พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 568


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๖๘

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๒


    ผู้ฟัง ในกรณีสิ่งที่ปรากฏทางตาที่ท่านอาจารย์อธิบายเมื่อสักครู่นี้ กับกรณีที่เราได้ยินเสียง สมมติว่าผมหลับตา เสียงที่ปรากฏทางหูจะเป็นลักษณะเดียวกับสิ่งที่ปรากฏทางตาหรือไม่

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าอย่างไรคะ ลักษณะเดียวกัน

    ผู้ฟัง หมายความว่าเวลาหลับตาแล้วได้ยินเสียงที่ปรากฏทางหู ก็จะไม่รู้หรือรู้ลักษณะของเสียงว่าเป็นเสียงอะไร ทั้งๆ ที่ไม่ได้ติดข้องต้องการแบบสิ่งที่ปรากฏทางตา ในกรณีเช่นนี้เสียงมีลักษณะเหมือนกับสิ่งที่ปรากฏทางตาหรือไม่

    ท่านอาจารย์ การฟังธรรมต้องละเอียด ได้ยินเสียงแล้วไม่รู้เรื่อง ดีไหม แล้วเห็นก็ไม่รู้ว่าเป็นอะไร ดีไหม หรือพยายามให้มีแต่เสียงปรากฏเท่านั้น ทั้งหมดคือไม่รู้ความจริง เพราะฉะนั้น ความรู้เป็นความเข้าใจถูก ไม่ใช่ไปบังคับ ไปบิดเบือน เสียงปรากฏบ่อยๆ แม้ขณะนี้กำลังได้ยิน เสียงก็ปรากฏ แต่เคยรู้ไหมว่า เสียงเป็นธรรมอย่างหนึ่งเท่านั้นเอง เหมือนธรรมอื่นๆ เหมือนแข็ง เหมือนร้อน เหมือนเห็น เหมือนได้ยิน เหมือนคิดนึก เหมือนสุข เหมือนทุกข์ แต่ละลักษณะก็เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นธรรมซึ่งมีลักษณะเฉพาะของตนๆ เกิดขึ้นเป็นอย่างนั้นแล้วก็ดับไป หมดไป แม้แต่เสียงก็ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่กลิ่น ไม่ใช่รส ก็เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง ไม่เคยรู้ แต่ได้ยินเสียง ถูกต้องไหมคะ ได้ยินเสียงมานาน ตั้งแต่เกิดก็ได้ยินเสียง เวลาเสียงปรากฏ หมายความว่ามีสภาพที่กำลังได้ยิน แต่เพราะไม่รู้ในสภาพที่ได้ยินว่า เป็นธาตุรู้ที่เกิดเพราะเสียงกระทบกับโสตปสาท ได้ยินเกิดเองไม่ได้ มีปัจจัยเกิดแล้วก็ดับไป และได้ยินก็มีปัจจัยเกิดได้ยินเท่านั้นเอง จะทำอย่างอื่นไม่ได้ นี่คือลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง

    เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมก็คือให้เข้าใจความจริงแต่ละอย่าง ซึ่งมีจริงในชีวิตประจำวัน จนกระทั่งการที่เคยไม่รู้ และไปพยายามทำอย่างหนึ่งอย่างใดให้รู้ก็ผิด แต่อาศัยความเข้าใจเพิ่มขึ้น เป็นการละความไม่รู้ ไม่ต้องทำอะไร เพราะว่าแม้สติสัมปชัญญะหรือปัญญาก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยตามลำดับขั้น

    ผู้ฟัง อย่างเสียงที่ท่านอาจารย์บรรยายทางวิทยุ ผมเปิดวิทยุไป ปรากฏว่าผู้บรรยายเป็นคนอื่น เป็นสตรีเหมือนกัน ไม่ชอบใจแล้ว เปลี่ยนมาจนพบอาจารย์ แสดงว่าผมติดข้องกับเสียงท่านอาจารย์หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เฉพาะเสียงของใคร แม้เสียงปรากฏนิดเดียว ติดข้องแล้วโดยไม่รู้ นี่คือความละเอียดของธรรมที่จะรู้ว่า ความไม่รู้ และความติดข้องมากแค่ไหน ไม่รู้เลย

    เวลานอนหลับสนิท รู้ไหมว่าอะไรเกิดขึ้น แต่ก็มีใช่ไหม ฝนตก ฟ้าร้อง เพราะฉะนั้น ขณะนี้แม้มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏ ก็ไม่รู้ แล้วก็ดับไปแล้วมากมายขณะนี้ สิ่งที่มีจริงๆ เกิดขึ้นดับไปแล้วมาก เหมือนสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะที่หลับสนิทแล้วไม่รู้ เพราะฉะนั้น แม้ตื่นก็มีสิ่งที่กำลังปรากฏเกิดดับไปอย่างนี้แล้วก็ไม่รู้

    เพราะฉะนั้น จึงมีคำว่า “พุทธะ” คือ ผู้ตื่น ผู้รู้ หมายถึงผู้มีความเห็นถูก ความเข้าใจถูกในสิ่งที่มีจริงๆ

    เพราะฉะนั้น สามารถเข้าใจได้เมื่อฟังแล้วไตร่ตรอง แต่ต้องละเอียดที่จะไม่ข้ามแม้สักคำเดียว เช่นคำว่า “ธรรม” ถ้ารู้จริงถึงความเป็นพระอรหันต์ได้ เพราะพระอรหันต์รู้อะไร ก็รู้ธรรม จะไปรู้อื่นที่ไม่ใช่ธรรมได้ไหม ก็ไม่ได้

    ผู้ฟัง สิ่งที่ไม่ปรากฏเป็นธรรมหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ใครรู้

    ผู้ฟัง ก็ตัวเรา

    ท่านอาจารย์ ไม่ปรากฏ รู้สิ่งที่ปรากฏหรือสิ่งที่ไม่ปรากฏ

    ผู้ฟัง สิ่งที่ไม่ปรากฏ เราก็ไม่รู้

    ท่านอาจารย์ ใครจะรู้ ไม่ปรากฏใครจะไปรู้ได้ ก็ไม่ปรากฏ ถ้าใช้คำว่า “ไม่ปรากฏ” แล้วใครจะไปรู้ได้

    ผู้ฟัง ถ้าไม่รู้แสดงว่า ไม่ใช่เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ แล้วเวลามีสิ่งที่ปรากฏ รู้หรือไม่

    ผู้ฟัง ขณะที่ปรากฏ รู้ไม่ทัน

    ท่านอาจารย์ ทำไมใช้คำว่า “ไม่ทัน”

    ผู้ฟัง เพราะว่าเป็น ๑๗ ขณะจิต ปัญญาตามไม่ทัน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ปัญญาของใครที่มาบอกว่า ๑๗ ขณะจิต

    ผู้ฟัง ปัญญาของพระพุทธเจ้า

    ท่านอาจารย์ แล้วเราเป็นใคร จะไปรู้ว่าไม่ทัน ทันสิ่งไหน ก็มีสิ่งที่ปรากฏอยู่แล้ว ทำไมต้องไปคิดถึงว่าไม่ทัน ยังไม่รู้อะไรสักอย่าง แล้วไม่ทันอะไร แม้สิ่งที่ปรากฏก็ไม่รู้ จะไปคิดถึงทันไม่ทัน ๑๗ ขณะทำไม

    ผู้ฟัง แล้วสรุปว่า สิ่งที่ไม่ปรากฏเป็นธรรมหรือไม่ อาจารย์ช่วยตอบด้วยครับ

    ท่านอาจารย์ ไม่ปรากฏแล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นหรือไม่เป็น

    ผู้ฟัง เข้าใจแล้วครับ ข้อที่ ๒ ฝันเป็นธรรมหรือไม่ เพราะไม่ใช่ของจริง

    ท่านอาจารย์ อะไรไม่จริง

    ผู้ฟัง ฝัน

    ท่านอาจารย์ ไม่เคยฝัน หรือฝันไม่มี หรือไม่มีฝัน

    ผู้ฟัง มีครับ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ขณะนั้นฝันต้องมีฝัน ถึงได้พูดว่า ฝัน ไม่พูดอย่างอื่น ฝันจริงหรือไม่ มีจริงๆ หรือไม่

    ผู้ฟัง มีจริง

    ท่านอาจารย์ เป็นธรรมหรือไม่

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ ฝันเป็นธรรมอะไร

    ผู้ฟัง คิด

    ผู้ฟัง มีคนถามว่า ถ้าโลกแตกแล้วจะเป็นอย่างไร ดูเหมือนว่า ทุกคำถามที่พวกเราฟังท่านอาจารย์พร่ำสอนว่า พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า ธรรมคือสิ่งที่มีจริง และเกิดดับหมดแล้ว จริงก็คือมีแต่สิ่งที่ปรากฏ เพราะขณะที่ปรากฏก็ยังไม่ดับ ยังปรากฏให้รู้ได้

    ท่านอาจารย์ ขอถามนิดเดียวค่ะ กำลังเห็น โลกแตกหรือไม่แตก

    ผู้ฟัง โลกที่ถามไม่มี แต่โลกทางตาดับ สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ดับ เห็นก็ดับ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น กำลังเห็น โลกแตกหรือไม่แตก มีความคิดอะไรหรือไม่ในขณะที่กำลังเห็น โลกอยู่ไหน ไม่มีเลย นอกจากสิ่งที่ปรากฏทางตากับจิตที่กำลังเห็น มีเท่านั้น ขณะนั้นมีโลกแตก โลกไม่แตกไหม ก็ไม่มี

    ผู้ฟัง ดูเหมือนท่านอาจารย์สื่อว่า ธรรมเป็นอย่างที่ท่านอาจารย์อธิบาย แต่ทุกคำถามกลับไปว่า จำไว้อย่างเหนียวแน่นว่า เที่ยง มีฟัน มีปอด มีตับ มีโลกที่จะแตก

    ท่านอาจารย์ ก็คิดว่า โลกแตก โลกไม่แตก แต่กำลังเห็นมีโลกไหม แล้วโลกแตกหรือไม่แตก

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ แต่เห็นเกิดแล้วดับ เพราะฉะนั้น ความหมายจริงๆ ของโลกะ ก็คือสภาพธรรมที่เกิดดับ ไม่ว่าอะไร เมื่อไร จะสมมติเรียกว่าเป็นโลกที่เราอยู่ ชมพูทวีป หรืออะไรก็ตามแต่ ก็ไปคิดว่า นั่นเป็นโลกจะแตก คิด ไม่ใช่เห็น แต่ทั้งคิดก็ดับ เห็นก็ดับ

    เพราะฉะนั้น ก็มีแต่สภาพธรรมซึ่งเกิดดับ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ไม่ว่าขณะที่คิดว่า โลกจะอยู่หรือโลกจะแตก ก็คือเป็นสภาพธรรมที่เกิดแล้วก็รู้สิ่งที่ปรากฏแล้วก็ดับ

    ผู้ฟัง จากการศึกษาก็ทราบว่า โลกมี ๖ ทางแน่นอน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

    ท่านอาจารย์ การรู้อารมณ์ของจิตที่ไม่ใช่ภวังค์ ๖ ทาง

    ผู้ฟัง ถ้าเป็นวิถีจิตก็ ๖ ทาง แต่ถ้าหลับเป็นภวังคจิต ดำรงภพชาติก็ทราบว่า

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไรจึงกล่าวว่า ๖ ทาง ก็กำลังหลับสนิทไม่มีอะไรปรากฏ ไม่รู้อะไรเลยสักอย่าง พอตื่นถึงได้รู้ว่าหลับ ไม่รู้อะไรในขณะก่อนจะตื่น

    เพราะฉะนั้น ที่จะรู้อารมณ์ใดๆ ที่จะปรากฏได้ว่ามี ก็คือทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทาง จึงใช้คำว่า ๖ ทาง หรือ ๖ ทวาร

    ผู้ฟัง เพราะถึงแม้ขณะหลับเป็นภวังคจิต แต่ไม่มีอารมณ์ใดปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ปรากฏไม่ได้

    ผู้ฟัง อารมณ์มี แต่ไม่ได้ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ถ้าปรากฏจะเรียกว่า “หลับ” ไหม

    ผู้ฟัง ไม่เรียก ทีนี้ในการศึกษา ดูเหมือนผู้ฟังที่จำว่าเที่ยง ท่านอาจารย์ก็บอกว่า สะสมมานานมากที่จะเข้าใจผิดในสภาพธรรม ซึ่งขณะนี้ฟังก็น้อยนิดเมื่อเทียบกับที่สะสมมาที่จะถามว่า โลกแตก หรือสิ่งที่ไม่ปรากฏเป็นธรรมหรือไม่ ก็แสดงว่าต้องฟังไปอีกนับชาติไม่ถ้วน กับที่สะสมความเห็นผิด

    ท่านอาจารย์ ก็แสดงว่า ทั้งๆ ที่ได้ยินได้ฟังขณะนี้เป็นธรรม ก็ไม่มีปัจจัยพอที่จะรู้ว่า ขณะนี้เป็นธรรม เพราะคิดเรื่องโลกแตก และคิดเรื่องอื่น ยับยั้งไม่ได้ทั้งๆ ที่กำลังเห็น แค่เห็น ไม่เคยรู้เฉพาะสิ่งที่ปรากฏทางตา และเห็น เห็นดับเร็วมากก็ไม่รู้ แล้วก็เป็นเรื่องโลกหรือเรื่องอื่นๆ ไปทั้งวัน จนกว่าเมื่อไรรู้เฉพาะสิ่งที่ปรากฏ นั่นคือประโยชน์ของการฟัง ฟังเพื่อให้เข้าใจความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏจริงๆ ขณะนี้ ฟังเพื่อเข้าใจธรรม และเดี๋ยวนี้กำลังมีธรรม แล้วยังไม่ได้รู้ความจริงของธรรม เพียงแต่ฟังเรื่องธรรม เพื่ออะไร

    ผู้ฟัง เพื่อเป็นปัจจัยให้สติระลึก

    ท่านอาจารย์ โดยเข้าใจขึ้นๆ ถ้าไม่เข้าใจขึ้น สติก็เกิดไม่ได้ สติปัฏฐานก็เกิดไม่ได้ แต่ไม่ใช่จงใจฟังให้สติปัฏฐานเกิด นั่นผิด ฟังเพื่อให้เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ และรู้ความเป็นอนัตตา และรู้ว่าแม้ขณะฟัง กุศลจิตเกิดเมื่อไร ขณะนั้นก็มีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ไม่ใช่ขั้นที่กำลังรู้เฉพาะลักษณะของธรรมที่มีจริงๆ ที่ปรากฏ เพราะสั้นมาก ขณะนี้เกิดแล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้น ฟังเพื่อให้ถึงความรู้จริง โดยรู้เฉพาะลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างในขณะนี้ อย่างเช่น เห็น บอกว่าเห็นเป็นเพียงสิ่งที่กำลังปรากฏ วันหนึ่งๆ แม้แต่จะเพียงคิดหรือระลึกได้ว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ เท่านั้นเอง มีบ้างไหม ก็ยังไม่มี และกำลังฟังเรื่องเห็น และกำลังมีสิ่งที่ปรากฏ และกำลังพูดเรื่องนี้ ใจก็คิดเรื่องอื่นไป

    เพราะฉะนั้น กว่าจะถึงขณะที่ฟังแล้วมีสิ่งที่ปรากฏ แล้วรู้เฉพาะด้วยความเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ นี่คือไม่ใช่เพียงฟังแล้วเข้าใจเรื่องราว แต่เมื่อความจริงเป็นอย่างนี้ จะรู้จริงๆ ได้ ก็ต่อเมื่อรู้เฉพาะสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ต้องเข้าใจก่อน ถ้าไม่เข้าใจสิ่งใดๆ เลยทั้งสิ้น ให้สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมหนึ่ง เป็นไปได้หรือไม่ ในเมื่อไม่รู้ว่า นั่นเป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง เพราะแม้จะรู้แล้ว ก็ยังไม่ถึงกาลที่จะรู้เฉพาะสิ่งที่ปรากฏจริงๆ นึกเรื่องอื่นไปหมดแล้ว เรื่องโลกแตก เรื่องอะไรต่างๆ กำลังฟังอย่างนี้ไปอีก ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังไม่ถึงเวลาที่จะรู้อย่างนั้น จนกว่าจะเข้าใจเพิ่มขึ้น มากขึ้น แล้วก็สติสัมปชัญญะเกิด คือ กำลังรู้เฉพาะลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ การรู้เฉพาะลักษณะของสิ่งที่ปรากฏก็คืออย่างนี้

    ผู้ฟัง ถ้าสังเกตจากคำถาม ก็ดูเหมือนไม่มั่นคงในความเข้าใจว่า โลกก็คือโลกมี ๖ ทาง ฟังเป็นเรื่องราวแล้วจำว่ามี

    ท่านอาจารย์ เป็นการฟังเผิน คือฟังแค่ชื่อ จิต แค่ชื่อ มีจำนวนเท่าไร แค่ชื่อ ประกอบด้วยเจตสิกเท่าไร แค่ชื่อ แต่ลักษณะของจิตซึ่งกำลังเกิดดับ ทำกิจการงาน ก็ไม่ได้รู้

    เพราะฉะนั้น การฟังธรรมต้องไม่เผิน จึงจะได้สาระ ได้ยินคำอะไร ต้องเข้าใจจริงๆ ในคำนั้น อย่างสติหรือจิตก็ได้ยิน ความต่างกันคืออะไร แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า สติไม่ใช่จิต เพราะจิตเห็น จิตกำลังรู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏ ได้ยิน จิตกำลังรู้แจ้งเสียงอย่างนี้ปรากฏให้รู้ว่า เป็นเสียงอย่างนี้ ไม่ใช่เสียงอื่น แต่ไม่ได้รู้เฉพาะลักษณะด้วยความเห็นว่าเป็นธรรม ไม่ใช่อะไรสักอย่างที่เคยหลงว่าเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ ก็คือการเกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็วมาก จนปิดบังลักษณะที่เกิดปรากฏสั้นๆ เพราะว่าสิ่งใดก็ตามที่ปรากฏ เพราะการเกิดดับสืบต่ออย่างเร็วมากจึงปรากฏพร้อมนิมิต ซ้ำๆ กันกี่วาระ ไม่มีใครจะประมาณได้ด้วยความรวดเร็ว จึงเห็นคนทันทีที่เห็น หรือพอได้ยินเสียงก็เข้าใจความหมายทันที เป็นไปได้อย่างไร ความจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น

    เพราะฉะนั้น การฟังจึงต้องละเอียด ไม่ใช่เพื่อจะให้สติสัมปชัญญะเกิด แต่ฟังเพื่อเข้าใจขึ้น และเมื่อเข้าใจขึ้นเป็นปัจจัยให้เข้าใจลักษณะที่กำลังปรากฏ เฉพาะอย่างๆ ทีละเล็กทีละน้อย นั่นคือปัญญาที่อบรม ไม่ใช่เราหวังจะให้เป็นปัญญาทันทีที่ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม แต่ต้องเป็นความเข้าใจ

    เพราะฉะนั้น ลืมปัญญาไม่ได้ ส่วนใหญ่ไม่คำนึงถึงปัญญา มุ่งแต่ว่าแล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า ขณะนี้สภาพธรรมเกิดดับ ปัญญาไม่ได้พูดถึงเลย ความเข้าใจจนกระทั่งค่อยๆ คลาย แม้แต่การรู้ว่า ขณะนี้หรือขณะไหนก็ตามที่เห็น ก็คือมีสิ่งที่ปรากฏให้เห็นเท่านั้นเอง แล้วก็ดับ

    เห็นอวิชชาไหมค ติดข้องแสนสาหัสมากมายทุกชาติ แล้วเพิ่มขึ้นอีกด้วย ตราบใดที่ไม่รู้ ก็เพิ่มขึ้นๆ

    ผู้ฟัง ทั้งๆ ที่ขณะนี้ธรรมปรากฏ ก็ไม่น้อม ไม่คล้อยตาม ก็แสดงว่า ฟังยังไม่เข้าใจมั่นคง และไม่มากพอ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เวลาฟังเรื่องปัจจัยต่างๆ มากมาย เข้าใจอะไร

    ผู้ฟัง ก็เข้าใจว่า อย่างเห็นขณะนี้ก็ต้องมีสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นปัจจัยให้เห็น

    ท่านอาจารย์ เพื่อให้มั่นคงว่า เป็นธรรมซึ่งเกิดเองไม่ได้ ต้องอาศัยปัจจัยมากมายจึงจะเกิดขึ้นได้ แล้วก็ดับไปแล้ว สามารถมั่นคงว่า เป็นธรรมซึ่งเกิดดับตามเหตุตามปัจจัย เท่านั้นเอง

    ผู้ฟัง เรียนถามว่าการฟังต้องละเอียด ไม่ใช่เพื่อสติสัมปชัญญะเพิ่ม แต่เพื่อเข้าใจเพิ่ม ขอเรียนให้ท่านอาจารย์ช่วยอธิบายความละเอียดเรื่องความเข้าใจเพิ่ม เป็นการเพิ่มตรงลักษณะธรรมเพิ่มขึ้น หรือรู้ลักษณะของสภาพธรรมเพิ่มขึ้น หรือระลึกถึงสิ่งที่เคยฟังจากท่านอาจารย์เพิ่มขึ้น

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้มีธรรมหรือไม่ กำลังฟังธรรมด้วย สติสัมปชัญญะเกิดหรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่เกิด

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เพิ่มไม่ได้ จนกว่าจะเข้าใจขึ้น แล้วสติจึงเริ่มเกิด ขณะที่เริ่มเกิดจะเกิดมากๆ แล้วเข้าใจสิ่งที่ปรากฏตรงตามที่ได้ยินได้ฟังทั้งหมดได้หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ แต่แสดงให้เห็นว่า ที่ฟังทั้งหมดไม่ใช่สิ่งที่ไม่จริง พูดถึงสิ่งที่มีจริง และลักษณะที่มีจริงนั้นก็ปรากฏกับสติที่กำลังรู้เฉพาะลักษณะนั้น ตรงลักษณะนั้นด้วย

    นี่คือการเริ่มรู้จักธรรมเล็กๆ น้อยๆ ยังเพิ่มมากไม่ได้ จนกว่าจะเข้าใจเพิ่มขึ้น ไม่มีเราที่จะให้สติเกิด ฟังไม่ใช่เพื่อต้องการให้สติเกิด แต่ฟังเพราะไม่รู้ และไม่เข้าใจสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ฟังแล้วค่อยๆ เข้าใจขึ้น ก็จะรู้ว่า ความเข้าใจต่างกัน ขณะที่เป็นเพียงความเข้าใจเรื่องราวกับขณะที่แม้ฟังนานมาแล้ว แล้วเข้าใจเพิ่มขึ้นแล้ว สติจะเกิดเมื่อไร วันไหน ไม่ต้องคิด เพราะเดี๋ยวนี้จะเห็นหรือจะได้ยินต่อไป ก็ไม่ต้องคิด ใครจะไปรู้

    เพราะฉะนั้น สติสัมปชัญญะจะเกิดเมื่อไร เมื่อเกิดก็รู้ว่าขณะนั้นต่างกับสติขั้นทานหรือขั้นศีล หรือขั้นฟัง แล้วจะเพิ่มได้โดยวิธีไหน

    ผู้ฟัง จากการฟัง

    ท่านอาจารย์ เข้าใจ แล้วจะเพิ่มขึ้นเมื่อไร อย่างไร บ่อยๆ เนืองๆ บังคับไม่ได้ บ่อยไม่ใช่วันนี้กี่ขณะ พรุ่งนี้กี่ขณะ ไม่ใช่อย่างนั้น แล้วแต่ว่าหลายเดือน หลายปีก็ได้

    ผู้ฟัง สิ่งที่ผมถามนี้จะรู้ได้เฉพาะตัวเอง ใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ คุณชาลีจะไปรู้ไหมว่า คนนี้รู้อะไร หรือคุณชาลีกำลังรู้ คนอื่นจะมารู้ได้ไหมว่า คุณชาลีกำลังรู้อะไร

    ผู้ฟัง ตัวเองก็จะรู้เองว่า มันชัดหรือไม่

    ผู้ฟัง รูปที่ปรากฏทางตา เมื่อดับไปแล้ว ทางใจที่รู้รูปนั้นต่อ หมายความว่าทางใจต้องรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาด้วย ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง แล้วทางใจก็ต้องรู้เสียงด้วยใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ทางใจรู้ทุกอย่าง

    ผู้ฟัง แต่ไม่ใช่ลักษณะทางใจที่รู้ว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ใช่ไหม ต่างกันอย่างไร ในเมื่อลักษณะทางใจทั้ง ๒ อย่าง

    ท่านอาจารย์ เวลานี้คุณสุกัญญาแยกการเห็นทางตากับการรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ซึ่งเป็นขณะที่รับสืบต่อจากทางตา แยกออกจากกันได้หรือไม่

    ผู้ฟัง แยกออกไม่ได้ แต่ที่กราบเรียนถามท่านอาจารย์เพื่อจะได้เข้าใจเพิ่มขึ้น

    ท่านอาจารย์ สิ่งใดก็ตามที่ปรากฏอย่างนี้ เดี๋ยวนี้ ปรากฏทั้งทางตา และทางใจ แยกไม่ได้ ใครจะไปพยายามแยก แยกจิตเห็นกับจิตได้ยินได้หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ นี่ยังไม่ทันจะได้ยินแพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาดับ ทางใจรับรู้ต่อทันทีหลังจากมีภวังค์คั่น เร็วมาก หลายวาระ ขณะนี้ไม่มีใครสามารถจะแยกได้ แต่ให้รู้ได้ว่า ทางใจรู้ได้ทุกอย่าง

    ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์ถามว่า ขณะนี้เห็นอะไร และที่ตอบว่า เห็นท่านอาจารย์ คือสิ่งนี้เป็นปัญญาของตัวเองที่ตอบว่า เห็นท่านอาจารย์ เพราะเป็นอย่างนั้นจริงๆ

    ท่านอาจารย์ เป็นอย่างนั้นจริงๆ คือไม่รู้ว่า ต้องเห็นก่อน แล้วก็ดับไป ภวังค์คั่น ทางมโนทวารนึกถึงทันทีที่สิ่งนั้นปรากฏทางตา รู้ทันทีสืบต่อ ไม่รู้อย่างอื่น

    ผู้ฟัง แม้ในขณะที่ทางมโนทวารรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ก็ไม่รู้ใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ แน่นอน เหมือนเดี๋ยวนี้ ไม่ปรากฏว่าดับ

    ผู้ฟัง แต่มารู้ด้วยความเป็นตัวตนว่า เห็นท่านอาจารย์ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ซึ่งความจริงไม่ใช่คุณสุกัญญา เป็นธรรมซึ่งเกิดขึ้นเห็นแล้วก็ดับ

    ผู้ฟัง แล้วทำไมถึงมาคิดว่า เห็นท่านอาจารย์ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าเมื่อดับไปแล้ว ภวังค์คั่นแล้ว ทางใจแม้ไม่เห็น ก็ยังรับรู้สิ่งที่เพิ่งเห็นซึ่งดับไปแล้วได้ แล้วยังสามารถนึกถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่เคยเห็นได้ เร็วแค่ไหน พอเห็นแล้วรู้ทันที ความจริงไม่ใช่ทันที

    ผู้ฟัง อ่านแล้วยังไม่เข้าใจความต่างระหว่างทวารกับวัตถุ

    ท่านอาจารย์ ต้องทราบว่า จิตเป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้ แต่ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ต้องมีรูปเป็นที่อาศัยหรือเป็นปัจจัยด้วย

    เพราะฉะนั้น เราเกิดมาไม่ได้มีแต่จิต ใช่ไหม ไม่ใช่มีแต่เฉพาะจิต เจตสิก มีรูปด้วย และในภูมินี้ สิ่งที่เป็นรูปก็สามารถปรากฏให้เห็นได้ แต่ต้องอาศัยทางหนึ่งทางใด ถ้าไม่มีตา รูปหนึ่งซึ่งอยู่กลางตาที่เกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย ที่จะเป็นรูปที่มีลักษณะสามารถกระทบกับสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็นขณะนี้ สิ่งที่ปรากฏขณะนี้ก็จะปรากฏไม่ได้


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 173
    13 ม.ค. 2567