พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 580


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๘๐

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๒


    ผู้ฟัง การฟังธรรมให้เข้าใจขึ้นเรื่อยๆ ก็ต้องค่อยๆ ฟัง

    ท่านอาจารย์ เป็นปัญญาของเรา แต่ละคนค่อยๆ เข้าใจขึ้นทีละเล็กทีละน้อย

    ผู้ฟัง เมื่อวานนี้พระสูตรเกี่ยวกับมลทิน ๘ มลทิน ในชีวิตประจำวันก็มีอยู่ ๔ ข้อ ก็คิดว่าไม่หนักหนา แต่อวิชชานี้หนักหนา

    ท่านอาจารย์ แล้วจะทำอย่างไร รู้ว่าหนักก็ดี ก็ถูก ไม่ผิด

    ผู้ฟัง ก็ต้องค่อยๆ ฟังอีก

    ท่านอาจารย์ ขณะที่เข้าใจเป็นอวิชชาหรือไม่

    ผู้ฟัง ขณะที่เข้าใจไม่ใช่อวิชชา

    ผู้ฟัง คำถามก็คล้ายกับที่คุณบุษกรถามว่า เมื่อท่านอาจารย์ถามสำรวจว่า การฟังธรรมของแต่ละคนเป็นอย่างไร ถ้าลองตอบก็คล้ายอาจารย์อรรณพว่า เป็นเรื่องราวที่คิดได้

    ท่านอาจารย์ คุณอรวรรณชินกับคำว่า “ขันธ์ ๕” ไหม ใครไม่รู้จักขันธ์ ๕ บ้าง คุณอรวรรณจะได้บอกว่า ขันธ์ ๕ คืออะไรบ้าง ชินไหมหรือยังไม่ชินหรือเหมือนเคยได้ยินบ้าง

    ผู้ฟัง ชินเป็นคำ

    ท่านอาจารย์ มีอะไรบ้าง

    ผู้ฟัง มีรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์

    ท่านอาจารย์ ตั้งแต่ลืมตา พ้นรูปขันธ์ไหม

    ผู้ฟัง ไม่พ้น

    ท่านอาจารย์ ทุกวันมีสิ่งที่เราต้องทำ เพราะอยากได้รูปขันธ์ใช่หรือไม่

    ผู้ฟัง ใช่ เพราะอยากได้เห็น ได้ยิน

    ท่านอาจารย์ ทั้งๆ ที่รูปขันธ์ก็ไม่รู้อะไร แต่ก็รักแสนรักรูปขันธ์ โดยเฉพาะที่เป็นเรา ตลอดชาติ ทุกอย่างเป็นไปเพื่อรูปขันธ์นี้หรือไม่ รับประทานอาหารมีประโยชน์เพื่อรูปขันธ์นี้หรือไม่ มีสิ่งสวยๆ งามๆ เพื่อประดับรูปขันธ์นี้หรือไม่ ทั้งหมดให้ทราบว่าความยึดมั่นในรูปขันธ์มากแค่ไหน ข้ามไปอีกแล้ว แล้วจะมีสติปัฏฐาน และรูปขันธ์ขณะนี้ก็ไม่ใช่ธาตุรู้ และความจริงก็คือเพียงปรากฏให้เห็นแสนสั้น เพียงปรากฏแล้วก็ดับไป แต่ก็สืบต่อเหมือนไม่ดับ ทำให้เป็นที่ต้องการอยู่ตลอดเวลา

    เพราะฉะนั้น แค่รูปอย่างเดียวเท่านั้น ยังไม่กล่าวถึงสภาพธรรมอื่น รูปอย่างอื่นจริงๆ ที่ปรากฏให้เห็นชั่วคราว ก็เป็นที่ยึดมั่นอย่างมากว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด และเป็นเรา อัตตานุทิฏฐิ อัตวานุปาทาน ทั้งหมดที่นี่เป็นเราทั้งนั้น แล้วจะไปสติปัฏฐานระลึกอะไร เพื่ออะไร

    ทีนี้แน่ใจแล้วใช่ไหมว่า ความยึดมั่นมากแค่ไหนที่ไม่ทำไห้รู้สภาพธรรม หรือไม่เข้าใจธรรม ยึด โดยเป็นของเราก็อย่างหนึ่ง พอเปลี่ยนเป็นเมื่อไรเราจะเข้าใจธรรม ไม่พ้นจากโลภะ

    ผู้ฟัง บ่อยครั้งจะสงสัยว่า เหมือนกับฟังไม่ถูก ถ้าฟังไม่ถูกก็เหมือนมีตัวตนไปฟังธรรม ถ้าฟังถูก ฟังธรรมว่าเป็นธรรม แล้วไม่มีตัวตน มีแต่ธรรมที่กำลังอบรมปัญญาให้เข้าใจว่าสังขารขันธ์ ปรุงแต่ง

    ทีนี้การฟังถูก ก็ดูเหมือนเป็นปัญญาที่ยังไม่เกิด

    ท่านอาจารย์ อีกแล้ว อยากให้เกิดใช่ไหม เห็นไหมว่า โลภะมาทางอากาศ เห็นไหมโลภะแทรกอยู่ในทุกกลาป รูปที่เล็กที่สุดที่สามารถแตกย่อยออกไปได้

    เพราะฉะนั้น เรียนชื่อมาก เรียนจนบางคนสอบได้ชั้นนั้น ชั้นนี้ แต่ว่าเข้าใจสภาพธรรมที่ปรากฏหรือยัง เรียนเพื่อเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้หรือเพื่ออะไร

    ผู้ฟัง ตามความคิดก็บอกว่า ไม่ใช่จำชื่อ เรียนเพื่อเข้าใจสภาพธรรมที่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ แล้วทำไมต้องบอกตัวเองด้วย ฟังธรรมดาแล้วเข้าใจสิ่งที่ได้ฟัง ขณะนั้นก็คือธรรม เวลาที่ไปที่อื่น สนุกสนานก็เป็นธรรม เพราะทุกอย่างเป็นธรรม เป็นอนัตตาแต่ไม่อิสระ สะสมมาอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น อย่างกำลังเห็นขณะนี้ ไม่ได้รู้ตามความจริงว่าเป็นธรรมที่ต้องเกิด เพราะมีเหตุที่ได้กระทำแล้วที่จะต้องเห็น ทุกคนอยากเห็นสิ่งที่อยากจะเห็น แล้วได้เห็นหรือไม่

    เพราะฉะนั้น คงไม่ลืมว่า ถึงเวลาใช่ไหม ถึงเวลาของปัจจัยที่ทำให้สภาพธรรมนั้นเกิด สภาพธรรมนั้นจึงเกิดได้ ยังไม่เข้าใจสภาพธรรมขณะนี้ จะให้ประจักษ์การเกิดขึ้น และดับไปของสภาพธรรมขณะนี้ได้ไหม ถ้ายังไม่ถึงเวลา

    เพราะฉะนั้น คำว่า “ไม่ถึงเวลา” ละเอียดลึกซึ้งแค่ไหน เราอาจจะบอกว่า ยังไม่ถึงเวลาที่จะรับประทานอาหาร ขณะนี้ถึงเวลาฟังธรรม แต่ว่าขณะนี้ถึงเวลาเห็น ถ้าเข้าใจอย่างนี้จริงๆ กัมมัสสกตาญาณ รู้กรรมแน่ชัดว่า ไม่มีใครสามารถทำอะไรได้ กรรมเป็นสภาพนามธรรม เป็นเจตนาเจตสิก มีความจงใจ ตั้งใจ ขวนขวายที่เป็นกุศลก็มี ที่เป็นอกุศลก็มี เวลาที่กุศลกรรมสำเร็จไปแล้ว ให้เห็นในสิ่งที่ไม่ดี ได้กลิ่นไม่ดีได้หรือไม่ในเมื่อเหตุดี ผลก็ต้องดี แต่เลือกให้เกิดได้ไหมว่า วันไหนให้เป็นอย่างนี้ ให้เป็นอย่างนั้น เลือกไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจธรรม และรู้สภาพธรรมที่ไม่ใช่เรา จึงสามารถเข้าใจกัมมัสสกตาญาณได้

    ด้วยเหตุนี้ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาจึงสามารถเข้าใจทันทีว่า ญาณ คือ ปัญญาที่รู้กรรม จะต้องรู้ขณะที่เห็นเดี๋ยวนี้ว่า เดี๋ยวนี้เป็นสภาพธรรมซึ่งใครก็ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้นอกจากกรรม แล้วยังมีปัจจัยอื่นๆ อีก ไม่ใช่กัมมปัจจัยอย่างเดียว

    นี่คือความละเอียดของธรรมซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดงให้เข้าใจ และฟังแล้ว ขณะนี้โยนิโสมนสิการหรืออโยนิโสมนสิการ ถ้าอยากจะใช้ เพียงแต่ให้รู้ว่า ไม่ต้องใช้จะดีกว่า เพราะเหตุว่าไม่ต้องไปคำนึงถึงคำ กำลังเข้าใจต้องคิดถึงคำไหม กำลังเห็นต้องคิดถึงคำว่า จักขุวิญญาณไหม กำลังได้ยิน ต้องคิดว่า นามธรรมไหม เห็นไหม นี่คือการเข้าใจธรรม

    ฟังธรรมให้เข้าใจว่า สภาพที่มีจริงที่กำลังปรากฏ เป็นธรรม แม้จะยังไม่สามารถถึงความจริงว่าเป็นธรรม แต่เริ่มรู้ว่าถ้าปัญญาเกิด ปัญญารู้อะไร ก็ต้องรู้สิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง คือเป็นสภาพที่เกิดดับ

    เพราะฉะนั้น การที่กรรมจะให้ผล คือ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ซึ่งต้องเป็นอย่างนี้ตามกรรม ตั้งแต่เกิด แม้เกิดก็ต้องเป็นไปตามกรรม แม้คิดก็เป็นไปตามการสะสม ใครจะแลกความคิดใครไม่ได้ หรือแม้ที่คิดแล้วจะเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นก็ไม่ได้ มีเหตุปัจจัยที่จะคิดอย่างนั้นแล้วก็คิด เป็นอนัตตา แต่ไม่อิสระ

    วิชัย คำว่า สติสัมปชัญญะ ก็คงเป็นขณะที่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรม ก็มีสภาพคือระลึกได้ในลักษณะนั้นๆ และปัญญาก็รู้ในลักษณะนั้นๆ แต่เป็นเพียงชั่วขณะหนึ่ง ซึ่งนึกถึงคำว่า สติสัมปชัญญะ ก็เหมือนกับที่ทรงแสดงถึงเวลาเดิน เอี้ยวตัวต่างๆ ก็เหมือนรู้ตลอดเวลา ดังนั้นคำว่า “สติสัมปชัญญะ” คือแค่ไหน อย่างไร

    ท่านอาจารย์ สัมปชัญญะเป็นอีกคำของปัญญา และโดยเฉพาะปัญญาที่เป็นอสัมโมหสัมปชัญญะ เพราะสัมปชัญญะมี ๔ แต่อสัมโมหสัมปชัญญะ คือ ไม่หลงเข้าใจผิดในสภาพธรรมที่ปรากฏ เมื่อไร ขณะนี้กำลังฟังธรรม เป็นจิต เจตสิก รูป แต่ก็ยังเป็นเราที่เห็น ใช่ไหม

    เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นสติสัมปชัญญะ ถ้าใช้คำ ใช้คำว่า “ระลึก” แต่ไม่ต้องใช้คำนี้ ไม่ต้องคิดถึงคำนี้ด้วย เพราะอะไร สติสัมปชัญญะเกิดแล้วดับ ขณะที่คิด ไม่ใช่ขณะที่เป็นสติสัมปชัญญะซึ่งกำลังรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ พร้อมปัญญาที่เข้าใจถูกในความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น

    เพราะฉะนั้น ถ้าได้ยินคำว่า “สติ” เป็นธรรมฝ่ายดีแน่นอน ไม่เกิดกับอกุศลแต่เกิดกับฝ่ายดีทั้งหมด คือ โสภณจิต ซึ่งในชีวิตประจำวันเราก็จะรู้ได้เพียงแค่กุศลจิต ก็จะไม่กล่าวถึงสติที่เกิดกับจิตอื่นที่เป็นจิตที่ดีงาม ที่ไม่ใช่กุศล

    เพราะฉะนั้น ขณะใดก็ตามที่เกิดการให้ เห็นไหม เหมือนเราให สิ่งที่เป็นวัตถุที่เป็นประโยชน์กับคนอื่น แต่ความจริงขณะนั้นเป็นเจตสิกฝ่ายดี เกิดพร้อมจิต ถ้าไม่เป็นสติที่ระลึกเป็นไปในการให้ การให้เกิดไม่ได้ ไม่ใช่เราเป็นคนดี เป็นเราให้ แต่เจตสิกที่เป็นโสภณฝ่ายดีเกิดขึ้นในขณะนั้น จึงไม่เหมือนกับขณะที่ลืมให้ หรือไม่คิดเรื่องให้ คิดแต่เรื่องได้ คิดถึงแต่ประโยชน์ของตน

    เพราะฉะนั้น การเห็นประโยชน์ที่ทำให้คนอื่นได้รับความสุขจากสิ่งที่เราให้ ขณะนั้นเพราะสติเกิดขึ้นเป็นไปในทาน แต่ขณะนั้นไม่รู้ว่าเป็นธรรม จึงไม่ใช่สติสัมปชัญญะ

    อ.วิชัย บางครั้งได้ยินคำว่า “สติสัมปชัญญะ” บ่อย แต่การใช้คำ บางครั้งเป็นกุศลขั้นทาน แต่ไม่เป็นไปเพื่อรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏที่เป็นอสัมโมหสัมปชัญญะว่า เป็นไปในการรู้ลักษณะ โดยที่อบรมความสงบของจิตด้วยการรู้สึกตัวทั่วพร้อมที่เป็นสติสัมปชัญญะ

    เพราะฉะนั้น ในการให้ทาน กุศลจิตเกิดชั่วขณะโดยไม่รู้ทั่วพร้อม ก็ไม่ใช่สติสัมปชัญญะ

    ท่านอาจารย์ ขณะที่กำลังให้ ขณะหนึ่ง สติเกิด แล้วเวลาที่สามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมขณะที่ให้ มีได้หรือไม่

    อ.วิชัย ก็สามารถเกิดได้

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องต่างกัน ขณะที่สติระลึกเพียงให้ เกิดการให้ขึ้น กับขณะที่กำลังรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ให้ ก็ต้องเป็นสติ แต่ต่างกัน

    อ.วิชัย หมายถึงความรู้ที่รู้ในขณะนั้น ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เป็นสติสัมปชัญญะ

    อ. ธิดารัตน์ ช่วงเช้าท่านอาจารย์ได้อธิบายถึงลักษณะของพระนิพพานหลายครั้ง ซึ่งถ้าพูดถึงตามพยัญชนะ ก็มีคำอธิบายว่า พ้นจากตัณหาบ้าง พ้นจากสังขารนิมิต พ้นจากสภาพธรรมที่เกิดดับ ซึ่งจริงๆ แล้วคืออาจจะคุ้นกับสภาพที่เป็นสังขารธรรม แม้ค่อยๆ เข้าใจสภาพธรรมที่ปรากฏ แต่ไม่เข้าใจสภาพที่ไม่เกิดไม่ดับ

    ท่านอาจารย์ ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิด จะรู้ไหมว่า นั่นคือสติสัมปชัญญะซึ่งต่างกับสติขั้นอื่น ฉันใด ถ้าปัญญายังไม่ถึงระดับที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมจนหน่าย จะไม่สามารถรู้ว่า สิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ ปัญญาละเป็นปกติทันทีที่เห็น และเกิดขึ้น การละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา เมื่อไร ถ้าจะละเดี๋ยวนี้ที่กำลังเห็น ก็คือรู้ว่า ขณะนี้เห็นเป็นธรรมที่กำลังเห็น ไม่ใช่ขณะที่ไม่เห็น แล้วก็คิดว่า จักขุวิญญาณเกิดเพราะอะไร ทำกิจอะไร ขณะนั้นไม่มีทางที่จะรู้จักธรรมที่กำลังเห็น

    เพราะฉะนั้น ถ้าพูดถึงธรรมทั้งหมดขณะนี้ โดยไม่รู้ลักษณะที่เป็นธรรมแต่ละลักษณะ แล้วถามว่า สติปัฏฐานเป็นอย่างไร ยังไม่รู้อะไรเลย และนิพพานมีลักษณะอย่างไร

    ผู้ฟัง จากพระสูตรที่นำมาศึกษา ในผู้ที่ยังไม่เข้าใจมากพอ ก็จะไม่เข้าใจคำว่า “คบ” เป็นอย่างไร แล้วสัตบุรุษที่แท้จริงกับไม่แท้จริง จะทราบได้อย่างไร ตรงนี้ก็ขอความกรุณาท่านอาจารย์ช่วยขยายความ

    ท่านอาจารย์ ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก เพราะฉะนั้น ไม่ผ่าน และไม่ข้าม เพราะเหตุว่าการที่จะมีปัญญาถึงขั้นดับกิเลสเป็นพระอริยบุคคล คือ พระโสดาบัน ไม่ใช่เกิดขึ้นโดยไม่มีเหตุ หรือไม่ได้เกิดขึ้นโดยเหตุไม่สมควร

    เพราะฉะนั้น กว่าจะมีปัญญาถึงระดับจะดับกิเลส ซึ่งประการแรกที่จะดับก็คือ การยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะไม่รู้ความจริงว่า แท้ที่จริงก็เป็นสิ่งที่มีจริง เพราะเกิด ปรากฏ แล้วก็หมดไป แล้วก็เปลี่ยนเป็นอย่างอื่น ซึ่งพิสูจน์ได้แม้ในขณะนี้เอง ไม่ได้มีแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็น เสียง มี คิด มี ก็แสดงให้เห็นว่า ทุกอย่างที่มีไม่ได้รู้ ไม่ได้เข้าใจ ถ้าไม่มีการฟัง

    เพราะฉะนั้น การคบ ไม่ใช่เพียงได้ยินครั้งเดียว เหมือนการเห็นกัน ครั้งเดียว เรียกว่าคบไหม ถ้าเดินไปตามถนนก็เห็นหลายคน คบกับคนทุกๆ คนที่เห็นตามถนนหรือไม่ ก็ไม่ใช่ และถ้าครั้งเดียวแล้วไม่เจอกันอีกเลย ชื่อว่า “คบ” ไหม ก็ไม่ใช่

    เพราะฉะนั้น การคบก็คือการพบกันบ่อยๆ แต่จะพบใครบ่อยๆ ดี ก็ต้องพบคนที่สามารถทำให้เข้าใจสิ่งที่ไม่เคยเข้าใจมาก่อน จนสามารถรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ได้

    ฟังอย่างนี้ คนที่เพิ่งฟังครั้งแรก ก็คงจะงง ฟังให้เข้าใจถูกในสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ แค่นี้ก็ยากแล้วใช่ไหม ทำไมต้องมาฟังให้เข้าใจว่า สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้เป็นอะไร แต่รู้หรือไม่ว่าแท้จริงแล้ว สิ่งนี้เป็นอะไร และพระผู้มีพระภาคตรัสสอนเรื่องอะไร ตรัสสอนให้เข้าใจความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เพราะเป็นสิ่งที่มีจริง

    เพราะฉะนั้น ถ้าไม่เข้าใจสัจธรรมในสิ่งที่มีจริง การเกิดมาแล้วคบคนตั้งมากมาย โดยไม่ทำให้มีความเห็นถูก ความเข้าใจถูกในสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ก็ไม่มีประโยชน์

    เพราะฉะนั้น แม้แต่คำว่า “สัตบุรุษ” หรือการคบ การคบก็คือบ่อยๆ ไม่ใช่เห็นกันครั้งเดียว ก็เพื่อจะรู้ว่าบุคคลนั้นสามารถทำให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ ในสิ่งที่กำลังมี แต่ไม่เคยรู้มาก่อน ไม่เคยเข้าใจมาก่อน

    เพราะฉะนั้น ยากไหม สิ่งที่มีปรากฏแล้วบอกว่า ไม่เคยรู้จักสิ่งที่กำลังปรากฏ มีใครคิดว่า พูดอย่างนี้ไม่จริงบ้าง มีสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ไม่รู้จักความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงสัจจะ ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏโดยละเอียด โดยสิ้นเชิง เพื่อให้รู้ว่า ความรู้จริงในสิ่งที่กำลังปรากฏนั้นคืออย่างไร และถ้าไม่ฟังพระธรรม มีใครจะคิดได้ถึงสิ่งที่กำลังปรากฏว่า ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ คืออะไร

    เพราะฉะนั้น เพียงเท่านี้ยังต้องฟัง แล้วก็คิด แล้วก็จะคิดถึงอะไร ฟังเรื่องสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ แล้วคิดถึงอะไร

    ผู้ฟัง ถ้าฟังเข้าใจสิ่งที่ฟัง ก็คิดถึงสิ่งที่กำลังปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฎ และกำลังจะกล่าวความจริงของสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ฟังแล้วคิดเรื่องสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ จึงชื่อว่าฟัง เพื่อที่จะเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ ถ้าฟังเรื่องสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วคิดเรื่องอื่น มีโอกาสเข้าใจว่า เสียงที่กำลังได้ยินพูดความจริงของเรื่องสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้นั่นเอง ได้ไหม

    นี่คือความลึกซึ้งของธรรม เพราะว่าธรรมไม่ใช่อื่นไกล เป็นสิ่งที่มีจริง และกำลังปรากฏ ถ้าไม่ปรากฏจะรู้สิ่งนั้นได้ไหม คิดเองหมดก็ไม่ใช่การรู้ความจริงใดๆ ทั้งสิ้น

    เพราะฉะนั้น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ แล้วทรงแสดงความจริงนั้นเพื่อให้บุคคลอื่นรู้ตามด้วย

    ด้วยเหตุนี้ที่กล่าวว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นกัลยาณมิตรสูงสุด คือ สามารถทำให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงทุกๆ ขณะตั้งแต่เกิดจริงทั้งนั้น แต่ไม่เคยรู้ว่าความจริงของสิ่งที่มีในชีวิตนั้นคืออะไร

    ด้วยเหตุนี้ทุกคำต้องตรง แล้วก็จริงใจ ถ้ากล่าวว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นกัลยาณมิตรที่สูงสุด ประเสริฐสุด ก็ต้องรู้ว่า เพราะทรงทำให้เกิดปัญญาที่สามารถเห็นถูกในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ หรือว่าพระองค์ทรงตรัสรู้อย่างอื่น

    ผู้ฟัง เท่าที่ฟังก็ทรงตรัสรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็พอจะรู้ได้ว่า สัตบุรุษคือใคร คบสัตบุรุษก็คือคบผู้มีปัญญา ที่สามารถทำให้เห็นถูกในสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง ซึ่งตรงนี้ก็ทำให้ชัดเจนว่า ผู้ที่ไม่สามารถรู้ได้ว่า ท่านที่ว่ากล่าวธรรมทั้งนั้น แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า อะไรเป็นธรรม และอะไรไม่ใช่ธรรม และคบเป็นเช่นไร และคบก็ฟังสิ่งที่จริง ให้รู้สิ่งที่กำลังปรากฏบ่อยๆ

    ท่านอาจารย์ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ธรรมทั้งหลายที่มีจริงในขณะนี้ พระโสดาบันรู้ความจริงอย่างนี้ด้วยหรือไม่

    ผู้ฟัง ที่ทราบก็รู้ตาม แต่ยังไม่คบ

    ท่านอาจารย์ พระโสดาบันรู้ความจริงอย่างที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ และทรงแสดงหรือไม่

    ผู้ฟัง รู้ความจริงเช่นนั้น

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่รู้จะเป็นพระโสดาบันได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้ค

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ผู้ฟังขณะนี้รู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏหรือไม่

    ผู้ฟัง ยัง

    ท่านอาจารย์ ยัง แต่รู้ว่า สิ่งที่มีจริงที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ธรรม จะได้ยินคำนี้บ่อย “ธรรม” แล้วธรรมอยู่ที่ไหน ถ้าไม่ฟังจะไม่รู้ว่า ทุกขณะที่มีจริงเป็นธรรม เพราะฉะนั้น เห็นขณะนี้เป็นธรรม พระโสดาบันรู้ไหมว่า เป็นธรรม

    ผู้ฟัง ทราบ

    ท่านอาจารย์ ธรรมเป็นเราหรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ เห็นเป็นเราหรือเป็นธรรม

    ผู้ฟัง เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ และขณะนี้เห็นเป็นเรา หรือเป็นธรรม

    ผู้ฟัง เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ ยังไม่รู้ลักษณะที่เห็นว่า เป็นธรรม แม้กำลังเห็น เพราะฉะนั้น ตั้งแต่เกิดมา เดี๋ยวเห็น เดี๋ยวได้ยิน ก็เป็นธรรมทั้งหมด แต่ไม่ได้รู้ความจริงในขณะที่ธรรมนั้นๆ กำลังทำหน้าที่เกิดขึ้นแล้วดับไปแต่ละขณะ อย่างเห็น เป็นธรรมที่กำลังทำหน้าที่เห็น ไม่มีเราเลย ถ้าจิตเห็นไม่เกิดขึ้นเห็น ความรู้สึกว่าเราเห็นไม่ได้ แต่เพราะมีธาตุหรือธรรมที่เกิดขึ้น และกำลังเห็น ต้องไปหาเห็นที่ไหนหรือไม่ ในเมื่อขณะนี้กำลังเห็น

    เพราะฉะนั้น เมื่อเห็นมีแล้ว ก็คือฟัง จนสามารถเข้าใจได้ว่า สิ่งที่มีจริงขณะนี้มีแน่นอน แล้วก็เกิดขึ้นทำกิจเห็น แล้วก็ดับไป สภาพธรรมในขณะที่เสียงปรากฏ เสียงจะปรากฏได้เพราะมีธาตุที่สามารถได้ยินเกิดขึ้นได้ยิน แล้วก็ดับไป


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 173
    12 ก.พ. 2567