พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 586


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๘๖

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๒


    ท่านอาจารย์ คือไม่ปรารถนาให้จิตของใครเกิดอกุศลหรือโทษแม้เพียงเล็กน้อย นิดเดียวก็ทรงแสดงให้เห็นภัย เห็นโทษของการสะสมที่ผ่านๆ มา ที่ไม่รู้ความจริง เพราะฉะนั้นจึงเต็มไปด้วยโลภะ โทสะ โมหะ อิสสา มัจฉริยะ มานะ ประการต่างๆ ทั้งหมดที่เป็นอกุศลที่เกิดเพราะความไม่รู้ สะสมมามาก

    . ด้วยเหตุนี้พระมหากรุณาก็ทรงแสดงธรรมตามระดับขั้นที่คนสามารถเข้าใจให้เป็นอุปนิสยโคจร เสียงที่ได้ยินเป็นเรื่องของธรรมที่จะสะสมให้เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งกว่าจะละคลายการที่เคยยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา หรือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดจะง่าย และจะเร็ว อย่างที่ทุกคนพยายามหวัง และทำ โดยไม่รู้อะไร โดยไม่เข้าใจความจริงของธรรม ซึ่งเป็นเหตุ และเป็นผล

    เมื่อวานนี้ก็ได้กล่าวถึงจิตซึ่งทั้งหมด อะไรจะสำคัญเท่าจิต เพราะอย่างอื่นผ่านมาผ่านไป สิ่งที่ปรากฏทางตาก็หมดไป เสียงที่ปรากฏทางหูก็ดับไป แต่จิตทุกขณะไม่หายไปไหน เกิดดับสืบต่อ ใกล้ชิดที่สุด แต่แม้กระนั้นก็ไม่รู้จักจิตของตนเอง แต่คิดถึงจิตของคนอื่น ทำให้ดูเสมือนว่า เข้าใจจิตของคนอื่นได้ว่า ขณะนั้นเลวทราม มีกายวาจาที่ไม่เหมาะไม่ควร แต่จิตที่กำลังเห็นหรือได้ยิน ไม่มีกระจกที่ส่องไปถึงจิตของตัวเองที่กำลังเห็น และกำลังได้ยิน ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงแสดง อารมณ์คือสิ่งที่จิตรู้ และขณะที่เห็นแล้ว ได้ยินแล้ว หลังจากนั้นเป็นอะไร

    เพราะฉะนั้น ถ้าได้ฟังพระธรรม พระธรรมเป็นกระจกเงาที่ส่องให้เห็นว่า ไม่ว่าจิตจะเกิดขึ้นเป็นไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจอย่างไร แต่พระธรรมที่ทรงแสดงสภาพความจริงของธรรม แทนที่จะคิดถึงเรื่องราวของคนอื่นที่ได้ฟังหรือได้เห็น แต่ขณะนั้นกระจกพอจะเห็นชัดถึงสภาพจิตของบุคคลที่กำลังคิดถึงคนอื่นหรือไม่ว่า จิตขณะนั้นสะสมมาแสนโกฏิกัปป์ เป็นไปกับโลภะ หรือเป็นไปกับโทสะ หรือเป็นไปกับมานะ หรือเป็นไปกับความริษยา นี่เป็นสิ่งซึ่งถ้าไม่มีพระธรรม ไม่สามารถรู้จักจิต และเวลานี้ก็จิตทั้งนั้น เรียกจิตนั้นว่า คุณประภัสสร เรียกจิตนี้ว่า คุณฉัตรพร เป็นต้น แต่เป็นจิต และการที่ต้องใช้เรียกชื่อ เพื่อให้รู้ว่าหมายความถึงจิตนั้นๆ และความจริงพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ว่า จิตนั้นๆ สะสมอะไรมามากน้อยอย่างไร ซึ่งคนอื่นไม่สามารถจะรู้ได้

    เพราะฉะนั้น ก็ทรงแสดงอุปนิสยโคจร เพราะว่าเมื่อมีจิตแล้ว จะไม่มีสิ่งที่จิตรู้ไม่ได้ ทางตาเห็น ทางหูได้ยิน ทางจมูกได้กลิ่น ทางลิ้นลิ้มรส ทางกายรู้สิ่งที่กำลังกระทบสัมผัส ทางใจคิดนึก จิตไม่เคยหยุดที่จะรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏ เพราะว่าจิตเป็นสภาวะธรรมเกิดขึ้นเป็นธาตุรู้ ต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะฉะนั้น ในแสนโกฏิกัปป์มาแล้ว จิตของเราจะเป็นอย่างไร สกปรกแค่ไหน สะอาดแค่ไหน หรือว่ากลิ่นดิบ ไม่ใช่กลิ่นของเนื้อสัตว์ แต่เป็นกลิ่นของอกุศล เวลาที่อกุศลจิตเกิด ได้กลิ่นไหม ไม่มีทาง ไม่มีกระจกเงา ไม่สามารถจะรู้ได้ว่า ขณะนั้นจิตจริงๆ ที่เกิดปรากฏในขณะนั้นเพียงบางส่วน เล็กน้อยมากไหม กับการที่จิตนั้นได้สะสมอกุศลมาแล้วในแสนโกฏิกัปป์ในสังสารวัฏ ปกติธรรมดาถ้าไม่มีกาย วาจา ก็ไม่สามารถจะรู้ถึงจิตได้ แต่พอมีกายก็ สามารถรู้ได้ ความแข็งกระด้าง ความมานะ ความสำคัญตน ที่เราใช้คำว่า เย่อหยิ่ง ก็ได้ เป็นกิริยาอาการของท่าทางก็ได้ เป็นเพียงส่วนน้อยของสิ่งที่ได้สะสมมาแล้วในอดีตนานแสนนาน

    เพราะฉะนั้น การดับกิเลส การรู้แจ้งอริยสัจธรรม เป็นไปไม่ได้ ถ้าไม่มีอุปนิสยโคจร คือการได้ฟังพระธรรม การเข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ แม้กำลังเผชิญหน้า ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า รู้แค่ไหนหรือยังไม่รู้ เพียงแต่รู้ว่า มีจริงๆ แค่นี้ก็ถูกต้องแล้ว จากการที่ไม่เคยรู้ว่า สิ่งที่มีจริงขณะนี้เป็นเพียงสิ่งที่สามารถปรากฏให้เห็นได้เท่านั้นเอง แต่นี่เป็นหนทางที่ว่า เป็นความจริงที่สามารถทำให้คลายความสนใจหรือความติดในนิมิต และอนุพยัญชนะ เพราะสิ่งที่ปรากฏเกิดดับสืบต่อเร็วมาก จนกระทั่งในขณะนี้ทุกคนบอกว่าเห็นคน เห็นโต๊ะ เห็นเก้าอี้ สิ่งที่ปรากฏตั้งขึ้นคือเกิด ปรากฏให้รู้พร้อมนิมิต และอนุพยัญชนะ คือหลอกตั้งแต่ต้น อวิชชาไม่รู้ เพราะฉะนั้น ก็ไม่สามารถเข้าใจสภาพธรรมคือจิต ซึ่งเกิดดับสืบต่อเร็วมากเร็วเหมือนนายมายากล ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ แต่เกิดดับจนปรากฏว่ามี นั่งอยู่ตรงนี้จริงๆ ชื่อนั้นด้วย กำลังทำอย่างนั้นอย่างนี้

    เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า จิตเกิดดับเร็วมากมาย แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรู้แจ้งจิตทุกขณะตามความเป็นจริง ทรงแสดงลักษณะของจิตโดยประเภทต่างๆ โดยละเอียด พร้อมทั้งสภาพธรรมที่เกิดกับจิต คือ เจตสิก อย่างละเอียดด้วย เพื่อเป็นอุปนิสยโคจร สำหรับผู้ฟัง ให้ค่อยๆ สะสมความเข้าใจสิ่งที่ปรากฏเป็นอารมณ์ที่ได้ยินได้ฟังทีละเล็กทีละน้อย จนกระทั่งสะสมเป็นอุปนิสัย

    เพราะฉะนั้น อุปนิสัยเดิมเป็นอกุศลมากมายเท่าไร จากการได้ฟัง และเข้าใจธรรม ก็เป็นการสะสมอุปนิสัยของศรัทธา ศีล สุตตะ จาคะ ปัญญา จนกว่าจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีการสะสมอุปนิสยโคจรเลย มีไหมที่จะสามารถเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ว่า เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป

    ขอเชิญคุณคำปั่นกล่าวถึงข้อความในพระไตรปิฎกเรื่องโคจร ๓

    อ.คำปั่น สำหรับเรื่องโคจร ๓ ที่ท่านอาจารย์ได้บรรยายตั้งแต่เมื่อวานถึงวันนี้ เป็นข้อความที่มีประโยชน์ และควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ขออ่านข้อความโดยตรงจากพระไตรปิฎก และแปลโดยศัพท์ หลังจากนั้นก็กราบเรียนท่านอาจารย์ให้ขยายความเพิ่มเติมด้วย

    จากพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน ในช่วงของอรรถกถา คือ ปรมัตถทีปนี อรรถกถาพระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย อุทาน เมฆิยสูตร ถ้าได้อ่านพระไตรปิฎกฉบับของมหามกุฏ เล่มที่ ๔๔ มีข้อความว่า

    ส่วนโคจรมี ๓ อย่าง คือ อุปนิสัยโคจร ๑ อารักขโคจร ๑ อุปนิพันธโคจร ๑

    ใน ๓ อย่างนั้น ภิกษุใด ประกอบด้วยคุณ คือกถาวัตถุ ๑๐ มีมิตรดีงาม มีลักษณะดังกล่าวแล้ว ซึ่งอาศัยแล้ว ย่อมได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง ย่อมทำสิ่งที่เคยฟังแล้วให้ผ่องแผ้ว ตัดความสงสัยเสียได้ ทำความเห็นให้ตรง ทำจิตให้เลื่อมใส ซึ่งเมื่อศึกษาตาม ย่อมเจริญด้วยศรัทธา ด้วยศีล ด้วยสุตะ ด้วยจาคะ และด้วยปัญญา นี้ท่านเรียกว่าอุปนิสัยโคจร

    สำหรับโคจรประการที่ ๒ คือ อารักขโคจร ซึ่งแปลโดยศัพท์ก็คือ อารมณ์เป็นที่ท่องเที่ยวไปของจิตอันเป็นเหตุให้มีการรักษาไม่ให้อกุศลจิตเกิดขึ้น ข้อความมีว่า

    ภิกษุใด เข้าไปสู่ละแวกบ้าน เดินไปตามถนน มีตาทอดลงแลดูชั่วแอก เดินสำรวมจักขุนทรีย์ไป ไม่เดินแลพลช้าง ไม่เดินแลพลม้า ไม่เดินแลพลรถ ไม่เดินแลพลราบ ไม่เดินแลหญิง ไม่เดินแลชาย ไม่แหงนดู ไม่ก้มดู ไม่เดินเหลียวแลดูตามทิศน้อยใหญ่ นี้ท่านเรียกว่าอารักขโคจร

    ส่วน อุปนิพันธโคจร ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔ อันเป็นที่ซึ่งภิกษุเข้าไปผูกจิตของตนไว้

    สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ว่า

    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเป็นโคจร คือเป็นอารมณ์อันเป็นของบิดาของตนของภิกษุ คือสติปัฏฐาน ๔

    ในโคจร ๓ อย่างนั้น เพราะอุปนิสัยโคจร ท่านกล่าวไว้ก่อนแล้ว ในที่นี้พึงทราบโคจร ๒ อย่างนอกนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่าผู้สมบูรณ์ด้วยอาจาระ และโคจร เพราะประกอบด้วยอาจารสมบัติตามที่กล่าวแล้ว และโคจรสมบัตินี้ ด้วยประการฉะนี้

    สำหรับอุปนิพันธโคจร แปลโดยศัพท์คือ อารมณ์อันเป็นที่เที่ยวไปของจิตอันเป็นเหตุให้สติเข้าไปผูกพันไว้ ซึ่งก็หมายความถึงสติปัฏฐาน ๔ เป็นการอบรมสติปัฏฐาน ระลึกสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง

    นี้เป็นข้อความโดยตรงจากพระไตรปิฎก ขอกราบเรียนให้ท่านอาจารย์ขยายความให้ละเอียดต่อจากอุปนิสยโคจร

    ท่านอาจารย์ กำลังฟังเรื่องสิ่งที่ปรากฏที่มีจริงๆ เป็นอุปนิพันธะหรือยัง เป็นอารมณ์ที่ผูกไว้ที่จะไม่ให้ลืมรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ ยากมากใช่ไหม จากการที่สะสมอกุศลมานานแสนนาน ก็ได้ยินได้ฟังเรื่องของธรรม และเพิ่งเริ่มรู้ว่า ขณะนี้เป็นธรรมที่สามารถรู้ความจริงของธรรมได้ เพราะกำลังปรากฏ สิ่งที่ดับไปแล้วไม่สามารถรู้ความจริงได้ เพราะไม่มีอะไรเหลือให้รู้ความจริงได้ หรือสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น ก็ยังไม่ปรากฏให้รู้ว่าเป็นอะไร แล้วก็จะรู้ความจริงของสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นปรากฏก็ไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจมั่นคงจริงๆ กำลังจะผูกไว้ด้วยปัญญาที่จะรู้ว่า ขณะนี้เป็นธรรมที่ควรรู้ยิ่ง เพราะเหตุว่าชีวิตก็คือแต่ละขณะของธรรมที่เกิดดับสืบต่อ แต่หมดไปสิ้นไป ชั่วคราว ไม่กลับมาอีก เพราะฉะนั้น การรู้ความจริงก็คือขณะที่ได้ฟังมีการผูกไว้ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องว่า ขณะนี้เป็นธรรม เพราะฉะนั้น ถ้าไปสนใจเรื่องอื่นทั้งหมดอย่างที่เคย ลืมแล้วใช่ไหม แม้แต่สิ่งที่ได้ฟัง และกำลังปรากฏในขณะนี้ว่า เป็นสิ่งที่ควรรู้ยิ่ง ซึ่งกว่าจะเป็นอุปนิสยโคจร ได้ฟังจนกระทั่งเป็นที่พึ่ง ที่อาศัย ที่มีกำลัง อย่างที่เราบอกว่า ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ มีพระธรรมเป็นสรณะ เป็นที่พึ่ง จริงหรือไม่ ถ้าไม่ได้ฟัง ก็ไม่รู้จักพระธรรม และจะมีพระธรรมเป็นที่พึ่งได้อย่างไร

    เพราะฉะนั้น การมีพระธรรมเป็นสรณะ ก็ต้องเป็นอุปนิสยโคจร ได้ยิน ได้ฟัง และเข้าใจเพิ่มขึ้น จนกระทั่งมีกำลังพอที่จะไม่ลืม เพราะวันหนึ่งๆ คิดเรื่องอื่นมาก กำลังฟังก็ยังคิดเรื่องอื่น และเวลาไม่ฟังก็จะเต็มไปด้วยเรื่องอื่นซึ่งไม่ใช่เรื่องธรรมที่ได้ฟัง

    เพราะฉะนั้น การที่จะมีอุปนิสยโคจร ก็คือเห็นประโยชน์ในขณะที่ฟังก็มีศรัทธา และมีปัจจัยให้มีศีลสมบูรณ์ขึ้นที่จะเห็นประโยชน์ที่ได้จากการฟังนั่นเอง ถ้าไม่ฟัง ชีวิตก็คงไม่ดำเนินไปในทางที่มีศรัทธาเพิ่มขึ้น มีศีลเพิ่มขึ้น เพื่อการละจาคะ สละการยึดมั่น สละการยึดถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยงด้วยปัญญาที่ค่อยๆ เจริญขึ้น

    ด้วยเหตุนี้ แม้อย่างนี้ก็คือการอบรมภาวนานั่นเอง แต่ทุกคนอยากได้ผลอย่างรวดเร็ว แทนที่จะรู้ว่า ขณะนี้เป็นอกุศลแล้ว อย่างไรอกุศลจึงจะไม่เกิดอีก แม้เพียงชั่วขณะสั้นๆ อย่างเช่นขณะที่กำลังโกรธ ก็ได้ฟังว่าหลายคนโกรธง่าย และลืมยาก คือโกรธแล้วไม่ลืม แต่บางคนน่าอนุโมทนา โกรธแล้วก็ลืม จะไปเก็บไว้ทำไม โกรธแล้วมีประโยชน์อะไร นี่คือไม่ได้เข้าใจธรรมว่า เป็นธรรม ธรรมที่เป็นอกุศล ใครจะอยากเก็บไว้มากๆ แต่เพราะความไม่รู้ ด้วยความไม่รู้ก็สะสมโดยไม่เห็นโทษภัย

    เพราะฉะนั้น การฟังธรรม พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยละเอียดอย่างยิ่งตั้งแต่ขั้นต้นจนถึงขั้นสูงที่สุด เพราะรู้ว่า จากต้นจนกระทั่งถึงสูงที่สุด ไม่มีทางที่จะเป็นได้โดยง่าย เพราะอกุศลมีปัจจัยที่จะเกิดมาก และบ่อย ด้วยเหตุนี้จึงได้ทรงแสดงธรรมไว้โดยละเอียดทุกประการเพื่อเป็นอารักขโคจร

    เวลาที่สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดปรากฏ เคยโกรธ โกรธนี่ดูจะเห็นง่ายกว่าโลภ เพราะความจริงโลภ เห็นยากแสนยาก เพราะฉะนั้น เวลาที่ขุ่นใจกับเวลาที่โกรธมาก รู้ตอนไหน หรือไม่รู้เลย นิดๆ ก็ไม่รู้ เพิ่มขึ้นอีกหน่อยก็ไม่รู้ มากๆ ก็ไม่รู้ ไม่มีอุปนิสยปัจจัยพอที่จะให้เกิดอารักขโคจร หมายความว่าระลึกถึงพระธรรมที่ได้ยินได้ฟัง และเห็นโทษจริงๆ โกรธเกิดแล้วใครห้ามได้ ใครทำอะไรกับธรรมที่มีปัจจัยเกิดแล้วดับแล้วได้ แต่ก็ยังมีปัจจัยให้ระลึกถึงโทษของสิ่งที่ไม่ควร และคุณประโยชน์ของสิ่งที่ควร หลายคนบอกว่า แต่ก่อนนั้นโกรธก็โกรธไปเลย แต่หลังฟังพระธรรมแล้วก็ระลึกได้ว่า โกรธเขาทำไม ไม่ว่าจะไปเติมน้ำมัน หรือทำอะไร รับประทานอาหาร ทั้งหมดจะรู้ได้ว่า ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นเพราะเป็นอารักขโคจร ทำให้จิตไม่ตกไปเป็นไปในอกุศลซึ่งเคยเกิดมาก ก่อนจะถึงสติปัฏฐาน เพราะวันนี้ทุกคนกำลังฟังเรื่องทุกอย่างที่มีจริง สติสามารถรู้ความจริงได้ เมื่อเกิดแล้วกำลังศึกษา คือเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏตามที่ได้ยินได้ฟัง แต่น้อยมาก ไม่บ่อย เพราะฉะนั้น สิ่งที่ตามมาจากอุปนิสยโคจร คืออารักขโคจร มีบ้างไหม คงต้องเริ่มมีกันบ้างแล้วที่จะระลึกถึงธรรมได้ ขณะที่ระลึกได้ก็ไม่เป็นอกุศล แต่ขณะใดที่ระลึกไม่ได้ ก็เป็นอกุศลตามกำลังที่ได้สะสมมากว่าการได้ฟังธรรม

    เพราะฉะนั้น ถ้าเทียบจริงๆ ปุถุชนผู้หนาด้วยอกุศลหรือกิเลส จะไกลกันกับพระอริยบุคคลไหม ผู้ที่สามารถดับกิเลสที่สะสมมาแล้วนานมาก แต่ต้องตามลำดับขั้นของปัญญาที่ทำให้เป็นพระอริยบุคคลด้วย

    เพราะฉะนั้น พระโสดาบันไม่ใช่พระอรหันต์ ยังมีโลภะ โทสะ โมหะ แต่ไม่มีความเห็นผิด ไม่มีความสงสัยในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้น พระธรรมเหมือนกระจกเงาไหม ส่องหรือยัง หรือวันหนึ่งๆ ลืมส่องกระจก ไม่ได้ติดตามไปเลย ทั้งๆ ที่จิตไม่เคยขาด โรคภัยยังรักษาให้หายได้ ยังมีการว่างเว้น แต่จิตไม่เคยเว้น เพราะฉะนั้น จิตที่ไม่เคยเว้นเป็นจิตประเภทไหน และไม่ไกลด้วย มียาอื่นที่จะรักษาจิตไหม เอายาอะไร ยาหม่องทาได้ไหม ไม่มีทาง ต้องเป็นปัญญาที่ทำให้เข้าใจธรรมตามความเป็นจริง และเมื่อไรที่เริ่มเป็นอกุศล การสะสมอุปนิสยโคจร ก็ยังเป็นปัจจัยให้ระลึกได้ และขณะต่อไปก็ไม่เป็นอกุศลอย่างที่เคยเป็นนานๆ โดยยังไม่ถึงสติปัฏฐาน เห็นหรือไม่

    เพราะฉะนั้น จะไปทำอะไรให้ประจักษ์การเกิดดับ ละความเป็นตัวตน เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ถ้าใครก็ตามศึกษาหรือฟังธรรมเพียงประโยคเดียว เพียงเรื่องเดียว แล้วก็คิดเองหมด เป็นไปไม่ได้ คือผู้นั้นไม่รู้จักพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วไม่ได้ฟังพระธรรมโดยเคารพนอบน้อมอย่างยิ่งด้วย ถ้าเคารพนอบน้อม คือไม่ได้ฟังเฉยๆ ขณะนี้สังขารขันธ์กำลังค่อยๆ เห็นถูกตามที่ทรงแสดง และเป็นปัจจัยที่ทำให้สภาพธรรมที่จะเกิดต่อไปเป็นไปตามที่เข้าใจถูกทีละเล็กทีละน้อย แต่กว่าจะถึงอุปนิพันธโคจรคือเดี๋ยวนี้เป็นธรรมเท่านั้น ไม่มีใครเลย สิ่งที่ปรากฏทางตา ถ้าไม่คิดจะเป็นอะไรหรือไม่ เพียงปรากฏ และสั้นยิ่งกว่านั้นด้วย คือเร็วแสนเร็วเพียงปรากฏแล้วดับ แต่เพราะเกิดดับสืบต่อจึงปรากฏเหมือนกับทันทีที่เกิดก็เป็นนิมิตอนุพยัญชนะ ทำให้เห็นว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด จึงยากที่จะละความติดข้องในสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และเรื่องราวของสภาพธรรมที่ปรากฏทั้งวันไม่พ้นจากสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แล้วก็ไม่รู้ความจริง เพราะฉะนั้น ความติดข้องจะมากสักแค่ไหนในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ

    ด้วยเหตุนี้พระโสดาบันละไม่ได้ ละความติดข้องที่สะสมมามากเหลือเกิน ทางตา หู จมูก ลิ้น กายไม่ได้ ต้องถึงพระอนาคามีบุคคลจึงสามารถดับความติด เยื่อใย ในสิ่งที่เคยพอใจอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะปรากฏเป็นคน ไม่ว่าจะปรากฏเป็นดอกไม้ ไม่ว่าจะปรากฏเป็นเครื่องใช้ ติดข้องหมด ทั้งวันก็จะมีสิ่งที่ปรากฏให้ติดข้องเป็นรูปร่างสัณฐานต่างๆ

    เพราะฉะนั้น ต้องรู้ตามความเป็นจริงว่า กว่าปัญญาจะเกิดได้ ก็ต้องเป็นไปตามที่ทรงแสดง นี้เป็นเพียงส่วนน้อยส่วนหนึ่งในพระไตรปิฎก เพราะฉะนั้น ที่ทรงแสดงไว้ต้องมากกว่านั้น และเป็นประโยชน์ทุกคำ

    มีกระจกหรือยัง หรือหายไปไหนก็ไม่รู้

    อ.วิชัย ในส่วนของอารักขโคจร ก็หมายถึงอารมณ์อันเป็นที่เที่ยวไปของจิต ที่เป็นเครื่องรักษากุศลแล้วก็ป้องกันอกุศล ถ้าไม่ศึกษาเรื่องของสภาพธรรมเลย ก็เหมือนจะเป็นความพยายามของเราเองที่จะไม่มองหรือไม่ไปที่ที่ทำให้อกุศลจิตเกิด แต่ถ้าศึกษาเรื่องสภาพธรรม ก็จะเป็นไปในเรื่องของจิตที่น้อมไปที่จะวิรัติงดเว้นโดยสภาพจิตเอง ก่อนศึกษาสภาพจิตก็เป็นความพยายามของเรา โดยไม่รู้ว่าเป็นจิตที่ไม่รู้ แต่ก็มีความพยายาม ขณะใดที่เข้าใจสภาพธรรม ก็คือเข้าใจว่าเป็นสภาพของจิตที่จะวิรัติงดเว้นที่จะไม่ไปที่ที่สมควร


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 173
    14 ก.พ. 2567