พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 599


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๙๙

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๒


    ท่านอาจารย์ การศึกษาธรรมต้องละเอียดว่าจักขุวิญญาณเข้าใจแล้วว่า หมายความถึงจักขุวิญญาณที่ไม่ใช่สัมปฏิจฉันนะที่เกิดต่อ ไม่ใช่ปัญจทวาราวัชชนจิตที่เกิดก่อน แต่เป็นจิตที่เกิดทำทัสนกิจ ที่มีสิ่งที่ปรากฏชัดเจนในขณะนี้ เพราะจิตเห็นเกิดขึ้น ส่วนจิตอื่นไม่ได้ทำทัสนกิจ แต่รู้อารมณ์เดียวกันสืบต่อแต่ไม่ใช่ทัสนกิจ เห็นความต่างของกิจของจิต และการที่จิตใดทำกิจใดก็เป็นไปตามกิจนั้นๆ เท่านั้นเอง จักขุวิญญาณรู้อะไร

    ผู้ฟัง รู้รูป

    ท่านอาจารย์ ภาษาบาลีคืออะไร

    ผู้ฟัง รูปารมณ์

    ท่านอาจารย์ รูปารมณ์เป็นรูป รูปหมายความถึงสภาพที่ไม่รู้อะไร แต่ถ้าใช้คำว่า “รูปารมณ์” หมายความถึงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ทางตา เพราะรูปมีความหมายหลายอย่าง ขณะนี้มีรูปารมณ์ปรากฏหรือไม่

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ แต่เมื่อสักครู่บอกว่าอะไร เห็นอะไร

    ผู้ฟัง เห็นคน สัตว์ สิ่งของ

    ท่านอาจารย์ เห็นคน แสดงว่ารู้จักรูปารมณ์หรือยัง

    ผู้ฟัง ยังไม่รู้จัก

    ท่านอาจารย์ การศึกษาธรรมต้องรู้จริงๆ ฟังชื่อ เรียนชื่อ รู้จักชื่อ แต่จักขุวิญญาณเห็นรูปารมณ์ จักขุวิญญาณเห็นคนได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ จักขุวิญญาณเห็นเฉพาะสิ่งที่ปรากฏให้เห็นแล้วดับ เพราะฉะนั้นต้องมีสิ่งที่ปรากฏแน่นอน เป็นธรรมอย่างหนึ่ง ถ้ายังไม่ดับไป สัมปฏิจฉันนะรับรู้คนได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ต้องรู้เฉพาะสิ่งที่ปรากฏทางตา นิดเดียว สั้นมาก ยังไม่ทันเป็นอะไรทั้งสิ้น เป็นแต่สิ่งที่สามารถกระทบจักขุปสาท ถ้าจะกล่าวจริงๆ ความรวดเร็วเหมือนกับว่าเพียงปรากฏแล้วดับไป เพราะฉะนั้นกำลังเห็นคน ไม่ใช่จักขุทวารวิถี ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ ที่ว่าเห็นคน เป็นทวารไหน

    ผู้ฟัง เป็นมโนทวาร

    ท่านอาจารย์ อย่างนี้ตอบได้ ใช่ไหม เพราะฉะนั้นการจะแนะให้คนตอบ ไม่ยาก แต่ที่จะให้เข้าใจ ไม่สับสน ให้รู้จริงๆ ยากมาก ต้องเป็นความเข้าใจจริงๆ อย่างละเอียดด้วย แม้จะใช้คำว่า “วิถี” แม้จะใช้คำว่า “ทวาร” แม้จะใช้คำว่า “เห็นคน” แม้จะใช้คำว่า “จักขุวิญญาณเห็นอะไร” ทบทวนอีกครั้ง จักขุวิญญาณเห็นอะไร

    ผู้ฟัง เห็นรูป รูปารมณ์

    ท่านอาจารย์ คืออะไร

    ผู้ฟัง เป็นอารมณ์ที่เกิดจากรูป รูปกระทบกับปสาทตา

    ท่านอาจารย์ เห็นหรือไม่ ถ้าไม่กล่าวถึงชื่อจะเข้าใจง่ายกว่า จิตเห็น เห็นอะไร เห็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้เท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น ขณะที่บอกว่าเห็นคน ไม่ใช่จิตเห็นแน่นอน เพราะจิตเห็น เห็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ และดับไปเร็วแค่ไหนจึงเห็นเป็นคนได้ คิดดู สภาพธรรมต้องเกิดดับสืบต่อทางทวารแต่ละทวารโดยรวดเร็ว โดยมีภวังค์คั่น แยกเป็นแต่ละทวารจริงๆ จนกว่าจะเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏว่า ไม่ใช่เรา ไม่ใช่รวมๆ กันแล้วจะเอาเราออกไป ได้อย่างไร หรือว่าสับสนก็ไม่สามารถเอาเราออกไปได้ แต่ยิ่งรู้ละเอียด เข้าใจละเอียด ก็ยิ่งเห็นความเป็นอนัตตาว่า เป็นสิ่งซึ่งไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน ถ้าเข้าใจละเอียดก็จะเข้าใจถึงจิตที่เกิดดับสืบต่อ คลายความสงสัยหรือยัง

    ผู้ฟัง คลายแล้ว ขอบพระคุณมาก

    อ.คำปั่น การศึกษาธรรมเป็นเรื่องละเอียดมาก ในชีวิตประจำวันไม่พ้นไปจากจิต เมื่อจิตเกิดขึ้นต้องรู้อารมณ์ ไม่มีขณะใดที่ไม่รู้อารมณ์ เพราะขณะของชีวิตเป็นจิต ถ้าหากจะกล่าวถึงชีวิตของแต่ละคนแล้ว ในขณะปัจจุบันนี้ก็มีเพียงแค่จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ และยังมีจิตอีกประเภทหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นโดยไม่อาศัยทวารทั้ง ๖ นี้ เพราะฉะนั้น ในชีวิตประจำวันจึงมีวิถีจิตเกิดขึ้นสลับกับภวังคจิตเท่านั้น เพราะว่าปฏิสนธิจิตก็เกิดขึ้นขณะแรก และจุติจิตก็ยังไม่เกิดขึ้น จึงมีแต่วิถีจิตสลับกับภวังคจิต

    ท่านอาจารย์ ขอสนทนาเพิ่มเติมได้ไหม

    ผู้ฟัง ที่ถามว่า ขณะนี้ไม่มีกลิ่น

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้ไม่มีกลิ่น แล้วมีจิตไหม

    ผู้ฟัง มีจิต

    ท่านอาจารย์ มีจิต จิตต้องรู้อะไรหรือไม่เมื่อเกิดขึ้น จิตเกิดแล้วไม่รู้อะไรได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นที่กล่าวว่า ขณะนี้ไม่มีกลิ่น แต่มีจิต ถูกต้องไหม เพราะฉะนั้นจิตที่ไม่มีกลิ่นปรากฏ จิตนั้นเป็นสภาพรู้หรือไม่

    ผู้ฟัง เป็นสภาพรู้

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้น จิตรู้อะไร

    ผู้ฟัง ไม่ทราบว่ามีอะไรเป็นอารมณ์

    ท่านอาจารย์ ขณะที่ไม่ทราบว่ามีอะไรเป็นอารมณ์ และขณะนั้นมีจิต แต่ทำไมไม่รู้ว่ามีอะไรเป็นอารมณ์ ทั้งๆ ที่มีจิต

    ผู้ฟัง สภาพที่ไม่มีกลิ่นเป็นอารมณ์

    ท่านอาจารย์ ไม่มีกลิ่นเป็นอารมณ์ แล้วมีจิตไหม

    ผู้ฟัง มีจิต

    ท่านอาจารย์ แล้วขณะนั้นจิตต้องรู้อะไรหรือไม่ เพราะจิตต้องเป็นสภาพรู้ ใช่ไหม จิตจะเกิดโดยไม่รู้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นขณะที่ไม่มีกลิ่นเป็นอารมณ์ แต่มีจิต จิตขณะนั้นรู้อะไร

    ผู้ฟัง รู้ว่าไม่มีกลิ่น

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นจิตรู้ว่า ไม่มีกลิ่น คิดหรือไม่

    ผู้ฟัง ถ้าลองน้อมไปเพื่อจะดมกลิ่น ก็ไม่มีกลิ่นปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ยังไม่ถึงตอนนั้น เพียงแต่กล่าวว่า ขณะนี้ไม่มีกลิ่นแล้วจิตรู้อะไร คำถาม ขณะที่มีจิตเกิดขึ้น จิตเป็นสภาพรู้ ขณะที่ไม่มีกลิ่นปรากฏ แสดงว่าจิตไม่ได้รู้กลิ่น แต่จิตต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดเพราะเป็นสภาพรู้ ขณะนั้นจิตรู้อะไรที่ไม่ใช่กลิ่น เพราะจิตต้องรู้ และยังมีจิต

    ผู้ฟัง รู้ว่าไม่มีกลิ่น

    ท่านอาจารย์ คิดใช่ไหมว่า ไม่มีกลิ่น หรืออย่างไร

    ผู้ฟัง คิดจากจมูกที่ไม่ได้กลิ่น

    ท่านอาจารย์ นอนหลับสนิท มีกลิ่นปรากฏไหม

    ผู้ฟัง กลิ่นไม่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ขณะที่กลิ่นไม่ปรากฏ มีจิตไหม

    ผู้ฟัง ต้องมี

    ท่านอาจารย์ และจิตขณะที่กลิ่นไม่ปรากฏ จิตนั้นรู้อะไร ขณะนอนหลับสนิทกลิ่นปรากฏหรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ มีจิตไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ และจิตขณะที่กลิ่นไม่ปรากฏขณะที่นอนหลับสนิท จิตขณะที่นอนหลับสนิท กลิ่นไม่ปรากฏ จิตนั้นรู้อะไร เวลาที่ไม่มีกลิ่นปรากฏ มีจิตไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ มีแน่นอน ตั้งแต่เกิดจนตายมีขณะไหนที่ไม่มีจิตบ้าง

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ ไม่มี ต้องมีจิต เพราะฉะนั้นขณะที่กลิ่นไม่ปรากฏ แสดงว่าจิตไม่ได้รู้กลิ่น ถูกต้องไหม และขณะที่นอนหลับสนิท กลิ่นปรากฏหรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นจิตรู้อะไร

    ผู้ฟัง ไม่ทราบว่ารู้อะไร

    ท่านอาจารย์ ทำไมไม่รู้ว่า อารมณ์นั้นเป็นอะไร

    ผู้ฟัง เพราะว่าไม่รู้

    ท่านอาจารย์ เพราะขณะนั้นไม่ได้อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะฉะนั้นจิตที่ไม่อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คือ ปฏิสนธิจิต เกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย ไม่ต้องอาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และอารมณ์ของปฏิสนธิก็คืออารมณ์ของจิตใกล้จะตายของชาติก่อน เพราะขณะนี้ทางตาที่เห็นดับไปแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่นแล้ว มโนทวารวิถีจิตรู้อารมณ์เดียวกัน แยกไม่ออกเลย แข็งกำลังปรากฏ กายวิญญาณกำลังรู้แข็ง เวลาที่แข็งดับไป ภวังค์เกิดสืบต่อดำรงภพชาติ มโนทวารรู้แข็งต่อจากกายทวาร ไม่ว่าทวารหนึ่งทวารใดจิตเกิดขึ้นรู้ ภวังค์เกิดคั่นแล้ว มโนทวารต้องเกิดขึ้นรับรู้ต่อ เพราะฉะนั้นปกติที่ยังไม่ตายก็เป็นอย่างนี้ เวลาจุติจิตเกิด ปฏิสนธิจิตก็มีอารมณ์เดียวกับอารมณ์ใกล้จุติของชาติก่อน นัยเดียวกัน เหมือนก่อนจะตาย ไปเอาอารมณ์อื่นมาไม่ได้ ใช่ไหม เหมือนกับเสียงดับไป ภวังค์เกิดคั่น มโนทวารวิถีจิตก็รู้เสียงเดียวกันต่อ ฉันใด เวลาที่จิตใกล้จะตายมีอารมณ์อะไร เวลาจุติจิตดับเคลื่อนภพชาติความเป็นบุคคลนั้น ปฏิสนธิจิตก็รับรู้อารมณ์ของจิตใกล้จะตายนั้น จึงไม่เป็นอารมณ์ที่ต้องอาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจในโลกนี้ ด้วยเหตุนี้อารมณ์นั้นจึงไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้นจิตที่เกิดโดยอารมณ์ไม่ปรากฏก็คือ ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต และจุติจิต

    ตอบคำถามได้แล้วใช่ไหมที่ถามว่า ขณะกลิ่นไม่ปรากฏ แล้วจิตรู้อะไร

    ผู้ฟัง ก็รู้อารมณ์ของชาติก่อน

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะทำภวังคกิจ แล้วหลังจากภวังคกิจดับไปแล้ว อะไรเกิดขึ้น

    ผู้ฟัง มโนทวารวิถี

    ท่านอาจารย์ หรือวิถีไหนก็ได้ เพราะขณะนั้นไม่ได้กล่าวถึงกลิ่น เพราะกลิ่นไม่ปรากฏ

    อ.คำปั่น คุณลุงนิภัทรจะมีอะไรเพิ่มเติมหรือไม่

    อ.นิภัทร ผมนี้ศึกษามานาน ทำไมไม่ค่อยเข้าใจธรรม เข้าใจยากจริงๆ เพราะเราศึกษาแต่ตัวหนังสือ ศึกษาแต่เรื่องราว ศึกษาแต่ชื่อ ไม่ศึกษาธรรมจริงๆ ผมมารู้ตัวว่า เราพลาด ธรรมจริงๆ มีให้ศึกษา ไม่ศึกษา อยากจะรู้ชื่อต่างๆ ไปสนใจเรื่องชื่อ "เห็น"อยู่เดี๋ยวนี้ เป็นธรรมหรือไม่ ไม่คิดที่จะศึกษา "เห็น"ก็เห็นไปอย่างนั้น เห็นเล่นๆ ไปอย่างนั้น ได้ยินก็ได้ยินไปอย่างนั้น ได้ยินเล่นๆ ไปอย่างนั้นเอง เห็นธรรมเป็นของเล่น เห็นเรื่องราว ชื่อ เป็นของจริง จะต้องฟังให้ได้ ต้องจำให้ได้ เป็นอย่างนั้นถึงได้รู้ธรรมยาก เพราะละเลยธรรม เขาเสนอตัวให้รู้ ก็ไม่เอา ปฏิเสธ เอาอะไรดี อะไรงาม อะไรสวย คิดไปอย่างนั้น

    เพราะฉะนั้น ถ้าจะศึกษาให้รู้ธรรมตามความเป็นจริง ต้องรู้เดี๋ยวนี้ ไม่ใช่เรียนไปก่อนแล้วไปรู้ที่บ้าน หรือรู้ที่อื่น ไม่ใช่อย่างนั้น ถ้าไม่รู้เดี๋ยวนี้ ไม่รู้เดี๋ยวนี้หมายถึงขณะเห็นก็มีอยู่เสมอ ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องกระทบสัมผัส คิดนึกนั้นมีอยู่ตลอด ถ้าไม่รู้ขณะที่ปรากฏให้รู้ โอกาสที่จะรู้ธรรมก็ไม่มี สิ่งนี้ผมก็มาจากคำบรรยายของท่านอาจารย์ ผมอ่านแล้วซาบซึ้งก็ได้เขียนไว้ในธรรมเตือนใจว่า " ถ้าจะอุปมาภพภูมิข้างหน้าเป็นอบายภูมิ เราตายไปตกนรกในอบายภูมิ พระธรรม และกุศลธรรมทั้งหลายในชาตินี้ เหมือนเชือกที่ทุกท่านกำลังจับอยู่ พระธรรม และกุศลทั้งหลายเหมือนเชือกที่ทุกท่านกำลังจับอยู่ ที่จะไม่ปล่อยตัวเองให้ตกไปสู่อบาย อย่าเผลอ ที่จะไม่ปล่อยให้ตัวเองตกไปสู่ประตูอบาย แต่กำลังที่จับเชือกนั้นอ่อนลง จะล้าเพราะจับนานๆ อ่อนลงจนกระทั่งปล่อยมือจากพระธรรม ซึ่งเป็นการแน่นอนที่จะไม่มีทางรู้แจ้งอริยสัจธรรม และอกุศลธรรมที่ได้กระทำแล้วก็มีโอกาสที่จะทำให้ตกไปสู่อบายภูมิได้ โดยเฉพาะตกไปสู่เหวของอวิชชา ซึ่งยากแสนยากที่จะขึ้นมาได้ เพราะเป็นเหวลึก " ห้วงเหวลึกอย่าไปนึกว่าเหวตื้น ปากเหวลื่นอย่าคะนองไปลองผลัก ตกเหวหินปีนป่ายไม่ง่ายนัก

    อ.คำปั่น เป็นคำบรรยายของท่านอาจารย์ในรายการแนวทางเจริญวิปัสสนา ได้ฟังคุณลุงพูดอย่างนี้แล้ว จะจับหรือจะปล่อย

    อ.ธีรพันธ์ ก็มีโอกาสแล้วควรที่จะมีแรงเท่าไร ก็รวบรวมแรงที่เหลือทั้งหมดจับให้มั่น ก็ต้องจับให้มั่นเพราะมีโอกาสแล้ว เพราะจริงๆ แล้วพระธรรมเหมือนยาขมที่ต้องอดทนรับ สมัยเด็กๆ เมื่อคุณพ่อคุณแม่ให้ทานยาขม แต่ปฏิเสธ โรคก็ยังมีอยู่ จริงๆ แล้วท่านปรารถนาดี แม้ยาขมก็ควรรับประทาน เพราะฉะนั้นเมื่อเจอผู้ใหญ่ใจดี เช่น ท่านอาจารย์ และทุกท่านที่ให้ความรู้ความเข้าใจธรรมก็ควรที่จะรับฟัง แม้แต่จะเป็นยาขม กลืนไป ขมตอนแรก แต่รักษาโรคหาย เพราะว่าผู้ใหญ่ใจดีที่ให้ยานั้นรู้ว่า จะใช้ยาประเภทไหน อ่านฉลากยาออก และรู้ว่าผู้บริโภคยานั้นควรบริโภคก่อนอาหารหรือหลังอาหาร หรือจะทำอย่างไร เพราะฉะนั้นควรที่จะน้อมรับยาคือพระธรรม

    อ.อรรณพ คิดว่าพระธรรมดุจน้ำอมฤต ไม่เป็นยาขม ภาษาที่ยากอาจจะเข้าใจว่าเป็นยาขม แต่ถ้าได้เข้าใจพระธรรมก็ปลื้มปีติในความเป็นจริง และยิ่งฟังก็ยิ่งชื่นชมในคำสอน ในภาษิต เพราะฉะนั้นทุกท่านก็อย่าเบนหน้าออกจากธรรมสัญญา โปรดรับประทานอาหาร และยาที่เป็นประโยชน์ในการที่ค่อยๆ รักษาโรคร้าย

    อ.วิชัย จริงๆ ก่อนจะจับเชือกได้ ก็ต้องรู้จักเชือก ว่าคือศึกษาอย่างไร เข้าใจอย่างไรบ้าง จริงๆ ทุกท่านขณะนี้ได้ยินอย่างนี้ก็ซาบซึ้ง แต่ถ้าหลังจากนี้แล้วก็คิดดูว่า อะไรมีกำลัง ก็จะหลงลืมต่อไปอีก ก็ตกสู่ความไม่รู้ แต่ก็เป็นปัจจัยให้มั่นคงขึ้น อย่างนั้นก็พิจารณาเป็นปกติจริงๆ ว่าปกติชีวิตประจำวันก็คืออย่างนี้ แต่ก็สามารถอบรมเจริญปัญญาได้

    กราบเรียนถามท่านอาจารย์ ได้ยินคำบรรยายของท่านอาจารย์ตอนหนึ่งที่กล่าวว่า การอบรมเจริญสติไม่ใช่เป็นการพยายามจะไม่ให้รู้สิ่งที่ปรากฏนั้นเป็นอะไร ถ้ากล่าวถึงบุคคลที่ยังไม่เข้าใจความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม แล้วพยายามที่จะให้เป็นอย่างนั้นก็ไม่ถูก แต่ขณะที่สภาพธรรมเริ่มที่จะปรากฏ ก็รู้สึกว่าจะมีลักษณะของสิ่งที่ปรากฏกำลังปรากฏอยู่ ก็รู้สึกความพยายามเพียงเล็กน้อยหรือมีความพยายาม ขณะนั้นก็ไม่ใช่สติแล้ว เป็นความพยายามที่จะให้เป็นอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ ก็คือเรื่องความไม่รู้ชัดทั้งหมด สติหรือไม่ใช่สติ ยังไม่ใช่ความรู้ชัด เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้วก็คือว่า สภาพธรรมเป็นปกติ ถูกหรือไม่ สภาพธรรมเป็นปกติ เดี๋ยวนี้เป็นสภาพธรรม เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างในขณะนี้ที่เป็นปกติหรือยัง ไม่ใช่ไปมุ่งที่สติปัฏฐาน ไม่ใช่ไปมุ่งที่ชื่อ แล้วสงสัยว่า เป็นสติหรือไม่ แต่ลักษณะของสภาพธรรมมี เพราะฉะนั้น จากการรู้ว่าขณะนี้เป็นธรรม เพียงขั้นฟัง เพราะจริงๆ แล้ว จิตเป็นสภาพที่เกิดขึ้นรู้ จิตเกิดจะไม่มีสิ่งที่ปรากฏให้จิตรู้ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ที่อะไรก็ตามปรากฏ ลืมหรือรู้ ว่าขณะนั้นมีธาตุรู้ที่กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏ สิ่งนั้นจึงปรากฏได้ เช่น ในขณะที่เห็นมีสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะมีจิตเกิดเห็น ถ้าจิตไม่เกิดเห็น สิ่งที่ปรากฏในขณะนี้ปรากฏไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ถ้ามีความเข้าใจที่มั่นคงว่า ขณะนี้เป็นธรรม แล้วการศึกษาธรรมก็คือศึกษาเข้าใจความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ เราไม่ต้องคำนึงถึงคำว่า “สติ” ไม่ต้องไปคิดว่า แล้วอย่างนี้เป็นสติหรือไม่ หรือไม่ใช่สติหรือไม่ แต่เริ่มรู้ว่า ความเข้าใจสิ่งที่มี ที่ได้ฟัง ทั้งๆ ที่สิ่งที่กำลังปรากฏอยู่ มีความเข้าใจในสิ่งที่ปรากฏเท่ากับเข้าใจในสิ่งที่ได้ฟังหรือไม่ ขณะนี้มีสภาพธรรมที่ปรากฏ เข้าใจลักษณะที่ปรากฏเท่ากับการเข้าใจสิ่งที่ได้ฟังเรื่องสิ่งที่ปรากฏหรือยัง เพราะว่าเราฟังมาว่า มีธรรมเพราะมีสิ่งที่มีจริงๆ โดยไม่ต้องเรียกชื่ออะไรทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่มีจริงนั้น ความจริงต้องจริง คือเกิดขึ้นมี แต่ว่าไม่รู้ว่า ความจริงคือสิ่งนั้นเกิดแล้วดับ สั้นมาก เล็กน้อยมาก แต่ละอย่างที่ปรากฏ ไม่ได้ปรากฏพร้อมกันเลยสักอย่าง ไม่ใช่ทั้งเห็น ทั้งได้ยิน ทั้งคิด แต่จิตขณะหนึ่ง สภาพรู้เกิดขึ้นรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้วดับไป เร็วมาก นี่คือสิ่งที่กำลังฟัง แล้วความจริงก็คือขณะเห็น มีสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะจิตเกิดขึ้นเห็น แล้วดับไป ความจริงก็คืออย่างนี้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ปรากฏว่ามีจริงขณะนี้ แล้วเราเข้าใจสิ่งนั้นแค่ไหน เท่ากับที่เราได้ฟังมาแล้วหรือยัง

    เพราะฉะนั้น ไม่ต้องไปคิดถึงเรื่องสติปัฏฐาน เพราะขณะใดก็ตามที่กำลังเข้าใจ เป็นเราหรือไม่ ความละเอียดของธรรม ขณะที่กำลังฟังเรื่องเห็น แล้วก็มีเห็น แล้วก็กำลังเข้าใจว่า ขณะนี้เห็นมีจริงๆ เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเห็น ขณะที่เข้าใจอย่างนี้มีสติเกิดร่วมด้วยแล้ว เพราะว่าขณะที่เข้าใจไม่ใช่ขณะที่ไม่เข้าใจ ถ้าขณะที่ฟังแล้วยังไม่เข้าใจ จะกล่าวว่าขณะนั้นเข้าใจก็ไม่ได้ ต้องเป็นผู้ที่ตรงจริงๆ ต่อสภาพธรรม และต่อคำที่ได้ยิน เพราะฉะนั้นในขณะนี้ที่มีสิ่งที่กำลังปรากฏ จะต้องคิดถึงสติหรือไม่

    อ.วิชัย ไม่ต้อง

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้อง กำลังฟังแล้วมีสิ่งที่ปรากฏ แล้วเริ่มรู้ว่า สิ่งนี้มีจริงๆ ชั่วคราว คือเพียงเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แต่เพราะความรวดเร็วที่เกิดดับสืบต่อ จึงไม่รู้ความจริงว่า ขณะนี้เป็นธรรมที่มีจริง สั้น ชั่วคราว ขณะที่กำลังเห็นไม่ใช่ขณะที่กำลังได้ยิน ไม่ใช่ขณะที่กำลังคิด เพราะฉะนั้นสภาพธรรมแต่ละอย่างจะเกิดดับรวดเร็วมากสักแค่ไหน จนใครก็ไม่สามารถรู้ความจริงได้ ถ้าไม่มีการฟัง และเข้าใจในสิ่งที่กำลังฟังว่า เป็นอย่างนี้จริงๆ หรือไม่ ก็แสดงให้เห็นว่า ไม่จำเป็นต้องไปคิดไกลถึงสติปัฏฐาน ตราบใดที่มีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วก็ฟังเรื่องนี้ แล้วก็รู้ได้ว่า กำลังฟัง มีสิ่งที่ปรากฏ เริ่มเข้าใจจริง แต่ยังไม่รู้ความจริงของสภาพที่กำลังเห็น

    เพราะฉะนั้นถ้าใช้ชื่อ ก็มีชื่อตั้งแต่ปัญญาที่เกิดจากการฟัง "สุตตมยญาณ" สำเร็จเพราะฟัง ปัญญานี้จึงมีได้ คือมีความเข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏว่า เป็นธรรม เพราะฉะนั้นก็เป็นเพียงขั้นรู้เรื่องของสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นไม่ใช่อกุศล ไม่ใช่ความไม่ดี ไม่ใช่ความไม่เข้าใจ ไม่ใช่ความอยากได้ ไม่ใช่ความโกรธเคือง ไม่ใช่ความสำคัญตน เพราะกำลังมีความเข้าใจถูกในสิ่งที่ปรากฏ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 173
    13 ม.ค. 2567