พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 542


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๔๒

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๒


    ท่านอาจารย์ ศรัทธาของบุคคลที่ยังไม่ถึงความเป็นพระโสดาบันกับผู้ที่เป็นพระโสดาบันแล้ว ต่างกันไหม ต่างกัน ความมั่นคงก็ต่างกัน และสำหรับผู้ที่ยังไม่มีวิปัสสนาญาณ และกำลังอบรมเจริญการรู้ลักษณะของสภาพธรรมขณะนี้ เพราะมีความเห็นถูกจากการฟัง ถ้าไม่เห็นถูกว่าขณะนี้เป็นธรรม แล้วจะรู้ลักษณะของธรรมได้หรือไม่ ปัญญาจะแทงตลอดความจริงของธรรมได้หรือไม่ ในเมื่อไม่รู้ว่าขณะนี้เป็นธรรม

    ด้วยเหตุนี้ แม้สติสัมปชัญญะก็ต้องเกิดจากความเห็นถูก ความรู้ถูก ความเข้าใจถูกอย่างมั่นคงในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่แม้กระนั้นผู้ที่กำลังอบรมเจริญสติปัฏฐาน ศรัทธาของผู้นั้นก็ไม่เท่ากับผู้ที่วิปัสสนาญาณเกิด แล้วสำหรับผู้ฟังธรรมแล้วสติปัฏฐานยังไม่เกิด เพราะเกิดไม่ได้ ไม่มีทางจะเกิดถ้าไม่เข้าใจว่า ขณะนี้เป็นธรรมแต่ละอย่าง สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาก็เป็นธรรมอย่างหนึ่ง เกิดแล้วปรากฏ เห็น ขณะนี้ก็เป็นธรรมที่สามารถรู้ว่า สิ่งที่ปรากฏขณะนี้มีจริงๆ เป็นอย่างนี้ เพราะเกิดขึ้นเห็นสิ่งนี้ ถ้าไม่เข้าใจว่าเป็นธรรม สติสัมปชัญญะจะเกิด และเข้าใจถูกว่า ขณะนี้ไม่ใช่เรา แต่เป็นสิ่งที่มีจริงแล้วก็เป็นธรรม

    เพราะฉะนั้น ศรัทธาของผู้ที่สติสัมปชัญญะเกิดกับผู้ที่สติสัมปชัญญะไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม ศรัทธาของผู้ไม่รู้กับศรัทธาของผู้รู้ลักษณะของสภาพธรรมก็ต้องต่างกัน เห็นความเจริญขึ้นของศรัทธาหรือไม่ มาจากไหน แม้แต่ขณะที่กำลังฟัง คนที่เข้าใจแล้วก็รู้ว่า ฟังเพื่อเข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ซึ่งยากที่จะเข้าใจ แม้แต่ขณะที่จะเข้าใจก็ยังยาก เพราะว่าบางคนไม่ถึงขณะนี้เลย เพียงแต่บอกว่า อยากเข้าใจธรรม อยากรู้ธรรม แต่ก็ไม่ถึงขณะที่ฟังเรื่องของธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้ ด้วยความเห็นถูก ด้วยความเข้าใจถูก

    เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า ศรัทธาของผู้ฟังเข้าใจกับผู้ที่ฟังแล้วยังไม่ค่อยเข้าใจก็ต้องต่างกัน และศรัทธาของผู้เพียงได้ยินคำว่า “พระรัตนตรัย” ก็กราบไหว้ แต่ไม่ได้ฟังเลย ไม่ได้รู้เลย ก็ยิ่งต่างกันไป

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า กว่าศรัทธาจะเจริญมั่นคงที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรม ต้องเป็นผู้ที่ตรง และรู้ว่า ฟังธรรมเพื่อเข้าใจธรรมที่มีจริงที่กำลังปรากฏในขณะนี้ โดยไม่ต้องมีคำถามว่า แล้วเมื่อไรจะพอ แล้วเมื่อไรจะถึง นั่นคือไม่เข้าใจลักษณะของธรรมที่กำลังปรากฏ ด้วยเหตุนี้ก็ต้องเป็นผู้ตรงจริงๆ ซึ่งไม่ใช่เวลาที่ตอบเขาไปอย่างนั้นแล้ว เขาจะเห็นประโยชน์ของการได้เข้าใจธรรมที่มีจริงหรือไม่

    ผู้ฟัง ก็หมายความว่า ผู้ศึกษาก็ศึกษาว่า ธรรมคืออะไร คือสิ่งที่มีจริง ณ ขณะนี้ โดยไปเข้าใจว่า เมื่อจะศึกษาธรรม ก็ต้องไปตั้งต้นศึกษาพระไตรปิฎกแล้วจะเริ่มตรงไหนดี ตรงนั้นแปลว่า ตั้งต้นไม่เข้าใจธรรม คิดว่าธรรมอยู่ในตำรา โดยไม่เข้าใจว่า ธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ จริงๆ ก็คือความจริงในชีวิตในประจำวันที่ไม่เคยรู้มาก่อน ถ้าไม่มีการศึกษา

    ท่านอาจารย์ การศึกษาธรรมไม่ใช่การศึกษาทางโลก และเวลาที่พูดถึงขั้นสูง คือขั้นที่สติสัมปชัญญะจะเกิดรู้ลักษณะของสภาพธรรมก็ยังไกล กับการที่ฟังแล้วเห็นหรือไม่ว่า กุศลเป็นกุศล อกุศลเป็นอกุศล เพียงเท่านี้ ยังไม่ต้องไปถึงการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่เรา เพียงแต่ฟังแล้วสามารถเข้าใจได้ อย่างตอนนี้ทางรายการวิทยุก็เป็นเรื่องของมานะ ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียด และฟังแล้วบางท่านก็บอกว่า รู้ตัวเองว่ามีมานะ รู้ตัวเอง แต่ยังไม่รู้ว่า มานะเป็นธรรมที่ไม่ใช่เรา แต่เริ่มเห็นมานะ และอกุศลอื่นๆ นั่นก็เป็นโอกาสที่ได้เข้าใจ ซึ่งก็ต้องมีศรัทธาด้วยในขณะที่เข้าใจขั้นหนึ่ง แต่ถึงศรัทธาที่คิดจะละมานะหรือไม่ ยังไม่ต้องถึงการดับกิเลสหมดเลย ไม่มีความเห็นผิดใดๆ เพียงแค่โกรธ ผูกโกรธ หรือมีมานะ มีความสำคัญตน แล้วมีศรัทธาที่เห็นโทษ และคิดจะละมานะหรือไม่ โดยไม่ใช่วิธีอื่น โดยไม่ใช่เรา แต่โดยเข้าใจธรรมว่า เป็นธรรมซึ่งใครก็บังคับบัญชาไม่ได้ แต่เริ่มเห็นแล้วว่า เป็นสิ่งที่ควรห่างไกล อกุศลทั้งหมดไม่เว้น ควรห่างไกลความไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ หรือยังคงอยู่ใกล้ๆ ต่อไป แล้วก็ห่างไกลจากความรู้

    นี่คือการฟังธรรม แล้วไม่ใช่ไปหวังอย่างเดียวว่าจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม จะให้สติปัฏฐานเกิด แต่รู้ตามความเป็นจริงเมื่อสิ่งใดเกิดขึ้นปรากฏ แล้วศรัทธาจากการฟังก็จะเห็นโทษของอกุศล แล้วเห็นประโยชน์ของกุศล แล้วก็ห่างไกลจากอกุศล และใกล้ชิดกับกุศลเพิ่มขึ้น จนกว่าจะมีกำลัง เพราะเหตุว่าแต่ละคนเหมือนอยู่ในโลกมืดมาก่อนแน่ๆ เมื่อไม่มีความเข้าใจธรรม จะสว่างด้วยปัญญา ด้วยความเห็นถูกได้อย่างไร ไม่รู้ว่าเป็นธรรม ไม่รู้อะไร อยู่ไปวันๆ เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ คิดอย่างนั้นอย่างนี้ในโลกมืด แต่ว่าเมื่อมีโลกสว่างแม้นิดหน่อย ก็จะเห็นความต่างกันของความมืดกับความสว่าง จากที่ไม่รู้ธรรมเลย เป็นการรู้ว่า ขณะนี้เป็นสิ่งที่มีจริง และเริ่มมีสัญญา ความจำไว้ในใจว่า เป็นอนัตตา เป็นธรรม ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ให้เราไปมีปัญญามากๆ เห็นความเป็นอนัตตาทันที แล้วสามารถละได้ แต่ก็มีคำในพระไตรปิฎกที่บอกว่า ทำไมทุกคนฟัง แล้วทุกคนก็รู้ว่า อกุศลเป็นสิ่งที่ควรห่างไกล เป็นสิ่งที่ควรละเว้น แล้วทำไมกุศลไม่เกิด แล้วทำไมไม่ห่างไกล คำตอบก็คือ เพราะจิตนั้นยังไม่ได้อบรม ไม่มีใครสามารถจะไปบันดาลได้ จากโลกมืดสนิทที่เคยอยู่มานาน แล้วพอฟังจะให้ออกจากโลกมืดทันทีมาสู่ความสว่าง รู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริงไม่ได้ แม้เพียงจะออกห่างจากอกุศล ยังไม่คิดที่จะออก เพราะไม่ได้อบรมพอที่จะควรแก่การงาน จิตที่ควรแก่การงาน ก็หมายความถึงจิตที่ควรแก่การเป็นกุศลอย่างเร็ว อย่างสะดวก อย่างคล่องแคล่ว อย่างง่ายดาย ไม่ลำบาก แต่จิตที่ไม่ควรแก่การงาน เพราะเหตุว่าเป็นอกุศลมานานแสนนาน และแม้ว่าฟังธรรมแล้วจะให้ควรเป็นกุศลได้ไหม ในเมื่อไม่ได้อบรม

    เพราะฉะนั้น จิตนั้นไม่ควรแก่การงาน เพราะเหตุว่ายังไม่ได้อบรม ด้วยเหตุนี้การอบรมจึงมีหนทางเดียว ปัญญาที่เกิดจากการฟังเข้าใจขึ้นทำให้ศรัทธาเพิ่มขึ้น แล้วจะทำให้เห็นความห่างไกลของการไม่มีศรัทธากับการที่ศรัทธาเริ่มมี และการที่ศรัทธาเจริญขึ้น

    เพราะฉะนั้น ก็เหมือน ๒ โลก มืดกับสว่าง จะเลือกทางไหน เหมือนมีตัวตนที่จะเลือก แต่ไม่มีตัวตน เพราะฉะนั้นใครก็ตามอกุศลเกิด มืดแล้ว ใช่ไหมคะ กุศลเกิดก็สว่าง ใครเลือก ไม่มีใครเลือก สังขารขันธ์จากการฟัง จากการพิจารณา จากการไม่ควรแก่การงานทางฝ่ายกุศลก็ค่อยๆ มีความควรแก่การงานทางฝ่ายกุศลเพิ่มขึ้น มากน้อยตามขั้นของปัญญา ถ้ามีปัญญานิดหน่อย จะให้ควรแก่กุศลระดับของสติปัฏฐานก็ไม่ได้ แต่ถ้ามีปัญญาเห็นโทษของอกุศล แล้วก็มีศรัทธาเพิ่มขึ้น ก็จะค่อยๆ ห่างจากอกุศล นี่คือแสดงความเป็นอนัตตาของธรรมทั้งหมด

    ผู้ฟัง จากการฟังท่านอาจารย์บรรยาย และจากการศึกษาที่ว่า ถ้าสว่างแสดงว่าเข้าใกล้กุศล ถ้ามืดก็เข้าใกล้อกุศล ทีนี้การเข้าใกล้กุศล และห่างไกลอกุศลก็เป็นสังขารขันธ์ที่ปรุงแต่งจากการฟังเข้าใจ จากการอบรมจิต คือฟังท่านอาจารย์แล้วก็จะทราบว่า ไม่ใช่ฟังท่านอาจารย์แล้วก็จะไปทำให้ห่างไกลอกุศล แล้วก็ทำให้ใกล้กุศล ทุกอย่างเป็นสังขารขันธ์ที่เกิดจากการอบรมด้วยการฟังพระธรรมให้เข้าใจจริงๆ ว่า เป็นธรรมอย่างไร ไม่ว่ากุศล และอกุศลก็เป็นธรรม แล้วก็เป็นสังขารขันธ์ที่ปรุงแต่ง เมื่อทราบว่ามีอกุศลมาก ก็เพราะว่าได้สะสมหรือสังขารขันธ์ปรุงแต่งมาเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ที่ผ่านมา และเมื่อฟังแค่นี้จะไปรีบให้กุศลเกิดมากๆ ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าเหตุไม่ตรงกับผล

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ฟังธรรมก็คือไม่ลืมว่า ไม่ใช่ทำอะไรแต่เข้าใจ เลิกคิดเรื่องทำ แต่มีสิ่งที่ปรากฏแล้วไม่เข้าใจ หนทางเดียวจะเข้าใจคือฟัง ฟังอีก ฟังไปเรื่อยๆ ก็จะเข้าใจสิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริงว่า เป็นธรรม แม้แต่เป็นธรรม ห่างไกลจากความเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏว่าเป็นธรรมหรือยัง ถ้ายัง ก็คือแล้วจะไปรู้แจ้งสภาพธรรมอะไร ที่ไหน ในเมื่อสิ่งที่กำลังปรากฏก็ยังไม่รู้ว่าเป็นธรรม หรือลืมบ่อยๆ เมื่อวานนี้ ขณะใดที่ไม่ได้ฟัง ขณะใดที่ไม่เข้าใจ ขณะใดที่ระลึกไม่ได้ ขณะนั้นก็คืออยู่ในโลกของความมืด คือลืมว่าเป็นธรรม

    ถ้าคุณอรวรรณจะตอบคำถามของคนที่ถามกับถามเขาบ้าง ก็คงไม่เป็นไรว่า เขาสนใจที่จะเข้าใจธรรมละเอียดขึ้นหรือไม่ หรือเพียงได้ยินคำว่า ธรรม รู้แล้วว่าเป็นธรรมก็พอ เพราะฉะนั้นถ้าสนใจที่จะเข้าใจธรรมละเอียดยิ่งขึ้น นั่นคืออภิธรรม ไม่ใช่โดยชื่อ แต่โดยรู้ธรรมที่ได้ยินได้ฟังไม่ใช่ผิวเผิน แต่สามารถจะเข้าใจยิ่งขึ้นได้

    อ.กุลวิไล ได้ยินถึงการศึกษาพระอภิธรรมที่ถูกต้อง ที่ถูกต้องควรเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องรู้ว่าธรรมคืออะไร ที่ไหน อย่างไร ไม่ใช่ในหนังสือ แต่เดี๋ยวนี้เป็นธรรม เพราะฉะนั้นเวลาที่ฟังธรรม ไม่ว่าจะโดยพระสูตร พระวินัย หรือพระอภิธรรมก็ตาม ขณะที่นั่งอยู่จะมีวินัยได้ไหม แล้วจะเข้าใจธรรมที่ได้ฟังหมวดหัวข้อต่างๆ ได้ไหม แล้วเมื่อรู้ว่าขณะนี้เป็นธรรม ก็คือว่ารู้ว่า ทุกคำที่ทรงแสดงเกี่ยวกับธรรมที่มีจริงทั้งหมด ทุกกาละ

    อ.กุลวิไล ดูแล้วเหมือน ๓ ปิฎกก็ไม่ขัดแย้งกัน เพราะถ้าผู้นั้นเข้าใจความเป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นพระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม ก็มีตัวธรรมที่มีจริง

    ท่านอาจารย์ แล้วทั้ง ๓ ปิฎกเพื่อขัดเกลากิเลส เพื่อละความไม่รู้

    ผู้ฟัง ก็ต่อเนื่องจากคำถามว่า เมื่อผู้สนใจศึกษาธรรม ก็คือความจริงในชีวิตประจำวันที่ไม่เคยรู้ เท่าที่คุยกับหลายท่านหรือกับตัวเอง กว่าจะพบอะไรที่จริงแท้ว่า นี่คือคำสอนที่จะให้เข้าใจความจริง อย่างคุณลุงนิภัทร หรือตัวเองก็ ๑๐ กว่าปี เหมือนแสวงหาว่า ชีวิตคืออะไร ก็ไปพบอะไรที่ไม่ใช่ จนกระทั่งมาเจอ ก็แล้วแต่การสะสมที่ทำให้ได้มาพบเจอ ทีนี้เมื่อได้มาฟังแล้ว คำถามที่ยังค้าง คือ เมื่อฟังแล้ว ฟัง ฟัง ฟัง ก็จะเต็มไปด้วยเรื่องราว และพยัญชนะ ซึ่งท่านอาจารย์ก็จะย้ำว่า ไม่ใช่ศึกษาแบบนั้น คือศึกษาให้เข้าใจขณะนี้ มีเห็น มีได้ยิน มี ๕ ทาง แล้วก็คิดนึกไปตามการปรุงแต่ง คำถามก็คือ ดูเหมือนว่า ที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า ให้เข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง ไม่ใช่ศึกษาเป็นตำรา เป็นเรื่องราว แต่ให้เข้าใจขั้นฟังเป็นสังขารขันธ์ น้อมไปว่า ขณะนี้เป็นธรรมที่ปรากฏต่อหน้าอย่างไร จะรบกวนท่านอาจารย์ขยายความว่า ในขั้นที่เป็นปัญญาที่จะเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้ฟังแล้วเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ คือไม่ฟังเผิน ทุกคำที่ได้ยินต้องเข้าใจในสิ่งที่ได้ยินด้วย ได้ยินคำว่า “อายตนะ” แล้วไม่รู้ว่า อายตนะคืออะไร แล้วก็ไปจำได้ว่า อายตนะ ๖ อายตนะ ๑๒ แต่ไม่รู้ว่า อายตนะคืออะไร แล้วเดี๋ยวนี้เป็นอายตนะหรือไม่ เพราะว่าธรรมที่ทรงแสดง ทรงแสดงสิ่งที่มีจริง ขณะนี้จริงก็เป็นธรรม แล้วก็ทรงแสดงความจริงของธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้ แม้แต่อายตนะก็ต้องมีจริงในขณะนี้ด้วย ไม่ได้ทรงแสดงสิ่งที่ไม่มีจริงหรือว่าไม่ได้ทรงแสดงสิ่งที่ยังไม่ได้เกิดขึ้น แต่เดี๋ยวนี้เห็น ถ้ารู้จักความหมายของอายตนะในภาษาบาลี ก็จะรู้ได้ว่า หมายความถึงขณะนี้ เป็นที่เกิด ที่ต่อ ที่ประชุม ที่ให้สภาพธรรมปรากฏ มิฉะนั้นแล้ว สภาพธรรมแม้มีจริงจะปรากฏได้หรือไม่ อย่างเสียงมีจริง ปรากฏได้ไหมถ้าไม่มีที่เกิด ที่อยู่ ที่ประชุมที่จะทำให้สภาพธรรมนั้นปรากฏ

    เพราะฉะนั้น เวลาได้ยินคำแต่ละคำซึ่งไม่ใช่ภาษาไทย ก็ควรจะรู้ความหมายของคำนั้น และรู้ว่าไม่ใช่เป็นความหมายของคำ แต่หมายความถึงลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นอย่างนั้นจริงๆ เมื่อพูดถึงอายตนะ ต้องเป็นธรรม จะเป็นอื่นไม่ได้

    เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจว่า ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏ ตรงไหน อะไร นั่นคือเริ่มเข้าใจความหมายของสภาพธรรมที่เป็นอายตนะว่า ขณะนี้มีเห็น ไม่ใช่ไม่มีเห็น ต้องมีเห็น เพราะฉะนั้น เห็นเกิดแล้ว เกิดแน่ๆ และขณะที่เห็นเกิด เห็นอะไร ต้องมีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น เพราะฉะนั้น สิ่งที่ปรากฏให้เห็นต้องมีแน่ๆ ทั้งเห็น และสิ่งที่ปรากฏให้เห็น ยังไม่ได้ดับไป ต้องมีแน่ๆ แล้วต้องอยู่ตรงนั้นด้วย หมายความว่าไม่อยู่ตรงนั้น แล้วจะเที่ยวไปรู้สิ่งที่ไม่ได้อยู่ตรงนั้น แต่ตรงที่มีเห็นนี้ มีอะไรตรงนั้นบ้าง ทั้งหมดเป็นอายตนะ ซึ่งขาดไม่ได้ คือสิ่งที่ปรากฏทางตาก็ต้องมีตรงนั้น เป็นอายตนะ รูปายตนะ ถ้าเป็นภาษาบาลี จักขุปสาทก็ต้องมีอยู่ตรงนั้นด้วย จะแยกไปอยู่ตรงอื่นไม่ได้ ต้องตรงที่ที่เห็นนั่น มีจักขุปสาท เพราะฉะนั้น จักขุปสาทที่อยู่ตรงนั้นก็เป็นอายตนะ คือเป็นที่ประชุม ที่ต่อ ที่เกิดของสภาพธรรมที่ปรากฏให้รู้ว่ามีจริงๆ

    เพราะฉะนั้นถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้ เราก็รู้ว่า วันหนึ่งๆ ขณะที่เห็น หรือสภาพธรรมใดๆ ก็ตามที่ปรากฏทั้งหมดเป็นอายตนะ จะรู้มากน้อยแค่ไหนก็อีกเรื่องหนึ่ง เช่น ขณะที่เห็น มีสิ่งที่ปรากฏทางตาที่ยังไม่ดับ มีจักขุปสาทที่ยังไม่ดับ และจักขุวิญญาณก็ยังไม่ดับด้วย

    เพราะฉะนั้น ขณะนั้นก็สามารถรู้ว่า ทั้งหมดที่มีจริงๆ ขณะนั้นเป็นอายตนะ เพราะฉะนั้นขณะอื่น เช่น ขณะที่ได้ยิน หรือขณะที่คิด หรืออะไรก็ตามที่มีสภาพธรรมปรากฏ ขณะนั้นก็เป็นอายตนะ แล้วแต่ว่าจะเป็นอายตนะใดใน ๖ อายตนะภายใน และ ๖ ที่เป็นอายตนะภายนอก ภายในก็คือจักขุปสาท ตาที่สามารถกระทบสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ หู ก็เป็นสิ่งที่มีจริง อยู่นอกตัวหรือไม่ และสามารถกระทบกับเสียง ขณะที่เสียงปรากฏ เสียงเป็นอายตนะ เราไปจำว่า เสียงเป็นอายตนะภายนอก แต่ลักษณะที่แท้จริงก็คือเสียงมีจริง เป็นอายตนะที่ยังไม่ดับ จึงมีจิตได้ยินเสียงเกิดได้ยินเสียงนั้น เพราะฉะนั้นขณะนั้นต้องมีทั้งเสียง และได้ยินซึ่งเป็นอายตนะทั้งสอง แล้วยังต้องมีโสตปสาทรูปขณะนั้น ก็เป็นอายตนะด้วย และขณะนั้นก็ต้องมีเจตสิกที่เกิดกับจิต พร้อมจิตที่ยังไม่ได้ดับไปขณะที่จิตได้ยินเกิดขึ้น ตรงนั้นขณะนั้นธรรมทั้งหมดที่มีอยู่ขณะนั้นเป็นอายตนะทั้งหมด

    นี่คือต้องเข้าใจความหมายของคำที่เราได้ยิน อย่าเพียงตามไปว่า อายตนะมี ๖ แล้วเมื่อไร อย่างไรก็ไม่รู้ แต่ถ้าเป็นอย่างนั้นก็คือไม่รู้จักตัวธรรม ได้ยินแต่ชื่อ แต่ถ้าเข้าใจว่า ธรรมทั้งหมดเป็นอายตนะเมื่ออยู่ตรงที่ประชุมกัน ที่สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดเกิดขึ้นปรากฏ สิ่งนั้นก็แสดงว่า เราเข้าใจอายตนะโดยไม่ต้องไปท่อง ไม่ต้องไปจำ ภายในมี ๖ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ภายนอกก็สิ่งที่มีจริงๆ ต้องเป็นสิ่งที่มีจริงๆ ด้วยที่สามารถปรากฏกระทบกับตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจสามารถรู้ได้ ต้องเป็นสภาพธรรมที่มีจริงจึงอยู่ในที่นั้น ของไม่จริงไปรวมอยู่ตรงนั้นได้ไหมในเมื่อไม่มี

    เพราะฉะนั้น อายตนะต้องหมายถึงธรรมทั้งหมดที่มีจริงๆ เมื่อปรากฏก็เป็นอายตนะ เพราะว่าต้องอยู่ตรงนั้น รวมกันอยู่ตรงนั้น แยกกันไม่ได้ จิตเจตสิกแยกกันไม่ได้ ดับก่อนไม่ได้ เสียงที่ปรากฏ เสียงนั้นก็ยังต้องไม่ดับ และจิตที่ได้ยินเสียงก็ยังต้องไม่ดับ และโสตปสาทก็ยังไม่ดับ นี่คือฟังธรรมไม่เผิน แต่สามารถเห็นตามความเป็นจริงว่า ธรรมเป็นอย่างนั้นจริงๆ แต่เพราะไม่รู้จึงยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน หรือว่าเป็นเรา

    เพราะฉะนั้น แต่ละคำที่ได้ยิน อย่าข้าม ทุกคำ ไม่ว่าจะเป็นสติ ไม่ว่าจะเป็นสติปัฏฐาน ไม่ว่าจะเป็นอิทธิบาท หรืออินทรีย์ ๕ ปฏิจจสมุปปาท หรือใดๆ ทั้งสิ้น อย่าเพิ่งไปจำโดยไม่รู้อะไร หรือคิดว่ารู้มากโดยไม่เข้าใจว่า สิ่งนั้นคืออะไร แล้วอย่าคิดว่า เข้าใจแล้วในเมื่อสิ่งนั้นกำลังปรากฏ แล้วเข้าใจอย่างนั้นหรือไม่หรือเพียงแต่จำเรื่องราวจากการได้ยินได้ฟัง

    ผู้ฟัง นั่นหมายความว่า ในการศึกษา ท่านอาจารย์ย้ำว่า อย่าข้าม และไม่เผิน ท่านอาจารย์ก็อธิบายว่า ทุกพยัญชนะในพระไตรปิฎก พระพุทธองค์ก็สอนให้เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏขณะนี้ เช่นคำว่า อายตนะ ก็คือขณะนี้อย่างไร หรือโดยนัยอื่น อริยสัจ ๔ ขันธ์ ๕ เมื่อฟังเข้าใจตามที่ท่านอาจารย์นำคำสอนของพระพุทธเจ้าสอนให้พวกเรารู้ โดยนัยไหนก็แล้วแต่ ก็ไม่พ้นจากสภาพธรรมที่กำลังปรากฏนั่นเอง เมื่อไม่ข้าม ไม่เผิน ฟังเพื่อเข้าใจสิ่งที่กำลังฟังตาม ก็สามารถน้อมไปเข้าใจได้ จะโดยนัยของอายตนะ หรือขันธ์ ท่านอาจารย์ก็จะชี้แจงว่า ไม่พ้นขณะนี้ คือขณะนี้นั่นเอง ไม่ใช่ขณะอื่นเลย ตรงนี้ถ้าฟังแล้วฟังอีก ฟังบ่อยๆ เนืองๆ ฟังแล้วเข้าใจแล้วพิจารณาตาม ก็เป็นอบรมเจริญปัญญาให้เข้าใจความจริงที่ปรากฏได้

    ท่านอาจารย์ นี่ถึงจะเป็นปริยัติ มิฉะนั้นแล้วไม่ใช่ปริยัติ เพราะว่าปริยัติจะนำไปสู่ปฏิปัตติ การสามารถถึงลักษณะเฉพาะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ด้วยความเข้าใจความจริงของสภาพธรรมนั้น

    ผู้ฟัง แต่เมื่อไรที่ศึกษาแบบพูดอายตนะภายนอก ๖ ภายใน ๖ ได้ว่ามีอะไร โดยไม่รู้ว่า ขณะนี้เป็นอย่างนั้นอย่างไร ก็ไม่ใช่ปริยัติแล้ว

    ท่านอาจารย์ และไม่สามารถจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง อาทิตย์ที่แล้ว ผู้ฟังได้พูดว่า การบวชชีไม่มีในพระไตรปิฎก มีผู้ฟังที่มูลนิธิท่านหนึ่งตั้งใจจะไปบวชชี ท่านบอกว่า พอได้ยินอย่างนี้ทำให้ลังเล ไม่รู้จะตัดสินใจอย่างไร ถ้าไม่บวชก็ถือว่าผิดสัจจะ ผู้ฟังก็เลยบอกว่า ถ้าผิดสัจจะ แต่ไม่ผิดพระธรรมวินัย กับถือสัจจะ แต่ผิดพระธรรมวินัย สิ่งไหนที่เป็นประโยชน์กว่ากัน


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 173
    13 ม.ค. 2567