏทางตา หมายความว่า รูปที่ปรากฏเป็นรูปขันธ์ จักขุปสาทเป็นรูปขันธ์ จิตที่เห็นเป็นนามขันธ์ เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยก็เป็นนามขันธ์ ถ้าจะกล่าวถึงขันธ์ ๕ ในขณะที่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏ จักขุปสาทรูปกับสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นรูปขันธ์ แต่ต่างกัน ใช่หรือไม่

    นี่คือความหลากหลาย แม้เพียงใช้คำเดียวว่า “รูปขันธ์” แต่รูปก็นานา ต่างกันไปมากมาย เมื่อดับแล้วไม่กลับมาอีก เพราะฉะนั้น ก็ใหม่ทุกขณะ ไม่ว่าจะเป็นรูป ก็รูปใหม่ ไม่ใช่รูปเก่า นี่คือความไม่เที่ยงที่จะแสดงให้เห็นว่า ถ้าฟังแล้วสามารถเข้าใจจริงๆ ไม่มีเราเลย พระธรรมที่ทรงแสดงทั้งหมดเพื่อให้เห็นถูกต้องว่า หลงเข้าใจผิดยึดถือสภาพธรรมที่มีเพราะเกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็วว่าเที่ยง ไม่รู้ความจริงนั้น จึงยึดถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ทรงแสดงขันธ์ ๕ เพื่อให้เห็นว่า เป็นธรรมแต่ละอย่าง

    เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ที่กำลังเห็น ครบขันธ์ ๕ รูปขันธ์ก็มี เวทนาขันธ์ก็มี พอเห็นแล้วก็ต้องมีความรู้สึกอย่างหนึ่งอย่างใด รู้ไหมว่า กำลังเห็นความรู้สึกเป็นอะไร ถ้าไม่บอก ตำรายังไม่ได้อ่าน ยังไม่ได้ยิน แต่กำลังเห็นพอจะรู้ไหมว่า เฉพาะจิตที่เกิดขึ้นเห็น เป็นความรู้สึกประเภทไหน เพราะเหตุว่ามีความรู้สึกที่เป็นโสมนัส โทมนัส สุข ทุกข์ และ อทุกขมสุข ไม่สุขไม่ทุกข์ คืออุเบกขา เพราะฉะนั้น ชั่วขณะกำลังเห็น ความรู้สึกเป็นอย่างไร มีใครเป็นทุกข์บ้าง เห็นเท่านั้นเอง เกิดขึ้นเห็นจะเป็นทุกข์ไม่ได้ โสมนัสก็ไม่ได้โทมนัสก็ไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ความรู้สึกที่เกิดกับจิตเห็นจึงเป็นอุเบกขา มีทั้งรูปขันธ์ มีทั้งเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ก็จำในสิ่งที่ปรากฏ ถ้าสัญญาไม่จำในสิ่งที่ปรากฏ เมื่อจิตนั้นดับไปแล้วก็จะไม่รู้อะไรว่า สิ่งที่ปรากฏนั้นเป็นอะไร ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้น ขณะนั้นก็ต้องมีสัญญาเจตสิกเป็นสภาพจำเกิดร่วมด้วยกับจิต เพราะฉะนั้น ก็มีรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ แล้วก็มีเจตสิกอื่นที่เกิดร่วมด้วยเป็นสังขารขันธ์ แล้วก็มีจิตเป็นวิญญาณขันธ์ ก็ครบ ๕ ขันธ์ ชั่ว ๑ ขณะที่เกิดแล้วก็ดับไป

    ถ้าเข้าใจจริงๆ ก็จะเข้าใจ ไม่ว่าจะได้ยินคำว่า “ขันธ์” ที่ไหน โกรธเป็นขันธ์หรือไม่ เป็น เป็นรูปขันธ์หรือนามขันธ์ เป็นนามขันธ์ เป็นนามขันธ์อะไร สังขารขันธ์ ก็ต้องตอบตรง ถ้าพูดถึงปรมัตถ์ ก็ต้องเป็นจิต เจตสิก รูป ถ้าพูดถึงขันธ์ ๕ ก็คือรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์

    เพราะฉะนั้น เวลาฟังธรรมอยู่ที่ความเข้าใจ ถ้าเข้าใจแล้วตรงตามที่ทรงแสดงให้คนที่ฟังเริ่มเข้าใจถูกต้องว่า เป็นเพียงธรรม แล้วก็แยกโดยละเอียด โดยความเป็นรูปขันธ์หรือนามขันธ์ แม้นามขันธ์ ก็แยกโดยละเอียดว่า เป็นเวทนาขันธ์ หรือสัญญาขันธ์ หรือสังขารขันธ์ หรือวิญญาณขันธ์ แล้วจะมีเราที่ไหนในทุกๆ ขณะ

    เพราะฉะนั้น ถ้าฟังเข้าใจ ต่อไปนี้หมดความสงสัยเรื่องขันธ์ ใช่ไหมคะ

    ผู้ฟัง นั่นหมายถึงว่า ในการศึกษา ท่านอาจารย์จะเน้นย้ำเรื่องความเข้าใจ ฟังมากหรือน้อยไม่สำคัญเท่ากับเข้าใจ ซึ่งท่านอาจารย์จะอธิบายให้เราฟังต่างกับที่เคยเรียนมาว่ามีอะไรบ้าง แต่ท่านอาจารย์จะอธิบายว่า ขณะนี้เป็นขันธ์อย่างไร ซึ่งถ้าเข้าใจตามนี้ก็จะเห็นความไม่มีเรา แม้ขั้นฟัง อย่างนี้ก็เป็นการศึกษาที่ถูกต้อง ทำให้ปัญญาค่อยๆ เป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้เข้าใจธรรมตามความเป็นจริงมากขึ้น

    ท่านอาจารย์ ถ้าเข้าใจสังขารขันธ์ ก็ไม่มีเราทำอะไร ปัญญาเกิด ปัญญาก็ทำหน้าที่ของปัญญา ผัสสเจตสิกเกิดก็ทำหน้าที่ของผัสสเจตสิก ก็เป็นธรรมที่เกิดขึ้นทำกิจการงานของสภาพธรรมนั้นทั้งหมด รวดเร็วแค่ไหนค่ะ ชั่ว ๑ ขณะ สภาพธรรมตั้งหลายอย่างเกิดร่วมด้วยกันแล้วก็ดับไป

    ผู้ฟัง เดี๋ยวนี้เกิดอะไรขึ้นเพียงเล็กน้อย ก็รู้สึกโกรธโดยรวดเร็ว มันเป็นการสะสม ก็วนอยู่อย่างนี้ เหมือนกับไม่มีการคลาย ต้องไปฟังธรรมหรืออ่านหนังสือธรรม ถึงจะคลายลงไปได้ เพราะความคิดเห็นของเรากับของเขา ตั้งแต่เรื่องเล็กถึงเรื่องใหญ่ต่างกันโดยสิ้นเชิง ตอนนี้หนูอยู่ในสภาพที่อึดอัดมาก อยากจะออกจากตรงนี้ ก็ไม่มีใครมาช่วยดูแล

    ท่านอาจารย์ ก็ลืมว่าเป็นธรรม ถึงต้องฟังว่า ทั้งหมดนี้เป็นธรรม ไม่ว่าจะโกรธระดับไหนก็เป็นธรรม เมื่อวานนี้ก็มีท่านผู้หนึ่งที่เคยได้ยินคำที่ท่านลืม ท่านอยากจะจำ ท่านบอกว่า อะไรนะที่บอกว่า ทำไมถึงต้องเป็นอย่างนี้ อย่างคุณหมอ เวลาโกรธ บางครั้งก็โกรธมาก บางครั้งก็โกรธน้อย ทำไมถึงต้องเป็นอย่างนี้ คำตอบทุกคนตอบได้ใช่ไหมคะ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 173
    13 ม.ค. 2567