พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 544


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๔๔

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๒


    ท่านอาจารย์ ทุกขณะผ่านไปๆ ๆ บังคับบัญชาไม่ได้ ให้เป็นอย่างที่ต้องการไม่ได้ แต่ว่ามีปัจจัยให้สภาพธรรมใดเกิด สภาพธรรมนั้นต้องเกิด ตั้งแต่เกิด เล็กจนโต จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ และจนถึงตายก็เป็นสภาพธรรมทั้งหมด ซึ่งกว่าจะรู้ว่าเป็นธรรม ก็จะเห็นได้ว่า ผู้ที่จะเป็นพระอริยบุคคล เป็นผู้ที่ตรง ฟังแล้วก็รู้ว่า มีความเข้าใจในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังถูกต้อง มั่นคง และไม่เปลี่ยนแปลงว่า ต้องเป็นเรื่องของความเข้าใจถูก ความเห็นถูก เป็นเรื่องของปัญญา ซึ่งไม่มีเองได้ ไม่สามารถจะคิดเองได้ ประจักษ์แจ้งเองได้ ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมด้วยความละเอียดที่จะรู้ประโยชน์ของการรู้ความจริงว่า ขณะนี้ก็ไม่มีอะไรที่เป็นสาระ นอกจากสิ่งที่ปรากฏแล้วก็หมดไป ถ้าตราบใดยังไม่รู้อย่างนี้ ทุกอย่างสำคัญหมด เพราะว่ามีเรา และมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งเป็นที่พอใจ เป็นที่ติดข้อง แต่ถ้ารู้ความจริงอย่างนี้เมื่อไร สาระอยู่ตรงไหน ความจริงก็คือเปลี่ยนไม่ได้ สภาพธรรมทั้งหมดเกิดแล้วดับอย่างรวดเร็ว

    นี่คือการอบรมปัญญาซึ่งเมื่อได้อบรมแล้วถึงกาลที่กุศลประเภทใดจะเกิด ก็เกิดได้ แม้แต่คำว่า “ละชั่ว” มีความเข้าใจถูกต้องว่า อะไรชั่ว อะไรมืด อวิชชาชั่วหรือไม่ โลภะชั่วหรือไม่ อกุศลธรรมทั้งหลายชั่วหรือไม่ และจะละได้อย่างไร ไม่มีใครจะบอกให้ละก็ละ แต่ต้องเป็นปัญญาที่ฟังเข้าใจ และรู้ความเป็นอนัตตา ความเป็นธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งมีปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้น หนทางเดียวคืออบรมเจริญปัญญา เมื่อปัญญาได้เจริญแล้ว อบรมแล้วก็จะเห็นสภาพธรรมเป็นความจริงอย่างที่เคยได้ฟัง จะเป็นอื่นจากที่ได้ฟังได้ไหม เช่น ขณะนี้เห็นมีจริง เกิดขึ้นแล้วดับไป นี่ปัญญาขั้นฟัง จนกระทั่งถึงปัญญาที่สามารถประจักษ์แจ้ง ประจักษ์แจ้งอะไร ก็ต้องประจักษ์แจ้งสภาพธรรมที่เกิดแล้วขณะนี้ แล้วก็ดับไป จึงเข้าใจถูกต้องว่า ขณะนั้นไม่มีอะไรนอกจากธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งเกิดแล้วก็ดับ เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมโดยละเอียด ก็เพื่อให้เข้าใจความเป็นธรรมที่ไม่ใช่เรา เป็นอนัตตา และไม่ยั่งยืน เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

    ยังต้องการหรือไม่ ไม่ใช่ถามว่า ทำไม ยังต้องการสภาพธรรมขณะนี้ซึ่งเกิดแล้วก็ดับหรือไม่ ยังต้องการไหมคะ ไม่รู้ ใช่ไหมคะว่า ต้องการหรือไม่ ดูซิคะ เพราะฉะนั้น ความไม่รู้ที่แทรกคั่นอยู่จะมากมายสักแค่ไหน เพราะว่าความจริงถ้ามีสติสัมปชัญญะที่ฟังแล้วเข้าใจว่า ขณะนี้เป็นธรรม เป็นปัจจัยทำให้เกิดรู้ลักษณะธรรมดาๆ อย่างนี้ ก็เกิด ไม่ได้คิดอย่างอื่น แต่รู้ลักษณะที่แข็ง ดับแล้วก็มีสภาพธรรมอื่นเกิดต่อที่ไม่รู้ทั้งนั้นเลย จนกว่าเมื่อไรสติสัมปชัญญะเกิดขึ้นรู้สิ่งใด สิ่งอื่นไม่มี สิ่งที่ดับไปแล้วไม่มีปรากฏให้รู้ได้ สิ่งที่ยังไม่มาถึงก็ยังไม่มาถึง มีแต่ลักษณะนั้นที่สติกำลังรู้ แต่ปัญญายังไม่ถึงการละการยึดถือสภาพธรรมนั้นว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด จนกว่าจะรู้ทั่วในสภาพธรรมในชีวิตประจำวัน

    เพราะฉะนั้น ปัญญาเป็นสิ่งที่จะต้องอบรม ไม่ใช่วันเดียว ๒ วัน หรือ ๑๐ ปี หรือ ๒๐ ปี หรือว่าชาติหนึ่ง หรือ ๑๐ ชาติ แต่ต้องเป็นผู้ตรง มีสภาพธรรมกำลังปรากฏ กำลังฟังธรรม คือ เพื่อเข้าใจความจริงของสิ่งที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง ผมมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสภาพที่เป็นจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ท่านอาจารย์กล่าวถึงเรื่องสาระ หมายความว่า จำเป็นที่จะต้องเข้าใจว่า สิ่งนั้นเป็นสภาพธรรม เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเท่านั้น สาระคือการไม่ติดหรืออย่างไร หรือสาระคืออะไร

    ท่านอาจารย์ สาระคือสำคัญ สิ่งไหนไม่มีสาระ สิ่งนั้นก็ไม่มีประโยชน์ และไม่สำคัญ เพราะฉะนั้น ไม่มีสาระคือไม่มีประโยชน์ มีประโยชน์ไหมคะ แข็ง แข็งมีประโยชน์อะไร แข็งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เสียง สิ่งที่ปรากฏ กลิ่น รส แม้แต่ความนึกคิดมีประโยชน์ไหม เมื่อเกิดแล้วก็ดับไป ถ้าไม่มีชื่อ แม้สภาพธรรมมี จะรู้ได้อย่างไรว่า หมายความถึงสภาพธรรมอะไร เพราะฉะนั้นชื่อก็คือคำที่ส่องหรือแสดงถึง น้อมไปถึงการจะเข้าใจอรรถของคำนั้น เช่น สว่าง เป็นชื่อ ถ้าได้ยินคำนี้ คิดถึงมืดหรือเปล่า แต่ถ้าใช้คำว่า “มืด” น้อมไปสู่อรรถของคำนั้นว่าไม่ใช่สว่าง คือมืด นี่ก็เป็นสิ่งที่ทำให้เข้าใจสิ่งที่มีโดยนัยต่างๆ ซึ่งเป็นนามบัญญัติ

    ผู้ฟัง คือว่าจริงๆ แล้วเป็นสัททรูปที่เปล่งออกมา คือเป็นเรื่องของสภาพธรรมที่คิดนึกขึ้นทำให้เกิดคำต่างๆ เหล่านั้นเอง ถูกต้องไหมครับ

    ท่านอาจารย์ สัททรูปคือรูปอย่างหนึ่งที่เป็นเสียง เสียงเป็นรูปธรรม ไม่ใช่นามธรรม และเสียงก็มีมากมายหลายเสียง เสียงสูง เสียงต่ำ เสียงภาษาจีน เสียงภาษาญี่ปุ่น เสียงภาษาไทย เสียงภาษาอังกฤษ ก็ล้วนแต่เป็นเสียงทั้งนั้น

    เพราะฉะนั้นเมื่อมีเสียงแล้ว ถ้าไม่ได้ศึกษา ไม่ได้จำ จะไม่รู้ความหมายของเสียงนั้นๆ แต่เพราะได้ยินเสียงแล้วเข้าใจร่วมกันของชาติหนึ่งๆ ว่า เสียงนั้นหมายความถึงอะไร เพราะฉะนั้นเสียงเป็นสัททะ เป็นรูปซึ่งเกิดจากสมุฏฐานหนึ่งสมุฏฐานใด คือ เกิดจากจิตก็ได้ เกิดจากอุตุก็ได้ และสำหรับเสียงก็มีมากมายอย่างที่กล่าวแล้วเป็นแต่ละภาษา และแต่ละคำด้วย เพราะฉะนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่า น้อมไปให้เข้าใจอรรถหรือความหมายของเสียงนั้น มิฉะนั้นแล้วก็ไม่สามารถรู้ได้ว่า เสียงนั้นมีความหมายว่าอะไร

    ผู้ฟัง คือความเป็นสาระ เป็นประโยชน์ของเสียงที่เปล่งออกมาเป็นคำ และทราบว่ามีความหมายอย่างไร ทำให้ทราบว่ามีความหมายอย่างไร ก็เกิดคุ้นเคยเรียนมาว่า เสียงนั้นมีความหมายอย่างนั้น ตรงนี้สาระมี ๒ ส่วนใช่ไหมครับ คือ สาระที่เป็นสัททบัญญัติที่ทำให้เข้าใจสภาพธรรม และสาระอีกอย่างหนึ่งคือถ้าปัญญาสามารถรู้ได้ว่า สิ่งนั้นเป็นสภาพธรรม ก็เป็นสาระอีกอย่างหนึ่งของปัญญาที่เกี่ยวเนื่องจากเสียง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นถ้าสามารถเข้าใจลักษณะของธรรมด้วยคำภาษาใด สิ่งนั้นก็เป็นประโยชน์ คำนั้นก็เป็นประโยชน์ เพราะเป็นคำที่ทำให้สามารถเข้าถึงลักษณะที่เป็นธรรม

    ผู้ฟัง ขณะที่เราไม่ทราบว่า ภาษานั้น อาการที่ระลึกรู้ถึงสภาพเสียงก็เกิดสภาพนามธรรม ตรงนั้นก็เป็นประโยชน์ของปัญญาที่เกิดขึ้น ใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ ทั้งหมดต้องเป็นปัญญาที่เป็นประโยชน์ แม้สติเป็นใหญ่ แต่ปัญญาก็ประเสริฐกว่า

    ผู้ฟัง หนู และอีกหลายท่านยังไม่เข้าใจคำว่า “พื้นฐานพระอภิธรรม” ตัวหนูเองแรกๆ ก็เข้าใจว่า พื้นฐานพระอภิธรรม คือจะต้องศึกษาจิต เจตสิก รูป นิพพานตรงนี้ให้เข้าใจเสียก่อน ถึงจะเข้าใจคำว่า พื้นฐานพระอภิธรรม แล้วการศึกษาจิต เจตสิก รูปแล้วจะเข้าถึงพื้นฐานพระอภิธรรมได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ เมื่อกี้คุณบุษกรพูดถึงพื้นฐานพระอภิธรรมว่า ได้แก่อะไรคะ

    ผู้ฟัง คือคำว่า อภิธรรม ก็เป็นธรรมที่ละเอียดยิ่ง

    ท่านอาจารย์ แล้วมีธรรมที่ละเอียดยิ่งที่เราจำเป็นต้องเข้าใจหรือไม่

    ผู้ฟัง มี เช่น ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ เป็นอะไร

    ผุ้ถาม ก็เป็นจิต เจตสิก

    ท่านอาจารย์ พื้นฐานพระอภิธรรมคือรู้จักจิตดีหรือยัง รู้จักจิตจริงๆ หรือยัง

    ผู้ฟัง ยังไม่รู้จักดี

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น พื้นฐานก็คือการฟังให้เข้าใจจนสามารถรู้จริงในสิ่งที่เราพูด ไม่ใช่เพียงพูด รู้นิดๆ หน่อยๆ แต่ไม่ได้รู้จริงๆ ถ้าไม่รู้จริง พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้อะไร ไม่ใช่นิดๆ หน่อยๆ แล้วก็ไม่จริง เมื่อจิตมีจริงๆ เดี๋ยวนี้ก็มีจิต ถ้าไม่มีจิต ก็จะไม่มีใครอยู่ตรงนี้ ใช่ไหม แต่เพียงคำว่า “จิต” เข้าใจแค่ไหน ถ้าไม่ฟังบ่อยๆ สามารถรู้ลักษณะของจิตใด ซึ่งขณะนี้เป็นจิตทั้งหมด ทุกขณะ ตั้งแต่เกิดจนตาย

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เพียงคร่าวๆ ว่า ปรมัตถธรรม คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน ศึกษาชื่อ ศึกษาเรื่องราว จำได้ว่า จิตเป็นอย่างไร มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไร นั่นไม่ใช่การศึกษา การศึกษา คือ ได้ยินคำว่า “จิต” ขณะนี้มีจิตไหม ถ้ามี จิตมีลักษณะอย่างไร และกำลังเป็นจิตประเภทไหน คือการศึกษาสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ให้เข้าใจ พื้นฐานก็คือจนกว่าจะเห็นถูกว่า เป็นจิต ไม่มีเรา

    คุณบุษกรมีมิตรสหายไหมคะ

    ผู้ฟัง มีค่ะ

    ท่านอาจารย์ แล้วมีศัตรูไหมคะ

    ผู้ฟัง มีค่ะ

    ท่านอาจารย์ อยู่ที่ไหน

    ผู้ฟัง อยู่ในจิต

    ท่านอาจารย์ มีใครที่เป็นมิตรกับคุณบุษกรไหมคะ

    ผุ้ถาม ถ้าตอบโดยทั่วๆ ไป มีค่ะ

    ท่านอาจารย์ และโดยสภาวะที่เป็นปรมัตถธรรม ขณะนั้นคืออะไร

    ผู้ฟัง ขณะนั้นก็เป็นเรื่องราวว่าเป็นมิตร เป็นศัตรู

    ท่านอาจารย์ เวลาที่คิดถึงเพื่อนหรือมิตร คิดใช่ไหมคะ

    ผู้ฟัง ใช่ค่ะ

    ท่านอาจารย์ รู้จิตอะไรในขณะนั้นหรือไม่

    ผู้ฟัง ตรงนั้นไม่ได้รู้

    ท่านอาจารย์ แล้วจะศึกษาจิตเพื่อรู้อะไร ฟังเรื่องจิตให้เข้าใจอะไร

    ผู้ฟัง ให้เข้าใจเรื่องจิต

    ท่านอาจารย์ โดยละเอียดยิ่ง จนกระทั่งทั้งหมดเป็นจิต ถ้าไม่คิด จะมีเพื่อนคนนั้น คนนี้ไหมคะ

    ผู้ฟัง ไม่มีค่ะ

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่คิด จะมีศัตรูคนนั้นคนนี้ไหมคะ ก็ไม่มี เพราะฉะนั้น ขณะนั้นเพราะคิดจึงมี แล้วคิดขณะนั้น คิดที่เป็นโลภะ หรือโทสะ เวลาที่คิดถึงไม่ว่าคนที่เข้าใจว่าเป็นมิตรหรือศัตรูก็ตามแต่ คิดขณะนั้นเป็นโลภะหรือโทสะ

    ผู้ฟัง บางครั้งก็เป็นโลภะ บางครั้งก็เป็นโทสะ

    ท่านอาจารย์ เป็นคุณบุษกรหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ส่วนใหญ่จะเป็นว่า เราคิด

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ต้องฟังพื้นฐานจนกว่าจะไม่เป็น คือ มีความรู้ที่มั่นคงจริงๆ ว่า เป็นธรรมทั้งหมด ศัตรูจริงๆ เดี๋ยวนี้มีไหมคะ

    ผู้ฟัง มีค่ะ

    ท่านอาจารย์ อยู่ที่ไหน

    ผู้ฟัง อยู่ในจิต

    ท่านอาจารย์ ใคร อะไร

    ผู้ฟัง ยังเป็นเราอยู่

    ท่านอาจารย์ อกุศลทั้งหมดเป็นมิตรหรือเป็นศัตรู

    ผู้ฟัง เป็นศัตรู

    ท่านอาจารย์ ใกล้หรือไกล

    ผู้ฟัง ใกล้ค่ะ

    ท่านอาจารย์ ภายในหรือภายนอก

    ผู้ฟัง ภายใน

    ท่านอาจารย์ ป้องกันได้ไหมคะ

    ผู้ฟัง ป้องกันได้ถ้ามีปัญญา

    ท่านอาจารย์ เกิดแล้วป้องกันได้หรือคะ

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เกิดแล้ว ไม่มีทางที่จะป้องกันศัตรูซึ่งเป็นโลภะ เป็นโทสะ เป็นโมหะ เป็นอกุศลธรรม เพราะว่าสะสมอยู่ในจิต มีปัจจัยพร้อมที่จะเกิดทันทีเมื่อถึงกาละที่จะเกิด แล้วจะป้องกันศัตรูนี้ได้อย่างไร ถ้าไม่มีพื้นฐานความเข้าใจจนกระทั่งรู้ว่า แม้ขณะนั้นก็ไม่ใช่เรา ธรรมต้องเป็นธรรม อกุศลก็เป็นธรรม โลภะก็เป็นธรรม โทสะก็เป็นธรรม โมหะก็เป็นธรรม ถ้ายังไม่เข้าใจอย่างนี้จริงๆ ก็คือยังไม่ได้เข้าใจธรรม แม้ว่าจะฟังนานสักเท่าไรก็ตาม

    ด้วยเหตุนี้จะต้องฟังพื้นฐานพระอภิธรรมไปอีกนานเท่าไร ยังไม่ต้องพูดถึงการดับกิเลส ยังไม่ต้องพูดถึงการรู้แจ้งอริยสัจธรรม ยังไม่ต้องพูดถึงสติสัมปชัญญะ หรือสติปัฏฐาน เพียงแต่เข้าใจในสภาพธรรมที่ได้ยินได้ฟัง จนกระทั่งรู้ความจริง ลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมนั้น

    ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์กล่าวมาก็พอจะเข้าใจว่า การศึกษาพื้นฐานพระอภิธรรมก็คือในชีวิตประจำวันตรงนี้

    ท่านอาจารย์ ถ้าอย่างนั้นถามต่อไปอีกนิดหนึ่งว่า แล้วศัตรูนั้นเป็นศัตรูของใคร โลภะ โทสะ โมหะเป็นศัตรูของใคร

    ผู้ฟัง ในจิต

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ถ้าศึกษาเรื่องจิตมีชื่อนั้น ชื่อนี้ ชื่อบุษกรอะไรไหม ถ้าศึกษาเรื่องจิต

    ผู้ฟัง ไม่มีค่ะ

    ท่านอาจารย์ จนกว่าจะมีจิตจริงๆ ซึ่งเกิดดับสืบต่อทำกิจตามประเภทของจิตนั้นๆ เพราะฉะนั้น ขณะใดก็ตามโลภะเกิดเป็นจิตหรือเป็นเรา

    ผู้ฟัง เป็นจิต เจตสิก

    ท่านอาจารย์ เป็นอกุศลจิต เพราะเหตุว่าไม่ใช่มิตร ทำร้ายจิตขณะนั้นให้เสีย ให้เป็นสภาพธรรมที่เศร้าหมองด้วยอกุศลธรรม เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ใคร ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา แต่เป็นธรรมประเภทต่างๆ จนกว่าจะรู้จริงๆ ว่า นั่นเป็นธรรม เจตสิกเกิดกับจิต และจิตก็ไม่ใช่ของเรา เจตสิกก็ไม่ใช่ของเรา ถ้ามีอกุศลจิตมากๆ เป็นเหตุให้กระทำทุจริตกรรม เป็นเราหรือไม่

    ผู้ฟัง ถ้ายังไม่เข้าใจก็ยังเป็นเราอยู่

    ท่านอาจารย์ และความจริงต้องฟังพื้นฐานจนกว่าจะเข้าใจว่า ไม่ใช่เรา สงสัยเรื่องพื้นฐาน ก็คือฟังจนกว่าจะเข้าใจในสภาพธรรมที่เหมือนสั้น แค่คำเดียวว่า “จิต” คำเดียวว่า “เจตสิก” คำเดียวว่า “ธรรม” คำเดียวว่า “รูป” คำเดียวว่า “นิพพาน” ทุกคำจำเป็นต้องเข้าใจจริงๆ การศึกษาทั้งหมดเป็นภัย ถ้าไม่เข้าใจจริงๆ เข้าใจผิดนิดเดียวก็ไม่ตรงแล้ว ไม่สามารถเห็นความจริงของสภาพธรรมนั้นได้

    เพราะฉะนั้นจึงต้องเป็นผู้ละเอียด รอบคอบ ไม่ประมาท ในการรู้ว่า เข้าใจธรรมที่ได้ฟังแค่ไหน เพราะเหตุว่าได้ยินเพียงแค่ว่า “ธรรม” พูดตามว่า เป็นธรรม พูดตามว่าไม่ใช่เรา พูดตามว่าเป็นจิต เป็นเจตสิก เป็นรูป แต่ตราบใดที่ปัญญายังไม่รู้จริงๆ ในสภาพธรรมนั้นก็ไม่สามารถที่จะละอกุศล เพราะแม้จะฟังว่า โลภะไม่ใช่เรา แต่ก็ยังไม่ได้ดับการติดข้องในสภาพธรรมนั้นว่า เป็นเราหรือเป็นของเรา จนกว่าจะประจักษ์ลักษณะแท้จริงของสภาพธรรมนั้น เพราะอย่างโทสะ มีใครบ้างที่ไม่รู้ แต่รู้ไหมว่า เป็นธรรม

    ผู้ฟัง ไม่รู้ค่ะ

    ท่านอาจารย์ ด้วยเหตุนี้โทสะก็เป็นปกติ โลภะก็เป็นปกติ ทุกอย่างก็เป็นปกติ เพียงแต่เริ่มเห็นถูกว่า เป็นธรรมแต่ละลักษณะซึ่งไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง อย่างชีวิตประจำวันก็สังเกตได้ในขั้นของการฟัง ก็หยาบๆ และรู้เรื่องราว

    ท่านอาจารย์ เปลี่ยนสังเกต เป็นเข้าใจได้ไหมคะ

    ผุ้ถาม ได้ค่ะ

    ท่านอาจารย์ มิฉะนั้นจะเป็นเราสังเกต

    ผุ้ถาม แล้วเป็นเราเสมอ

    ท่านอาจารย์ ก็เข้าใจว่า ลักษณะนั้นมี ไม่ต้องให้ใครมาบอกว่า โทสะเป็นอย่างนี้ๆ ๆ แต่เวลาโทสะเกิดขึ้น เรารู้ว่า นั่นเป็นลักษณะของสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งไม่สบายใจ ขุ่นเคืองใจแม้เพียงเล็กน้อย เกิดแล้วให้รู้ความจริงว่า ไม่มีใครไปทำให้เกิด ก็เริ่มชินต่อลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะ เริ่มเข้าใจถูก

    เพราะฉะนั้นพระธรรมทั้งหมดที่ฟังเพื่อเข้าใจถูก ซึ่งหมายความว่าขณะนั้นเป็นปัญญา ที่ใช้คำว่า “ปัญญา” คือ ความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ก็จะรู้ว่ามีปัญญาแค่ไหนในลักษณะของสภาพธรรม อาจจะมีการจำเรื่องชื่อมากมาย อายตนะ ขันธ์ ธาตุ ปฏิจจสมุปปาท ปัจจัยต่างๆ แต่ลักษณะของธรรมเดี๋ยวนี้ จะรู้จริงก็ต่อเมื่อกำลังรู้ลักษณะที่เป็นธรรม

    ผู้ฟัง การจำชื่อ เรื่องราวต่างๆ ง่ายมาก จำเท่าไรก็จำได้ และเดี๋ยวก็ลืม แต่การที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมขณะนี้ เดี๋ยวนี้ สิ่งที่ปรากฏเฉพาะหน้าตรงนี้ ตรงนั้นไม่ชิน

    ท่านอาจารย์ บังคับให้ชินได้ไหม

    ผู้ฟัง ก็ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ แล้วจะชินได้อย่างไร

    ผู้ฟัง ก็ต้องค่อยๆ ฟังให้เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ หนทางเดียวค่ะ

    ผู้ฟัง ครั้งที่แล้วได้ยินได้ฟังมาว่า สภาพธรรมเป็นทุกข์ และได้ยินได้ฟังต่อไปว่า เพราะเหตุว่าเกิด และดับ ตรงนั้นอาจจะเป็นคำตอบที่ละเอียด และเกินฐานะไป เพราะว่าในขณะนี้ก็ยังไม่รู้แม้ในขั้นการฟังว่า ลักษณะที่ปรากฏ อย่างสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอย่างไร จะกราบเรียนถามว่า ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ถ้าความรู้ความเข้าใจที่มี จะเข้าใจสิ่งที่ปรากฏตรงนี้อย่างไร หรือมีลักษณะอย่างไร

    ท่านอาจารย์ คิดค่ะ กำลังคิดหมดเลย

    ผุ้ถาม คิดคำที่ถาม

    ท่านอาจารย์ คิดหมดทุกคำที่ถาม ถามกี่คำก็คิดทั้งนั้น แล้วมีลักษณะของสิ่งที่ปรากฏก็ไม่รู้ ฟังเพื่อให้ไม่ประมาทที่จะรู้ว่า สิ่งที่มี แม้ความเข้าใจเพียงเล็กน้อย ก็เป็นการเริ่มต้นเข้าใจได้ จนกระทั่งสามารถละความสงสัย เพราะขณะนี้คุณชมชื่นกำลังสงสัยสภาพที่มีจริงที่กำลังปรากฏทางตา และก็สงสัยว่า ปัญญาจะรู้ถูก เห็นถูกในสภาพธรรมนั้นเป็นอย่างไรจึงเป็นความเห็นถูกในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏ แน่นอน ลืมที่จะเข้าใจถูกในลักษณะนี้ว่า เป็นธรรมอย่างหนึ่ง ไม่ต้องใช้ชื่อ แค่สิ่งที่มีจริงๆ ที่ปรากฏให้เห็น ถ้าจะใช้นามบัญญัติก็คือ แค่เป็นสิ่งที่มีจริงที่ปรากฏให้เห็นชั่วขณะที่เห็น หมดแล้ว และเวลาฟังมีเสียง แล้วมีได้ยิน ก็เป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง เพียงปรากฏให้ได้ยิน ก็หมดอีกแล้ว

    เพราะฉะนั้น กว่าความรู้จะสมบูรณ์จริงๆ ก็คือฟัง และค่อยๆ รู้ความต่างของความเข้าใจขั้นฟัง กับขณะที่กำลังเริ่มรู้ลักษณะ แข็งก็รู้ว่าแข็ง แต่ไม่รู้ลักษณะของธรรมว่า ขณะนั้นไม่มีอะไร นอกจากแข็งกับสภาพที่รู้แข็ง นี่คือการศึกษาพระธรรมให้รู้ว่า จิตเกิดขึ้นทีละ ๑ ขณะ แล้วไม่ใช่เรา ขณะที่รู้แข็ง ก็ไม่ใช่ขณะที่คิด ไม่ใช่ขณะที่เห็น ไม่ใช่ขณะที่ได้ยิน

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นแต่ละลักษณะ สภาพลักษณะของจิตเกิดสืบต่อตลอดตั้งแต่เกิดจนตายอย่างรวดเร็ว ตอนนี้รู้จักศัตรูไหมคะ

    ผู้ฟัง ความไม่รู้ค่ะ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ

    ผู้ฟัง ถึงแม้จะถามอย่างนี้ ฟังอย่างนี้ แต่ก็เหมือนยังไม่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ ก็ยังดีที่ฟัง ใช่ไหม ถ้าไม่ฟัง ก็ไม่มีทางเข้าใจ ฟังซ้ำแล้วซ้ำอีก แล้วมีสิ่งที่ปรากฏซ้ำแล้วซ้ำอีก กว่าจะชิน

    ผุ้ถาทม ฟังซ้ำแล้วซ้ำอีก ฟังแล้วฟังเล่า แต่ก็ยังไม่เข้าใจในสิ่งที่กำลังปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ใครที่ยังไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ ศัตรูก็ไม่รู้ไม่เห็น อวิชชา เห็นไหม กลายเป็นเราฟัง ฟังมาแล้วมากๆ ก็ยังไม่ได้เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ ซึ่งขณะนี้เราก็กำลังพูดถึงธรรม ทุกอย่างเป็นธรรม ขณะนั้นเป็นเราจริงๆ ฟังตั้งนานแล้วก็ไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 173
    13 ม.ค. 2567