พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 578


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๗๘

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๒


    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้ว วิริยเจตสิกไม่เกิดกับจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ ๑๖ ดวง คือ อเหตุกจิต ๑๖ ประเภท ไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย อเหตุกจิต ไม่ยาก จิตเห็น กุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑ จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตกระทบกาย รวมแล้วเป็น ๑๐

    บางท่านอาจจะไม่คุ้นกับชื่อของอเหตุกจิตทั้งหมด เพราะฉะนั้น ก็จะกล่าวเฉพาะที่มีวิริยะเกิดร่วมด้วย ๒ ประเภท เพราะว่าทั้งหมดมี ๑๘ วิริยะไม่เกิดกับอเหตุกะ ๑๖

    สำหรับอเหตุกจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุใดๆ ทั้งสิ้น เป็นการประจวบกันของธรรม ซึ่งเป็นไปตามกรรมที่ได้กระทำแล้ว จึงต้องเห็น ต้องได้ยิน ต้องได้กลิ่น ต้องลิ้มรส ต้องรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ขณะใดที่เป็นจิตชื่อว่า มโนทวาราวัชชนจิต เพราะทำอาวัชชนกิจต่อจากภวังคกิจ ปฏิสนธิกิจเป็นกิจที่ ๑ ภวังคกิจเกิดสืบต่อจากปฏิสนธิ เป็นกิจที่ ๒ เพราะฉะนั้น กิจที่ ๓ ที่ต่อจากภวังคกิจก็คือ อาวัชชนกิจ เริ่มรู้อารมณ์ เพราะขณะที่เกิดไม่รู้อะไร ใครรู้บ้าง ตอนเกิด เกิดแล้วขณะเดียวดับไป จิตประเภทเดียวกันซึ่งเป็นผลของกรรมเดียวกัน เกิดขึ้นทำภวังคกิจดำรงภพชาติ โดยไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งกระทบสัมผัส ไม่คิดนึก แล้วจะรู้อะไรได้ หรือจะมีอะไรปรากฏได้ไหม ไม่มีอะไรปรากฏ แต่กรรมไม่ได้ทำเพียงให้เกิด แล้วก็เป็นภวังค์ไปโดยตลอดชีวิต นั่นไม่ใช่ผลของกรรมที่เพียงพอเลย ไปทำชั่วตั้งมากมาย แล้วปฏิสนธิจิตเกิด เป็นภวังค์ แล้วก็ตาย เป็นไปไม่ได้ หรือทำดีมากๆ ทำให้เกิด แล้วเป็นภวังค์ แล้วก็ตาย ก็ไม่เพียงพอกับผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว

    เพราะฉะนั้น สำหรับภูมิที่มีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จึงต้องเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส

    กิจที่ ๓ ต่อจากปฏิสนธิ ภวังค์ ก็คืออาวัชชนกิจ เป็นจิตที่ไม่ใช่ภวังค์แล้ว รู้อารมณ์ที่กระทบปสาท แล้วแต่ว่าจะเป็นทางตา หรือหู หรือจมูก หรือลิ้น หรือกาย ขณะนี้เป็นอย่างนี้หรือไม่ รู้หรือไม่ว่าเป็นธรรม พอที่จะกล่าวได้ไหมว่า ทุกอย่างเป็นธรรม ไม่ได้ ใช่ไหม จนกว่าปัญญาจะเพิ่มขึ้น

    เพราะฉะนั้น ธรรมเป็นเรื่องละเอียดที่พูดถึงเจตสิกหนึ่ง คือ วิริยเจตสิก ก็จะต้องเข้าใจว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา ไม่มีใครสามารถให้วิริยเจตสิกเกิดกับจิตเห็น จิตได้ยิน พวกนี้ ไม่ต้องมีวิริยะใดๆ เสียงกระทบหู ได้ยินแล้ว ใช่ไหม เพราะถึงกาลที่กรรมทำให้ได้ยินเสียงนั้น เสียงนั้นแม้ว่ามีอายุ ๑๗ ขณะจิตเท่ากับปสาทรูปซึ่งมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ ดับเร็วมาก แต่กรรมก็ยังทำให้จิตได้ยินเกิดขึ้นเมื่อเสียงกระทบโสตปสาท แล้วได้ยินเสียงนั้น เดี๋ยวนี้หรือไม่ เห็นไหม ถ้าจะรู้จักกรรม และผลของกรรม จะพ้นเดี๋ยวนี้ได้หรือไม่ ไม่ได้

    นี่คือการไม่ประมาทในการฟังธรรม เพื่อถึงความเป็นธรรม ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นที่เป็นปัญจทวาราวัชชนจิต ถ้าเป็นทางหู ก็เปลี่ยนเป็นโสตทวาราวัชชนะ ทวาร + อาวัชชนะ รำพึงหรือนึกถึงสิ่งที่กระทบ ขณะนั้นไม่ต้องมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย เห็นไหม ความละเอียดของวิริยะ จิตขณะที่เห็น ขยันหรือเปล่า จิตขณะที่รู้อารมณ์ที่กระทบเพราะถึงเวลาที่กรรมให้ผลต้องได้ยิน จะเป็นภวังค์อีกต่อไปไม่ได้เลย จิตนั้นมีวิริยะหรือไม่ ไม่มี ที่เราการศึกษาที่เราใช้คำว่า ธรรม ปรมัตถธรรม ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงลักษณะนั้นได้ และเป็นอภิธรรมด้วย เพราะเหตุว่าถ้าไม่ได้ทรงแสดงไว้โดยละเอียด ใครจะเข้าใจธรรม นอกจากวิสาขามิคารมารดาไปเฝ้าต้อนรับพระผู้มีพระภาค ได้ฟังธรรม ไม่ต้องพูดถึงเรื่องตาว่าประกอบด้วยเจตสิกเท่าไร ขณะนี้ปัญจทวาราวัชชนะ ไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไร เพราะท่านอบรมมามากที่จะละ ไม่ติดข้องในสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เพราะฉะนั้น พอฟังธรรม ธรรมจึงแจ่มแจ้ง สภาพธรรมก็ปรากฏตามความเป็นจริง คือเกิดขึ้น และดับไป ปัญญาก็สามารถประจักษ์แจ้ง เป็นวิปัสสนาญาณรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

    เพราะฉะนั้น ขณะนี้ที่ทุกคนฟังก็คือเพื่อถึงวันนั้น แต่ไม่ได้หมายความว่า จะไปเร่งรัดให้เข้าใจสภาพธรรมขณะที่กำลังฟังนี้ให้ได้ อย่างนั้นไม่ถูกต้อง เพียงแต่รู้ว่าแม้สภาพธรรมปรากฏก็ยังไม่รู้ เพราะฉะนั้นจะรู้ทางเดียวคือฟัง จนกว่าจะเป็นความเข้าใจว่าเป็นธรรม และเป็นอนัตตาอย่างมั่นคง ไม่ว่าภพไหน ชาติไหน ไม่ใช่ไปจำเรื่องพระสูตรทั้งหมด ตัวหนังสือนี้ว่าอย่างนี้ โยงไปถึงตรงนั้นตรงนี้นั้นไม่ใช่ แต่ฟังเพื่อเห็นความลึกซึ้งของธรรมว่า แม้ธรรมเป็นอย่างนี้จริงๆ ก็ยังไม่ถึงเวลาที่จะประจักษ์ความจริงของสภาพธรรมนั้น

    เพราะฉะนั้น ก็อบรมความรู้เพื่อละ ขณะนี้รู้หรือยังว่า วิริยเจตสิกเกิดกับจิตไหน ไม่เกิดกับอเหตุกจิต ๑๖ ดวง ปัญจทวาราวัชชนะไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่เวลาที่เห็นแล้วคิด ไม่ใช่สิ่งนั้นมาปรากฏเพราะถึงเวลาต้องได้ยิน หรือถึงเวลาต้องเห็นจริงๆ เห็นแล้วจำ เพราะฉะนั้น เวลาที่จะคิดถึงสิ่งที่เห็นแล้ว มีวิริยเจตสิกไหม มี เพราะฉะนั้น ขยันหรือไม่

    ผู้ฟัง ขยัน

    ท่านอาจารย์ ใครตอบว่า ขยันคะ เพราะเราจะไม่รู้หน้าที่การงานของเจตสิกที่ละเอียด และเกิดแล้วก็ดับเพียงชั่วขณะที่แสนสั้นที่สุด ใช้คำว่า “ที่สุด” เพราะเวลานี้เหมือนเห็นกับได้ยินพร้อมกันแล้ว แต่ความจริงห่างกันมาก เพราะมีจิตเกิดคั่นเกิน ๑๗ ขณะ และแต่ละขณะจิตนั้นก็มีเจตสิกเกิดขึ้นต่างๆ กัน มโนทวาราวัชชนะที่คิดถึงแม้มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย ขยันหรือไม่ ยังยืนยันหรือว่า ขยัน

    เรารู้จักเพียงบางส่วนของธรรม เท่าที่จะรู้ได้ กำลังโกรธ มีวิริยเจตสิกหรือไม่ ฟังมารู้ว่ามี แต่รู้ไหมว่า ขณะนั้นต้องมี ไม่ให้มีไม่ได้ แม้เพียงจะคิดถึงสิ่งที่เห็นแล้ว ยังต้องมีวิริยเจตสิก ยังไม่ปรากฏอาการของความขยันใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ใช่เดินไปหยิบหนังสือมาอ่านหรือเปิดธรรมฟัง เพียงแค่นึกแล้วก็ดับ มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย และจิตที่เกิดต่อก็เป็นไปตามจิตที่คิดนึกถึงเรื่องนั้น แล้วแต่ว่าคิดถึงอะไร คิดถึงสิ่งที่ทำให้เคยโกรธ ไม่พอใจ พอคิด โกรธเกิดแล้ว สะสมแล้ว เมื่อคิดแล้วก็โกรธทันที ขณะโกรธมีวิริยเจตสิกหรือไม่ มี แล้วใครรุ้

    เพราะฉะนั้น เวลาที่เรากล่าวถึงธรรม อย่าข้ามความลึกซึ้ง ความละเอียด แล้วคิดว่ารู้แล้ว เป็นไปไม่ได้ นอกจากเป็นผู้มีศรัทธาในการเข้าใจความเป็นอนัตตา ก็เมื่อฟังแล้วสามารถเป็นผู้ละเอียดที่จะไตร่ตรองว่า ขณะนี้กำลังปรากฏ ไม่ต้องไปจำว่า ก่อนเห็นมีปัญจทวาราวัชชนะ จิตเห็นเป็นจักขุวิญญาณ ดับไปแล้วเป็นสัมปฏิจฉันนะ เป็นวิบาก สันตีรณะเป็นวิบาก แล้วโวฏฐัพพนะ คืออีกกิจหนึ่งของมโนทวาราวัชชนะที่เกิดทางปัญจทวาร เกิดแล้วก็ดับ ต่อจากนั้นก็กุศลหรืออกุศลเกิดต่อ

    ด้วยเหตุนี้แม้แต่คำว่า “มนสิการ” ก็มี ๓ อย่าง อารัมมณปฏิปาทกมนสิการ เป็นมนสิการเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกประเภท ๑ ใน ๗ และวิถีปฏิปาทกมนสิการ หมายถึงปัญจทวารวัชชนจิต ถ้าจิตนี้ไม่เกิด จักขุวิญญาณหรือวิถีจิตใดๆ เกิดไม่ได้เลยทั้งสิ้นทางปัญจทวาร แต่แม้กระนั้นก็ไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่พอถึงโวฏฐัพพนะ โดยรูปนั้นๆ ยังไม่ดับ เสียงยังไม่ดับ กลิ่นยังไม่ดับ สิ่งที่ปรากฏทางตายังไม่ดับ รสแม้กระทบนิดเดียวก็ยังไม่ดับ ขณะนั้นมโนทวาราวัชชนะเกิดขึ้น ไมได้ทำอย่างจิตเห็น จิตได้ยิน สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ เป็นกิริยาจิตเกิดขึ้น มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    นี้คือความละเอียดที่จะใช้คำว่า ขยันหรือไม่ขยัน ได้แก่เจตสิกอะไร ก็เป็นเพียงบางส่วนที่เราสามารถจะเข้าใจได้ แต่การศึกษาธรรมโดยละเอียดที่เป็นอภิธรรม ประโยชน์สูงสุดคือ ให้เราเข้าใจมั่นคงขึ้นว่า ธรรมเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สำหรับไปสอบ หรือไปถาม แต่เพื่อเข้าใจถูกในความเป็นธรรมซึ่งเป็นอนัตตา ชาติหน้าเกิดใหม่ นึกออกไหม ชาติก่อนก็เคยฟังธรรมแล้ว และชาตินี้เกิดมาเป็นเด็ก เรียนหนังสือ วิชาการต่างๆ นึกออกไหมว่า เคยได้ยินคำว่า ธรรม เคยเข้าใจคำว่า ธรรม ถ้าไม่มีการฟัง จะไม่มีการระลึกได้

    นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เห็นว่า เมื่อเกิดเป็นมนุษย์ ใครจะเกิดรู้ขึ้นมาได้เอง แม้แต่ท่านพระสารีบุตร อัครสาวก ไปดูละครการละเล่นที่ยอดเขากับท่านพระมหาโมคคัลลานะ มีความคิดจากการสะสมได้ว่า คนเล่นก็ตาย คนดูก็ตาย สนุกทั้ง ๒ คน คนเล่นก็เพลิดเพลินในการเล่น คนดูก็เพลิดเพลินในการดู ก็ต้องตายหมด แล้วมีประโยชน์อะไร ที่ทุกสิ่งทุกอย่างเพียงชั่วคราวเท่านั้นจริงๆ

    นี่คือประโยชน์ของการสะสม แต่ยังไม่รู้ว่า เป็นธรรม ที่ไม่ใช่ตัวตน แต่เห็นความไม่แน่นอน ความไร้สาระ สิ่งที่พอใจไม่ยั่งยืน หรือสิ่งที่ไม่พอใจก็ไม่ได้ยั่งยืน เพราะเหตุว่าชั่วคราว หายไปแล้วหมด ถ้าสะสมอย่างนี้ แล้วเข้าใจอย่างนี้ มีโอกาสได้ฟังธรรม จะเข้าใจได้ง่าย เพราะรู้ว่าเป็นธรรมที่เคยฟัง และเคยเข้าใจมาแล้วนาน นานเท่าไรสำหรับท่านพระสารีบุตร ๑ อสงไขยแสนกัป

    เพราะฉะนั้น ขณะนี้ก็คือว่า ถึงจะจากโลกนี้ไปเมื่อไร วันไหน ก็ยังเป็นผู้ที่มีทรัพย์ ยังไม่ถึงอริยทรัพย์ แต่ก็เริ่มมีทรัพย์ที่ประเสริฐกว่าทรัพย์อื่น เพราะทรัพย์อื่นไม่ได้ให้สุขที่แท้จริง ทุกข์มากมายมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นโลกธรรมฝ่ายดี ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข คิดไปเองต่างหาก จิตเห็นเป็นลาภหรือไม่ ใครได้ลาภ กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ใครได้ เป็นลาภหรือไม่ เป็นหรือ ได้ลาภคือเห็น ก็ไม่มีทางหมดสิ้น เกิดเมื่อไรก็ได้อย่างนี้ จะขออะไร จะอธิษฐานอะไร ก็ต้องเห็น ต้องได้ยิน ต้องได้กลิ่น ต้องลิ้มรส ถ้าไม่มีสิ่งต่างๆ เหล่านี้ สิ่งที่เข้าใจว่า เป็นลาภ เป็นยศ เป็นสรรเสริญ สุข จะมีไหม ก็ไม่มี

    เพราะฉะนั้น ก็หวังไป ได้ไป ไม่จบ ถ้าเข้าใจว่า นี่เป็นลาภ ความจริงเป็นลาภหรือไม่ ก็ต้องฟังธรรมด้วยความละเอียด ค่อยๆ ไตร่ตรอง ค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    เพราะฉะนั้น ธรรมละเอียด แม้แต่คำว่า ขยัน ก็เป็นธรรม แล้วก็จะมีคำว่า ขยันอีกมากเลยในพระสูตร และเป็นความจริง และทำให้สามารถเห็นว่า เป็นธรรม

    อ.กุลวิไล จำได้ว่าท่านรัฐปาละกล่าวว่า ทรัพย์นำมาซึ่งทุกข์ แต่ชาวโลกคิดว่า สุขเมื่อได้ทรัพย์

    ท่านอาจารย์ แล้วเวลาที่ไม่มีทรัพย์

    อ.กุลวิไล ก็เป็นทุกข์

    ท่านอาจารย์ เป็นทุกข์หรือไม่เป็นทุกข์

    อ.กุลวิไล เป็นทุกข์

    ท่านอาจารย์ ค่ะ อาจจะมีมากกว่ามีทรัพย์ เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องของปัญญาที่จะเข้าใจพระพุทธพจน์ หมายถึงระดับไหน ที่ว่ามีทรัพย์มากก็เป็นทุกข์ เพราะติด ถ้ามีทรัพย์มากแล้วไม่ติดข้อง จะทุกข์ไหม ถ้าไม่ติดข้อง ไม่ทุกข์

    เพราะฉะนั้น ที่ทุกข์จริงๆ คือกิเลสที่ติดข้อง เพราะว่าทรัพย์จะมากจะน้อย ตามกรรมที่ได้กระทำแล้ว ทุกคนก็อยากมีทรัพย์มากๆ ซื้อสลากกินแบ่ง หรือลงทุนหุ้น แต่ว่าอะไรก็ตามที่ได้มาให้ทราบว่า ถ้าไม่ใช่ผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว ไม่มีทางที่สิ่งเหล่านี้จะเป็นไปได้ เพราะแม้แต่เห็นขณะนี้ ก็ยังไม่มีใครสามารถทำให้เกิดขึ้นได้ ใช่ไหม มาจากไหน ต้องเห็น

    เพราะฉะนั้น ถ้าจะรู้เรื่องกรรม และผลของกรรม ไม่ต้องข้ามไปไกลถึงทรัพย์ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เพียงแค่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ก็รู้แล้วว่า นี้คือผลของกรรม

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ถามว่า จิตเห็นเป็นลาภไหม ที่ตอบว่า เป็น เพราะเข้าใจว่า ศึกษาพระธรรมที่นี่ทำให้ได้เห็นสิ่งที่ดี ได้เห็นท่านอาจารย์ นั้นก็เป็นลาภที่ได้เห็นท่านอาจารย์แล้ว

    ท่านอาจารย์ มีคำว่า “ทัสนานุตริยะ” ขอเชิญคุณอรรณพค่ะ

    อ.อรรณพ เห็นแล้วเป็นอย่างไร ถ้าเห็นแล้วมีโอกาสเพิ่มศรัทธา การเห็นนั้นก็เป็นบาท เป็นมูลให้มีการอบรมเจริญปัญญาจนกระทั่งรู้ความจริง การเห็นนั้นก็เป็นทัสนานุตริยะ อย่างที่ท่านยกตัวอย่างการเห็นของท่านพระอานนท์ เห็นพระพุทธเจ้า ท่านก็เกิดศรัทธาบ่อยๆ มีความเลื่อมใส และเพิ่มพูนปัญญาจากการเฝ้าใกล้ชิด เป็นพุทธอุปัฏฐากที่เห็นพระพุทธเจ้าบ่อยๆ เห็นบุคคลที่เป็นกัลยาณมิตร ได้เห็น ได้คบ ได้ฟังธรรม และเป็นไปเพื่อเพิ่มพูนปัญญา ก็เป็นทัสนานุตริยะ จนถึงการบรรลุ

    ท่านอาจารย์ ถ้าเห็นแล้วติดข้อง ดีหรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ดี

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ไหนๆ เห็น ก็ควรเห็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ที่สุด ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ปรารถนาที่จะได้คบสัตบุรุษ และได้คบแล้ว แต่รู้สึกว่า ยังไม่เข้าใจธรรมพอ

    ท่านอาจารย์ แล้วอย่างไร

    ผู้ฟัง ก็ยังไม่แน่ใจว่า จะตายเมื่อไร

    ท่านอาจารย์ ตายเดี๋ยวนี้ กำลังจะตายแล้ว

    ผู้ฟัง ก็ได้คบท่านแล้ว

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ค่ะ ปรารถนาอะไร ต่อไปต้องเกิด

    ผู้ฟัง ปรารถนาได้พบสัตบุรุษ

    ท่านอาจารย์ แล้วถามว่า จะทำความปรารถนาอย่างไร ผิดแล้วใช่ไหมคะ กำลังปรารถนาอยู่ เป็นสิ่งที่มีประโยชน์กว่าทรัพย์สินเงินทองใดๆ ทั้งสิ้น เพราะว่าทรัพย์สินเงินทองนำมาซึ่งทุกข์ คือการติดข้องในทรัพย์สินเงินทอง แต่สัตบุรุษจะไม่ทำให้ติดข้องในทรัพย์สินเงินทอง หรืออย่างอื่น นอกจากเข้าใจธรรม

    อ.วิชัย ไม่ทราบว่าเมื่อได้คบกัลยาณมิตร แล้วจะอย่างไร เพราะเหตุว่าการได้คบหรือได้พบสัตบุรุษ ก็เพื่อต้องการฟังพระธรรม เพื่อความเข้าใจถูก ความเห็นถูก แต่ถ้าบุคคลใดก็ตามไม่ได้สะสมศรัทธามา ไม่ได้สะสมอัธยาศัยในการฟังพระธรรม แม้แต่ได้พบ จะฟังไหม ก็ไม่ฟัง เพราะเหตุว่าขณะนี้เองแต่ละท่านก็เป็นผู้ที่สั่งสมมาแล้ว ที่มาฟังก็เพื่อเข้าใจถูก เห็นถูก

    เพราะฉะนั้น ขณะที่มา ขณะนั้นก็เป็นการสั่งสมแล้ว ก็เป็นการมีอัธยาศัย ขณะที่เข้าใจถูก ถ้าพบคนพาลกับบัณฑิต แล้วจะพบใคร คำว่า ปรารถนาพบใคร เพราะเหตุว่าคนพาลก็แนะนำในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ทั้งหมดเลย แต่พบบัณฑิต หรือกัลยาณมิตร หรือสัตบุรุษซึ่งก็แนะนำให้ละเว้นการกระทำบาปต่างๆ หรือแนะนำให้เจริญกุศลขั้นต่างๆ สิ่งนี้คือประโยชน์เพื่อเห็นถูก เข้าใจถูกในการคบ

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์คะ ทีนี้รู้สึกว่า ท่านอาจารย์ถามว่า ก่อนตายปรารถนาอะไร

    ท่านอาจารย์ กำลังจะตาย

    ผู้ฟัง จากการศึกษาก็บอกว่า ขณะจิตเกิดดับเร็วมาก ในชีวิตประจำวันอกุศลจิตเยอะมาก แล้วขณะจิตที่ตายก็ไม่มั่นใจว่า จะระลึกถึงธรรมได้บ้างหรือไม่

    ท่านอาจารย์ บังคับไม่ได้เลย ใครบังคับก็ไม่ได้ ตัวเองก็บังคับไม่ได้ แต่ถ้าเห็นประโยชน์ กำลังสะสมการเข้าใจธรรม วันหนึ่งๆ ก็คิดเรื่องอื่นมาก แล้วไม่รู้ว่า จะตายตอนคิดอะไร ใช่ไหม เพราะฉะนั้น นี่เป็นความมั่นคงที่เวลานี้ทุกคนรู้ว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แต่แม้กระนั้นถ้ามั่นคง ใครจะรู้ว่า ขณะนั้นจะคิดถึงอะไร อย่างที่กล่าวเมื่อสักครู่ ใช่ไหม ถ้าเราคิดถึงธรรมบ่อยๆ เข้าใจธรรมมากขึ้น และคิดถึงเรื่องอื่นน้อยลง ขณะนั้นก็จะมีปัจจัยทำให้ระลึกถึงธรรม แล้วเห็นประโยชน์ของธรรม แต่ถ้าพูดถึงความปรารถนาจริงๆ ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ก็คือปัญญา แล้วปัญญามาจากไหน เราคิดเองได้ไหม หรือจากผู้ที่ถึงพร้อมด้วยศรัทธา แต่จะรู้ว่า ใครถึงพร้อมด้วยศรัทธา ต้องเรารู้จักศรัทธา เราถึงจะรู้ว่า ใครบ้างมีศรัทธาพอที่เราจะฟังแล้วเข้าใจธรรมได้

    ผู้ฟัง โดยปกติในชีวิตประจำวัน ท่านอาจารย์เคยกล่าวว่า ธรรมไม่เป็นอิสระ ดูเหมือนเป็นอิสระกับอกุศลที่ไหลมาโดยอิสระมาก แต่กุศลไม่อิสระจริงๆ

    ท่านอาจารย์ ไม่มีปัจจัยให้อกุศลเกิดหรือ ไหลมาเองหรืออย่างไร

    ผู้ฟัง ก็ไม่อยากให้เกิด ก็ไหลมา

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เรื่องไม่อยาก ฟังธรรมต้องละเอียด เพราะธรรมเป็นของละเอียด และลึกซึ้งด้วย เพราะฉะนั้น เวลาฟังเป็นเรื่องราว แล้วคิดจะถาม แต่ความละเอียดของธรรมที่ได้ฟังต้องรู้ว่า แต่ละคำลึกซึ้ง พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง กล่าวโดยประมวลเป็นธรรมขันธ์ ก็ได้ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ มากไหม จำนวนนี้ใครก็คงได้ยิน แต่ถ้าคิดเป็นคำ เท่าไร

    ผู้ฟัง นับไม่ได้เลย

    ท่านอาจารย์ เฉพาะหัวข้อ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขณะนี้ อย่างอกุศลจิต ๑๒ ก็ ๑ พระธรรมขันธ์ เป็นต้น ยังไม่มีใครคิดจะไปนับ เพราะเหตุว่านับแล้วเข้าใจหรือไม่ หรือจะนับไปทำไม ในเมื่อไม่ได้เข้าใจสิ่งที่กำลังนับอยู่

    ด้วยเหตุนี้คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าลึกซึ้ง คือให้เข้าใจสิ่งที่มีจริง โดยที่ผู้อื่นไม่สามารถกล่าวถึงได้ นอกจากปัญญาคุณที่ได้ทรงบำเพ็ญที่จะถึงความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    เพราะฉะนั้น ลองนึกถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แล้วนับไปทีละคำ เท่าไร แล้วเราฟังอะไร เราเห็นค่าของแต่ละคำว่า ต้องเป็นสิ่งที่ต้องเข้าใจ ไม่ใช่ฟังแล้วเมื่อไรจะมีสติเกิด ซึ่งโดยมากคนจะคิดอย่างนี้ ฟังมาตั้งนานแล้ว ก็ไม่เห็นสติเกิด แปลว่าฟังเพื่ออะไร กรุณาตอบท่านที่เคยถามว่า ฟังมาตั้งนานแล้วสติไม่เกิด ฟังเพื่ออะไร ฟังเพื่อให้สติเกิด หวังว่าฟังแล้วสติจะเกิด แต่เข้าใจสิ่งที่กำลังฟังหรือไม่ ทุกคำ แต่ละคำที่เป็นความลึกซึ้ง แม้แต่เพียงคำว่า “ฟัง” เมื่อสักครู่นี้ฟังมาก หลายนาที เข้าใจกี่คำ และกำลังฟังคิดเรื่องอะไรหรือไม่


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 173
    20 ม.ค. 2567