พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 559


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๕๙

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๒


    อ.วิชัย เพราะฉะนั้น ที่เราเคยสำคัญว่าเป็นตัวเราทั้งหมด ก็คือมีธรรมต่างๆ ที่มีเหตุปัจจัยเกิดขึ้น และทำกิจหน้าที่ของธรรมนั้นๆ เช่น เวทนา ความรู้สึก ความเสียใจ ก็ยังเป็นเราอยู่ แต่จริงๆ เป็นเวทนาที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ของเวทนา อาจจะโศกเศร้าเสียใจมากหรือดีใจมาก แต่ธรรมทุกอย่างเมื่อเกิดแล้วก็ต้องดับไป บังคับบัญชาไม่ได้ มีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้น

    ผู้ฟัง เพิ่งมาใหม่วันนี้ค่ะ ดิฉันได้ศึกษาธรรมผิวๆ อยู่ข้างนอกนานแล้ว อยู่ขอบกระด้ง ยังไม่ถึงแก่น ทีนี้ได้ฟังซีดีเรื่องรูปนามของท่านอาจารย์ได้ ๒ อาทิตย์ที่ผ่านมา สิ่งที่นำมาใช้กับตัวเอง ซึ่งไม่แน่ใจว่าสิ่งที่เข้าใจถูกหรือไม่ เช่น เมื่อคืนทำขนมแล้วร้อน ปกติเวลาร้อนจะหงุดหงิด ทำต่อไม่ได้ ต้องเปลี่ยนไปเปิดพัดลม เปิดแอร์ เมื่อคืนรู้สึกร้อน แล้วมองถึงธรรมที่เกิดขึ้นว่า นี่คือความร้อนที่มากระทบเรา เรารับรู้ว่า นั่นคือความร้อน แล้วก็หายไปโดยไม่หงุดหงิดต่อ เมื่อก่อนนี้เราจะมองแต่ความรู้สึกหงุดหงิด แต่ตอนนี้ได้อ่านของท่าน และมองละเอียดถึงหงุดหงิดมาเป็นอารมณ์ที่ซ้อนกับอารมณ์ของความรู้สึกร้อน อย่างนั้นใช่ไหมคะ แล้วความร้อนนั้นก็หายไป ทั้งๆ ที่กายภาพรอบตัวก็ยังเหมือนเดิมอยู่ เราก็ยังสามารถทำอะไรต่อไปได้ ก็รู้สึกว่า นี่คือสิ่งที่ได้จากทฤษฎีตรงนี้ และมาคิดดู ไม่ทราบว่าถูกหรือไม่ แต่ความรู้สึกร้อนนั้นหายไปจริงๆ และอารมณ์หงุดหงิดก็ไม่เกิดด้วย จะเรียนถามท่านว่า จะเอามาประยุกต์ใช้ในลักษณะอย่างนี้ถูกหรือไม่

    ท่านอาจารย์ เมื่อคืนนี้ร้อนหายไป ตอนนี้เสียงหายไปหรือไม่

    ผู้ฟัง ถ้าเผื่อพูดออกมาก็จะมีเสียง แต่ถ้าไม่พูดอยู่เฉยๆ ก็ไม่มีเสียง

    ท่านอาจารย์ ไม่มี แล้วมี แล้วหามีไม่ เสียงยังไม่เกิด ยังไม่มีเสียง พอเสียงเกิดแล้ว แล้วเสียงหายไปหรือไม่

    ผู้ฟัง ก็หายไป

    ท่านอาจารย์ ก็เหมือนร้อนเมื่อคืนนี้ ก็หายไป ทุกอย่างที่เกิดแล้วก็หมดไปๆ ไม่กลับมาอีก

    ผู้ฟัง แต่เมื่อก่อนถ้าร้อนแล้วก็จะร้อนอยู่อย่างนั้น แล้วก็หงุดหงิดต่อไปเรื่อยๆ แต่ตอนนี้เรารู้สึกว่า หงุดหงิดคืออารมณ์ที่มันซ้อนกับความร้อนที่รู้สึกร้อน

    ท่านอาจารย์ นี่คือเมื่อคืนนี้ ใช่ไหมคะ เมื่อคืนนี้คิดอย่างนี้แล้วไม่รู้ว่าถูกหรือไม่ ตอนนี้ก็คือเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่เมื่อคืนนี้ เสียงหมดไปหรือยัง ไม่เอาร้อน แต่เอาเสียง เสียงหมดไปไหมคะ

    ผู้ฟัง หมด

    ท่านอาจารย์ ร้อนไหมคะ

    ผู้ฟัง นิดหน่อย พอทนได้

    ท่านอาจารย์ ร้อนหมดไปหรือยัง

    ผู้ฟัง ยังไม่หมด

    ท่านอาจารย์ เข้าใจว่ายังไม่หมด แต่ถ้าร้อนยังอยู่ จะเห็นไหม

    ผู้ฟัง รู้สึกค่ะ จะมีความรู้สึกได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ร้อนไม่ใช่เห็น ใช่ไหมคะ

    ผู้ฟัง ไม่ใช่ค่ะ

    ท่านอาจารย์ จะมีการรู้ คือจะมีจิต ๒ ขณะเกิดขึ้นพร้อมกันได้หรือไม่

    ผู้ฟัง ตามทฤษฎีที่เคยรู้มาว่า จิตเกิดได้ครั้งละ ๑ แล้วก็ดับไป

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ขณะที่จิตมีเสียงหรือได้ยินเสียง หรือกำลังรู้เสียง ขณะนั้นจะร้อนไหม

    ผู้ฟัง ไม่ร้อนค่ะ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เสียงหมดไหมคะ หมด แล้วร้อนมีใช่ไหม แล้วร้อนนั้นหมดไปด้วยหรือไม่

    ผู้ฟัง ก็หมดค่ะ

    ท่านอาจารย์ แล้วก็เป็นได้ยิน เกิดแล้วก็หมดไป ได้ยินหมด แล้วก็เป็นเห็น เห็นหมดแล้วก็เป็นคิด ไม่จบเลย ทีละอย่างๆ เกิดแล้วก็ดับไป แล้วก็ไม่กลับมาอีก เพราะฉะนั้น เราจะไม่ไปติดหรือจะไปคิดถึงสิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วยความเป็นเรา ถึงแม้เสียงจะหมด ร้อนจะหมด เห็นจะหมด เรายังอยู่ใช่ไหมคะ ตรงความจริงหรือไม่ เพราะถ้าไม่มีเห็น ไม่มีได้ยิน ไม่มีคิดนึก เราจะมีได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น สภาพธรรมเหล่านี้มีแล้วไม่รู้ จึงเข้าใจว่า ขณะนั้นเป็นเรา แม้ว่าสภาพธรรมที่ปรากฏให้รู้จะหมดไปๆ ๆ ๆ แต่ไม่รู้ความจริงว่าไม่มีเรา ก็เลยมีเราอยู่ แล้วก็รู้ว่า สภาพธรรมทั้งหลายที่ปรากฏนั้นก็หมดไป แต่ตัวเรายังอยู่ แต่ความจริงไม่ถูกต้อง เพราะถ้าไม่มีสภาพธรรมใดๆ เกิดขึ้น จะมีเราไหม จะมีการยึดถือสภาพธรรมนั้นๆ ว่าเป็นเราได้ไหม ไม่ได้

    เพราะฉะนั้น จึงเป็นความเห็นผิดที่ยึดถือเห็นขณะนี้ว่าเราเห็น ได้ยินขณะนี้ว่าเราได้ยิน ร้อนก็เป็นร้อน เรารู้สึกร้อน ซึ่งความจริงเป็นธรรมทั้งหมดที่มีปัจจัยจึงเกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น แล้วก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ด้วย เกิดขึ้นเป็นอย่างนั้นแล้วก็ดับไป แล้วไม่เป็นของใครทั้งสิ้น เพียงแต่เรามีความรู้สึกว่า เราเข้าใจนิดหนึ่งว่า ร้อนไม่เที่ยง หมดไป แล้วเราไม่เดือดร้อนอย่างคราวก่อนที่ต้องขวนขวายเปิดพัดลม เปิดแอร์ หรือทำอะไรให้วุ่นวาย คิดว่าอย่างนั้นสบายขึ้นแล้ว แต่ความจริงไม่ใช่ค่ะ เพราะจะไม่มีวันจบ เพราะยังไม่รู้ตามความเป็นจริงว่า แท้ที่จริงแล้วไม่มีเรา จะสบายกว่าที่มีเรา แต่เราสามารถทนร้อนได้ หรือมีเราที่สามารถเห็นว่า ธรรมเกิดดับไป กับการที่ไม่มีเราจริงๆ ความสงบ ความปลอดภัย หรือความสุขทั้งหลายจะมั่นคงกว่าที่เข้าใจว่ามีเราไหม

    เพราะฉะนั้น แม้แต่ความคิดว่า ดีขึ้น สบายขึ้น ไม่เหมือนก่อน ก็คือยังไม่ถึงการรู้จริงๆ ที่จะทำให้สงบกว่านั้นอีกได้

    ผู้ฟัง ขอบพระคุณค่ะ ก็เป็นสิ่งที่ต้องไปทำความเข้าใจต่อไป

    ท่านอาจารย์ ทำอย่างไรคะ

    ผู้ฟัง ก็คือฟังต่อ ฟังไปเรื่อยๆ ให้เข้าใจขึ้น

    ท่านอาจารย์ ถ้าเข้าใจเดี๋ยวนี้ ไม่ต้องทำเพราะจิต เจตสิกทำ

    ผู้ฟัง ต้องฝึกไม่ใช่หรือคะ จะเข้าใจก็แล้วแต่ แต่เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นก็ต้องฝึก

    ท่านอาจารย์ แล้วใครฝึก

    ผู้ฟัง อ๋อ มีเราอีกแล้ว

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ไม่ได้เข้าใจว่า ไม่มีเรา แต่เป็นธรรม มิฉะนั้นเราจะไม่มีคำว่า จิต เจตสิก และรูปซึ่งเป็นปรมัตถธรรมที่เกิดดับ ใครจะอย่างไรก็ตาม คิดอย่างไรก็ตาม เมื่อสิ่งนั้นเกิดแล้วไม่พ้นเป็นจิต หรือเจตสิก หรือรูปตามความเป็นจริง แม้แต่คิดก็จริง รูปคิดไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ก็เห็นความต่าง ความหลากหลายของสภาพธรรม ซึ่งก็เป็นธรรมซึ่งไม่ใช่ใครเลย เป็นธรรมทั้งหมด ฟังเพื่อจะรู้ว่า ไม่มีเรา แต่เป็นธรรม

    เพราะฉะนั้น เพียงธรรมคำเดียว ถ้าเข้าใจจริงๆ ก็สามารถดับกิเลสได้ เพราะรู้จริง

    เพราะฉะนั้น ก็กลับมาถึงคำถามที่ว่า ทั้งๆ ที่ฟังแล้วก็รู้ว่า จิต เจตสิก รูปไม่ใช่เรา และยิ่งรู้ก็ยิ่งลึกซึ้ง ยิ่งยาก แล้วทำไมจึงไม่สามารถรู้สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามความเป็นจริงได้

    ผู้ฟัง ขออนุญาตตอบปัญหาท่านอาจารย์ที่ว่า ทำไมศึกษาตั้งมากมายแล้วจึงไม่เข้าใจสภาพความจริงสักที

    ท่านอาจารย์ หมายความว่า ทุกคนฟังรู้ว่า ทุกอย่างเป็นธรรม ขณะนี้ก็เป็นธรรม ธรรมทั้งหมด แล้วเมื่อไรจะรู้ความจริง หรือทำไมจึงไม่สามารถรู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ได้

    ผู้ฟัง จากที่ผมศึกษาจากท่านอาจารย์ก็คือ ที่ไม่รู้เพราะสติปัฏฐานไม่เกิด

    ท่านอาจารย์ แล้วอย่างไรล่ะคะ

    ผู้ฟัง เมื่อไม่เกิดก็ไม่รู้สภาพความจริง

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้ว ฟังแล้วรู้สึกว่ายาก ถูกหรือผิด เพราะอะไร ก็กำลังมีเดี๋ยวนี้ แล้วยังไม่สามารถรู้ว่าเป็นธรรมได้ เพราะฉะนั้น สภาพธรรมจริงๆ จะยากสักแค่ไหน ซึ่งไม่ใช่เรา หรือใครเลยที่สามารถจะรู้ได้ นอกจากปัญญาที่ได้อบรมแล้ว และปัญญาทุกคนรู้จักชื่อ แต่ไม่รู้ว่า หมายความถึงความสามารถเข้าใจลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรม ฟังแต่ชื่อ ฟังแต่เรื่อง ทั้งๆ ที่สภาพธรรมแต่ละลักษณะไม่ได้เปลี่ยนแปลง เกิดเป็นอย่างไร ปรากฏอย่างไร ก็ปรากฏอย่างนั้น

    เพราะฉะนั้น ที่ยังไม่สามารถเห็นว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา เพราะเหตุว่าความเข้าใจยังไม่พอ จะกล่าวประการใดๆ ก็ตามทั้งหมด เพราะเหตุว่าความเข้าใจยังไม่พอ แต่เมื่อเข้าใจขึ้นๆ ๆ สิ่งที่มีจริง และเข้าใจสิ่งนั้นทีละเล็กทีละน้อยไปเรื่อยๆ ทำไมจะไม่ถึงกาลที่สามารถเข้าใจตัวจริงของธรรมซึ่งกำลังเป็นจริงอย่างนี้

    เพราะฉะนั้น จึงอยู่ที่ว่า เรารู้เรื่อง เราพูดเรื่องธรรม และธรรมก็กำลังปรากฏ แต่ละคนก็สามารถพิจารณาได้ว่า ความเข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมากน้อยแค่ไหน พอที่จะรู้จักตัวธรรมว่าเป็นธรรมในขณะนี้หรือยัง แต่ที่ยังไม่รู้จัก ก็เพราะเหตุว่าแม้แต่ที่เข้าใจว่า เราเข้าใจธรรมคือเราเข้าใจเรื่องราว และเข้าใจคำ และความหมายที่เราได้ยิน จนกว่าจะสะสมการเข้าใจลักษณะของสิ่งที่มีลักษณะจริงๆ กำลังปรากฏให้รู้ แต่ว่าปกติก็ปรากฏเพียงให้วิญญาณ คือจิตเท่านั้นที่สามารถรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ต้องมีปัญญาที่อบรมที่จะเห็นถูก เข้าใจถูก ไม่ใช่เพียงรู้ว่า แข็ง แต่ต้องสามารถรู้ว่า นั่นเป็นธรรมลักษณะหนึ่ง

    ผู้ฟัง ในขณะที่ฟังธรรม ถ้ามีความยินดีเกิดขึ้นในเนื้อหาธรรมที่ได้ฟัง ถ้าเรารู้ในสภาพยินดีนั้น ต่อมาไม่แน่ใจว่า สภาพที่ยินดีที่เรารู้ว่า เป็นกุศลหรืออกุศลอย่างไร อยากขอคำอธิบายของท่านอาจารย์เพิ่มเติมว่า ลักษณะสภาพธรรมที่เราเพิ่งเริ่มเข้าใจอย่างนี้ว่าไม่ชัด หรือถ้าเป็นกุศลจะต้องแน่ใจชัดเจนว่าเป็นกุศล

    ท่านอาจารย์ ขณะที่ฟังธรรมแล้วก็เพลิดเพลิน แล้วก็เข้าใจ ก็ไม่รู้ว่าเป็นกุศลหรืออกุศล ถูกต้องไหมคะ แล้วจะรู้จริงๆ หรือจะให้ตอบชื่อ หรือให้รู้ว่า นั่นไม่ใช่เรา เป็นธรรม จะอยากได้ชื่อว่า เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล หรือขณะนั้นเป็นธรรม จะเป็นอะไรก็คือเป็นธรรมอย่างหนึ่ง ถ้ายังไม่รู้ว่าเป็นธรรม จะรู้ลักษณะที่เป็นกุศลของธรรมนั้นได้ไหม เพราะกุศลต้องเป็นลักษณะของธรรมนั้น หรืออกุศลก็ต้องเป็นลักษณะของธรรมนั้นนั่นเองที่กำลังปรากฏ แต่ยังไม่ทันรู้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา แล้วจะไปถึงสภาพที่เป็นกุศลหรืออกุศลได้ไหม ในเมื่อสภาพธรรมนั้นเกิดแล้วดับแล้วเร็วมาก ที่เร็วมากก็คือขณะนี้ ถ้าไม่เข้าใจมั่นคง ถิรสัญญา ก็ไม่ต้องไปนั่งท่อง ถิระ มั่นคง สัญญา คือความจำที่มั่นคง บางคนมีคำแปลของ ๒ คำนี้ ถิรสัญญา ก็ถามว่า สัญญามั่นคงอะไร นี่คือไม่ได้ฟังตั้งแต่ต้นว่า สัญญาที่มั่นคงเป็นพื้นฐานให้สามารถรู้ลักษณะที่กำลังปรากฏโดยไม่ข้ามไป เพราะขณะนี้มีลักษณะที่กำลังปรากฏจริงๆ แต่ละลักษณะ ถ้าไม่รู้ตรงลักษณะนั้น สิ่งนั้นเกิดแล้วดับแล้วทั้งหมด ไม่รอให้ใครไปรู้ ถ้าเมื่อไรที่รู้ตรงลักษณะนั้นด้วยความเข้าใจว่าเป็นธรรม ขณะนั้นมีความรู้จากการฟังพอที่จะทำให้ระลึกได้ที่จะเกิดรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ชั่วคราวมาก เล็กน้อยมาก แต่มีลักษณะจริงๆ

    เพราะฉะนั้น ที่ใช้คำว่า “สติปัฏฐาน” “สติสัมปชัญญะ” หรือสัญญาที่มั่นคงเป็นปัจจัยให้เกิดสติสัมปชัญญะหรือสติปัฏฐาน สัญญาที่มั่นคงนั้นต้องประกอบด้วยปัญญา ไม่ใช่สัญญาที่มั่นคงว่ามีเรา คนนั้นเป็นเพื่อน คนนี้เป็นพี่เป็นน้อง นั่นเป็นต้นไม้ นี่เป็นเก้าอี้ นั่นไม่ใช่สัญญาที่มั่นคงที่จะเป็นปัจจัยให้สามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ที่จะสามารถรู้ลักษณะหนึ่งเดี๋ยวนี้ ลักษณะหนึ่งเดี๋ยวนี้มีจริงๆ ได้ ก็เพราะได้ฟัง และเข้าใจว่าเป็นธรรม ไม่ต้องไปนั่งนึกนั่งท่อง เพราะเหตุว่าถ้าเข้าใจอย่างนี้จริงๆ เมื่อไร สติเกิดแล้ว ไม่มีใครไปบังคับ ไม่มีใครไปทำให้สติสัมปชัญญะนั้นเกิด แต่เมื่อเกิดปัญญาสามารถเข้าใจถูกว่า ขณะนั้นไม่ใช่เหมือนกายวิญญาณที่รู้แข็ง เพราะว่ารู้แข็งดับไปแล้ว แข็งปรากฏแล้ว หมดแล้ว แต่ที่แข็งยังปรากฏลักษณะของแข็ง เพราะว่าแข็งก็เกิดดับสืบต่อ และเมื่อวิญญาณนั้นรู้แข็งแล้ว ขณะต่อไปสติสัมปชัญญะก็เกิดรู้ลักษณะนั้น เพราะฉะนั้น ลักษณะนั้นจึงปรากฏด้วยดีกับสติสัมปชัญญะ ซึ่งขณะนี้ทุกคนกำลังกระทบแข็ง แข็งปรากฏด้วยดีหรือไม่ เพราะไม่มีปัญญา และไม่มีสติที่จะรู้ในลักษณะนั้นจริงๆ

    ด้วยเหตุนี้ก่อนอื่นไม่ใช่เราจะไปรู้ว่า สภาพธรรมนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล กุศลก็เป็นธรรมชนิดหนึ่ง อกุศลก็เป็นธรรมชนิดหนึ่ง เพราะฉะนั้น ถ้าขณะนั้นยังไม่รู้ว่าเป็นธรรม ลักษณะของอกุศลธรรมขณะนั้นก็ไม่ปรากฏ หรือลักษณะของกุศลธรรมซึ่งเป็นธรรมขณะนั้นก็ปรากฏไม่ได้ เพราะเหตุว่ายังไม่รู้ว่าเป็นธรรม

    เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นขณะนั้นไม่ใช่เรา สภาพที่ไม่รู้อะไรเป็นรูปธรรม และสภาพธรรมที่กำลังรู้เป็นนามธรรม แต่ไม่ต้องไปเรียกชื่ออะไรทั้งสิ้น เพราะลักษณะนั้นกำลังเปิดเผยความจริงว่าไม่รู้อะไร อย่างแข็ง แข็งจะรู้อะไรได้อย่างไร ไม่ต้องไปนั่งเรียกว่า แข็งเป็นรูปธรรม แต่จะรู้จากลักษณะของสภาพนั้นเองว่า สภาพนั้นเป็นนามธรรมหรือรูปธรรมโดยไม่ต้องเรียกชื่อ

    ตอนนี้ยังอยากรู้ลักษณะของกุศลธรรม และอกุศลธรรมไหมคะ เกิดดับอย่างเร็วมากสืบต่อ เพราะอะไร เห็น ดับแล้ว อกุศลธรรม โลภะติดข้อง หรือกำลังฟังเข้าใจ ขณะที่กำลังเข้าใจนิดหนึ่งก็ดับแล้ว มีได้ยิน ซึ่งหลังจากนั้นได้ยินยังไม่ทันดับ อกุศลก็เกิดแล้ว เพราะฉะนั้น ใครจะไปรู้ลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมได้ โดยไม่มีปัญญาเข้าใจลักษณะนั้นเพิ่มขึ้นว่า เป็นธรรม

    ผู้ฟัง ในธรรมที่เป็นความไม่แน่ใจที่ปรากฏให้รู้ว่า เป็นธรรม ให้ได้ก่อน

    ท่านอาจารย์ แต่ไม่ใช่ให้เรารู้ชัด แต่ความเข้าใจค่อยๆ เพิ่มขึ้น จนสามารถรู้ชัด

    ผู้ฟัง รู้ชัดไม่จำเป็นต้องได้จากการสอบถามใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ รู้ชัดเองหรือคะ หรือว่าฟังเข้าใจขึ้นๆ ไม่สงสัย ค่อยๆ เข้าใจลักษณะที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง บางที บางขณะแน่ใจจริงๆ ว่า ขณะที่ผ่านไปเป็นกุศล จึงได้มาถามท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ค่ะ ชื่อกุศล แต่ตัวกุศลดับแล้ว เพราะกำลังเห็น กุศลหรืออกุศลคะ ตัวเห็น สภาพเห็นเป็นกุศลหรืออกุศล เห็นไหมยังไม่รู้เลยว่า เป็นธรรมที่ไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง จะต้องฟังธรรมให้เป็นธรรม ไม่ใช่เรา จะเข้าใจหรือจะรู้ ตรงนี้ดูเหมือนว่า อย่างไรก็ยังเป็นเราที่ฟังธรรม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จึงฟังเพื่อรู้ว่าไม่ใช่เรา แล้วรู้ได้แค่ไหนว่าไม่ใช่เรา แสดงให้เห็นว่า สิ่งที่ได้ยินได้ฟังเป็นเรื่องของสภาพธรรม ยังไม่ได้รู้จักตัวธรรม เพราะฉะนั้นตัวธรรมรู้จักยากไหม กำลังปรากฏจริงๆ เกิดดับสืบต่อจนกระทั่งปรากฏเป็นนิมิตของความรู้สึก เวทนานิมิต นิมิตของรูปแต่ละรูปเป็นรูปนิมิต นิมิตของความจำ จำก็เป็นนิมิตของสภาพธรรมนั้นๆ

    ผู้ฟัง ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ท่านอาจารย์บอกว่า สัญญาที่มั่นคง ถิรมั่นคง ไม่ใช่มีเราไปฟังธรรมว่าเป็นธรรม แต่ต้องเป็นสัญญาที่มั่นคงว่าไม่มีเรา มีแต่ธรรม

    ท่านอาจารย์ กำลังฟัง มั่นคงหรือยังว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง ยังค่ะ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น สติสัมปชัญญะเกิดไม่ได้เพราะอะไร

    ผู้ฟัง เพราะยังไม่มั่นคง ยังมั่นคงว่าเป็นเรา ไม่ใช่เป็นธรรม ต้องเข้าใจให้มั่นคงว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ทุกคนลืมเหตุ คือ ความเข้าใจหรือปัญญา มุ่งแต่สติสัมปชัญญะเกิด สติปัฏฐานเกิด ประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรม รู้แจ้งอริยสัจธรรม วิปัสสนา โดยไม่คิดถึงความเข้าใจสิ่งที่มีในขณะนี้ แล้วไปเอาปัญญาที่ไหนมารู้ชัด

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นจริงๆ แล้วฟังทั้งสด ทั้งสื่ออื่นๆ ว่า ทุกอย่างเป็นธรรม ไม่ใช่เรา แต่สังขารขันธ์ที่เป็นปัญญาก็ยังไม่เข้าใจพอ ก็ยังเป็นเราที่ฟังธรรม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ไม่ต้องไปคิดถึงสติปัฏฐาน วิปัสสนาญาณ อริยสัจ ในขณะนี้ฟังเข้าใจสิ่งที่กำลังมี เพราะเหตุว่าทำไมสติไม่รู้ลักษณะของเห็นที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ เห็นเดี๋ยวนี้มีจริงๆ และพูดเรื่องเห็นให้เข้าใจว่า เห็นมี กำลังมี แต่สภาพเห็นซึ่งเป็นนามธรรม ยังไม่ได้รู้ ยังไม่ได้ปรากฏว่าเป็นธาตุรู้ ไม่มีรูปใดๆ เจือปนเลยทั้งสิ้น นั่นคือความรู้ชัดในลักษณะของนามธรรม

    เพราะฉะนั้น เมื่อขณะนี้มีเห็นแล้วไม่รู้ชัดในสภาพเห็น เพราะเหตุว่าความเข้าใจยังไม่พอในความเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ก็จะบอกว่า อย่างไรๆ ก็ยังมีเรา ต้องมีเราไปเรื่อยๆ ต้องฟังให้เข้าใจขึ้นว่า เป็นธรรมจนกว่าจะเป็นถิรสัญญา ความจำที่มั่นคงว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นเพียงสิ่งที่สามารถปรากฏให้เห็นได้ มีความรู้สึกอย่างนี้บ้างหรือยัง เข้าใจแค่นี้บ้างหรือยัง ถอนการที่เป็นโลก เป็นเรื่อง เป็นเรา เป็นเขา เป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ เพราะเหตุว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ ความเข้าใจอย่างนี้มีบ้างไหมในวันหนึ่ง ที่จะทำให้เริ่มเข้าใจลักษณะที่กำลังปรากฏ แล้วเข้าใจธาตุที่เป็นนามธาตุที่กำลังเห็น

    ผู้ฟัง ขั้นคิดก็พอมีบ้าง

    ท่านอาจารย์ ยังไม่ใช่สัญญาที่มั่นคง

    ผู้ฟัง ทราบว่าเป็นขั้นคิด สิ่งนี้ก็คือเมื่อยังฟังเข้าใจไม่พอ ก็ต้องฟังต่อไปจนกว่าจะเข้าใจขึ้น

    ท่านอาจารย์ ค่ะ ไม่ต้องไปคิดถึงเรื่องอื่น รู้สึกเราจะรู้ชื่อกันมากๆ แต่ยังไม่รู้ตัวธรรมจริงๆ

    อ.วิชัย ขณะที่ฟัง เริ่มจากความไม่รู้ แล้วค่อยๆ รู้ขึ้น เพราะเหตุว่าโดยธรรม ไม่ใช่แต่ฝ่ายที่เป็นกุศล และปัญญาที่จะเจริญขึ้น

    ท่านอาจารย์ ขอโทษนิดหนึ่งค่ะ ธรรมต้องเป็นธรรม กุศลก็เป็นกุศล อกุศลก็เป็นอกุศล ไม่เปลี่ยน แต่ยังไม่รู้แม้แต่ว่าเป็นธรรม

    อ.วิชัย แต่ก็ยังมีความไม่รู้ด้วย แต่ว่าถ้าพิจารณาถึงขณะที่ยึดถือว่า เป็นตัวเรา กับขณะที่ฟังแล้วคิดว่า เราสามารถป้องกัน คือเริ่มเห็นความไม่รู้กับเริ่มมีความเห็น เพราะขณะใดที่มีความเห็นที่ไม่ถูกต้องหรือผิดที่เข้าใจว่า ยังมีตัวเราที่สามารถกระทำได้ ระดับความไม่รู้ว่า ไม่ใช่ตัวเรา กับความเห็น จะแตกต่างอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เราสามารถทำได้ ถูกหรือผิด

    อ.วิชัย ผิดครับ ถ้าเป็นความเห็นหรือไม่รู้

    ท่านอาจารย์ ไม่รู้เป็นอวิชชา เห็นผิดเป็นทิฏฐิเจตสิก

    อ.วิชัย ถ้าเกิดเข้าใจว่า

    ท่านอาจารย์ ความเข้าใจขณะนั้นเป็นปัญญา


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 173
    13 ม.ค. 2567