พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 593


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๙๓

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๒


    ผู้ฟัง สิ่งที่ใกล้ตัวเรา คือมิตรกับสหาย ตั้งแต่เกิดจนตาย เรียนถามท่านอาจารย์ว่า มิตรคือเมตตา ซึ่งต้องมาจากใจ สิ่งนี้สำคัญมากๆ คนที่จะเป็นมิตรได้ ท่านบอกว่า มารดาเป็นมิตร และเพื่อนคือผู้ช่วยทำธุรกิจให้สำเร็จ สิ่งนี้ดิฉันมองชีวิตคนมีทั้งต้องการกำลังใจ คือเมตตาจากมิตรจริงๆ และการงานสำเร็จ นี่จากชีวิตจริง ปัญหานี้จะแก้ใคร

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ธรรมเพื่อใคร ที่ทรงแสดงพระธรรมเพื่อใคร

    ผู้ฟัง เพื่อตัวเรา

    ท่านอาจารย์ ต้องการมิตรหรือว่าเราเป็นมิตร ฟังแล้วรู้สึกว่า อยากมีมิตร ต้องการมิตร แต่ว่าคำถามก็คือว่า อยากมีมิตรหรือจะเป็นมิตร

    ผู้ฟัง เรารู้จักตัวเรา รู้จักว่าขณะนี้จิตนี้เราเป็นมิตร แต่คนอื่นบางทีซ่อนอยู่ลึกซึ้ง ซึ่งไม่รู้

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่ต้องรู้คนอื่น เพราะขณะนั้นกำลังรู้ว่า เราเป็นมิตร ไม่ได้เป็นศัตรูกับใคร นี่คือประโยชน์สูงสุด เพราะว่าเราจะไม่รู้เลยว่า จริงๆ แล้วบางขณะอกุศลจิตเกิด ขณะนั้นไม่ใช่มิตร แต่ขณะใดที่ใช้คำว่า “มิตร” หมายความว่า ขณะนั้นพร้อมที่จะเป็นประโยชน์เกื้อกูลช่วยเหลือบุคคลอื่น ไม่เป็นศัตรู ไม่หวังร้าย ไม่คิดร้ายด้วย ขณะนั้นเป็นมิตร พอใจไหมที่จะเป็นมิตร หรือต้องการมีมิตร และเราไม่เป็นมิตร

    อ.อรรณพ จากข้อความที่แสดงไว้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า บุญที่ตนทำเองเป็นมิตรติดตามไปถึงภพหน้า ซึ่งมีคำว่า “บุญ” “ตน” “มิตร” และ “ภพหน้า” ซึ่งถ้าเราฟังเผินๆ ถ้าไม่เข้าใจพื้นฐานธรรมที่เป็นอภิธรรมจริงๆ ก็ดูเหมือนว่าให้ทำเพื่อเรา เหมือนตัวเราจะไม่ต้องลำบากต่อไป ก็ทำบุญ เป็นตัวเรา เป็นตัว เป็นตน มีคำว่า “ตน” เหมือนเป็นเราทำบุญ แล้วบุญจะติดตามไปช่วยให้เราสะดวกสบาย แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพระธรรมเพื่อขัดเกลา และดับกิเลส แต่ไม่ได้หมายถึงอย่างนั้น ไม่ได้ทรงแสดงให้ทุกคนมาทำบุญกันมากๆ เพื่อชาติหน้าจะได้สบายๆ จริงอยู่ บุญของผลของบุญทำให้เกิดความสุข ให้เกิดในที่ๆ เป็นสุคติภูมิ หรือได้รับผลของกรรมที่ดีทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็จริง แต่ไม่ได้ต้องการให้ติดในสิ่งต่างๆ เหล่านั้น

    เพราะฉะนั้น บุญคืออะไร และบุญเป็นที่พึ่งได้อย่างไร บุญเป็นธรรมไหม บุญเป็นธรรม เพราะบุญเป็นสิ่งที่มีจริง ธรรมคือสิ่งที่มีจริง เพราะฉะนั้น บุญก็เป็นธรรม เป็นธรรมฝ่ายดี กุศลธรรม อย่างที่ฟังพระสวดในงานศพ กุสลาธัมมา ธรรมที่เป็นกุศล เพราะฉะนั้น บุญหมายถึงสภาพธรรมฝ่ายดีหรือกุศล ก็คือความหมายเดียวกัน เป็นธรรมที่เป็นนามธรรมหรือรูปธรรม รูปสวยๆ เป็นบุญไหม บุญไม่ใช่รูป รูปสวยๆ เสียงเพราะๆ ไม่ใช่บุญ แต่เพราะบุญจึงทำให้ได้รับรูปที่สวย เสียงที่เพราะ แต่รูปที่สวย เสียงที่เพราะ กลิ่นที่หอม รสที่อร่อย สิ่งกระทบกายที่น่าพอใจเป็นเพียงรูปที่ปรากฏแต่ละทาง ไม่ได้เป็นบุญ แต่เพราะบุญจึงอำนวยให้ได้รับรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสที่น่าพอใจ

    เพราะฉะนั้น บุญเป็นนามธรรม เพราะเป็นสภาพรู้ ไม่ใช่รูปธรรม บุญไม่ใช่รูปขันธ์ เมื่อสักครู่ท่านอาจารย์ได้อธิบายแล้วว่า ขันธ์คืออะไร

    บุญไม่ใช่รูปขันธ์ บุญจึงเป็นนามธรรม หรือเป็นส่วนของนาม หรือเป็นส่วนของสภาพรู้ คือเป็นนามขันธ์ บุญเป็นนามขันธ์ เป็นนามขันธ์อะไร บุญเป็นธรรมฝ่ายดี เป็นนามขันธ์ ขณะใดเป็นบุญ คือขณะที่เป็นกุศล ก็เป็นกุศลขันธ์ คือนามขันธ์ที่เป็นกุศลขณะนั้น โดยเฉพาะในขณะที่สำเร็จเป็นกรรม ก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ที่เป็นสภาพที่ปรุงแต่งอย่างยิ่ง คือ เจตนา

    เพราะฉะนั้น บุญคือกุศลเจตนาที่เป็นไปในการสละ ในทาน ในศีล ในความสงบในชีวิตประจำวัน และในการรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้

    เพราะฉะนั้น บุญเป็นกุศลเจตนาที่เป็นไปในกุศลประการต่างๆ ที่ติดตามไปได้เพราะกุศลเจตนาที่เป็นบุญนั้นเกิดแล้ว สำเร็จแล้ว เป็นไปในการสละให้ทาน ในการฟังธรรม ขณะนี้สะสมแล้ว และพร้อมจะให้ผลที่จะให้เกิดปฏิสนธิ หรือให้ผลทางตา หู จมูก ลิ้น กาย หลังจากเกิดแล้ว

    อ.คำปั่น สำหรับคำว่า “บุญ” ก็หมายถึงสภาพธรรมที่ดีงาม เป็นเครื่องชำระจิตให้สะอาด ให้ผ่องใส ขณะที่กุศลจิตเกิดขึ้นเป็นกุศลธรรม เป็นสภาพธรรมที่นำมาซึ่งคุณประโยชน์มากมาย ท่านจึงเปรียบว่า กุศลธรรมเป็นมิตรแท้ เพราะว่าไม่นำมาซึ่งทุกข์ ไม่นำมาซึ่งโทษเลยนั่นเอง

    อ.วิชัย สำหรับบุคคลที่เกิดมาก็คงมีมิตร มีสหาย แต่ถ้าจะพิจารณาว่า การมีมิตรสหายก็คือมีไมตรีจิตต่อกัน แต่ว่าความเปลี่ยนแปลงของบุคคลที่เป็นมิตรสหายก็ยังมี แต่สำหรับบุญกุศล เมื่อบุคคลนั้นได้กระทำไว้แล้ว บุญกุศลจะกลับให้ผลไม่ดีได้ไหม ไม่ได้ เพราะเหตุว่าทรงแสดงไว้แล้วว่า การกระทำต่างๆ เช่นการเดินทาง การอยู่ในเรือน หรือกระทำกิจต่างๆ ก็มีมิตรจะช่วยกระทำกิจนั้นๆ แต่ไม่ตลอดไป เพราะเหตุว่าขณะนี้ฟังธรรม มีปัจจัยให้กุศลวิบากเกิด มีโอกาสได้ยินได้ฟังพระธรรม เพราะได้สะสมบุญไว้แล้วในกาลก่อน ทำให้มีโอกาสได้ยินได้ฟัง มีกุศลจิตที่น้อมมาที่จะฟังพระธรรม และสะสมในภพต่อไปด้วย เพราะเหตุว่าฟังครั้งนี้ ครั้งต่อไปก็เกิดกุศลจิตที่จะมาฟังอีก ก็ทำกุศลขั้นต่างๆ สิ่งนี้ก็เห็นถึงคุณของบุญหรือกุศล ที่เมื่อบุคคลสั่งสมแล้วย่อมนำความสุขมาให้อย่างแน่นอน ไม่กลับกลายให้ผลไม่ดีเลย แต่สิ่งที่เป็นศัตรูภายในก็คืออกุศลธรรม

    สิ่งนี้ก็ให้เห็นความแตกต่างกันของสภาพที่เป็นกุศลธรรม และอกุศลธรรม สำหรับศัตรูที่เกิดก็ไม่รู้ตามความเป็นจริง อาจจะมีความติดข้องมาก ความขุ่นเคืองใจ ถ้าขณะนั้นไม่มีบุคคลแสดงให้เห็นว่า ขณะนั้นเป็นศัตรูภายใน ซึ่งเมื่อเจริญขึ้น พอกพูนมีกำลังมากขึ้น ก็สามารถให้ถึงความเป็นอกุศลกรรมได้ แล้วผลของอกุศลกรรมนั้นก็ย่อมให้ผลด้วยตามโอกาสที่จะให้ผล แต่สภาพที่ตรงกันข้ามกันก็มี ก็คือบุญกุศลที่ทรงแสดงไว้ว่า เป็นมิตรอย่างแน่นอน ทั้งในชาตินี้ และต่อๆ ไป เพราะเหตุว่าการฟังพระธรรมครั้งนี้ สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ไหม ยังไม่ได้ เพราะเหตุว่าต้องรู้ว่า เป็นหนทางที่ยาวนาน ไม่ใช่ฟังเพียงเล็กน้อยแล้วสามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ แต่ต้องสั่งสมขึ้น เจริญขึ้น เพราะเหตุว่าครั้งนี้ฟัง ก็รู้ว่าความรู้ความเข้าใจแค่ไหน เพราะแม้จะกล่าวอยู่ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ มีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏอยู่ แต่ปัญญาก็ไม่สามารถรู้ตามความเป็นจริงแม้ในขณะนี้ เพราะเหตุว่ารู้ตามความเป็นจริงว่า การสั่งสมของแต่ละบุคคลสามารถเข้าใจแค่ไหนว่า ขณะที่ฟังในขณะนี้สามารถรู้ และเข้าใจแค่ไหน ก็ยังไม่ถึงโอกาสรู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็สิ้นจากความเป็นบุคคลนี้ แต่สิ่งที่สั่งสมไปจากการฟังครั้งนี้ก็ไม่ได้สูญหายไปไหน ท่านอาจารย์ก็กล่าวว่า สั่งสมที่จิต เพราะเหตุว่าจิตก็เกิดดับ เมื่อวานก็ดับไปแล้ว แต่กุศลจิตที่ฟังเมื่อวานนี้ ก็สั่งสมสืบต่อถึงขณะนี้ และสืบต่อขณะต่อๆ ไป และถ้าอกุศลเกิดก็สั่งสมด้วย เหตุปัจจัยที่จะให้กุศลเจริญงอกงามก็มี แต่ให้มีความเห็นถูกว่า อกุศลที่เกิดเป็นศัตรู ไม่ใช่มิตร จึงไม่ควรยินดีพอใจในอกุศลธรรม แต่ควรเจริญบุญกุศล เพราะเหตุว่าขณะนั้นก็เป็นการเจริญขึ้นจนถึงที่สุดก็ถึงความรู้แจ้งอริยสัจธรรม แต่ถ้ายังไม่ถึง ก็สืบต่อไปในภพหน้า

    ผู้ฟัง เมื่อกล่าวถึงมิตร ในมงคล ๓๘ ประการที่ว่า การไม่คบคนพาล การคบบัณฑิต การไม่คบคนพาล เหมือนกับเราเป็นศัตรูกับคนพาลด้วยหรือไม่ และอยากให้อาจารย์คำปั่นอธิบายคำว่า “คนพาล” ก่อน

    อ.คำปั่น สำหรับคำว่า “คนพาล” ใครบ้างที่เป็นคนพาล ถ้ากล่าวถึงตัวบุคคลเป็นสมมติ แต่กล่าวถึงสภาพธรรม ก็หมายถึงขณะที่อกุศลจิตเกิดขึ้นเป็นคนพาล ซึ่งมีรายละเอียดหลากหลายมาก ผู้ที่ไม่รู้ประโยชน์ในโลกนี้ และประโยชน์ในโลกหน้าเป็นผู้ตัดประโยชน์ของตน เป็นผู้ทำร้ายตน เบียดเบียนตนเอง ก็กล่าวได้ว่า เป็นคนพาล ตรงกันข้ามกับบัณฑิต บัณฑิตคือผู้มีปัญญา เป็นคนดี เป็นผู้คิดดี พูดดี ทำดี เป็นไปด้วยปัญญา

    สิ่งนี้เป็นความต่างกันของคนพาลกับบัณฑิต

    อ.นิภัทร อยากให้คำศัพท์วิเคราะห์อย่างชัดเจน คือ คนพาล มาจากคำว่า ภเว อัตเถลุนาตีติ ภาโว ชื่อว่า คนพาลเพราะตัดซึ่งประโยชน์ทั้งสอง ภเว แปลงเป็นพาล ลุ ธาตุ ลบสระอุ ก็เหลือตัว ล เฉยๆ ก็เป็นพาล ตัดประโยชน์ทั้งสองคือประโยชน์ในภพนี้ และประโยชน์ในภพหน้า ชื่อว่าคนพาล อย่างที่คุณคำปั่นบอก สิ่งนี้ผมอยากกล่าวถึงคำศัพท์ให้ชัดเจน ผู้ผลาญหรือตัดซึ่งประโยชน์ทั้งสอง คือ ประโยชน์ในชาตินี้ และประโยชน์ในชาติหน้า ชื่อว่า พาล

    ผู้ฟัง ระหว่าง “บุญ” และ “บารมี” เพราะว่าในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ก็มีทาน และศีล ในบารมีก็มีทานบารมี และศีลบารมี ต่างกันอย่างไรที่จะเป็นขั้นของบารมี

    ท่านอาจารย์ ถ้าง่ายๆ หมายความถึงความดีได้ไหม อกุศลเป็นบารมีได้ไหม ไม่ได้ เพราะฉะนั้น อะไรจะเป็นบารมี

    ผู้ฟัง ก็ต้องเป็นกุศลจิต

    ท่านอาจารย์ และกุศลก็ต้องตามลำดับขั้นด้วย เพราะเหตุว่าเพียงขั้นทาน และไม่มีปัญญา สามารถเจริญขึ้นจนดับกิเลสได้ไหม เพียงขั้นทาน การให้

    ผู้ฟัง ยังไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็เป็นกุศลที่เจริญขึ้นจนถึงขั้นที่สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรม ซึ่งก็ต้องประกอบด้วยความดีโดยประการต่างๆ นั่นเอง เพียงแค่วันนี้ดีหรือยัง แล้วดีอะไรบ้าง แล้วเป็นบารมีหรือไม่ ประกอบด้วยปัญญาหรือไม่ ความเห็นถูกต้องหรือไม่ เพราะเหตุว่าถ้าเป็นแค่ความดีโดยไม่มีปัญญา ก็ไม่สามารถเจริญขึ้นจนดับกิเลสที่ไม่ดีได้ ถึงแม้ว่าบางขณะเป็นโอกาสที่จะทำดี แต่หลายๆ ขณะก็เป็นโอกาสของอกุศล

    เพราะฉะนั้น ถ้าพูดสั้นๆ ว่า บารมีก็คือความดีที่ถึงพร้อมที่ทำให้รู้แจ้งสภาพธรรม ดับกิเลสได้ ก็คงเข้าใจได้ แต่ต้องเป็นชีวิตประจำวันด้วย

    อีกประการหนึ่ง พระธรรมลึกซึ้งโดยอรรถ โดยโวหาร เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะฟังพระสูตรใดก็ตาม ต้องถึงอรรถของโวหารนั้นด้วยว่า นี่เป็นโวหาร หรือนี่เป็นธรรมที่บ่งถึงอะไร อย่างเช่นที่พูดถึงคำว่า “มิตร” คำเดียว เวลาพูดถึงสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่อยากให้ผ่าน แล้วเหมือนเข้าใจแล้ว แต่ต้องค่อยๆ คิด ค่อยๆ เข้าใจจนกระทั่งเป็นความเข้าใจที่มั่นคงว่า มิตรหมายถึงสภาพธรรมที่ไม่ใช่เรา แต่ต้องเป็นกุศลจิต ศัตรูก็ไม่ใช่คนหนึ่งคนใด แต่ต้องสภาพธรรมที่ไม่ดีเป็นอกุศล แล้วมิตรจริงๆ อยู่ที่ไหน แล้วศัตรูจริงๆ อยู่ที่ไหน ศัตรูภายนอกมีได้ไหม ถ้าบุคคลนั้นไม่มีจิตที่เป็นศัตรูกับคนนั้นเลย ไม่มีอกุศลใดๆ ที่คนอื่นจะทำให้เดือดร้อน ทำให้หวั่นไหว แม้เป็นศัตรูภายนอกที่พยายามเบียดเบียนทำร้ายทุกอย่าง แต่คนที่ไม่หวั่นไหวเดือดร้อน เพราะขณะนั้นเป็นกุศล ขณะนั้นก็ไม่มีศัตรู เพราะไม่มีศัตรูภายใน เพราะฉะนั้น จะเป็นศัตรูภายนอกสักเท่าไร ก็ไม่สามารถทำอันตรายต่อผู้ที่กำลังมีกุศลจิตได้

    เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมต้องเข้าถึงอรรถของโวหารด้วย เช่น คำว่า “มิตร” พระธรรมที่ทรงแสดงไม่ว่าในอดีต เป็นจริงในปัจจุบัน และในอนาคตด้วยหรือไม่ แต่เป็นโวหารที่ให้เข้าใจอรรถหรือความหมายของคำที่ทรงแสดง อย่างพูดถึงเรื่องโค เรื่องเกวียน คนเดินทางเดินด้วยเท้า ไม่มีเพื่อนกับมีเพื่อน อย่างไหนจะดีกว่ากัน เพราะพูดถึงมิตร ไม่ได้พูดถึงคนเดียว เพราะฉะนั้น ถ้ามีเพื่อนไปด้วยก็อาจจะช่วยเหลือกันได้ เวลาที่เกิดลำบากทุกข์ร้อนก็ยังมีเพื่อนที่จะเกื้อกูลได้ และถ้าไม่ได้ไปโดยมีเพื่อน ไปคนเดียว แต่ไปโดยยานพาหนะ เช่นเกวียน และโค อุปมาว่าเป็นเพื่อนได้ไหม เกวียนกับโค ช่วยเหลือในการเดินทางให้สำเร็จ และยุคสมัยก็เปลี่ยน สมัยโน้นมีโค มีเกวียน สมัยนี้มีรถยนต์ รถไฟ เครื่องบิน เป็นเพื่อนหรือเปล่า หรือเฉพาะโคกับเพื่อนเท่านั้นที่เป็นเพื่อน หรือเฉพาะยุคนั้นเท่านั้น หรือทุกยุค ทุกสมัย

    เพราะฉะนั้น อรรถของโวหารเพื่อเข้าใจว่า ขณะใดก็ตามที่เป็นผู้ทำให้กิจการงานนั้นสำเร็จลงไปได้ ขณะนั้นก็เป็นมิตรหรือเป็นสหาย แต่แม้กระนั้นก็ยังละเอียดกว่านั้นอีกว่า ใจของบุคคลนั้นทำด้วยความหวังดีเกื้อกูลแท้จริงหรือไม่ หรือว่าเพียงประโยชน์ที่จะอาศัยกัน และกันทำให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดสำเร็จลงไปได้

    เพราะฉะนั้น เกวียนไม่มีโค ไปได้ไหม ไม่ได้ รถยนต์ไม่มีคนขับ ไปได้ไหม รถไฟ เครื่องบิน ไม่มีคนขับไปได้ไหม ก็ไปไม่ได้

    เพราะฉะนั้น โวหารเทศนาให้เห็นว่า มิตรหมายความถึงบุคคลที่ช่วยทำกิจการงานนั้นให้สำเร็จไปได้ ประการหนึ่ง เวลาที่มีทุกข์ เวลาเดินทาง หรือเวลาไหนก็ตาม แต่ว่ามิตรแท้ก็คือเป็นผู้หวังดี พร้อมที่จะเป็นประโยชน์เกื้อกูล ใจของคนที่หวังดีต่อคนอื่น ลองคิดดูว่า เป็นศัตรูหรือไม่ แล้วยังพร้อมที่จะเป็นประโยชน์เกื้อกูลทุกทางที่จะเป็นไปได้ ทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งใจ ไม่ต้องการให้ใครเดือดร้อน ไม่ต้องการให้ใครเห็นผิด ไม่ต้องการให้เข้าใจผิด ไม่ว่าจะพูด จะทำ จะคิด เพื่อประโยชน์ของคนอื่น นั่นคือมิตร ในขณะเดียวกันบุคคลผู้เป็นมิตรคิดถึงประโยชน์ของผู้ที่เขาคบ หรือว่าประเภทที่คบบุคคลอื่นเพื่อประโยชน์ของตนเอง บุคคลที่คบบุคคลอื่นเพื่อประโยชน์ของตนเองเป็นมิตรหรือไม่ แต่คนที่คบคนอื่นเพื่อประโยชน์ของคนอื่นเป็นมิตรหรือไม่ เป็น แล้วก็เป็นมิตรแท้ด้วย เพราะอะไร ขณะใดก็ตามที่ทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดเพื่อประโยชน์แก่คนอื่น ขณะนั้นเป็นประโยชน์ตน

    ส่วนใหญ่ชาวโลกจะคิดประโยชน์ตนก่อน แล้วประโยชน์คนอื่น แต่พระธรรมไม่ใช่อย่างนั้น ลึก และละเอียดด้วย ขณะใดที่สามารถเป็นเพื่อน หวังดี ต่อหน้า ลับหลัง กาย วาจา ใจทั้งหมดเป็นประโยชน์คนอื่น และขณะนั้นเป็นประโยชน์กับตนเอง เพราะขณะนั้นเป็นกุศลจิตอย่างแท้จริง

    เพราะฉะนั้น ก็คิดถึงว่า ถ้าชาวโลกบอกว่า ทำประโยชน์แก่ตนแล้วทำประโยชน์ต่อคนอื่น เขาไม่ได้เข้าใจว่า ประโยชน์ตนจริงๆ คืออะไร ประโยชน์คนอื่นจริงๆ อาศัยนั้นเพื่อประโยชน์ตนจะได้หรือเปล่า บางคนทำประโยชน์ให้คนอื่นเพื่อตนเองจะได้ ไม่ใช่เพียงว่า คบใครก็เพื่อประโยชน์ของคนนั้น ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆ ขณะนั้นเป็นประโยชน์แก่ตน เพราะเป็นกุศลจิต

    เพราะฉะนั้น ธรรมจึงเป็นสิ่งที่ละเอียดลึกซึ้ง และต้องพิจารณาถึงความมุ่งหมายด้วย แม้แต่คำว่า “มิตร” ตั้งแต่คนอื่นที่เราไปมองว่า เขาเป็นเพื่อนเราหรือเปล่า ขณะที่กำลังดูว่า คนอื่นเป็นเพื่อนเราหรือเปล่า ขณะนั้นจิตเราเป็นอะไร เห็นไหม ศัตรูหรือมิตร และขณะที่เราไม่สนใจ ใครจะเป็นอย่างไรก็เรื่องของเขา เขาเกิดมาเป็นอย่างนั้น มีกายวาจาอย่างนั้น ตามการสะสมอย่างนั้น คิดอย่างนั้น ทำอย่างนั้น ถ้าเป็นฝ่ายที่เป็นอกุศล น่าสงสาร และถ้าเป็นมิตรกับเขา เป็นได้ไหม ทำไมจะต้องเจาะจง เป็นมิตรกับคนที่ดี บุคคลที่เขาลำบาก อุปมาเหมือนคนไข้หนัก ไม่มีพยาบาล ไม่มีเพื่อนฝูง ไม่มียารักษาโรค แล้วเราสามารถช่วยให้เขาพ้นจากโรค พ้นจากความเจ็บหนัก มีกำลังขึ้น สามารถเดินทางต่อไปในสังสารวัฏได้ อย่างนั้นแสดงให้เห็นว่า ขณะนั้นความเป็นมิตรก็สามารถกว้าง ที่เราใช้คำว่า “แผ่เมตตา” ความจริงยังไม่เจริญ เวลาโกรธ ไม่มีเมตตาเลย

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ธรรมที่ตรงกันข้ามกัน คือ โทสะกับอโทสะ เพราะฉะนั้น คนที่เป็นมิตร ที่เราคิดว่า เป็นมิตรเราแล้ว เป็นมิตรแล้ว เข้าใจว่าเป็นมิตรแล้ว ถ้าเกิดโกรธคนนั้น ขณะนั้นทันทีไม่ใช่มิตร มิตรโกรธไม่ได้ หวังร้ายไม่ได้ ทำสิ่งที่ไม่ดีไม่ได้

    เพราะฉะนั้น เป็นการเตือนให้บุคคลนั้นรู้จักมิตรแท้ว่า เป็นกุศลธรรม ไม่ใช่มิตรเทียม ทำเหมือนกุศล อย่างโลภะ อยากได้อะไรก็หามาให้หมดทุกอย่าง ตามใจหมดทุกอย่าง แต่ทำร้าย และเป็นศัตรู เพราะเป็นอกุศล

    ด้วยเหตุนี้จึงต้องเข้าใจพระธรรมแม้แต่คำเดียว ให้ขัดเจนว่า ความเป็นมิตรต้องอยู่ที่จิต และต้องเป็นธรรมที่เป็นกุศล


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 173
    27 ก.พ. 2567