พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 577


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๗๗

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๒


    ท่านอาจารย์ เพราะอกุศลวิบาก จิตเห็นไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย ด้วยเหตุนี้ก็ทำให้เราสามารถเข้าใจว่า วิบากมี ๒ อย่าง วิบากที่มีเหตุเกิดร่วมด้วย เป็นเหตุที่ดี คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ หรือวิบากซึ่งไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น สำหรับอกุศลไม่มีทางที่อโลภะ อโทสะจะเกิดขึ้นเป็นผลของอกุศลกรรม มีแต่เพียงอเหตุกวิบาก จิตที่ต้องเกิดเมื่อถึงกาลที่ต้องเกิด ไม่ประกอบด้วยเหตุทั้งหมด คือ ๖ เหตุ

    เหตุทั้งหมดมี ๖ เหตุ โลภะ ๑ โทสะ ๑ โมหะ ๑ เป็นอกุศลเหตุ อีกประเภทหนึ่ง อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิกซึ่งเป็นฝ่ายดี อกุศลกรรมไม่มีทางให้วิบากจิตประกอบด้วยอโลภะ อโทสะ อโมหะเกิดร่วมด้วยได้ และไม่มีทางให้โลภะ โทสะ โมหะเกิดได้ เพราะเหตุว่าเมื่อไรที่โลภะ โทสะ โมหะเกิด เมื่อนั้นเป็นเหตุ ไม่ใช่เป็นผล

    เพราะฉะนั้น ผลของโลภะ โทสะ โมหะมีประเภทเดียว คือ จิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุใดๆ ทั้งสิ้น และคงทราบว่า จิตที่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยน้อยที่สุดมี ๑๐ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายกุศลวิบากหรืออกุศลวิบาก ก็คือ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ ๕ กุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑ รวมเป็น ๑๐ ไม่มีเจตสิกเกิดเกินกว่า ๗ ดวงนี้ เป็นผลของกรรมที่ให้ผลเป็นจิตที่เป็นวิบากที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ

    เพราะฉะนั้น กุศลกรรมต้องมีผลมากกว่าทางฝ่ายอกุศล อกุศลให้แค่นี้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วสัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ ซึ่งทางฝ่ายกุศลเพิ่ม แม้ไม่ประกอบด้วยเหตุยังเพิ่ม คือ นอกจากจักขุวิญญาณกุศลวิบาก โสตวิญญาณกุศลวิบาก ฆานวิญญาณกุศลวิบาก ชิวหาวิญญาณกุศลวิบาก กายวิญญาณกุศลวิบาก สัมปฏิจฉันนกุศลวิบาก สันตีรณกุศลวิบากเกิดร่วมกับอุเบกขา ๑ และสันตีรณกุศลวิบากเกิดร่วมกับโสมนัส ๑

    นี้คือความต่างของกุศลวิบาก และอกุศลวิบาก ทางฝ่ายอกุศลวิบากไม่มีสันตีรณะที่เป็นโสมนัสได้ เพราะจะโสมนัสต่อเมื่อเห็นอารมณ์ที่ประณีตเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นผลของกุศล

    เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ มีทางรู้ไหมว่า สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะเป็นอะไร แค่ตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่มีวิบากที่เกิดต่อซึ่งไม่รู้

    เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่าทางฝ่ายกุศล แม้มีผลของกรรมเป็นกุศลวิบาก ไม่ประกอบด้วยเหตุ ก็ยังมีมากกว่าของอกุศลกรรม เพราะสามารถรู้อารมณ์ที่ประณีตกว่าปกติ จึงเป็นปัจจัยให้สันตีรณะเกิดขึ้นพร้อมกับโสมนัสเวทนา

    เพราะฉะนั้น อเหตุกวิบากทั้งหมด มี ๑๕ เป็นอกุศลวิบาก ๗ เป็นกุศลวิบาก ๘ รวมเป็น ๑๕ อเหตุกะทั้งหมด จิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุมี ๑๘ แต่ที่เป็นวิบาก ๑๕ ซึ่งคืออกุศลวิบาก ๗ กุศลวิบาก ๘ นอกจากนั้นไม่ใช่วิบาก จิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ คือ กิริยาจิต ๓ ซึ่งเป็นปกติธรรมดาในชีวิตประจำวัน ๒ เพราะอีก ๑ เป็นของพระอรหันต์

    นี่คือความละเอียด พระอภิธรรม หรืออภิธรรม ก็คือธรรมในขณะนี้ แต่ถ้าเข้าใจมากขึ้นคือไม่มีเรา อายตนะก็ไม่ใช่เรา ชั่วขณะที่เห็น อายตนะเท่าไร ปัจจัยเท่าไร ชั่วขณะสั้นแสนสั้นแล้วก็ดับไป แล้วไม่กลับมาอีก

    เพราะฉะนั้น ฟังเพื่อเป็นปัจจัยสะสม ถ้าสติจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมอาศัยความเข้าใจที่สะสมมาแล้ว สามารถละความติดข้องในสิ่งที่ปรากฏ เพราะว่าพระธรรมทั้งหมดเพื่อการละด้วยปัญญา ด้วยความรู้ ถ้าไม่มีความรู้ก็ละไม่ได้

    นี่คือความละเอียดของกามาวจรวิบากว่า มีทั้งฝ่ายที่เป็นอกุศลวิบาก และกุศลวิบาก ก็ยังต่างเป็นมหาวิบากกับอเหตุกวิบาก

    จริงๆ แล้วเราศึกษาธรรมเผินแค่ไหน เช่นขณะนี้ถ้าถามเรื่องกรรม มีใครไม่รู้จักกรรม มีหรือไม่ ศึกษากันมานานแล้ว มีใครไม่รู้จักกรรม กรรมมีไหม มี แล้วกรรมก็เป็นเหตุให้เกิดวิบาก จะสอดคล้องกับคำถามที่ว่า เดี๋ยวนี้อยู่ที่ไหน คือถ้าจะคิดจริงๆ ก็จะทำให้เราสามารถเข้าใจธรรมได้ละเอียดขึ้น แต่ถ้าเราพูดเผินๆ ศึกษาเผินๆ กรรมมี เป็นเจตนา ความจงใจที่จะกระทำกรรมที่เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง เพราะฉะนั้น เมื่อเจตนานั้นมี แม้ว่าจะดับไปแล้ว ถึงกาลก็ทำให้วิบากเกิดขึ้น ตรงกับข้อความที่ว่า เดี๋ยวนี้อยู่ที่ไหนหรือไม่ ใครจะตอบ เดี๋ยวนี้อยู่ที่ไหน

    ผู้ฟัง ขณะนี้อยู่ที่จิตเห็น

    ท่านอาจารย์ ฟังมาหรือไม่ หรือคิดเอง

    ผู้ฟัง คือจากการศึกษาที่เข้าใจขึ้น

    ท่านอาจารย์ เพราะถ้าตอบว่าอยู่ที่ห้องนี้ ทำไมรู้ว่าเป็นห้องนี้ ไม่ใช่เราจะฟังแล้วเข้าใจคำตอบนั้นไป และยอมรับคำตอบนั้น แต่การเข้าใจจริงๆ ต้องซักจนกระทั่งถึงที่สุดที่จะเป็นความรู้ของเราเอง ถ้าตอบว่าขณะนี้อยู่ในห้องนี้ คำถามต่อไปก็คือว่า ทำไมรู้ว่าอยู่ในห้องนี้ ใช่ไหม ต้องมีการเห็น ขณะนี้มีการเห็น เห็นแล้วก็จำสิ่งที่เห็น เพราะสัญญาเจตสิก สภาพจำ เกิดกับจิตทุกขณะ

    เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังเห็น ทุกคนจะไม่รู้ว่า กำลังจำ ไม่มีใครเป็นตัวตนที่จะจำ แต่เห็นแล้วไม่จำสิ่งที่ปรากฏให้เห็น ไม่มี

    ด้วยเหตุนี้เมื่อจำแล้ว ก็ยังมีความคิดต่อไปถึงนิมิต รูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏให้เห็น แม้เมื่อวานนี้เห็น วันก่อนเห็น วันนี้เห็น ก็จำได้ว่าห้องนี้ เพราะฉะนั้น ก็เหมือนทุกคนกำลังอยู่ในห้องนี้ แต่ถ้าไม่มีจิตเห็น ไม่มีการจำสิ่งที่ปรากฏ จะมีคำตอบว่า อยู่ในห้องนี้ได้ไหม ไม่ได้

    ขยายความต่อไปอีก ไปภูฐาน บางคนก็ตั้งใจจะไป แต่ไปไม่ได้ เป็นเรื่องของกรรม และผลของกรรมหรือไม่ เป็น รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ตอบไม่ยาก ถ้ามีอุบัติเหตุเกิดขึ้น รู้หรือไม่ว่า เป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว ก็ไม่ยากอีก แต่เดี๋ยวนี้กำลังเห็น มีใครรู้บ้างว่า นี่เป็นผลของกรรม ยังไม่ต้องไปถึงอุบัติเหตุ ยังไม่ต้องไปถึงเรื่องราว เพราะฉะนั้น ใครรู้กรรม ฟังเรื่องกรรม เข้าใจเรื่องกรรม แต่รู้จักกรรมหรือไม่ ถ้ายังไม่รู้จักสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม และรู้ว่าเป็นธรรมทั้งหมด เป็นธาตุทั้งนั้น ไม่ว่าจะกล่าวโดยนัยของอายตนะ ปฏิจจสมุปปาท หรืออริยสัจจะ ซึ่งคนใช้คำเหล่านี้มาก แต่เข้าใจความจริงของคำที่พูดหรือไม่ นี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

    เพราะฉะนั้น ยังไม่ต้องคิดถึงตอนป่วยไข้ เราก็บอกว่านี่ผลของกรรม ปวดท้อง เป็นผลของกรรมหรือไม่ เป็น หิวเป็นผลของกรรมหรือไม่ เป็น แต่ไม่รู้ว่าเป็นนามธรรม ไม่รู้ว่าเป็นรูปธรรม เพราะฉะนั้น ก็เป็นเราทั้งหมด อย่างนี้จะชื่อว่า รู้จักกรรมจริงๆ หรือไม่ หรือเพียงฟังเรื่องกรรม เข้าใจเหตุผลว่า กรรมเป็นเหตุ และวิบากเป็นผล แต่ไม่ต้องไปคิดไกลถึงเรื่องราวต่างๆ วันนี้มากมาย ทางวิทยุ โทรทัศน์ การสนทนากัน และฟังธรรมเมื่อสักครู่นี้ หรือพูดเรื่องกรรมก็ตามแต่ ลืมว่า ไม่ต้องไกลถึงอย่างนั้น เพียงเห็นขณะนี้ รู้ไหมว่าเป็นผลของกรรม เราฟังมามาก แต่ก็ลืมเข้าใจตัวผลของ กรรมจริงๆ ว่า คือเห็นเดี๋ยวนี้ แต่เมื่อเห็นแล้วจะคิดอย่างไร ก็เป็นไปตามการสะสม บางคนก็คิดดี บางคนก็คิดไม่ดี ก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เมื่อเหตุสะสมมาเป็นอกุศลมากๆ เพราะฉะนั้นหลังเห็นแล้วก็เป็นอกุศล ถ้าสั่งสมกุศลมามากๆ หลังเห็น หลังได้ยินแล้วก็เป็นกุศล

    เพราะฉะนั้น ถ้าจะรู้จักกรรมจริงๆ ต้องเข้าใจว่า เป็นธรรมก่อน เพราะฉะนั้น ปัญญาที่เป็นวิปัสสนาญาณแรก จึงเป็นนาม รูป ปริจเฉทญาณ แล้วมาจากไหน ถ้าไม่มาจากการฟังแล้วเข้าใจว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา ขณะนี้อยู่ที่ไหน ถ้าไม่มีเห็น ก็จะไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน ถ้าไม่มีจำ ก็จะไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่เราไม่เผิน และไม่ประมาทว่า การฟังธรรม เราศึกษามามาก เราเข้าใจเรื่องราวมาก พูดถึงอายตนะ พูดถึงอริยสัจจะ ใครก็พูดได้ แต่พูดถึงเห็นเดี๋ยวนี้ เป็นธรรมซึ่งไม่ใช่เรา และถ้ารู้จักกรรม ขณะเห็นก็เป็นผลของกรรม ใครทำให้เห็น ไม่มีใครทำได้

    เพราะฉะนั้น กรรมน่าอัศจรรย์ ไม่ว่าจะเป็นกรรมเล็กกรรมน้อย หรือกรรมที่ได้กระทำในชาติไหนที่ได้กระทำนานแสนนานมาแล้ว ก็มีกำลังทำให้ผลเกิดขึ้น แต่ผลก็คือปกติในชีวิตประจำวันที่มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ๕ ทาง เป็นทางที่จิตเกิดขึ้นเป็นผลของกรรมที่ต้องเห็นอย่างนี้ ที่ต้องได้ยินอย่างนี้ ต้องได้กลิ่นซึ่งอาจจะไม่น่าปรารถนา แต่ก็เกิดแล้ว ใครทำ กรรมเท่านั้นที่สามารถทำให้จิตได้กลิ่นเกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้น กรรมเป็นสิ่งที่ควรรู้จริงๆ เพราะว่าที่ทุกคนยังต้องเกิดต่อไป และเกิดมาเป็นคนนี้ในชาตินี้ก็เพราะกรรม ถ้ายังคงมีความไม่รู้ และติดข้องยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ไม่รู้ว่าเป็นธาตุที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย ซึ่งไม่มีใครสามารถยับยั้งหรือทำได้ ถ้าไม่เข้าใจว่าขณะนี้เป็นธรรม ก็ไม่มีทางที่ตายแล้วจะไม่เกิดอีก แต่จะไปไหน ก็แล้วแต่กรรม ถ้าสะสมอกุศลมากๆ มีโลภะ มีโทสะ มีโมหะ มีคนที่รัก ที่เกื้อกูล เป็นมิตร เป็นศัตรู ไม่มีใครตามไปได้เลยเพราะไม่มีคน แต่เป็นธาตุซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วแต่เกิด แล้วก็ดับไปอย่างเร็วมาก จนต้องฟังพระธรรม ฟังแล้วฟังอีก จนกว่าจะเป็นความเข้าใจของตัวเอง

    นี้คือมรดกล้ำค่าที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพระบารมีมอบให้ผู้มีศรัทธาที่จะฟัง และรู้ว่า พระศาสนาของพระองค์นั้นเพื่อให้เกิดปัญญาทั้งนั้น รู้สิ่งที่มีจริงทุกขณะ ไม่ว่าจะเป็นขณะไหนก็ตาม และเข้าใจสนใจในสิ่งที่กำลังปรากฏ ฟังเรื่องราวเยอะๆ ก็ไม่รู้ว่า ถ้าไม่มีจิต จะไม่รู้เรื่องนั้นๆ จะไม่เห็น ไม่ได้ยินใดๆ ทั้งสิ้น แต่เมื่อมีจิต ซึ่งเป็นธาตุที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย เมื่อเกิดแล้วต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด จะมีจิตที่เกิดแล้วไม่รู้อะไรไม่ได้ เพราะฉะนั้นไม่ใช่เรา ฟังแล้วต้องเข้าใจธรรมที่กำลังปรากฏ เพื่อรู้ว่า เป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสรู้ และทรงแสดงให้ผู้ฟังเกิดปัญญา สามารถรู้ว่า สิ่งนี้ที่กำลังปรากฏเป็นธาตุ หรือเป็นธรรม ซึ่งไม่ใช่เรา และไม่ใช่ของเรา

    เพราะฉะนั้น คำตอบของคำถามว่า เดี๋ยวนี้อยู่ที่ไหน ถ้าไม่มีจิตเกิดขึ้น จะมีอะไรไหม ก็ไม่มี แต่เมื่อจิตเกิดขึ้นเห็น แล้วจำ แล้วคิด เพราะฉะนั้น ขณะนี้ทุกคนก็จะตอบอย่างธรรมดาว่า กำลังอยู่ที่นี่ แต่ใครอยู่ที่นี่ เราหรือ หรือเป็นธาตุ หรือเป็นธรรมซึ่งเกิดขึ้น และกำลังเกิดดับอยู่ตลอดเวลาทุกขณะอย่างรวดเร็ว พร้อมให้ผู้ที่อบรมเจริญปัญญา มีความเห็นถูก เข้าใจถูก จนกระทั่งสามารถประจักษ์ความจริงว่า เป็นธรรมซึ่งเกิดดับตามเหตุตามปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร แต่ไม่อิสระ เพราะต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย

    เพราะฉะนั้น การฟังธรรม ไม่ใช่วันนี้ พรุ่งนี้หรือก่อนตายจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม โดยที่ความไม่รู้ยังเต็ม มืดสนิท เพราะว่าอะไร มีธรรมปรากฏก็ไม่รู้ตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้น จุดประสงค์ของการฟังธรรมก็ควรจะเป็นฟังเพื่อเข้าใจสิ่งที่กำลังมี จนกระทั่งทุกคำที่เคยกล่าวด้วยตัวเอง หรือเคยได้ยินได้ฟังมาว่า ทุกอย่างเป็นธรรม ต้องเป็นอย่างนั้นจริงๆ เพราะฉะนั้น เห็นขณะนี้เป็นธรรม คิดหรือเปล่า คิด คิดเป็นธรรมหรือไม่ เป็น ชอบหรือไม่ ชอบเป็นธรรม ไม่ชอบก็เป็นธรรม

    เพราะฉะนั้น ไม่เคยคลาดหรือพลาดจากการที่ธรรมจะไม่เคยเกิดขึ้นปรากฏ แต่ไม่รู้ตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้น กว่าจะดับความไม่รู้ทั้งหมดที่เคยยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา ก็ต้องเข้าใจความละเอียดของธรรม ไม่ว่าคิดอะไร ขณะนั้นถ้ารู้ ก็ธรรมเกิดแล้วก็ดับไป โลภเกิดต่อไหม อยากจะรู้แล้วว่า เมื่อสักครู่เป็นอะไร หรืออยากจะให้ปัญญาเกิดขึ้นรู้ว่า ขณะนั้นไม่ใช่เรา แต่เป็นธรรม แล้วจะละหรือดับโลภะที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเราได้อย่างไร โดยไม่ฟังด้วยความละเอียด ด้วยความจริงใจ ด้วยความมั่นคง ด้วยความศรัทธา จนกว่าจะเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธาจริงๆ คือการรู้แจ้งอริยสัจธรรม เพราะได้ฟัง และได้เข้าใจ แล้วค่อยๆ เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมเป็นเรื่องละความไม่รู้ ที่เคยยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน และเป็นเรา ไม่ใช่เฉพาะเรา โต๊ะ เก้าอี้ อะไรทั้งหมดที่รวมกันเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นอัตตา อัตตาคือสิ่งหนึ่งสิ่งใด อัตตานุทิฏฐิ ไม่ใช่สภาพธรรมแต่ละอย่างที่เกิดดับ

    เพราะฉะนั้น ที่ไม่ประมาทในการฟังธรรมก็คือ เมื่อไรที่ค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งเกิดจากการฟัง ไตร่ตรอง พิจารณาสิ่งที่มีจริงขณะนี้ กำลังฟังเรื่องราวของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้ซึ่งเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย เพื่อละความไม่รู้ เพื่อเข้าใจถูกขึ้น ส่วนจะรู้มากขึ้นเท่าไร สามารถประจักษ์ความจริงจนตรงกับที่เคยพูดว่า ทุกอย่างเป็นธรรม เห็นไหม ได้ยินว่าทุกอย่างเป็นธรรม พูดตามว่าทุกอย่างเป็นธรรม แล้วเดี๋ยวนี้ ทุกอย่างเป็นธรรมหรือยัง ก็ยังไม่เป็น

    เพราะฉะนั้น การฟังธรรมจึงต้องเป็นผู้ตรง สัจจะ เพื่อการรู้ความจริง ซึ่งไม่มีทางที่ใครจะพ้นจากสุข ทุกข์ ใครจะเกิดเป็นอย่างนั้นบ้าง อย่างนี้บ้างในสังสารวัฏ ตราบใดที่ยังเข้าใจว่า ธรรมขณะนี้เป็นเรา

    เพราะฉะนั้น อีกนานไหม ไม่ใช่มีคนที่บอกว่า ทั้งๆ ที่ไม่รู้อย่างนี้ก็จะไปปฏิบัติ เพื่อเห็นสภาพธรรมที่เกิดดับ ใครเห็น ต้องเป็นปัญญาที่อบรมแล้ว อบรมแล้ว คือ เข้าใจสิ่งที่กำลังฟังยิ่งขึ้นจนกระทั่งมั่นคงว่าธรรมคือขณะนี้ การศึกษาเพื่อค่อยๆ คลายการยึดถือธรรมขณะนี้ว่าเป็นเรา นี่ขั้นฟัง จนกว่าสติสัมปชัญญะจะเกิดเพราะเหตุปัจจัย คือความเข้าใจสิ่งที่ได้ฟัง เป็นปริยัติ รอบรู้ในสิ่งที่ได้ฟังว่า เป็นธรรม และเมื่อสติสัมปชัญญะเกิด เป็นเราหรือไม่ เพราะฉะนั้น จะไปทำสติได้ไหม จะให้มีสติได้ไหม แต่ถ้าสติไม่เกิด ไม่สามารถจะรู้ความต่างของขณะที่สติไม่เกิดกับขณะที่สติสัมปชัญญะเกิดที่กำลังเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม

    เพราะฉะนั้น ทั้งหมดเป็นปัญญาของผู้ฟัง รู้แค่ไหน เข้าใจแค่ไหน ไม่ใช่ไปเอาหนังสือมากาง ตรงนี้ว่าอะไร หมายความว่าอะไร เป็นธาตุหรือเปล่า เป็นอายตนะ ๖ หรือเป็นอายตนะที่ ๑ ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ฟังเพื่อรู้ว่า ขณะนี้เมื่อได้ยินได้ฟังแล้วเริ่มสะสมความเข้าใจถูก เป็นสังขารขันธ์ เมื่อวานนี้เราเรียนเรื่องความขยัน พอไหมที่จะรู้ว่า ขยันในการทำมาหากิน ได้ทรัพย์สินเงินทอง และรู้ว่า จะรักษาทรัพย์นั้นได้อย่างไร และรู้ว่าควรใช้ทรัพย์นั้นอย่างไรเพื่อประโยชน์ ถ้าเป็นอย่างนี้หมายความว่า ทุกคนในโลกนี้ไม่พ้นจากการรักตัว เพราะเข้าใจว่ามีตัว อยากจะให้เราเป็นสุขตลอดชีวิต หาหนทางที่จะทำอย่างไรให้สุขตลอดชีวิตได้ แต่คิดเองไม่ออก คิดไม่ได้ คิดไม่ถูก ผู้ที่รู้กว่าคือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น พราหมณ์ผู้นั้นก็ไปกราบทูลถาม แต่ทรงแสดงถึงไม่ใช่เฉพาะชาตินี้ที่จะเป็นคนขยันทำมาหากิน เก็บเงินทอง ใช้ทรัพย์ให้เป็นประโยชน์ แต่ทรงแสดงถึงชาติหน้าด้วยว่า ประโยชน์จริงๆ คืออะไร ที่จะเป็นสุขต่อไปในชาติหน้า เพราะในชาตินี้ทุกคนเกิดมาแล้วก็รู้ว่า อยู่ไม่นานแน่ๆ ใครจะรู้ว่า นานแค่ไหน ไม่มีทางรู้เลย แต่ประโยชน์ของการฟัง คือ ความเข้าใจจะติดตามไป ให้ได้มีโอกาสฟัง และให้เป็นผู้ละเอียด ให้เป็นผู้เข้าใจธรรมที่ต่างกันมากระหว่างผู้ไม่เคยฟังธรรมเลย แล้วก็เคยฟังบ้าง แล้วก็เคยฟังมาก แล้วก็เคยเข้าใจขึ้นกับพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระสาวก

    เพราะฉะนั้น ก็ต้องเห็นความห่างไกลของปัญญา ไม่ใช่ตัวเราจะไปทำอะไรให้เกิดความรู้ที่จะละกิเลสได้ แต่ต้องเข้าใจ ซึ่งเป็นภาษาไทย แต่ภาษาบาลี ก็คือปัญญานั่นเอง

    ได้ยินคำว่า “ขยัน” คิดถึงปรมัตถธรรมอะไร เห็นหรือไม่ ความละเอียดมากมายที่ต้องเข้าใจขึ้น ไม่ใช่เผินๆ จบแล้วใชไหมพระสูตรเมื่อวานนี้ ใครจำอะไรได้บ้าง ก็จำได้แค่นี้ แต่ลึกลงไป ทั้งหมดเป็นธรรมหรือไม่ เป็นธรรมก็ต้องเป็นจิต เจตสิก หรือรูป ไม่ต้องกล่าวถึงนิพพาน เพราะว่ายังไม่มีปัญญาถึงระดับที่จะรู้แจ้งนิพพานได้ เพราะแม้สิ่งที่กำลังปรากฏก็ยังไม่รู้

    เพราะฉะนั้น ได้ยินคำว่า “ขยัน” ได้แก่ ปรมัตถธรรมอะไร เป็นธรรมแน่นอน เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม ตอนนี้ไม่ยาก ใช่ไหม แค่นามธรรม เป็นจิตหรือเจตสิก ยากขึ้นมานิดหนึ่ง หรือไม่ยากเพราะคุ้นหูแล้ว ๒ ชื่อนี้ จิตเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏเท่านั้น ไม่จำ ไม่ขยัน ไม่รัก ไม่ชัง สภาพธรรมใดกำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ ให้รู้ว่า เพราะจิตเกิดขึ้นรู้แจ้งสภาพธรรมนั้น แต่ว่าไม่รู้ความจริงว่า เป็นธรรม เพราะเหตุว่าการรู้ความจริงว่า เป็นธรรม ไม่ใช่หน้าที่ของจิต เป็นเจตสิกที่เป็นปัญญา

    นี่คือความละเอียด เพราะฉะนั้น ก็จะรู้แจ้งว่า จิตสาธารณะทั่วไปกับสิ่งที่มีชีวิตที่เกิดเพราะกรรม สุนัขก็เห็น แมวก็เห็น นกก็เห็น ปลาก็เห็น เพราะจิตเห็นเกิดขึ้นรู้สิ่งที่กำลังเห็นเป็นอย่างนี้ ไม่เป็นอย่างอื่น นี่คือจิต

    เพราะฉะนั้น วิริยะ หรือความขยันเป็นเจตสิก ไม่ใช่รูป ไม่ใช่จิต เป็นนามธรรม แต่เจตสิกมีถึง ๕๒ ประเภท วิริยะเป็นเจตสิกอะไร เพิ่งพูดชื่อไปเมื่อสักครู่นี้ ขยันเป็นเจตสิกอะไร วิริยเจตสิก

    เพราะฉะนั้น เราสามารถรู้บางส่วนของเจตสิกแต่ละประเภท เวลาที่ขยัน อดนอนทำอะไรก็ได้ ที่ต้องการให้เสร็จ วิริยะหรือไม่ ความเพียร ความอดทน เป็นเจตสิกชนิดหนึ่งเท่าที่เราพอจะเห็น แต่จริงๆ แล้ว วิริยเจตสิกไม่เกิดกับจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ ๑๖ ดวง คืออเหตุกจิต ๑๖ ประเภท ไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 173
    17 ม.ค. 2567