พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 564


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๖๔

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๒


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น การฟังต้องละเอียดรอบคอบ เพื่อที่จะรู้ว่า ขณะนี้ที่กำลังฟังมีสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ ฟังแค่นี้เข้าใจแล้วในขั้นฟัง แล้วก็เป็นความจริงอย่างนี้ จนกว่าจะเริ่มไม่ติดในนิมิตอนุพยัญชนะ แล้วจะเข้าใจความหมายในพระไตรปิฎกที่ว่า ไม่ติดในนิมิตอนุพยัญชนะ หมายความว่าขณะไหน อย่างไร ไม่ใช่ขณะนี้มีต้นไม้ ดอกไม้ มีพื้น มีเก้าอี้ แล้วก็บอกว่า ไม่ติดในนิมิตอนุพยัญชนะ เพราะไม่สนใจ แต่นั่นไม่ใช่ความหมายนี้เลย แม้เข้าใจแม้แต่คำว่า “ไม่ติด” เพราะอะไร เพราะจริงๆ แล้วทันทีที่เห็นก็ยังไม่รู้ว่า ติดแล้ว แล้วจะบอกว่าไม่ติด ก็แสดงว่าไม่เข้าใจความละเอียดของธรรม

    การฟังธรรมเพื่อละความไม่รู้ จากการเริ่มเข้าใจขึ้น

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ถามว่า ทุกอย่างเป็นธรรม เห็น ได้ยิน คิดนึก ขณะนี้เป็นธรรม และเป็นอนัตตา ก็จำได้ ตอบได้ในขั้นเรื่องราว หรือฟังเข้าใจ ทีนี้เหมือนกับว่ามัวแต่จำเรื่องราว แล้วใส่ในนิมิตอนุพยัญชนะ จิตน้อมไปที่จะรู้ลักษณะตามที่ได้ฟัง ไม่เป็นไป มีแต่เรื่องราว

    ท่านอาจารย์ แล้วจะให้เป็นไปได้ หรือไม่ เมื่อไม่เป็นไปแล้วจะให้เป็นไปได้ไหม

    ผู้ฟัง ก็ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เห็นไหมคะ ก็ลืมอีกว่า เกิดแล้วเป็นอย่างนี้จะให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้

    ผู้ฟัง ที่ไปใส่ใจในเรื่องราว และนิมิตอนุพยัญชนะ ดูเหมือนว่าจะเป็นอุปสรรคให้น้อมไปรู้ตรงลักษณะ หรือสังขารขันธ์จะปรุงแต่ง เมื่อฟังเข้าใจเรื่องราวในพยัญชนะแล้ว จะทำให้สติไม่ลืม และระลึกได้

    ท่านอาจารย์ จะเป็นผู้จัดการย่อยๆ เล็กๆ แต่ว่าตามความเป็นจริงในขณะนี้ เดี๋ยวนี้ ไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏเพราะข้าม และคิดเรื่องอื่น เดี๋ยวก็คิดเรื่องอื่นๆ แต่ลักษณะของสิ่งที่มีจริงๆ เดี๋ยวนี้ ไม่เคยระลึก ทั้งๆ ที่รู้ว่า เป็นธรรม มีจริงๆ และเกิดแล้วด้วย ในขณะที่จะคิดเรื่องอะไร เรื่องที่คิดก็ยังไม่เป็นอย่างที่คิด ใช่ไหม เรื่องที่คิดจะเป็นไปอย่างที่คิด หรือไม่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย

    เพราะฉะนั้น ความละเอียดของธรรม ความลึกซึ้งของธรรมก็คือว่า มีใครบ้างที่ไม่เบื่อ

    ผู้ฟัง เป็นพระอนาคามี

    ท่านอาจารย์ คุณวิชัยเบื่อไหม

    อ.วิชัย ก็มีบ้าง

    ท่านอาจารย์ เห็นไหม ปฏิเสธได้ไหม ในเมื่อเป็นธรรม เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น คำถามที่จะถามก็คือ แล้วอย่างไร พอเบื่อแล้วอย่างไร คนก็คิดไปต่างๆ นานา อย่างคุณหมอทวีปก็จะคิดถึงเรื่องที่คุณหมอศึกษามา แล้วคนอื่นก็จะคิดอย่างอื่น คิดอย่างคุณหมอบ้างไหม ไม่เหมือนกันเลยสักคน ไม่ว่าใคร ความคิดก็เป็นไปตามการสะสม แต่ก็ลืม ทุกคนก็ลืม ลืมที่จะเข้าใจสภาพนั้นที่เกิดแล้ว ลืมที่จะเข้าใจสภาพนั้นที่เกิดแล้ว กลับหาทางไปไม่ให้มีสภาพนั้น

    นี่คือความละเอียด ไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมใดๆ ก็ตาม แม้ขณะนี้ เดี๋ยวนี้ ยังไม่ใช่เบื่อ หรือจะเบื่อ หรือจะง่วง เป็นสภาพธรรมที่เกิดแล้ว เพราะฉะนั้น ไม่มีปัจจัยพอที่จะเข้าใจถูกในสภาพธรรมที่เกิดแล้วในขณะนั้นว่า เป็นธรรมซึ่งเกิดแล้ว ไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาได้ เมื่อไม่มีปัจจัยพอที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดเป็นอย่างนั้นในขณะนั้น ก็คิดเรื่องอื่นทันที แล้วแต่ว่าจะคิดว่าเพราะอะไร หรือจะทำอะไรต่อไป ก็ข้ามการรู้ลักษณะของสภาพธรรม จึงได้มีคำถามว่า แล้วอย่างไร ก็คือแล้วแต่แต่ละคนมีปัจจัยจะคิดอะไร แทนที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม

    เพราะฉะนั้น ความละเอียดก็คือว่า ต้องรู้ว่า เรา เขา สิ่งใดๆ ก็ตาม หรือโลก ก็คือธรรมที่ปรากฏให้รู้ได้ทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทาง เพราะฉะนั้น ปัญญาที่จะรู้ความจริง ก็คือรู้ความจริงของธรรมที่กำลังปรากฏไม่ว่าจะเป็นทางหนึ่งทางใดก็ตาม ถ้ายังไม่มีปัจจัยที่จะเป็นอย่างนั้นได้ ก็คือฟังแล้วเข้าใจขึ้น ก็จะรู้ความต่างของปัญญาขั้นฟังเข้าใจ เข้าใจหมดเลยที่พูด แต่ยังไม่ใช่ปัญญาขั้นที่กำลังรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เช่น พอเบื่อ ไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพเบื่อ เกิดแล้วเป็นอย่างนั้นแล้วก็ดับไป แล้วจะไปประจักษ์การเกิดดับของอะไร ในเมื่อสิ่งนั้นเกิดแล้วดับ แต่เบื่อเกิดไม่รู้ลักษณะของเบื่อ แล้วจะไปรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ยังไม่เกิด แล้วจะไปประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรมที่ยังไม่เกิด ก็ไม่ได้

    เพราะฉะนั้น การประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดได้ ไม่ใช่สภาพธรรมอื่น แต่สภาพธรรมใดๆ ก็ตามที่ปรากฏ เลือกไม่ได้ด้วยว่า จะรู้ และเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมใด เพราะขณะนั้นไม่ใช่เรา เป็นขณะที่สติสัมปชัญญะเกิดจึงรู้เฉพาะลักษณะที่เป็นธรรมหนึ่งที่กำลังปรากฏในขณะนั้น จนกว่าจะถึงวันนั้น เพราะไม่ใช่เรา แต่ความเข้าใจก็ค่อยๆ ปรุงแต่งให้ละคลายความต้องการ ความหวัง การข้ามการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จนกว่าจะเริ่มรู้ความต่างของขณะที่ไม่หลงลืมสติ และขณะหลงลืมสติ

    ผู้ฟัง ถ้าฟังแล้ว ฟังไม่ถูก ไม่ตรง สังสารวัฏก็ยังยืดไปอีก ก็เลยกลายเป็นว่า ฟังไม่ถูก ก็ยังยืดไปอีก แล้วจะเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ คุณอรวรรณได้ฟังว่า พอจบเทศนาก็มีผู้รู้แจ้งสภาพธรรมเป็นพระโสดาบัน มาจากไหนคะ ถ้าไม่ใช่การสะสมปัญญาจนสามารถเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏได้ โดยไม่ใช่เรา และรู้ด้วยว่า ขณะนั้นเป็นโพธิปักขิยธรรมที่ได้อบรมเจริญแล้ว ไม่ใช่เรา ตราบใดที่ยังเป็นเราจะทำ เราจะพยายาม เราจะคิดอย่างนี้ ไม่คิดอย่างโน้น ก็คือยังไม่ได้เข้าใจธรรมว่า เป็นธรรม

    เพราะฉะนั้น อีกนานเท่าไร ไม่ต้องคิด เพราะปัญญาของผู้นั้นรู้เอง ไม่ใช่ปัญญาของคนอื่น

    ผู้ฟัง อย่างเวลาอยู่บ้านฟังจนลูกชายว่า เห็นฟังแต่เรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่เห็นฟังเรื่องอื่น ก็เลยย้อนถามว่า แล้วมีอะไรนอกเหนือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไหมในชีวิตประจำวัน ก็คงต้องไปฟังต่อ

    ผู้ฟัง การรู้ว่าเป็นธรรม จะรู้ละเอียดถึงว่าธรรมนั้นเป็นนามธรรม หรือรูปธรรม หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ลักษณะที่แข็งมี เคยรู้ไหมว่า เกิดเป็นแข็ง ใครบังคับบัญชาไม่ได้ เป็นธรรม แล้วเวลารู้แข็ง ไม่ใช่เวลาที่คิดยาวๆ เพราะฉะนั้น การฟังแล้วเข้าใจทั้งหมดจะเกื้อกูลให้สามารถรู้ลักษณะนั้นว่า เป็นธรรม โดยไม่ต้องเอ่ยว่า แข็งเป็นธรรม เริ่มเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง คือธรรม และรู้ในลักษณะที่ต่างๆ กันของธรรมด้วย ขณะนั้นมีลักษณะจริงๆ ปรากฏให้เห็นความเป็นธรรม

    ผู้ฟัง พ้นจากสภาพรู้ก็คือเข้าไปสู่ความคิดแล้ว ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ คิดก็เป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่เห็น ไม่ใช่ได้ยิน ไม่มีกฎเกณฑ์ แต่รู้ว่าทุกอย่างเป็นธรรม ก็เข้าใจแต่ละอย่างที่สติขณะนี้ที่จะรู้เฉพาะลักษณะนั้นด้วยความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ตรงตามที่ได้ยินได้ฟัง แต่ไม่ต้องไปนึกเป็นคำอะไร เพราะสภาพธรรมนั้นปรากฏแล้ว อย่างแข็งปรากฏแล้ว ก็แสดงความจริงว่า ไม่มีใครไปทำให้แข็งเกิด

    ผู้ฟัง แล้วถ้ามีสภาพธรรมที่เกิดถัดมา แล้วเกิดความรู้ว่า การมีสภาพธรรมเกิดถัดมา เพราะมีการเกิดดับของสภาพธรรม คือรู้ว่ามีสภาพธรรมผลัดกันเกิด เป็นการรู้ลักษณะอย่างหนึ่ง หรือไม่

    ท่านอาจารย์ เป็นการคิดต่อค่ะว่า สภาพธรรมนี้เกิดถัดจากสภาพธรรมนั้น

    ผู้ฟัง จะเป็นการหลุดจากความคิดไหมครับ

    ท่านอาจารย์ ต้องรู้ว่า ขณะใดที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ขณะที่ไม่ใช่ขณะต่างๆ เหล่านี้ปรากฏ ก็เป็นคิดนึก

    เพราะฉะนั้น ๖ ทาง เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แล้วคิดนึก เท่าที่จะรู้ได้ เพราะเหตุว่าไม่สามารถจะรู้สิ่งที่ปรากฏทางใจอย่างอื่นใดได้ หทยวัตถุรู้ไหม จะไปนั่งนึกถึงไหม แต่สิ่งที่มีแล้วก็จะไม่พ้นจาก เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส และคิดนึก เดี๋ยวนี้เป็นอย่างนี้ หรือไม่ หรือรู้ละเอียดกว่านั้นอีก จนรู้ว่า จิตนี้เกิดต่อจิตนั้น ปัญญาต้องตามลำดับขั้นจริงๆ แม้แต่สิ่งที่สติกำลังระลึก มีลักษณะของสภาพนั้นปรากฏว่าเป็นธรรม ดับไหม ทั้งสิ่งที่ปรากฏ และสติ แล้วเมื่อไรสติจะเกิด และมีลักษณะอะไรปรากฏที่สติกำลังระลึก ก็ไม่ต้องไปนั่งคิดว่า สิ่งโน้นดับ แล้วก็มาคิดสิ่งนี้ทางไหน เพราะว่าขณะนั้นกำลังรู้ลักษณะอีกลักษณะหนึ่ง จนกระทั่งสามารถรู้ว่า เกิดแล้วก็ดับ สิ่งนั้นก็ไม่กลับมาอีก แต่ไม่ต้องเป็นคำ เพราะกำลังเห็นความจริง ดับคือดับ แล้วก็มีสภาพธรรมที่เกิด แล้วมีสติที่รู้ว่า สภาพธรรมนั้นเกิด เพราะกำลังรู้เฉพาะลักษณะนั้น จึงสามารถเห็นถูกในสภาพธรรมนั้นได้

    ผู้ฟัง อย่างนี้คือการรู้ลักษณะ แล้วแต่สติจะระลึกว่าเป็นลักษณะอย่างไร

    ท่านอาจารย์ แน่นอน และสิ่งนั้นก็ยังไม่เกิดด้วย เช่น ขณะนี้สติไม่เกิด จะไปรู้ไหมว่า เวลาสติเกิดจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมอะไร เพราะสภาพธรรมนั้นก็ยังไม่เกิดด้วย

    ผู้ฟัง คำว่า “พื้นฐานอภิธรรม” บางท่านก็ยังไม่ทราบว่า หมายความว่าอะไร และจะเริ่มต้นเข้าใจตรงไหน จะเริ่มอย่างไร และจะฟังให้เข้าใจง่ายขึ้นได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่กำลังมีจริงขณะนี้ ไม่ต้องไปเปิดตำรา ไม่ต้องไปหาที่ไหน เดี๋ยวนี้จะเข้าใจธรรมง่ายไหม ในเมื่อขณะนี้มีธรรมกำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง เข้าใจไม่ง่าย

    ท่านอาจารย์ แม้ว่ามี นี่ก็แสดงให้เห็นว่า กว่าจะสามารถเข้าใจพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ ก็จะเห็นได้ว่า ต้องเป็นเรื่องของความเข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ไม่ใช่สิ่งที่ไม่มี สิ่งที่หมดไปแล้วก็ไม่สามารถจะรู้ความจริงได้ สิ่งที่ยังไม่มาถึงก็ยังไม่ปรากฏให้รู้ว่าเป็นอะไร มีใครรู้ไหมว่าขณะต่อไปอะไรจะปรากฏ จะเกิดขึ้น ไม่มีเลย

    เพราะฉะนั้น ความสนใจที่จะเข้าใจธรรม คือว่า สิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ กำลังมี ให้ฟังว่าเป็นสิ่งที่มีจริงๆ แล้วก็ไม่ได้เข้าใจว่า สิ่งนี้เป็นอะไร ก็ฟังเพื่อให้เข้าใจ

    ทุกคนสงสัยคำว่า “จิต” หรือไม่

    ผู้ฟัง ต้องสงสัยค่ะ เพราะว่าบางท่านเข้าใจจิต ก็คิดว่า จิตอยู่ที่ใจ ซึ่งตัวหนูเองก็เหมือนกัน ก่อนศึกษา หรือศึกษาแล้วก็จริง ก็ยังไม่รู้จักจิตเลยว่า จิตขณะนี้เกิดทางตา เกิดทางหู หรือทางไหน ก็ยังไม่รู้สภาพของจิต

    ท่านอาจารย์ จิตอยู่ที่ใจ หรืออยู่ที่ไหน

    ผู้ฟัง เข้าใจว่าอย่างนี้ แต่ปัจจุบันนี้ไม่

    ท่านอาจารย์ ใจคืออะไร

    ผู้ฟัง จริงๆ แล้วเป็นสภาพคิดค่ะ

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องฟังใหม่ ถ้าใจเป็นสภาพคิด ใจเป็นภาษาไทย ภาษาบาลีไม่มีคำว่า ใจ แต่มีคำว่า “จิต” แล้วเราก็ใช้ทั้ง ๒ คำ คำว่า “จิต” ก็ใช้ คำว่า “ใจ” ก็ใช้ แต่ไม่รู้ว่า เดี๋ยวนี้กำลังเป็นจิต เยอะแยะไหมคะ หรือมีแค่ ๑ จิตในห้องนี้ แต่ละจิตๆ กี่คนก็ หนึ่งจิต หนึ่งจิต เพราะฉะนั้น จิตก็หลากหลาย ถ้าไม่มีจิตจะมีใครอยู่ที่นี่ได้ หรือไม่

    เพราะฉะนั้น แม้แต่เพียงคำเดียว ฟังแล้วก็หลายๆ ครั้ง เรื่องของจิต ลักษณะของจิต จิตมีเท่าไร มีกี่ประเภท ทั้งๆ ที่จิตกำลังมีขณะนี้ก็ยังไม่เข้าถึงสภาพความเป็นจิต ซึ่งเป็นอนัตตา ซึ่งไม่มีใครสามารถไปยึดถือจิต หรือไปบังคับไม่ให้จิตเกิด ไม่ให้จิตดับ เป็นไปไม่ได้

    เพราะฉะนั้น การฟังธรรมก็คือให้เข้าใจสิ่งที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา หรือเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดว่า แท้ที่จริงแล้ว ความจริงแท้ๆ ของสิ่งนั้นคืออะไร ด้วยเหตุนี้การฟังธรรม ไม่ประมาทในพระธรรม และในพระคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงพระธรรม ๔๕ พรรษา ถ้ารู้ง่าย ต้องถึง ๔๕ พรรษาไหม แต่เพราะยากแสนยาก ซึ่งธรรมก็มี และปรากฏด้วย แต่เพราะความไม่รู้ และการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา ก็ทำให้แม้ขณะที่ฟังก็ยังเป็นเรา ยังไม่หมดความเป็นเราเลย ก็จะเห็นได้ว่าการฟังธรรม ไม่ใช่เพียงเมื่อฟังแล้วก็สามารถตัด หรือละ หรือดับการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเราได้ แต่ตามความเป็นจริงก็คือว่า กว่าจะรู้ลักษณะที่แท้จริงของสิ่งที่มีในขณะนี้แล้วเราได้ยินได้ฟังว่า จิตเป็นธาตุ หรือเป็นธรรมอย่างหนึ่ง อย่างอื่นที่ไม่ใช่จิตก็เป็นธาตุ แต่เป็นธาตุที่ไม่ใช่จิต

    เพราะฉะนั้น โลกทั้งหมดก็คือธรรม หรือธาตุนั่นเอง แต่ละลักษณะก็เป็นแต่ละธาตุ สภาพธรรมใดเกิดขึ้นปรากฏมีลักษณะให้รู้ความจริงได้ เช่น เสียง ปรากฏแล้ว เพราะเกิด ใช่ หรือไม่ใช่ ถ้าเสียงไม่เกิด มีใครจะรู้ลักษณะที่เป็นเสียงได้ไหม ก็ไม่ได้ เสียงมีจริง เกิดแล้ว ปรากฏแล้ว ดับแล้ว ก็ไม่ได้คิดถึงความจริงของเสียง แล้วไม่ได้คิดความจริงของธาตุที่กำลังได้ยินเสียงด้วย

    ด้วยเหตุนี้พระธรรมก็คือชีวิตประจำวัน แต่ลึกซึ้ง ซึ่งจะต้องเข้าใจแต่ละคำซึ่งบ่งถึงลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง ให้เข้าใจถูกต้อง ไม่ประมาท

    เพราะฉะนั้น เรื่องจิต เพียงแค่คำว่า “จิต” ได้ยินมานานเท่าไร และขณะนี้ก็มีจิต ก็ยังต้องฟังต่อไปอีก จนกว่าสามารถเข้าใจความต่างของธาตุซึ่งหลากหลายมาก ซึ่งขณะนี้ก็เป็นธาตุแต่ละอย่าง เห็น มีจริงๆ แต่ถ้าพูดถึงจิต แล้วก็บอกว่า จิตเป็นธาตุรู้ หรือสภาพรู้ แล้วกำลังเห็นนี้เป็นอะไร เป็นสิ่งที่มีจริง ซึ่งกำลังเห็น เป็นธาตุรู้ว่า ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็นเป็นอย่างนี้ ไม่เป็นอย่างอื่น นี่คือมีสิ่งที่ปรากฏเมื่อจิตเกิดขึ้นรู้สิ่งนั้น เพราะจิตเป็นสภาพรู้ หรือธาตุรู้ ถ้าไม่มีจิต หรือจิตไม่เกิด อะไรๆ ก็ไม่ปรากฏ แต่ที่ทุกอย่างขณะนี้ปรากฏได้ เพราะเหตุว่าจิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เวลาที่เล่าให้ใครฟังว่า เห็นอย่างนั้น อย่างนี้ คนอื่นพลอยเห็นตามด้วย หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ค่ะ

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไรคะ นี่ค่ะ ธรรมดาๆ ก็ยังต้องคิด เห็นอะไรมาก็ไปเล่าให้คนอื่นฟัง แล้วคนฟังก็ไม่สามารถเห็นได้ เพราะอะไร

    ผู้ฟัง เพราะจิตแต่ละจิตต่างกัน

    ท่านอาจารย์ เพราะไม่เห็น ใครจะมาพรรณนาเรื่องอะไร สักเท่าไร เขาหิมาลัยเป็นอย่างไร เขาคันธมาสเป็นที่อยู่ในอดีตกาลของพระปัจเจกพุทธเจ้า พรรณนาไปเท่าที่จะสามารถพรรณนาได้ แต่ก็ไม่ได้เห็น แต่ขณะใดก็ตามเห็นมีจริง กำลังเห็นเฉพาะสิ่งที่ปรากฏ ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น ธรรมเป็นเรื่องละเอียด เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจแต่ละขณะที่ต่างกันด้วยว่า ขณะนี้เองก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็ว และหลากหลายมาก เพียงเฉพาะเห็น จะคิดนึกไม่ได้ จะได้ยินไม่ได้ เพียงเกิดขึ้นแล้วเห็น คิดดูค่ะ เพียงเกิดขึ้นแล้วเห็น เห็นอะไร เห็นสิ่งที่เพียงปรากฏให้เห็นได้ นี่คือชีวิต นี่คือสังสารวัฏ แต่ละ ๑ ขณะจริงๆ ดับแล้วไม่กลับมาอีก

    เพราะฉะนั้น การฟังธรรม ไม่ใช่เพื่อลาภ เพื่อยศ เพื่อชื่อเสียง หรือเพื่ออะไรทั้งสิ้น แต่เพื่อมีความเห็นถูกต้อง มีความเข้าใจถูกต้องในสิ่งที่มี ซึ่งไม่สามารถเข้าใจได้ถูกต้อง ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดง ด้วยพระมหากรุณา

    เพราะฉะนั้น ไม่เผินเลย แม้ทรงแสดงสิ่งที่มีจริงในแต่ละวันตั้งแต่เกิดจนตาย รู้แค่ไหน รู้ หรือยัง ถูกต้องตามความเป็นจริงตามที่ได้ยินได้ฟังมากน้อยแค่ไหน ก็เป็นสิ่งที่บุคคลนั้นเป็นผู้รู้เอง ถามใครไม่ได้ ใครจะไปรู้จิตของใครที่เกิดแล้วดับอย่างเร็วแสนเร็ว สุดที่จะประมาณได้

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องของความเข้าใจถูกในขณะที่กำลังฟัง เพราะว่ามีสิ่งที่กำลังปรากฏให้ได้ยิน ให้ได้ฟังความจริงของสิ่งนั้น ส่วนการเข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมากน้อยแค่ไหน ผู้นั้นเริ่มรู้ว่า เข้าใจถึงกับที่จะละการยึดถือว่าเป็นตัวตน และเป็นเพียงชั่วขณะที่มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็นเท่านั้น ซึ่งความจริงละเอียดกว่านั้นอีก สิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็นในขณะนี้ปรากฏไม่ได้ ถ้าไม่มีเห็น ซึ่งเห็น มี และเห็นก็เป็นธรรม ซึ่งเราใช้คำว่า “จิต” เพราะเหตุว่าสามารถเห็น เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ว่า สิ่งที่ปรากฏขณะนี้เป็นอย่างนี้ ไม่เป็นอย่างอื่น

    เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีธาตุนั้น สิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ก็ปรากฏไม่ได้ ละเอียดยิ่งกว่านั้นคือ สิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้เกิดดับรวดเร็วสุดจะประมาณได้ ไม่มีใครไปนับเลย เพราะเห็นอะไร เห็นเป็นรูปร่างสัณฐาน เห็นเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แม้ว่าเห็น ที่เราคิดว่าแสนสั้น ความจริงสั้นยิ่งกว่านั้นอีก เพราะเหตุว่ารูปๆ หนึ่ง จะมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ ขณะนี้ไม่มีใครรู้ว่า จิตเห็นดับไปแล้วกี่ขณะ จึงจะสามารถทำให้สิ่งที่ปรากฏจากการเห็นแต่ละขณะ ปรากฏพร้อมนิมิต ถูกต้อง หรือไม่ พอเห็นก็เห็นอะไร ใครแยกได้ว่า ขณะที่เห็นเป็นเพียงชั่วขณะที่เห็น ยังไม่รู้รูปร่างสัณฐานใดๆ ยังไม่รู้ว่า สิ่งนั้นเป็นอะไร

    เพราะฉะนั้น การเกิดดับของสภาพธรรมเร็วมาก แต่แม้กระนั้นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงตรัสรู้ความจริง ยากไหม ขณะนี้เริ่มเห็นพระปัญญาคุณ สามารถรู้ยิ่งกว่านั้นอีก รู้ว่า จิต ๑ ขณะเกิดขึ้นดับ จิตเกิดสืบต่อเพราะอะไร เพราะจิตที่เกิดนั้นเป็นปัจจัยที่ทำให้เมื่อจิตที่เกิดแล้วดับไป จิตอื่นต้องเกิดสืบต่อทันที ไม่ใช่จิตนั้นกลับมาอีก ชั่วขณะที่เกิดเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น เป็นธรรม ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

    พระผู้มีพระภาคทรงแสดงสภาพความเป็นจริงของจิตซึ่งเกิดดับสืบต่อ ก่อนเห็นต้องมีจิตที่ไม่เห็น ใช่ไหม เพราะฉะนั้นจิตก่อนเห็นจะเป็นจิตเห็นได้ไหม ไม่ได้ ถ้าจิตก่อนจิตเห็นจะเกิดขึ้นยังไม่ดับไป จิตเห็นเกิดได้ไหม ก็ไม่ได้

    เพราะฉะนั้น เมื่อจิตก่อนจิตเห็นเกิด ดับไปแล้ว จิตเห็นจึงเกิดได้ เพราะฉะนั้น จิตก่อนจิตเห็นเป็นจิตอะไร และจิตก่อนจิตนั้นอีกเป็นจิตอะไร ทรงแสดงโดยความละเอียดยิ่ง แล้วทรงแสดงถึงสภาพธรรมที่เกิดกับจิตนั้น ซึ่งเป็นปัจจัยให้จิตนั้นเกิด ซึ่งได้แก่เจตสิก เป็นสภาพนามธรรมซึ่งไม่ใช่จิต


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 173
    13 ม.ค. 2567