พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 575


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๗๕

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๒


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น หลังจากที่สันตีรณะดับไปแล้ว ก็ถึงวาระที่สะสมมาในการเห็นแล้วจะชอบ ไม่ชอบ หรือจะคิดอย่างไรก็ตามสามารถเกิดได้ แต่เกิดทันทีไม่ได้ ต้องมีจิตอีกขณะหนึ่งเกิด ทำโวฏฐัพพนกิจ ตามการสะสม

    เพราะฉะนั้น เมื่อเห็นแล้ว ยังไม่ทันรู้ตัว ก็เป็นไปตามการสะสมแล้ว แต่ก่อนจะมีกุศลจิตหรืออกุศลจิต ก็ต้องมีจิต ใช้คำว่า เป็นบาทเฉพาะของกุศล และอกุศล ชวนปฏิปาทกะ หมายความว่าถ้าจิตนี้ไม่เกิด กุศล และอกุศลเกิดไม่ได้ แม้ว่าสะสมมามากควรจะเกิด แต่เกิดไม่ได้ จนกว่าจิตนี้จะเกิดก่อน เพราะว่าถึงกาลที่การสะสมมาประเภทไหนจะให้ผล

    เพราะฉะนั้น จิตนี้เกิดขึ้นทำโวฏฐัพพนกิจ เป็นบาทเฉพาะซึ่งเมื่อจิตนี้ดับไปแล้ว การสะสมที่เป็นกุศลหรืออกุศลก็เกิดได้ทันที เร็วไหม กี่ขณะ จากปัญจทวารราวัชชนะ จักขุวิญญาณ หรือโสตวิญญาณ สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะ แค่นี้ไม่กี่ขณะจิต อกุศลหรือกุศลก็เกิดได้ เร็วไหม มากไหม ประมาณได้ไหมว่า แค่ไหน เพราะขณะนี้ก็ประมาณไม่ได้ว่า ขณะเห็นกี่วาระ จะรู้ตัวต่อเมื่อชวนะเกิดประเภทไหน ถ้าเป็นประเภทอาสวะ ไม่รู้เลย แต่ถ้าเป็นประเภทอื่นสามารถรู้ได้ อย่างนิวรณ์เกิดบ่อยๆ เป็นไปในความต้องการติดข้องในรูป ในเสียงเมื่อไร ขณะนั้นไม่ใช่อาสวะ แต่อาสวะทันทีที่มีโอกาสเกิด แม้ยังไม่รู้ว่า สิ่งนั้นเป็นอะไรก็เกิดแล้ว

    เพราะฉะนั้น อีกคำหนึ่งของพระอรหันต์ คือ ขีณาสพ ขีณะ อาสวะ ขอเชิญคุณคำปั่นให้คำแปล

    อ.คำปั่น พระอรหันต์เป็นผู้ห่างไกลจากกิเลส เป็นผู้ดับกิเลสได้ด้วยประการทั้งปวง ชื่อของพระอรหันต์อีกชื่อหนึ่งก็คือ ขีณาสวะ เป็นภาษาบาลี ถ้าเป็นภาษาไทยก็เป็นขีณาสพ มาจากคำ ๒ คำ คือ ขีณ หมายถึงสิ้นแล้ว + อาสวะ หมายถึงกิเลสที่หมักดอง หรือไหลไป แปลรวมกันแล้วก็แปลได้ว่า เป็นผู้ที่มีอาสวะสิ้นแล้ว แปลสั้นๆ ก็คือ เป็นผู้สิ้นอาสวะ

    ผู้ฟัง ขอให้ท่านอาจารย์ช่วยขยายความคำว่า ใจเจ็บ

    ท่านอาจารย์ เคยเจ็บหรือไม่

    ผู้ฟัง เคย

    ท่านอาจารย์ เจ็บอะไร

    ผู้ฟัง เจ็บทั้งกาย เจ็บทั้งใจ

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นคำตอบอยู่แล้ว เวลากายเจ็บ ใจก็เจ็บด้วย ใช่ไหม เป็นทุกข์ ไม่ชอบเลย เวลาเจ็บก็จะเดือดร้อน และเป็นห่วงกังวลต่างๆ ขณะนั้นใจก็ไม่สบาย พลอยเป็นทุกข์ด้วย เวลาที่เราใช้คำว่า “เจ็บ” หมายความว่าเป็นทุกข์ใช่ไหม ไม่ใช่สุข เพราะฉะนั้น ทุกข์กายทำให้เกิดทุกข์ใจ

    ผู้ฟัง ผู้ป่วยบางคนมาตรวจแล้วด้วยอาการทางกาย แต่เมื่อสืบประวัติดูจะรู้ว่า จริงๆ แล้วแพทย์หาสาเหตุไม่ได้ ก็เลยคิดว่า การเจ็บป่วยทางใจของเขาทำให้ทุกข์กาย ก็อยากจะเรียนถามว่า ทุกข์ทางกายที่เกิดกับเขานั้นเป็นผลของวิบาก หรือเป็นผลของกรรม

    ท่านอาจารย์ เวลาศึกษาธรรม หมายความว่ามีสิ่งที่มีจริงๆ และเราไม่ปะปนด้วย ต้องเป็นธรรมแต่ละอย่างๆ เพราะฉะนั้น เวลาที่พูดถึงธรรม ปนกันไม่ได้

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ช่วยอธิบายเพิ่มได้ไหมว่า หมายความว่าอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เห็นไม่ใช่ได้ยิน ไม่ใช่คิดนึก ไม่ใช่สุข ไม่ใช่ทุกข์ เห็นก็เป็นเห็น คิดก็เป็นคิด สุขก็เป็นสุข ทุกข์ก็เป็นทุกข์ เวทนาเจตสิกคือความรู้สึก ภาษาไทยคือความรู้สึก ดีใจ สุข ทุกข์ ภาษาบาลีก็สุขเวทนา ทุกขเวทนา โสมนัสเวทนา โทมนัสเวทนา

    อ.กุลวิไล ถ้าพูดถึงผลของกรรมคือวิบาก และผลของกรรมก็มีทั้งนามธรรม และรูปธรรม แต่ถ้าเป็นนามธรรมนั้นจะต้องหมายถึงจิต และเจตสิกที่เป็นชาติวิบาก

    เพราะฉะนั้น ทุกข์ทางกาย ที่เป็นทุกขเวทนา ความรู้สึกไม่ดี ก็เป็นผลของกรรม เป็นชาติวิบาก เกิดกับกายวิญญาณที่เป็นชาติวิบาก

    ท่านอาจารย์ จริงๆ ก็เป็นสิ่งที่ละเอียด เพราะถ้าศึกษาไม่ละเอียดก็ปนกันหมด อย่างวันนี้ทานอาหารเช้า อร่อยไหม

    ผู้ฟัง อร่อย

    ท่านอาจารย์ ทานลง บางวันทานไม่ลง เพราะอะไร เคยมีใครรับประทานอาหารไม่ลงบ้างไหม หรือรับประทานอาหารอร่อยทุกมื้อ มีความสุขทุกมื้อ เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า มีเรื่องอะไรสักนิดหนึ่งทำให้เราเกิดความไม่สบายใจ อาหารที่เคยอร่อย เคยชอบ ก็เกิดไม่อยากรับประทาน ก็เป็นไปได้ แล้วเวลาเคยรับประทานอาหารแล้วก็ร่างกายเป็นปกติดี แต่ถ้าเกิดรับประทานไม่ลง อาหารพอไหม แล้วจิตใจขณะนั้นเป็นอย่างไร

    ก็แสดงให้เห็นว่า ทั้งหมดเกี่ยวข้องกัน แต่ถ้าเรื่องของกาย และความทุกข์ที่เกิดที่กาย ที่กายก็มีทั้งตา มีทั้งหู มีทั้งลำไส้ มีทั้งกระเพาะ มีทั้งมือ ทั้งเท้า ไม่ว่าขณะใดที่มีความรู้สึกที่กาย ที่ไม่สุข เป็นทุกข์ เจ็บขา ปวดตา ทุกอย่างเป็นผลของกรรม ไม่มีใครอยากจะเป็นอย่างนั้น แต่เหตุได้กระทำแล้ว

    เพราะฉะนั้น แต่ละวันเราไม่สามารถจะรู้ได้ วันนี้ก็ร่างกายแข็งแรงดี แต่ต่อไปใครจะรู้ เพียง ๑ วินาที ธาตุลมที่เกิดก็สามารถทำให้ร่างกายนั้นเปลี่ยนแปลงได้ กะทันหันก็ได้ หรือค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไปก็ได้

    นี่แสดงให้เห็นว่า ทั้งหมดมีเหตุ เมื่อมีเหตุ ผลต้องมี เพราะฉะนั้นร่างกายตั้งแต่เกิดจนตาย ขณะใดที่มีความทุกข์กายเกิดขึ้น คัน ทุกข์กายหรือไม่

    ผู้ฟัง ทุกข์กาย

    ท่านอาจารย์ แค่คันนิดเดียวก็เป็นทุกข์กาย มีเหตุให้เกิดหรือไม่ ต้องมี ทุกอย่างไม่มีเหตุเกิดไม่ได้ แต่เราไม่รู้ถึงเหตุว่า เหตุนี้มาจากไหน คันเป็นความรู้สึก ไม่ใช่เป็นรูป รูปคันได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ รูปหิวได้หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น หิวก็เป็นนามธรรม เป็นความรู้สึก คันก็เป็นนามธรรม เพราะฉะนั้น เหตุคือนามธรรม คือจิตที่ประกอบด้วยเจตนาที่เป็นอกุศลเกิด แล้วได้กระทำกรรมนั้นสำเร็จแล้วด้วย ผลต้องเป็นไปตามเจตนา แต่ว่าไม่ใช่เจตนาที่เกิดกับคนอื่นที่เราอยากให้เขาเป็นอย่างนั้น แต่เป็นเจตนาของจิตที่เกิดแล้ว กรรมนั้นสำเร็จแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้เกิดจิตที่เป็นผลเกิดขึ้น เป็นวิบาก คือเป็นผลของกรรมนั้น

    เพราะฉะนั้น ไม่ว่าอะไรจะเกิดกับเราหรือใครก็ตามแต่ โรคร้าย หรือหกล้มแขนถลอก ก็เป็นผลของกรรมที่ได้ทำแล้ว แต่สังสารวัฏยาวนานมาก เราไม่สามารถจำได้ว่า เราได้ทำกรรมอะไรไว้แล้วบ้าง แม้ในชาตินี้เรายังจำไม่ได้เลยว่า ทำกรรมอะไรมากน้อยแค่ไหน เจตนามีกำลังมาก เบียดเบียนประทุษร้าย บางคนก็อาจจะทำให้คนอื่นเสียชีวิต บางคนก็ไม่ทำให้ถึงเสียชีวิต แค่ทำให้เจ็บๆ ก็เป็นเรื่องที่ได้กระทำกรรมแล้ว แต่ไม่มีใครสามารถรู้ได้ว่า แล้วเมื่อไรกรรมนั้นจะให้ผล มีใครรู้กรรมที่ได้กระทำแล้วบ้าง ถ้าไม่รู้ จะรู้ไหมว่า เดี๋ยวนี้ที่กำลังเห็นเป็นผลของกรรมอะไร แต่ต้องมีเหตุ

    วิบากทั้งหมดชื่อว่า วิบาก ได้แก่นามธรรม เพราะเป็นสภาพที่เห็น สภาพที่ได้ยิน สภาพที่ได้กลิ่น สภาพที่ลิ้มรส สภาพที่เกิดกระทบกับกาย เพราะฉะนั้น ต้องเป็นนามธรรม ผลต้องเป็นนามธรรม ถ้าทำให้รูปเกิด แต่รูปไม่รู้สึกอะไร ก็ไม่เดือดร้อน

    เพราะฉะนั้น กรรมทำให้ทั้งจิต เจตสิก และรูปเกิด แล้วแต่ว่ารูปนั้นเกิดจากกรรมเป็นปัจจัย ก็ชื่อว่า กัมมชรูป

    เพราะฉะนั้น เวลานี้ก็มี เราก็ไม่สามารถรู้ได้ว่า นั่งอยู่อย่างนี้ กรรมทำให้รูปเกิด ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า และรูปก็มีอายุเท่ากับ ๑๗ ขณะจิต แต่ละกลาปหรือกลุ่มของรูปที่เกิดจากกรรมจะมีอายุเกินกว่านี้ไม่ได้ รูปที่เป็นสภาวรูปทั้งหมดมีอายุเท่ากันหมด ใครจะรู้หรือไม่รู้ รูปนั้นก็เกิดแล้วก็ดับไป ถ้ารูปเกิดพร้อมปฏิสนธิจิต และจิตต่อๆ ไปเกิดสืบต่อ ๑๗ ขณะ รูปก็ดับแล้ว ถ้ารูปเกิดพร้อมจิตที่กำลังคิดนึก และเมื่อคิดนึกแล้ว รูปเกิดแล้ว ๑๗ ขณะต่อไป รูปนั้นก็ดับ แล้วใครรู้ ขณะนี้รูปเกิดแล้วก็ดับ แต่รูปใดไม่ปรากฏ รูปนั้นเกิดแล้วดับแล้ว แน่นอน เพราะเร็วมาก ขณะเห็นกับขณะได้ยินห่างกันเกิน ๑๗ ขณะ รูปอะไรจะเหลือ

    เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า ทุกข์กายหนีไม่พ้น เพราะเกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ามีทุกข์กายหรือไม่

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ มีทุกข์ใจไหม

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ แต่เรามีทั้ง ๒ อย่าง แต่ต้องแยก ไม่เข้าใจว่า ขณะไหนเป็นทุกข์กาย ก็เป็นผลของกรรม หลีกเลี่ยงไม่ได้ รู้อย่างนี้ใจสบายขึ้นไหม เห็นหรือไม่ ถ้าไม่รู้อย่างนี้ เดือดร้อนมากไหม

    เพราะฉะนั้น ก็สำคัญที่ว่า ขณะนั้นจิตเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ปกติแล้วอกุศลมากกว่า พอเป็นทุกข์กาย ใครไม่เดือดร้อนบ้าง ยาก ต้องมีปัญญา และสามารถมีกุศลจิตได้ ก็แยกทุกข์กายกับทุกข์ใจ

    เพราะฉะนั้น แต่ละคนก็สามารถรู้ได้ว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ บุคคล แม้ขณะนี้ที่กำลังนั่งอยู่ที่นี่ พื้นฐานพระอภิธรรม บางคนได้ยินแค่นี้กลัว เรียนได้อย่างไร พระอภิธรรม ได้ยินก็ตกใจแล้ว อภิธรรม และโดยมากก็มีในงานสวดศพให้คนที่มาเกิดกุศลจิต และเข้าใจความเป็นจริงของชีวิต เพราะเป็นเรื่องของธรรมทั้งหมด ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตนใดๆ เมื่อกล่าวถึงธรรมก็เป็นธรรม

    เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรม ไม่ใช่เราได้ยินชื่อแล้วเราตกใจ แต่รู้ว่า ธรรมคือสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ และอภิ คือ ละเอียดยิ่ง เพื่อให้มีปัญญาเข้าใจถูกต้องยิ่งขึ้น เพียงคำสองคำไม่สามารถทำให้เห็นว่า เป็นธรรมได้ทั้งๆ ที่ได้ยินว่า เป็นธรรม ก็ยังเป็นเราเห็น เราได้ยิน ก็แสดงให้เห็นว่า เพียงขั้นฟัง เราฟังเรื่องราวของธรรม แต่ยังไม่รู้ความเป็นจริงตามที่ได้ฟัง

    เพราะฉะนั้น ปัญญาจึงต้องเจริญจนกว่าสามารถเข้าใจถูกต้องในสภาพธรรม ขณะใดที่มีธรรมแล้วไม่เข้าใจ พื้นฐานยังไม่พอ เพราะฉะนั้น การฟังความละเอียดก็ทำให้เห็นว่า แม้แต่คำที่เราได้ยินได้ฟัง อย่างเมื่อวานนี้สภาพธรรมใดปรากฏเป็นอายตนะ ไม่ต้องไปหาอายตนะที่ไหน ตอนหลับสนิท สภาพธรรมใดๆ ก็ไม่ปรากฏ แต่จิตก็ยังเกิดดับสืบต่อ ไม่ใช่คนตาย

    เพราะฉะนั้น ทั้งหมดเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ให้จิตขณะสุดท้ายเกิดตามใจชอบได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ศึกษาก็คิดว่า ได้ แต่ศึกษาแล้ว ไม่มีทางเลย เพราะเป็นเรื่องของกรรมทั้งปฏิสนธิ และจุติ

    นอกจากสุขกาย ทุกข์กาย สุขใจ ทุกข์ใจ แล้วมีความรู้สึกอย่างอื่นไหมคะ

    ผู้ฟัง เฉยๆ

    ท่านอาจารย์ เป็นความรู้สึกใช่ไหมคะ ภาษาบาลีว่า อย่างไรคะ

    ผู้ฟัง อุเบกขาเวทนา

    ท่านอาจารย์ ความรู้สึก ภาษาบาลีว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง เวทนา

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็มีสุขเวทนา ทุกขเวทนา อุเบกขาเวทนา เคยดีใจไหม

    ผู้ฟัง เคย บ่อยค่ะ

    ท่านอาจารย์ ภาษาบาลี

    ผู้ฟัง โสมนัสเวทนา

    ท่านอาจารย์ เคยทุกข์ใจไหมคะ

    ผู้ฟัง เคย โทมนัสเวทนา

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ตอนนี้เรารู้สึกสภาพธรรมไหม ไม่ว่าภาษาบาลีจะกล่าวว่าอะไรก็ตาม แต่ธรรมนั้นมีจริง เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่ใคร เป็นอายตนะหรือเปล่าคะ

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ เกิดแล้วดับไหม

    ผู้ฟัง ดับ

    ท่านอาจารย์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาหรือไม่

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้หรือไม่

    ผู้ฟัง เดี๋ยวนี้

    ท่านอาจารย์ ค่ะ จนกว่าจะรู้ว่า เป็นอย่างนั้นจริงๆ

    ผู้ฟัง ถ้าไม่มีท่านใดถาม ขอเล่าประสบการณ์เมื่อวานได้ไหมคะ คือจริงๆ แล้ว เวลาเรียนหรือทำงาน หนูไม่ค่อยใช้บริการรถเมล์ ตั้งแต่หนูมาเรียนที่นี่ พี่ที่มาด้วยกันใช้บริการรถเมล์ ทำให้เจอประสบการณ์ และวิบากเยอะมากๆ

    ท่านอาจารย์ วิบากตอนไหน

    ผู้ฟัง ตอนที่ปรากฏให้เห็นเมื่อวานนี้

    ท่านอาจารย์ เมื่อวานนี้ วิบากตอนนั้น แล้วตอนอื่นเป็นวิบากหรือไม่

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ ตอนไหนเป็นวิบาก

    ผู้ฟัง เป็นทุกตอน

    ท่านอาจารย์ ทุกตอนไม่ได้

    ผู้ฟัง ตอนที่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ อะไรปรากฏถึงจะเป็นวิบาก

    ผู้ฟัง ก็อายตนะที่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ก็เลยไปถึงคำเมื่อวานนี้ และเดี๋ยวนี้อะไรเป็นวิบาก

    ผู้ฟัง เดี๋ยวนี้อะไรเป็นวิบาก ขอความกรุณาท่านอาจารย์เฉลย

    ท่านอาจารย์ วิบากคืออะไร

    ผู้ฟัง วิบากคือผลของกรรม ที่นั่งอยู่ที่นี่ก็ได้รับวิบากที่ดี เป็นกุศลกรรม

    ท่านอาจารย์ ทางไหน

    ผู้ฟัง ทั้งทางตาที่เห็น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ต้องไม่ลืม เห็นขณะไหน เป็นผลของกรรม เลือกไม่ได้เลย แค่เห็นที่สามารถรู้ได้ ได้ยินขณะใด แค่ได้ยิน เฉพาะได้ยินเป็นผลของกรรม เลือกไม่ได้ ตอนอยู่บนรถเมล์ ขณะไหนเป็นวิบาก

    ผู้ฟัง ขณะที่ได้ยิน ที่ได้เห็น

    ท่านอาจารย์ วิบากทุกขณะไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน กำลังนั่งเดี๋ยวนี้ก็มีวิบาก อยู่ตรงโน้น ตรงไหนก็มีวิบาก เมื่อเห็นขณะใดเป็นวิบาก เพราะฉะนั้น ต้องละเอียด และไม่ลืม เกิดมาผลของกรรมก็คือขณะแรก ปฏิสนธิ ขณะหลังๆ มาก็เป็นภวังค์ ยังไม่รู้อารมณ์ใดๆ เลย แต่ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนั้น เป็นจิตประเภทกับปฏิสนธิ ต่อจากนั้นมาหยุดยั้งกรรมที่ได้กระทำแล้ว ที่จะให้ไม่ให้ผลไม่ได้ แล้วแต่จะให้ผลทางตา คือให้เห็น หรือให้ผลทางหู คือได้ยิน หรือให้ผลทางจมูก ได้กลิ่น ให้ผลทางลิ้น เมื่อรสปรากฏ ให้ผลทางกาย เมื่อมีการกระทบ นอกจากนั้นแล้วไม่ใช่วิบาก เพราะเราไม่สามารถรู้จิตอื่นที่เป็นวิบากที่ไม่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ในชีวิตประจำวันก็เพียงเท่านี้ ถ้าสามารถจะรู้ได้ ก็คือขณะเห็น ขณะได้ยิน ขณะได้กลิ่น ขณะลิ้มรส ขณะกระทบสัมผัส เป็นวิบาก แต่ตอนนี้เราจำชื่อ พอถึงกระทบจริงๆ ไม่เห็นรู้ ใช่ไหม นั่นคือวิบากที่แข็งปรากฏ และแม้แต่ความรู้สึกที่บอกว่า สำหรับทางกายจะมีเพียงสุขเวทนาหรือทุกขเวทนา ไม่มีโสมนัส ไม่มีโทมนัส ไม่มีอุเบกขา ก็ยังไม่สามารถเห็นได้ เพราะเกิดแล้วดับแล้ว เร็วมาก แล้วทุกข์สุขก็น้อยมาก ไม่ได้มากมายอย่างที่เราป่วยไข้

    เพราะฉะนั้น การฟังธรรมจึงเป็นเรื่องละเอียด และเข้าใจละเอียด และก็รู้ว่า เราสามารถรู้สภาพธรรมที่กำลังได้ยินได้ฟังแล้วหรือยัง หรือแม้สภาพธรรมมีจริง เกิดดับเป็นอย่างนั้น แต่ก็ไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมใดๆ เพียงแต่กำลังฟังเรื่องนั้นจนกว่าถึงกาลที่มีปัญญา เป็นปัจจัยให้รู้ตรงลักษณะที่กำลังปรากฏเฉพาะอย่างๆ จึงชื่อว่า ปฏิปัตติ ภาษาไทยใช้คำว่า ปฏิบัติ มิฉะนั้นก็หลงเข้าใจว่า ปฏิบัติคืออย่างอื่น แต่ต้องมีปริยัติ คือความเข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมั่นคง เป็นปัจจัยให้ขณะนี้ก็สามารถรู้ลักษณะ ที่เราใช้คำว่า วิบาก อย่างเห็น บอกว่าเป็นวิบาก ได้ยินก็บอกว่าเป็นวิบาก เป็นชื่อ เป็นเรื่อง แต่ตัวเห็น ตัวได้ยิน เราก็ยังไม่รู้

    เพราะฉะนั้น การฟังธรรมจึงต้องละเอียด และเข้าใจละเอียด เป็นไปเพื่อละการไม่รู้ว่า การไปรู้แจ้งอริยสัจธรรมโดยไม่รู้ เป็นไปไม่ได้ เพราะเป็นปัญญาที่อบรมแล้ว เจริญแล้ว จึงสามารถเห็นความจริงของสภาพธรรมที่กำลังเป็นอย่างนั้นจริงๆ ในขณะนี้ได้

    เพราะฉะนั้น ตอนนี้ไม่ใช่พอไปนั่งแล้วเกิดวิบาก ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ค่ะ กรรมคือเจตนา คือสิ่งที่กระทำแล้ว

    ท่านอาจารย์ เป็นเหตุ กรรมที่เป็นเหตุต้องเป็นกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม

    ผู้ฟัง ก็ต้องทั้งกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม

    ท่านอาจารย์ พร้อมกันไม่ได้ เป็นกุศลก็ต้องเป็นกุศล เป็นอกุศลก็เป็นอกุศล จะพร้อมกันได้อย่างไร คือที่พูดอย่างนี้เพื่อให้เห็นความละเอียด แล้วไม่เผิน มิฉะนั้นก็จะปนกันระหว่างเหตุกับผล

    ผู้ฟัง บางทีเราเรียนเรื่องกรรม อ่านในตำรา ไม่ลึกซึ้งเท่ากับเจอด้วยตัวเอง

    ท่านอาจารย์ และคนที่กำลังฟังสิ่งที่กำลังพูดนี้นั้น มีวิบากหรือไม่ ต้องมี ไม่ใช่ไปเฉพาะตอนนั้นตอนนี้ เพราะฉะนั้น โดยมากแม้วิบากมี ก็ไม่รู้ แม้ฟังแล้ว รู้ว่า วิบากขณะไหน ก็ยังไม่รู้

    ด้วยเหตุนี้ขาดการฟังไม่ได้ เพื่อให้เข้าใจไม่ลืมว่า แล้วแต่ขณะไหนสามารถรู้ลักษณะของธรรมที่ได้ยิน ไม่ว่าเป็นความรู้สึกโสมนัส หรือทุกข์ หรือผลของกรรมใดๆ ก็ตาม มีอยู่ตลอดเวลา แต่ก็หมดไปเร็วมาก เพียงเกิดขึ้นแล้วก็ดับ

    เพราะฉะนั้น ยากที่จะระลึกได้ว่า ขณะไหนเป็นวิบาก นอกจากมีสิ่งที่พอใจมาก หรือไม่พอใจมาก เห็นสิ่งที่พอใจมาก หรือไม่ชอบใจ ก็ระลึกได้ อย่างการที่จะระลึกได้เป็นบางเวลาว่า เป็นผลของกรรมของเรา แต่ขณะที่คิดอย่างนี้ เห็นก็เป็นผลของกรรมก็ไม่รู้

    แสดงให้เห็นว่า การเข้าใจธรรมจริงๆ จริงๆ คือรู้ว่า เป็นธรรม ที่จะดับความเป็นตัวตนได้ต้องละเอียดแค่ไหน แล้วก็ต้องหมดสิ้นด้วย ไม่ใช่ยังสงสัยในสภาพธรรมนั้นสภาพธรรมนี้ แล้วก็ข้ามไปที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระโสดาบันไม่ได้ เพราะพระโสดาบันคือผู้ที่ดับการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนทั้งหมด ไม่เกิดอีก โดยละเอียด ลึกเท่าไร ไม่ว่าจะเกิดเมื่อไร จะเห็นอะไรข้างหน้าต่อไป หลังจากที่เป็นพระโสดาบันแล้ว ก็ไม่สงสัยในความเป็นธรรม ในการเกิดดับ ในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน

    เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ละเอียด ฟังเพลิน แต่ไม่รู้ว่า ขณะนั้นเป็นวิบากทางไหนบ้าง แล้วเป็นกุศลหรืออกุศลขณะไหนบ้าง ซึ่งเป็นเหตุ ไม่ใช่เป็นวิบาก

    ผู้ฟัง ผู้ฟังถามว่า คนที่ว่าเรานั้น จิตของเขาเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล

    ท่านอาจารย์ แล้วจิตเราที่กำลังฟังเขาว่า รู้หรือไม่ว่า เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล แล้วรู้ได้ไหม จิตใคร จะรู้ได้ไหม แต่กำลังจะไปรู้จิตของคนที่กำลังว่าเรา จิตเขาเป็นกุศลหรืออกุศล ผิดแล้วใช่ไหม ก็จิตที่กำลังฟังเขาเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล

    มีคำหนึ่งซึ่งไม่ทราบว่า ทุกคนเข้าใจหมดโดยตลอดหรือยัง มหาวิบาก ได้ยินแล้วผ่านหูไป หรือได้ยินแล้วรู้จักมหาวิบาก หรือเข้าใจมหาวิบาก หรือคำว่า “มหาวิบาก” แค่ไหนคะ ได้ยินแล้วใช่ไหม มหาวิบากนี่ใหญ่โตมากไหม ตั้งมหา ไม่ใช่เล็กน้อย แต่จริงๆ แล้วคืออะไร ที่ใช้คำว่า “มหาวิบาก” เพราะอะไร แล้วคืออะไรก่อน

    ถ้าได้ยินคำว่า “วิบาก” เป็นผลแน่นอน ไม่ใช่เหตุ และอะไรเป็นเหตุของมหาวิบาก และมหาวิบากคืออะไร

    เราพูดถึงกุศลวิบาก อกุศลวิบาก กุศลกรรม อกุศลกรรม แล้วก็มีคำว่า “มหาวิบาก” เพราะฉะนั้น มหาวิบากคืออะไร


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 173
    13 ม.ค. 2567