พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 553


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๕๓

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๒


    ท่านอาจารย์ ตราบใดที่ยังพอใจในรูป ใจจะคิดถึงรูป ถึงเสียง ถึงกลิ่น ถึงรส ถึงโผฏฐัพพะทันที คือต้องการสิ่งนั้นสิ่งนี้เพื่อจะบรรเทา หิว ไม่เข็ด เพราะเหตุว่าสามารถมีสิ่งที่พอใจที่ทำให้หายหิวได้ เพราะฉะนั้นทันทีที่อาหารเค็ม ชอบหรือไม่ หันไปหาอะไร ทันทีเลย เพื่อให้สิ่งนั้นปรากฏเป็นที่น่าชอบใจต่อไป

    เพราะฉะนั้น ตลอดวันก็มีทั้งสิ่งที่น่าพอใจ และไม่น่าพอใจ ถ้าเป็นสิ่งที่พอใจก็ลืม กำลังชอบสิ่งนั้น เพลิน แต่เวลาที่ไม่พอใจหรือเป็นทุกข์เกิดขึ้น ก็ไม่รู้ว่า ความทุกข์นั้นน่ากลัวหรือน่าเข็ด เกิดแล้วเกิดอีก ตราบใดที่ยังมีชีวิต มีร่างกาย มีรูปร่าง ที่จะพ้นจากความทุกข์ไม่มี เป็นไปไม่ได้ ตั้งแต่เช้ามีแล้ว แต่ก็หันไปหาสิ่งที่น่าพอใจแทนสิ่งที่กำลังไม่น่าพอใจในขณะนั้นทันที รวดเร็วมาก ไม่ต้องมีใครเตือนหรือทำให้ทำอะไร

    ผู้ฟัง ก็อย่างที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า พอใจสิ่งที่เห็น ได้ยิน ถ้ามีสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ก็เลี่ยง พยายามหาสิ่งที่พอใจ ซึ่งก็ต้องอาศัยความเข้าใจพระธรรมที่ศึกษาอยู่เวลานี้ ขอให้ท่านอาจารย์ช่วยขยายความด้วย

    ท่านอาจารย์ ถ้าเข้าใจจริงๆ ว่า เกิดมาคือไม่ใช่เราเกิด ธรรมเท่านั้นเองซึ่งเป็นธาตุ มีปัจจัยก็เกิดขึ้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็เป็นไปตลอด แล้วจะต้องเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ก็ไม่เข็ด เห็นแล้วก็เห็นอีก เห็นแล้วก็เห็นอีก แล้วก็เห็นแล้วก็เห็นอีก ไปเรื่อยๆ และสิ่งที่ปรากฏทางตาเพียงปรากฏให้เห็น ให้ติดข้อง เห็นแล้วทั้งเห็นก็ดับ และสิ่งที่ปรากฏทางตาก็ดับ ไม่มีอะไรเหลือ แต่ก็มีปัจจัยทำให้สภาพธรรมอื่นเกิดสืบต่อไม่สิ้นสุด ตราบใดที่ยังมีความพอใจในสิ่งที่ปรากฏ ในการยึดถือว่าเป็นเรา ทั้งๆ ที่เราอยู่ที่ไหน เห็นขณะนี้เกิดแล้วดับแล้ว สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เกิดแล้วดับแล้ว เพราะฉะนั้น ก็มีแต่ความไม่รู้กับความติดข้อง และการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา ซึ่งเป็นความเห็นผิด ไม่มีเรา แต่เข้าใจว่าเป็นเรา

    ผู้ฟัง แสดงว่าต้องเป็นปัญญาที่เข้าใจพระธรรม และรู้ลักษณะของธรรมจริงๆ จึงจะเข็ด เพราะเมื่อรู้จริงๆ ธรรมก็แค่เกิดดับ ไม่กลับมาอีก และไม่มีสาระอะไร เพราะฉะนั้น ผู้จะเข็ดได้ต้องมีปัญญารู้ตรงความจริงเท่านั้นจึงเข็ด

    ท่านอาจารย์ กำลังฟังนี่ไม่เข็ด ฟังตั้งนานก็ไม่เข็ด เพราะปัญญาไม่ถึงระดับที่จะเห็นความจริงว่า เป็นเพียงธรรมแต่ละลักษณะ ทั้งๆ ที่ขณะนี้ก็เป็นธรรมทั้งหมด ก็ยังไม่เห็นตามความเป็นจริงว่าเป็นธรรม จนกว่าจะฟัง และเข้าใจมั่นคง เพราะฉะนั้น ไม่ต้องทำอะไรทั้งสิ้น ฟังให้เข้าใจขึ้นว่า สิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏขณะนี้ เกิดแล้วเป็นอย่างนี้ตามเหตุตามปัจจัย และไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาได้ เพียงให้ระลึกได้ไม่ว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดจะปรากฏทางตา ทางหู ปรากฏแล้วก็หมดไปแล้ว ไม่มีใครไปทำให้เกิดขึ้น แต่มีปัจจัยที่ทำให้สิ่งนั้นเกิดแล้วก็ดับไป ตลอดไป ทุกขณะเป็นอย่างนี้

    ฟัง ไม่ได้ให้ไปทำอะไร แต่ให้รู้ความจริงของสิ่งที่มีปัจจัยเกิดแล้วกำลังปรากฏเป็นอย่างนี้ มิฉะนั้นแล้วก็ยังเป็นตัวตนที่คิดจะทำ หรืออยากทำเพื่อให้รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ แต่ไม่เข้าใจสิ่งที่เกิดแล้วขณะนี้ที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง เมื่อได้ฟังพระธรรม แม้เข้าใจเพียงขั้นฟังว่า คนนี้ต้องเป็นอย่างนี้ ความรู้สึกเดือดร้อนก็น้อยลงไปมาก ขอให้ท่านอาจารย์ขยายความที่ว่า เพราะต้องเป็นอย่างนี้ และเพราะต้องเป็นเรา

    ท่านอาจารย์ คงไม่ต้องถึงเวลาโน้น แต่เดี๋ยวนี้เองที่กำลังเป็นอย่างนี้ ไม่เป็นอย่างอื่น เดี๋ยวก็ได้ยินแล้ว ก็ต้องเป็นอย่างนี้ จะเป็นอย่างอื่นได้อย่างไร ชีวิตธรรมดาปกติทั้งหมดเกิดขึ้นเป็นไปเป็นอย่างนี้ ไม่เป็นอย่างอื่น

    ผู้ฟัง นั่นหมายความว่า ถ้าฟังเข้าใจ ก็ไม่ต้องรอเรื่องร้ายๆ หรือวิกฤตการณ์ถึงค่อยคิด แต่จริงๆ ก็เป็นอย่างนี้ทุกขณะ เพราะต้องเป็นอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ รออะไรได้หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะไม่รู้ว่า อะไรจะเกิดขึ้น แต่สิ่งนี้เกิดแล้ว ไม่ต้องรอที่จะเข้าใจสิ่งที่มีแล้วเดี๋ยวนี้ที่กำลังปรากฏ ขณะนี้แม้ฟังอย่างนี้แล้วก็มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ไม่ได้หมายความว่าทุกคนสามารถเข้าถึงความเป็นธรรมที่ไม่ใช่เราในสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏขณะนี้ แต่ถ้าเข้าใจทีละเล็กทีละน้อยเพิ่มขึ้น วันหนึ่งสามารถรู้ความจริงได้หรือไม่ เพราะว่าวันนี้เราคิดเรื่องอื่นมากมายในระหว่างที่ไม่ได้ฟังพระธรรม ลืมเข้าใจสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏทางตา ลืมเข้าใจสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏทางหู ลืมเข้าใจแข็งที่กำลังปรากฏทางกาย ลืมเข้าใจว่า คิดเกิดแล้วดับไป

    นี่คือฟังธรรมแล้วก็ลืมอยู่เรื่อยๆ เป็นผู้หลงลืมสติ หมายความว่า สติไม่ได้เกิดขึ้น แต่เมื่อฟังแล้วเข้าใจ จะไปรู้อย่างอื่นหรือจะเริ่มมีปัจจัยทำให้ค่อยๆ คิดถึง หรือแม้แต่เพียงระลึกได้ เพียงแค่ระลึก เพราะยังไม่สามารถเห็นความจริงว่า ขณะนี้เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นเท่านั้น แต่ลองคิดถึงว่า ความจริงเป็นอย่างนี้หรือไม่

    ธรรมเป็นเรื่องจริง เริ่มจากการฟังแล้วเข้าใจขั้นฟัง ไม่ต้องไปทำอะไรอีก ฟังเข้าใจว่า ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น แล้วสิ่งนี้เป็นอะไร ไม่ได้เป็นอะไรสักอย่างเดียวถ้าไม่คิด แต่เพราะเหตุว่าสิ่งนี้เกิดดับสืบต่อเร็วมาก จนกระทั่งเหมือนกับไม่ได้ดับไป เพราะการเกิดดับสืบต่อทำให้ปรากฏเป็นนิมิต รูปร่างสัณฐานต่างๆ ฟังอย่างนี้แล้วก็คิดว่า จริงหรือไม่ มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น แต่สิ่งที่ปรากฏให้เห็นปรากฏโดยความเป็นนิมิต เพราะไม่ได้ปรากฏลักษณะที่เกิดดับ แต่ปรากฏโดยนิมิตซึ่งเป็นรูปร่างสัณฐานของสิ่งหนึ่งสิ่งใด มีสีสัณวัณณะต่างๆ ทำให้สามารถจำในรูปร่างสัณฐานนั้น

    เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่าแม้ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏ แต่ปรมัตถธรรม คือสิ่งที่มีจริงเกิดแล้วดับแล้วเร็วมาก ปรากฏเป็นนิมิต ยังไม่ต้องสมมติเรียกอะไรทั้งสิ้น ทุกคนก็นั่ง แล้วก็เห็น แล้วมีสิ่งที่เป็นรูปร่างสัณฐานต่างๆ สิ่งใดที่ไม่ใช่ปรมัตถธรรม สิ่งนั้นเป็นบัญญัติ

    เพราะฉะนั้น การที่จะเริ่มรู้ว่า สิ่งใดจริง และสิ่งใดไม่จริง แม้ว่าจะเร็วมาก แต่ก็เริ่มเห็นความต่างกันของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่สามารถกระทบจักขุปสาทแล้วปรากฏให้เห็นเป็นอย่างหนึ่ง แต่เมื่อปรากฏให้เห็นแล้ว ไม่ได้ปรากฏเพียงเป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็น แต่ปรากฏเป็นนิมิตต่างๆ ให้รู้ว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะฉะนั้น ขณะนั้นสิ่งที่จริงคือสิ่งที่เพียงปรากฏให้เห็น ส่วนรูปร่างสัณฐานนิมิตต่างๆ นั้นเป็นบัญญัติ

    เพราะฉะนั้น ก็เริ่มแยกชีวิตว่า ถ้าไม่มีปรมัตถธรรม ไม่มีบัญญัติแน่นอน เพราะเหตุว่าปรมัตถธรรมเกิดดับ แล้วทำให้เกิดเป็นนิมิต จึงทำให้มีบัญญัติ ความจำในสิ่งที่ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ใจคิดนึกถึงสิ่งนั้น เพราะว่าเห็นไม่ได้ทำหน้าที่อะไร นอกจากเกิดขึ้นเห็นเท่านั้นเอง แค่เห็นแล้วก็ดับไปแล้ว หมดหน้าที่ของธาตุซึ่งสามารถเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา โดยธาตุนั้นเกิดที่จักขุปสาทรูป เห็นแล้วก็ดับไป นี่คือความจริง ถ้าไม่ฟังอย่างนี้ เมื่อไรจะคลายการที่เป็นเราเห็น หรือสิ่งที่เห็นเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด นี่คือทางเดียว ทางตาเท่านั้นเอง แต่ก็มีทั้งทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    เพราะฉะนั้น ความเข้าใจธรรมต้องละเอียด และต้องทั่ว ปริยัติ คือ รอบรู้ในสิ่งที่ฟังโดยเข้าใจลักษณะของธรรมที่ได้ยินได้ฟัง ไม่ใช่ฟังเรื่องหนึ่ง แล้วไม่มีสิ่งที่กำลังปรากฏให้พิสูจน์ว่า สิ่งที่ฟังนั้นถูกต้องเป็นความจริงอย่างไร

    เพราะฉะนั้น วันนี้ ขณะนี้ ก็เข้าใจปรมัตถธรรม สิ่งที่มีจริง ที่ปรากฏให้เห็นจริงๆ เห็นจริงๆ ใช่ไหม แต่หลังจากนั้นก็คือเห็นนิมิต เพราะความจริงเห็นดับแล้ว ดับไปอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ดับไปตลอดเวลา เพราะฉะนั้น ปรากฏให้เห็นเป็นนิมิต ซึ่งเป็นบัญญัติของสิ่งที่มีจริงซึ่งเกิดดับ

    นี่คือโลกตั้งแต่เกิดมา แล้วไม่รู้ในสภาพธรรมที่เป็นธาตุ เกิดมาด้วยความไม่รู้ เห็นด้วยความไม่รู้ ได้ยินด้วยความไม่รู้ คิดนึกด้วยความไม่รู้ ตั้งแต่เกิดจนตาย ตราบใดที่ยังไม่ได้ฟังธรรม เป็นชีวิตที่เกิด และเป็นไปตามเหตุปัจจัยโดยไม่รู้ว่า ความจริงแต่ละชาติหายไปหมด ไม่เหลือ หรือชาตินี้ความสุขความทุกข์ทั้งหมดที่ผ่านมา ก็จะหมดสิ้นไป จบชาตินี้ก็จำไม่ได้ว่า ชาติก่อนทำอะไร อยู่ที่ไหน แม้แต่ขณะนี้ ถ้าถึงชาติหน้าก็ไม่รู้แล้วว่า เคยอยู่ตรงนี้กำลังฟังเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ สังขารขันธ์ก็ปรุงแต่ง จำ และเก็บสะสมความเข้าใจที่ถูกต้อง จนกว่าเวลาที่ได้ฟังอีก ก็สามารถเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏเพิ่มขึ้น ยิ่งขึ้นได้

    ด้วยเหตุนี้การฟังธรรมที่จะได้สาระจริงๆ ต้องละเอียด และเข้าใจจริงๆ ในสิ่งที่ฟัง ในสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ขณะนี้มีนิมิต ยังไม่เป็นคำ ขณะที่เห็นแล้วมีรูปร่างสัณฐานปรากฏ เป็นคำอะไรหรือไม่ ไม่เป็นคำ แต่การจะให้รู้ว่า หมายความถึงสภาพธรรมใด ต้องมีคำซึ่งสมมติให้รู้ว่า หมายความถึงสภาพหรือธรรมอะไรก็ตามแต่ อย่างคุณบุษกร พอพูดถึงชื่อนี้ ทุกคนหันไปหาคนอื่นหรือไม่คะ ก็ต้องดูหรือเห็นคุณบุษกร

    นี่คือสภาพธรรมที่บัญญัติให้รู้ สมมติให้รู้ว่า ชื่อนี้บุษกรหมายความถึงสภาพธรรมอะไร ปรมัตถธรรมอะไร เพราะฉะนั้นจึงต้องมีคำที่เป็นสมมติให้รู้ความหมายของสิ่งที่มีจริง เพราะฉะนั้น สิ่งใดก็ตามที่ไม่มีจริง ไม่ใช่ปรมัตถธรรม เป็นบัญญัติ จะใช้คำว่า สมมติบัญญัติก็ได้ เพราะสมมติก็คือไม่จริงเหมือนกัน เพราะเหตุว่าเพียงสมมติ ชื่อบุษกร อยู่ที่บ้านมีใครเรียกบุษกรหรือไม่ ไม่มี เป็นอีกชื่อหนึ่งแล้ว เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า เป็นแต่เพียงสมมติเท่านั้นเอง

    เพราะฉะนั้น ก็เข้าใจได้ว่า สิ่งใดที่ไม่ใช่ปรมัตถธรรม สิ่งนั้นก็เป็นบัญญัติ แล้วก็มีสมมติ คือให้เข้าใจ ให้รู้ได้ว่า หมายความถึงสิ่งใด จึงมีทั้งปรมัตถสัจจะ และสมมติสัจจะ

    ผู้ฟัง บางทีไม่ลืม แต่ขณะที่เข้าใจสภาพธรรม อยากให้ท่านอาจารย์ช่วยอธิบายว่า เมื่อไรเป็นสติเจตสิกเกิด หรือเมื่อไรเป็นการตั้งใจพิจารณาสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ ได้ยินชื่อสภาพธรรมเยอะ จากการเริ่มได้ยินว่า “ธรรม” แล้วธรรมก็หลากหลายมาก ด้วยเหตุนี้จึงมีคำที่ได้ยิน คือ สติ ได้ยินว่าสติคืออะไร

    ผู้ฟัง สติคือสภาพที่ระลึกได้

    ท่านอาจารย์ เท่านั้นหรือ หรือละเอียดกว่านั้นอีกนิดหนึ่ง

    ผู้ฟัง ระลึกได้ในปรมัตถธรรม

    ท่านอาจารย์ เป็นไปในทางกุศลเท่านั้น จะเป็นปรมัตถธรรมหรือไม่เป็นปรมัตถธรรม สติเป็นสภาพที่เป็นโสภณธรรม ธรรมมีทั้งฝ่ายดี เป็นโสภณ และฝ่ายไม่ดี เป็นอกุศล

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า เวลาจะใช้คำหนึ่งคำใด เราต้องเข้าใจว่า ลักษณะนั้นเปลี่ยนไม่ได้ จะเปลี่ยนสติให้เป็นอกุศลได้ไหม ถ้าเข้าใจว่า สติหมายความถึงสภาพธรรมฝ่ายดี จะให้เป็นอกุศลได้ไหม ไม่ได้ วันนี้ดีขณะไหน

    ผู้ฟัง ดีขณะที่มีโสภณธรรมเกิด

    ท่านอาจารย์ รู้หรือว่า ขณะนั้นเป็นโสภณธรรม เมื่อเช้าฟังธรรมหรือไม่

    ผู้ฟัง ฟังครับ

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นคุณชาลีฟัง หรือสติเกิดไปในการระลึกที่จะฟังธรรม ไม่ได้คิดถึงอย่างอื่น ถ้าคิดถึงอย่างอื่นก็ไม่ใช่สติ แต่ขณะใดที่ระลึกถึงสิ่งที่ดีงาม คือการเข้าใจธรรม มีการฟังธรรม ขณะนั้นเพราะสติเกิด เป็นสติเจตสิก สิ่งนี้พอจะเข้าใจ ใช่ไหม แต่รู้ลักษณะของสติหรือไม่

    ผู้ฟัง คิดว่ายังไม่รู้

    ท่านอาจารย์ รู้ไม่ได้ เดี๋ยวนี้ก็มีสติเจตสิกเกิดกับจิตที่เป็นโสภณ แต่ตราบใดที่ยังไม่รู้สภาพธรรมแต่ละลักษณะ ขณะนั้นจะไปรู้สติซึ่งเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดแล้วดับแล้วอย่างเร็วมากได้ไหม เพราะแม้ขณะนี้เองสภาพธรรมที่ปรากฏ เช่น สิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่สภาพเห็น แล้วก็มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น ไม่สงสัย แต่สภาพเห็นสงสัยหรือไม่

    ผู้ฟัง สภาพเห็นไม่สงสัย

    ท่านอาจารย์ รู้ลักษณะที่เห็นหรือไม่

    ผู้ฟัง รู้ลักษณะที่เห็น

    ท่านอาจารย์ กำลังเห็นรู้ลักษณะที่เห็นหรือไม่ ไม่ใช่ชื่อเห็น ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา แต่เป็นธาตุที่กำลังเห็น รู้ลักษณะของธาตุที่กำลังเห็นหรือยัง

    ผู้ฟัง ถ้าสภาพเห็น อาจจะยังครับ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า สติขั้นฟังมี แต่สติที่จะรู้ถึงลักษณะของสภาพเห็นที่กำลังเห็น ถึงเฉพาะลักษณะที่เห็น ยังไม่เกิดขึ้น ก็สงสัยในลักษณะของสติ แต่เราเรียนชื่อของธรรมทั้งหมด กุศลธรรม ชื่อหรือไม่ แต่ไม่รู้ว่า สภาพธรรมใดขณะนี้เป็นลักษณะของกุศลธรรม หิริก็มี โอตตัปปะก็มี ศรัทธาก็มี เป็นธรรมฝ่ายดี ก็ไม่ปรากฏให้รู้ได้ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมเกิดขึ้นแล้วดับไปอย่างเร็วมาก แต่เมื่อได้ฟังว่า ธรรม ขั้นแรกก็คือ ขณะนี้เห็นเป็นธรรมหรือไม่

    ผู้ฟัง เห็นเป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ ตอบได้ แต่ลักษณะของธรรมคือสิ่งที่มีจริง แม้มีจริงปรากฏ อวิชชาไม่สามารถเห็นถูกต้องตามความเป็นจริงได้ จนกว่าการฟังเริ่มเข้าใจขึ้นทีละเล็กทีละน้อย เป็นผู้ตรงว่า ปัญญายังไม่ถึงการประจักษ์แจ้งธาตุเห็นที่เกิดดับ และสิ่งที่ปรากฏทางตาก็เพียงปรากฏ แต่ลักษณะที่เกิดดับก็ไม่ปรากฏ แสดงว่าปัญญาของผู้เริ่มฟังกับผู้อบรมจนสามารถประจักษ์แจ้งความจริงของธรรม รู้แจ้งอริยสัจธรรม ทุกขอริยสัจจะ หมายถึงการเกิดดับของสภาพธรรม จนสามารถคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเที่ยง เป็นเรา หรือเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด และเป็นสุข พอใจอยู่เรื่อยๆ ที่จะมีสิ่งนั้น จนกระทั่งเมื่อไรคลายความยึดมั่น ความพอใจ ความต้องการในสังขารธรรมทั้งหลาย คิดดูนะคะ สังขารธรรมทั้งหลาย หมายความถึงสภาพธรรมทั้งหลายที่เกิดปรากฏ และดับไป ที่จะน้อมไปสู่ธาตุที่ไม่มีการเกิดอีก ถ้าไม่เกิด ต้องเจ็บไข้ไหมคะ ต้องหิวไหม ต้องเสียใจไหม ต้องเป็นทุกข์ไหม ไม่ต้องเดือดร้อนใดๆ ทั้งสิ้น แต่ไม่สามารถจะเป็นอย่างนั้นได้ แม้กำลังฟัง

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นผู้ตรงตามความเป็นจริง ฟังเพื่อความเห็นถูกว่าเป็นธรรมก่อน เพราะฉะนั้น ขณะนี้ก็เป็นสติเพียงขั้นฟัง แต่ยังไม่ใช่สติที่กำลังรู้เฉพาะลักษณะของธรรม ลักษณะนะคะ ขณะนี้มีแข็ง ยังไม่รู้เฉพาะลักษณะแข็งว่าเป็นลักษณะหนึ่งที่มีจริงๆ ที่ปรากฏ และจากการฟังก็รู้ว่า ไม่มีใครไปทำให้แข็งเกิดขึ้นได้ แต่เมื่อมีธาตุที่รู้แข็ง เพราะแข็งนั้นเกิดปรากฏ และทั้งแข็งก็ดับ และธาตุที่รู้แข็งก็ดับ เร็วมาก นี่คือการที่จะต้องค่อยๆ เข้าใจ ทุกคนรู้จักแข็ง แต่ไม่เคยรู้ว่าเป็นธรรม แล้วไม่รู้ว่าเกิดดับ แล้วไม่รู้ว่า เป็นแต่เพียงปรากฏให้รู้ได้ทางกายเท่านั้น ไม่มีอะไรสำคัญ ธาตุชนิดหนึ่งที่สามารถปรากฏความเป็นธาตุแข็งเมื่อกระทบสัมผัสแล้วก็ดับไป

    นี่คือหนทางที่จะละความไม่รู้ และความติดข้องในสิ่งที่ไม่เคยรู้ จึงยึดถือว่าเป็นเรา และขณะใดที่รู้เฉพาะลักษณะของสภาพธรรม ก็ต่างกับขณะที่ฟังเข้าใจ ใช่ไหม ก็เป็นสติอีกขั้นหนึ่ง จริงๆ ขณะนั้นก็คือสติปัฏฐาน เพราะมีลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง เป็นที่ตั้งของสติที่กำลังรู้เฉพาะลักษณะนั้น เพื่อปัญญาจะได้เห็นถูกว่า ไม่มีเรา และก็ไม่มีโลกใดๆ ทั้งสิ้น ทั้ง ๕ โลก ทางตา หู จมูก ลิ้น ขณะนั้นไม่ปรากฏ มีแต่สิ่งที่ปรากฏทางกาย แล้วถ้าเป็นปัญญาที่รู้ชัด ก็จะรู้ว่าสิ่งนั้นสามารถที่จะรู้ได้ทางใจด้วย

    ผู้ฟัง ถ้าสติจะเริ่มเกิดจะมีความไม่ชัด แต่ความไม่ชัดนี้จะไม่ใช่ความสงสัยใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ สภาพธรรมเป็นอย่างไร ก็ไม่มีใครไปเปลี่ยนแปลงได้ แต่ความรู้หรือความเข้าใจมากน้อยแค่ไหน ขณะนี้ทุกคนรู้ว่ามีจิตเกิดดับสืบต่อด้วย เพราะว่าจิตเกิดขึ้นทีละ ๑ ขณะ สภาพของจิตเป็นปัจจัยที่ทำให้ทันทีที่จิตนั้นดับไปจิตอื่นต้องเกิดสืบต่อทันที ไม่มีระหว่างคั่น เว้นจุติจิตของพระอรหันต์เท่านั้น นอกจากนั้นแล้วจิตทุกประเภท ทุกขณะ เป็นอนันตรปัจจัย ทันทีที่ดับก็เป็นปัจจัยให้จิตเกิดสืบต่อทันทีโดยไม่มีระหว่างคั่น เราก็ไม่รู้ว่า ขณะนี้เห็นไม่ใช่ได้ยิน เพราะเนียนมาก เกิดดับสืบต่อ ไม่ปรากฏที่จะทำให้เห็นว่า จากเห็นต้องดับไป แล้วถึงจะมีได้ยิน ไม่ใช่อย่างนั้น แล้วถึงจะมีคิดนึก นี่คือการเกิดดับของสภาพธรรมอย่างรวดเร็ว

    เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรม แม้ธรรมปรากฏ ปัญญารู้แค่ไหน ชัด หมายความถึงปัญญา ไม่ใช่หมายความถึงลักษณะของธรรม เสียงที่เบามากปรากฏได้ไหมคะ ไม่ต้องเป็นเสียงดังเท่าไร เสียงเบาๆ ปรากฏได้ไหมคะ ปรากฏได้ เสียงเบาหรือเสียงดัง ปรากฏต่างกันใช่ไหมคะ ความเข้าใจถูกต้องไม่ว่าในเสียงเบาหรือเสียงดังต้องเหมือนกัน ถ้าเป็นความรู้ชัด ต้องรู้ว่า ขณะนั้นเป็นธรรม ไม่ใช่หมายความว่า เสียงเบาไม่ชัด แล้วเสียงดังชัด ไม่ใช่อย่างนั้น แต่เป็นปัญญาที่รู้ตามความเป็นจริงว่า ความชัดคือปกติ และสามารถเห็นถูก เข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏได้ ต้องอบรม ต้องค่อยๆ เข้าใจขึ้นเป็นหนทางเดียว เพราะถ้าถามใครทุกคนตอบได้ว่า แข็งเป็นธรรม แต่เป็นเราหรือเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ยังไม่ปรากฏว่าขณะนั้นเฉพาะแข็งปรากฏ แล้วจะเป็นอะไรได้ นอกจากเป็นธรรมอย่างหนึ่ง

    ผู้ฟัง ทำอย่างไรให้สตินี้เป็นสติสัมปันโนได้มากๆ อย่าให้ถึงกับเป็นพระอริยบุคคล เป็น ปุถุชนแต่ให้ผิดน้อย เผลอน้อย อาจารย์ช่วยแนะวิธีด้วย

    ท่านอาจารย์ ยิ่งอ่านมาก ยิ่งฟังชื่อของธรรมมาก ยิ่งอยากมาก ใช่หรือไม่ ถูกต้องไหม เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้วได้ยินธรรมเพียงคำเดียว ควรเข้าใจคำนั้นให้ถ่องแท้จริงๆ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 173
    13 ม.ค. 2567