พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 573


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๗๓

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๒


    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีสัญญา เรื่องนั้นเกิดขึ้นไม่ได้ ไม่ว่าจะคิดอะไร ซึ่งขณะนี้ก็กำลังคิด ทั้งหมดมีสัญญาที่กำลังคิดเรื่องหรือคำ ไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมใดๆ ก็ตามที่เคยได้ยินได้ฟัง และเคยเข้าใจมาแล้ว

    เพราะฉะนั้น เป็นการอบรมเจริญปัญญาจริงๆ ไม่ต้องคำนึงถึงอะไรทั้งสิ้น ใครจะว่าอะไร ชื่ออะไร บัญญัติอะไร เป็นความเห็นจากหน้านั้นเล่มนี้ อะไรก็ตามแต่ แต่การฟังธรรมเพื่อเห็นถูก เข้าใจถูก เป็นปัญญาที่เริ่มเกิดจากการรู้ว่า ขณะนี้ธรรมที่มีจริงคืออะไร แล้วจะรู้ว่า ถ้าจะรู้จริงๆ ถึงการเกิดดับก็รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง

    สิ่งที่ไม่จริง เป็นเรื่องเป็นราวที่จำไว้ แล้วก็เป็นตัวตน ไม่สามารถให้ความจริงได้ว่า สภาพธรรมที่ปรากฏขณะนี้เกิดแล้วก็ดับ ขณะที่กำลังฟัง ใครยับยั้งไม่ให้ได้ยินเสียงได้บ้าง ไม่เลือกเลย แม้กำลังเริ่มเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏก็นิดเดียว แล้วเสียงก็ปรากฏนิดเดียว แล้วคิดก็ปรากฏทีละอย่าง สั้นๆ มาก แสดงถึงความเกิดดับซึ่งปัญญาไม่สามารถประจักษ์ว่าเป็นอนัตตา เกิดโดยมีเหตุปัจจัยแล้วก็ดับ เพราะเหตุว่ายังไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมพอ แต่เมื่อเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมพอ จะรู้ว่าขณะนั้นสติเกิดได้ ไม่ว่าจะเป็นขณะที่กำลังเห็น และขณะที่กำลังได้ยิน

    เพราะฉะนั้น เวลาที่สติมีกำลัง ก็สามารถรู้ว่า เมื่อรู้ลักษณะของสภาพธรรมหนึ่ง ปกติธรรมดา เวลาไม่มีกำลังก็ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเกิดต่อ นานจนกว่าจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใด แต่เมื่อมีสติที่เกิดบ่อยๆ มีกำลังแล้ว ก็สามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดต่อได้

    เพราะฉะนั้น จะห่างมากน้อยสักเท่าไร ก็ยังรู้ว่า ขณะใดเป็นขณะที่สติเกิด ขณะใดไม่ใช่สติปัฏชัญญะที่รู้ลักษณะของสิ่งที่มีจริง

    ผู้ฟัง เรื่องสภาพธรรมที่เกิดแล้วดับไปแล้วไม่กลับมาอีก ต้องมีเหตุมีปัจจัยที่ทำให้ธรรมเช่นนั้นเกิดขึ้นแล้วดับไปก็สงสัยว่าสภาพธรรมเกิดเป็นสายไม่มีหยุด ใช่หรือไม่ จักขุปสาท ฆานปสาท ... หทยวัตถุ ก็เกิดขึ้นเพราะกรรมตั้งแต่ปฏิสนธิมา หทยวัตถุ กายปสาทเกิดขึ้นตรงนั้น แล้วทางทวารก็ค่อยๆ พัฒนาขึ้นมาเป็นจักขุปสาท โสตปสาท เรื่อยๆ จนกระทั่งครบทั้ง ๖ ทวาร อย่างนี้ ขณะนั้นก็มีกรรมเป็นเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น ปสาทต่างๆ หรือวัตถุต่างๆ ก็เกิดขึ้นเป็นสาย เพียงแต่ไม่ปรากฏขึ้นมาให้รู้

    ท่านอาจารย์ สายนี้มีขาดหรือไม่

    ผู้ฟัง ก็คงต้องขาด

    ท่านอาจารย์ ขาดแล้วเป็นสายหรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ใช่สายอยู่แล้ว ที่ว่าจะต่อเนื่องกันไปโดยปกติ แต่จริงๆ แล้วก็มีเกิด มีดับ ก็คือจิตนั่นเอง

    ท่านอาจารย์ จริงๆ ขณะนี้อยากรู้มากกว่าที่จะรู้ได้หรือไม่ อย่างขณะนี้สงสัยว่า แล้วจักขุปสาทเกิดสืบต่อไปเรื่อยๆ หรืออย่างไร แต่ความจริงจักขุปสาทก็ดับ มีอายุแค่ ๑๗ ขณะของจิต แล้วเวลาที่จักขุปสาทใหม่เกิด เพราะกรรมเป็นสมุฏฐานให้เกิด ในอุปาทขณะก็มีกัมมชรูป จักขุปสาทก็เกิด มีอายุ ๑๗ ขณะ ในฐีติขณะ จักขุปสาทก็เกิด มีอายุ ๑๗ ขณะ ต่างคนต่างก็ไม่รู้จักกัน และในภังคขณะ ก็มีจักขุปสาทเกิดแล้วก็ดับไป ก็เป็นเรื่องของการเกิดดับของสภาพธรรม แต่ใครจะรู้ แม้แต่ขณะนี้จักขุปสาท มีใครรู้ แม้แต่สิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็น ก็มีจิต ใครรู้ และมีสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ ใครรู้

    เพราะฉะนั้น จะรู้จักขุปสาทหรือไม่ในเมื่อจักขุปสาทไม่ได้ปรากฏ แต่สามารถรู้ได้ว่า มีแน่นอน และรูปนี้ก็ไม่ได้ปรากฏให้เห็นด้วย

    ผู้ฟัง จากที่ท่านอาจารย์บรรยายว่า พุทธบริษัทที่ศึกษาธรรม จะต้องมีพื้นฐานความเข้าใจอย่างถูกต้อง ในเรื่องปรมัตถสัจจะ และสมมติสัจจะ และเมื่อฟังไปแล้วได้ระดับหนึ่ง ก็เริ่มรู้ตัวว่า ในขณะที่นอนหลับฝันก็มีเรื่องราวที่จิตคิด ในขณะที่ฟังธรรมของท่านอาจารย์ก็มีเรื่องราวของจิตที่กำลังคิดจากเสียงของท่านอาจารย์ ที่อธิบายความหมาย และแปลออกมาว่า เป็นเรื่องราวต่างๆ นั้น ในขณะนี้ฟังสมมติสัจจะของท่านอาจารย์แล้ว อุปมาก็เหมือนนอนหลับไปแล้วฝันไป โดยไม่ใช่เรื่องจริงที่กำลังปรากฏในขณะนี้ แต่บางครั้งบางคราวก็สามารถพิจารณาหรือเข้าใจได้ว่า ก่อนที่จะมีชื่อต่างๆ เหล่านี้ก็ต้องมีที่มา ที่ไป ท่านอาจารย์จึงกล่าวคำนี้ออกมา ความเข้าใจอย่างนี้ ท่านอาจารย์จะแนะนำให้เข้าใจได้มากขึ้นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ที่จริงที่กล่าวนี้ก็ถูก แต่ว่าต้องเข้าใจลึกซึ้ง เช่น เวลานี้ขณะใดที่ไม่มีลักษณะหนึ่งลักษณะใดปรากฏกับสติสัมปชัญญะ สิ่งนั้นแม้มีก็ดับไปหมดแล้ว เหมือนนอนหลับไหม เวลานี้ถ้าเราไม่พูดถึงเรื่องภวังคจิต และภวังคจลนะ ภวังคุปัจเฉทะ จักขุวิญญาณ สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะ ชวนะ ตทาลัมพนะ ภวังค์ ถ้าไม่พูดถึง รู้ไหมว่าขณะนี้เป็นอย่างนี้ เป็นอย่างนี้ทุกวาระที่หมดไปโดยไม่รู้

    เพราะฉะนั้น ขณะใดก็ตามที่สติสัมปชัญญะไม่เกิด แม้กำลังได้ฟังเรื่องของธรรม แต่ว่าลักษณะหนึ่งลักษณะใดก็ไม่ได้ปรากฏว่ามีจริงๆ อย่างที่ได้ฟัง พอสติสัมปชัญญะเกิด ทั้งหมดที่ผ่านไปแล้วเหมือนหลับ คือไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น เมื่อสักครู่นี้ที่กล่าวถึงภวังค์ ภวังคจลนะ ภวังคุปัจเฉทะ จักขุทวาราวัชชนะ จักขุวิญญาณ สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะ ชวนะ ตทาลัมพนะ ภวังค์ เมื่อสักครู่ทั้งหมดใช่ไหมหรือใครว่าไม่ใช่ ตามที่เรียน ดับไปหมดแล้ว ไปเรื่อยๆ ไม่รู้ว่า จิตเห็นกี่วาระจนกระทั่งปรากฏว่าไม่ดับ

    เพราะฉะนั้น ก็ไม่รู้สิ่งที่มีจริงๆ เหมือนหลับ เพราะไม่รู้ว่าอะไรเกิดขึ้น คนหลับจะไม่รู้ว่ามีอะไรเกิดบ้าง แต่คนตื่นจะรู้

    เพราะฉะนั้น ขณะใดก็ตามที่ลักษณะของสภาพธรรมไม่ได้ปรากฏ จะรู้ไหมว่า ขณะนั้นต่างกับขณะที่เหมือนกับคนหลับหรือไม่เหมือนคนหลับ ไม่รู้ แน่นอน แต่สติสัมปชัญญะเกิดตื่นรู้จริงๆ ว่า ไม่ใช่ขณะเมื่อสักครู่นี้ที่ไม่รู้อะไร เป็นแต่เพียงเรื่องราวแล้วจำไว้ เหมือนจำในความฝัน

    เพราะฉะนั้ก็เหมือนกำลังได้ยินในฝัน ตื่นคือสติสัมปชัญญะกำลังมีลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งปรากฏ เป็นเครื่องเตือนให้รู้ว่า ก่อนนั้นไม่ได้รู้ลักษณะของธรรม เป็นแต่เพียงหมดไปๆ ๆ กับความจำเท่านั้นเอง

    เพราะฉะนั้น จะกล่าวอย่างนี้ได้ก็ต้องเป็นผู้มีปัญญา ที่สามารถรู้ว่าขณะที่สติสัมปชัญญะเกิดต่างกับขณะที่ไม่เกิด และขณะที่ไม่เกิดก็ดับไปแล้วมากมาย เหมือนเดี๋ยวนี้เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ขณะนี้เป็นอย่างนี้ จนกว่าสติสัมปชัญญะมีลักษณะใดเป็นอารมณ์ ขณะนั้นไม่เหมือนเมื่อสักครู่นี้ใช่ไหมที่ไม่รู้

    ผู้ฟัง ถูกต้องครับ แต่จากความคุ้นเคย ทุกครั้งที่มีลักษณะอาการที่เนียนอย่างนี้ ก็อดนึกถึงชื่อไม่ได้ แต่ขณะต่อไปก็จะคิดทบทวนว่า ต้องมีลักษณะของนามธรรมชนิดหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ จนกว่าจะรู้ว่า แม้กระทั่งที่กำลังไม่รู้ ก็เป็นสภาพธรรม

    ผู้ฟัง จริงๆ แล้วในชีวิตประจำวัน จิตเกิดดับนับไม่ถ้วน

    ท่านอาจารย์ และมีไม่รู้อยู่เรื่อยๆ แต่ไม่คุ้นกับลักษณะที่ไม่รู้ แต่พูดว่า อวิชชา พูดง่าย พูดบ่อย อวิชชาเป็นสภาพที่ไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ อวิชชาไม่สามารถรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่แม้ขณะที่กำลังไม่รู้ก็ลืมว่า เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งจะชินกับลักษณะที่เป็นธรรมว่า แม้ขณะนั้นก็ไม่ใช่เรา จะเรียกอะไรก็ตามแต่ จะเรียกว่า โมหะ จะเรียกว่าอวิชชา ก็แล้วแต่จะเรียก แต่ลักษณะนั้นมีจริง เหมือนเห็นมีจริง จะเรียกว่าเห็น หรือเรียกว่าจักขุวิญญาณก็ได้ แต่ไม่รู้ลักษณะที่เห็น แต่จำชื่อได้ เรียกได้ว่า ขณะนี้เป็นจักขุวิญญาณที่เห็น เพราะฉะนั้น ขณะที่ไม่รู้ก็ไม่ได้ชินกับสภาพที่ไม่รู้ว่าเป็นธรรมอย่างหนึ่ง จริงๆ เป็นธรรม แล้วเรียกว่า อวิชชา แต่ไม่ต้องเรียกดีกว่า จะได้คุ้นกับลักษณะสภาพที่ไม่รู้

    อ.กุลวิไล เคยสนทนากับสหายธรรมบางท่านว่า เวลาศึกษาอภิธรรม มีชื่อจิตมากมาย และจิตมีหลายประเภท แม้เรื่องของรูปก็ตาม ของเจตสิกก็ตาม เขาก็คิดว่า น่าจะศึกษาในส่วนเรื่องราวของสภาพธรรมที่เป็นอภิธรรม แล้วมาฟังท่านอาจารย์ ก็จะทำให้เวลาได้ยินชื่อตัวธรรม ก็จะเข้าใจมากกว่าที่จะมุ่งไปเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม อย่างที่ท่านอาจารย์กล่าว

    ท่านอาจารย์ ชื่อจิต ไม่มีใครไม่รู้ แต่มีคนรู้ลักษณะของจิตหรือไม่

    อ.กุลวิไล ถ้ามุ่งที่จะรู้จักชื่อ ก็จะมีแต่ชื่อนั้นเป็นอารมณ์

    ผู้ฟัง ทุกวันนี้ในหมู่ผู้ศึกษา ดูเหมือนสับสน และไม่กระจ่างชัด เรียนท่านอาจารย์กรุณาช่วยขยายความตรงนี้ ในการศึกษาธรรม ท่านอาจารย์จะย้ำเสมอว่า ต้องละเอียด เผินไม่ได้ ขณะเดียวกันเมื่อศึกษาไป ก็จะบอกว่า ทำไมไปสนใจรู้ในสิ่งที่รู้ไม่ได้ อย่างเช่น เห็นขณะนี้รู้หรือยัง เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ยังไม่รู้เลย อย่างเมื่อวานก็พูดกันแต่เรื่องอิฏฐารมณ์ อนิฏฐารมณ์ เหมือนจะศึกษาอิฏฐารมณ์ อนิฏฐารมณ์ให้ละเอียด พวกเราที่ชินกับการเรียนแล้วเป็นชื่อ ก็ยังไม่สามารถแยกแยะได้ว่า การศึกษาธรรมต้องละเอียด ไม่เผิน แต่กลับไปลงรายละเอียดในเรื่องที่รู้ไม่ได้ แล้วอยากจะรู้ ซึ่งไม่มีวันรู้ ขอความกรุณาท่านอาจารย์ขยายให้พวกเราไม่สับสนตรงนี้

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นความละเอียดที่จะรู้ว่า ฟังศึกษาโดยละเอียด ก็เลยละเอียดไปถึง ตทาลัมพนะ ถึงอะไรต่ออะไรว่า ขณะนี้เป็นอิฏฐารมณ์ หรืออนิฏฐารมณ์ ก็ไปเข้าใจว่าอย่างนั้น แต่ความละเอียดคือให้รู้ตามความเป็นจริงถึงสภาพธรรมที่ละเอียดที่มีในตัวเองว่า สามารถจะรู้อะไรได้แค่ไหน ไม่ใช่ไม่รู้จักตัวเอง คิดว่าพอพูดอะไรก็รู้ได้หมด ต้องไปรู้ให้ละเอียดให้หมด อ่านให้เยอะๆ แล้วไปจำความละเอียด แต่ไม่รู้ความละเอียดของสภาพธรรมที่สะสมมาว่า สามารถจะรู้ได้แค่ไหน

    ตทาลัมพนะมี ๑ ขณะ หรือ ๒ ขณะ ไปค้นตำรามา อาจารย์ท่านนี้ว่าอย่างนี้ อาจารย์อีกท่านหนึ่งว่าอย่างหนึ่ง แล้วเราเป็นใคร แล้วเราสามารถรู้ได้ไหม ขณะนั้นขาดความละเอียดที่จะรู้จักการสะสมของตัวเองว่า ไม่สามารถไปวินิจฉัยอะไรได้ทั้งสิ้น

    เพราะฉะนั้น ก็ศึกษา และรู้ว่า ความละเอียดที่สุดคือพระธรรมที่ทรงแสดง โดยพระปัญญาคุณ ให้เห็นความละเอียดของปัญญา ซึ่งทรงแสดงเหมือนกับใบไม้ ๒ – ๓ ใบในกำมือ เพราะฉะนั้น ส่วนที่มากกว่านั้นที่ละเอียดกว่านั้นต้องมีแน่ แต่เพียงใบไม้ ๒ ใบในกำมือ ก็ยังไม่สามารถรู้ได้ แล้วเราก็อ่าน แล้วเราก็ติดว่า ขณะนี้ละเอียดพอที่จะรู้ไหมว่า ไม่ได้รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ละเอียดตรงนี้มีไหม ที่จะรู้ว่า ฟังมานานเท่าไรก็ตาม บางคนก็บอกว่า ๑๐ ปี ๒๐ ปี ๓๐ ปี บางคนก็ไปนั่งพยายามที่จะรู้ พยายามที่จะรู้ก็ขาดความละเอียดว่า มรรคมีองค์ ๘ และธรรมทั้งหลายไม่ได้เกิดจากความต้องการหรือเพราะความพยายามของใคร แต่เป็นการฟังพระธรรมแล้วเข้าใจสิ่งที่กำลังได้ฟัง ไม่เพิ่มเติมด้วยความคิดของตัวเอง เพราะบางคนฟังแค่นี้ เอาความคิดของตัวเองเพิ่มขึ้นมาอีก ๓ – ๔ เท่า เลยปนเปกับสิ่งที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง แต่ฟังธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง แม้เพียงคำเดียว อย่าง “ธรรม” แล้วก็รู้ว่า ขณะนี้เป็นธรรม แล้วธรรมก็หลากหลายมากมาย เพราะไม่ใช่มีแต่เห็น ได้ยินก็เป็นธรรม

    เพราะฉะนั้น ไม่ออกไปนอกคำที่ได้ยินได้ฟังโดยเติมความคิดของตัวเองเข้าไป ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว ไม่มีทางเข้าใจ ผสมปนเปไปหมด แต่ถ้าฟังแล้วเข้าใจว่า กล่าวถึงสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ เพื่อให้เข้าถึงลักษณะที่มีจริงๆ ซึ่งไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ฟังเปล่าๆ แล้วอยากจะไปรู้เรื่องเยอะๆ แต่ฟังเพื่อให้รู้ว่า ก็มีสิ่งที่ปรากฏทางตาตลอดเวลา แล้วได้ยินได้ฟังมามากด้วย ก็ไม่เห็นกำลังรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา

    นี่เป็นความละเอียดที่ว่า แม้เพียงสิ่งที่ปรากฏแค่นี้ยังไม่รู้ แล้วจะสามารถไปรู้อะไรยิ่งกว่านี้ได้ไหม ปัญญาต้องอบรมเจริญตามขั้น มีแข็งปรากฏ รู้ความจริงว่า แข็งมีแน่ๆ อย่างที่ทรงแสดงไว้ว่า เป็นรูปที่ปรากฏเมื่อกายวิญญาณ จิตอาศัยกายปสาทที่กระทบสิ่งที่แข็ง แล้วจิตก็เกิดขึ้นกำลังรู้ลักษณะที่แข็ง ซึ่งความจริงลักษณะที่แข็งเกิดแล้วดับแน่นอน แต่เมื่อยังไม่ประจักษ์ทั้งๆ ที่กำลังกระทบแข็งตลอดเวลา

    เพราะฉะนั้น กิจก็คือว่า ฟังจนกระทั่งมีสัญญา ความจำที่มั่นคง ตอนที่ฟัง ไม่ได้รู้ลักษณะที่แข็ง ตอนที่ฟัง ไม่เข้าใจสภาพที่กำลังเห็น ตอนที่ฟังก็ไม่ได้รู้ว่า เสียงเป็นธรรมหรือธาตุชนิดหนึ่ง

    นี้ก็แสดงให้เห็นว่า ฟังในสิ่งที่มีจริง เพื่อความรู้จะค่อยๆ รู้ลักษณะที่มีจริง ไม่ใช่เพียงแต่จำเรื่องราว แต่ลักษณะนั้นมีจริงๆ เป็นธรรมจริงๆ

    เพราะฉะนั้น ธรรมตัวจริงมีลักษณะให้รู้ได้ด้วยปัญญา

    ผู้ฟัง นั่นหมายถึงว่า ในการศึกษาหรือฟัง จริงๆ พระพุทธองค์ทรงตรัสพยัญชนะเพื่อให้ผู้ศึกษาเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะที่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน ก็คือรูป ๗ รูปที่ปรากฏให้รู้ได้ และทราบว่า ต้องปรากฏกับสภาพรู้ อย่างเช่นจิตเห็น ก็คือรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา จิตได้ยินก็รู้เสียง และไม่สามารถเปลี่ยนหน้าที่กันได้ ทีนี้ตรงนี้เมื่อศึกษาแล้ว ขอยกตัวอย่างเรื่องวิถีจิต ผู้ศึกษาก็อดกล่าวไม่ได้ว่า เข้าใจยากมาก ไม่มีทางจะรู้อย่างนั้นได้ เพราะนั่นเป็นปัญญาของพระพุทธเจ้า แต่ศึกษาในแต่ละวาระเพื่อให้เข้าใจว่า จิตมีกิจหน้าที่อย่างนี้ เกิดดับเป็นวิถีตามวาระแบบนี้ แล้วให้เห็นความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม โดยที่ไม่ใช่ไปรู้ตรงนั้นได้ แต่ในการศึกษาเพื่อให้ทราบความละเอียดของวิถีจิต ผู้ศึกษาต้องศึกษาศัพท์บาลี ทั้งยุ่งยาก และแยกแยะไม่ออกว่า แล้วความละเอียดขนาดไหนจึงสามารถทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏขณะนี้

    ท่านอาจารย์ มีเพื่อนหลายคนไหมคะ เพื่อนดีคือใคร ไม่ต้องเป็นชื่อ คนที่สามารถทำให้มีความเห็นถูกต้อง ไม่ใช่ให้เห็นผิด เข้าใจผิด เพราะฉะนั้น ขณะนี้มีสภาพธรรมที่ปรากฏ ถ้าเป็นเพื่อนดีจะเป็นคนพาให้ห่างไกลจากสิ่งที่ปรากฏ ไปสนใจเรื่องที่ไม่สามารถจะรู้ได้ หรือรู้ว่า แม้สิ่งนี้มี แต่ก็ยากแสนยาก เพราะไม่เคยคิดจะเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏจริงๆ คิดเรื่องราวทั้งหมดมาจากสิ่งที่เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง ลิ้มรสบ้าง คิดนึกบ้าง เป็นเรื่องราวมากมาย โดยที่แม้ขณะนี้ก็มีสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ก็เห็นเป็นคนนั้นคนนี้ เป็นอย่างนี้ทุกชาติ กับคนที่รู้ว่า ทำไมไม่รู้สิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ ซึ่งเป็นประโยชน์สูงสุดที่จะรู้ว่า อะไรเป็นปรมัตถ์ อะไรเป็นบัญญัติ มิฉะนั้นก็พูดแต่ชื่อ ปรมัตถ์กับบัญญัติ บัญญัติเป็นสิ่งที่ไม่มีจริง ปรมัตถ์เป็นสิ่งที่มีจริง แล้วเมื่อไรจะรู้จักตัวปรมัตถ์ว่า เป็นสิ่งที่มีจริง

    เพราะฉะนั้น ใครจะพาไปไหนไกลๆ ตามไป หรือให้หามาสู่การเข้าใจถูก เห็นถูกในสิ่งที่มีจริงๆ และจะมีต่อไปอีกนานแสนนาน ถ้าไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้จริงๆ ประโยชน์อะไรกับการที่มีเห็น แล้วกี่ภพกี่ชาติก็ไม่รู้ว่าเป็นธรรม

    เพราะฉะนั้น ไม่อยากจะพาไปไหน แต่ฟังจนไม่สนใจสิ่งอื่น แล้วก็มีสิ่งที่กำลังปรากฏเฉพาะหน้าจริงๆ ไม่ห่างเหินจากสิ่งที่กำลังปรากฏเฉพาะหน้า เริ่มรู้ว่า สิ่งนี้ขณะนี้ที่ได้ฟังก็ยังไม่เข้าใจ แต่ฟังบ่อยๆ จะมีสิ่งอื่นไหม นอกจากสิ่งที่กำลังปรากฏเฉพาะหน้าบ่อยๆ ขึ้น ซึ่งลักษณะนี้ต่างกับลักษณะอื่น ทำให้สามารถรู้ว่า สิ่งนี้มีจริงๆ เพียงชั่วขณะที่เห็น และสิ่งอื่นที่ปรากฏแทรก เช่นเสียงก็มีจริงชั่วขณะที่เสียงนั้นปรากฏเท่านั้นเอง ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริงแต่ละขณะเท่านั้นเอง

    นี่คือความละเอียดหรือไม่

    ผู้ฟัง เป็นทั้งความละเอียด และท่านอาจารย์ก็จะพร่ำสอนอย่างนี้เสมอ แต่ ณ ขณะนี้ก็เข้าใจว่า การฟังเข้าใจเช่นนี้ก็สามารถเข้าใจกว่าฟังใหม่ๆ มากขึ้น แต่ก็ทราบอีกว่า ปัญญา และสังขารขันธ์ที่ฟังตรงนี้ก็ยังไม่มากพอที่จะน้อมระลึกตามได้ เสียงกำลังปรากฏกับจิตได้ยินขณะนี้ แล้วสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาก็ปรากฏกับจิตเห็น แต่จากการฟังก็เชื่อว่า เมื่อมีสัญญาที่มั่นคงเพียงพอก็สามารถเข้าใจ และรู้ตามได้ เมื่อปัญญามีกำลังมากพอ

    ท่านอาจารย์ และสิ่งนี้ตรงกับการพิสูจน์ และสามารถเข้าใจทีละเล็กทีละน้อยได้หรือไม่ ได้ ต่อเมื่อคุ้นเคยขึ้น เดี๋ยวนี้เริ่มคุ้นบ้างหรือไม่

    ผู้ฟัง เมื่อฟังมากขึ้น ก็คุ้นมากขึ้น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เห็นความยากว่า กว่าปัญญาจะเจริญ เพราะอวิชชาสะสมมานับไม่ถ้วน ประมาณไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ก็ต้องมากเท่านั้นถึงสามารถรู้จริงๆ อย่างนั้นได้ ที่อวิชชาเกิดขณะเห็น ขณะได้ยิน ไม่เห็นสงสัยว่ามากแค่ไหน พอถึงปัญญาเหมือนขณะที่อวิชชาเกิดหรือไม่ ไม่เท่าเลย เพราะฉะนั้น กว่าจะรู้ได้จริงๆ ก็ต้องประมาณนั้น

    ผู้ฟัง ขณะที่สติระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง มโนทวารวิถีจิตรู้ปรมัตถ์ใช่หรือไม่

    อ.วิชัย ขณะนั้นรู้อะไรไหม ที่เรียกว่าปรมัตถ์หรือธรรมที่ปรากฏในขณะนั้น คืออะไร


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 173
    13 ม.ค. 2567