พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 590


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๙๐

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๒


    ท่านอาจารย์ ก็เป็นความละเอียดของชีวิตจริงๆ ไม่ว่าจะอยู่ในโลกนี้ โลกไหน ไม่ว่าในนรก หรือสัตว์เดรัจฉาน เทวดา เป็นพรหม ก็ไม่พ้นจากการเป็นธรรม คือ เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม

    เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมเพื่อให้รู้ว่า เป็นธรรมซึ่งไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร เกิดแล้วเพราะมีปัจจัย ไฟเกิดเป็นไฟ ร้อนเพราะมีเหตุปัจจัย แข็งเกิดเป็นแข็งเพราะมีเหตุปัจจัย เกิดเป็นอย่างอื่นไม่ได้

    เพราะฉะนั้น จิต สภาพรู้หรือธาตุรู้เกิดแล้วต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏ อย่างเสียงปรากฏ ถ้าจิตไม่เกิดขึ้นได้ยิน แม้เสียงมีจริงก็ปรากฏไม่ได้

    นี่คือธรรมทั้งหมด เพราะฉะนั้น ศึกษาธรรมเพื่อให้เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงว่า เป็นธรรม เพราะว่าเราหลงยึดถือธรรมว่าเป็นเรานานมาก แสนโกฏิกัปป์ไม่ต้องคิดเลย แม้ได้ยินได้ฟังเราก็ไม่เคยรู้เลยว่า เราเคยได้ฟังเมื่อไร ที่ไหน จำได้ไหม เมื่อวานนี้จำได้หมดไหม เดือนก่อน ปีก่อน ชาติก่อน และ ๒,๕๐๐ กว่าปี จำได้ไหม ๒,๕๐๐ กว่าปี ขอทบทวนอีกครั้งหนึ่ง พระวิหารเชตวัน พระผู้มีพระภาคประทับที่พระวิหารเชตวัน แล้วก็ตรัสพระธรรมที่เราได้ยินได้ฟังอย่างนี้ แต่จากพระสุรเสียง ขณะนั้นก็เกิดแล้วดับแล้วทั้งหมด ไม่มีสภาพธรรมใดที่เกิดแล้วไม่ดับ แม้ว่าเสียงต่างๆ ที่เกิด ณ พระวิหารเชตะวันเมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปี หรือไม่ใช่แต่เฉพาะที่พระวิหารเชตวัน ที่มีเสียงเกิดขึ้นก็ดับไปๆ แต่ว่าธาตุรู้ที่ได้ยิน สามารถเห็นถูก เข้าใจถูกในเสียงที่ได้ยิน ๒,๕๐๐ กว่าปี ไม่ต้องถึงแสนโกฏิกัปป์ พระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ ก็เรื่องนี้ และเข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมากน้อยแค่ไหน ตามการสะสม

    เพราะฉะนั้น ถ้าเทียบความไม่รู้กับความรู้ ก็เห็นว่า บารมีหนึ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือความอดทน และความเพียร และความจริงใจที่จะรู้ความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ เพราะว่าทุกคนสุขทุกข์เพราะไม่รู้ เดี๋ยวสุข ก็ไม่รู้ว่าเพราะอะไร เดี๋ยวทุกข์ก็ไม่รู้เพราะอะไร และชีวิตก็มีทั้งสุข ทั้งทุกข์ เดี๋ยวก็มีอันตรายร้ายแรง เดี๋ยวก็มีความเพลิดเพลินอย่างมาก มาจากไหน ได้อย่างไร เพราะอะไร และไม่สิ้นสุดด้วย มีทางจะสิ้นสุดได้ไหม เห็นไหม มีปัญหาแล้ว และใครสนใจปัญหานี้บ้าง หรือว่าปล่อยไปเป็นอย่างนี้ ที่ใช้คำว่า “ปล่อย” ทุกคนจะพูดคำว่า “ปล่อย” ถ้ารู้ว่าเป็นอนัตตา ก็ปล่อย ใครจะไปทำอะไรได้ ปล่อยด้วยความรู้ว่า เป็นอนัตตา หรือปล่อยเพราะเป็นเรา และไม่รู้ว่าเป็นอนัตตา แม้แต่ความคิดก็ต่าง

    เพราะฉะนั้น เป็นผู้ไม่ละเอียดไม่ได้ในการเข้าใจธรรมที่เหมือนปกติธรรมดา ไม่มีอะไร ฟังดูทุกคนก็รู้ว่า เห็นแล้วก็ไม่เห็น ไม่มีได้ยิน แล้วก็มีได้ยิน แล้วได้ยินก็หมดไป ก็ธรรมดา แล้วมีอะไรที่จะต้องรู้ นี่คือผู้ไม่รู้ แต่ถ้าเป็นผู้รู้ รู้ความจริง และขณะนี้ถอยไปเท่าไร ก็ยังต้องเป็นความจริงที่สามารถเข้าใจได้ถูกต้อง

    ด้วยเหตุนี้ไม่คิดเอง แต่ฟังแล้วไตร่ตรอง และเข้าใจคำที่ได้ยินโดยละเอียดทีละคำด้วย แม้แต่คำว่า “ธรรม” แม้แต่ธรรมที่ไม่รู้อะไรก็มี เพราะฉะนั้น จะเรียกธรรมที่ไม่รู้อะไรว่าอย่างไร พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติว่า รูปะ หรือ รูปธรรม หมายความถึงสภาพธรรมที่ไม่สามารถรู้อะไรได้ โดยสภาพของปรมัตถธรรม แต่โดยพยัญชนะ คำว่า รูป ก็ยังมีความหมายอย่างอื่นอีกด้วย นี่เป็นความละเอียดมาก แต่ว่าแก่นแท้ความหมายหนึ่งคือ สิ่งนั้นมีจริง แต่ไม่ใช่สภาพรู้

    เพราะฉะนั้น การเข้าใจอย่างนี้จะทำให้ไม่ลำบากที่จะต้องเป็นเราไปทำอะไร ใช่ไหม ทำไม่ได้ เข้าใจได้ ค่อยๆ เข้าใจขึ้น และก็รู้ว่า การสะสมจากแต่ละครั้งที่ได้ฟังธรรมจะสืบต่อ ไป จนกระทั่งเวลาได้ยินก็เข้าใจว่า ธรรมก็คือสิ่งที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ และจะเข้าใจมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับการสะสมที่จะเข้าใจมากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าสัจธรรม ไม่ใช่อื่น สิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้เท่านั้นที่เป็นสัจธรรมที่เกิดดับ จนกว่าจะถึงความเป็นอริยสัจธรรม

    ใครมีอุปสรรคอะไรอีกไหม

    ผู้ฟัง สมาธิกับที่เราต้องรู้ทุกขณะจิตนี้ นั้นเป็นเรื่องเดียวกันใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ทุกขณะจิตนี่เป็นไปไม่ได้

    ผู้ฟัง หมายความว่า ทุกขณะจิตที่เรามีลมหายใจ เรารู้ว่าเกิดอะไรขึ้น มีท่านอาจารย์นั่งอยู่ตรงนี้ มีผู้ฟังพระธรรมด้วย คือทุกเรื่องรอบกายเรา เรารู้ว่าเป็นเรื่องอะไร

    ท่านอาจารย์ เรา ยังไม่ใช่ธรรม เพราะฉะนั้น ทางที่จิต สภาพรู้จะเกิดขึ้น รู้สิ่งที่ปรากฏมี ๖ ทาง คือ ทางตา ๑ ทางหู ๑ ทางจมูก ๑ ทางลิ้น ๑ ทางกาย ๑ และทางใจที่คิดนึกด้วย รับรู้ทางตาแล้วไม่ทิ้งไป คืนนี้อาจจะฝัน เพราะเคยเห็น เพราะเคยได้ยิน แต่ความคิด ใครจะรู้ว่า ขณะต่อไปจะคิดอะไร เพียงแค่สั้นๆ อย่างนี้ยังไม่รู้ แล้วฝัน มาได้อย่างไร ก็ไม่พ้นจากทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และก็หมดแล้วด้วย

    ทุกคนเหมือนกับมีสิ่งที่ติดข้องต้องการ แล้วก็ยึดถือว่าเป็นเรา แต่ตามความเป็นจริงคือทุกอย่างที่เกิด ไม่เหลือ ดับแล้วไม่กลับมาอีก มีสมบัติมาก บางคนก็แสวงหา ติดข้อง อยากจะได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ อาจจะเป็นเสื้อสวยๆ หรืออะไรก็ได้ ถึงขณะสุดท้ายของชีวิต หามาทิ้งหรือไม่ เอาไปไม่ได้แน่ๆ จะหามามากมายสักเท่าไรก็ตาม ดิ้นรนขวนขวาย สุจริต ทุจริตอย่างไร ก็คืออยากจะได้ อยากจะได้แล้วก็ได้ แล้วก็ได้ แล้วก็ได้ แล้วก็ได้มาเพื่อทิ้ง

    เดี๋ยวนี้ก็เป็นอย่างนั้น แต่ยังไม่ปรากฏว่า สิ่งที่ได้หรือสิ่งที่ปรากฏนั้นดับ เพราะฉะนั้น ยังไม่สามารถละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ จนกว่าประจักษ์จริงๆ เมื่อความจริงเป็นอย่างนี้ และจะไม่รู้อย่างนี้หรือ จะไปรู้อะไรที่จริง ถ้าไม่ใช่ขณะนี้ที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า ถ้าไม่มีการเห็นโทษของการไม่รู้สภาพธรรม เพราะส่วนใหญ่จะเห็นโทษของโทสะ พอเกิดก็เมื่อไรจะไม่มีโทสะ ทำอย่างไรจะไม่มีโทสะ ถามแต่เรื่องจะไม่มีโทสะ ทั้งๆ ที่รู้ว่า เป็นไปไม่ได้ ถึงจะถามอย่างไร ใครบอกอย่างไร ตำรากี่เล่ม แต่ก็ไม่รู้ว่า โทสะเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ก็ไม่สามารถดับโทสะได้ แต่ว่าโทสะมาจากไหน ถ้าไม่มีความไม่รู้ว่า สิ่งที่ปรากฏจริงๆ เพียงเกิดปรากฏแล้วหมด ไม่กลับมาอีก

    เพราะฉะนั้น ปัญญาก็เริ่มจากการฟัง และเริ่มรู้จักพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก่อนฟัง รู้จักพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างนี้หรือไม่ว่า ตรัสรู้อะไร และทรงแสดงอะไร ด้วยพระมหากรุณาแค่ไหนที่จะให้ผู้ที่ไม่รู้ได้เริ่มรู้ และเข้าใจได้ถูกต้อง และสามารถดับกิเลสได้เช่นเดียวกับพระองค์ แต่ต้องเป็นผู้เห็นประโยชน์ ไม่ใช่เห็นประโยชน์ของโลภะ ตรงกันข้ามกับอโลภะ เพราะถ้าคิดจริงๆ ได้ ติด ต้องการ กับไม่ต้องการ ไม่ติดข้อง อะไรจะเป็นสุขกว่ากัน ไม่มีโลภะ ไม่มีความติดข้อง จะขวนขวายไหม ก็ไม่ต้องขวนขวาย หรือแม้แต่ความจริงขณะนี้ยังมีโลภะอยู่ แต่ก็รู้ว่า สิ่งที่ได้มาไม่ใช่ได้มาเพราะพอใจแล้วอยากจะได้ แต่ต้องได้มาเพราะเหตุที่ดี กุศลกรรมเป็นเหตุปัจจัยให้เห็นดี ได้ยินสิ่งที่ดี ได้กลิ่นที่ดี รู้รสที่ดี รู้สิ่งกระทบสัมผัสที่ดี เพราะว่าเงินซื้อไม่ได้ มีเงินมากๆ ไปอยู่เกาะ จะซื้ออะไรดี ของดีๆ ได้ไหม ไม่มีอะไร ก็มีแค่นั้น

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะเหตุว่าไม่รู้ว่าไม่ใช่เรา เมื่อมีความติดข้องก็มีความต้องการ ไม่จบ และไม่หมดด้วย ชาติก่อนคงต้องการไว้เยอะใช่ไหม มีผู้เป็นที่รักก็มาก เดี๋ยวนี้อยู่ไหน รู้จักเขาหรือไม่ อาจจะเป็นคนที่นั่งอยู่ตรงนี้ก็ได้ ใครจะรู้ ในสังสารวัฏ ในแสนโกฏิกัปป์

    เพราะฉะนั้น ก็แสดงว่า ความไม่รู้ก็จะไม่รู้ไปเรื่อยๆ แต่ความจริงก็ทำให้คลายไม่รู้ เพราะฉะนั้น ก็ทำให้คลายความติดข้องที่เป็นเหตุให้เกิดอกุศลทั้งหลายด้วย

    แล้วฟังธรรมต้องการอะไร เมื่อสักครู่นี้ใครตอบ จำได้ไหม ก่อนเข้าใจ ฟังเพื่อต้องการอะไร อยากจะรู้ธรรมที่กำลังเกิดดับเดี๋ยวนี้ ใช่ไหม เมื่อไรจะรู้ ใครตอบได้ เมื่อเหตุสมควรแก่ผล เมื่อปัญญาค่อยๆ เข้าใจขึ้น เพียงเข้าใจแค่นี้ไม่มีทางประจักษ์การเกิดับของสภาพธรรมได้

    ผู้ฟัง ในชีวิตประจำวัน ถ้ายังไม่รู้จัก และเข้าใจลักษณะในขั้นของการฟังว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาต่างกับความคิดนึกอย่างไร จะมีโอกาสเข้าใจตัวจริงของรูปธรรม และนามธรรมหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ทำไมเฉพาะทางตา

    ผู้ฟัง ก็ทุกทาง

    ท่านอาจารย์ ก็จบ ใช่ไหม ก็ฟังไปจนกว่าจะค่อยๆ เข้าใจสิ่งที่ปรากฏทีละทาง

    ผู้ฟัง ต่อเนื่องจากที่ผู้ถามอาจารย์ถึงอนัตตา ท่านอาจารย์กล่าวว่า ปล่อยด้วยความเข้าใจ และความไม่เข้าใจก็ปล่อย ตรงนี้ปล่อยด้วยความเข้าใจ อย่างไรถึงจะเรียกว่า ปล่อยด้วยความเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ เคยได้ยินไหม พอได้ฟังว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา คนอื่นก็บอกว่า อย่างนั้นก็ไม่ต้องทำอะไร เป็นธรรม ใครจะทำอะไรได้ ที่พูดอย่างนี้ เข้าใจอนัตตาจริงๆ หรือไม่

    ผู้ฟัง ยังไม่ได้เข้าใจจริงๆ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น อะไรปล่อย ตัวตน และเป็นไปได้ไหม

    ผู้ฟัง เป็นไปได้ ถ้าไม่เข้าใจก็ต้องเป็นตัวตนที่ปล่อย

    ท่านอาจารย์ แต่ผู้ที่ละวางความติดข้องเพราะรู้ความจริง ขณะนี้ทำเห็นได้หรือไม่

    ผู้ฟัง ทำไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ทำคิดนึกได้หรือไม่

    ผู้ฟัง ทำไม่ได้

    ท่านอาจารย์ แล้วจะทำหรือไม่

    ผู้ฟัง ทำไม่ได้ก็ทำไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ถ้าเข้าใจจริงๆ ก็คือว่า ใครจะไปทำอะไร ในเมื่อไม่มีใคร แต่ว่ามีธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย นี่คือเข้าใจ แต่คนไม่เข้าใจก็ปล่อยด้วยความไม่เข้าใจ ใช่ไหม ทุกอย่างเป็นอนัตตา แค่กล่าวนี่ก็ปล่อยแล้ว เพราะไม่เข้าใจความหมายของคำว่า ธรรม และอนัตตา

    อ.คำปั่น สำหรับในช่วงแรก ก็คือ อะไรเป็นมิตรติดตามไปถึงภพหน้า ซึ่งคำตอบที่พระผู้มีพระภาคตรัสตอบก็คือ บุญที่ตนทำเองเป็นมิตรติดตามไปถึงภพหน้า ขอกราบเรียนถามท่านอาจารย์ในประเด็นนี้

    ท่านอาจารย์ พระสูตรนี้กล่าวถึงเรื่องมิตร ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตด้วย เพราะเหตุว่าคนเราเกิดมาแล้วต้องมีความเป็นอยู่ มีความเป็นไปร่วมกันกับคนอื่นด้วย มีใครที่อยู่ตามลำพังคนเดียว โดยไม่มีใครเป็นเพื่อน หรือไม่คบใคร หรือไม่เห็นใครเลย นั่นก็เป็นสิ่งที่ยาก แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ คนที่เรียกว่าเป็นมิตร หรือสำคัญว่าเป็นมิตร หรือใช้คำว่า “มิตร” เป็นอย่างไร เพราะเหตุว่าการที่เราพบใคร แล้วก็เพียงพบเฉยๆ ผ่านกันไป แล้วไม่มีอะไรที่ทำร่วมกัน คนนั้นก็ไม่ใช่มิตร เป็นแต่เพียงคนที่เห็นกัน แล้วก็ผ่านกันไป แต่ว่ามิตรจริงๆ ก็มี และความหมายของ “มิตร” ก็คือความเป็นเพื่อน ความเมตตา ความหวังดี ความประพฤติเป็นประโยชน์พร้อมที่จะเกื้อกูล นี่คือลักษณะของมิตร

    เพราะฉะนั้น เพียงเห็นกัน จะรู้ได้ไหมว่าเป็นมิตรหรือไม่ เพราะฉะนั้น ก็ยากที่จะรู้ว่า ใครเป็นมิตร และใครไม่ใช่มิตร ด้วยเหตุนี้จึงมีการกล่าวถึงมิตร ซึ่งเทวดาได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคถึงความหมายของคำว่า “มิตร” ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางหรือที่ไหนก็ตามแต่

    นี่แสดงให้เห็นว่าความสำคัญที่จะต้องเข้าใจความหมายของ “มิตร” จริงๆ เพื่อตนเองจะได้รู้จักตัวเองตามความเป็นจริงว่า เป็นมิตรกับใครจริงๆ หรือไม่ หรือเป็นเพียงคนที่ต้องการประโยชน์จากมิตร โดยที่ตัวเองไม่ได้เป็นมิตรกับคนนั้น

    นี่ก็เป็นสิ่งที่สำคัญมาก และมิตรจริงๆ อยู่ที่ไหน ก็ต้องอยู่ที่ใจ สิ่งที่ไม่มีจิตใจอย่างเกวียน โค เกวียนไม่มีจิตใจแน่ เป็นมิตรกับใครได้ไหม ไม่ได้ โคมีจิตใจแล้วจะเป็นมิตรกับใครหรือไม่ โคมีความสามารถรู้จักคน หรือจะช่วยเหลือกิจการงานต่างๆ ได้แค่ไหน

    เพราะฉะนั้น ในพระสูตรนี้จึงมีอรรถกถาที่แสดงว่า ที่กล่าวว่าเกวียน โค ก็หมายถึงคนที่เดินทางร่วมกันไปโดยอาศัยเกวียน และโค แสดงว่าขณะที่เดินทางไปมีความหวังดีต่อกัน เป็นมิตรต่อกัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่หรือว่าหวังร้ายต่อกัน หรือขุ่นเคืองใจต่อกัน

    นี้แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าจะอยู่ ณ สถานที่ใด ในบ้านหรือนอกบ้าน หรือกำลังเดินทาง ก็จะรู้ว่า มิตรจริงๆ เป็นอย่างไร ถ้าไม่ฟังธรรม สามารถจะบอกได้ไหมว่า มิตร เพราะคนนี้ก็มีเพื่อนเยอะ ไปไหนก็ไปด้วยกันมากมายหลายคน แต่ว่ามิตรต้องหมายถึงผู้ที่หวังดี ไม่เป็นศัตรู ไม่ทำร้าย และพร้อมทำประโยชน์เกื้อกูล

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นเวลาไปออกกำลังกาย แล้วพูดคุยกันสนุกสนาน แล้วเราก็คิดว่า เราเป็นเพื่อน เป็นมิตรกับเขา แต่ฟังที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า แสดงว่าเราไม่ได้เป็นมิตรกับเขาจริงๆ

    ท่านอาจารย์ เราไม่รู้จักใจคนอื่นว่า คนที่เห็นกันเป็นมิตรกับเราหรือไม่ แต่เราสามารถรู้ใจของเราได้ ไม่หวังร้ายต่อใคร พร้อมที่จะเป็นประโยชน์เกื้อกูล ขณะนั้นเป็นมิตร

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นความติดข้อง ผูกพันที่อยากจะพบ พูดคุย ขณะนั้นก็ไม่ใช่ความเป็นมิตร

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ศึกษาละเอียดเพื่อรู้สภาพของจิตที่เกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็ว จิตที่เป็นกุศลต้องเป็นกุศล จิตที่เป็นอกุศลก็ต้องเป็นอกุศล มีใครบ้างที่ไม่มีอกุศล มีใครบ้างที่จิตไม่เป็นอกุศล ตราบใดที่ยังมีอวิชชา มีความไม่รู้อยู่ ก็มีอกุศลประเภทโลภะบ้าง โทสะบ้าง แต่ก็มีการสะสมของกุศลธรรมบ้าง ไม่ใช่มีแต่อกุศลธรรม

    เพราะฉะนั้น การจะกล่าวว่า ขณะไหนเป็นมิตร ขณะกำลังโกรธ และหวังร้าย เป็นมิตรหรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่เป็น

    ท่านอาจารย์ แต่ขณะใดก็ตาม คนที่เราคุ้นเคยกล่าวคำที่ไม่เหมาะไม่ควร ทำสิ่งที่ไม่ดีต่อเรา แต่เราก็อภัยให้ แล้วก็ยังคงหวังดีต่อเขา พร้อมจะช่วยเหลือเกื้อกูล ให้เขาเกิดความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ขณะนั้นจิตนั้นเป็นกุศล เป็นมิตร

    เพราะฉะนั้น คนอื่นเราเพียงรู้จากการกระทำ และคำพูด แต่สภาพจิตไม่ว่าขณะไหน ของใคร ก็ต้องเป็นไปตามสภาพของเจตสิกหรือสภาพธรรมที่เกิดกับจิตนั้นว่า สภาพธรรมที่เกิดกับจิตเป็นกุศล สภาพที่ดีงาม หรือไม่ดีงาม ต้องตรง ถึงจะเข้าใจได้ว่า ธรรมเป็นธรรม ไม่ใช่ใครทั้งสิ้น

    ผู้ฟัง แต่ในชีวิตประจำวันจริงๆ เราอาจจะหวังดี อยากจะเกื้อกูลให้เขามีสุขภาพดีๆ ทานอาหารที่มีประโยชน์ แต่ในชีวิตประจำวันเมื่อเราคลุกคลีกับเขา เราก็อยากจะพูดคุยกับเขาเรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่ขณะนั้นก็มีโลภะแทรกเข้ามามากมาย แต่เป็นเรื่องจริงในชีวิตประจำวันของทุกคนด้วย ไม่ใช่เฉพาะตัวเอง การคุยเรื่องต่างๆ ในชีวิตประจำวันก็มีความเป็นมิตร แต่หลังจากนั้นเป็นอกุศลที่ติดข้อง อยากรู้จัก อยากจะเจอ แสดงให้เห็นว่า โลภะติดตาม และแทรกเข้ามาตลอด แม้ในขณะที่ความเป็นมิตรเกิดขึ้นขณะหนึ่งแล้วก็ดับไป

    ท่านอาจารย์ ที่กล่าวอย่างนี้เพราะเข้าใจสภาพธรรมที่เป็นกุศล และอกุศลว่าต่างกัน คือ ปัญญาที่สามารถรู้ความจริงว่า กุศลเป็นกุศล

    อกุศลเป็นอกุศล

    ผู้ฟัง ความจริงที่เราควรจะต้องเข้าใจความจริงที่เกิดขึ้นในขณะนั้น

    ท่านอาจารย์ ถ้าเข้าใจเพิ่มขึ้นแล้วอยากมีมิตรโดยไม่ต้องเป็นโลภะ หรือขณะที่เป็นโลภะก็ยังอยากเป็นโลภะอยู่ แล้วเป็นเหตุให้โกรธบ้าง เมื่อไม่ได้สิ่งที่ต้องการ หรือคนที่เราพอใจอาจทำสิ่งที่เราไม่อยากให้เขาทำอย่างนั้น โลภะนำมาซึ่งทุกข์ แต่มิตรไม่เคยนำมาซึ่งทุกข์เลย

    เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นคนตรง อยากให้คนอื่นมีโลภะกับเรา หรืออยากให้เป็นมิตรหวังดีเกื้อกูลกับเรา

    ผู้ฟัง อยากให้เป็นมิตรหวังดีเกื้อกูลกับเรา

    ท่านอาจารย์ แล้วเราเองขณะที่โลภะเกิด ก็เกิดตามเหตุปัจจัย ขณะที่กุศลจิตเป็นมิตรก็เป็นมิตร แต่ต้องรู้ตามความเป็นจริงว่า ตราบใดที่ยังมีโลภะอยู่ ก็เป็นทุกข์

    ผู้ฟัง ถามจริงๆ ว่า ก็ไม่มั่นใจ และมีพิจารณาข้อนี้อยู่เสมอว่า จะเป็นไปได้หรือในเมื่อต้องเจอผู้คน เจอเพื่อน แล้วจะไม่เป็นโลภะ

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องคิด คิดหรือไม่คิดก็มีโลภะ ยังไม่หมดโลภะ จะไปคิดทำไมว่า ในเมื่อจะเป็นเพียงแค่คิด แต่เป็นจริงๆ ไม่ใช่เพราะคิด

    ผู้ฟัง แต่ฟังจากที่ท่านอาจารย์พูด ก็พิจารณาว่า ถ้าเชื่อว่าเมตตาเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ ก็จะเชื่อว่าการอบรม มีเมตตา มีความหวังดีกับผู้อื่น มากกว่าที่จะคิดว่า โลภะ ความผูกพันไม่เป็นไร ก็ธรรมดาอยู่แล้ว เราต้องคลุกคลีกับผู้คน เป็นมิตรบ้าง โลภะบ้าง เพราะยังไม่เชื่อมั่นจริงๆ ว่า กุศลธรรม ความเมตตามีประโยชน์จริงๆ ถ้าประพฤติปฏิบัติแล้วนำความสุขมาให้ฝ่ายเดียว ทั้งตนเอง และผู้อื่น ท่านอาจารย์ช่วยแนะนำด้วย

    ท่านอาจารย์ แล้วยังมีอกุศลมากไหม

    ผู้ฟัง มาก

    ท่านอาจารย์ คนที่เคยมีอกุศลมากๆ แล้วสามารถจะดับอกุศลได้ เป็นไปได้หรือไม่

    ผู้ฟัง เป็นไปได้

    ท่านอาจารย์ จากคุณนิรันดร์ที่มีอกุศลมากๆ ถ้าเข้าใจธรรมเพิ่มขึ้น จะสามารถละอกุศลหมดได้ไหมในวันหนึ่ง ไม่ทราบในวันไหน ต้องด้วยปัญญา วันนี้มีปัญญาไม่พอที่จะดับโลภะ เพราะฉะนั้น ก็อบรมเจริญปัญญา รู้ตามความเป็นจริงว่าโลภะเป็นธรรมอย่างหนึ่ง ทุกอย่างเป็นธรรม

    การศึกษาธรรมไม่ใช่ไปรู้จักชื่อ แต่สิ่งใดก็ตามที่มีจริงๆ เกิดปรากฏในขณะนั้น เข้าใจโดยขั้นแม้ฟังว่า นั่นเป็นธรรม ไม่ใช่เรา มีจริงๆ และมีลักษณะที่ต่างกันด้วย จึงจะชื่อว่า เป็นผู้รู้ว่า ธรรมคืออะไร

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กล่าวว่า ต้องเป็นผู้มั่นคงที่จะมีปัญญาเข้าใจความจริง เมื่อมีเหตุปัจจัยที่โลภะจะเกิดขึ้น ก็รู้ว่า โลภะเป็นธรรมอย่างหนึ่งที่ยังมีเหตุปัจจัยเกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ เพราะอวิชชา ไม่รู้ จึงมีโลภะ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 173
    26 ก.พ. 2567