พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 574


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๗๔

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๒


    ผู้ฟัง ขณะที่สติระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง มโนทวารวิถีจิตรู้ปรมัตถ์ใช่หรือไม่

    อ.วิชัย ขณะนั้นรู้อะไรที่เรียกว่า ปรมัตถ์หรือธรรมที่ปรากฏในขณะนั้น คืออะไร

    ผู้ฟัง คือสภาพธรรม เช่น บัญญัติถึงเรื่องราว ถ้ารู้เรื่องราว เป็นบัญญัติไม่ใช่ปรมัตถ์ แล้วรู้ปรมัตถ์คือรู้อะไร

    อ.วิชัย ขณะนี้มีสิ่งที่มีจริงๆ หรือไม่

    ผู้ฟัง ขณะนี้มีสิ่งที่มีจริง

    อ.วิชัย ขณะนี้มีปรมัตถ์เกิดขึ้นหรือไม่

    ผู้ฟัง มี มีสภาพธรรม

    อ.วิชัย เช่นอะไรบ้าง

    ผู้ฟัง เช่น สิ่งที่ปรากฏทางตา

    อ.วิชัย สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นปรมัตถ์หรือไม่ เป็น เพราะมีลักษณะจริงๆ ที่กำลังปรากฏอยู่ เสียงเป็นปรมัตถ์ไหมครับ เป็น คือจะเปลี่ยนแปลงลักษณะของเสียงเป็นอย่างอื่นได้ไหม ไม่ได้ และมีลักษณะจริงๆ ที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ขณะที่ฟังขณะนี้ เข้าใจว่าสิ่งนี้มีจริงไหมครับ ขณะที่มีสิ่งที่ปรากฏทางตา เสียงที่ปรากฏทางหู และธาตุรู้กำลังเห็น ธาตุรู้กำลังได้ยิน ขณะนี้กำลังกล่าวถึงสิ่งที่มีจริงๆ ความเข้าใจขั้นนี้เข้าใจไหมจากการฟังแค่นี้

    ผู้ฟัง ขั้นการฟังแค่นี้

    อ.วิชัย เข้าใจว่า มีสิ่งที่มีจริงๆ อยู่ ดังนั้น ขณะที่ฟังเริ่มเข้าใจมากขึ้น สติเมื่อเจริญขึ้น เข้าใจมากขึ้นสามารถระลึกได้ในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ อย่างเช่นสิ่งที่ปรากฏทางตา เสียงที่ปรากฏทางหู สติสามารถระลึกได้ในลักษณะที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ขณะที่ธรรมปรากฏ ขณะนั้นไม่ได้คำนึงถึงอย่างอื่น เพราะเหตุว่าขณะนั้นสติระลึกได้ ปัญญาก็รู้ในลักษณะนั้นว่า เป็นธรรมอย่างหนึ่ง แล้วก็ดับไป

    ผู้ฟัง ถ้าอธิบายโดยวิถีจิต

    อ.วิชัย วิถีจิตก็มีทั้งทางปัญจทวาร และทางมโนทวาร หลังจากปัญจทวารดับไปแล้ว มีภวังค์คั่น และมีมโนทวารเกิดสืบต่อหลายวาระ มากมายนับไม่ถ้วน

    ผู้ฟัง ขณะนั้นมโนทวารวิถีจิตที่เกิดสืบต่อก็ระลึกสภาพธรรมตามความเป็นจริง

    อ.วิชัย สติปัฏฐานสามารถเกิดได้ทั้งทางปัญจทวาร และทางมโนทวาร ก็ต้องฟังแล้วก็ค่อยๆ เข้าใจเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ขณะนี้ก็ต้องรู้ตามความเป็นจริงว่า ยังไม่รู้สิ่งที่ปรากฏ มีธรรมมากมายแต่ก็ยังไม่รู้ว่า เป็นธรรม จนกว่าจะมีปัจจัยให้สติเกิดระลึกได้ ปัญญาก็รู้ตรงลักษณะที่ปรากฏในขณะนั้น ขณะนั้นก็เป็นปัญญาที่รู้ ไม่ใช่เรารู้

    ผู้ฟัง สภาพธรรมที่ปรากฏเป็นธรรมอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ปรากฏหมายความว่ามีจริง ใช่หรือไม่

    ผู้ฟัง มีจริง

    ท่านอาจารย์ แล้วธรรมคืออะไร

    ผู้ฟัง สภาพธรรมที่ปรากฏเป็นธรรม เพราะเป็นสิ่งที่มีจริง

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง พอเห็นจากการศึกษาก็รู้ได้ว่า เราเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ท่านอาจารย์ จากการศึกษาก็รู้ได้ว่า เราเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ศึกษารู้อะไร

    ผู้ฟัง ไม่ศึกษาก็จะเห็นเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน

    ท่านอาจารย์ พอศึกษาแล้วก็รู้ว่า ต้องมีเห็นแน่นอนแล้วถึงจะรู้ว่า สิ่งที่เห็นเป็นอะไร นี่คือประโยชน์ของการเข้าใจความจริงว่า ความจริงถ้าไม่มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น จะมีใครได้หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ความจริงของสิ่งที่ถูกเห็นสามารถกระทบกับจักขุปสาทได้ เป็นคนหรือเป็นธาตุหรือเป็นธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งกระทบอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากสามารถกระทบกับจักขุปสาท ที่เราเรียกว่า รูปพิเศษ มีลักษณะพิเศษที่อยู่ตรงกลางตา ไม่อยู่ที่อื่น ที่อื่นกระทบก็มีแข็ง มีเย็น มีร้อน แต่รูปนี้ไม่ใช่แข็ง ไม่ใช่เย็น ไม่ใช่ร้อน แต่เป็นรูปที่สามารถกระทบกับสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ ก็เป็นรูปที่พิเศษต่างหากจริงๆ

    ผู้ฟัง แล้วเป็นธรรมอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ธรรมคืออะไร

    ผู้ฟัง คือสิ่งที่มีจริง

    ท่านอาจารย์ แล้วเห็นจริงหรือไม่

    ผู้ฟัง เห็นจริง

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่ปรากฏให้เห็นจริงหรือไม่

    ผู้ฟัง ก็ต้องมีจริงๆ แต่ว่าเรายังไม่ประจักษ์ลักษณะจริงๆ ของสิ่งที่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ประจักษ์ไม่ได้นอกจากปัญญาที่อบรมแล้ว มากด้วย จึงสามารถประจักษ์ความจริงได้ ตราบใดที่ยังเป็นตัวตนก็ไม่สามารถรู้ความจริงนี้ได้

    ผู้ฟง อย่างนั้นที่เราเข้าใจได้ว่า เห็นมีจริง สิ่งที่ปรากฏมีจริง ก็เพียงแค่ระดับความเข้าใจเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ เริ่มฟัง เริ่มเข้าใจเท่านั้น เริ่มรู้จักธรรมว่านี่เป็นธรรม ไม่ไปหาธรรมที่อื่น

    ผู้ฟัง แล้วจะเป็นอย่างนี้จนตายจากไปในชาตินี้

    ท่านอาจารย์ หมายความว่า นานเท่าไรที่ไม่รู้ว่าเป็นธรรม แม้สภาพธรรมก็ปรากฏ เพราะฉะนั้น แทนที่จะเป็นนานเท่าไรที่จะมีอวิชชาต่อไปเรื่อยๆ ก็เป็นนานเท่าไรที่จะค่อยๆ รู้ไปทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าสามารถรู้ได้จริงๆ ตามที่ผู้ทรงตรัสรู้ได้รู้แล้ว จะรู้ผิดจากที่พระองค์ทรงตรัสรู้แล้วได้หรือไม่

    ผู้ฟัง ก็ไม่ได้ แต่บังคับให้เห็น แล้วมีสิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ได้ ใช่ไหม หมายถึงว่า จริงๆ แล้วต้องยอมรับอยู่อย่างหนึ่งว่า ถึงแม้จะศึกษา เห็นแล้วมีสิ่งที่ปรากฏทางตาจริงตามที่ได้ศึกษาธรรม แต่ยังเห็นเป็นท่านอาจารย์อยู่

    ท่านอาจารย์ เพราะไม่รู้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดต้องมีเหตุปัจจัยทำให้เกิด เกิดเองไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ก่อนที่เราจะรู้ว่า ขณะนี้สิ่งที่กำลังปรากฏเกิดจากอะไร ต้องรู้ความจริงว่า สิ่งที่มีจริงๆ ที่ปรากฏให้เห็นได้ในขณะนี้เป็นอย่างไรเสียก่อน แล้วถึงเข้าใจขึ้น

    ได้ยินเสียงใช่ไหม

    ผู้ฟัง ได้ยิน

    ท่านอาจารย์ เสียงเกิดจากอะไร รู้หรือไม่

    ผู้ฟัง ต้องมีสมมุติฐานที่ทำให้เกิดเสียง

    ท่านอาจารย์ แต่ตอนแรกยังไม่รู้ปัจจัยที่ทำให้เกิดสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพียงแต่เริ่มรู้ความจริงว่า สิ่งที่มีจริงๆ มีอะไรบ้าง ปรากฏได้ทางไหน อย่างเสียงมีจริง ปรากฏได้ทางตาหรือไม่ ปรากฏได้ทางไหน

    ผู้ฟัง ทางหู

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีโสตปสาท รูปที่สามารถกระทบเสียง และไม่มีธาตุรู้ที่เกิดขึ้นได้ยินเสียง เสียงปรากฏได้หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ นี่คือเริ่มเข้าใจความเป็นธรรม ไม่มีใครไปบังคับให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดได้

    ผู้ฟัง แล้วพอได้ยินเสียง พอเป็นคำแล้ว หมายความว่าเป็นจิตคนละขณะ

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ไม่ได้ยินเสียงแต่คิดได้ไหม

    ผู้ฟัง ได้

    ท่านอาจารย์ คิดเป็นคำหรือไม่

    ผู้ฟัง เป็นคำ อย่างนั้นโดยทั่วไป ทุกคนก็จะกล่าวเหมือนคนไม่มีปัญญากล่าวกันว่า พอได้ยินแล้วจิตก็ปรุงแต่งทำให้คิดนึกเป็นเรื่องราวต่างๆ แต่จริงๆ แล้ว จิตเวลาเกิดขึ้นก็ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยหลายประเภท

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น อะไรปรุงแต่งจิต

    ผู้ฟัง ก็ต้องเป็นเจตสิก แต่ว่าจะถามท่านอาจารย์ว่า แล้วอะไรปรุงแต่งทำให้เป็นจิตคนละขณะ และสามารถสืบต่อในสิ่งที่ปรากฏทางทวารต่างๆ

    ท่านอาจารย์ อะไรสืบต่อปรากฏทางทวารต่างๆ

    ผู้ฟัง อย่างเห็น สิ่งที่ปรากฏทางตา แต่มีคิดนึกเป็นท่านอาจารย์แล้ว

    ท่านอาจารย์ ดับไหม

    ผู้ฟัง จริงๆ เหมือนไม่ดับ แต่เข้าใจว่าดับ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เข้าใจว่าดับ เพราะฉะนั้นความเข้าใจอย่างไหนถูกต้อง

    ผู้ฟัง ก็ต้องเข้าใจว่าดับ แล้วทำไมถึงสภาพที่ปรุงแต่งทำให้คิดนึกในสิ่งที่ปรากฏทางนั้น

    ท่านอาจารย์ เพียงเริ่มฟังก็รู้แล้วใช่ไหมว่า ที่ถูกต้องเป็นอย่างไร แม้ว่ายังไม่ประจักษ์ เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจมั่นคงก็รู้ว่า สามารถประจักษ์ได้ แต่ไม่ใช่เดี๋ยวนี้ที่ฟัง

    ผู้ฟัง แล้วพอเห็นท่านอาจารย์ ก็มีความรู้สึกต่อ หมายถึงมีความรู้สึกชื่นชมบ้าง ซาบซึ้งบ้าง หรือยกย่องบูชาบ้าง เหมือนโสมนัส แต่ไม่อยากกล่าวว่า โสมนัส แล้วทีนี้ที่เรียนท่านอาจารย์เพื่อเข้าใจสภาพจริงๆ ที่ปรากฏได้ชัดเจนมากขึ้น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ชั่วขณะที่โสมนัส เกิดแล้วดับแล้ว ยังไม่ต้องเรียก นี่คือความจริง ค่อยๆ ชินกับลักษณะแต่ละลักษณะ นี่เราเลยไปหมด โสมนัสแล้วก็เป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ แต่ชั่วขณะที่กำลังโสมนัส เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ชั่วขณะนั้นปรากฏแล้วก็หมดไป แล้วก็มีอย่างอื่นเกิดสืบต่อ เพราะเร็วมากจึงรู้ยาก แต่สามารถเห็นความหลากหลาย แม้แต่คำพูด โสมนัส แล้วยังมีอย่างอื่นอีก ก็แสดงว่า เป็นลักษณะที่ต่างๆ กัน

    ผู้ฟัง แต่ลักษณะของโสมนัสเป็นเวทนาเจตสิก เรียกชื่ออีก เพราะจริงๆ แล้วเราก็รู้ว่า ลักษณะของสภาพธรรม เจตสิกจะเกิดไม่มีจิตไม่ได้ จะต้องมีจิตด้วยที่เกิดร่วมกับเจตสิกนั้นๆ แต่เวลาปรากฏ จะปรากฏเพียง ๑ อย่าง

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร

    ผู้ฟัง เพราะเป็นธรรมที่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ทำไมทีละ ๑ อย่าง

    ผู้ฟัง จิตต้องรู้อารมณ์อย่างเดียว

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง อย่างนั้นก็เป็นคนละขณะกันอีก

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ขณะเดี๋ยวนี้เป็นขณะเมื่อสักครู่นี้หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ ถามอีกทีก็ขณะเดี๋ยวนี้เป็นขณะเมื่อกี้นี้หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ ถึงจะเป็นคำถามเดียวกัน แต่สภาพธรรมก็ไม่ใช่อย่างเดียวกัน

    ผู้ฟัง เมื่อเช้าท่านอาจารย์กล่าวตอนหนึ่งว่า ขณะที่ติดข้อง ประมาณกิเลสได้ไหมว่ามีมากแค่ไหน ขอให้ท่านอาจารย์แสดงในเรื่องการประมาณกิเลสให้ละเอียดด้วยครับ

    ท่านอาจารย์ เวลานี้มีความติดข้องหรือไม่ ลองประมาณออกมาว่าเท่าไร

    ผู้ฟัง ในความเข้าใจ การประมาณกิเลสนั้นเลยระดับที่รู้ว่า กิเลสเป็นธรรมไปอีก

    ท่านอาจารย์ รู้แต่ว่ามากใช่ไหม

    ผู้ฟัง คำว่า “มาก” ก็อยากเรียนถามท่านอาจารย์เหมือนกันว่า คำว่ามากในการประมาณกิเลสเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เอากิเลสมาตวงได้ไหม แต่ว่าความที่มาก มากจนกระทั่งไม่รู้ เพียงแค่เห็นสิ่งที่น่าพอใจ รูปยังไม่ดับ ความยินดีติดข้องเกิดแล้วโดยไม่รู้ตัว ยังไม่ต้องเป็นเรื่องราว ยังไม่ต้องเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดทั้งสิ้น เสียงดังๆ ยังไม่รู้ว่าเป็นเสียงอะไร ชอบหรือไม่ชอบเสียงนั้น เกิดแล้วอย่างรวดเร็ว พร้อมที่จะเกิดได้เร็วแค่ไหน ขณะที่เป็นภวังค์เกิดไม่ได้เลย กุศลธรรมก็เกิดไม่ได้ อกุศลธรรมก็เกิดไม่ได้ เพราะขณะนั้นจิตทำภวังคกิจ ดำรงภพชาติ แม้ว่าจะสะสมความยินดี หรือความไม่ยินดี หรือความไม่รู้ในจิตพร้อมที่จะเกิดทันทีเมื่อถึงเวลาจะเกิดได้ เพราะเหตุว่าพอตื่นขณะแรกที่สุด ยังเกิดไม่ได้ เพราะเหตุว่าที่เราใช้คำว่า “ตื่น” หมายความว่ามีจิตที่ไม่ใช่ภวังคจิตเกิดสืบต่อจากภวังคจิต โดยจิตนั้นเป็นขณะแรกที่เป็นวิถีจิต หมายความว่าไม่ใช่ภวังค์ ไม่ได้ทำกิจดำรงภพชาติ เพราะเหตุว่ากำลังรู้ว่ามีสิ่งหนึ่งสิ่งใดกระทบทวารหนึ่งทวารใด รู้แค่นั้นแล้วก็ดับ มีกิเลสเกิดหรือยัง

    ผู้ฟัง รู้ว่า ธรรมเกิดขึ้นแล้วดับไป

    ท่านอาจารย์ ปัญจทวาราวัชชนจิตหรือมโนทวาราวัชชนจิต รู้อารมณ์ที่กระทบ มีอารมณ์กระทบ ไม่ใช่มีอารมณ์ของภวังค์ เป็นวิถีจิตแล้ว ขณะนั้นกิเลเกิดหรือยัง หรือกุศลเกิดหรือยัง ที่สะสมมา เมตตา กรุณา โลภะ โทสะ เกิดหรือยัง

    ฟังธรรม คือได้ฟังอย่างนี้ พิจารณาว่า จริงๆ เป็นอย่างนี้หรือไม่ เพราะมีเหตุผลตามความเป็นจริง

    จิตขณะแรกที่เป็นวิถีจิต ไม่ได้ทำกิจอื่น นอกจากรู้สึกตัว แล้วแต่ว่าอารมณ์ที่กระทบทางทวารไหน ยังไม่เห็น ถ้าเป็นทางตา เสียงกระทบ ยังไม่ได้ยิน เพียงแค่รู้สึกตัวเท่านั้น

    เพราะฉะนั้น ขณะนั้นไม่ใช่กาลหรือขณะที่กุศลหรืออกุศลจะเกิดได้ เพราะฉะนั้ จึงมีคำพูดว่า จิตประเภทใดไม่ประกอบด้วยเหตุ มีจำนวนเท่าไร แล้วเป็นชาติอะไร ถ้าเป็นอกุศลจิต ต้องมีขณะที่อกุศลเจตสิกเกิดได้ แล้วเกิดกับจิตนั้น ถ้าขณะใดที่อกุศลเจตสิกไม่เกิด จิตนั้นจะเป็นอกุศลจิตไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ขณะนั้นไม่ใช่กุศลจิต ไม่ใช่อกุศลจิต แต่เป็นกิริยาจิต เพราะสามารถรู้อารมณ์ที่กระทบได้ทั้งอารมณ์ที่น่าพอใจ และไม่น่าพอใจ จิตนั้นเป็นวิบากหรือไม่

    ผู้ฟัง ปัญจทวาร และมโนทวารเป็นกิริยาจิต

    ท่านอาจารย์ ทำไมเป็นกิริยาจิต ทำไมไม่ใช่วิบากจิต ทำไมไม่ใช่กุศลจิต ทำไมไม่ใช่อกุศลจิต

    ผู้ฟัง อย่างปัญจทวาราวัชชนจิตก็แค่รำพึงถึงอารมณ์

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นกุศลกรรมทำให้วิบากจิตเกิดขึ้น มีอารมณ์ที่ดีเป็นอารมณ์ จะไปรู้อารมณ์ที่ไม่ดีไม่ได้ เพราะเหตุว่าเป็นผลของกุศลกรรม ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม คืออกุศลวิบาก จะไปรู้อารมณ์ที่ดีไม่ได้ด้วย เพราะเหตุว่าเป็นผลของกรรมนั้นๆ ก็ต้องตรง

    เพราะฉะนั้น จิตขณะแรกไม่ใช่วิบากจิต แต่เป็นกิริยาจิต เพราะสามารถรู้อารมณ์ทั้งที่เป็นอิฏฐารมณ์ อนิฏฐารมณ์ ดับไหม

    ผู้ฟัง ดับครับ

    ท่านอาจารย์ กิเลสเกิดได้หรือยัง

    ผู้ฟัง กิเลสเกิดได้แล้ว

    ท่านอาจารย์ นี่คือการฟังธรรมด้วยความเข้าใจในเหตุผล ไม่ใช่ไปจำ นั่นเป็นวิบากจิต นี่เป็นกิริยาจิต มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยกี่ดวง แต่ต้องรู้ตามความเป็นจริง เพราะเพียงรู้ว่า สิ่งใดกระทบแล้วดับ ถ้าเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ให้ทราบว่า ที่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย เพราะกรรมทำให้มีรูปเหล่านี้เพื่อเป็นทางให้วิบากจิต คือ ผลของกรรมจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่น่าพอใจหรือไม่น่าพอใจ

    เพราะฉะนั้น หลังจากนั้นต้องเป็นวิบาก เปิดทางให้วิบากจิตเกิดแล้วที่จะรู้อารมณ์อื่น ซึ่งไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์ เพราะเหตุว่าถ้ากรรมทำให้เพียงภวังคจิตเกิด ดำรงภพชาติ ไม่รู้อะไรอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย พอไหม รับผลแค่นั้น ใครๆ ก็ต้องทำอกุศลกรรมมากมาย เพราะเหตุว่าเพียงแค่ทำให้ปฏิสนธิจิตกับภวังคจิตเกิดเท่านั้น แต่ไม่เป็นอย่างนั้น กรรมมีกำลังสามารถทำให้รูปที่สามารถกระทบกับสิ่งที่กระทบ ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กายเกิด

    เพราะฉะนั้น แม้แต่รูปก็เป็นผลของกรรม แต่ไม่ใช่วิบาก ต่อเมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตดับ ถ้าเป็นสิ่งที่กระทบตา จักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็น รับผลของกรรม โดยต้องเห็น ขณะนี้ที่กำลังเห็น ไม่รู้เลยว่าเป็นผลของกรรมไหน แต่ให้ทราบว่า ตั้งแต่นี้ต่อไปไม่ว่าจะเห็นเมื่อไร ก็คือเป็นผลของกรรมที่ทำให้เห็น

    ขณะที่เห็นกิเลสเกิดหรือยัง อกุศลเจตสิกเกิดหรือยัง

    ผู้ฟัง ขณะที่เห็น กิเลสไม่เกิด

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร

    ผู้ฟัง เพราะมีสัพพจิตตสาธารณเจตสิกอยู่แค่ ๗ ดวง

    ท่านอาจารย์ แต่ไม่รู้ รู้แต่ชื่อ ใช่ไหม สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ แสดงว่าจิตที่ไม่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยไม่มีเลย แต่จะมีน้อยหรือมีมาก แล้วแต่ขณะนั้นเป็นจิตประเภทไหน การอุบัติเกิดขึ้นของจักขุวิญญาณเป็นผลของกรรม ที่ทำให้รูปที่กระทบจักขุปสาท ซึ่งทั้ง ๒ รูปมีอายุเพียง ๑๗ ขณะ สั้นมาก แล้วก็ต้องดับไป เพราะฉะนั้น ใครจะสามารถไปทำให้จิตใดเกิดขึ้นเห็นได้ ถ้าไม่ใช่กรรม

    เพราะฉะนั้น กรรมก็ทำให้จักขุวิญญาณซึ่งเป็นวิบากขณะนี้เกิดขึ้นแล้วรับผลของกรรมหรือเป็นผลของกรรม โดยกรรมเป็นปัจจัยทำให้จิตนี้เกิดขึ้นเห็น แล้วก็ดับไป เป็นวิบาก

    เพราะฉะนั้น อย่าได้ติดข้องในวิบากใดๆ เลย น้อยมาก แค่เพียงปรากฏ แต่ว่าพอใจในสิ่งที่ปรากฏ ในสิ่งที่ปรากฏนิดเดียวมากมายมหาศาล ที่อยากจะรู้ว่า มากแค่ไหน เพราะว่าเร็วมาก และเป็นไปทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย

    ด้วยเหตุนี้ จักขุวิญญาณเป็นวิบาก ไม่มีโสภณเจตสิกหรืออกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วยเลย และไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น วิบากประเภทนี้มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยน้อยมาก เพราะเป็นแต่เพียงการประจวบกันถึงกาลที่กรรมจะให้ผล ก็ทำให้จักขุวิญญาณเกิด ดับไป มีจิตอื่นเกิดต่อไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ ดูตำราหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ได้ดู

    ท่านอาจารย์ เมื่อจักขุวิญญาณดับไปแล้ว ต้องมีจิตอื่นเกิดต่อแน่นอน และจิตประเภทใดเกิดต่อ

    ผู้ฟัง สัมปฏิจฉันนะ

    ท่านอาจารย์ ไม่เรียกสัมปฏิจฉันนะ ได้ไหม

    ผู้ฟัง ได้ครับ

    ท่านอาจารย์ แต่เป็นจิตที่ต้องเกิดขึ้น เพราะกรรมไม่ได้ทำเพียงแค่เห็น เห็นแล้วจบ ก็ไม่มีความหมายอะไร แต่ก็ยังทำให้จิตรับรู้ต่อสิ่งที่ปรากฏ คือจักขุวิญญาณแค่เห็นแล้วคิดดู ไม่ได้ทำกิจอะไรมากมาย เกิดขึ้นเห็นแล้วก็ดับไป แต่ว่าเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปมีอารมณ์เดียวกัน ถ้าศึกษาโดยละเอียดจะรู้ว่า จักขุวิญญาณมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗ ประเภท น้อยที่สุด แต่พอจักขุวิญญาณดับ จิตขณะต่อไปเกิด มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพิ่มแล้ว คือ มีวิตกเจตสิกเกิด คือการรู้อารมณ์ต่อจากจักขุวิญญาณที่รู้อารมณ์นั้นแล้วดับ จิตต่อไปยังต้องมีวิตกเจตสิก ตรึก จรดในอารมณ์นั้น จึงสามารถรู้อารมณ์นั้นต่อไปได้ แล้วก็ดับไป ชั่วขณะที่สั้นมาก เป็นผลของกรรมที่ทำให้วิบากต้องเกิดรู้อารมณ์เดียวกัน แล้วต่อไปมีจิตเกิดอีกไหม

    ผู้ฟัง มีสันตีรณจิต

    ท่านอาจารย์ เรียกสันตีรณจิต ไม่เรียกได้ไหม

    ผู้ฟัง ได้ครับ

    ท่านอาจารย์ แล้วจะไปเรียกสัมปฏิจฉันนะว่าสันตีรณะได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร

    ผู้ฟัง เพราะเป็นจิตนิยามว่า จิตใดทำกิจอะไร ประเภทใด

    ท่านอาจารย์ เพราะจิตนั้นรับรู้ สัมปฏิจฉันนะ คือ รับต่อ รู้ ไม่ได้ทำกิจอื่น ก็เรียกตามกิจหน้าที่ สัมปฏิจฉันนกิจ เกิดขึ้นต้องทำกิจรับรู้ต่อ เมื่อทำกิจนี้ก็ชื่อนี้ สัมปฏิจฉันนจิต แล้วจิตต่อไปทำสัมปฏิจฉันนกิจอีกได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ พอแล้ว แค่รับต่อก็จบไปแล้ว จิตขณะต่อไปไม่ได้ทำสัมปฏิจฉันนกิจ แต่ทำสันตีรณกิจ จึงเรียกชื่อตามสันตีรณกิจว่า สันตีรณจิต มีอกุศลเกิดร่วมด้วยหรือยัง

    ผู้ฟัง ยัง

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไรคะ

    ผู้ฟัง จะมีสัพพจิตตสาธารณะ และปกิณณกเจตสิก

    ท่านอาจารย์ เพราะเป็นวิบากจิต ถ้าเป็นวิบากที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย ก็เพียงรับ และพิจารณา ใช้คำว่า “พิจารณา” แต่ความจริงชั่วขณะเดียว พอที่จะรู้ต่างจากสันตีรณะ

    เพราะฉะนั้น หลังจากที่สันตีรณะดับไปแล้ว ก็ถึงเวลาที่การสะสมมาในการเห็นแล้วจะชอบ ไม่ชอบ หรือจะคิดอย่างไรสามารถเกิดได้ แต่เกิดทันทีไม่ได้ ต้องมีจิตอีกขณะหนึ่งเกิด ทำโวฏฐัพพนกิจ ตามการสะสม

    เพราะฉะนั้น เมื่อเห็นแล้ว ยังไม่ทันรู้ตัว ก็เป็นไปตามการสะสมแล้ว


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 173
    13 ม.ค. 2567