พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 560


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๖๐

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๒


    อ.วิชัย ถ้าเป็นความเห็นหรือไม่รู้

    ท่านอาจารย์ ไม่รู้เป็นอวิชชา เห็นผิดเป็นทิฏฐิเจตสิก

    อ.วิชัย ถ้าเกิดเข้าใจว่า

    ท่านอาจารย์ ความเข้าใจขณะนั้นเป็นปัญญา และเข้าใจว่าอะไร

    อ.วิชัย มีความเห็นเข้าใจผิด ในขณะนั้น

    ท่านอาจารย์ เข้าใจว่าเป็นธรรม แต่เห็นว่าเราสามารถทำได้ เพราะฉะนั้นความเข้าใจตรงไหนว่าเป็นธรรม ชื่อ

    อ.วิชัย จริงๆ เข้าใจขั้นการฟังยังไม่ละเอียดพอที่จะละอกุศลอื่นไม่ให้เกิดได้

    ท่านอาจารย์ ด้วยเหตุนี้จึงรู้ได้ว่า ปัญญาขั้นฟังจะต่างจากปัญญาที่ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรม ความรู้ขั้นฟัง ชื่อ เข้าใจได้ เปิดตำราได้ และจุดประสงค์ของการฟังก็ต่างกัน เพราะเหตุว่าบางคนศึกษาธรรมในแนวของการศึกษา บางคนอาจจะนับถือศาสนาอื่นก็ได้หรือไม่มีศรัทธาที่จะรู้ความจริง แต่สนใจที่จะรู้ว่า คำนี้ เรื่องนี้ คืออะไร เหมือนการศึกษาวิชาการต่างๆ นั่นไมใช่ศรัทธาด้วยความเข้าใจถูกต้องว่า เป็นสิ่งที่มีจริงที่สามารถประจักษ์แจ้งได้

    เพราะฉะนั้น การศึกษาก็ต่างกัน ศึกษาแบบต้องการรู้ตามหลักวิชาก็ไปเปิดตำราเล่มนั้นเล่มนี้แล้วจำเรื่องราว แต่ไม่ได้สนใจหรือเข้าใจถูกต้องว่า ไม่ใช่การเข้าใจธรรม เป็นแต่เพียงเรื่องราว เพราะตัวธรรมจริงๆ เกิดดับอยู่ตลอดเวลา

    อ.วิชัย ถ้าไม่เข้าใจเพียงพอ ก็เข้าใจเพียงขั้นฟังเท่านั้น ยังไม่รู้ลักษณะของธรรม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น คนที่ฟังเข้าใจ สังขารขันธ์จะปรุงแต่งอย่างหนึ่ง แต่คนที่ฟังแล้วต้องการอย่างอื่น ไม่ใช่ด้วยศรัทธาที่จะเข้าใจแล้วละความไม่รู้ ต่างกันแล้วใช่หรือไม่ คนที่ศึกษาเพื่อต้องการรู้หลักวิชากับคนที่ฟังเพื่อละความไม่รู้ เพื่อขัดเกลากิเลส เพราะเหตุว่าตราบใดที่ยังไม่รู้อยู่ อกุศลทั้งหลายที่แต่ละคนมี แต่มองเห็นอกุศลของคนอื่น ก็ไม่มีทางละอกุศลของตนเองได้ เพราะไม่รู้ว่า ทั้งหมดเป็นธรรม

    ผู้ฟัง เข้าใจคำว่า รูปธรรมกับนามธรรม ต้องมีความหมายแค่ไหน อย่างไรถึงเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการศึกษาต่อไป

    ท่านอาจารย์ ไม่ลืมว่า ศึกษาเพื่อเข้าใจในสิ่งที่ยังไม่เคยรู้มาก่อน คำแรกก็คือว่า “ทุกอย่างเป็นธรรม” เริ่มคิด เริ่มไตร่ตรองว่า ไม่ว่าอะไรที่กำลังปรากฏ ทั้งหมดมีจริงๆ เช่น สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาก็มีจริง เสียงก็มีจริง คิดก็มีจริง ทั้งหมดเป็นธรรม คือไม่ใช่ของใคร ไม่ใช่ใคร ไม่มีใครสามารถบังคับบัญชา ทำให้เกิดก็ไม่ได้ ทำให้หมดไปก็ไม่ได้ เป็นเรื่องของธรรมจริงๆ เข้าใจอย่างนี้หรือยัง เดี๋ยวนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างที่กำลังมีขณะนี้ เริ่มต้นคือฟังแล้วก็ฟังอีก จะเริ่มอีกว่า ขณะนี้เป็นธรรม สิ่งที่มีจริงเดี๋ยวนี้ จะไม่พูดถึงสิ่งอื่น แต่จะพูดถึงสิ่งที่กำลังปรากฏ ให้เริ่มจำ ให้สัญญาเริ่มเข้าใจพร้อมกับปัญญาที่เริ่มเห็นถูกว่า ขณะนี้เป็นสิ่งที่แม้มีจริง แต่ก็ไม่ได้รู้ความจริงของสภาพธรรม เพราะสภาพธรรมเกิด และดับไปอย่างรวดเร็ว อย่างเห็นกับได้ยิน แยกไม่ออกทั้งๆ ที่เป็นสภาพธรรมคนละอย่าง แต่เพราะเป็นสภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อ จึงปรากฏเหมือนกับพร้อมกัน

    เพราะฉะนั้น กำลังฟังธรรม ให้เข้าใจว่าทุกอย่างขณะนี้เป็นธรรม ตอนนี้เข้าใจหรือไม่ ต้องเข้าใจตรงนี้ก่อน อย่าเพิ่งไปถึงนามธรรม และรูปธรรม แม้แต่เพียงขณะนี้ที่จะเริ่มมีสัญญา มีความเข้าใจที่มั่นคงขึ้นว่า เป็นสิ่งที่มีจริงที่ควรรู้ยิ่ง จะไปรู้อะไรถ้าไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏขณะนี้ แล้วจะรู้ได้ไหม ถ้าไม่ใช่สิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้

    นี้คือการให้เป็นผู้มีเหตุผล เพราะปัญญาคือความเห็นถูก ต้องตรง และเป็นเหตุเป็นผล ไม่ใช่ตามใจชอบ คิดอย่างไรก็ได้ด้วยตัวของตัวเอง ผิดถูกอย่างไรก็ได้ นั่นคือไม่ใช่ปัญญา แต่ปัญญาต้องฟัง ไตร่ตรอง และเข้าใจในความเป็นจริง และในเหตุผล

    เพราะฉะนั้น ยังไม่ต้องถึงนามธรรม และรูปธรรม เพียงแต่ขณะนี้เริ่มเข้าใจไหม ขั้นการฟังไม่มีปัญหาเลย ชื่อก็แสนจะง่าย “ธรรม” คำเดียว ขั้นฟัง แต่สภาพจริงๆ ที่เป็นธรรม ตรงตามที่ว่า ไม่ใช่ของใคร ไม่มีใครสามารถทำให้เกิดขึ้น เกิดแล้วก็ดับไป ใครรู้

    นี่คือยังไม่รู้ความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ซึ่งควรรู้ยิ่ง เพราะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ด้วยเหตุนี้ขณะนี้ เมื่อไรสัญญาจะมั่นคง เมื่อกำลังเห็นก็เข้าใจถูกต้องว่า เป็นธรรมอย่างหนึ่ง ไม่เห็นเป็นสิ่งอื่น และเวลาคิดเกิดขึ้น ก็รู้ว่าขณะนั้นก็เป็นสภาพที่กำลังคิด เรื่องร้อยแปดพันเก้า แสนเรื่อง ก็มาจากความคิดทั้งหมด ถ้าจิตไม่คิด มีแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็น จบ ไม่มีอะไรเลยแต่ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะหลังจากที่เห็นแล้ว ก็ปรากฏพร้อมกับนิมิต สัณฐานที่ทำให้จำว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง แล้วก็มีเรื่องราวของสิ่งนั้นทั้งหมด เห็นต้นไม้รูปร่างสัณฐานอย่างนี้ ก็จำเป็นเรื่องของต้นไม้มากมายหลายเรื่อง พืชพันธุ์นานาชนิด เห็นเป็นสัตว์แต่ละชนิด นิมิตของสิ่งที่ปรากฏทางตา ทำให้จำได้ว่า เป็นสัตว์ชนิดไหน รูปร่างอย่างไร ก็เป็นเรื่องของสัตว์ชนิดนั้นไปมากมาย

    เพราะฉะนั้น เรื่องราวทั้งหมดก็มาจากสิ่งที่ปรากฏทางตา ธรรมดาอย่างนี้ แม้แต่ขณะนี้ มีเห็น ก็มีต้นไม้ มีคน มีวัตถุ มีโต๊ะ มีนาฬิกา มีเก้าอี้ นี่คือเรื่องราวของสิ่งที่ปรากฏให้เห็น เพราะฉะนั้นการฟังธรรมก็คือ เมื่อไรที่เข้าใจมั่นคงว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏแล้วก็หมดไป นี่คือการศึกษาแต่ละทางจนกระทั่งเข้าใจ มั่นคงขึ้นว่า ขณะนี้เป็นธรรม ไม่ใช่เรา และกำลังฟังให้เข้าใจลักษณะของธรรมที่กำลังมีจริงๆ ในขณะนี้ นี่คือเริ่มรู้ว่า ธรรมมีจริง และเดี๋ยวนี้กำลังปรากฏ ตั้งแต่เกิดจนตายมีธรรม ไม่ขาด แต่ไม่รู้ธรรมอะไรสักอย่างเดียว

    ด้วยเหตุนี้การฟังคือฟังให้เข้าใจสิ่งที่กำลังมี และเข้าใจสิ่งที่กำลังมีด้วย กำลังคิดถึงเรื่องอื่นหรือไม่ แล้วจะเข้าใจสิ่งที่กำลังฟังไหม และจะเข้าใจถึงสิ่งที่กำลังมีที่กำลังปรากฏในขณะนี้ไหม ในเมื่อกำลังฟังแล้วคิดเรื่องอื่น

    ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก่อนที่จะทรงแสดงพระธรรม ให้สนใจฟัง เพราะเหตุว่าเมื่อฟังแล้วจะเข้าใจในคำที่ทรงแสดงเรื่องของสภาพธรรม แต่ถ้าไม่สนใจ ต่างคนต่างก็คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ฟังธรรม ๑ ชั่วโมง จะเข้าใจธรรมร้อยละเท่าไร รู้ได้ด้วยตัวเอง ฟังแล้วเข้าใจ แล้วยังลืมอีก เพราะเหตุว่าสะสมความจำในเรื่องอื่นไว้มาก

    เพราะฉะนั้น จึงต้องฟังบ่อยๆ คำว่า “พหุสุตตะ” หมายความว่าผู้ฟังมาก ฟังมากไม่ได้หมายความว่า ฟังแล้วก็คิดเรื่องอื่น แต่ฟังแล้วก็เข้าใจสิ่งที่ได้ฟังลึกซึ้งขึ้น มากขึ้น เพราะเหตุว่าแต่ละคำสามารถทำให้เข้าใจสภาพธรรมอื่นตลอดไปอีกมากมาย เมื่อเข้าใจในสภาพธรรมนั้นเพิ่มขึ้น

    ด้วยเหตุนี้เพียงธรรมคำเดียว เดี๋ยวนี้เป็นธรรม พูดซ้ำแล้วซ้ำอีกก็เพื่อให้จำได้ ระลึกได้ว่า ขณะนี้สิ่งที่ปรากฏทางตามีจริง ใครทำให้เกิดได้ไหม ไม่ได้ ใครทำให้หมดไป ให้เป็นได้ยินก็ไม่ได้ แต่เมื่อมีปัจจัยที่ได้ยินจะเกิด เมื่อได้ยินเกิด หมายความว่าอย่างอื่นต้องไม่มี เพราะเหตุว่าสภาพธรรมปรากฏกับจิตทีละ ๑ ขณะ จะปรากฏหลายๆ อย่างพร้อมกันทีเดียวไม่ได้ แต่ทั้งหมดก็สามารถปรากฏได้แต่ละทาง

    เวลานอนหลับสนิท มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจด้วย แต่หลับสนิท จิตเป็นธาตุรู้ เป็นสภาพรู้ ขณะนั้นจิตรู้ แต่ไม่ใช่รู้สิ่งที่ปรากฏขณะที่เห็น ไม่เหมือนกัน ไม่เหมือนกับขณะที่กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส กำลังคิดนึก เหมือนไม่มีอะไร เพราะว่าจิตขณะนั้นเกิดขึ้นทำภวังคกิจ ดำรงภพชาติ เพียงยังไม่ให้พ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้ แต่หลังจากนั้นคือต้องเห็น มีปัจจัยพร้อมที่จะให้จิตประเภทที่ต้องอาศัยตาจึงสามารถเกิดได้ และต้องเป็นเพราะอดีตกรรมที่ได้กระทำแล้วที่ทำให้รู้สิ่งที่ปรากฏทางตานั้น เกิดแล้วยังไม่ดับไป นี่แสดงให้เห็นถึงชีวิตแต่ละขณะสั้นมาก น้อยมาก แม้ว่าเป็นอนัตตา แต่ต้องเป็นไปตามปัจจัย ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงได้

    เข้าใจธรรม แล้วยังไม่เข้าใจลักษณะที่เป็นนามธรรม และรูปธรรม ทั้งๆ ที่ขณะนี้นามธรรมไม่ใช่รูปธรรม รูปธรรมก็มีจริง นามธรรมก็มีจริง แต่ฟังให้เข้าใจก่อนว่าเป็นธรรม แล้วต่อจากนั้นก็จะรู้ว่า ลักษณะที่เป็นรูปธรรม ไม่ใช่ชื่อ มาบอกเราแล้วให้จำว่าเสียง มองไม่เห็น แต่ปรากฏเป็นรูปธรรม ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ต้องในขณะเดี๋ยวนี้เสียงปรากฏ ขณะที่เสียงปรากฏนั้นเอง ลักษณะของเสียงเปลี่ยนเป็นแข็งไม่ได้ เปลี่ยนเป็นหวานไม่ได้ เพราะฉะนั้นลักษณะของเสียงเป็นธรรม แล้วจะเข้าใจลักษณะนั้นเมื่อชิน คุ้นกับสภาพธรรมนั้นว่า นั่นไม่ใช่สภาพรู้อะไร ไม่เหมือนคิดนึก ไม่เหมือนกำลังลิ้มรส ไม่เหมือนกำลังจำได้

    ด้วยเหตุนี้คำว่า “รูปธรรม” ไม่ใช่ให้ไปท่อง ให้ไปจำ ให้คนอื่นบอก แต่ต้องเป็นเพราะลักษณะนั้นปรากฏ อย่างเสียงปรากฏแล้ว และเมื่อคุ้นเคย ชินกับลักษณะของเสียง ก็รู้ว่า เป็นเพียงลักษณะหนึ่งซึ่งปรากฏเมื่อจิตได้ยินเกิดขึ้น

    นี่คือเริ่มเห็นความต่างของนามธรรม และรูปธรรม ไม่ใช่เพียงขั้นว่า พอได้ยินมาก็พูดตาม และจำกัน พอชัดเจนไหมว่า นามธรรมเป็นอย่างไร รูปธรรมเป็นอย่างไร

    ผู้ฟัง พอเข้าใจขึ้นนิดหนึ่งว่า ต้องเป็นการเริ่มต้นใหม่จริงๆ ขอถามเรื่องเสียง ขณะนี้มีเสียงซ้อนๆ กัน

    ท่านอาจารย์ ที่บอกว่า เสียงซ้อนกัน ก็แสดงว่า รู้ว่า มี ๒ เสียง หรือ ๓ – เสียง แล้วปรากฏเหมือนพร้อมกัน จึงกล่าวว่าซ้อนกัน แต่ที่รู้ว่า ๑ ๒ เสียง ก็แสดงว่าเสียงต้องปรากฏทีละขณะ ทีละอย่าง และไม่ซ้อนด้วย แต่เร็วมาก

    ผู้ฟัง ตรงที่ท่านอาจารย์แสดงว่า เสียงปรากฏ จะกราบเรียนถามว่า เสียงปรากฏอย่างไรถึงเป็นเพียงแค่เสียง ท่านไม่กล่าวว่าเป็นเสียงใดเสียงหนึ่ง แต่บอกว่า เสียงปรากฏ

    ท่านอาจารย์ คำว่าเสียงปรากฏ หมายความว่า เคยเข้าใจว่าต้องมีรูปร่างใช่ไหมคะ เวลาที่กล่าวว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏ คิดว่าจะปรากฏต่อเมื่อมีรูปร่างใช่ไหมคะ จึงใช้คำนี้ แต่คำว่า ปรากฏ หมายความว่า ขณะนั้นมีสิ่งหนึ่งให้รู้ว่า สิ่งนั้นมี ไม่ใช่ไม่มี อย่างเสียง มีไหม เพราะฉะนั้น คำว่า “ปรากฏ” ของเสียงก็คือให้รู้ว่า เสียงมี ไม่ใช่รูปร่างสัณฐานอย่างทางตา แต่เพราะเสียงมี จึงใช้ว่า เสียงปรากฏ เพราะการปรากฏของเสียง ไม่ใช่การปรากฏของกลิ่น ไม่ใช่การปรากฏของรส แต่สิ่งนี้มี เมื่อรู้ว่าสิ่งนี้มีเมื่อไรก็หมายความว่าที่รู้อย่างนั้นเพราะว่าสิ่งนั้นปรากฏให้รู้ว่ามี ไม่จำเป็นต้องเป็นรูปร่าง

    เพราะฉะนั้น ขณะที่ได้ยินเสียงเดี๋ยวนี้เอง เสียงปรากฏ หรือไม่มีเสียง เสียงมีเมื่อไร นั่นคือเสียงปรากฏ สภาพที่เป็นเสียงเมื่อนั้นหรือเสียงมีจริงๆ

    เพราะฉะนั้น แม้แต่คำว่า “ปรากฏ” ก็ต้องเข้าใจด้วย แสดงว่าสิ่งนั้นมีจริง หวาน รสหวานมีจริงๆ ไหมคะ เพราะรสหวานปรากฏความหวานให้รู้สภาพหวาน แล้วก็รู้ว่า หวานมีจริงๆ เพราะฉะนั้น ขณะนั้นหวานปรากฏ ไม่ใช่เสียงปรากฏ ไม่ใช่กลิ่นปรากฏ

    ผู้ฟัง เป็นความยากจริงๆ

    ท่านอาจารย์ ชีวิตประจำวันแต่ไม่เคยรู้ว่าเป็นธรรม ถ้าถามว่า ตอนนี้เห็นไหม ยากไหมคะ ธรรมดาตื่นมาก็เห็นแล้ว

    ผู้ฟัง ถ้าถามแบบนี้ ขณะนี้ตอบได้ว่าไม่ยาก เพราะกำลังเห็นอยู่ แต่ไม่เข้าใจลักษณะ อาจจะก้าวกระโดดไปที่ท่านถามว่า เห็นไหม เห็นเป็นอย่างไร แล้วก็ไปหาว่าเป็นอย่างไร ทั้งๆ ที่กำลังปรากฏอยู่

    ท่านอาจารย์ ทั้งๆ ที่กำลังเห็น แสดงว่าเห็นมีจริงๆ เพราะฉะนั้น การรู้ว่าเห็นเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ไม่ง่าย

    ผู้ฟัง อย่างนั้นถามท่านอาจารย์แบบนี้ได้ไหมว่า ทั้งๆ ที่เขาอยู่ เขามี แล้วท่านก็แสดงว่าเกิดปรากฏอยู่ตลอดเวลา แต่ทำไมถึงรู้ได้ยากทั้งๆ ที่อยู่ติดตัวตลอดเวลาแบบนี้

    ท่านอาจารย์ ธรรมเป็นสิ่งที่มีจริงหรือไม่มีจริง

    ผู้ฟัง มีจริงค่ะ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เห็นมี แต่ไม่รู้ แสดงว่าความไม่รู้มีแน่นอน และความไม่รู้ซึ่งเป็นภาษาไทย ภาษาบาลีใช้คำว่า อวิชชา ก็ตรงกับคำที่ได้ยินบ่อยๆ อวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขาร จิตที่เป็นอกุศล สภาพที่ไม่ดีงามเกิดขึ้นก็ต้องมีสภาพที่ไม่รู้ หลง ไม่เข้าใจถูกต้องในสภาพธรรมนั้น ซึ่งเป็นอีกชื่อหนึ่งของอวิชชา คือ โมหะ ก็คือเดี๋ยวนี้ ถ้าไม่เข้าใจเมื่อไรก็คือธรรมที่ทรงแสดงว่า ขณะที่เข้าใจไม่ใช่ขณะที่ไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้น ไม่เข้าใจขณะไหนก็จริง กำลังไม่เข้าใจจะให้เป็นเข้าใจได้อย่างไร และขณะที่เข้าใจก็ไม่ใช่ขณะที่ไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้น ขณะที่ไม่เข้าใจก็เป็นธรรม ขณะที่เข้าใจก็ต่างกับธรรมที่ไม่เข้าใจ เพราะเหตุว่าเป็นสภาพที่สามารถเข้าใจ

    ด้วยเหตุนี้ปัญญาเป็นอีกชื่อหนึ่งของวิชชาหรือความเห็นถูก ตรงกันข้ามกับโมหะหรืออวิชชา ทั้งหมดเป็นชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้นจึงทรงแสดงว่า เป็นธรรมทั้งหมด และไม่ใช่ของใคร มีปัจจัยก็เกิดขึ้น และหมดไปอย่างเร็วมาก ถ้าไม่ฟังธรรมด้วยการค่อยๆ เข้าใจถูกต้องขึ้น จะไม่รู้ว่า ความจริงเป็นอย่างนี้ตั้งแต่เกิดจนตาย ทุกชาติด้วย

    ตอบปัญหาเรื่องนามธรรม และรูปธรรมด้วยหรือไม่ หรือยังไม่ได้ตอบ

    ผู้ฟัง ถ้าตามความเข้าใจขณะนี้ เหมือนกับว่า ถ้าเข้าใจเรื่องของธรรม แล้วจะเข้าใจเรื่องนามธรรม และรูปธรรม

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไรคะ

    ผู้ฟัง เพราะมีความเข้าใจในความเป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ เพราะเป็นธรรม เมื่อเข้าใจว่าเป็นธรรม ก็เข้าใจเพิ่มขึ้นๆ ๆ แล้วก็จะรู้ลักษณะที่ต่างกัน ลักษณะนั้นก็เป็นอย่างหนึ่ง อย่างเสียงขณะนี้ไม่มีทางปรากฏให้เห็นว่า สูง ต่ำ ดำ ขาว แต่เป็นเสียงสูง เสียงต่ำ ก็มีลักษณะเฉพาะของเสียงนั้นๆ และแม้สิ่งนี้จะมีจริง แต่ถ้าจิตซึ่งเป็นสภาพรู้ ธาตุรู้ไม่เกิดขึ้นได้ยิน เสียงก็ปรากฏไม่ได้ว่ามีเสียง เหมือนกับคนตาบอด สีสันวัณณะก็มี แต่สำหรับคนที่ไม่มีจักขุปสาท สีสันวัณณะที่ปรากฏกับคนอื่นที่จิตเห็นเกิดขึ้นเห็น แต่คนนี้ไม่มีจิตเห็นเกิดขึ้น แม้สีสันวัณณะมีจริงก็ไม่ปรากฏกับคนตาบอด

    เพราะฉะนั้น “ปรากฏ” ก็คือเมื่อใดที่จิตเป็นสภาพรู้ กำลังรู้สิ่งนั้น สิ่งนั้นจึงปรากฏให้รู้ว่ามีจริงๆ เป็นธรรม และถ้าคุ้นเคยขึ้นจะเข้าใจความหมายของนามธรรม และรูปธรรม สภาพใดที่ไม่ใช่สภาพรู้ แต่มีจริง เกิดขึ้นเมื่อไรก็เป็นรูปธรรม สภาพรู้ ไม่มีรูปร่าง จะไปหารูปร่างของโลภะ โทสะ สัญญา ความรู้สึกต่างๆ ก็ไม่ได้ แต่ว่ามีจริงๆ ลักษณะสภาพรู้ทั้งหมดก็เป็นนามธรรม แต่ถ้าจำเพียงว่า สี สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นรูปธรรม เห็นเป็นนามธรรม ก็ไม่ได้เข้าใจอะไร แต่ถ้าเข้าใจธรรม และเริ่มเข้าใจขึ้น เข้าใจขึ้น ลักษณะของธรรมทั้งหลายก็จะปรากฏให้เห็นความต่างของสภาพธรรมนั้นๆ ซึ่งก็มีความต่างเป็น ๒ อย่างเท่านั้น คือ สภาพหนึ่งไม่สามารถรู้อะไรได้เป็นรูปธรรม ส่วนสภาพที่ไม่ใช่รูปธรรม ทั้งหมดก็เป็นนามธรรม

    ผู้ฟัง ขณะนี้แข็งที่เกิดขึ้นตอนนี้ไม่ชัดเจน

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวก่อนค่ะ แข็งไม่ชัดเจนหรือคะ

    ผู้ฟัง ไม่ใช่แข็ง เพราะเป็นไมโครโฟน

    ท่านอาจารย์ ทำไมใช้คำว่า ไม่ชัดเจน

    ผู้ฟัง ตอนที่สัมผัสไมโครโฟนแล้วคิดว่าแข็ง

    ท่านอาจารย์ ลักษณะแข็ง มีหรือไม่ จะพูดถึงแข็ง พูดถึงสิ่งที่มีหรือสิ่งที่ไม่มี

    ผู้ฟัง ตอนนี้มีอยู่

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าแข็งมี เมื่อมีสภาพที่กำลังรู้ความแข็งหรือลักษณะที่แข็งเดี๋ยวนี้ อะไรก็ตามที่แข็ง ก็เพราะเหตุว่าขณะนั้นมีสภาพรู้ลักษณะที่แข็ง จึงปรากฏลักษณะที่แข็งได้

    ขณะที่เห็น ขณะเห็น แข็งหรือไม่ เพราะอะไร ทำไมเห็น ไม่เห็นสิ่งที่แข็ง

    ผู้ฟัง เพราะว่าเห็น ต้องเห็นสี หรือสิ่งที่ปรากฏเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ ต้องมีสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ในขณะที่เห็น สิ่งอื่นจะปรากฏไม่ได้ เสียงปรากฏไม่ได้ กลิ่นปรากฏไม่ได้ แข็งปรากฏไม่ได้ ในขณะที่เห็นต้องเห็นเพียงสิ่งที่สามารถปรากฏให้เห็นได้เท่านั้น หมายความว่าปรากฏให้เห็นได้ทางตา คือจิตเห็นเกิดขึ้นเห็น

    เพราะฉะนั้น ในขณะที่แข็งปรากฏ จิตไม่ได้เห็นแต่กำลังรู้ลักษณะที่แข็ง แสดงให้รู้ว่า แข็งมี เพราะจิตกำลังรู้ลักษณะที่แข็ง

    เพราะฉะนั้น คำถามเมื่อสักครู่นี้ว่าอย่างไรคะ

    ผู้ฟัง ขณะที่จับไมโครโฟนแล้วคิดคำว่าแข็ง

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวค่ะ ขณะที่จับไมโครโฟนแล้วคิดคำว่าแข็ง แสดงว่าไม่มีลักษณะแข็งปรากฏเลยหรือ เห็นหรือไม่ว่าข้ามไปแล้ว ใช้คำว่า จับไมโครโฟนแล้วคิดคำว่าแข็ง แต่ความจริงข้ามไปแล้วว่า ขณะที่จับไมโครโฟน ความจริงแข็งปรากฏแน่นอน

    ผู้ฟัง แต่ไม่ได้รู้ลักษณะของแข็ง แล้วไปคิดว่าแข็ง

    ท่านอาจารย์ ถูกต้องค่ะ ข้ามไปเลย ไปจำไว้ว่า กำลังถืออะไรอยู่ ไม่มีวันที่จะรู้จักสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ถ้าไม่รู้สิ่งที่สามารถกระทบตาแล้วปรากฏได้ กระทบหูแล้วปรากฏได้ กระทบจมูกแล้วปรากฏได้ กระทบลิ้นแล้วจึงปรากฏได้ กระทบกายเมื่อไรจึงปรากฏได้ นี่คือธรรม ไม่ใช่เรา

    เพราะฉะนั้น ความเข้าใจที่เกิดจากการฟังธรรม จะเห็นได้ว่า กว่าจะเข้าใจตัวธรรมที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ว่า เป็นธรรม ต้องอาศัยความเข้าใจที่ละเอียด ไตร่ตรอง แล้วมีสภาพธรรมกำลังปรากฏให้พิจารณาว่า สิ่งที่กำลังได้ยินได้ฟังถูกต้องไหม อย่างจับไมโครโฟนแล้วคิดว่า ผ่านอะไรไปตั้งหลายอย่าง แค่จับสิ่งหนึ่งสิ่งใดต้องแข็งหรืออ่อน เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหวเท่านั้นที่ปรากฏ หลังจากนั้นก็คิดแล้วก็จำ และคิดถึงคำด้วย ก็เป็นชีวิตที่เป็นไปอย่างรวดเร็วสุดที่จะประมาณได้ จึงเหมือนมายากล


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 173
    13 ม.ค. 2567