พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 576


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๗๖

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๒


    ท่านอาจารย์ เราพูดถึงกุศลวิบาก อกุศลวิบาก กุศลกรรม อกุศลกรรม แล้วมีคำว่า “มหาวิบาก” เพราะฉะนั้นมหาวิบากคืออะไร เพราะจริงๆ แล้ว ชื่อว่า “มหาวิบาก” เพราะเหตุว่าเราจะได้ยินว่า กุศลกรรม อกุศลกรรม กุศลกรรมเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลวิบาก อกุศลกรรมเป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลวิบาก นี่เป็นพื้นฐานขั้นต้น ต่อไปจะมีอีกหลายคำมากทีเดียว

    เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า วิบากต่างๆ ก็มีระดับขั้นของวิบากด้วย เพราะอกุศลมีอย่างเดียว ต่อให้หนักหนาสาหัสอย่างไรเป็นอกุศลแน่ๆ เพราะฉะนั้น ผลของอกุศล เปลี่ยนไม่ได้ เป็นอกุศลวิบาก แม้ว่าจะมีชื่ออื่น แต่ก็ไม่ได้หมายความถึงกุศลวิบาก แม้ว่าเป็นอกุศลวิบาก

    นี้ก็ไม่อยากให้สับสน แต่อยากให้ทราบว่า ชาติ หรือเรื่องการเกิดของธรรม ถ้ากล่าวโดยชาติ หมายความว่ากุศล หรืออกุศล หรือวิบากซึ่งเป็นผลของกุศล และอกุศล และกิริยา ซึ่งไม่ใช่ทั้งกุศล อกุศล และวิบาก เห็นหรือไม่ ใครจะรู้ เดี๋ยวนี้กำลังเป็นอย่างนี้ อกุศลมีไหม มี กุศลมีไหม มี อกุศลวิบากมีไหม กุศลวิบากมีไหม แต่ไม่เคยได้ยินคำว่า “กิริยา” ซึ่งจะเป็นสภาพของจิตประเภทหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่กุศล และอกุศล และไม่ใช่วิบากด้วย

    เพราะฉะนั้น สำหรับการกล่าวถึงจิตละเอียดขึ้นไปอีกนิดหนึ่งก็คือว่า จิตที่เกิดเป็นระดับต่างๆ เช่น จิตเห็น ใครไม่มีบ้าง จิตได้ยิน ใครไม่มีบ้าง ธรรมดา เกิดขึ้นธรรมดา อย่างไรๆ ก็ต้องเกิด เพราะฉะนั้น ระดับนี้เป็นระดับกามาวจรจิต หรือใช้คำว่า กามาวจร เป็นภาษาบาลี แต่คำว่า “กาม” หมายความถึงสภาพที่น่าพอใจ แล้ววันนี้เราพอใจอะไรบ้าง อาจจะไม่รู้จักชื่อ พอใจดอกไม้ พอใจอาหาร ทั้งหมดคือสิ่งที่ปรากฏให้รู้ได้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย

    เพราะฉะนั้น ๕ อย่างนี้เป็นกามคุณ หรือกาม เป็นระดับของกาม คือเป็นไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ซึ่งมีปัจจัยเกิดขึ้นเป็นปกติธรรมดา คนไม่ดีมีจิตประเภทนี้ไหม คือมีความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสิ่งที่กระทบสัมผัส แล้วคนดีที่ว่าเป็นคนดีก็ยังมีความพอใจในอะไร จะว่าคนดีไม่มีความพอใจในอะไรอย่างนั้นหรือ ตราบใดที่ยังมีกิเลส ไม่ทำชั่ว ไม่ได้ทำทุจริตกรรม ที่ใครๆ ว่าเขาดี แต่เขายังยินดีพอใจในรูปที่ปรากฏทางตา ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสิ่งที่กระทบสัมผัสหรือไม่

    เพราะฉะนั้น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ใช้คำว่า “โผฏฐัพพะ” หมายความถึงสิ่งที่สามารถกระทบกายปสาทปรากฏได้ทางกาย ก็มี ๕ อย่างที่เป็นกามคุณ เป็นที่พอใจยินดีระดับหนึ่งธรรมดา คือใครๆ ก็มี แล้วถ้าเป็นพระอริยบุคคลสามารถดับอกุศลตามลำดับขั้น พระอรหันต์ไม่มีกิเลสใดๆ ทั้งสิ้น สักอย่างเดียว ถ้ายังไม่ถึงความเป็นพระอรหันต์ เพราะเหตุว่ายังยินดีในภพ ในชาติ ในความเกิด

    เห็นไหม ถอยจากผู้ไม่มีกิเลส ไม่ว่าจะเห็นอะไร ได้ยินอะไร ไม่หวั่นไหว เสียงที่ปรากฏจะเป็นเสียงนินทา สรรเสริญอย่างไรก็ไม่หวั่นไหว ผู้ที่ดับกิเลส ไม่มีกิเลสใดๆ เป็นพระอรหันต์สูงสุด ต่ำจากนั้นก็คือเป็นผู้ยังยินดีในภพ ในความเกิด เกือบเป็นพระอรหันต์แล้ว แต่ยังพอใจ เพราะเหตุว่าบุคคลนั้นยังมีกุศลอยู่ ยังมีความสงบของจิตซึ่งไม่ได้ทำให้ตัวเองเดือดร้อนหรือเป็นทุกข์

    เพราะฉะนั้น ตราบใดที่ยังไม่ได้ดับความยินดีในภพ อย่างเราบอกว่า เกิดมาสุขสบาย หรือเกิดอีกขอให้สบาย เป็นเศรษฐีมั่งมี มีลาภ มียศ มีสรรเสริญ แต่ก็มีทุกข์เมื่อไม่ได้สิ่งต่างๆ เหล่านี้ เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นต้น เดือดร้อนเพราะสิ่งต่างๆ เหล่านี้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ยังไม่เห็นอย่างนี้ ก็ยังติดข้องต้องการอยู่ แต่ผู้ที่ต่ำกว่า พระอรหันต์ เป็นพระอนาคามีบุคคล ไม่มีเยื่อใยติดข้องในสิ่งที่เคยติดข้องมาก่อน คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่ยังมีความอาลัย ความยินดีในความเป็น แม้ว่าไม่ยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ สบายไหม ต้องสบายแน่นอนกว่าผู้ที่ยังติดข้อง

    เพราะฉะนั้น ยังเหลืออะไรไหมที่ยังเป็นทุกข์อยู่ ยังเหลือความยินดีในภพ ในความเป็น แม้ว่าไม่ยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น ผู้นั้นไม่ถึงความเป็นพระอรหันต์ ไม่มีความติดข้อง แต่ยังยินดีในความเป็นพระอนาคามี เป็นผู้สงบจากความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นพระอนาคามีบุคคล

    ต่ำกว่านั้นอีก กิเลสก็ไม่เหมือนปุถุชน แต่ก็ยังติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ แสดงว่าละยากไหม ยากมากแต่ว่าบางลง เห็นหรือไม่ ความพอใจของแต่ละคนจะเห็นว่า หนาแน่นถึงกับทุจริตกรรมก็มี หรือเบียดเบียนคนอื่นไม่ใช่ด้วยกาย ด้วยวาจา ก็ยังด้วยใจก็ยังมี แต่สำหรับผู้ที่เป็นพระสกทาคามี มีความติดข้อง ยังไม่หมดความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่ว่าบางเบากว่าผู้ที่ไม่ใช่พระสกทาคามี

    นี่คือพระอริยบุคคลซึ่งต่ำกว่าพระอนาคามี และต่ำกว่าพระสกทาคามีบุคคลจะติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะหรือไม่ ในเมื่อพระสกทาคามียังพอใจ แต่ว่าบางเบากว่าบุคคลอื่น เพราะฉะนั้น สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระสกทาคามี เป็นพระโสดาบัน รู้แจ้งอริยสัจธรรมดับกิเลสที่เป็นความเห็นผิด ความสงสัย ความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ไม่ว่าสภาพธรรมใดๆ ปรากฏ รู้ความจริงนั้นกว่าจะถึงพระโสดาบัน เพราะฉะนั้น ไม่มีทางเห็นผิด และยึดถือสภาพธรรมนั้นว่า เป็นเรา หรือเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยงได้ แต่ยังไม่สามารถละความติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะได้ จึงเป็นพระโสดาบัน ไม่ใช่พระสกทาคามี พระสกทาคามีก็ไม่ใช่พระอนาคามี พระอนาคามีก็ไม่ใช่พระอรหันต์

    เพราะฉะนั้น ระดับปกติธรรมดาก็คือภูมิที่มีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นกาม จิตใดที่เป็นไปกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จิตนั้นคือกามาวจรจิต ไม่พ้นจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

    ด้วยเหตุนี้อกุศลเป็นกามาวจรจิตหรือไม่ เป็น กุศลเป็นไปในทาน ศีล เป็นกามาวจรจิต ก็ยังเป็นไปกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น ก็เป็นภูมิระดับขั้นที่ต่ำ เป็นปกติธรรมดา พ้นไปไม่ได้เลยนอกจากมีปัญญาเมื่อไร ก็จะพ้นจิตที่เป็นกามาวจรจิต

    เพราะฉะนั้น คำว่า “มหาวิบาก” หรือมหากุศล ก็หมายความถึงกุศลประเภทนี้ สามารถเป็นไปโดยการให้ทานก็ได้ สละวัตถุที่เป็นประโยชน์สุขแก่บุคคลอื่น เป็นไปในศีล วิรัติทุจริต ไม่ว่าเสียงนั้นจะไม่น่าฟัง เป็นเสียงค่อยแคะ ด่าว่า หรืออะไรก็ตามแต่ ขณะนั้นก็เป็นจิตที่สามารถอดทน เห็นใจในความเป็นอกุศลของบุคคลนั้น มีเมตตาว่า เขาเป็นอกุศล มีทางไหนที่จะช่วยให้เขาเข้าใจธรรม เป็นกุศลได้ ขณะนั้นจิตนั้นเป็นกุศลที่เป็นไปในเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย

    เพราะฉะนั้น ตราบใดที่เป็นกุศลที่เป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่หลากหลายเป็นทานก็ได้ เป็นศีลก็ได้ อุทิศส่วนกุศลให้คนอื่นก็ได้ ช่วยเหลือก็ได้ หรือมีเมตตากรุณาในบุคคลอื่น ทั้งหมดเป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จึงมีอีกชื่อหนึ่งสำหรับกุศลว่า มหากุศล ก็คือกามาวจรกุศล กุศลที่เป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่ใช้คำว่า “มหากุศล” เพราะสามารถเกิดได้ทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งกุศลอื่น อย่างรูปาวจรกุศล อรูปาวจรกุศล โลกุตตรกุศลเกิดได้เฉพาะทางใจ

    นี่แสดงให้เห็นว่า ความหลากหลายของจิตมีมาก แต่ปกติในชีวิตประจำวันไม่พ้นจากกาม รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ คิดถึงอะไร ก็คือกาม คนนี้เป็นอะไร คือสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะฉะนั้นจะไม่พ้นจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

    สำหรับอกุศล ต้องใช้คำว่า มหาอกุศลหรือไม่ แต่สำหรับกุศลหลากหลายมาก ด้วยเหตุนี้แทนที่จะกล่าวถึงทานบ้าง ศีลบ้าง ก็เป็นมหากุศล แต่ระดับขั้นก็คือกามาวจรกุศล สำหรับอกุศล ก็เป็นกามาวจรจิต แต่ไม่ใช่กุศล

    ด้วยเหตุนี้ได้ยินคำว่าอะไร ก็ต้องเข้าใจให้ถูกต้อง มหากุศลก็คือกามาวจรกุศล แต่ใช้คำนี้ เพราะสามารถเกิดได้ทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย สามารถเป็นไปในทาน ศีล ภาวนาก็ได้ ด้วยเหตุนี้พอพูดถึงมหากุศล ไม่ใช่กุศลระดับที่สูงกว่าขั้นกาม ใช้คำว่า กามาวจรกุศลได้ไหม ได้ ใช้คำว่า มหากุศลได้ไหม ได้ ถ้าเข้าใจแล้วไม่มีปัญหา

    ขอเชิญคุณคำปั่นให้ความหมายของคำว่า “กามาวจร” ค่ะ

    อ.คำปั่น คำว่า “กามาวจร” ก็มีคำหลายคำ คือ กาม คือสิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ไม่พ้นไปจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อีกคำหนึ่งคือ อวจระ แปลว่า ท่องเที่ยว เป็นไป รวมกับจิต ก็เป็นกามาวจรจิต จิตที่ท่องเที่ยวเป็นไปในกาม คือ ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

    ท่านอาจารย์ ฝันเป็นจิตอะไร

    ผู้ฟัง ฝันเป็นจิตที่คิด

    ท่านอาจารย์ เมื่อสักครู่เรากำลังพูดถึงอะไร

    ผู้ฟัง พูดถึงกามาวจรจิต

    ท่านอาจารย์ ฝันเป็นอะไร

    ผู้ฟัง เป็นกามาวจรจิต

    ท่านอาจารย์ ไม่น่าสงสัยเลย แต่ละคนทุกวัน เห็น ได้ยิน พ้นไปไม่ได้ ยังไม่ถึงจิตอีกระดับหนึ่ง พ้นจากระดับของกามาวจร ซึ่งต้องเป็นการละอกุศลด้วยปัญญา ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะแต่ละขั้นถึงจะถึงรูปาวจรจิต อรูปาวจรจิต โลกุตตรจิต

    ไม่ทราบยังมีใครสงสัยเรื่องกามาวจรวิบากบ้างไหม กามาวจรวิบากเป็นผลของกรรมที่เป็นไปกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะระดับกาม จะไปให้ผลสูงกว่าระดับนี้ไม่ได้

    เพราะฉะนั้น กามาวจรวิบากเป็นผลที่ถึงแม้จะเป็นขณะไหนก็ตาม ก็ต้องเป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เกิดบนสวรรค์มีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะหรือไม่ มี เกิดเป็นมนุษย์ ผลของกุศลกรรมก็ไม่พ้นจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

    เพื่อให้ชัดเจนอีกว่า แม้กุศลเป็นกามาวจรกุศล แล้วใช้คำว่า “มหาวิบาก” เพราะกุศลนี้หลากหลายมาก เป็นไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจได้ เป็นทาน ศีล ภาวนาก็ได้ แต่แม้กระนั้นการให้ผลต่างจากอกุศล เพราะเหตุว่าอกุศลเมื่อกระทบลงไปแล้ว จะเป็นทุจริตกรรมระดับไหนก็ตาม ทางกาย ทางวาจา ถึงขั้นอนันตริยกรรมก็ตาม กรรมที่หนักมากที่กรรมอื่นไม่สามารถให้ผลก่อน จากโลกนี้ไปแล้ว กรรมนั้นเป็นอนันตริยะ หมายความว่ามีผลสืบต่อทันที กรรมอื่นคั่นไม่ได้ แต่ผลของอกุศลกรรมซึ่งหลากหลายมาก เป็นไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ให้ผลเป็นจิต ๗ ดวง หรือ ๗ ประเภท คือจะต้องรู้ด้วยว่า ไม่ว่าจะเป็นอกุศลกรรมหนักหนาประการใดก็ตาม หรือเล็กน้อยประการใดก็ตาม เมื่อให้ผล ให้ผลเป็นอกุศลวิบาก ๗ ไม่เกินเจ็ด ไม่ว่าจะในภพภูมิไหนก็ตาม บนสวรรค์ถ้ามีอกุศลวิบากก็ ๑ ใน ๗ เจ็ดนั้นคืออะไร ๗ ประเภทของจิต คือ เห็น ๑ ได้ยิน ๑ ได้กลิ่น ๑ ลิ้มรส ๑ รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ๑ ไม่ดีทั้งหมด เป็น ๕ อีก ๒ คือ เมื่อเห็นดับไปแล้ว วิบากคือผลของกรรมทำให้จิตที่เกิดต่อ เป็นวิบากที่รับอารมณ์นั้นต่อ ภาษาบาลีใช้คำว่า สัมปฏิจฉันนจิต เป็นอกุศลวิบาก แล้วอีก ๑ คือ เมื่อสัมปฏิจฉันนจิตรับอารมณ์ดับไปแล้ว จิตที่เกิดต่อไม่ได้ทำสัมปฏิจฉันนกิจ คือไม่ใช่รับอารมณ์ต่อจากจักขุวิญญาณ ภาษาบาลีใช้คำว่า สันตีรณจิต เพราะทำสันตีรณกิจ เพราะไม่ได้รับอารมณ์ต่อจากจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณเหล่านั้น เมื่อจิตรับต่อแล้ว สันตีรณะก็พิจารณา ใครจะรู้คะ หนึ่งขณะจิต เพราะพอภาษาไทยเราใช้คำว่า พิจารณา หนึ่งขณะจิตจะไปพิจารณาอะไร ในความรู้สึกของเราก็ต้องนาน แต่สำหรับจิตที่ทำกิจนี้ให้ทราบว่า ไม่ได้ทำสัมปฏิจฉันนะ แต่ทำกิจรู้อารมณ์นั้นต่อจากนั้น ก็คือใช้คำว่า สันตีรณกิจ เท่านี้เป็นผลของอกุศลกรรม

    เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ สามารถรู้ด้วยตัวเองว่า เป็นผลของกุศลกรรมมาก หรือเป็นผลของอกุศลกรรมมาก เพราะฉะนั้น เวลาที่อกุศลกรรมให้ผล ทำให้ปฏิสนธิเกิดด้วย ใน ๗ อะไรทำกิจปฏิสนธิ จักขุวิญญาณเห็นอย่างเดียว โสตวิญญาณได้ยินอย่างเดียว ฆานวิญญาณได้กลิ่นดับ ชิวหาวิญญาณลิ้มรสดับ สัมปฏิจฉันนะรับต่อ เหลือ ๑ สันตีรณจิตทำกิจปฏิสนธิได้ในอบายภูมิทั้งหมด เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน จะน่ารัก สวยงาม ในทะเล เป็นนกหรืออะไรก็ตาม เป็นช้างตัวใหญ่ เป็นมดตัวเล็ก ปฏิสนธิจิตคือสันตีรณจิตที่เป็นอกุศลวิบาก เวทนาที่เกิดร่วมด้วยเป็นอุเบกขา

    เพราะฉะนั้น จะมีคำว่า อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก ถ้าเข้าใจอย่างนี้ ได้ยินแล้วจะสงสัยไหม ก็รู้ว่าจิตนี้มีความรู้สึกที่ไม่สุขไม่ทุกข์เกิดร่วมด้วย อุเบกขาสหคตัง อุเบกขาสันตีรณะ ไม่ใช่จิตเห็น ไม่ใช่จิตได้ยิน ไม่ใช่จิตได้กลิ่น ไม่ใช่จิตลิ้มรส ไม่ใช่จิตที่รู้กระทบสัมผัสกาย และไม่ใช่สันตีรณะ เพราะอกุศลวิบากมีแค่ ๗ เท่านั้น เพราะฉะนั้น ขณะใดก็ตามที่มีสัตว์เกิดเป็นเดร้จฉาน เกิดในอบาย เกิดเป็นเปรต อสุรกาย ทั้งหมดปฏิสนธิด้วยจิตนี้เท่านั้น หนึ่งขณะ ไม่หลากหลายสำหรับประเภทของอกุศลกรรม กรรมหนักกรรมเบาทั้งหมด แต่เวลาให้ผลจิตที่ปฏิสนธิจิตก็คือ อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก ดีกว่านี้ไม่ได้ อย่างไรๆ ก็แค่นี้ ที่มี ๗ และใน ๗ ก็นี้ที่ทำกิจปฏิสนธิได้

    เมื่อทำปฏิสนธิกิจดับแล้ว จิตนี้ก็ทำภวังคกิจ ซึ่งเวลาเป็นผลของกุศลกรรม ไม่ใช่จิตนี้ทำปฏิสนธิ ไม่ใช่จิตนี้ทำภวังค์ และหลังจากนั้นก็เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ๕ ประเภทใน ๗ ประเภทก็เกิดขึ้นทำงานเป็นวิถีจิตที่จะรู้อารมณ์ทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แม้สันตีรณะที่รู้อารมณ์ที่ไม่ดีก็ต้องเกิดต่อจากสัมปฏิจฉันนะ แต่ไม่ได้ทำปฏิสนธิกิจ ไม่ได้ทำภวังคกิจ เพราะรู้อารมณ์ต่อจากสัมปฏิจฉันนจิต จึงทำสันตีรณกิจ จะทำภวังคกิจ ปฏิสนธิกิจ และจุติกิจขณะที่เป็นปฏิสนธิ เป็นภวังค์ เป็นจุติ แต่เวลาอื่นทำสันตีรณกิจ

    เพราะฉะนั้น ๗ ดวงก็แล้วแต่ว่าจะเป็นวาระที่เห็น หรือวาระที่ได้ยิน วาระที่ได้กลิ่น วาระที่ลิ้มรส วาระที่กระทบสัมผัส แค่ ๗ เพียง ๗ แต่ไม่มีใครอยากได้ สักหนึ่งก็ไม่อยากได้ มีน้อยมาก แต่ก็ไม่เอา ไม่อยากได้ ไม่ต้องการ แต่แล้วแต่กรรม ถ้าทำแล้วที่จะไม่ให้วิบาก ที่เป็นอกุศลวิบากเกิดไม่ได้

    จบเรื่องของอกุศลกรรม และอกุศลวิบาก เล็กน้อยใช่ไหม

    อกุศลจิตมี ๑๒ ให้ผลเป็นอกุศลวิบาก ๗ แต่เรื่องของกุศลมากกว่านั้น เพราะแม้แต่เรื่องการทำกุศลก็ยังทำได้ ทางใจก็ได้ กำลังศึกษาธรรมเป็นกุศลหรือไม่ เป็นกรรมหรือไม่ ให้ผลเป้นวิบากหรือไม่ แต่ว่าความหลากหลายของกุศลมีมาก

    เพราะฉะนั้น เป็นกามาวจรกุศล ผลของกามาวจรกุศลก็ให้ผลเป็นมหาวิบาก และ อเหตุกวิบาก นี่คือความต่างของกามาวจรกุศลวิบาก ให้ผล ๒ อย่าง คือ ประเภทหนึ่งประกอบด้วยเหตุ ใช้คำว่า “มหาวิบาก” ซึ่งอาจจะมีอโลภะ อโทสะเกิดร่วมด้วย โดยไม่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    แสดงให้เห็นผลของกุศลในอดีตของคนที่เกิดเป็นมนุษย์ มีทรัพย์สินมากมาย แต่ไม่มีปัญญา หรือสะสมมาที่จะเข้าใจธรรมคลาดเคลื่อนก็เป็นได้ นี่ก็คือความต่างว่า แม้แต่กุศลก็วิจิตร การฟังธรรม ฟังด้วยความเข้าใจ หรือฟังเพราะสบายใจดี ไม่ต้องไปฟังเสียงอื่น ฟังเพราะต้องการลาภ ยศ สรรเสริญ หรือฟังด้วยความนอบน้อมว่า มีโอกาสได้ฟังเพื่อเข้าใจถูก เห็นถูก ซึ่งยากที่จะเห็นได้ ถ้าไม่ได้บำเพ็ญกุศลมา ไม่มีโอกาสแม้จะได้ฟัง มีโอกาสได้ฟังแล้วก็ไม่มีโอกาสเข้าใจโดยละเอียด แม้เข้าใจโดยละเอียด ก็ยังไม่ถึงการรู้แจ้งสภาพธรรมที่ได้เข้าใจ เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นความหลากหลายมาก

    ด้วยเหตุนี้จึงเห็นความต่างของอกุศลกรรมกับกุศลกรรม แม้ในขั้นของกามาวจรว่า กุศลกรรมให้ผลหลากหลาย คือ ให้วิบากทั้งที่เป็นทั้งอเหตุกะ ไม่ประกอบด้วยเหตุใดๆ ทั้งสิ้น เป็นการที่กรรมนั้นทำให้ถึงการประจวบกัน ถึงกาลที่จะต้องเห็น ถ้าไม่มีรูปเกิดกระทบปสาท ถ้าเป็นทางตา ถ้าสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ไม่เกิด และไม่กระทบกับจักขุปสาท และจิตเห็นไม่เกิด รูปนี้ปรากฏไม่ได้ แล้วผลของกรรมจะมีไหม ทั้งๆ ที่รูปมี รูปดีก็มี รูปไม่ดีก็มี ถึงกาลที่กรรมใดจะให้ผล ต้องเป็นเพราะจิตที่เป็นวิบากเกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้น ผลของกรรมที่ต้องการกันมาก คืออยากจะได้รูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม ทั้งหมดก็ต้องมีเหตุที่ได้กระทำแล้ว คือกุศล ให้ผลเป็นจิตที่ไม่ต้องประกอบด้วยเหตุเลย เป็นการเกิดขึ้นประจวบกันของรูปซึ่งยังไม่ดับ และถึงกาลที่กรรมนั้นจะให้ผลทางตา จิตเห็นเกิดขึ้น ถ้ารูปนั้นเป็นรูปที่น่าพอใจ จิตเห็นเป็นกุศลวิบาก ถ้าเป็นรูปที่ไม่น่าพอใจ จิตเห็นก็เป็นอกุศลวิบาก ยับยั้งไม่ได้ อย่างที่กล่าวว่ามีการเห็นที่ไหน การกระทบอะไร หูได้ยินเสียงอะไร ก็เป็นสิ่งซึ่งก่อนจะขึ้นรถไม่หวังว่า จะได้ยินเสียงต่างๆ เหล่านี้ แต่ก็มีเหตุปัจจัยที่ทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น

    สำหรับทางฝ่ายกุศล ให้ผลเป็น ๒ ประเภท คือ วิบากที่ประกอบด้วยเหตุ อโลภะ อโทสะ หรือประกอบด้วยอโลภะ อโทสะ และปัญญาเจตสิกซึ่งเป็นอโมหะประเภทหนึ่ง และผลเป็นวิบากที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยเช่นเดียวกับอกุศลวิบาก เพราะอกุศลวิบาก จิตเห็นไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย

    ด้วยเหตุนี้ก็ทำให้เราสามารถเข้าใจว่า วิบากมี ๒ อย่าง


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 173
    14 ม.ค. 2567