พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 545


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๔๕

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๒


    ท่านอาจารย์ ใคร ที่ยังไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ ศัตรูก็ไม่รู้ไม่เห็น อวิชชาเห็นไหมคะ กลายเป็นเราฟัง ฟังมาแล้วมากๆ ก็ยังไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ ซึ่งขณะนี้เราก็กำลังพูดถึงธรรม ทุกอย่างเป็นธรรม ขณะนั้นเป็นเราจริงๆ ฟังตั้งนานแล้วก็ไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ขณะนั้นศัตรูที่มองไม่เห็นก็คืออวิชชา เกิดแล้ว มีแล้ว ฟังจนกว่าจะรู้ ธรรมใดเป็นมิตร ธรรมใดเป็นศัตรู ไม่ใช่คนอื่นเลย ทำลายจิตให้เศร้าหมอง มืด ไม่สว่างด้วยความไม่รู้ ถ้ามีความไม่รู้ ก็มีความติดข้อง ใช่ไหม ไม่รู้ว่าเป็นอะไร แต่ปรากฏให้เห็น ก็อยากเห็นเรื่อยๆ ไป ปรากฏให้โกรธ โดยไม่รู้ว่า แท้ที่จริงสภาพนั้นก็เพียงปรากฏ แล้วก็หมดไป แม้แต่ศัตรูคือโกรธหรือโทสะ เกิดแล้วก็หมดไปแล้วด้วย ทั้งหมดไม่ใช่เรา ฟังธรรมเพื่อรู้ว่า เป็นธรรมจริงๆ กี่ภพ กี่ชาติ ไม่มีใครนอกจากสภาพธรรมแต่ละอย่าง และเป็นภัยไหม มีมากจนเป็นเหตุให้กระทำอกุศลกรรม กำลังทำอกุศลกรรมก็ไม่รู้ว่าเป็นภัย ต่อเมื่อไรภัยให้ผล รู้ไหมว่า ผลที่ไม่ดีเกิดมาจากอกุศลกรรม ซึ่งเป็นภัยมาถึงเมื่อไรก็เหมือนมือที่มองไม่เห็น เห็นแต่คนนี้ทำ คนโน้นทำ

    เพราะฉะนั้น อกุศลทั้งหลายเป็นศัตรูแน่นอน ไม่ได้นำสิ่งที่ดีมาให้ ไม่ว่าจะเป็นโลภะ โทสะ โมหะ ริษยา มานะ มัจฉริยะ อิจฉา หรือสภาพธรรมใดๆ ทั้งสิ้น ที่เป็นอกุศลทั้งหมด ไม่ใช่มิตร เป็นศัตรูเพราะอะไร เพราะทำให้เกิดกรรมซึ่งเป็นภัย ซึ่งจะต้องมีผล เมื่อถึงกาละที่กรรมจะให้ผล ก็นำมาซึ่งเราเรียกว่า “ภัย” จะจากธรรมชาติ ลมฟ้าอากาศ ศัตรู หรืออะไรก็ตามแต่ แต่ทั้งหมดนั้นถ้าไม่มีกรรม ก็จะไม่มีผลของกรรมที่จะเกิดเป็นเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสที่ไม่น่าพอใจ

    เพราะฉะนั้น ศัตรูจริงๆ อยู่ที่ไหน ไม่ใช่ใครเลย ถ้าคิดว่าอยู่ข้างนอกเป็นคนอื่น นั่นคือคิด และขณะที่คิดเป็นกุศลหรืออกุศล ถ้าคิดว่าคนนั้นเป็นศัตรู ศัตรูนั้นน่าสงสารไหมถ้าเขาทำกรรมที่ทำทุจริต และถ้าเราทำกรรมที่ทุจริต ก็เหมือนกันเพราะเหตุว่าเป็นธรรม ไม่มีใครเป็นเจ้าของสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใด อกุศลจิตเกิดเพราะอกุศลเจตสิก เป็นศัตรู ไม่ใช่มิตร ทุกกาละ ไม่ว่าเมื่อไร ขณะไหน จะเปลี่ยนโลภะ โทสะ โมหะให้เป็นมิตรไม่ได้ เพราะเหตุว่าถ้ามีความติดข้องต้องการก็เป็นเหตุให้ขวนขวายแสวงหาจนกระทั่งกระทำทุจริตต่างๆ ซึ่งก็เป็นอกุศลกรรม เมื่อเป็นอกุศลกรรม ก็เป็นภัยที่มองไม่เห็น เพราะเหตุว่ายังไม่ได้นำมาซึ่งผลของกรรมนั้น แต่มองไม่เห็นว่า ขณะนั้นมีภัยที่จะเกิดขึ้น เมื่อถึงกาละที่จะเกิด

    น้ำเป็นภัยหรือไม่ ถ้าไม่ใช่น้ำท่วม ก็ไม่เป็นภัย ไฟเป็นภัยหรือไม่ เหมือนกับอกุศลจิตเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้น ไฟคืออกุศลนิดหน่อย เป็นภัยหรือไม่ แต่ถ้ามากขึ้นเป็นไฟไหม้ เป็นภัยหรือไม่ นั่นก็คือภัยที่เรามองเห็น แต่ภัยที่มองไม่เห็น คืออกุศลกรรม ใครก็ตามที่ทำอกุศลกรรมแล้ว ที่จะพ้นจากการจะได้รับผลของอกุศลกรรมนั้นไม่มี ทรงแสดงไว้ว่า ไม่ว่าจะอยู่บนอากาศ บนดิน ในถ้ำ ใต้น้ำ ก็ไม่พ้นจากภัยของกรรม คือผลที่จะเกิดขึ้น เวลาผลเกิดก็ไม่มีใครมองเห็น เหมือนมือที่มองไม่เห็น เพราะเห็นน้ำ เห็นไฟ เห็นคนถืออาวุธต่างๆ แต่ความจริงผลของกรรมเป็นสิ่งที่ใครก็มองไม่เห็น ที่ใช้คำว่า “มือที่มองไม่เห็น”

    เพราะฉะนั้น สิ่งที่มองไม่เห็น คือศัตรูที่มองไม่เห็น ภัยที่มองไม่เห็น และมือที่มองไม่เห็น เมื่อถึงกาละที่ภัยนั้นคือกรรมจะให้ผล ก็เหมือนมือที่มองไม่เห็น ทำได้ทุกอย่าง ซึ่งใครจะคาดฝันหรือคิดว่าจะเป็นไปได้ ไม่ว่าทางฝ่ายของกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม ซึ่งทางฝ่ายกุศลไม่ใช่ภัย แต่อกุศลแม้เพียงเล็กน้อย เหมือนน้ำ เหมือนไฟ ซึ่งยังไม่ให้โทษ ยังไม่ทำอันตราย แต่เมื่อเป็นกรรมเมื่อไร เป็นปัจจัยให้เกิดผลเมื่อไร ผลนั้นก็ต้องเกิด

    เพราะฉะนั้น อวิชชาไม่สามารถเห็น และเข้าใจธรรมได้ มืดสนิท เวลาโกรธ อวิชชามืด แล้วยังมีโทสะ มืดอีก และยังมีอกุศลอื่นด้วยในขณะนั้น และก็เป็นอย่างนี้มานานแสนนาน เพราะฉะนั้นการรู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็ไม่ใช่เรื่องวันจะอบรมเอง เพราะเหตุว่าได้ยินได้ฟัง ได้ไตร่ตรอง และเป็นปัจจัยที่เป็นสังขารขันธ์ที่ทำให้กุศลทั้งหลายเจริญขึ้น แม้แต่เพียงชั่วขณะที่รู้ลักษณะของธรรมที่ปรากฏ ซึ่งต่างกับขณะที่เพียงปรากฏในชีวิตประจำวัน แต่ไม่เคยรู้ว่าเป็นธรรม อย่างกระทบแข็งทั้งวัน แต่ไม่เคยรู้ว่า สิ่งที่ถูกกระทบที่แข็งนั้นเป็นธรรม กระทบแล้วหมดแล้ว แต่ขณะใดที่ได้ฟัง ต่างกับขณะที่หลงลืม ไม่รู้ เป็นรู้ลักษณะที่แข็ง ทำไมรู้ลักษณะที่แข็ง ในเมื่อคราวก่อนๆ ก็กระทบแข็ง แต่ไม่รู้ลักษณะที่แข็ง ไม่มีใครสามารถบันดาลให้สติสัมปชัญญะเกิด แต่เมื่อเกิดเห็นความเป็นอนัตตา ซึ่งความจริงไม่ใช่แต่เฉพาะขณะที่สติสัมปชัญญะเกิด แม้ขณะนี้ เดี๋ยวนี้ก็เป็นอนัตตา ซึ่งเกิดดับสืบต่อเนียนสนิท ไม่มีใครรู้ จากเห็นไปถึงได้ยินแล้ว มีร่องรอยอะไรที่จะให้รู้หรือไม่ หรือมีตัวเราที่ไปทำให้ได้ยินเกิด ไม่ใช่เห็นเกิด ก็ไม่ใช่ แต่สภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อรวดเร็ว และเป็นไปโดยไม่สามารถรู้ได้ว่า นั่นคือธรรมซึ่งเป็นไปตามธรรม ซึ่งคนอื่นก็ไม่สามารถจะยับยั้งหรือบังคับบัญชาได้ ฉันใด เวลาที่ปัญญาเกิดก็อย่างนั้น จากรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ก็รู้เสียงที่ปรากฏทางหู หรือรู้สภาพที่คิดนึก หรือรู้สภาพของแข็ง ด้วยความค่อยๆ เข้าใจขึ้น ต้องเป็นปกติ นั่นจึงจะเป็นสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูก ไม่มีตัวเราไปแอบแฝงที่คอยจะทำ คอยจะสังเกต ที่คอยอยากจะรู้ ที่คอยอยากจะให้ถึงการดับกิเลส แต่ก็เริ่มเข้าใจทีละเล็กทีละน้อย

    นี่คือธรรมจริงๆ ซึ่งบังคับบัญชาไม่ได้

    ผู้ฟัง เมื่อสักครู่นี้อาจารย์อรรณพกล่าวว่า สาธารณเหตุ ยังไม่เข้าใจคำว่า “สาธารณเหตุ”

    อ.อรรณพ ที่ว่า “สาธารณะ” ก็คือกว้างขวาง แล้วทำให้อยู่ในสังสารวัฏ คืออะไร เมื่อสักครู่ท่านอาจารย์กล่าวถึงศัตรูที่มองไม่เห็น มีอยู่ ๓ ตัว คืออวิชชา คือโมหะเป็นความไม่รู้ เป็น อ วิชชา เป็นสภาพที่ไม่รู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ตราบใดยังมีโมหะหรืออวิชชาอยู่ ก็ยังต้องอยู่ในสังสารวัฏ แม้พระอนาคามี อวิชชาจึงเป็นเหตุที่กว้างขวางที่ทำให้ยังอยู่ในสังสารวัฏ ก็เป็นสาธารณเหตุ

    อ.วิชัย ก็คงจะทราบว่า อวิชชา ซึ่งทรงแสดงโดยปฏิจจสมุปปาท ก็เป็นสภาพที่เป็นปัจจัย คือเป็นสาเหตุทั่วไปแก่สังขาร เป็นปัจจัยให้เกิดการกระทำกรรม ทั้งกุศลกรรม และอกุศลกรรมด้วย ความไม่รู้จึงเป็นเหตุให้เป็นไปในสังสารวัฏต่อไป เช่น บุคคลที่กระทำกรรมต่างๆ ทั้งกุศลกรรม เพราะยังมีอวิชชาที่เป็นปัจจัย ถ้าหมดอวิชชา จะเกิดอีกหรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ต้อง

    อ.วิชัย ก็ไม่มีเหตุให้เป็นไปในสังสารวัฏอีก ก็เพราะมีอวิชชาเป็นปัจจัยจึงมีทั้งการกระทำกรรมทั้งที่เป็นอกุศลกรรม ทั้งที่เป็นกุศลกรรม สงสัยไหมว่า เป็นปัจจัยให้เกิดกุศลกรรมอย่างไร

    ผู้ฟัง ตรงนี้ก็ยังสงสัยอยู่ คือเข้าใจเป็นอวิชชาทั้งหมด ทีนี้ก็ยังไม่เข้าใจทั้งหมด เข้าใจเล็กน้อย ที่สงสัยว่า สาธารณเหตุเป็นอย่างไร ก็เข้าใจขึ้นมาบ้างเล็กน้อย

    อ.วิชัย เมื่อสักครู่นี้ถามว่า ถ้าอวิชชาเป็นปัจจัยแก่อกุศล สงสัยตรงนี้หรือไม่

    ผู้ฟัง อวิชชาเป็นปัจจัยแก่อกุศล ไม่สงสัย

    อ.วิชัย เพราะว่าขณะที่ทำกรรมที่เป็นอกุศลกรรมประเภทต่างๆ ขณะนั้นแน่นอนต้องมีอวิชชาด้วย เพราะอกุศลจิตเกิดขึ้นต้องมีอวิชชาอยู่ แต่สงสัยไหมว่า ทำไมอวิชชาจึงเป็นปัจจัยแก่ทั้งกุศลกรรมด้วย

    ผู้ฟัง อวิชชาเป็นปัจจัยแก่กุศลกรรม ตรงนี้ไม่เข้าใจว่า เป็นปัจจัยได้อย่างไร ในเมื่ออวิชชาก็เป็นความไม่รู้ เป็นอกุศล แล้วเป็นปัจจัยแก่กุศลได้อย่างไร

    อ.วิชัย ก็เลยถามว่า สงสัยไหม

    ผู้ฟัง สงสัย

    อ.วิชัย เพราะเหตุว่าโดยปัจจัยที่ทรงแสดงว่า อวิชชาเป็นปัจจัยแก่เจตนาที่เป็นกุศลโดยปกตูปนิสยปัจจัยอย่างหนึ่ง และโดยอารัมมณปัจจัยอย่างหนึ่ง ดังนั้นเมื่อยังมีอวิชชาอยู่ ก็ยังเป็นปัจจัยให้บุคคลนั้นหรือสัตว์นั้นยังต้องกระทำกุศลกรรมต่อไป เพราะโดยกุศลธรรมเป็นสภาพที่ละ และตัดอกุศลธรรม แต่เมื่อยังไม่หมดอวิชชา ก็ยังต้องเป็นไปในสังสารวัฏ มีกุศลกรรมบ้าง มีอกุศลกรรมบ้าง

    ผู้ฟัง ขอเรียนถามอาจารย์นิภัทร ต่อเนื่องจากเมื่อวานนี้เรื่องกุศลเจตสิก ๑๙ สงสัยว่า ขณะที่กุศลจิตเกิดมีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วยหรือไม่

    อ.นิภัทร โสภณสาธารณเจตสิก ๑๙ มีปัญญาร่วมด้วยหรือไม่ ก่อนจะมาถามผม แล้วโสภณสาธารณเจตสิก ๑๙ อยู่ที่ไหน เกิดที่ไหน

    ผู้ฟัง เกิดที่จิต

    อ.นิภัทร เกิดพร้อมกับจิตที่เป็นกุศล ที่เป็นมหากุศล จิตที่เป็นจิตฝ่ายดีจะไม่เป็นมหากุศลอย่างเดียว โสภณจิตที่เป็นฝ่ายดี จะเป็นมหากุศลก็ได้ มหาวิบากก็ได้ มหากิริยาก็ได้ ที่เป็นฝ่ายดี ไม่ใช่เป็นฝ่ายอโสภณ ที่เป็นอเหตุกจิต ๑๘ อกุศลจิต ๑๒ รวมเป็น ๓๐ จะไม่มีโสภณเจตสิก ๑๙ เกิดร่วมด้วย จะเกิดเฉพาะจิตที่เป็นโสภณฝ่ายดี คือ มหากุศล มหาวิบาก มหากิริยา หรือรูปาวจรกุศล วิบาก กิริยา และโลกุตตรกุศลด้วย เขาจะเกิดกับจิตฝ่ายดีทั้งหมด

    ๑๙ ประกอบด้วย ศรัทธา ทุกคนมีศรัทธาถึงได้มาที่นี่ สติก็ต้องเกิดด้วย ศรัทธาจะเกิดลอยๆ โดยไม่มีสติไม่ได้ นอกจากเกิดร่วมกัน ยังต้องเกิดพร้อมกันด้วย สาธารณะ หิริ ละอายบาป โอตตัปปะ เกรงกลัวต่อผลของบาป บาปที่ทำไปจะให้ผลเป็นทุกข์ ก็เกรงกลัวไม่ทำบาป จะรู้หรือไม่รู้ก็ตามแต่ เมื่อจิตเป็นกุศล ฝ่ายดี ก็ต้องเกิด ไม่จำเป็นต้องรู้หมด เพราะทุกคนถูกภูเขาอวิชชาบังไว้ เมื่อจิตเป็นกุศล ไม่ได้หมายความว่าเป็นทั้งวัน อย่างทำบุญทอดกฐิน ไม่ใช่เป็นบุญทั้งวัน ตอนฆ่าสัตว์มาเลี้ยงแขกเลี้ยงคน ไม่ใช่บุญแล้ว บุญเกิดนิดๆ หน่อยๆ เท่านั้นเอง แต่ถ้าเกิดเมื่อไร เจตสิก ๑๙ อย่างนี้ต้องเกิดพร้อมด้วย ทั้งศรัทธา สติ หิริ โอตตัปปะ อโลภะ อโทสะ ๗ แล้ว แล้วบวกกับกุศลธรรม ธรรมที่เป็นคู่อีก ๖ คู่ ก็เป็น ๑๒ บวกกับ ๗ เป็น ๑๙ แล้วมีปัญญาหรือไม่

    ผู้ฟัง คือไม่มีปัญญาเจตสิก

    อ.นิภัทร นี่ทั่วไป ถ้าปัญญาจะต้องพิเศษ ปัญญาจะต้องรู้เหตุรู้ผล จะต้องรู้ความจริง ปัญญาไม่ใช่เกิดลอยๆ ปัญญาเกิดในฝ่ายโสภณ

    เจตสิกมี ๕๒ อัญญสมานาเจตสิก ๑๓ แบ่งเป็นสัพพสาธารณเจตสิก ๗ ปกิณณกเจตสิก ๖ เป็น ๑๓ อกุศลเจตสิก ๑๔ โสภณเจตสิกทั้งหมดมี ๒๕ แต่ไม่ได้เกิดทั้งหมด ปัญญาเกิดเฉพาะกับโสภณจิตญาณสัมปยุตต์ ไม่ได้เกิดทั่วไป โสภณเจตสิก ๒๕ แบ่งเป็นโสภณสาธารณะ ๑๙ ปัญญา ๑ เป็น ๒๐ วิรตีเจตสิกอีก ๓ คือ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ อัปปมัญญา ๒ คือ กรุณา มุทิตา รวมเป็นโสภณเจตสิก ๒๕ เฉพาะสาธารณะมีอยู่ ๑๙ กายปัสสัทธิ จิตตปัสสัทธิ คู่หนึ่ง กายลหุตา จิตตลหุตา คู่หนึ่ง กายมุทุตา จิตตมุทุตา คู่หนึ่ง กายกัมมัญญตา จิตตกัมมัญญตา คู่หนึ่ง กายปาคุญญตา จิตตปาคุญญตา คู่หนึ่ง กายุชุกตา จิตตุชุกตา คู่หนึ่ง รวม ๖ คู่ เป็น ๑๒ ๑๒ + ๗ ก็เป็น ๑๙ เป็นเรื่องชื่อทั้งหมด เกิดแล้วยังไม่รู้ การศึกษาถ้าเรารู้พื้นฐาน เรื่องราวของพระอภิธรรมก็เพื่อให้รู้ความจริงขณะที่เกิด มันยาก แต่ก็เป็นสิ่งที่อยู่นี้

    ผู้ฟัง หนูได้ยินท่านอาจารย์กล่าวถึงความเบา ความอ่อน ความควรแก่การงาน และที่อาจารย์นิภัทรกล่าวถึงยุคลธรรม ๖ คู่ มารวมกันทำให้หนูคิดมาก ท่านอาจารย์ก็จะกล่าวแต่ปรมัตถ์ล้วนๆ หนูก็เลยคิดว่า เมื่อรู้ปรมัตถ์แล้วก็อยากจะรู้จักชื่อ แล้วอย่างนี้หนูคิดเกินเหตุหรือไม่

    ท่านอาจารย์ พอใจที่ได้รู้จักชื่อไหมคะ

    ผู้ฟัง ตรงนี้ก็มีโลภะ อยากจะรู้จักชื่ออีก

    ท่านอาจารย์ แต่เข้าใจสิ่งที่ได้ฟังเป็นชื่อ ทั้งหมดเกิดดับหรือไม่

    ผู้ฟัง ก็รู้แต่เรื่องราว ยังไม่ได้เข้าถึงปรมัตถ์จริงๆ

    ท่านอาจารย์ อวิชชาเป็นปัจจัยแก่อะไร

    ผู้ฟัง อวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขาร

    ท่านอาจารย์ รู้จักสังขาร รู้สึกอวิชชาหรือยัง

    ผู้ฟัง ยังไม่รู้จริงๆ ค่ะ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น โดยคำที่ว่า อวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขาร หมายถึงเข้าใจคำที่พระผู้มีพระภาคตรัส และทรงแสดงไว้ แต่เข้าใจว่า อวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขารอย่างไร เพราะยังไม่รู้จักอวิชชา และยังไม่รู้จักสังขาร

    เพราะฉะนั้น ธรรมไม่ใช่สำหรับอ่านหรือฟัง โดยไม่พิจารณาให้เข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง คำนี้ไม่ผิด อวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขาร สังขารหมายถึงเจตนาที่กุศลกรรม และอกุศลกรรมทั้งหมด เพราะเหตุว่าเป็นเรื่องของสังสารวัฏ ตราบใดที่ยังมีอวิชชาอยู่ จะมีแต่อวิชชาเท่านั้นหรือ หรือมีโลภะเกิดร่วมด้วย มีโทสะเกิดร่วมด้วย พอมีกำลังขึ้นก็มีการกระทำทุจริตทางกาย ทางวาจา ซึ่งเป็นปกติในชีวิตประจำวัน แต่ไม่มีใครย้อนไปถึงว่า ขณะที่เป็นอกุศลกรรมทางกาย ทางวาจานั้นมาจากไหน ทั้งๆ ที่ทรงแสดงไว้ว่า มาจากอวิชชา การไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม และมีอกุศลเกิดร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นโลภะ ก็มีกาย วาจาที่เป็นไปตามโลภะ เวลาที่โทสะเกิดร่วมด้วยก็มีการกระทำทางกาย ทางวาจาที่เป็นโทสะ เมื่อถึงความเป็นอกุศลกรรมก็เป็นเหตุให้ไปสู่อบายภูมิ แต่อวิชชาเป็นปัจจัยแก่กุศลกรรมด้วย น่าสงสัยใช่ไหม ในเมื่ออวิชชาเป็นอกุศล แต่ก็บอกว่า อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดทั้งกุศลกรรม และอกุศลกรรม แต่ถ้าพิจารณาถึงความเป็นปัจจัยโดยละเอียด ตราบใดที่ยังมีอวิชชา จิตไม่ว่าจะเป็นกุศลก็ตามแต่ยังมีเชื้อ หรือธรรมที่ทำให้เกิดอกุศลหรือไม่


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 173
    13 ม.ค. 2567