พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 572


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๗๒

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๒


    ท่านอาจารย์ ไม่ว่าจิตจะทำกิจอะไร จะเป็นมโนทวาราวัชชนะ ปัญจทวาราวัชชนะ หรือกำลังเห็น กำลังได้ยินก็ตาม แต่รูปที่เกิดจากกรรมจะไม่เกิดอีกก่อนจุติจิต ๑๗ ขณะ

    ด้วยเหตุนี้รูปที่เกิดตอนที่อีก ๑๗ ขณะจุติจิตจะเกิด ก็ดับพร้อมจุติจิต เพราะฉะนั้น คนที่ตายแล้วไม่มีลักษณะของสิ่งที่มีชีวิต แม้เราจะมองเห็นว่า ยังมีตา แต่ไม่มีใครรู้ว่าจุติจิตเกิดเมื่อไร เพราะฉะนั้นก็ยังมีรูปร่างเหมือนเดิม ตา หู ก็มีสีสันวัณณะไม่เปลี่ยนแปลง แต่ความจริงไม่มีกัมมชรูปเกิดหลังจากจุติจิตดับ และรูปที่เกิดก่อน ๑๗ ขณะก็ดับพร้อมกับจุติจิต

    นี่คือการแสดงให้รู้ว่า รูปใดเกิดพร้อมจิตในขณะไหน อย่างปฏิสนธิจิตเกิดพร้อมกับกัมมชรูป ทันทีที่ปฏิสนธิจิตเกิดก็มีกัมมชรูปเกิดทันที แต่ว่าเมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว ซึ่งหลังจากปฏิสนธิ อุปาทขณะแล้ว ฐีติขณะแล้ว ภังคขณะแล้ว ทั้งหมดมีกัมมชรูปเกิดร่วมด้วยทุกอนุขณะ พอปฏิสนธิจิตดับ รูปที่เกิดพร้อมปฏิสนธิจิตดับหรือยัง ยัง เกิดพร้อมฐีติขณะดับหรือยัง ยัง เกิดพร้อมอุปาทขณะดับหรือยัง แต่พอถึงจิตขณะต่อไป คือ ภวังคจิตแรกซึ่งใช้คำว่า ปฐมภวังค์ รูปซึ่งเกิดเพราะจิต จิตตชรูปเกิดพร้อมอุปาทขณะของจิต ก็แสดงให้เห็นว่า รูปแต่รูปที่ตัวมีสมุฏฐานต่างๆ กัน บางรูปเกิดเพราะกรรม บางรูปเกิดเพราะจิต บางรูปเกิดเพราะอุตุ บางรูปเกิดเพราะอาหาร ซึ่งจะแสดงให้เห็นว่า ไม่มีของใคร และไม่ใช่ของใคร แม้กำลังหลับสนิท รูปที่เกิดแล้วเมื่อไรก็ตาม ขณะจิตไหนก็ตาม มีอายุ ๑๗ ขณะจิตแล้วก็ดับไป แม้ในขณะนี้ เดี๋ยวนี้ แล้วรูปที่เกิดขณะนี้ก็จะมีอายุอีก ๑๗ ขณะจิตแล้วก็ดับไป ก็แสดงว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยทั้งนั้น

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กล่าวเรื่องรูป เนื่องจากเคยเข้าใจว่า ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ หรือมนุษย์ ทราบว่ารูปที่เกิดจากกรรมมี ๙ ประเภท แล้วก็คิดว่าภูมิที่มีขันธ์ ๕ มีชีวิตนวกรูปด้วย แต่จากการประชุมวิชาการก็ทราบว่าไม่มี ขอเรียนอธิบายให้เข้าใจถูกพร้อมกัน

    อ.ธิดารัตน์ ที่แสดงไว้ชัดๆ ที่เกิดในภูมิมี รูปพรหม จะมีรูปที่เกิดจากกรรม มีตา จักขุทสกะ มีหู โสตทสกะ มีหทยทสกะ และมีชีวิตทสกะ เพราะไม่มีกายทสกะ แม้ในรูปพรหมที่ไม่มีนามธรรม อสัญญสัตตาพรหมก็มีกลุ่มของชีวิตทสกะทั้งนั้นที่เป็นกลุ่มที่เกิดเพราะกรรม จะไม่มีกลุ่มที่เป็นจักขุ โสต เพราะไม่มีจิตเกิด หทยวัตถุก็ไม่มี ที่แสดงไว้ชัดๆ ก็จะมี ๒ ภูมิ คือ อสัญญสัตตาพรหมกับรูปพรหม รูปพรหมก็ยังมีตา มีหู สามารถฟังธรรมได้ ไม่มีกายปสาทเพราะเป็นภูมิที่ข่มกามราคะ ก็จะไม่มีกายปสาทที่จะกระทบโผฏฐัพพะต่างๆ ข่มไว้ด้วยภูมิ ถึงแม้จะเป็นพรหมที่เป็นปุถุชนก็ตาม หรือเกิดเป็นรูปพรหม กายปสาทไม่มี ก็จะมีกลุ่มของชีวิตทสกะแทน ที่แสดงไว้ชัดเจนก็จะมี ๒ ภูมินี้ที่มีมีกลุ่มของรูป ๙ รูปที่เกิดจากกรรม และในวิสุทธิมรรคที่อธิบายรายละเอียด ธาตุไฟที่เกิดจากกรรม ท่านก็แสดงว่าเป็นรูป ๘ รูปที่มีกรรมเป็นปัจจัย

    ผู้ฟัง ในการศึกษาที่ว่า อยากจะไปรู้รูปก็ไม่สามารถรู้ได้ แต่ในการศึกษาก็ศึกษาแบบพระพุทธเจ้ารู้อะไร ก็ให้เข้าใจเป็นปริยัติ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมจะเห็นพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่ตรัสอะไร ก็ให้เราไปรู้ ไปเข้าใจถึงอย่างนั้นอย่างนี้ได้ แต่เห็นพระมหากรุณาที่ทรงแสดงโดยละเอียดเพื่อเห็นว่า เป็นอนัตตา ยิ่งละเอียดยิ่งเห็นว่า ไม่มีใครสามารถไปเปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรมนั้นได้ แต่ว่ารู้พระปัญญาคุณยิ่งขึ้นว่า ทรงตรัสรู้ความจริงโดยละเอียดยิ่ง แต่ไม่ใช่พอได้ยินคำว่า สภาพธรรมเกิดดับ ก็จะประจักษ์การเกิดดับทันที ก็เป็นไปไม่ได้ ศึกษาแล้วสามารถรู้ได้ว่า สามารถจะเข้าใจอะไรได้ และสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือว่า สิ่งที่ควรรู้ยิ่งคือสิ่งที่ปรากฏแล้ว ขณะนี้อะไรกำลังปรากฏ ข้ามไปหมด ลืมไปหมด ไม่ได้ค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง ขอย้อนกลับมาถึงเรื่อง ถึงเวลาที่จะเห็น จะได้ยิน แล้วโยงไปสู่การเข้าใจเรื่องวิถีจิต ตรงนี้ก็คือให้เข้าใจว่า ชีวิตก็เป็นไปเช่นนี้ ขอเรียนท่านอาจารย์ขยายความให้เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ถ้าเข้าใจขึ้น ไม่มีเราหรือไม่มีใคร แต่เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นประพฤติเป็นไป เป็นวิญญาณจริยาที่จะต้องเป็นอย่างนี้ ตลอดวันเกิดมาแล้วก็มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ขณะที่เป็นผลของกรรม เช่นเห็น ได้ยิน ดับไปแล้ว ก็ยังมีอกุศลสืบต่อเพราะไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมนั้นๆ

    เพราะฉะนั้น ทั้งวันเป็นอย่างนี้ พอกลางคืนก็เป็นภวังค์ ตื่นขึ้นมาพอถึงวิถีจิตก็ต้องเป็นอย่างนี้อีก ไม่ให้เป็นก็ไม่ได้ แล้วก็เป็นภวังค์ ตื่นขึ้นมาอีกก็เป็นอย่างนี้เรื่อยๆ ไป ไม่จบ

    นี้ก็แสดงให้เห็นว่า ไม่สามารถมีปัญญาเห็นว่าเป็นธรรม จนกว่าจะได้ฟังพระธรรมจึงรู้ว่า ธรรมไม่ใช่ขณะอื่น ทุกขณะที่กำลังปรากฏมีจริงๆ ขณะนี้เป็นธรรมทั้งหมด แต่ว่าจะเข้าใจความเป็นธรรมเมื่อไร ในขณะที่ฟังเป็นความรู้ขั้นฟัง แต่ยังไม่รู้ลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรม ซึ่งเมื่อนั้นก็จะทำให้เข้าใจขึ้น เพราะว่าสิ่งที่ปรากฏตรงตามที่ได้ทรงแสดงทั้งหมด แสดงว่าเมื่อมีภวังคุปัจเฉทะดับ วิถีจิตเกิด ใครรู้ปัญจทวาราวัชชนจิต ไม่รู้ ใช่ไหม ใครรู้จักขุวิญญาณหรือสัมปฏิจฉันนะ หรือสันตีรณะ หรือโวฏฐัพพนะ อย่างจะรู้ก็คือโลภะหรือโทสะ ซึ่งเกิดดับสืบต่อเป็นประเภทเดียวกัน สามารถรู้ได้ แต่ก็ยังเป็นเรา

    เพราะฉะนั้น การจะละการยึดถือสภาพธรรมตามความเป็นจริง ต้องมีตั้งแต่ขั้นฟัง และเห็นความเป็นไปของธรรมว่า เป็นธรรมจริงๆ จนกว่าจะรู้เมื่อไร เมื่อนั้นก็รู้ลักษณะที่เป็นธรรมด้วย ไม่ใช่เพียงเรื่องราวของธรรมเท่านั้น

    ผู้ฟัง เมื่อสักครู่ท่านอาจารย์ก็กล่าวถึงจักขุ การเห็น ธรรมทั้งหลายที่มาเรียนถามท่านอาจารย์ และวิทยากร เป็นประโยชน์เพราะเป็นเหตุให้ได้ระลึกถึงการได้ฟังพระธรรมที่ผ่านๆ มา เพราะเหตุว่ากิเลสที่หลงลืมสติเกือบทุกขณะ แม้เห็นอยู่ขณะนี้ หรือเสียงขณะนี้ ตามความจริงแล้วก็เกิดดับตลอดเวลา แต่เพราะความไม่รู้หรือกิเลสที่สะสมมานอนเนื่องอยู่ในวัฏฏะ ก็เป็นสิ่งที่ปิดกั้น

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วทุกขณะก็เป็นสิ่งที่ปัญญาสามารถรู้ และเข้าใจได้ ตามกำลังของการสะสม กำลังพูดถึงเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ภวังคจิต มโนทวาราวัชชนจิตก็เป็นเสียง ซึ่งสามารถเข้าใจได้ว่าขณะนั้นก็เป็นธรรม เพราะฉะนั้น ถ้ามีความรู้ความเข้าใจเรื่องสภาพธรรมเป็นธรรม ก็เป็นปัจจัยทำให้รู้ตรงลักษณะแต่ละลักษณะ ตามที่สติสัมปชัญญะจะเกิดระลึกรู้ได้

    เพราะฉะนั้นไม่ว่าอะไร ถึงเวลาก็ได้ยิน ถึงเวลาที่จะเข้าใจ ถึงเวลาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมก็เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย แต่ให้ทราบว่า ทั้งหมดก็เป็นชั่วขณะหนึ่งในสังสารวัฏซึ่งจะไม่กลับมาอีก วันนี้เป็นอย่างนี้ ตรงนี้ นานไหม ไม่นาน จริงๆ เมื่อสักครู่นี้ก็ดับไปหมด แล้วก็มีสิ่งซึ่งเกิดสืบต่อ ก็เหมือนยังอยู่ในที่เดิมที่เก่า แต่ความจริงก็คือ แม้สิ่งที่ปรากฏทางตาขณะนี้ก็ไม่ใช่สิ่งที่เกิดแล้วดับไปแล้วขณะก่อน

    เพราะฉะนั้น ขณะนี้อยู่ในโลกนี้ ชาตินี้ ตรงนี้ แล้วก็เดี๋ยวก็กลับบ้าน ถึงเวลากลับบ้านก็ไม่ใช่ตรงนี้อีกแล้ว แล้วแต่จะไปที่ไหน อย่างไร ก็คือชั่วขณะในสังสารวัฏ ซึ่งชั่วคราว อยู่ในโลก จะโลกไหนก็ตามแต่ก็ชั่วคราว แล้วระหว่างนั้นก็คือว่า ชั่วคราวของเห็นจะยิ่งชั่วคราวสักแค่ไหน แม้ว่าจะอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราว คิดดู อาจจะเป็น ๑๐ ปี ๒๐ ปี ๘๐ ปี ๑๐๐ ปี ชั่วคราวจริงๆ คืออยู่ตลอดไปไม่ได้ แม้จะชั่วคราวอย่างนั้น แต่ถ้าคิดถึงขณะจิตยิ่งเล็กน้อย และชั่วคราวขนาดไหน ก็แสดงให้เห็นถึงพระปัญญาคุณที่ทรงตรัสรู้ และทรงพระมหากรุณาแสดงธรรมให้คนอื่นได้มีสังขารขันธ์ที่เป็นความเข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่จะสะสมสืบต่อไป จนกว่าสามารถรู้ความจริงซึ่งกำลังเกิดดับในขณะนี้ได้ ค่อยๆ สะสมไป แต่ให้ทราบว่า ทุกขณะเพียงชั่วคราวที่สั้นมาก

    อ.กุลวิไล พูดถึงชั่วคราว และสั้นมาก โดยสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม คือ จิต เจตสิก และรูป เกิดแล้วก็ดับไป แต่ด้วยความยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏว่า เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน และอวิชชาปิดบัง เลยดูเหมือนเป็นบุคคลนี้เที่ยง ถาวร ทั้งๆ ที่สภาพธรรมเหล่านี้ก็หมดไปในแต่ละขณะ

    ท่านอาจารย์ เป็นบุคคลนี้ถาวร เดี๋ยวก็เห็น เดี๋ยวก็ได้ยิน แต่ถ้าเป็นเพียงเสียงที่ปรากฏหมดแล้ว ถาวรไหม นี่ก็แสดงให้เห็นว่า จะรู้การเกิดดับของสภาพธรรมก็ต่อเมื่อรู้ลักษณะที่เป็นธรรม ถ้าเป็นเรา ก็ชั่วคราว เห็นชั่วคราวแล้วได้ยิน แต่ไม่ใช่ลักษณะหนึ่งลักษณะใด แต่ถ้าเป็นลักษณะจริงๆ ถึงจะรู้ได้ว่า ชั่วคราวนั้นสั้นมาก อย่างเสียง ถ้ารู้ที่เสียง ไม่มีอย่างอื่นปรากฏ ไม่มีเสียง มีเสียง แล้วเสียงก็หมดไป ชั่วคราวมาก และถ้ารู้สภาพความจริงทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะเสียง จะชั่วคราวสักแค่ไหน

    ผู้ฟัง อารมณ์ของสติปัฏฐานที่เป็นปรมัตถสัจจะ หรือปรมัตถธรรมเท่านั้น กับอารมณ์ของสมถภาวนา กับอารมณ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการตรึก การนึกถึงเรื่องอิริยาบถ หรือเรื่องราวต่างๆ ที่เป็นบุคคล ตัวตน ตรงนี้ใช่ไหมที่เราแยกชัดเจนว่า อารมณ์ของสติปัฏฐานคือปรมัตถธรรมเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ จริงๆ รู้สึกว่าเราติดคำ ติดชื่อมากแม้แต่คำว่า ปรมัตถธรรม แต่ความจริงถ้าพูดถึงสิ่งที่มีจริง เดี๋ยวนี้มีสิ่งที่มีจริงซึ่งเราไม่รู้ความจริงของสิ่งที่มีจริงสักอย่างเดียว เช่น ขณะนี้กำลังเห็น มี ทุกคนก็รู้ว่ามีเห็น แต่รู้หรือไม่ว่าความจริงของเห็นคืออะไร เรียกว่าเราไม่รู้เลย เราไปติดคำว่า สติปัฏฐาน อย่างวันก่อนแทนที่จะพูดถึงความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ มีจริงๆ เดี๋ยวนี้ให้เข้าใจขึ้น ผู้ถามก็ไปสงสัยว่า จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานกับธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานต่างกันอย่างไร แทนที่จะว่า ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏแล้วไม่รู้

    เพราะฉะนั้น แทนที่จะไปติดที่ชื่อ ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพียงได้ยินคำว่า “จิต” รู้ไหม มีจิตแน่ และมีสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญา ไม่ใช่เป็นการไปใช้ชื่อต่างๆ แต่สามารถเข้าใจด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะได้ยินคำอะไร หมายความถึงสภาพธรรมอะไรในขณะนี้ เช่น ได้ยินคำว่า “จิต” ขณะนี้มีจิต แล้วหมายความถึงขณะไหน และขณะนั้นจิตมีสภาพอย่างไร กำลังทำกิจอย่างไร

    เพราะฉะนั้น ขณะนี้มีเห็น และทุกคนก็บอกว่ามีจิต แต่รู้หรือไม่ว่า ที่กำลังเห็นเป็นจิต ก็อาจจะไปใช้ว่า จิตเป็นธาตุรู้ เป็นสภาพรู้ เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ และจิตเห็นก็เป็นจิตชนิดหนึ่ง เป็นผลของกรรมเกิดขึ้นเป็นวิบาก เกิดพร้อมกับเจตสิก ๗ ดวง พูดไปก็ไม่ได้รู้ลักษณะของจิตที่กำลังเห็น

    เพราะฉะนั้น ต้องทราบว่า จุดประสงค์ของการศึกษาธรรม มีธรรมที่ไม่เคยรู้วา เป็นธรรม เพราะฉะนั้น การฟังเพื่อให้เกิดความเข้าใจถูก ไม่ต้องไปกังวลว่า ขณะที่กำลังเห็นอย่างนี้ จะเป็นสติปัฏฐานอะไร ก็ไปติดแล้วว่า จะเป็นจิตตานุปัสสนา หรือเป็นธัมมานุปัสสนา หรือเป็นอะไร ซึ่งการคิดอย่างนั้นไม่ได้ทำให้เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ

    ด้วยเหตุนี้พื้นฐานของพระอภิธรรมก็คือให้ผู้ฟังมีความเข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมว่า เป็นธรรม จนกระทั่งรู้ว่าเป็นอภิธรรม แต่ไม่ใช่ไปจำชื่ออภิธรรมก่อน

    ด้วยเหตุนี้ต้องเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วจะใช้คำอะไรก็ตามแต่ ก็เพื่อให้เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้น เวลานี้มีคำว่า บัญญัติกับปรมัตถ์ ที่ว่าอะไรเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน สิ่งที่มีจริงขณะนี้ปรากฏให้เห็น แล้วสิ่งที่ปรากฏเป็นเพียงสภาพธรรมที่มีจริงๆ เกิดกระทบจักขุปสาท นี่คือฟังให้เข้าใจว่า ขณะนี้เห็นเกิดขึ้นได้อย่างไร ไม่ใช่อยู่ดีๆ เห็นก็เกิดขึ้นมา แต่ไม่ว่าอะไรก็ตามที่ปรากฏเพราะเกิด ต้องมีปัจจัยทำให้เกิดมากด้วย มากมาย แต่ความรู้ของเรา เพียงรู้นิดเดียวว่า ขณะนี้เป็นธรรมที่มีจริง แล้วก็ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา แค่นี้ค่อยๆ เริ่มสนใจในขณะที่กำลังเห็น และขณะนี้ฟัง จะเป็นเรื่องสิ่งที่ปรากฏให้เห็น หรือสภาพธรรมที่กำลังเห็น ก็คือมีสภาพธรรมนี้กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ขณะนี้สิ่งที่ปรากฏ ถ้าเข้าใจถูกต้องว่า มีลักษณะจริงๆ จึงปรากฏให้เห็นได้ หลังจากนั้นเราไม่เคยรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ เพราะไปจำสิ่งที่ปรากฏทันทีพร้อมนิมิตว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด นี่คือความไม่รู้ตั้งแต่เกิด กี่ภพกี่ชาติก็ตามแต่ จนกว่าจะมีผู้ตรัสรู้ และทรงแสดงความจริงให้เห็นประโยชน์ว่า อยู่ในโลกของความไม่รู้ตลอดเวลา

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ใช้คำว่า บัญญัติหรือปรมัตถ์เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน แต่หมายความว่า ฟังแล้วเข้าใจก่อน ไม่ใช่พอได้ยินอย่างนี้ บางคนก็ต้องเป็นปรมัตถ์ แต่ปรมัตถ์ขณะนี้ เดี๋ยวนี้ คืออะไร คือสิ่งที่กำลังเพียงปรากฏให้เห็น ส่วนบัญญัติก็เป็นความจำ เรื่องราว และคิดถึงสิ่งที่ความจริงก็เป็นสิ่งที่ปรากฏ แต่เกิดดับโดยไม่รู้ เพราะฉะนั้น เหลือเพียงรูปร่างสัณฐานให้ทรงจำว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง

    เพราะฉะนั้น รูปร่างสัณฐานที่ทรงจำว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง จะทำให้รู้ความจริงได้หรือไม่ที่ใช้คำว่า อารมณ์ของสติปัฏฐาน หมายความว่าสติปัฏฐานเป็นปัญญาที่เกิดพร้อมสติ ซึ่งขณะนั้นไม่ได้เป็นไปในเรื่องทาน ในเรื่องศีล แต่กำลังเป็นไปในเรื่องเข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ขณะใดที่สติปัฏฐานเกิดขึ้นเพื่อเข้าใจถูกต้องในสิ่งที่ปรากฏ โดยสติเป็นสภาพที่ไม่ลืม ถ้าจะแปลเป็นภาษาไทยว่า ระลึกได้ เดี๋ยวก็ไปคิดว่า ระลึกอย่างนั้นระลึกอย่างนี้ แต่ความจริงก็คือว่า พอสติเกิด ที่เป็นสติปัฏฐาน หมายความว่า รู้ว่า ขณะนี้เป็นธรรม แล้วรู้จักธรรมที่เป็นธรรมจริงๆ คือ สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นธรรมจริงๆ ส่วนความจำว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา นี่ต้องเป็นความเข้าใจที่มั่นคง เพราะฉะนั้นสติปัฏฐานเกิด คือ เริ่มเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้นการอบรมเจริญปัญญา ก็คือเพื่อเห็นถูก เพราะฉะนั้นสติขณะนั้นก็เริ่มเข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วก็ละ คลาย การยึดถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะปกติพอเห็นแล้วก็ติดในนิมิตอนุพยัญชนะ รู้ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด และยังติดในความละเอียดของสิ่งที่ปรากฏเป็นรูปร่างต่างๆ เป็นกลีบดอกไม้สีต่างๆ เป็นเกสรดอกไม้ ถ้าเป็นคนก็คิ้ว ตา จมูก ปาก เป็นทุกอย่างที่มีลักษณะที่ทำให้สนใจ ประมาณกิเลสได้

    เพราะฉะนั้น ขณะที่ติดข้องในสิ่งที่เป็นนิมิตอนุพยัญชนะก็ประมาณกิเลสได้ว่า มีความพอใจในสิ่งที่ปรากฏต่างกันอย่างไร มากแค่ไหน แม้ว่าโดยนิมิตเป็นสิ่งเดียวกัน ถ้าเป็นกระเป๋าก็เป็นกระเป๋า แต่อนุพยัญชนะของสิ่งนั้นมาก เพราะฉะนั้นความติดข้องโดยไม่รู้ความจริงว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา

    เพราะฉะนั้น การเข้าใจธรรม คือ ฟังเพื่อเข้าใจขึ้น แล้วไม่ต้องห่วงที่จะใช้คำว่า สติปัฏฐานหรือไม่ใช้ แต่ไม่ใช่การเข้าใจเพียงฟัง แต่มีลักษณะที่กำลังปรากฏ ซึ่งเริ่มจะรู้เฉพาะลักษณะที่ปรากฏ ปฏิปัตติ ถึงเฉพาะลักษณะหนึ่งๆ ซึ่งกำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้นขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏ ให้รู้เฉพาะ เพราะฉะนั้นต่อไปนี้ที่มีความเข้าใจ สติก็เริ่มรู้เฉพาะสิ่งที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง คำถามที่กล่าวถึงเรื่องของบัญญัติ เป็นลักษณะของนิมิตอนุพยัญชนะที่รวมกันหลายๆ อย่าง จนกระทั่งเป็นบัญญัติใดบังคับบัญชาหนึ่งขึ้นมา แล้วในขณะที่ผู้นั้นนึกถึงสิ่งที่เป็นบัญญัติ ก็คือความจำในสิ่งที่เป็นบัญญัติ และขณะนั้นมีความรู้ว่า ขณะนั้นเป็นเรื่องของความจำเท่านั้น จริงๆ แล้วความจำหรือสัญญานี้ยาก อยู่ดีๆ จะไปนึกถึงสัญญาที่มั่นคง แต่ขณะนั้นก็รู้ว่า มีสัญญาที่รู้ว่า ขณะนั้นมีสิ่งหนึ่งที่เป็นบัญญัติ ขณะนั้นระลึกถึงความจำนั้นเป็นอารมณ์ของจิตที่เกิดต่อเนื่องกันไป ลักษณะของอารมณ์ที่เป็นปรมัตถ์ ใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ คือพอได้ยินว่า ขันธ์ ๕ เป็นสิ่งที่ควรรู้ยิ่ง และปัญญาที่รู้ขันธ์ ๕ สามารถละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เพราะฉะนั้น แสดงว่าแต่ละขันธ์ ไม่ใช่สิ่งที่เราพยายามรู้โดยเจาะจง แต่เวลาที่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใด ก็จะมีปัจจัยที่เป็นสังขารขันธ์ทำให้สติระลึก

    เพราะฉะนั้น เราจะไม่รู้หน้าที่ของสังขารขันธ์ซึ่งขณะนี้ก็กำลังทำหน้าที่ทุกขณะจิต มีเจตสิกที่เป็นสังขารขันธ์ ตั้งแต่ฟังเข้าใจ กำลังทำหน้าที่เพื่อให้สภาพธรรมข้างหน้าเกิดขึ้นเป็นไปตามสังขารขันธ์นั้นๆ ว่า เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล หรือเป็นความเข้าใจระดับใด

    เพราะฉะนั้น ตอนนี้เราไปติดเรื่องคำมาก แม้แต่คำว่าบัญญัติหรือสัญญา ขณะที่กำลังค่อยๆ รู้ว่า สิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้เป็นเพียงสิ่งที่สามารถจะปรากฏให้เห็นได้ มีสัญญาจำไว้แล้วด้วย ไม่ต้องคิดว่าแล้วขณะนั้นเราจะรู้สัญญาไหม แต่เวลาที่ปัญญาเพิ่มขึ้น คิด ถ้าไม่มีสัญญา เรื่องนั้นเกิดขึ้นไม่ได้ ไม่ว่าจะคิดอะไร ซึ่งขณะนี้ก็กำลังคิด ทั้งหมดมีสัญญาที่กำลังคิดเรื่องหรือคำ หรือว่าจะเป็นสภาพธรรมใดๆ ก็ตามที่เคยได้ยินได้ฟัง และเคยเข้าใจมาแล้ว


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 173
    13 ม.ค. 2567