พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 569


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๖๙

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๒


    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีตา รูปหนึ่งซึ่งอยู่กลางตาที่เกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย ที่จะเป็นรูปที่มีลักษณะสามารถกระทบกับสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็นขณะนี้ สิ่งที่ปรากฏขณะนี้ก็จะปรากฏไม่ได้ แต่ถึงแม้ว่าจะมีจักขุปสาทที่สามารถกระทบกับสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ แต่ถ้าไม่ถึงกาลที่กรรมจะให้ผล ให้จิตเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดีก็ตามที่กระทบกับจักขุปสาท จิตก็เกิดขึ้นเห็นไม่ได้

    เพราะฉะนั้น เดี๋ยวนี้เองกำลังเห็นมีตาแน่นอน แล้วมีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น ๒ อย่าง เป็นปัจจัยให้จิตเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้น เมื่อจิตนี้ต้องอาศัยจักขุ คือ จักขุปสาท ซึ่งเป็นทาง เป็นทวารที่จะกระทบกับสิ่งที่ปรากฏ จิตนี้เกิดไม่ได้ถ้าไม่มีจักขุปสาท แต่เพราะมีจักขุปสาทจึงเกิดขึ้นเห็นรูปที่กระทบกับจักขุปสาทได้ เพราะฉะนั้น จิตนี้อาศัยจักขุปสาทเป็นทวาร เป็นทางเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่กระทบจักขุปสาท

    ผู้ฟัง ทวารก็เป็นนามธรรม

    ท่านอาจารย์ ทวารเป็นรูป เป็นรูปพิเศษที่อยู่ที่ตัว ตลอดทั้งตัวจะมีรูปที่มีอากาศธาตุแทรกคั่นอย่างละเอียด แต่รูปหนึ่งเท่านั้นที่สามารถกระทบกับสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ เหมือนเสียง เสียงไม่ได้อยู่ที่ตัวขณะที่เสียงปรากฏขณะนี้ เสียงกระทบกับโสตปสาท ถ้าไม่มีรูปที่มีลักษณะพิเศษที่สามารถกระทบเสียง เสียงไม่สามารถปรากฏหรือกระทบอะไรได้นอกจากกระทบกับโสตปสาท เมื่อเสียงเกิดกระทบโสตปสาทเป็นปัจจัยให้จิตได้ยิน ไม่ใช่จิตเห็น จิตซึ่งเป็นธาตุที่เกิดขึ้นได้ยินเสียงที่กระทบกับโสตปสาท เฉพาะเสียงนั้นเท่านั้น

    เพราะฉะนั้น ขณะนั้นจิตได้ยินเสียงนั้น อาศัยโสตปสาทเป็นทาง หรือเป็นทวารที่เกิดขึ้นแล้วรู้ คือ ได้ยินเฉพาะเสียงที่กระทบเท่านั้น

    เพราะฉะนั้น ที่ตัวก็มีจักขุปสาท มีโสตปสาท ขณะที่เห็น ขณะที่ได้ยิน ได้กลิ่นไหม เวลาได้กลิ่น ก็ต้องมีรูปที่ตัวที่สามารถกระทบกลิ่น เพียงเท่านั้นยังไม่พอ เพราะรูปไม่สามารถรู้อะไรได้ ถึงสามารถกระทบกับกลิ่น แต่รูปก็ไม่รู้กลิ่น ด้วยเหตุนี้รูปเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้ธาตุรู้กลิ่นเกิดขึ้น เมื่อมีการกระทบกันของกลิ่นกับฆานปสาท ฆานปสาทหมายความถึงจมูก หรือรูปที่สามารถกระทบกลิ่นได้ อยู่ในโพรงจมูก กลางจมูกข้างใน เมื่อมีกรรมเป็นปัจจัยทำให้จิตซึ่งเป็นผลของกรรมเกิดขึ้นต้องได้กลิ่นนั้นขณะนั้น จิตนั้นก็เกิดขึ้นรู้เฉพาะกลิ่นที่กระทบกับฆานปสาทนั้นที่ยังไม่ดับไป

    เพราะฉะนั้น จิตเกิดขึ้นได้กลิ่น โดยต้องอาศัยฆานปสาทรูปนั้นเป็นทาง ที่ทำให้รู้กลิ่นนั้นได้ ด้วยเหตุนี้ฆานปสาทก็เป็นทาง หรือเป็นทวารที่ทำให้จิตเกิดขึ้นรู้กลิ่น

    ทั้งหมดก็มีจักขุปสาท โสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาท ชิวหาปสาท ความหมายถึงรูปที่อยู่กลางลิ้นที่สามารถกระทบกับลิ้น ต้องกระทบ แต่ชิวหาปสาทไม่รู้รส เพราะสภาพรู้เป็นจิต และเจตสิก ไม่ใช่รูป ด้วยเหตุนี้การกระทบกันเป็นปัจจัยให้ถึงกาลที่กรรมให้ผลว่าจะต้องเกิดขึ้นรู้รสนั้น จิตก็เกิดขึ้นรู้เฉพาะรสนั้นที่กระทบเท่านั้น แล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้น ชิวหาปสาทก็เป็นทางหรือทวารหนึ่งสำหรับให้รสต่างๆ ปรากฏเมื่อจิตเกิดขึ้น และรู้หรือลิ้มรสนั้น

    สำหรับกายปสาทก็ซึมซาบอยู่ทั่วตัวทั้งภายใน ภายนอก เว้นบางแห่งที่ไม่สามารถกระทบกับเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว ซึ่งขณะใดที่รู้สึกเย็น มองเห็นเย็นไหม แต่เย็นนั้นกระทบกายปสาท ทำให้จิตเกิดขึ้นรู้สภาพที่เย็น ขณะนั้นเย็นปรากฏ วันนี้เย็นไหม เย็นเพราะจิตเกิดขึ้นรู้ลักษณะของเย็นที่กระทบกายปสาท ถ้าร้อน มองเห็นร้อนไหม ไม่เห็น แต่ร้อนมีจริงๆ เมื่อปรากฏเพราะกายปสาทเกิดขึ้นเมื่อร้อนกระทบกาย ถ้าร้อนยังไม่กระทบกาย ลักษณะร้อนก็ปรากฏไม่ได้ เมื่อกระทบแล้วยังแล้วแต่กรรมเป็นปัจจัยให้จิตเกิดขึ้นรู้ร้อนนั้นหรือไม่ อย่างเวลาเป็นไข้ตัวร้อน เวลานอนหลับสนิทไม่รู้ เพราะฉะนั้นกายปสาทที่รู้ร้อนก็เฉพาะเมื่อจิตเกิดขึ้นโดยอาศัยร้อนกระทบกายเท่านั้นไม่พอ ยังมีจิตเกิดขึ้น และกำลังรู้ร้อนนั้นด้วย

    เพราะฉะนั้น ขณะใดที่ร้อนปรากฏ ไม่ได้อาศัยตา หู จมูก ลิ้น แต่อาศัยกายปสาทเป็นทางหรือเป็นทวาร

    นี้พูดถึงขณะที่จิตเกิดขึ้น แม้ว่าเป็นธาตุรู้ซึ่งเกิดขึ้นต้องรู้ แต่จะเห็นความหลากหลายของจิตที่ไม่มีใครบังคับบัญชาได้ เพราะฉะนั้นจิตจึงต้องอาศัยรูปเป็นทางที่จะเกิดขึ้น เพราะรูปนั้นกระทบปสาทนั้น

    ด้วยเหตุนี้จิตเห็นเกิดที่จักขุปสาท รู้สิ่งที่กระทบ และในขณะนี้ถ้าพูดถึงในภูมิที่มีรูป จิตที่เกิดขึ้นต้องอาศัยรูปหนึ่งรูปใดเกิดขึ้นเสมอ ที่ตัวก็เป็นที่เกิดของจิตแต่ละประเภท เช่น จิตที่รู้เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ก็อาศัยกายปสาทที่เกิดแล้วยังไม่ดับ แล้วแต่ว่าเป็นส่วนใดของกาย

    เพราะฉะนั้น ขณะที่จิตเห็นเกิดขึ้นโดยอาศัยตาเป็นทางรู้อารมณ์ และเป็นที่เกิดด้วย แสดงให้เห็นว่า ขณะนี้ใครจะรู้ว่าที่จักขุปสาทมีจิต และเจตสิกเกิดที่นั่น แล้วก็ดับไป แต่จิตขณะต่อไปเนื่องจากไม่ได้ทำทัสนกิจ จึงเกิดที่หทยวัตถุ เพราะฉะนั้น เว้นจิต ๑๐ ประเภทนี้ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิตจะเกิดที่หทยวัตถุ

    เพราะฉะนั้น ที่เกิดของจิตจึงมี ๖ และทางรู้อารมณ์ก็มี ๖ แต่ทางที่ทำให้รู้อารมณ์ แต่วัตถุเป็นที่เกิดของจิต

    เพราะฉะนั้น ความละเอียดก็คือว่า ขณะนี้มีจิตเห็น เกิดที่จักขุปสาท แต่ก่อนจิตเห็นจะเกิด จิตนั้นเกิดที่หทยวัตถุ เมื่อจิตเห็นดับแล้ว จิตต่อๆ ไปเกิดที่หทยวัตถุ

    ผู้ฟัง ถ้าเกิดนึกคิดอย่างเดียว ก็นึกคิดอย่างเดียว ไม่มีทวาร

    ท่านอาจารย์ มีมโนทวาร ไม่อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ไม่อาศัยรูปคิดนึกเกิดได้ เพราะจิตต้องเกิดรู้อารมณ์อยู่แล้ว

    ผู้ฟัง ก็คือเกิดต่อนึกคิดถึงเรื่องราวที่ผ่านมา

    ท่านอาจารย์ ขณะเกิด จิตขณะแรกต้องมีกัมมชรูปเป็นที่อาศัยเกิด รูปที่เกิดพร้อมกรรม กรรมที่ให้จิตเกิดขึ้น ไม่ได้มีเฉพาะจิต และเจตสิกเท่านั้นที่เกิดเพราะกรรม ยังมีรูปที่กรรมเป็นปัจจัยให้เกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิต และเจตสิกด้วย มิฉะนั้นแล้วจะไม่มีรูปสืบต่อมาจนกระทั่งถึงขณะนี้

    เพราะฉะนั้น ขณะนั้นรูปที่เป็นที่เกิดของจิต เป็นวัตถุ เมื่อเป็นที่เกิดของจิต ก็เป็นหทยวัตถุ เป็นที่เกิดของจิตเรื่อยมา จนกว่าจะถึงขณะที่จักขุวิญญาณเกิดเมื่อไร จักขุวิญญาณเท่านั้นที่เกิดที่จักขุปสาท ซึ่งเป็นวัตถุด้วย เป็นที่เกิดของจักขุวิญญาณนั่นเอง

    นี่ก็แสดงความละเอียดว่า อย่างไรๆ จิตก็ต้องเกิดรู้อารมณ์ แต่จะเกิดที่ไหน เว้นจิต ๑๐ ประเภทนั้นแล้วเกิดที่หทยวัตถุ

    นี่คือความต่างของทวารกับวัตถุ ใครรู้ได้ เข้าใจได้ว่าเป็นอย่างนั้น แต่รู้ไม่ได้ นอกจากปัญญาที่จะถึงระดับที่สามารถรู้ได้

    ผู้ฟัง อย่างนี้ภวังคจิตก็เกิดที่หทยวัตถุใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ตั้งแต่ขณะปฏิสนธิตลอดมา เว้นขณะที่เป็นจักขุวิญญาณเท่านั้นที่เกิดที่จักขุปสาท เพราะฉะนั้น จักขุปสาทเป็นทวารสำหรับจิตใดๆ ก็ตามที่มีสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอารมณ์ แต่ถ้าเป็นที่เกิดแล้ว เป็นที่เกิดเฉพาะจักขุวิญญาณเท่านั้นเอง

    ผู้ฟัง อย่างอื่นก็เกิดที่จักขุไม่ได้ ยกเว้นเห็นเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ทำกิจเห็น จิตอื่นไม่ได้ทำทัสนกิจ

    ผู้ฟัง จักขุดับไปแล้ว เกิดต่อทางหทยวัตถุ

    ท่านอาจารย์ แล้วรู้โดยอาศัยจักขุปสาทเป็นทวาร แต่ไม่ใช่วัตถุ เป็นเพียงทางที่จะรู้สิ่งที่ยังไม่ดับ ที่กระทบกับจักขุปสาท แต่จิตอื่นที่ไม่ใช่จักขุวิญญาณ เกิดที่หทยวัตถุ

    ผู้ฟัง จะทราบได้อย่างไรว่า พระธรรมคำสอนไหนจริง แต่ละที่กล่าวว่า ของเขาถูกต้อง จะพิสูจน์ด้วยตัวเองได้อย่างไร และจะค่อยๆ อดทนฟังให้เข้าใจได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ พระธรรมมีของใครหรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่มีของใคร

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจคำว่า ธรรมคืออะไร ทุกคำไม่เผิน เวลาได้ยินเหมือนรู้ แต่ความจริงไม่รู้ เพราะฉะนั้น ควรเข้าใจทุกคำที่ได้ยินได้ฟัง เช่น คำว่า “ธรรม” คืออะไร หมายความว่าอะไร ถ้าบอกว่า ทุกแห่งก็แสดงธรรม ธรรมของคนโน้นของคนนี้ ก็คือยังไม่ได้เข้าใจว่า ธรรมคืออะไร

    จะได้ยินบ่อยๆ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พระธรรมก็คือคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงแสดงความจริงของสิ่งที่พระองค์ทรงตรัสรู้ และหนทางที่ทำให้รู้ความจริงนั้นด้วย นี่คือพระธรรม

    ก็แสดงว่า ถ้าไม่มีการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เรารู้ความจริงแล้วหรือยัง แล้วความจริงนั้นคืออะไร เพราะเหตุว่าก็กล่าวกันถึงเรื่องความจริงมากมาย ตั้งแต่วาจาจริง คำจริง พูดจริง เป็นต้น แต่ขณะนี้ธรรมคือสิ่งที่มีจริงๆ ถ้าไม่จริง ก็จะฟังไปทำไม ฟังเรื่องที่ไม่จริง แต่ฟังเพื่อเข้าใจถูกต้องว่า ธรรมคืออะไร และอยู่ที่ไหน และเราจะรู้ธรรมได้อย่างไร

    ขณะนี้เอง สิ่งที่มีจริงเดี๋ยวนี้มีจริงแน่นอน ไม่เรียกว่า ธรรม ได้หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ นี่คือการที่ต้องเป็นคนตรง ตั้งแต่เริ่มสนใจศึกษาธรรม สิ่งที่มีจริงๆ ขณะนี้ มีจริงหรือไม่

    ผู้ฟัง มีจริง

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องเรียกว่า “ธรรม” ได้หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ต้องเรียกได้

    ท่านอาจารย์ และธรรมที่มีจริง บอกได้ไหมว่า อะไรกำลังมีจริงๆ เดี๋ยวนี้ ถามว่า ขณะนี้สิ่งที่กำลังมีจริงๆ บอกได้ไหมว่า อะไรที่มีจริงขณะนี้

    ผู้ฟัง เห็นมีจริง

    ท่านอาจารย์ เห็นมีจริง เห็นเป็นธรรมหรือไม่

    ผู้ฟัง เห็นเป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ นี่คือเริ่มตั้งแต่ว่า อะไรคือธรรม และธรรมอยู่ที่ไหน ตอบว่า เห็นเป็นธรรม ทุกคนก็มีเห็น ทุกคนรู้หรือไม่ว่า เห็นเป็นธรรม

    ผู้ฟัง ทุกคนไม่รู้ว่าเห็นเป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ แม้ว่าเห็นมีจริง แต่ก็ไม่รู้ว่า เป็นธรรม คิดว่าอย่างไร เวลาเห็น

    ผู้ฟัง เวลาเห็นก็เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน

    ท่านอาจารย์ แล้วก็เป็นเราเห็นด้วย ลืมแล้วว่า ถ้าขณะนี้เห็นเป็นเรา แล้วเวลาไม่เห็น เราอยู่ที่ไหน กำลังเห็น เข้าใจว่าเห็นเป็นเราเห็น แล้วเวลาที่ไม่มีเห็น เราอยู่ที่ไหน

    ผู้ฟัง ก็คิดไปอีก

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นเรื่องของการคิดเองหมด แต่จากการฟัง และมีความเคารพในพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งทุกคนซึ่งเกิดมาก็ได้ยินได้ฟังชื่อนี้ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็กราบไหว้เกือบจะเช้า สาย บ่าย ค่ำ แล้วแต่บุคคล ก็ควรจะรู้ว่า ถ้าไม่มีการตรัสรู้ พระองค์จะรู้ไหม หรือจะแสดงให้คนอื่นรู้ไหมว่า เห็นเป็นสิ่งที่มีจริง ซึ่งไม่เป็นของใคร และไม่มีใครเป็นเจ้าของ จะบอกว่า เราเห็น ไม่ได้ เพราะเหตุว่าเห็นแล้วก็หมดแล้ว แล้วก็เป็นคิดนึก เพราะฉะนั้น เห็นที่ว่าเป็นเราเห็น ไม่มี เราก็ต้องไม่มีด้วย แปลว่า เราไม่มีทุกขณะ แต่มีสภาพธรรมที่มีจริงๆ ทุกขณะ แต่เพราะความไม่รู้ ก็ยึดถือสภาพนั้นๆ ว่า เป็นเรา แต่ความจริงสิ่งที่มี ที่กำลังปรากฏขณะนี้ไม่ใช่ของใคร เกิดแน่ๆ จึงเห็น ถ้าขณะไหนเห็นไม่เกิดขึ้น จะเห็นได้หรือไม่ นี่คือความเป็นผู้ละเอียดตั้งแต่ต้นที่จะไม่ประมาทในเหตุผลที่ทำให้เข้าถึงความเป็นธรรมว่า ไม่เป็นของใคร และไม่ใช่ของใครด้วย ทุกคนก็ฟังมานาน เรื่องเห็น เรื่องได้ยิน เรื่องได้กลิ่น เรื่องลิ้มรส แล้วก็รู้ด้วยว่า เป็นธรรม แต่เดี๋ยวนี้เองกำลังเห็น เป็นธรรมหรือยัง

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า กว่าจะเข้าถึงพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงจริงๆ ต้องอาศัยการฟัง และเข้าใจ และรู้ว่า การที่จะรู้สิ่งที่เคยยึดถือว่าเป็นเรามานานแสนนานว่า เป็นแต่เพียงสิ่งที่มีจริง ซึ่งไม่ใช่เรา จะนานสักแค่ไหน กว่าจะเข้าใจได้จริงๆ ถ้าไม่เคยยึดถือเลยว่า เป็นเราเห็น จะต้องละด้วยความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องที่ได้ฟังพระธรรมว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ทุกคำจริง และพิสูจน์ได้ แต่ต้องค่อยๆ เป็นความเข้าใจของเราเอง จากการฟัง และไตร่ตรอง แค่เห็นอย่างเดียว ก็พูดไปได้นานเท่าไร จนกว่าจะรู้ว่า เห็นเป็นธรรม ทั้งๆ ที่จากการฟังไม่สงสัยเลย ทุกอย่างที่มีจริงเป็นธรรม เห็นมีจริง เห็นก็เป็นธรรม สุขก็เป็นธรรม คิดก็เป็นธรรม ทุกข์ก็เป็นธรรม พูดได้ แต่กำลังเห็นเป็นธรรมหรือยัง หรือเพียงแต่เริ่มนึกถึงแล้วยังไม่ได้เข้าใจลักษณะที่เป็นธรรม แต่ไม่ลืมว่า เห็นเดี๋ยวนี้เป็นธรรม สิ่งที่ปรากฏก็มีจริงในขณะที่เห็น สิ่งที่จิตเห็นกำลังเห็น แล้วก็ปรากฏให้เห็น ก็เป็นธรรม แล้วก็ไม่ใช่ใครทั้งสิ้น และไม่ใช่ของใครด้วย

    นี่คือคำสอนที่สั้นที่สุด ทุกอย่างเป็นอนัตตา เป็นธรรมซึ่งไม่มีเจ้าของ และไม่ใช่ของใคร แต่กว่าจะรู้จริงอย่างนี้ ก็ต้องฟังไป แล้วค่อยๆ เข้าใจขึ้น จนสามารถรู้ว่า ขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ เป็นธรรมที่เกิดแล้วดับ แค่เกิดแล้วดับ ถ้าไม่เกิด ไม่มี มีแล้วดับ เพราะมีอย่างอื่นปรากฏสืบต่อทันที เร็วมาก เช่น เสียง ถ้ากำลังเห็น มีสิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วทำไมมีเสียง ก็แสดงว่า ขณะที่เสียงปรากฏ ต้องมีสภาพที่ได้ยินเสียง ซึ่งไม่ใช่สภาพที่กำลังเห็น

    เพราะฉะนั้น นี่คือทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ได้ยินมานาน แต่ไม่เข้าใจว่าเป็นขณะนี้เอง เพราะฉะนั้นกว่าจะเข้าใจความจริงของสภาพธรรมที่กำลังเป็นจริงในขณะนี้ ก็อดทน แล้วก็ค่อยๆ ฟัง ฟังครั้งแรกก็ได้ยินแต่คำ ทั้งๆ ที่สภาพธรรมก็กำลังปรากฏ แต่ต้องฟังอีก จนกว่าจะรู้ว่า คำสอนที่ทรงแสดงเรื่องสภาพธรรมที่กำลังปรากฏสามารถเข้าใจได้ และประจักษ์ความจริงนั้นได้ด้วย

    แค่นี้มึนไหมคะ กำลังเห็น แล้วจะไม่ใช่เรา เป็นธรรม เกิดแล้วก็ดับด้วย แต่ก็จริง ค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    ผู้ฟัง แต่ถ้าพูดเรื่องเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส ทั่วๆ ไปเขาก็รู้จัก ตั้งแต่เกิดก็รู้จักเห็น ได้ยิน

    ท่านอาจารย์ รู้ว่ามี แต่รู้จักเห็นหรือไม่

    ผู้ฟัง ยังไม่รู้จักตรงเห็นจริงๆ

    ท่านอาจารย์ รู้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตามี เดี๋ยวนี้ก็มี รู้จักความจริงของสิ่งที่ปรากฏให้เห็นหรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่รู้จักความจริง

    ท่านอาจารย์ หมายความว่า ทางตาก็ไม่รู้ ทางหูจะรู้ได้ไหม ถ้าทางตาไม่รู้ ทางจมูก ได้ไหม ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จะรู้ได้ไหม ไม่ได้ อยู่ในโลกของการไม่รู้ความจริงมาตลอด เพราะถ้าถามก็ตอบไม่ได้ว่า ความจริงของสิ่งที่ปรากฏให้เห็นคืออะไร ความจริงของสิ่งที่ปรากฏให้เห็นคืออะไร

    ผู้ฟัง คือสีที่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ แล้วอย่างไร สภาพที่ปรากฏเป็นอย่างไร ทำไมปรากฏได้

    ผู้ฟัง ต้องมีจักขุปสาทรูป มีจักขุวิญญาณ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ แต่ก่อนอื่นให้ทราบว่า ตั้งแต่เกิดมาไม่รู้ความจริงของอะไรทั้งสิ้น ความจริงของเห็นก็ไม่รู้ ความจริงของสิ่งที่ปรากฏทางตาก็ไม่รู้ ผู้ที่รู้ว่าไม่รู้ ก็ฟังพระธรรม เพราะรู้ว่ามีคำตอบ พระผู้มีพระภาคตรัสรู้ความจริง เพราะฉะนั้นทรงแสดงความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ

    เพราะฉะนั้นต้องเป็นผู้ตรง ฟังเพื่อพิสูจน์หรือเข้าใจว่า สิ่งที่กำลังฟังเป็นความจริงหรือไม่ อย่าเพิ่งไปไกลอย่างที่คุณบุษกรกล่าว กำลังจะยาวไปมาก แต่ให้เริ่มรู้ว่า ที่รู้จักเห็น รู้จักได้ยิน ความจริงไม่ได้รู้จักสภาพธรรม เพียงแต่รู้ว่ามี แล้วยังเข้าใจผิดว่า สิ่งที่มีเป็นเรา เป็นของเรา หรือเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ด้วย มิฉะนั้นจะไม่ต้องมีการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าทุกคนรู้ และเข้าใจถูกต้อง

    ผู้ฟัง เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ต้องอดทน และค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ เข้าใจไปทีละเล็กทีละน้อย

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องไปไกล แต่ละคำต้องเข้าใจขึ้น เพราะฉะนั้น แต่ละคำที่ได้ฟังแล้ว สงสัยคำไหนอีกหรือไม่ สิ่งที่มีจริงขณะนี้เป็นธรรม แล้วเกิดจึงมีได้ ถ้าไม่เกิด จะมี จะปรากฏได้อย่างไร แล้วสิ่งที่เกิดก็ดับเร็วมาก เพราะเหตุว่าสภาพธรรมจะปรากฏต้องปรากฏทีละอย่าง จะปรากฏทีเดียวพร้อมๆ กันไม่ได้

    ผู้ฟัง ขอให้ท่านอาจารย์แสดงความละเอียดของอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้

    ท่านอาจารย์ คุณชาลีเข้าใจว่า บังคับได้หรือไม่ ไม่ได้ ก็คือคำตอบ

    ผู้ฟัง ทีนี้หลังจากใส่ใจในสภาพธรรมแล้ว ในการพิจารณาความเป็นอนัตตา

    ท่านอาจารย์ ใส่ใจในสภาพธรรมก็คือคิด ไม่ใช่สัมมาสติ

    ผู้ฟัง แล้วในแง่ที่ว่า บังคับบัญชาไม่ได้ อยากให้ท่านอาจารย์แสดงละเอียด เพราะยังไม่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ถ้าแสดงละเอียด ทุกขณะจิตเป็นอนัตตา มีใครรู้ว่าขณะต่อไปจะเห็น หรือจะได้ยิน หรือจะคิดนึก หรือจะดีใจ จะเสียใจ หรือจะสุข จะทุกข์ ใครสามารถรู้ได้จริงๆ บ้างว่า อะไรจะเกิดขึ้น ทุกขณะเลย ไม่เว้นสักขณะเดียวที่เป็นอนัตตา แต่ปัญญาไม่พอที่จะเห็นความเป็นอนัตตา แม้แต่เห็นขณะนี้เกิดแล้วโดยความเป็นอนัตตา หรือใครไปทำให้เกิดขึ้น ทั้งๆ ที่กำลังเห็น ก็ไม่เห็นความเป็นอนัตตาของธรรมที่เกิดเป็นอย่างนี้ คิดนึก บางครั้งก็เป็นอกุศล บางครั้งก็เป็นกุศล บังคับได้ไหมว่า จะเกิดเมื่อไร ให้อกุศลเกิดก่อน ให้สติเกิดทีหลัง แล้วให้รู้ลักษณะอกุศลว่า เป็นอนัตตา อย่างนี้ได้หรือไม่

    ก็เป็นคำตอบว่า ทุกขณะ ถ้ามีปัญญาก็รู้ในความเป็นอนัตตา และตราบใดที่ยังไม่รู้ความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ไม่มีทางจะละอัตตา โดยเห็นว่า เป็นอนัตตา เพราะสิ่งที่มีขณะนี้ดับแล้วสิ่งอื่นเกิดต่อ ก็ไม่รู้ในสภาพธรรมที่เกิดต่อว่า เป็นอนัตตา เท่ากับว่า ไม่รู้ความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมทั้งหมด จนกว่าจะเริ่มรู้ จนกว่าจะหมดความสงสัย เพราะเวลาที่สติสัมปชัญญะเกิด โดยมีเหตุปัจจัย สั้นไหม รู้ล่วงหน้าไหมว่า สติจะระลึกรู้อะไร ไม่รู้เลยแล้วก็ดับ ต่อจากนั้นไม่รู้ต่อไปอีก ก็ยังมีความเป็นเราที่ไม่รู้ แล้วขณะใดที่สติสัมปชัญญะเกิด ก็รู้ว่า ขณะนั้นไม่ใช่ขณะที่หลงลืมสติ และขณะที่หลงลืมสติ ก็ไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนั้น

    เพราะฉะนั้น กว่าจะหมดความสงสัยในสภาพธรรมที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา แล้วก็ไม่ยึดถือต่อไป ความรู้ต้องละเอียด จนกระทั่งสามารถรู้ว่า สิ่งที่ปรากฏในขณะนี้เป็นเพียงอาศัยระลึก พอระลึก ปัญญาก็รู้ว่าดับแล้ว


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 173
    13 ม.ค. 2567