พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 589


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๘๙

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๒


    ท่านอาจารย์ พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้ฝึกบุรุษที่ควรฝึก แล้วเรากำลังฝึกหรือเปล่า หรือยังไม่ยอมจะฝึก ถ้าฝึกก็คือรู้ว่า กิเลสไม่ได้อยู่ที่คนอื่น ความโกรธไม่ได้อยู่ที่คนอื่น ใครจะด่า จะว่า จะประทุษร้ายอย่างไร ความโกรธไม่ได้อยู่ที่การกระทำของเขา แต่อยู่ในใจของคนที่ยังมีความโกรธนั้นอยู่

    ผู้ฟัง เมื่อสักครู่ที่กล่าวถึงการคิดถึงเรื่องสภาพธรรม เผอิญได้ฟังเทปวิทยุตอนที่ ๓๕๐ กว่า ท่านอาจารย์แสดงถึงปุณณียสูตร แสดงถึงสภาพธรรม การใคร่ครวญสภาพธรรม เปรียบเทียบคำตอบเมื่อสักครู่นี้กับเอ็มพี ๓ เลยอยากให้ช่วยแสดงถึงความแตกต่างกัน คือในปุณณียสูตรเป็นลักษณะมีคนไปถามพระพุทธเจ้าว่า ทำอย่างไรจึงจะเข้าใจธรรม ก็เริ่มตั้งแต่รับฟัง แล้วทรงจำ แล้วพิจารณาธรรม ทีนี้พิจารณาธรรมก็คือคิด ใช่สิ่งเดียวกันไหม

    ท่านอาจารย์ พิจารณาธรรม เมื่อสักครู่กล่าวว่าโกรธอยู่ที่ไหน เวลาฟังธรรมแล้วพิจารณาคืออย่างไร ไม่ใช่เพียงแต่ฟังเขาบอกมาเรื่อยๆ แล้วไม่ใช่ความคิดความเข้าใจของเรา ถ้าอย่างนั้นก็เป็นคำพูดของคนที่เขาเข้าใจหรือไม่เข้าใจ ก็แล้วแต่เขาพูดผิดหรือพูดถูก มีโอกาสไตร่ตรองหรือไม่ว่า สิ่งที่ได้ยินได้ฟังถูกต้องไหม สมควรที่จะอบรมสิ่งที่ดีงามให้เกิดขึ้นในจิตใจหรือไม่ หรือบอกว่าเราโกรธก็ไปหาสิ่งที่สนุกสนานมากลบเสีย จะได้หายโกรธ เชื่อไหมอย่างนี้ นั่นคือไตร่ตรองหรือไม่ ที่จะรู้ว่าสิ่งที่ได้ยินได้ฟังควรเชื่อหรือไม่ควรเชื่อ มีเหตุผลหรือไม่ เป็นประโยชน์หรือไม่

    ผู้ฟัง อย่างที่มีคำถามว่า เห็นแล้วก็คิด อย่างเห็นดอกไม้แล้วคิดถึงสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมา สิ่งนี้เป็นการพิจารณาได้ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ เห็นดอกไม้แล้วคิดถึงสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมาว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง คิดว่าต้องมีสิ่งที่ปรากฏทางตาก่อน แล้วคิดต่อว่าเป็นดอกไม้

    ท่านอาจารย์ แล้วอย่างไร

    ผู้ฟัง ในการคิดลักษณะนี้ เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดสัญญาที่มั่นคงได้ไหมถ้าเราไม่หวังสติ

    ท่านอาจารย์ แล้วถ้าสัญญาที่มั่นคงจะเกิด เกิดเพราะอะไร

    ผู้ฟัง ใช่การคิดพิจารณาบ่อยๆ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ โดยมากเราลืมว่า ผลเกิดแล้ว แต่เรากำลังฟังเหมือนกับว่า อยากจะไปหาเหตุให้เกิดผล ถ้าไม่เคยฟังอย่างนี้มาก่อนเลย เห็นดอกไม้ก็เห็นบ่อยๆ จะคิดอย่างนี้ไหม แต่ที่คิดอย่างนี้เพราะอะไร จึงคิดอย่างนี้ได้

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนี้การพิจารณาหรือคิดในลักษณะนี้ ก็ไม่น่าเป็นเครื่องกั้น

    ท่านอาจารย์ โดยมากเราจะสับสนเพราะเราได้ฟังเยอะ แต่ถ้าเราละเอียดจริงๆ เราสามารถเข้าใจความละเอียดของธรรมได้ แต่ถ้าฟังแล้วสับสน ข้ามจากตรงนี้ไปตรงอื่น ไปหาอุปสรรคแล้ว แค่เห็นดอกไม้ ไปหาอุปสรรคที่สติปัฏฐานไม่เกิด ที่จริงเพราะไม่เข้าใจธรรมที่ละเอียดพอ ที่จะรู้ว่า สติปัฏฐานคืออะไร เมื่อไร เพราะจริงๆ แล้วหลังจากที่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏให้เห็นแล้ว มีใครบ้างไม่คิด พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าคิดหรือไม่ ท่านพระสารีบุตรคิดหรือไม่ ถ้าไม่คิดจะรู้ไหมว่า สิ่งที่เห็นเป็นอะไร เราลืมว่า เหมือนกับเห็นแล้วก็รู้ว่าเป็นอะไร แต่ความจริงมีสิ่งที่ปรากฏทางตาปรากฏแล้วก็ดับไป แต่สืบต่อเป็นนิมิต รูปร่างสัณฐาน ทำให้ความคิดที่เราคิดว่า ขณะนั้นเราคิด แต่จริงๆ ทันทีที่สิ่งที่ปรากฏทางตาดับ รับรู้ต่อ ขณะนี้ก็คิดแล้ว ไม่อย่างนั้นจะไม่รู้ว่า เป็นอะไร

    เพราะฉะนั้น จึงต้องละเอียดที่จะรู้ว่า ความคิดกั้นหรือไม่ หรือความคิดมี ๒ อย่าง คิดดีกับคิดไม่ดี คิดถูกกับคิดผิด

    เพราะฉะนั้น สำหรับมรรคมีองค์ ๘ องค์แรกคือ สัมมาทิฏฐิ มีความเข้าใจถูกจากการฟัง แล้วองค์ที่ ๒ คือ สัมมาสังกัปปะ ตรึก ถูกตามที่คิด เพราะธรรมดาถ้าไม่มีความเห็นถูก ความคิดของเราที่แสดงไว้ว่า เหมือนเท้าของโลกตามสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ด้วยอกุศล เพราะว่าไม่ได้เข้าใจความจริงของสภาพธรรม ก็คิดว่าอะไรมากั้น แต่ความจริงทุกคนที่เห็นแล้ว หลังจากนั้นก็คิด พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็คิด แต่คิดถูกหรือคิดผิด ด้วยปัญญาหรือไม่มีปัญญา ถ้าไม่ละเอียดตรงนี้เราก็เพียรไปหาอุปสรรค หารู้ไม่ว่า จริงๆ แล้วธรรมเป็นเรื่องละเอียดมาก แม้แต่ขณะนี้ที่กำลังฟัง อุปนิสยโคจร อารมณ์ที่ปรากฏ เราตามอารมณ์นั้นไป ทางที่เราเคยชิน คือด้วยอกุศลประเภทต่างๆ โลภะก็มี โทสะก็มี เร็วมาก ชอบคนนี้ ไม่ชอบคนนั้น แต่จะตรึกหรือคิดในทางที่ถูกไหม ก็คือทุกคนเกิดมา ไม่มีใครอยากไม่ดี ไม่มีใครอยากเป็นทุกข์ แต่ทำไมสิ่งต่างๆ เหล่านี้จึงเกิดขึ้นต่างๆ กันไปเพราะอะไร นอกจากสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยต่างๆ แม้ความคิดนึกก็ยังต่างกันด้วย อย่างที่มีคำถามตั้งแต่ต้น คืออยากจะรู้จริงๆ ว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดมาได้อย่างไร แล้วทราบไหมคะว่า ในดินมีอะไรบ้าง

    ผู้ฟัง มีแร่ธาตุต่างๆ

    ท่านอาจารย์ แร่ธาตุต่างๆ เหมือนกันหรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่เหมือน

    ท่านอาจารย์ แต่ละธาตุเหมือนกันหรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่เหมือน

    ท่านอาจารย์ จิตเป็นธาตุหรือไม่

    ผู้ฟัง เป็นธาตุ

    ท่านอาจารย์ เจตสิกเป็นธาตุหรือไม่

    ผู้ฟัง เป็นธาตุ

    ท่านอาจารย์ เหมือนกันได้หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจากความเป็นปุถุชน เหมือนสิ่งที่มีอยู่ในดิน ก็เป็นแร่ธาตุต่างๆ แล้วแต่จะมีการปรุงแต่งมากน้อยอย่างไร ขนาดไหน แล้วสิ่งที่อยู่บนดินเหมือนกันหรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่เหมือน

    ท่านอาจารย์ ดินก็คือดิน ใต้ดิน บนดิน แต่ดินไม่เปลี่ยน แต่สภาพธรรมที่เกิดไม่ว่าใต้ดินก็อย่างหนึ่ง บนดินก็อย่างหนึ่ง แปรเปลี่ยนตามสิ่งแวดล้อมหรือตามปัจจัยต่างๆ เพราะฉะนั้น แม้แต่การคิดนึกก็ต่างกันไป ขณะที่ทุกคนกำลังได้ฟังธรรม คิดเหมือนกันหรือไม่

    ผู้ฟัง คิดไม่เหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ คิดไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ความเป็นธาตุต่างๆ กว่าจะเป็นสังขารขันธ์ที่ปรุงแต่งจนกระทั่งปรากฏว่า ธาตุนี้เริ่มแปรเปลี่ยนจากความไม่รู้สู่ความรู้ ความเข้าใจทีละเล็กทีละน้อย ตามกำลังของสิ่งที่เป็นปัจจัยที่เกิดในขณะนั้นที่จะให้เป็นไป โดยที่ใครก็เลือกไม่ได้ อยากจะมีปัญญาถึงระดับพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เห็นไหมแม้แต่ความคิด แล้วจะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้แน่นอน เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังฟังอยากจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม หรือเพียงเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏแล้วไม่เคยเข้าใจมาก่อน

    ผู้ฟัง เพียงเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏแล้วไม่เคยเข้าใจมาก่อน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ฟังแล้วจะมีอุปสรรคอะไรไหม ถ้ามีการตรึกที่ถูกต้อง ขณะนี้เป็นธรรม และเป็นธาตุ หมายความก็คือเป็นสิ่งที่มีจริง เกิดเมื่อมีมีปัจจัย ไม่ใช่จะเกิดเมื่อไรก็ได้ โดยไม่มีปัจจัยเลย และเกิดแล้วก็ยังต่างกันตามปัจจัยด้วย ไม่ใช่เรา เป็นจิต เป็นเจตสิกทั้งหมด กว่าจะเป็นแต่ละจิตในขณะนี้ก็คือว่า ในสังสารวัฏที่สะสมมาได้พบอะไรบ้าง คิดอะไรบ้าง สะสมอะไรบ้าง ก็แตกต่างกันไป แต่ก็มีโอกาสได้ฟังพระธรรม นี่ก็ต่างกันไปอีก

    เพราะฉะนั้น บางคนตลอดชีวิตไม่เคยได้ฟัง นี่คือการรู้ว่า ธรรมเป็นธรรม ธาตุเป็นธาตุ ก็จะหมดความสงสัย ถ้ามีความเข้าใจขึ้น แล้วความเข้าใจขึ้นก็จะนำไปสู่ความคิด วิตก หรือสังกัปปะ เป็นไปตามความเข้าใจมากน้อยตามนั้นด้วย ถ้าคนที่เข้าใจมาก จะให้โกรธง่ายๆ ได้ไหม เห็นอะไรก็โกรธ หรือเห็นแล้วก็อภัย เขากำลังพูดคำที่ไม่ดี ไม่โกรธ ขณะนั้นอภัยทาน ไม่ได้ให้ทานด้วยวัตถุ ไม่ใช่เป็นการตอบโต้ ขณะนั้นก็เป็นศีล วิรัติการตอบโต้ แต่ใจที่สงบ แม้จะมีใครพูด หรือทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม ขณะนั้นเป็นความสงบของจิต ก็เป็นอภัยทาน

    เพราะฉะนั้น อภัยทานไม่ใช่ให้วัตถุ หรือไม่ใช่เพียงวิรัติคำพูด แต่ใจขณะนั้นขุ่นเคือง แต่ถ้าเมตตาหรือสงบจริงๆ ไม่เดือดร้อนเลย อภัยขณะนั้นหรือสงบขณะนั้น ก็เป็นความสงบของจิต และถ้ามีปัญญาก็รู้ว่า ขณะนั้นเป็นธรรมที่ปรากฏแล้วก็หมดไป แล้วสภาพธรรมที่กำลังรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็เกิดขึ้น เพียงรู้แล้วก็ดับ

    เพราะฉะนั้น ก็มีความเข้าใจธรรมหลายระดับจากการฟัง มีอะไรเป็นอุปสรรคหรือไม่ หรือจะไปหาอุปสรรคอื่น อุปสรรคคือความไม่รู้ เพราะฉะนั้น ก็ต้องฟังจนกว่าจะรู้ และเข้าใจถูกต้อง

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กล่าวว่า นอกจากระพุทธเจ้าทรงแสดงสภาพธรรม ยังแสดงให้เข้าใจความเป็นธาตุที่แตกต่างกัน

    ท่านอาจารย์ ต่างกันหรือไม่ ธรรมกับธาตุ

    ผู้ฟัง ไม่ต่างกัน

    ท่านอาจารย์ ไฟมีจริงไหม ร้อนๆ จริงไหม

    ผู้ฟัง ไฟมีจริง

    ท่านอาจารย์ ลักษณะที่ร้อนที่เรียกว่าไฟ มีจริงๆ หรือไม่ ไม่ต้องเรียกอะไร ไม่ต้องเรียก ก็มี เป็นสิ่งที่สร้างขึ้น ทำขึ้น หรือเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

    ผู้ฟัง เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่ได้สร้างขึ้น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น สิ่งที่มีจริงเป็นธรรมใช่ไหม ไม่ใช่มายากลที่ไปหลอกใน สิ่งที่ไม่มีว่ามี แต่สิ่งนั้นมีจริงๆ

    ผู้ฟัง มีจริงๆ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น สิ่งที่มีจริงเป็นธรรม เป็นธาตุด้วย ความหมายเหมือนกัน ไม่ได้ต่างกันเลย ทั้งธรรม และธาตุ โลภะ ความติดข้องมีจริงๆ ไหม

    ผู้ฟัง เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ โลภธาตุต่างกับโทสธาตุ ต่างกับปัญญาธาตุ ต่างจากธาตุทั้งหมด แต่ละธาตุๆ

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กล่าวว่า ไฟมีจริงไหม ดูเหมือนจะติดอยู่ในชื่อ พอบอกว่าเป็นไฟ เป็นความร้อน สิ่งนี้ดูเหมือนปิดบังลักษณะของธาตุที่ร้อน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น การฟังธรรมเพื่อให้เข้าใจในสิ่งที่มีจริงๆ ปรมัตถ์ แก่นแท้ที่มีจริงของสิ่งที่เราเข้าใจว่าจริงคืออะไร อย่างเราเข้าใจว่ามีโต๊ะ แล้วสิ่งที่เป็นแก่นแท้จริงๆ ของโต๊ะเป็นอะไร

    ผู้ฟัง จากการศึกษาก็เป็นแข็งหรืออ่อน

    ท่านอาจารย์ ทำไมต้องจากการศึกษา จริงๆ ไม่ใช่หรือ

    ผู้ฟัง จริงๆ ก็ใช่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า การฟังธรรม ถ้าฟังจริงๆ เข้าใจจริงๆ ไม่ใช่เข้าใจเรื่องชื่อ แต่ว่าลักษณะนั้นเป็นอย่างนั้น อย่างแข็งไม่ใช่เสียง จะใช้คำเดียวกันได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ เพราะลักษณะต่างกัน ด้วยเหตุนี้ชื่อบ่งถึงสิ่งที่มีจริง เพราะฉะนั้นเวลาศึกษาธรรม ไม่ใช่ศึกษาเรื่องชื่อ แต่ศึกษาให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ แล้วไม่เคยรู้ความจริงของสิ่งนั้น เมื่อได้ฟังจึงสามารถเริ่มเข้าใจความจริงในสิ่งที่ไม่เคยรู้ว่า ความจริงแท้ที่ใช้คำว่า ธรรม หรือปรมัตถธรรม หรืออภิธรรม หรือสัจธรรม ก็คือธรรมนั่นเอง เพราะเหตุว่าธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง เป็นจริงอย่างยิ่ง ใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เป็นปรมัตถธรรม และอภิธรรม ก็แสดงความจริงนั้นให้ละเอียดยิ่งขึ้นจนสามารถเห็นความจริงนั้นได้ เข้าใจถูก และอบรมปัญญาจนประจักษ์แจ้งความจริงนั้น แสดงว่าคำสอนนี้ไม่เป็นโมฆะ สิ่งใดที่พระผู้มีพระภาคตรัส สิ่งนั้นสามารถรู้ได้ พิสูจน์ได้ตามกำลังปัญญาของแต่ละบุคคล

    ผู้ฟัง แต่ที่เราเรียนกัน เราก็เริ่มเรียนจากชื่อ เพราะถ้าไม่มีชื่อต่างๆ จะไม่เข้าใจถึงตัวสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ ถ้าบอกว่า ธรรมมีจริงๆ ชื่อใช่ไหม หรือว่ามีธรรมจริงๆ

    ผู้ฟัง มีธรรมจริงๆ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ที่ได้ยินคำว่า “ธรรม” ต้องหมายความถึงสิ่งที่มีจริง ไม่ใช่เพียงชื่อ

    ผู้ฟัง ถ้าเรียนเรื่องธาตุดิน ธาตุแข็ง ก็ยังเป็นชื่อ

    ท่านอาจารย์ แล้วจะเรียกแข็งว่าอะไร ถ้าไม่ใช่ชื่อ

    ผู้ฟัง ถ้าเป็นภาษาไทยก็เรียกแข็ง เป็นภาษาอังกฤษก็เรียกอย่างอื่น แตกต่างกัน

    ท่านอาจารย์ แล้วแข็งมีจริงๆ หรือไม่

    ผู้ฟัง แข็งมีจริง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เราเรียนเรื่องอะไร

    ผู้ฟัง เรียนเรื่องสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ คืออะไร

    ผู้ฟัง แข็ง

    ท่านอาจารย์ ให้รู้ว่าอะไร

    ผู้ฟัง ว่าแข็งเป็นสภาพธรรม มีจริงๆ

    ท่านอาจารย์ มีจริง เพราะเกิด ถ้าไม่เกิดจะปรากฏขณะที่แข็งหรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่

    ท่านอาจารย์ และผู้ที่ประจักษ์ความจริงคือสิ่งใดเกิดขึ้น สิ่งนั้นดับ เวลานี้ยังไม่ถึงปัญญาระดับนั้น แต่สามารถรู้ได้เข้าใจได้

    ผู้ฟัง อย่างนี้การเรียนชื่อ การเรียนปริยัติ ก็เป็นประโยชน์ในขั้นของปรมัตถ์ แต่เมื่อการระลึกถึงลักษณะของสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ ต้องค่อยๆ เข้าใจความหมายของคำว่า เรียนธรรม คืออะไร เรียนชื่อ หรือเรียนแล้วเข้าใจความจริงของสิ่งที่เป็นธรรม

    ผู้ฟัง เรียนชื่อเพื่อเข้าใจความจริง

    ท่านอาจารย์ ของสิ่งที่เป็นธรรม เพราะฉะนั้น ขณะนี้ทุกอย่างเป็นธรรม ยังไม่ได้เข้าใจทุกอย่างว่าเป็นธรรม แต่เริ่มเข้าใจว่าเป็นธรรม

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กล่าวว่า ประโยชน์จริงๆ ก็คือศึกษาเพื่อเข้าใจสภาพธรรมที่ปรากฏจริงๆ ชื่อนั้นเป็นประโยชน์ในการศึกษา

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีชื่อ ก็ไม่รู้เรื่องอะไร

    ผู้ฟัง แต่เมื่อกำลังอบรมรู้สภาพธรรม บางทีผู้ฟังได้ยินว่า แข็งก็เป็นสภาพธรรม ก็นึกถึงชื่อ แทนที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมเพื่อให้เข้าใจลักษณะที่แท้จริง ที่มีจริงๆ ตั้งแต่เกิดจนตาย

    ผู้ฟัง ถ้าจะบอกว่า การศึกษาให้ใส่ใจในลักษณะของสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ เข้าใจสิ่งที่มีจริง ขณะนี้อะไรจริง สิ่งที่กำลังปรากฏ สิ่งที่ไม่ปรากฏจริงหรือไม่ สิ่งที่ดับไปแล้ว หมดไปแล้ว จะรู้ได้ไหม สิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น จะรู้ได้ไหม ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ขณะนี้อะไรเป็นธรรม ถ้าใช้คำว่า “ธรรม” ต้องไม่ลืมว่า สิ่งที่มีจริงในขณะนี้

    ผู้ฟัง คือสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้

    ท่านอาจารย์ อะไร

    ผู้ฟัง เห็นมีจริง แข็งมีจริง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เห็นเป็นธรรม ศึกษาธรรมคือศึกษาอะไร

    ผู้ฟัง ศึกษาตัวจริงของสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ ให้เข้าใจว่าเห็นขณะนี้เกิด มีจริงๆ กำลังเห็นด้วย นี้กำลังเริ่มศึกษาธรรม เข้าใจว่า ธรรมเป็นธรรม ไม่ใช่ใครสักคน เพราะเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์บอกว่า ศึกษาเพื่อให้เข้าใจความจริง

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่กำลังปรากฏ จริง สิ่งอื่นไม่จริง นอกจากสิ่งที่กำลังปรากฏ สิ่งอื่นเกิดแล้ว หมดแล้ว

    ผู้ฟัง สภาพธรรมที่เกิดขึ้น เราต้องเข้าใจสิ่งที่เราเห็น สิ่งที่ปรากฏขึ้น ในทุกๆ ขณะจิตที่เกิดขึ้น แล้วที่เราสัมผัสได้ และเข้าใจถึงสภาพธรรมที่เกิดขึ้น ไม่คิดถึงอดีต แล้วเราพยายามเข้าใจสภาพธรรมนั้น ที่จะต้องละตัวโลภะ โทสะ และโมหะ เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา และขัดเกลากิเลสของเราออกไป สิ่งนี้ถูกต้องหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ข้อสำคัญคือเราคิดเองได้ไหมถึงเรื่องธรรมที่กำลังมีในขณะนี้

    ผู้ฟัง ได้ครับ ในสิ่งที่เรากำลังเห็น

    ท่านอาจารย์ โดยไม่อาศัยการฟังพระธรรมหรือ

    ผู้ฟัง ไม่ได้ ต้องฟังอย่างมาก

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น แม้ความคิดขณะนี้ตามการได้ฟังพระธรรม และเข้าใจพระธรรมมากน้อยแค่ไหน ขณะนี้เราพูดถึงความจริงที่ว่า เห็นแล้วก็ชอบบ้าง ไม่ชอบบ้างเป็นธรรมดา ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เพราะอะไร มีใครชอบที่จะโกรธบ้างไหม หรือที่จะหวั่นไหวไปตามกำลังของสิ่งที่ปรากฏมากน้อย ก็เป็นโลภะ ดูเหมือนจะเป็นความจริง แต่ความจริงไม่ใช่ เพราะถ้าไม่โลภะเลยสุขกว่า แต่ก็ยากที่จะเป็นอย่างนั้น ถ้าไม่มีการฟังพระธรรมเ ทุกคนเกิดมา ไม่ว่าจะมีอะไรปรากฏ เพราะความไม่รู้ก็ติดข้องในสิ่งที่ปรากฏ น่าพอใจมาก ดอกไม้สวยๆ สิ่งนั้นก็ดี สิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็นทางตา ดอกไม้หลายชนิด หลายสีสันด้วย จะไม่ชอบหรือ เพราะไม่รู้ความจริง

    เพราะฉะนั้น ทันทีที่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏ ความติดข้องเกิด เพราะความไม่รู้ เป็นประจำโดยไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัว ไม่รู้ว่า เมื่อสักครู่นี้ติดข้องในสิ่งที่ปรากฏมากน้อยแค่ไหน แต่จากการฟังพระธรรม แล้วรู้ว่าเป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง และสิ่งที่มีจริงก็โดยสภาพของปรมัตถธรรมก็คือสภาพที่มีจริงนั้น เป็นสภาพที่ไม่รู้อะไร มีไหม ลม แข็ง

    ผู้ฟัง สิ่งนั้นเป็นรูป

    ท่านอาจารย์ ยังไม่ต้องเรียกว่า รูปด้วย ยังไม่ต้องมีคำอะไร แต่ลักษณะที่ไม่รู้อะไรได้ มี อย่างสิ่งที่ปรากฏให้เห็นทางตา รู้อะไรหรือไม่ สิ่งที่ปรากฏรู้อะไรหรือไม่ ไม่มีทาง เพียงปรากฏให้เห็นเท่านั้น แล้วก็ไม่มีเจตนาตั้งใจจงใจให้ใครเห็นด้วย แล้วไม่มีเจตนาตั้งใจจงใจให้ใครชอบหรือไม่ชอบด้วย เป็นธรรมชนิดหนึ่ง เกิดโดยตั้งใจจะเกิดหรือไม่ แต่เมื่อมีปัจจัยก็สามารถกระทบจักขุปสาท ในบรรดาธรรมทั้งหมดมีธาตุเดียว ธรรมอย่างเดียว คือ สิ่งที่ปรากฏทางตาขณะนี้ที่สามารถกระทบจักขุปสาท และอยากกระทบหรือไม่ ไม่มีความรู้ใดๆ ทั้งสิ้น และจักขุปสาทก็เป็นรูปพิเศษ ไม่ใช่ธาตุแข็ง ธาตุร้อน หรือธาตุตึงไหว ไม่ใช่ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ไม่ใช่เสียง ไม่ใช่อะไร แต่สามารถกระทบเฉพาะสิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วธาตุชนิดนี้ก็อยู่ที่กลางตา แล้วก็ต้องเกิดด้วย ถ้าไม่เกิดก็ไม่มี แล้วก็ต้องดับด้วย ซึ่งขณะนี้กำลังเป็นอย่างนั้น

    เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมก็คือให้เข้าใจธรรม เพราะว่าทั้งหมดเป็นธรรม แล้วไม่เคยรู้ว่าเป็นธรรม ก็คือศึกษาไม่ใช่เป็นเราจะทำ ไม่ให้มีโลภะ ไม่ให้มีโทสะ แต่ว่าเพราะไม่มีเรา จึงรู้ว่า ธรรมหลากหลายก็จริง ธรรมที่ไม่รู้ก็มี เป็นนามธรรมที่ไม่เห็นความจริง ไม่รู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ ใช้ชื่อภาษาบาลีก็ อวิชชา วิชชาแปลว่ารู้ อ ไม่ อวิชชา ไม่รู้ ภาษาไทยก็คือไม่เข้าใจ ไม่เห็นถูก แต่ว่าเห็นได้เมื่อมีสิ่งใดปรากฏกระทบจักขุปสาท มีธาตุชนิดหนึ่งเกิดขึ้นกำลังเห็น เพราะฉะนั้น เพียงเห็นไม่ใข่ปัญญาที่เป็นความเห็นที่ถูกต้อง

    นี่ก็เป็นความละเอียดของชีวิตจริงๆ ไม่ว่าจะอยู่ในโลกนี้ โลกไหน ไม่ว่าในนรก หรือเป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นเทวดา เป็นพรหม ก็ไม่พ้นจากการเป็นธรรม คือ เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 173
    19 ก.พ. 2567