พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 554


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๕๔

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๒


    ท่านอาจารย์ ยิ่งอ่านมาก ยิ่งฟังชื่อของธรรมมาก ยิ่งอยากมาก ใช่ไหม ถูกต้องไหมคะ เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้วได้ยินธรรมเพียงคำเดียว ควรเข้าใจคำนั้นให้ถ่องแท้จริงๆ ได้ยินคำว่า “ธรรม” เป็นเราหรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่เป็น

    ท่านอาจารย์ เมื่อได้ยินคำว่า “ธรรม” แล้วยังได้ยินคำว่า “อนัตตา” ด้วย ใช่ไหม ไม่ลืมนะคะ แต่เมื่อกี้นี้ลืม เพราะฉะนั้น ต้องสอดคล้องกันทั้งหมด ตั้งแต่คำแรกจนถึงคำสุดท้ายในพระไตรปิฎก ไม่ใช่ตรงนี้เป็นคำนี้ แล้วตรงอื่นเป็นอย่างอื่นไปเสียแล้ว ลืมสิ่งที่เคยได้ยินได้ฟัง เพราะฉะนั้นความจำต้องมั่นคง เวลานี้สิ่งที่ทุกคนได้ยินได้ฟังแล้วก็จำ แต่ไม่มั่นคงก็คืออนัตตา ไม่ใช่เรา เป็นธรรม เพราะฉะนั้น ในขณะที่ได้ยินคำว่า “ธรรม” และรู้ว่าเป็นอนัตตา ต้องเป็นอนัตตาตลอดไป หรือเปลี่ยนเป็นอัตตาเมื่อไรได้หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ได้ครับ ต้องอนัตตาตลอดไป ที่ว่าต้องมีสิ่งนี้ สิ่งนี้ แต่อนัตตาไม่มี ต้องไม่เป็นอย่างนั้น อาจารย์ช่วยอธิบายเรื่องอนัตตาให้ด้วย เพราะเป็นปัจจัยเรื่อง ...

    ท่านอาจารย์ คนอื่นเป็นอัตตาใช่ไหมคะ แล้วพระพุทธเจ้าตรัสว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง เป็นอนัตตา ค้านกันอยู่

    ท่านอาจารย์ แล้วอย่างไร

    ผู้ฟัง แล้วก็เป็นอนัตตาอยู่ตามกฎของสิ่งนั้น

    ท่านอาจารย์ ก็จะไปค้านทำไม

    ผู้ฟัง ค้านในความรู้สึก ปุถุชนไม่ได้เป็น

    ท่านอาจารย์ หมายความว่า แม้พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง แล้วทรงแสดงว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แต่ผู้ใดก็ตามที่ยังไม่เห็นความเป็นอนัตตาของธรรม ยังไม่เชื่อ นี้ถูกต้องค่ะ จะไปฝืนว่าเชื่อแล้ว โดยที่ยังไม่มีปัญญาถึงระดับที่ประจักษ์ลักษณะที่เป็นอนัตตาก็ไม่ได้ ใช่ไหมคะ ด้วยเหตุนี้จึงต้องอบรมปัญญาจนสามารถรู้ว่า ธรรมที่เคยยึดถือ และเคยเข้าใจว่าเป็นอัตตา เป็นอนัตตาทั้งหมด ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา

    ผู้ฟัง ผมเข้าใจ หมายความว่า การมีสติสมบูรณ์ได้นั้น เราต้องเข้าใจอนัตตาแจ่มแจ้งก่อนด้วย ถ้ายังไม่เข้าใจอนัตตาแจ่มแจ้ง ยังเป็นอัตตาอยู่ สติจะไม่สมบูรณ์ตลอดไป อาจารย์คิดว่าอย่างนั้นหรือครับ

    ท่านอาจารย์ ถูกต้องค่ะ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ สัจญาณ กิจญาณ กตญาณ

    ผู้ฟัง ยาก ยาก ยาก ยากมาก

    ท่านอาจารย์ กำลังสรรเสริญพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ผู้ฟัง ยากมาก แต่จะพยายาม

    ท่านอาจารย์ ค่อยๆ เข้าใจ

    ผู้ฟัง ในการฟังพระธรรมหรือศึกษา ก็คือว่าฟังให้เข้าใจสิ่งที่ฟังโดยละเอียด รบกวนท่านอาจารย์ช่วยขยายความตรงนี้อีกครั้งหนึ่ง เพราะว่า คำว่า ฟังให้เข้าใจสิ่งที่ได้ฟังโดยละเอียด หลายคนก็ยังสงสัยว่าเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เข้าใจปรมัตถ์แล้ว ใช่หรือไม่

    ผู้ฟัง ขั้นฟังก็เข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง

    ท่านอาจารย์ เข้าใจบัญญัติด้วย ใช่ไหม

    ผู้ฟัง เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ถ้าพบ ๒ คำนี้ในพระไตรปิฎก ไม่ว่าที่ไหน เข้าใจหรือไม่

    ผู้ฟัง เข้าใจค่ะ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะเข้าใจจริงๆ ไม่คลาดเคลื่อน

    ผู้ฟัง และที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า ฟังเพื่อเข้าใจสิ่งที่ฟัง และฟังให้ละเอียด และท่านอาจารย์อธิบายต่อว่า เมื่อปัญญารู้ธรรม รู้อย่างไร ตรงนี้ผู้ฟังเมื่อจะรู้ธรรมตามความเป็นจริง ก็คือตามที่เข้าใจหรือสัญญาที่มั่นคง คือตามนั้น ถ้าไม่รู้ตามที่เรียนมา ฟังมา สิ่งนั้นก็ไม่ใช่แล้ว

    ท่านอาจารย์ ความจริงก็สามารถรู้ได้ว่า สิ่งที่ได้ยินได้ฟังขณะนี้ถูกต้องหรือไม่ ถ้าถูกต้องก็คือจะไปรู้เป็นอย่างอื่นได้อย่างไร

    ผู้ฟัง กรณีของคุณไวที่ว่า อนัตตาไม่ใช่เรื่องของปุถุชน จริงๆ แล้วพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ว่า ธรรมเป็นธาตุ และมีลักษณะเฉพาะของเขา และลักษณะทั่วไปของทุกธาตุก็คือ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สิ่งนี้ก็คืออบรมปัญญาให้รู้ตรงนั้น เป็นเรื่องที่ปัญญาจะต้องรู้ความจริง ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ความจริงเป็นอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้มีความจริงให้รู้ ไม่ต้องไปขวนขวายที่ไหน ฟังเพื่อให้เข้าใจสิ่งที่มีจริง จนกว่าจะรู้ลักษณะของธรรมที่กำลังปรากฏว่า เป็นธรรม

    ตอนนี้เห็นก็ไม่รู้ จำชื่อได้ แล้วยังจำเป็นภาษาบาลีด้วย จักขุวิญญาณ แต่สภาพเห็นขณะนี้กำลังเห็นที่จะรู้ว่า ไม่ใช่เรา จนกว่าจะค่อยๆ เข้าถึงแต่ละลักษณะของธรรม เฉพาะแต่ละลักษณะจริงๆ ไม่ปนกัน

    ผู้ฟัง ซึ่งท่านอาจารย์ก็จะย้ำว่า เมื่อเข้าใจอย่างนี้แล้วสัญญามั่นคง สังขารขันธ์หรือสติที่ฟังเข้าใจจริงๆ ไม่ลืมจริงๆ ก็จะระลึก และปัญญาจะรู้ตรงตามนั้น

    ท่านอาจารย์ ที่เราฟังธรรมบ่อยๆ ก็เพื่อไม่ลืม ทั้งๆ ที่ฟังแล้วก็เข้าใจแล้ว เมื่อวานนี้ก็พูดเรื่องปรมัตถธรรม เรื่องบัญญัติ วันนี้ก็ฟังอีก จนกว่าสามารถรู้ลักษณะที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง ตั้งแต่ไม่ได้ทำงาน เหมือนไม่มีเรื่องรบกวนใจ ความตั้งใจฟังธรรมก็มีมาก มาสังเกตดูพบว่า ชีวิตประจำวันก็ฟังธรรมตลอด แต่เมื่อมีเรื่องรบกวนใจ ก็จะเห็นได้ชัดว่า ความใส่ใจที่จะฟังธรรมน้อยลง เพราะใจไปคิดเรื่องที่วิตกกังวล ทำให้การใส่ใจฟังน้อยลงไปมาก เมื่อสติระลึกได้ ก็รู้ว่าเป็นธรรม ที่มีเหตุปัจจัยเป็นอย่างนั้น เป็นอนัตตา บังคับอะไรไม่ได้ แต่อยากจะเรียกสนทนากับท่านอาจารย์ว่า เมื่อสถานการณ์เป็นอย่างนี้ แล้วจะอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ใครจะพยากรณ์ได้ว่า แล้วอย่างไร มีปัจจัยที่จะเกิดเป็นสังขารขันธ์ แล้วแต่อะไรจะปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของแต่ละคนด้วย แล้วอย่างไร ใครจะไปพยากรณ์ได้คะ

    ผู้ฟัง คือให้ทราบว่า เป็นอย่างนั้นตามเหตุปัจจัยเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ สิ่งใดเกิดแล้ว สิ่งนั้นรู้ ถ้าสิ่งที่ยังไม่เกิด จะรู้ไหม คุณอรวรรณสามารถรู้การสะสมของสภาพธรรมตั้งแต่แสนโกฏิกัปป์จนถึงวันนี้ แล้วก็ยึดถือว่าเป็นคุณอรวรรณ โดยตามความเป็นจริงก็คือเป็นธาตุ เป็นปรมัตถธรรม เกิดดับสืบต่อ ธรรมใดที่เป็นสังขารขันธ์ก็ปรุงแต่งขณะเดียวที่เกิดแล้วดับไป แต่ก็สะสมให้ขณะต่อไปเป็นอีกอย่างหนึ่ง ไม่ซ้ำ ไม่เหมือนเดิมสักขณะเดียว ไม่มีสภาพธรรมเก่าที่กลับมาเกิดหรือปรากฏได้ แต่จากการเห็นบ้าง การได้ยินบ้าง การคิดนึกบ้าง การเข้าใจมาก น้อย สงสัยอะไรต่างๆ ทั้งหมดปรุงแต่งจนกระทั่งบางกาลก็รู้สึกว่าเข้าใจธรรม แต่บางกาลอวิชชามาจากไหน ไม่เข้าใจอีกแล้ว ก็เพราะเหตุว่ามีสภาพธรรมนั้นๆ ที่สะสมมาเป็นปัจจัย แล้วอย่างไร ก็คืออย่างนี้

    ผู้ฟัง ก็คุยกับสหายธรรมท่านหนึ่งที่ชอบไปที่โน่นที่นี่ว่า เวลาเหลือน้อยแล้วทำไมไม่ฟังธรรม หรือในกลุ่มก็จะบอกว่า ต้องฟังบ่อยๆ เนืองๆ และจะไม่มีคำว่า ไม่มีเวลาสำหรับสิ่งที่มีความสำคัญ ตอนนั้นก็เข้าใจว่า ตัวเองมีความสุขกับการได้ฟังธรรมมากมาย แต่บางครั้งสถานการณ์เดียวกันเปิดธรรมให้ได้ยิน แต่ไม่เข้าใจธรรมเลย ก็ค่อยๆ เข้าใจว่าเป็นอนัตตา เป็นสังขารขันธ์ที่ทำอะไรไม่ได้จริงๆ ตอนนั้นคิดว่า เป็นบุญของตัวเองที่มีเหตุปัจจัยหรือสังขารขันธ์ที่ทำให้ได้ฟังธรรมมากๆ ก็คงต้องอบรมเจริญต่อไป

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นคำตอบแล้ว ทุกคนทุกชีวิตไม่สามารถจะรู้ได้ว่า อะไรจะเกิดขึ้นวันไหน แล้วเป็นเครื่องพิสูจน์ปัญญาที่ได้ฟังมาแล้ว หรือที่เจริญหรือไม่หรือ ระดับไหน อย่างไร ก็รู้ได้ด้วยตัวเอง แต่ก็ต้องเป็นอย่างนี้ จนกว่าจะไม่สงสัยในลักษณะของสภาพธรรม ไม่ว่าจะเป็นสภาพใดๆ ก็ตาม เกิดแล้วปรากฏ อยู่ที่รู้หรือไม่รู้

    อ.วิชัย ข้อความในอรรถกถาสติปัฏฐานสูตร มีโบราณาจารย์ได้กล่าวไว้ว่า สิ่งใดที่บุคคลเห็นอยู่ สิ่งนั้นไม่ใช่สิ่งที่เขาเห็นแล้ว สิ่งใดที่บุคคลเห็นแล้ว สิ่งนั้นไม่ใช่สิ่งที่เขาเห็นอยู่ เมื่อไม่เห็นตามความเป็นจริงจึงหลงติดอยู่ เมื่อหลงติดอยู่ย่อมไม่หลุดพ้น

    คำกล่าวที่ว่า เห็นแล้ว เห็นอยู่ แตกต่างกันอย่างไรครับ

    ท่านอาจารย์ สิ่งใดที่บุคคลเห็นอยู่ คือ ธรรมเป็นสิ่งที่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน แต่ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมก็ไม่สามารถรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังเห็น เชิญกล่าวอีกครั้ง

    อ.วิชัย สิ่งใดที่บุคคลเห็นอยู่

    ท่านอาจารย์ กำลังเห็นอยู่

    อ.วิชัย สิ่งนั้นไม่ใช่สิ่งที่เขาเห็นแล้ว

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่สิ่งที่เขาเห็นแล้ว ฟังดูน่าจะงง สิ่งใดที่ผู้ใดกำลังเห็นอยู่ ขณะนี้กำลังเห็นอยู่ ไม่ใช่สิ่งที่เขาเห็นแล้ว จริงๆ สภาพธรรมเกิดดับเร็วมาก สิ่งใดที่บุคคลใดเห็นอยู่ ขณะนี้เห็นอะไรคะ

    อ.วิชัย ก็มีบุคคลมากมาย

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่สิ่งที่เขาเห็นแล้ว คือสิ่งที่เพียงปรากฏทางตาที่ดับแล้ว ใช่ไหม ขณะนี้ที่เห็นต้องมีสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ขณะนี้สิ่งใดที่ผู้ใดเห็นอยู่ กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ไม่ใช่สิ่งที่เขาเห็นแล้ว เพราะก่อนจะเห็นเดี๋ยวนี้ต้องเมื่อสิ่งที่เห็น คือ สิ่งที่ปรากฏทางตาแล้วดับไป เพราะฉะนั้น ขณะนี้ที่ปรากฏว่า สิ่งใดที่บุคคลใดเห็นอยู่ เห็นคน แต่ก่อนจะเป็นคนต้องมีสิ่งที่เขาเห็นแล้ว คือ สิ่งที่ปรากฏทางตา

    เพราะฉะนั้น ขณะนี้สิ่งใดที่บุคคลเห็นอยู่ สิ่งนั้นไม่ใช่สิ่งที่เขาเห็นแล้ว คือรู้จริงๆ ว่า เมื่อกี้นี้มีสิ่งที่เห็นแล้วเป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็น แล้วหลังจากนั้นเห็นอยู่ คือ กำลังเห็นสิ่งที่เขาเหมือนว่าเขากำลังเห็น

    ด้วยเหตุนี้ความลึกซึ้งของธรรม เป็นโอกาสที่ใครได้สะสมบุญที่กระทำแล้ว สามารถได้ยินได้ฟังความลึกซึ้งที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง แม้เพียงทางเดียวคือทางตา ขณะนี้เองความลึกซึ้งของสิ่งที่มีจริงๆ ก็คือว่า เราไม่สามารถรู้ได้ว่า ความไม่รู้ แม้เพียงลืมตาเห็น สิ่งที่เห็นมาพร้อมหรือปรากฏพร้อมกับนิมิต เพราะอะไรคะ เพราะความเร็วสุดที่จะประมาณได้ ใครจะไปแยกไม่ให้สิ่งที่ปรากฏทางตาขณะนี้ไม่ปรากฏพร้อมนิมิต เพราะทันทีที่เห็นเกิดขึ้น ความรวดเร็ว ถ้าไม่เข้าใจที่จะละกิเลสด้วยความรู้จริงๆ จะไม่รู้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาขณะนี้ เพียงปรากฏเพราะกระทบตาได้ แล้วปรากฏให้เห็นได้ ดับแล้ว แต่การเกิดดับสืบต่ออย่างเร็วมาก ทำให้เมื่อเห็นก็ปรากฏขึ้นพร้อมนิมิต ทำให้ปรากฏเหมือนกับเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด

    ด้วยเหตุนี้พระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่สามารถดับกิเลส เพราะรู้ความจริงว่า ขณะใดก็ตามที่เห็นเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ขณะนั้นไม่ใช่สิ่งที่เขาเห็นแล้ว เป็นสิ่งที่เขาเห็นอยู่ว่าเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ แต่สิ่งที่เห็นแล้วดับไปโดยไม่รู้

    ด้วยเหตุนี้ปัญญาจริงๆ จึงเป็นสิ่งที่เมื่อฟังเข้าใจ ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงความจริงของธรรมได้ แต่สามารถอบรมความเห็นถูก ท้อถอยไหม สิ่งที่กำลังเห็นขณะนี้ ไม่ใช่สิ่งที่เห็นแล้ว เพราะสิ่งนั้นที่ปรากฏกับจิตเห็นดับแล้ว แต่สิ่งที่กำลังเห็นอยู่ก็เป็นคน เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ เพราะฉะนั้น สิ่งที่กำลังเห็นอยู่ ไม่ใช่สิ่งที่เห็นแล้ว

    ด้วยเหตุนี้ฟังแล้ว ท้อถอยไหม เมื่อความจริงเป็นอย่างนี้ แต่เห็นเป็นอย่างนี้ แต่ถ้าไม่ได้ทรงแสดงอย่างนี้ ใครจะคิดถึงความลึกซึ้งของธรรมที่จะรู้ได้ว่า สำหรับผู้ไม่มีโอกาสได้ฟังพระธรรม อวิชชา ความไม่รู้มากแค่ไหน และการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเราจะมากแค่ไหน และการหาทางอื่นเพื่อดับการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน โดยไม่รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏทางตา ซึ่งเป็นปัญญาขั้นฟัง ก็ยังไม่สามารถรู้ได้ แล้วจะไปรู้อะไรได้ ก็ไม่ใช่หนทาง

    ด้วยเหตุนี้ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ก็ต้องสอดคล้องกัน และข้อความในพระไตรปิฎกทั้งหมดเป็นสัจจะ เป็นความจริง ซึ่งเมื่อจริงแล้วจะค้านหรือต่างกันไม่ได้ ต้องเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยนัยต่างๆ

    ต่อไปนี้ถ้าคุณวิชัยได้ยินคำนี้ ก็ไม่สงสัยแล้วใช่ไหม แล้วจะรู้ด้วยว่าขณะใดที่ยังไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังเห็นอยู่ ขณะนั้นจะเข้าใจความหมายของจักขุวิญญาณกับรูปารมณ์ไหม ได้ยินบ่อยที่สุด จักขุวิญญาณเป็นธาตุที่สามารถเห็น และในบรรดารูปทั้งหมดมีรูปเดียวที่สามารถปรากฏให้เห็นได้ คือรูปนี้ที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ถ้ายังไม่เข้าใจธรรม ไม่มีทางรู้ และละการที่เคยไม่รู้จักสภาพธรรมที่เห็นแล้ว เพราะว่าดับไปอย่างรวดเร็ว

    อ.วิชัย ในอรรถกถาก็กล่าวถึงบางบุคคลที่ไม่รู้ ก็เห็นเป็นบุคคลต่างๆ และท่านแสดงให้พิจารณาถึงส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง การพิจารณาส่วนต่างๆ ของร่างกายเป็นกุศลในขั้นละการยึดถือกายทั้งหมดได้หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่เข้าใจธรรม แล้วแสดงมหาสติปัฏฐานสูตร คนสามารถเข้าใจได้หรือไม่

    อ.วิชัย ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ต้องฟังธรรมด้วยความละเอียด และเข้าใจในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังจริงๆ และเพิ่มขึ้น และตรงขึ้นด้วย แม้เพียงคำว่า “สติ” ถ้าไม่รู้ว่า สติคืออะไร จะเข้าใจสติปัฏฐานสูตรไหม ก็ไม่เข้าใจ แต่เมื่อรู้ว่า ธรรมจริงๆ ก็มีจิตแน่นอน เป็นธาตุรู้ และเจตสิกก็เป็นนามธรรมซึ่งเกิดกับจิต ดับพร้อมจิต แต่ไม่ใช่จิต แล้วยังมีธรรมซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ซึ่งเป็นรูป

    ด้วยเหตุนี้เมื่อสภาพธรรมเหล่านี้เกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วดับ ถ้าปัญญาไม่สามารถรู้สภาพธรรมที่มีจริง เกิดแล้วดับ จะเข้าใจความหมายของอริยสัจ ๔ คือ ทุกขอริยสัจได้ไหม ก็ไม่ได้ เมื่อเข้าใจแล้วไม่ว่าจะกล่าวถึงผม ไม่รู้ว่าเป็นรูปได้หรือไม่

    อ.วิชัย ก็อาจจะนึกเป็นสัณฐาน เป็นสิ่งต่างๆ

    ท่านอาจารย์ เป็นสิ่งที่เที่ยง แต่สิ่งที่ปรากฏเป็นผมให้เห็น ต้องมีสิ่งที่สามารถกระทบจักขุปสาท แล้วสามารถกระทบกายปสาทเมื่อสัมผัส ด้วยเหตุนี้แม้แต่เพียงผมก็สามารถมีสภาพธรรมที่ปรากฏต่างทวาร

    ด้วยเหตุนี้จึงทรงแสดงทวาร และอายตนะ เพื่อให้รู้ว่า ธรรมที่มีจริงๆ แล้วจิตสามารถรู้ได้ ต้องอาศัยทางหนึ่งทางใด

    เพราะฉะนั้น เวลาที่พูดถึงธรรม แล้วพูดถึงอายตนะด้วย ไม่แปลก แต่ทำให้เข้าใจขึ้น เช่นพูดถึงเรื่องจิต แล้วก็มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ถูกต้องไหม จะมีจิตโดยไม่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยได้ไหม ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ที่ใดที่มีจิต ที่นั่นเป็นเจตสิก จิตก็เป็นอายตนะ เจตสิกก็เป็นอายตนะ เพราะจะต้องมีอยู่ในที่นั้น ธรรมใดก็ตามที่มีจริง และมีอยู่ในขณะนั้น เป็นอายตนะ เป็นที่เกิด เป็นที่ประชุม เป็นที่ที่ทำให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏ

    ด้วยเหตุนี้พอพูดถึงเห็น ก็ต้องมีสิ่งที่ปรากฏ เกิดแล้วปรากฏ แล้วกระทบจักขุปสาท ยังไม่ดับด้วย จักขุปสาทก็ยังไม่ดับ เพราะฉะนั้น ขณะนั้นสิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นอายตนะ คือต้องมีอยู่ตรงนั้น ดับไปก่อนไม่ได้ จักขุปสาทก็ต้องมีอยู่ตรงนั้น ก็เป็นอายตนะ รวมทั้งจิตเห็น และเจตสิกก็เป็นอายตนะ

    นี่คือถ้ามีความเข้าใจจริงๆ จะไม่สงสัยในธรรมที่ได้ยินได้ฟัง ได้ยินคำว่า ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ถ้าไม่ได้ฟังธรรม ผมใคร ต้องมีบุคคลที่เป็นเจ้าของ เรา เขา ซึ่งไม่ใช่ความจริง เพราะว่าเกิดมาแล้วใครมีอะไรเป็นของตัวเองบ้าง สักอย่างหนึ่ง ผมก็เพียงปรากฏให้เห็นแล้วก็ดับไป จะเป็นของใครได้ เล็บปรากฏให้เห็นแล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจธรรมจริงๆ ไม่มีใครเป็นเจ้าของอะไรได้สักอย่างเดียว แม้แต่เข้าใจว่าเป็นเรา เป็นร่างกายของเรา เป็นจิตของเรา ก็เป็นเพียงธาตุซึ่งเกิดขึ้นทำหน้าที่นั้นๆ แล้วก็ดับไป

    ด้วยเหตุนี้จะกล่าวว่า ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน หรือเป็นบรรพหนึ่ง ก็ต้องเข้าใจด้วยว่า ถ้ายังไม่รู้ความจริงของผม สามารถรู้การเกิดขึ้น และดับไปของธรรมได้ไหม

    เพราะฉะนั้น ขณะใดก็ตาม วันนี้ทุกคนเห็นผม หลงลืมสติหรือรู้ความจริงขณะที่เห็นผม ถ้าไม่รู้ความจริง ขณะนั้นสามารถละการยึดถือผมว่าเป็นเราได้ไหม แต่ในขณะเดียวกันสภาพธรรมก็ไม่ได้มีแต่เฉพาะสติสัมปชัญญะหรือสติปัฏฐานเท่านั้น แม้แต่การเป็นไปในความสงบโดยระลึกรู้ถึงผมซึ่งไม่สะอาด ที่ตั้งก็ไม่สะอาด นี่ก็เป็นนัยก่อนการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งจิตสามารถสงบได้โดยเข้าใจในขณะที่ไม่ว่าจะเห็นอะไร อกุศลจิตเกิด แล้วมีปัญญาที่จะรู้ว่า แทนที่อกุศลจิตจะเกิด กุศลจิตจะเกิดได้อย่างไร ไม่ใช่ไม่รู้แล้วจะสงบ เป็นสมถภาวนา หรือไม่ใช่ด้วยความไม่รู้แล้วสามารถมีปัญญาดับกิเลสได้ โดยไม่เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง

    อ.กุลวิไล ตกลง อสัตบุรุษ ในที่นี้ต้องหมายถึงสภาพธรรมที่เป็นอกุศลจิต แต่อสัตบุรุษที่ยิ่งกว่าอสัตบุรุษ ก็คืออกุศลจิตที่ประกอบด้วยความเห็นผิดนั้นมีโทษกว่าอกุศล คือ โลภะที่ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด

    ท่านอาจารย์ ค่ะ ในความหมายหนึ่ง แต่ความหมายที่ว่า เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ใครเป็นสัตบุรุษ อสัตบุรุษ ไม่สามารถจะไปรู้ใจของใครได้ ก็รู้ได้จากความประพฤติทางกาย ทางวาจา

    นี่ก็เป็นอีกระดับหนึ่งว่า ถ้าใครมีกาย วาจาที่เป็นไปในฝ่ายกุศล ขณะนั้นก็เป็นสัตบุรุษ หรือสัปบุรุษได้ เพราะขณะนั้นเป็นกุศล แต่ไม่ใช่หมายความของการเป็นพระอริยบุคคล

    ผู้ฟัง ที่อาจารย์พูดสิ่งนี้ก็หมายถึงว่า เป็นอสัตบุรุษเพราะเป็นมิจฉาทิฏฐิ เพราะว่าไม่สามารถเห็นตามความเป็นจริง คือยังเห็นเป็นคนอยู่ อาจารย์ถึงใช้คำว่า ชั่ว คะ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 173
    13 ม.ค. 2567