พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 579


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๗๙

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๒


    ท่านอาจารย์ กรุณาตอบ ท่านที่เคยถามว่า ฟังมาตั้งนานแล้วสติไม่เกิด ฟังเพื่ออะไร ฟังเพื่อให้สติเกิด หวังว่าฟังแล้วสติจะเกิด แต่เข้าใจสิ่งที่กำลังฟังหรือไม่ ทุกคำ แต่ละคำที่เป็นความลึกซึ้ง แม้แต่เพียงคำว่า “ฟัง” เมื่อสักครู่นี้ฟังมาก หลายนาที เข้าใจกี่คำ หนึ่งแล้ วกำลังฟังคิดเรื่องอะไรหรือไม่

    เพราะฉะนั้น ฟังพระธรรมด้วยความเคารพ แสดงว่าเห็นคุณค่าของแต่ละคำ จาก ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เป็นแต่ละหนึ่งคำ ซึ่งต้องเข้าใจจริงๆ ไม่ใช่ข้ามไปแล้วเข้าใจเรื่องราว แล้วสนใจเรื่องราว แต่ประโยชน์ที่ได้รับจากการฟังพระธรรมจริงๆ จะเห็นได้ว่า หลายคนฟังมานาน แต่เหมือนเดิม โกรธ โกรธ โกรธ โกรธเป็นปีๆ บางคนไม่อยากได้ยินประโยคนี้ แต่มีผู้โกรธ แล้วก็โกรธ แต่ก็ฟัง สังขารขันธ์ก็ปรุงแต่งจนกระทั่งขณะใดที่สามารถเข้าใจธรรม การเปลี่ยนแปลงคือเห็นโทษของตัวเองที่โกรธคนอื่น ไม่ใช่เห็นโทษคนที่ทำให้เราโกรธ สิ่งนี้ต่างกันแล้ว ประโยชน์ของการฟัง

    เพราะฉะนั้น จะไม่สามารถรู้ว่า การที่เราสามารถได้ยินแต่ละคำแล้วค่อยๆ เข้าใจขึ้น หวังให้สติปัฏฐานเกิด หรือแม้แต่เพียงสิ่งที่หมักหมมมาเนิ่นนานมากมาย อย่างที่กล่าวเมื่อสักครู่นี้ว่า ไหลมาง่ายเหลือเกิน ต้องมีเหตุ ถ้าไม่มีมากจนกระทั่งล้น ทันทีที่เห็นจะเกิดอกุศลทันทีได้ไหม พร้อมที่จะออกมาทันที ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือทางใจ

    เพราะฉะนั้น ถ้าย้อนกลับ ใครก็ตามที่เปลี่ยนจากเดิม เพราะเข้าใจธรรมใช่ไหม ไม่ใช่เหตุอื่นเลย ฟัง แล้วก็ฟังเป็นปีๆ ยังไม่เปลี่ยน ความเข้าใจธรรมมากพอที่จะทำให้กุศลจิตเกิดแทนอกุศลหรือไม่ นี่คือประโยชน์ที่ได้รับจากการฟัง ไม่ใช่ไปหวังว่า เมื่อไรสติปัฏฐานจะเกิด โดยไม่รู้ว่า สังขารขันธ์ปรุงแต่ง โดยที่ใครก็กะเกณฑ์ไม่ได้ว่า วันนี้ให้เข้าใจแค่นี้ หรือวันต่อไปจะให้เข้าใจเพิ่มอีกมาก หรือสติปัฏฐานจะเกิดเมื่อไร ถ้ารู้ความเป็นอนัตตาของธรรม จะไม่มีปัญหาเหล่านี้

    เพราะฉะนั้น แต่ละคำละเอียด แม้แต่การฟัง ในขณะที่ฟัง ฟังด้วยความเคารพ ต่างกับขณะที่ฟังด้วยความไม่เคารพ เพราะเห็นประโยชน์จริงๆ ของการเข้าใจธรรมที่ได้ฟังซ้ำแล้วซ้ำอีก เพิ่มขึ้นจนสามารถเข้าใจสภาพธรรมที่ได้ยินได้ฟัง และกำลังปรากฏในขณะนี้ได้ นี้ก็เป็นสิ่งที่ต่างกัน แต่ถ้าจะไปหวังว่า แล้วเมื่อไรสติปัฏฐานจะเกิด ก็คือว่า ขณะนั้นไม่ได้ฟังเพื่อเข้าใจธรรมที่กำลังได้ฟัง

    เมื่อวานนี้ทำอะไรบ้าง หรือเมื่อวานมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ทุกคนพร้อมจะตอบใช่ไหม แต่ต่างคนต่างใจ ต่างคนต่างคิด เพราะฉะนั้น ขอฟังว่า เมื่อวานนี้จิตประเภทไหนเกิดบ้าง ทำกิจอะไรบ้าง อายตนะมีไหม และขันธ์มีหรือไม่

    นี่คือเรื่องธรรมจริงๆ กำลังฟังธรรมต้องเป็นผู้ละเอียด ที่จะรู้ว่า ขณะนี้มีธรรมแน่นอน และเราก็ฟังเพื่อให้เข้าใจว่า เป็นธรรมจริงๆ ไม่ใช่เรา เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วดับไปเร็วมาก แต่เรื่องยังอยู่ เรื่องของสิ่งที่ปรากฏให้เห็นทางตา ขณะนี้ก็มี เรื่องของเสียงที่ได้ยินทางหู อ่านหนังสือพิมพ์บ้าง ฟังวิทยุบ้าง ดูโทรทัศน์บ้าง เรื่องทั้งหมดเลย โดยไม่มีใครกล่าวถึงเรื่องจิต และเจตสิก จำนวนเท่าไรที่เมื่อวานนี้ที่จิต และเจตสิกเกิดแล้วดับไป

    ศึกษาธรรมใช่ไหม คือ ศึกษาเรื่องจิต เจตสิก รูป แล้วไปจำเป็นเรื่องทั้งวัน โดยที่ว่า ตอนเช้าก็ฟังธรรม ตอนบ่ายก็ฟังธรรม ตอนเย็นก็ประชุมวิชาการเรื่องธรรมอีก แต่ว่าจิตอะไรบ้างที่เกิดดับ เป็นขันธ์หรือไม่ เป็นอายตนะหรือไม่ เมื่อวานนี้มีอายตนะหรือไม่ มี เดี๋ยวนี้มีหรือไม่ มี กี่ทาง

    ผู้ฟัง ๖ ทาง

    ท่านอาจารย์ แล้วเรื่องมีมากกว่าใช่ไหม

    ผู้ฟัง ค่ะ

    ท่านอาจารย์ ไม่มีการคิดถึงจิต เจตสิก รูป อายตนะ ขันธ์ ธาตุ ตามที่ได้ยินได้ฟัง ด้วยเหตุนี้ความละเอียดก็คือว่า ประโยชน์ที่จะได้รับจากการฟังพระธรรม หวังอะไร จะหวังสติสัมปชัญญะ จะหวังสติปัฏฐาน จะหวังการเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏว่า ไม่ใช่เรา และเกิดดับ หรือเพียงแต่ชีวิตที่เป็นไปในวันหนึ่งๆ ก็ไม่มีจิต เจตสิกในใจเลย ทั้งๆ ที่กำลังปรากฏ ทั้งๆ ที่กำลังเกิดดับ ทั้งๆ ที่กำลังทำกิจหน้าที่การงานทั้งหมด แล้วเมื่อไรจะสิ้นสุดความเป็นตัวเรา เพราะมีความเห็นที่ถูกต้อง ตั้งแต่เริ่มฟัง เริ่มเข้าใจว่า ประโยชน์คือการได้เข้าใจจนถึงวันหนึ่งซึ่งสามารถดับความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้ ก่อนที่กิเลสใดๆ จะละได้ จะต้องมีความเห็นถูกในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    นี่เป็นความลึกซึ้งของธรรมหรือไม่ ฟังแล้วไปคิดเรื่องอื่น แต่ชีวิตประจำวันก็เป็นความลึกซึ้ง ศึกษาเรื่องเจตสิก ๕๒ ประเภท แต่ละเจตสิกต่างกัน ทรงแสดงให้เห็นความต่างแม้ของเจตสิกที่ใกล้เคียงกันมาก โดยที่เจตสิกแต่ละลักษณะไม่ใช่อย่างเดียวกัน เพราะว่าเจตสิกใดเกิดขึ้นเป็นเจตสิกนั้นจะมีลักษณะเป็นเจตสิกอื่นไม่ได้เลย และมีกิจการงานเฉพาะเจตสิกนั้นๆ ด้วย และมีการปรากฏ และเหตุใกล้ เพื่อแสดงให้เห็นความไม่ใช่เรา ยิ่งศึกษาก็ควรเข้าใจด้วยความเคารพในแต่ละคำที่ได้ยิน ซึ่งจะทำให้ปัญญา ความเห็นถูกต้อง เจริญจนถึงกาลที่กุศลจิตเกิดมากขึ้นๆ มากขึ้น การเข้าใจธรรมก็มากขึ้น แล้วละความหวัง ไม่ต้องคิดเรื่องสติปัฏฐาน ไม่ต้องไปคิดเรื่องการปฏิบัติ ไม่ต้องไปคิดเรื่องอื่นทั้งสิ้น แต่สภาพธรรมกำลังปรากฏ ยากไหมที่จะเห็นธรรมว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา เพราะในขณะที่ฟัง ถ้าฟังด้วยความเคารพ เข้าใจ แต่ขณะที่ฟังคิดเรื่องอื่น เตรียมถามเรื่องอื่น มีเรื่องอื่นที่ต้องคิด ขณะนั้นเข้าใจสิ่งที่กำลังได้ยินหรือไม่ ได้ยินต้องได้ยินแน่นอน แต่ผ่านไป เพราะกำลังคิดเรื่องอื่น

    เพราะฉะนั้น แม้แต่การฟัง ฟังจริงๆ ก็ต้องรู้ประโยชน์ว่า ฟังด้วยความเคารพที่จะฟังสิ่งที่กำลังปรากฏให้เข้าใจขึ้น จนกว่าจะเริ่มเข้าใจขึ้น

    เพราะฉะนั้น การที่จะกล่าวถึงความลึกซึ้งของธรรม ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะได้ยินเจตสิกใดก็ตามที่ได้ยินบ่อยๆ และชอบพูดกันนักหนาก็คือ มนสิการเจตสิก มีใครไม่เคยได้ยินคำนี้บ้างไหม มนสิการ บางคนก็เป็นชื่อภาษาไทยก็มี แต่ความจริงเป็นธรรมหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่จิต และไม่ใช่เจตสิกอื่น ขณะนี้เกิดหรือไม่ เจตสิกนั้นเกิดหรือไม่ กำลังทำกิจการงานหรือไม่ ทำอยู่ รู้ไหมว่าเป็นมนสิการเจตสิก ไม่รู้ แต่เรียกบ่อยๆ หรือไม่ โยนิโสมนสิการกับอโยนิโสมนสิการ ใช่ไหม แล้วทำไมเรียก

    ผู้ฟัง เรียกเพราะเคยได้ยิน

    ท่านอาจารย์ แล้วเข้าใจหรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ถ้าเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมนั้น จะต้องเรียกชื่อนั้นหรือไม่ เพราะขณะนี้เจตสิกนั้นต้องเกิดกับจิตทุกประเภท เกิดดับพร้อมจิต แล้วทำกิจการงานหน้าที่ของตน ไม่ก้าวก่าย จะไปทำหน้าที่ของเจตสิกอื่นก็ไม่ได้ จิต และเจตสิกเคยหยุดบ้างไหม เกิดแล้วดับก็จริง แต่ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้จิต และเจตสิกต่อไปเกิดขึ้นไม่จบ ถึงหลับก็มีจิต และเจตสิกเกิด จนถึงกาลที่กรรมใดจะให้ผล เพราะฉะนั้น กำลงเห็นขณะนี้ ได้ยินเรื่องกรรม และได้ยินด้วยว่าขณะที่เห็นเป็นผลของกรรม เพราะว่าผลของกรรม ทางตาคือเห็น ทางหูคือได้ยิน ทางจมูกคือได้กลิ่น ทางลิ้นคือลิ้มรส ทางกายคือรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ผ่านไป ย้อนคิดถึงกรรมหรือไม่ ถ้าไม่มีกรรมที่ได้กระทำแล้ว จิตเห็นขณะนี้เกิดไม่ได้ จิตได้ยินขณะนี้ก็เกิดไม่ได้ ใครทำได้ไหม ใครสามารถทำจิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตคิดนึก ทั้งวันเมื่อวานนี้ที่ดับไปหมด แล้วก็พูดถึงเรื่องราว โดยไม่รู้ว่า วันที่ผ่านไป มีจิตประเภทไหนเกิดดับบ้าง

    นี่คือการศึกษาธรรมโดยไม่ละเอียด คือเพียงแต่ฟังชื่อ แล้วก็จำชื่อ แต่ไม่ได้รู้ว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา

    เพราะฉะนั้น คำที่ได้ยินบ่อยๆ คือ มนสิการ บางคนพอฟังธรรมแล้วไม่พูดภาษาไทย โยนิโสมนสิการ หรืออโยนิโสมนสิการ แล้วก็พูดเรื่องโยนิโสมนสิการกับอโยนิโสมนสิการทุกที ไม่พูดคำอื่นเลยตามความเป็นจริง

    ขณะนี้ ลองนะคะ ที่เคยใช้กัน โยนิโสมนสิการหรือเปล่า เห็นไหมคะ พูดได้ แต่เข้าใจไหมว่า ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ไม่มีใครบังคับบัญชาได้ ต้องเป็นไปตามปัจจัยคือเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ขณะที่เข้าใจธรรม หรือมนสิการเจตสิก ซึ่งใช้คำบ่อยๆ ว่า โยนิโสมนสิการ ขณะนั้นพิจารณาตามแล้วเริ่มเข้าใจความลึกซึ้งของธรรม ที่แม้ขณะนี้มี กำลังเกิดดับจริงๆ กว่าจะถึงกาลที่สามารถรู้ได้

    นี้แสดงให้เห็นว่า แม้แต่จะเข้าใจว่าขณะนี้เป็นผลของกรรม ก็ไม่ได้ย้อนคิดถึงตัวเองว่า ต้องมีกรรมแน่นอน จึงมีสิ่งที่ปรากฏขณะนี้ได้ เพราะผลของกรรมคือจิตเห็นต้องเกิดขึ้น

    หลายท่านอาจจะมีความคิดหลายอย่างเมื่อวานนี้ เป็นไปตามความคิดหรือไม่ หรือคิดแล้วก็ไม่เป็นไปตามความคิด คิดว่าจะมามูลนิธิ มาไม่ได้ ไม่ได้มา เป็นไปได้ไหม ก็เป็นไปได้ เพราะฉะนั้นเป็นเราหรือไม่ ขณะที่ผ่านไปแล้วเราพอจะระลึกได้ แม้จะไม่รู้ว่าเป็นจิต และเจตสิกประเภทใด แต่ก็จำเรื่องราวได้ แต่ต้องมีจิต และเจตสิกเกิดดับแน่นอน มิฉะนั้นเรื่องราวต่างๆ ก็มีไม่ได้ รู้เฉพาะเมื่อวานที่ผ่านไปแล้ว เพราะเกิดแล้ว และสิ่งที่ยังไม่มาถึง คิดเรื่องนั้นได้ แต่ว่าไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นสักขณะจิตเดียว มีใครรู้บ้างว่า ขณะต่อไปจะเห็น หรือจะคิด หรือจะรู้แข็ง หรือกำลังคอแห้ง อะไรอย่างนี้ นี่ก็เป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งไม่มีใครสามารถรู้ได้ บางคนก็บอกว่า ข้างหน้านี้ใครก็รู้ไม่ได้ เพราะยังไม่มาถึง แต่ข้างหน้านั้นถ้าย่อลงมาอีก จิตอะไรจะเกิด ต้องมีจิตเกิดแน่นอน ถึงจะมีข้างหน้าได้ ใช่ไหม แต่ข้างหน้าจิตอะไรจะเกิด จะเป็นโยนิโสมนสิการหรืออโยนิโสมนสิการก็ไม่รู้

    เพราะฉะนั้น มีใครที่กล่าวถึงกิเลส และอกุศลว่า เหมือนหลับกับมืด ความมืดคืออวิชชา ไม่สามารถจะเข้าใจถูกว่า ขณะนี้เป็นธรรม มีจริงๆ ถ้าไม่มีธรรม จะไม่มีอะไรทั้งสิ้น แต่เพราะมีธรรมนั่นเอง และธรรมก็มี ๒ อย่าง คือ สภาพหนึ่งไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย อย่างเมื่อสักครู่นี้พูดถึงปสาทรูป ปสาทรูป จักขุปสาทอยู่กลางตา ขึ้นชื่อว่า รูป เป็นรูป เห็นอะไรไม่ได้ คิดอะไรไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้ เพราะเหตุว่าไม่ใช่รูป ต้องเป็นสภาพรู้ คือจิต และเจตสิกซึ่งเกิด สิ่งต่างๆ จึงจะปรากฏว่า ขณะนี้เป็นอย่างนี้ กำลังมีอย่างนี้ให้เห็น

    เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรม ไม่ประมาทในการฟังให้เข้าใจ และในการรู้ความลึกซึ้งของธรรม แม้ฟังจำชื่อได้ แต่ขณะนี้ก็เป็นธรรมที่ไม่มีใครรู้จัก นอกจากสติสัมปชัญญะ และปัญญาซึ่งเกิดจากการฟังเข้าใจขึ้น

    เพราะฉะนั้น ที่เคยคิดเคยหวังว่า แล้วเมื่อไรสติปัฏฐานจะเกิด ขณะนั้นเป็นโลภะ เป็นอริยสัจจะที่ ๒ สมุทยอริยสัจจะ ซึ่งต้องละ ถ้าไม่ละ จะไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งสามารถดับกิเลสได้ คือ อริยสัจจะที่ ๓ นิพพานเป็นอริยสัจจะที่ ๓ จะใช้อีกคำหนึ่งก็ได้ ทุกขนิโรธ หมายความถึงดับทุกข์ ถ้าเปลี่ยนคำ โลกนิโรธ ได้ไหม เห็นหรือไม่ การศึกษาธรรมเพื่อเข้าใจ หรือเพื่อจำคำ หรือเพื่อรู้ว่า คำนี้หมายความว่าอย่างไร โดยที่ไม่เข้าใจความจริง

    ถ้าไม่ใช้คำว่า ทุกขนิโรธ ใช้คำว่า โลกนิโรธ ได้หรือไม่ ข้อความนี้มีในพระไตรปิฎก ซึ่งแน่นอนถ้าเป็นความถูกต้องแล้ว จะเปลี่ยนได้อย่างไร

    ด้วยเหตุนี้เมื่อทุกข์ก็เป็นโลก คือสภาพธรรมที่เกิดดับ และนิพพานก็เป็นธาตุที่ต่างกับโลกทั้งหมด คือไม่มีปัจจัยทำให้เกิดได้ เพียงได้ยินคำว่า “นิพพาน” เหมือนได้ยินคำหนึ่งซึ่งเราไม่รู้จักหรือไม่ เพียงได้ยินคำว่า นิพพาน เหมือนได้ยินคำหนึ่งซึ่งเราไม่รู้จักหรือไม่

    เห็นหรือไม่ ฟังธรรม ไม่ใช่ตาม แต่คิด และพิจารณาจนเป็นความเข้าใจของเราเอง ได้ยินคำว่า “นิพพาน” เหมือนคำหนึ่งที่ไม่รู้จักหรือไม่ คนไทยหรือคนที่รู้ภาษาบาลีจะชินกับคำว่า “นิพพาน” แต่ถ้าเป็น “นิรวานะ” เป็นอีกคำหนึ่งแล้ว เหมือนกันหรือไม่ เป็นชื่อ แต่ถึงจะชื่อนิพพาน นิรวานะ ซึ่งต่างกันตรงภาษา ภาษาบาลีก็ตรง นิพพานัง แล้วนิรวานะ ไม่ใช่ภาษาบาลี ถูกต้องไหม และนิพพานก็เป็นภาษาไทย ก็เป็นชื่อ ๓ ชื่อ แล้วเราจะชินหูคำไหน เราบอกว่า นิพพาน เราเคยได้ยิน แล้วนิรวานะมาจากไหน เป็นอะไรก็ไม่รู้

    เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้ว ไม่ว่าจะเรียกว่า นิพพาน เรียกว่า นิรวานะ รู้จักหรือไม่ ไม่รู้จัก ได้ยินแต่ชื่อ แล้วก็มีคำอธิบายเหมือนจะให้รู้จัก แต่ว่า ถ้ามีจริงอยู่ที่ไหน นิพพานมีจริงหรือไม่ ฟังมาตั้งแต่เล็ก อริยสัจ ๔ ทุกขนิโรธสัจจะ ได้แก่นิโรธ คือ นิพพาน ดับทุกข์ด้วย ดับโลกด้วย ดับทุกอย่างด้วย แล้วอยู่ที่ไหน ไปหาทั่วโลก จะเจอไหม ที่กรุงเทพมีไหมคะ บางคนก็บอกว่า จะหาธรรมต้องไปหาที่หิมพานต์ คือว่าไม่ใช่ที่นี่หรือที่ไหน นั่นคือมีความคิดเป็นของตัวเอง จริงๆ แล้วจะไปหานิพพานที่ไหน สวรรค์ ถ้าเกิดที่สวรรค์ จะรู้จักนิพพานไหม จะไปเจอนิพพานบนสวรรค์หรือไม่ ถ้ากุศลมีมากขึ้น สงบมากขึ้นถึงรูปฌาน เกิดเป็นพรหมในพรหมโลก ไปหานิพพาน ไปเจอนิพพานที่พรหมโลกได้ไหม นิพพานอยู่ที่พรหมโลกหรือไม่ ถ้ากุศลมากกว่านั้นอีก ไม่เยื่อใยหรือไม่ติดในรูป ถึงความสงบขั้นที่ไม่สนใจจะมีรูปเป็นอารมณ์ ถึงอรูปฌานกุศล ถ้าไม่เสื่อม เวลาที่จากโลกนี้ไป เวลาใกล้จะจุติ จิตระดับนั้นเกิด เป็นปัจจัยให้อรูปาวจรวิบากเกิด ปฏิสนธิเป็นอรูปพรหม คิดดูนะคะ ทุกคนกำลังมีรูปขณะนี้ ที่นั่นไม่มีรูปใดๆ ทั้งสิ้น แต่ยังต้องเกิด แล้วจะไปหานิพพานที่อรูปพรหมได้ไหม ไปหานิพพานที่ไหนดี ก็มีจริงไม่ใช่หรือ แล้วไปหาที่ไหน มีจริง แต่หาไม่เจอ ใช่ไหม เพราะเหตุว่านิพพานไม่ได้เกิดขึ้นเป็นโลก ให้ใครสามารถเห็น หรือกระทบสัมผัสได้ เป็นธาตุที่มีจริงซึ่งต่างกับจิต เจตสิก รูป คือไม่เกิด

    นี่คือการศึกษาธรรม แล้วปัญญาของเราขณะฟังอย่างนี้ แล้วจะมีสติปัฏฐาน จะไปรู้ลักษณะของสภาพธรรม ละคลายความติดข้องจนสามารถประจักษ์ลักษณะของนิพพานด้วยโลกุตตรปัญญาได้หรือไม่

    การฟังธรรมทำให้รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง เป็นสัจจะ เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจก็จะรู้ว่า ไม่ใช่สิ่งที่ใครจะไปเอื้อมถึง หรือเอาเท้าหยั่งลงอเวจีมหานรกได้ เพราะเหตุว่าธรรมเป็นสิ่งที่ลึกซึ้ง แต่ไม่ใช่จะพบได้ รู้ได้ เข้าใจได้เพียงด้วยอากัปกิริยาอาการต่างๆ แต่ต้องเป็นปัญญาที่เริ่มเห็นถูก เข้าใจถูกในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้น การพูดเรื่องสิ่งที่มีจริง โดยเฉพาะสิ่งที่กำลังปรากฏ จะทำให้ละความคิดที่ว่า จะรู้แจ้งสภาพธรรมวันนี้หรือเดี๋ยวนี้ ได้ไหม ได้หรือไม่ได้ ก็เป็นเรื่องที่คิดต่อไป ฟังต่อไป เห็นประโยชน์ต่อไป เพราะต้องเป็นปัญญาของตัวเอง

    ผู้ฟัง แล้วจริงๆ ฟังธรรมไม่ได้เข้าใจว่าเป็นจิต เจตสิก เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น แต่จะให้เข้าใจว่า เป็นจิต และเจตสิกที่เกิดขึ้น ตรงนี้เข้าใจได้ยาก

    ท่านอาจารย์ เป็นตัวตนที่หาทางเข้าใจธรรม ไม่ใช่โดยขั้นการฟัง แล้วเข้าใจสิ่งที่ได้ฟังทีละเล็กทีละน้อย จนสามารถเข้าใจขึ้นว่า เป็นธรรม

    ผู้ฟัง คือฟังให้เข้าใจว่า เป็นธรรม หมายถึงว่า

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้ที่กำลังฟัง เข้าใจหรือไม่ว่า เป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง กำลังมีจริงขณะนี้ด้วย

    ผู้ฟัง เข้าใจในขณะที่กำลังฟัง

    ท่านอาจารย์ แล้วความเข้าใจนั้นหายไปไหน ฟังบ่อยๆ เข้าใจขึ้นหรือไม่

    ผู้ฟัง เข้าใจขึ้น

    ท่านอาจารย์ จะมีวิธีอื่นหรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่มี แต่การเข้าถึงจิต เจตสิก ก็ต้อง

    ท่านอาจารย์ นี่อย่างไร มาแล้ว เข้าใจขึ้น ถ้ากล่าวคำนี้จริงๆ จะไม่มีคำว่า แล้วการที่จะเข้าถึง เห็นไหม เมื่อสักครู่นี้มีวิธีเดียวคือฟัง เข้าใจเพราะฟัง แต่การจะเข้าถึงหมายความว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง เมื่อสักครู่นี้ท่านอาจารย์ถามอาจารย์อรรณพว่า เมื่อวานนี้มีเรื่องอะไร อาจารย์อรรณพก็ตอบมาเป็นเรื่องราวทั้งหมด แต่ก็ไม่ได้คิดถึงจิต และเจตสิก คิดถึงเรื่องราว มีแต่เรื่องราวในชีวิตประจำวัน

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าปัญญายังไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังพูดถึงเดี๋ยวนี้ เพราะเพียงการฟังว่ามี จิตมีหรือไม่

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ นี่คือฟังแล้วรู้ว่า มีจิต มีคุณบุษกรหรือไม่

    ผู้ฟัง ตอบท่านอาจารย์ตรงๆ ว่า ยังมี

    ท่านอาจารย์ อะไรเป็นคุณบุษกร

    ผู้ฟัง ความคิด

    ท่านอาจารย์ แล้วความคิดเป็นคุณบุษกร หรือเป็นจิต

    ผู้ฟัง เป็นจิต

    ท่านอาจารย์ แล้วคุณบุษกรมีไหม

    ผู้ฟัง มีจิต

    ท่านอาจารย์ เพราะไม่รู้ความจริงของจิต จึงยึดถือจิตนั้นว่าเป็นเรา

    ผู้ฟัง การฟังธรรมให้เข้าใจขึ้นเรื่อยๆ ก็ต้องค่อยๆ ฟัง

    ท่านอาจารย์ เป็นปัญญาของเราเอง แต่ละคนค่อยๆ เข้าใจขึ้นทีละเล็กทีละน้อย


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 173
    13 ม.ค. 2567