พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 588


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๘๘

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๒


    ท่านอาจารย์ รู้เป็นปัญญาหรือไม่

    ผู้ฟัง รู้เป็นปัญญา

    ท่านอาจารย์ ขณะที่เว้นเป็นปัญญาหรือไม่

    ผู้ฟัง ขณะที่เว้นรอบ หมายความถึงขณะที่อกุศลจิตเกิด

    ท่านอาจารย์ เวลาที่เห็นแล้วเป็นอกุศล เว้นหรือไม่เว้น

    ผู้ฟัง ขณะที่เป็นอกุศลก็ไม่ได้เว้นรอบ

    ท่านอาจารย์ เว้นรอบนี่กี่ทาง

    ผู้ฟัง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

    ท่านอาจารย์ แล้วรู้รอบกี่ทาง

    ผู้ฟัง รู้ทีละทางๆ

    ท่านอาจารย์ แล้วรู้รอบทางไหน

    ผู้ฟัง รู้รอบทางใจ

    ท่านอาจารย์ ไม่มีอย่างอื่นเข้ามาเลย ในขณะนั้นที่กำลังปรากฏ แล้วก็รู้รอบสิ่งที่กำลังปรากฏอย่างเดียว ไม่มีอย่างอื่น ทั้งโลกไม่มี เราไม่มี อะไรไม่มี คนไม่มี

    อ.อรรณพ ข้อความที่ว่า ก็อะไรเป็นโคจร คือเป็นอารมณ์อันเป็นของบิดาของตน คือ สติปัฏฐาน ๔

    ท่านอาจารย์ บิดานี้ใคร

    อ.อรรณพ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จะมีการรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ มีพระธรรมที่ทรงแสดงจนเป็นอุปนิสัย แล้วเป็นอารักขโคจร เป็นอุปนิพันธโคจรหรือไม่ ก็เป็นไปไม่ได้ อย่างที่เคยเป็นมาแล้วในสังสารวัฏที่ไม่มีโอกาสได้ฟังพระธรรม

    อ.วิชัย สติปัฏฐานที่กล่าวถึงหมายถึงอารมณ์ของสติก็ได้ หรือตัวสติก็ได้ ใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ มีความหมาย ๓ อย่าง สติปัฏฐาน ๔ กับสติปัฏฐาน ๓ มี ๒ นัย

    สติปัฏฐาน ๔ คืออะไร

    อ.วิชัย กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

    ท่านอาจารย์ สติปัฏฐาน ๓

    อ.วิชัย สติปัฏฐาน ๓ หมายถึงอารมณ์ของสติ หมายความว่าพระผู้มีพระภาคทรงมีสติ ไม่หวั่นไหวในสาวกที่ปฏิบัติตามหรือไม่ปฏิบัติตาม

    ท่านอาจารย์ เท่านั้นหรือ แล้วพระอริยบุคคลอื่น

    อ.วิชัย เป็นที่ดำเนินไปของพระอริยบุคคล

    ผู้ฟัง แผ่เมตตากับอุทิศส่วนกุศลไม่เหมือนกันใช่หรือไม่ การกระทำไม่เหมือนกันใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่เหมือนอย่างไร

    ผู้ฟัง แผ่เมตตาหมายความว่าเป็นมิตรกับคนทุกคน

    ท่านอาจารย์ ธรรมเป็นเรื่องเข้าใจ ไม่ใช่เรื่องชื่อ เมตตาคือสภาพธรรมที่ดีงาม ไม่โกรธ ไม่เป็นศัตรู ไม่หวังร้ายเมื่อไร ขณะนั้นก็สามารถช่วยเหลือเกื้อกูลคนอื่นได้ แต่ถ้าเราหวังร้ายกับใครก็สามารถช่วยเหลือเกื้อกูล หรือให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดกับคนนั้นได้ไหม คือต้องเข้าใจสภาพธรรมที่เป็นกุศลธรรมกับอกุศลธรรมก่อน สภาพธรรมที่ตรงกันข้ามของโทสะ ความโกรธ ความขุ่นใจก็คือความหวังดี เมื่อสักครู่นี้มีใครโกรธบ้างไหม มีใครไม่พอใจบ้างไหม มี ขณะนั้นเมตตาหรือไม่

    นี่คือการเข้าใจธรรม ไม่ใช่เข้าใจเวลาอื่น เราพูดเรื่องเมตตามากมาย แต่เวลาที่สภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกับเมตตาเกิดก็ไม่รู้ หรือขณะใดก็ตามที่ใครมีความเป็นเพื่อนเกิด ขณะนั้นไม่ได้เป็นเพียงชื่อ

    เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรม ศึกษาให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ จึงจะตรง และถูกต้อง มิฉะนั้นก็เป็นชื่อที่เราคิด และเราคาดคะเน แต่ความจริงไม่ใช่ลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ จึงต้องถามอยู่เสมอว่า ใช่ไหม และคืออะไร แต่ตามความเป็นจริงโกรธ ขุ่นใจ มีหรือไม่ ขณะนั้นที่โกรธเป็นเพื่อนกับคนนั้นหรือไม่ ไม่เป็น แต่ถ้าเข้าใจ และเห็นใจ และหวังดี พร้อมที่จะเกื้อกูล ขณะนั้นไม่ขุ่นใจ ยากไหม สิ่งที่เราเห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ส่วนใหญ่ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ก็เป็นปัจจัยให้สะสมความขุ่นเคือง ไม่พอใจเกิดขึ้นได้ทันที แม้แต่ลมพัดแรงๆ ดีไหม ชอบลมพัดแรงๆ บางคนไม่ได้ ต้องลมพัดอ่อนๆ ถ้าแรงก็เปลี่ยนให้เบาลง แค่นี้ก็ขุ่นใจ

    เพราะฉะนั้น ความโกรธ หรือความไม่พอใจ ก็มีสมุฏฐานมากมาย พร้อมที่จะเกิดได้รวดเร็ว แต่เวลาที่ลมพัด มีพายุ ไม่ชอบใช่หรือไม่ โกรธลม โกรธพายุหรือไม่หรือเพียงแต่ขุ่นใจไม่ชอบสภาพธรรมนั้นๆ เพราะไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

    เพราะฉะนั้น เวลาที่เราใช้คำว่า “เมตตา” ต้องมีสัตว์บุคคล เราจะไม่ไปเมตตาพายุ หรือไม่ ไปเมตตาคลื่นในทะเล แต่ว่าคนที่เรากำลังคบอยู่ เห็นอยู่ จะรู้จักหรือไม่รู้จัก จะคุ้นเคยหรือไม่ก็ตาม เมตตาคือขณะที่พร้อมจะเกื้อกูลด้วยความเป็นมิตร และไม่คิดร้าย

    เพราะฉะนั้น เวลาที่มีความเมตตาเกิดขึ้นแล้วทำกุศลแล้วกุศลนี้สามารถอนุโมทนา ถ้าเขาสามารถรู้ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อมีจิตเมตตาที่จะให้คนอื่นได้เกิดกุศลด้วย ขณะนั้นก็เป็นไปในการอุทิศส่วนกุศล

    เพราะฉะนั้น เวลาที่กุศลจิตเกิดเป็นไปในทานก็ได้ เป็นไปในศีลก็ได้ เป็นไปในความสงบของจิตก็ได้ เป็นไปในการเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ก็ได้ ทุกอย่างที่ดีก็ดี แต่ไม่ใช่เฉพาะทานอย่างเดียวที่เป็นบุญหรือเป็นกุศล อย่างอื่น จิตที่ดีเกิดขึ้นขณะใดย่อมทำให้กายวาจาเป็นไปในทางที่ดี เพราะจิตนั้นดี ถึงแม้ว่าไม่เป็นไปที่ทำให้เกิดกายวาจาที่ดี เพียงเห็นแล้วเป็นมิตร มีเมตตา ขณะนั้นก็เป็นกุศล

    เพราะฉะนั้น เหมือนหรือไม่เหมือนอย่างไร การฟังธรรมต้องคิดว่าไม่ใช่ชื่อ แต่ชื่อที่ต่างเพราะเหตุว่าความโกรธ ความขุ่นใจ ขุ่นใจอะไรก็ได้ แต่เมตตาต้องเป็นสัตว์ เป็นบุคคล มีความเป็นมิตรกับสิ่งที่มีชีวิต

    ผู้ฟัง สืบเนื่องจากพระสูตรเมื่อวานเกี่ยวกับการระงับความอาฆาตหรือความโกรธ ที่ท่านพระสารีบุตรกล่าวกับภิกษุ มีข้อความหนึ่งที่ว่า เมื่อบุคคลใดที่ไม่บริสุทธิ์ทางกาย วาจา คือผิดศีลข้อ ๑ ๒ ๓ ๔ ตามที่มีการขยายความ แต่มีความสงบทางใจ ก็ให้มองที่ความสงบทางใจ ทีนี้คิดจากการฟังว่า การที่จะล่วงออกมาทางกายวาจาก็ต้องเป็นเพราะว่ามีกิเลสหรืออกุศลที่มีกำลัง จึงล่วงมาทางกาย ทางวาจา จึงดูเหมือนขัดแย้งว่า คนที่ล่วงออกมาทางกาย ทางวาจา แล้วใจสงบ จะเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ธรรมเป็นชีวิตประจำวันจริงๆ หรือไม่

    ผู้ฟัง เป็นชีวิตประจำวัน

    ท่านอาจารย์ จากที่ไม่เคยเข้าใจ เป็นความเข้าใจขึ้น ถูกต้องขึ้น เพราะฉะนั้น ชีวิตประจำวันจริงๆ เวลาที่เกิดสงบใจ กับเวลาที่กายวาจาไม่ดี พร้อมกันหรือต่างขณะ

    ผู้ฟัง ต่างขณะ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น แต่ละคนจิตเกิดขึ้นทีละหนึ่งขณะ แล้วแต่ว่าขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล ก็ไม่ปะปนกัน กุศลจิตก็ดับไปแล้ว อกุศลจิตก็เกิด หรืออกุศลจิตดับไปแล้ว กุศลจิตจึงเกิดได้

    ชีวิตประจำวันจริงๆ ทุกคนที่มาฟังธรรมที่นี่ หรือที่ไหนก็ตาม กายดีหรือไม่ วาจาดีหรือไม่ ชอบไปหมดไหม ทุกคนที่มาที่นี่ ไม่ว่าจะพูดอะไร คิดอะไร ทำอะไร หรือมองเห็นว่า คนนั้นไม่ควรจะทำอย่างนี้ ไม่ควรจะพูดอย่างนี้ คิดหรือเปล่า ชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้น เวลาที่ใครก็ตามกายไม่ดี วาจาไม่ดี แต่ก็ฟังธรรม ขณะที่กำลังฟัง สงบใจไหม หาหนทางที่จะละอกุศลหรือไม่ แต่จะทิ้งความไม่ดีทางกาย ทางวาจาที่สะสมมานานแสนนานให้หมดไปเวลาที่มาฟังธรรมก็ดีไปหมด เป็นไปได้ไหม ก็เป็นไปไม่ได้ ตรงใช่ไหม ชีวิตประจำวัน

    ผู้ฟัง ถ้าท่านอาจารย์อธิบายเป็นไปแต่ละขณะจิต หลงลืมไป ไม่นึกว่า แต่ละคนที่เป็นเช่นนี้ก็สับสนขัดแย้ง แต่มาได้ฟังอย่างนี้ก็ชัดเจนว่า ลืมไปว่า ธรรมเกิดดับแต่ละขณะ

    ท่านอาจารย์ มีตั้งแต่กายก็ไม่ดี วาจาก็ไม่ดี แล้วยังไม่ได้ความสงบใจด้วย ธรรมก็ไม่ฟัง เป็นอย่างไร ดีไหมอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ควรเมตตาหรือไม่ควรเมตตา หรือควรจะโกรธ พระธรรมทั้งหมดน้อมเข้ามาในตนโดยสังขารขันธ์ จากการฟังแล้วเข้าใจ ไม่ใช่มีใครไปทำอะไรได้ แต่ต้องเข้าใจ แม้เมตตาอยู่ที่ไหน ไม่ได้อยู่ข้างนอก แต่เกิดกับจิต พร้อมจิต แล้วก็ดับ แล้วก็สะสม

    ผู้ฟัง คำว่า “ชีวิตประจำวัน” หมายถึงขณะจิต ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีจิต จะมีชีวิตหรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ จิตเกิดแล้วดับหรือไม่

    ผู้ฟัง ดับ

    ท่านอาจารย์ ดับแล้วเกิดอีกหรือไม่

    ผู้ฟัง เกิดอีก

    ท่านอาจารย์ เมื่อวานนี้จิตตายหรือยัง

    ผู้ฟัง ตายหมดแล้ว

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้กำลังตายทุกขณะหรือไม่

    ผู้ฟัง ตายทุกขณะ

    การเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม สภาพธรรมที่เกิดทั้ง ๖ ทาง คือพอจะเข้าใจจากการฟัง แต่จริงๆ แล้ว ไม่ได้รู้ตรงลักษณะขณะที่เกิด ไม่ได้รู้ตรงนั้น แต่ไปรู้ตรงที่ผ่านไปแล้ว

    ท่านอาจารย์ รู้ผ่านไปแล้ว รู้อย่างไร

    ผู้ฟัง เหมือนตามไปรู้ขณะที่ดับไปแล้ว

    ท่านอาจารย์ รู้อะไร อะไรดับไปแล้ว

    ผู้ฟัง อย่างเช่นจิตเห็น เห็นสี รู้ว่าเห็น แต่ไม่ได้รู้ตรงลักษณะที่เห็นจริงๆ แล้วก็เป็นสภาพคิดไปหมด

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ศึกษาธรรมเพื่อให้เข้าใจถูกตามความเป็นจริงว่าเป็นอย่างนี้ จะเป็นอย่างอื่นไม่ได้ เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วก็เป็นอย่างนี้

    ผู้ฟัง เป็นอย่างนี้ก็ยังไม่ได้เข้าถึงลักษณะจริงๆ

    ท่านอาจารย์ ก็คือให้รู้ว่า ยังไม่เข้าถึงลักษณะของสภาพธรรม ศึกษาธรรมเพื่อให้มีความเห็นถูกตามความเป็นจริง เมื่อขณะนี้เป็นจริงอย่างนี้ ก็จะเป็นอย่างอื่นไม่ได้

    ผู้ฟัง เมื่อความจริงเป็นอย่างนี้ แต่ทีนี้ไม่ได้เข้าใจความจริงของเขาจริงๆ

    ท่านอาจารย์ นี่ก็คือเห็นถูกว่า ไม่ได้เข้าใจความจริง ศึกษาเพื่อรู้ตามความเป็นจริง เวลาไม่เข้าใจ จะบอกว่าเข้าใจได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เวลาไม่เข้าใจก็บอกถูกว่า ไม่ได้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง แล้วเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ แล้วจะได้ประโยชน์อะไรหรือ

    ท่านอาจารย์ มีเราที่ต้องการประโยชน์จากการฟังธรรม แต่ไม่ได้ฟังเพื่อเข้าใจสิ่งที่กำลังมี

    ผู้ฟัง สิ่งที่กำลังมีจริงๆ โดยที่ยังไม่เข้าใจตรงลักษณะนั้นจริงๆ

    ท่านอาจารย์ แล้วอย่างไร

    ผู้ฟัง ก็ต้องเกิดจากการฟัง

    ท่านอาจารย์ ค่ะ

    ผู้ฟัง ฟังแล้วก็ต้องเกิดจากการไต่ถาม ถ้าไม่ไต่ถามก็ไม่ได้เข้าใจขึ้นอีก

    ท่านอาจารย์ ก็จริง กำลังถามก็จริง

    ผู้ฟัง ขอถามเรื่องการ “เว้นรอบ” และ “รู้รอบ” เพื่อความเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ใช้คำว่า “รู้” ก็มีคำว่า “รอบ” ด้วย รู้อย่างเดียวหรือรู้หลายๆ อย่างเวลาใช้คำว่า “รู้รอบ”

    ผู้ฟัง ขณะที่รู้ก็คือรู้หลายๆ อย่าง แต่ว่ารู้แต่ละอย่างที่เกิดขึ้นว่าเป็นเพียงนามธรรมหรือรูปธรรม

    ท่านอาจารย์ จิตเกิดดับเร็วไหม

    ผู้ฟัง เร็ว

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้เห็นด้วย ได้ยินด้วย คิดด้วย หรือพร้อมกัน รู้รอบหรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ได้รู้รอบ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จะรู้รอบเมื่อไร และอย่างไร

    ผู้ฟัง จะรู้รอบต้องเป็นปัญญาขั้นสติปัฏฐานหรือขั้นวิปัสสนาญาณ

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้มีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เลือกให้สติเกิดได้หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่อะไรจะเกิด ถ้าไม่ได้สะสมความเข้าใจที่รู้ว่า ขณะนี้เป็นสภาพธรรม จนกระทั่งมีความมั่นคง ไม่คิดเรื่องอื่นเลย แต่ขณะที่ฟังก็รู้ว่า มีสิ่งที่กำลังปรากฏจริงๆ แล้วรู้แค่ไหน รอบหรือยัง

    ผู้ฟัง ไม่รอบ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จะเริ่มรู้เมื่อไร

    ผู้ฟัง ต้องค่อยๆ ฟังให้เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ แล้วจะรู้ลักษณะที่เป็นธรรมเมื่อไร

    ผู้ฟัง เมื่อปัญญาเกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ ปัญญาที่เกิดพร้อมสติสัมปชัญญะที่กำลังรู้ลักษณะที่กำลังปรากฏ รู้รอบหรือยัง

    ผู้ฟัง รู้รอบ

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่ต้องมีวิปัสสนาญาณ เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจความหมายด้วย สภาพธรรมเกิดดับสืบต่อ ไม่รู้ว่า ขณะนี้ไม่ใช่สภาพธรรมเมื่อสักครู่นี้แล้ว

    เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ว่า ขณะนี้เป็นธรรมเพียงอย่างเดียวที่ต่างกับธรรมลักษณะอื่นๆ ไม่ปะปนกัน ทั้งๆ ที่ฟังเรื่องเห็น ฟังเรื่องได้ยิน ฟังเรื่องคิด ฟังเรื่องโกรธ ก็เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง เกิดดับหมดหรือยัง หมดแล้ว ไม่เหลือเลย

    เพราะฉะนั้น ขณะนี้ถ้ามีปัจจัยพอที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมหนึ่ง พร้อมสติสัมปชัญญะซึ่งรู้ว่า ขณะนั้นต่างจากขณะที่สติสัมปชัญญะไม่เกิด และเริ่มรู้ว่า ขณะนั้นสั้นหรือเล็กน้อยแค่ไหน พอที่จะรู้รอบได้หรือยัง

    ผู้ฟัง ยัง

    ท่านอาจารย์ จนกว่าจะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมนั้น

    ผู้ฟัง ขอถาม “ธรรมเตือนใจ” ที่ว่า “เมื่อผู้ทำความผิดเป็นผู้มีคุณ เราไม่ควรทำความโกรธในผู้มีคุณ” ตรงนี้พอเข้าใจได้ “เมื่อผู้ไม่มีคุณทำความผิด เราควรแสดงความสงสารเป็นพิเศษ” ตรงนี้ไม่เข้าใจ

    อ.คำปั่น คือปกติคนเราเมื่อยังเป็นปุถุชนก็ย่อมมีความประพฤติที่ไม่ดีบ้างเป็นธรรมดา มีความไม่บริสุทธิ์ทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง ทางใจบ้าง บางครั้งบางคราวการกระทำอาจจะเป็นเหตุทำให้เราไม่พอใจได้ สิ่งนี้ก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าได้ศึกษาธรรม ศึกษาพระธรรมคำสอนแล้วก็จะพบว่า ไม่มีคำสอนใดเลยที่จะส่งเสริมหรือเกื้อหนุนให้เกิดอกุศลจิต ไม่มีเลย บุคคลที่ควรโกรธจึงไม่มีแม้จะได้รับการกระทำที่รุนแรงหนักหนาปานใดก็ตาม ถ้าเกิดความโกรธในบุคคลนั้น ไม่ชื่อว่า ทำตามคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ปกติแล้วผู้ที่ไม่มีคุณความดีอะไร เปรียบเหมือนกับคนไข้อนาถา ไม่มียาที่ถูกกับโรค ไม่มีอาหารที่สบาย ไม่มีผู้คอยอุปัฏฐากที่คอยดูแลรักษา ยิ่งควรสงสารคนประเภทนี้ ไม่ควรจะโกรธ เพราะว่าขณะที่โกรธไม่ใช่ความผิดของใคร เป็นอกุศลของตัวเองที่สะสมขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสะสมโทสะ ความโกรธ จนกระทั่งมีกำลังมากขึ้นก็อาจจะทำร้ายผู้อื่นก็ได้ ถึงกับฆ่าผู้อื่นก็ได้ สิ่งนี้คือกำลังของโทสะ หรือกำลังของความโกรธ จึงมีพระพุทธพจน์บทหนึ่งที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “โทษที่เสมอด้วยโทสะไม่มี” เพราะความโกรธเล็กๆ น้อยๆ ที่สะสมมีกำลังมากขึ้น ถึงกับฆ่าผู้มีพระคุณก็ได้ จึงเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก สำหรับสภาพธรรมที่เป็นอกุศลธรรม จึงไม่มีแต่เฉพาะโทสะเท่านั้นที่น่ากลัว กิเลสทุกประเภท ทั้งโลภะ ทั้งโมหะ ทั้งโทสะก็น่ากลัวเหมือนกันหมด จึงมีการศึกษาพระธรรมเพื่อเข้าใจตามความเป็นจริงเพื่อละคลายกิเลส และสามารถดับกิเลสได้ในที่สุด จึงมีการศึกษาพระธรรมนั่นเอง

    ทีนี้ที่กล่าวว่า ควรแสดงความสงสาร ก็คือขณะนั้นมีความกรุณาเกิดขึ้นหวังให้เขาพ้นจากความทุกข์นั้น ไม่ควรโกรธหรือควรมีเมตตาหรือควรเกิดความสงสาร ปรารถนาให้เขาพ้นจากความทุกข์นั้นๆ กราบเรียนท่านอาจารย์เพิ่มเติม

    ท่านอาจารย์ ธรรมเป็นชีวิตประจำวันหรือไม่ ไม่โกรธคนดี ใช่ไหม เพราะเขาดี แต่คนไม่ดี ไม่โกรธ ยากไหม เป็นพิเศษไหมค ต่างจากคนที่ปกติดี เขาอาจจะมีอะไรบ้างที่ไม่ดีเล็กๆ น้อยๆ แต่เป็นคนดี ถึงจะโกรธเกิดแล้วก็ไม่นาน เพราะเห็นความดีของเขา แต่ถ้าคนไม่ดี แล้วไม่โกรธคนไม่ดี ก็ต้องยากกว่าเป็นพิเศษ

    ผู้ฟัง ดูเหมือนเหตุปัจจัยที่ให้โกรธ ตัวอย่างที่เจ้านายคนหนึ่งที่มีทาสดูแลคนใช้ดี ถ้าคนใช้ทำงานดีก็ไม่โกรธ คนใช้ไม่แน่ใจว่า เจ้านายจะโกรธไหม ก็เลยทดสอบด้วยการตื่นสายแล้วไม่ทำหน้าที่ ตอนหลังก็ทราบว่า เจ้านายก็โกรธ ดูเหมือนมีปัจจัยให้โกรธเกิด ในสถานการณ์ปกติก็ไม่มีเหตุปัจจัยให้โกรธ แต่มีคนทำให้ไม่พอใจ ก็เป็นเหตุปัจจัยให้โกรธ แต่ไม่มีอะไรทำให้พระอรหันต์หรือพระอนาคามีความโกรธได้ เพราะว่าดับอนุสัยให้โกรธเกิดแล้ว สำหรับคนอื่นก็ต้องมีเหตุปัจจัยทำให้โกรธด้วย

    ท่านอาจารย์ แล้วจริงๆ ความโกรธอยู่ที่ไหน

    ผู้ฟัง อยู่ที่กิเลสที่โกรธ

    ท่านอาจารย์ อยู่ที่ใจใช่ไหม แล้วจะเอาความโกรธออกจากใจได้อย่างไร

    ผู้ฟัง ก็ต้องอบรมเจริญปัญญา

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ใครก็ตามว่าร้ายต่างๆ กายวาจาไม่ดีต่างๆ แล้วก็โกรธ เพราะคิดว่าเขาว่าร้าย หรือเพราะการกระทำของเขาไม่ดี แต่ลืมไปว่า ความโกรธอยู่ที่ใจ ไม่ใช่อยู่ภายนอกเลย เพราะฉะนั้นจะน้อมธรรมเข้าใจในใจ ก็คือเมื่อฟังแล้วเกิดปัญญา ควรโกรธหรือไม่ควรโกรธ น้อมมาหรือยังที่จะไม่ควรโกรธอีกต่อไป หรือว่าเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ไม่โทษคนอื่น เพราะความโกรธของเราไม่ใช่อยู่ที่คนอื่น แต่อยู่ที่ใจของแต่ละคน จะมากจะน้อยอยู่ที่สะสมมา ปรากฏให้เห็นก็ไม่เห็น ไปเห็นว่าคนอื่นไม่ดี คนอื่นไม่ดีนั้นเรื่องเขา ทำอะไรได้

    พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้ฝึกบุรุษที่ควรฝึก แล้วเรากำลังฝึกหรือเปล่า หรือยังไม่ยอมจะฝึก ถ้าฝึกก็คือรู้ว่า กิเลสไม่ได้อยู่ที่คนอื่น ความโกรธไม่ได้อยู่ที่คนอื่น ใครจะด่า จะว่า จะประทุษร้ายอย่างไร ความโกรธไม่ได้อยู่ที่การกระทำของเขา แต่อยู่ในใจของคนที่ยังมีความโกรธนั้นอยู่


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 173
    19 ก.พ. 2567