พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 563


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๖๓

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๒


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ความดีมีหลายระดับขั้น แต่ก็ดีในสังสารวัฏ ตราบใดที่ถึงแม้ว่า จะได้เกิดเป็นอรูปพรหมบุคคลในอรูปพรหมภูมิ ซึ่งเป็นความมั่นคงของความสงบของจิตที่สูงกว่าความมั่นคงในความสงบที่มีรูปเป็นอารมณ์ แต่ก็ต้องกลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้ เพราะไม่มีอะไรเที่ยง ถาวรได้เลย สภาพของจิตซึ่งเกิดแล้วดับ ไม่ว่าที่ไหนก็มีอายุเท่าอุปาทขณะ ฐีติขณะ ภังคขณะ ขณะเกิด ขณะที่ยังไม่ดับ และขณะที่ดับเท่านั้นเอง สั้นมาก จิตทุกขณะไม่เปลี่ยนแปลง ธรรมทั้งหลายเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เพราะเหตุว่าเป็นสิ่งที่มีจริง ตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดง

    เพราะฉะนั้น สิ่งที่ประเสริฐที่สุดในชีวิตนี้ก็คือ สามารถเห็นถูก เข้าใจถูก ในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ มิฉะนั้นก็หลับไม่ตื่นตลอดทุกภพทุกชาติ เพราะไม่รู้ตามความเป็นจริงว่า แท้ที่จริงแล้วเป็นเพียงชั่วขณะ ทุกขณะของชีวิตนี้ชั่วคราว คำว่า “ชั่วคราว” สั้นแสนสั้น เกินกว่าที่เราจะคิดประมาณได้ เวลามีนาฬิกากับนับว่า อะไรสั้นกว่าอะไร แต่สภาพธรรมเกิดดับเร็วกว่านั้น สั้นกว่านั้น แล้วจะเอาอะไรที่สามารถไปวัดได้

    ด้วยเหตุนี้เลิกคิด หรือยัง ที่เพียงเห็นแล้วไม่เป็นอะไร เพราะเหตุว่าความเป็นจริงแม้ขณะนี้ที่เห็น ดับแล้ว ก็มีจิตเกิดต่อ โดยยังไม่รู้ว่าเป็นอะไร แล้วมีความติดข้องในสิ่งที่กำลังปรากฏ หรือไม่รู้ในสิ่งที่ปรากฏ แล้วแต่จะเป็นสภาพธรรมใดเกิดต่อจากจิตเห็น รวดเร็วเพราะมีปัจจัยเกิดแล้วดับไป แล้วภวังคจิตก็เกิดคั่น ก่อนจะรู้ว่ากำลังเห็นอะไร

    เพราะฉะนั้น จะไปเพียงเห็นได้ไหม โดยไม่มีปัญญาสามารถเข้าใจถูกในความเป็นจริงของสภาพธรรม เพื่อละ เวลาต้องการจะรู้ว่า สภาพธรรมขณะนี้สั้น เกิดขึ้นแล้วดับไป จะได้ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด เมื่อไรจะรู้ว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่สิ่งที่เราไปจำไว้ว่า เป็นคน เป็นสัตว์ จะแสดงให้เห็นว่า ถ้าไม่เข้าใจจริงๆ ไม่มีทางรู้อย่างนั้นได้

    เลิกคิด หรือยังคะ

    ผู้ฟัง นี้ค่อนข้างยาก ให้เข้าใจให้ถูกต้องว่า สิ่งนั้นมีจริงๆ

    ท่านอาจารย์ แล้วก็เป็นธรรม และธรรมทั้งหลายก็เป็นอนัตตา แยกกันไม่ได้ ธรรมทั้งหมดสอดคล้องกัน เพราะความเป็นจริงของธรรมเป็นอย่างไร ด้วยประการใด ก็ทรงแสดงความเป็นจริงด้วยประการนั้นๆ โดยละเอียดยิ่ง เพื่อให้เห็นว่า เป็นธรรม ซึ่งไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่เป็นของใคร บังคับบัญชาไม่ได้ แต่เกิดเพราะเหตุปัจจัย แม้ธรรมเป็นอนัตตา ก็ไม่อิสระ เพราะเหตุว่าต้องเป็นไปตามปัจจัย

    ผู้ฟัง ก็เป็นเรื่องที่แปลก มีตา มีหู มีจมูก มีทุกอย่างที่สามารถเข้าใจได้ แต่ก็ยากมาก

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เริ่มรู้จักพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือยังคะ

    ผู้ฟัง ลางๆ ค่ะ ลางเลือนเหลือเกิน

    ท่านอาจารย์ พระองค์ทรงตรัสรู้ความจริง ทรงแสดงธรรมตามความเป็นจริง คนที่ได้ฟังก็เข้าใจเพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย จนสามารถรู้แจ้งสภาพธรรม ชาติไหน เมื่อไร สภาพธรรมอะไร ก็ไม่สามารถรู้ได้ เพราะสภาพธรรมที่เกิดแล้วไม่ได้กลับมาอีก แต่ก็มีปัจจัยให้สภาพธรรมแต่ละอย่างเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัยนั้นๆ

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์เคยสอนว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงประทานไว้แทนพระองค์มีไว้เพื่อศึกษา และอันตรายที่สุดคือการคลุกคลีกับความเห็นผิด กรุณาขยายความด้วยค่ะ

    ท่านอาจารย์ ชอบคลุกคลีกับใครคะ

    ผู้ฟัง ก็ต้องสิ่งที่ดี

    ท่านอาจารย์ อัธยาศัยชอบคลุกคลีกับใคร

    ผู้ฟัง ก็ต้องเป็นไปตามที่สะสมมา บังคับไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ถ้าสะสมมาที่จะเห็นผิด แม้ได้ยินคำถูก ก็เข้าใจว่าผิด เพราะสะสมมาที่จะเห็นผิด

    ผู้ฟัง ได้ยินคำถูก ก็เข้าใจว่าผิด เพราะสะสมมาที่จะเห็นผิด

    ท่านอาจารย์ ถ้ามีคนบอกว่า ฟังธรรม ตั้งใจให้ดีนะ สงบๆ นะ แล้วก็จะรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏซึ่งเป็นการเกิดดับขณะนี้ได้ คล้อยตามไหมคะ

    ผู้ฟัง ต้องพิจารณาก่อนว่าตรงไหม

    ท่านอาจารย์ คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกคำยากแสนยากกว่าจะได้มาแต่ละคำ ถึงความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นคำจริง เป็นสัจธรรม ทำให้ผู้ฟังสามารถไตร่ตรอง และเป็นปัญญาของผู้ฟังเอง ที่สำคัญที่สุดคือสามารถทำให้เกิดปัญญาความเห็นถูกของตนเอง ซึ่งเป็นสมบัติที่ล้ำค่าที่สุด ไม่ใช่ไปเชื่อใคร หรือใครบอก แล้วก็เชื่อ โดยไม่ใช่ความรู้ความเข้าใจของตัวเอง

    เพราะฉะนั้น ถ้าคำสอนใดที่สามารถทำให้เข้าใจสภาพที่มีจริงด้วยตัวเองเพิ่มขึ้น นั่นคือคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะว่าขณะใดที่มีความเข้าใจถูก ขณะนั้นไม่มีอวิชชา โมหะ หรือไม่ยึดถือสภาพธรรมซึ่งเคยยึดถือมานานแสนนาน เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือว่าเป็นเรา

    ด้วยเหตุนี้พระธรรม คำสอน จึงสมบรูณ์ทั้งปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ถ้าไม่มีปริยัติ การรอบรู้ในสิ่งที่มีจริงขั้นฟังให้มั่นคงถูกต้อง ไม่มีทางที่จะถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นได้ ก็ไม่มีปัญญาที่จะรู้ว่า ความจริงของสภาพธรรมเดี๋ยวนี้ที่มีจริงๆ มีลักษณะอย่างไร แล้วจะไปถึงการรู้ความจริงของสภาพนั้นซึ่งเป็นจริงอย่างนั้นได้อย่างไร

    เพราะฉะนั้น ถ้าเคยฟังธรรมอาจจะเคยได้เฝ้าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งพระองค์ใด ใครจะรู้ แม้พระผู้มีพระภาคเองระหว่างที่ทรงบำเพ็ญพระบารมี ก็ได้เฝ้าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒๔ พระองค์

    เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า แต่ละท่านอาจจะเคยผ่าน เคยได้ยิน เคยได้ฟัง เคยสนใจ แต่ความเป็นผู้ละเอียด หรือไม่ละเอียด ก็จะทำให้ไม่ไตร่ตรองให้ละเอียด หรือไตร่ตรองแล้วไตร่ตรองอีกจนกระทั่งไม่มีความไม่สอดคล้องของธรรม เช่น ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ถ้าพูดอย่างนี้แล้วบอกให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นอัตตา หรือเป็นอนัตตา ไม่มีปัญญาเข้าถึงความเป็นอนัตตาอย่างมั่นคงว่า เป็นธรรม ซึ่งใครก็บังคับบัญชาไม่ได้

    ผู้ฟัง คือคำว่า มีไว้เพื่อให้ศึกษา สิ่งนี้กว้างขวางแค่ไหนคะ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ ถ้ารู้แล้วจะศึกษาไหมคะ ไม่ว่าที่ไหนทั้งนั้น เรื่องอะไรทั้งนั้น

    ผู้ฟัง ยังไม่รู้ชัดค่ะ

    ท่านอาจารย์ จะชัด หรือไม่ชัดก็ตาม ที่ศึกษานั้นเพื่ออะไร

    ผู้ฟัง เพื่อความรู้คะ

    ท่านอาจารย์ เพื่อเข้าใจสิ่งที่กำลังศึกษา ไม่ใช่ศึกษาเพื่อให้ไม่รู้ ไม่เข้าใจ สิ่งนั้นไม่ใช่ศึกษา เพราะฉะนั้น ถ้าถามว่า ศึกษาคืออะไร อะไรก็ตามที่สามารถทำให้เข้าใจสิ่งที่กำลังต้องการจะเข้าใจ จะโดยการฟัง โดยการอ่าน โดยการสนทนา โดยการคิด โดยการไตร่ตรอง ก็เพื่อเข้าใจสิ่งที่ยังไม่รู้ หรือยังสงสัย จะได้เข้าใจถูกต้อง แล้วก็หมดความสงสัย

    ผู้ฟัง ถ้าเรายังศึกษาไม่พอ เราจะปักใจลงไปว่า ความเห็นของเราถูกแล้ว ก็ออกจากผิวเผินไป แล้วควรจะพิจารณาตรงนี้อย่างไรคะ

    ท่านอาจารย์ จะพิจารณาอย่างไร ไม่ใช่ค่ะ ฟังให้เข้าใจขึ้น มิฉะนั้นจะเป็นตัวตนจะพิจารณาให้เข้าใจ ลืมอีกแล้วว่า เป็นธรรมซึ่งเป็นอนัตตา ต้องตรงจริงๆ สอดคล้องกันทั้งหมด ไม่คลาดเคลื่อน

    ผู้ฟัง คนสอนธรรมก็มาก แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า ใครสอนถูกสอนผิดคะ

    ท่านอาจารย์ แต่ก็ไม่มีใครบังคับให้เชื่อ

    ผู้ฟัง ความรู้เราก็ยังน้อยที่จะแยกแยะ

    ท่านอาจารย์ ฟังแล้วมีเหตุผลไหม

    ผู้ฟัง ทุกคนก็บอกว่า เหตุผลของตัวเองถูก

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ทุกคนบอกค่ะ หรือสิ่งที่ได้ยินนั้นเป็นเหตุผล หรือไม่ ไม่มีใครบังคับให้ต้องเชื่อ

    ผู้ฟัง ใช่ค่ะ แต่ทีนี้ความเชื่อที่ผิดก็มี ตัวเราเองก็ประมาทไม่ได้ เพราะยังไม่มั่นคง เราอาจจะมีความเชื่อในทางผิดก็ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น พิจารณาแต่ละประโยค แต่ละคำเลย

    ผู้ฟัง เมตตาเป็นธรรมที่มีคุณประโยชน์อนันต์ ทำให้โลกร่มเย็นสงบ แต่ติดข้องก็ไม่มีประโยชน์ อยากถามท่านอาจารย์ว่า ถ้าผมชอบผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย แล้วผมจะมีเมตตาได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ชอบเป็นกุศล หรืออกุศล

    ผู้ฟัง เป็นอกุศลครับ

    ท่านอาจารย์ สภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกับอกุศลคือ กุศล แล้วมีอกุศลไหมคะ

    ผู้ฟัง มีครับ

    ท่านอาจารย์ แล้วมีกุศลไหม

    ผู้ฟัง มีครับ

    ท่านอาจารย์ มีความไม่รู้ไหม

    ผู้ฟัง มีครับ

    ท่านอาจารย์ แล้วมีปัญญาไหม

    ผู้ฟัง มีครับ

    ท่านอาจารย์ ก็ค่อยๆ สะสมปัญญาจนกระทั่งรู้ความจริงเท่านั้นเอง ไม่ใช่เรื่องที่จะไปทำ ตัดเรื่องใครจะทำออกได้เลย ขณะนี้เป็นเรื่องของสภาพธรรมที่ทำกิจของสภาพธรรมนั้นๆ ไม่ใช่ใคร ขณะที่ชอบ มีตัวตน หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ ไม่มีก็ฟังธรรมจนกระทั่งเข้าใจว่า ขณะไหนสภาพธรรมใดเกิดขึ้น สภาพนั้นก็ทำกิจของสภาพธรรมนั้น ไปทำกิจของสภาพธรรมอื่นได้อย่างไร โทสะจะไปทำกิจของโลภะได้ไหม โลภะไปทำกิจของเมตตาได้ไหม ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ปัญญา ความเห็นที่ถูกต้องก็จะเจริญขึ้น แล้วกุศลทั้งหลายก็จะเจริญขึ้นแล้วจะละเอียดขึ้น แล้วก็รู้ความจริงของสภาพธรรมแต่ละอย่างตรงขึ้น

    ผู้ฟัง แล้วถ้าเห็นว่า สิ่งเหล่านี้เป็นโทษ ในชีวิตประจำวันผมต้องพบทั้ง ผู้หญิง และผู้ชาย แทนที่ผมจะคุยกับผู้ชายบ้าง ผมก็คุยกับผู้หญิง เมื่อมาพร้อมกัน ผมก็มีความรู้สึกต่างกัน ผมรู้สึกเป็นโทษ

    ท่านอาจารย์ โทษที่สุดคืออะไร

    ผู้ฟัง ความเห็นผิด

    ท่านอาจารย์ และอวิชชา ความไม่รู้ จึงเห็นผิด มีหนทางเดียว รู้จักโทษของโน่นของนี่ ของนั่น แต่ก็ยังมีโทษของสิ่งนั้นๆ อยู่ดี มีหนทางเดียว คือมีธรรมที่ตรงข้ามกับโทษนั้นๆ แล้วอบรมธรรมฝ่ายดีเพิ่มขึ้น

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์จะไม่แนะนำว่า ผมควรเข้าใจอย่างไร สัตว์ทั้งหลายมีธาตุ มีกรรมเสมอกันไม่ว่าผู้หญิง ผู้ชาย ผมพอเข้าใจได้ว่า

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวก่อนนะคะ ก็เข้าใจได้เอง พูดมาแล้ว จะต้องไปบอกอะไร

    ผู้ฟัง ไม่สามารถจะคิดได้ละเอียด

    ท่านอาจารย์ ก็เมื่อสักครู่นี้คิดแล้ว

    ผู้ฟัง ความคิดก็ต่างกันได้

    ท่านอาจารย์ ก็คิดบ่อยๆ ฟังอีกๆ ก็ละเอียดขึ้น

    ผู้ฟัง หมายความว่าฟังบ่อยๆ

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่ลืม สติเกิดไม่ลืม

    ผู้ฟัง เมตตาก็จะค่อยๆ เจริญได้

    ท่านอาจารย์ แล้วรู้ว่า เมตตาต่างกับโทสะ มีเพื่อน และก็เป็นเพื่อน หมายความว่าเพื่อนคือผู้ไม่หวังร้ายต่อใคร ก็สบาย เห็นผู้หญิงสวย โลภะเกิดแล้ว อยากอยู่ใกล้ อยากพูดด้วย

    ผู้ฟัง แม้ไม่สวย ก็อยากพูดด้วย นั่นเป็นความติดข้อง ไม่ใช่ความสวย ไม่สวย ถ้าผู้หญิงที่มีอายุกับผู้ชายที่มีอายุ ก็อยากคุญกับผู้หญิงที่มีอายุมากกว่าผู้ชาย ไม่เกี่ยวกับสวยไม่สวย

    ท่านอาจารย์ แล้วทำอะไรกับผู้ชาย หรือเปล่า ไม่พูด ไม่จา หรือยังแนะนำช่วยเหลือ

    ผู้ฟัง อาจจะคุยแต่คุยน้อยกว่า แต่ไม่ใช่เมตตา

    ท่านอาจารย์ รู้อย่างนี้ อีกหน่อยก็จะค่อยๆ เมตตาขึ้น

    ผู้ฟัง ในขณะเดียวกันก็ต้องค่อยๆ อบรมเมตตาให้มั่นคง

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่างต้องอาศัยการอบรม เพราะว่าคิดถึงจิตแสนโกฏิกัปป์มาแล้ว สะสมอะไรมาก อกุศลมาก กระด้าง หยาบ แข็ง ไม่อ่อน ไม่ควรแก่การงานที่จะเป็นกุศลเลย แม้ว่าได้ฟังพระธรรมที่ทรงชี้โทษของอกุศล และประโยชน์ของกุศลมากมายสักเท่าไร จิตใจก็ยังไม่อ่อนที่จะเกิดเป็นกุศลในขณะนั้นได้ จนกว่าพระธรรมที่ได้เข้าใจแล้ว จะทำให้สภาพที่แข็งกระด้างของจิตค่อยๆ อ่อนลง จนสามารถเป็นกุศลได้อย่างรวดเร็ว จนเป็นอุปนิสัย

    ผู้ฟัง อย่างที่ผู้ฟังมาถาม ขณะที่เห็น สีปรากฏ สมมติว่าผมเห็นผู้หญิง ขณะนั้นผมไม่ทันทำอะไร โลภมูลจิตเกิดขึ้นทันที

    ท่านอาจารย์ เห็นไหมคะว่า รู้ตัว

    ผู้ฟัง แต่ทำอะไรไม่ได้

    ท่านอาจารย์ แต่รู้แล้ว

    ผู้ฟัง แต่ก็ทำอะไรไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวก่อนค่ะ ปัญญาต้องตามลำดับขั้น หลายคนไม่เคยรู้ โลภะเกิดก็ไม่รู้ โลภะนิดหน่อยก็ไม่รู้ โลภะมากๆ ก็ยังไม่รู้อีก แต่คุณก็ยังรู้ว่า ขณะนั้นมีโลภะ แต่ปัญญาไม่พอที่จะเห็นความเป็นอนัตตา และรู้ว่า เป็นธรรม

    เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า ที่สภาพธรรมจะปรากฏ และสามารถเข้าใจลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมนั้นได้ ต้องตามลำดับ ทีละเล็กทีละน้อย พูดคำหนึ่งค่ะ ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แล้วเข้าใจแค่ไหน

    ผู้ฟัง นอกจากรู้ความจริง

    ท่านอาจารย์ ก็ลืมอีกแล้ว ใช่ไหมคะ

    ผู้ฟัง ครับ

    ผู้ฟัง ความเป็นตัวตนกับสภาพธรรม เป็นอย่างไรคะ

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้อะไรปรากฏ

    ผู้ฟัง สิ่งที่ปรากฏทางตากับเห็น

    ท่านอาจารย์ เป็นอะไร

    ผู้ฟัง เป็นสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ ก็ตอบแล้ว

    ผู้ฟัง แต่ว่าเป็นเราเห็น

    ท่านอาจารย์ ก็ตอบอีก สงสัยทั้งเรา สงสัยทั้งสภาพธรรม ตอนนี้ก็ตอบแล้วทั้ง ๒ อย่าง ถ้าไม่มีสภาพธรรม จะเป็นเราเห็น หรือไม่คะ แต่เพราะไม่เข้าใจว่าเป็นธรรม จึงถือ และเข้าใจผิดว่า เห็นเป็นเรา

    ผู้ฟัง ขณะที่มาศึกษาธรรม เดิมที่ไม่รู้ว่า มีสภาพธรรมที่ปรากฏจริงๆ ในชีวิตประจำวัน

    ท่านอาจารย์ หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่ง ชีวิตเป็นธรรม ไม่มีเราอีกต่างหาก

    ผู้ฟัง ประโยคนี้ ไม่ใช่ค่ะ

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ ก็พิจารณาจนกว่าจะใช่ หรือไม่ ตั้งแต่เกิดจนตาย เราบอกว่าเป็นชีวิตของเรา ความจริงตั้งแต่เกิดจนตายเป็นธรรมทั้งหมด ถ้าไม่มีธรรม ก็จะไม่มีอะไรทั้งสิ้น ไม่ใช่มีเราต่างหาก แล้วก็มีธรรมต่างหาก ถ้าไม่มีธรรม ก็ไม่มีอะไรในโลก กี่โลกๆ ก็ไม่มี

    ผู้ฟัง แสดงว่า สภาพธรรมกับความเป็นตัวตนจะประกบคู่กันไปตลอดเลยใช่ หรือไม่คะ

    ท่านอาจารย์ ความเห็นผิดยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา ความเห็นถูกเข้าใจถูกต้องว่า ไม่มีเรา แต่เป็นธรรม ทุกอย่างที่เคยเข้าใจว่าเป็นเรา เป็นธรรมทั้งหมด ทุกอย่างที่เข้าใจว่า เป็นคนนั้นคนนี้ก็เป็นธรรมทั้งหมด ทุกอย่างที่เข้าใจว่า เป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ก็เป็นธรรมนั่นเอง แต่ละลักษณะที่มีปัจจัยปรุงแต่ง เกิดแล้วดับ แล้วไม่กลับมาสักอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็นธรรมอะไรก็ตาม

    ผู้ฟัง การที่เป็นธรรมเกิดแล้วหมดไป แล้วไม่กลับมาอีก แต่ความเป็นจริงเหมือนกับมีซ้ำๆ อยู่ตลอด

    ท่านอาจารย์ แล้วทำไมใช้คำว่า “เหมือน” ถ้าเป็นจริง

    ผู้ฟัง ถ้าไม่ได้ศึกษาธรรม ก็ไม่รู้ว่า

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ศึกษาแล้วเข้าใจถูกแล้ว ใช่ไหมคะ

    ผู้ฟัง เข้าใจถูก

    ท่านอาจารย์ ขั้นฟัง

    ผู้ฟัง ค่ะ แต่ยังไม่แล้ว

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่ายังไม่ถึงการรู้ลักษณะเฉพาะแต่ละลักษณะที่ปรากฏจริงๆ

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ต้องสงสัยอยู่ตลอดเวลา

    ท่านอาจารย์ จนกว่าจะเป็นพระโสดาบัน

    ผู้ฟัง แต่การยึดถือสภาพธรรม หรือการเป็นตัวตน เหมือนกับคิดว่า นั่นเป็นธรรม ใช่ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ คิด ไม่ใช่รู้ กำลังคิด มีปัญญารู้อะไร ขณะคิด คิดทั้งวันก็ไม่รู้ว่าเป็นธรรม แต่ปัญญารู้ว่า คิดเป็นธรรมอย่างหนึ่ง ไม่ใช่เห็น ไม่ใช่ได้ยิน

    ผู้ฟัง แม้ความเป็นตัวตน ซึ่งรู้จักได้ หรือเริ่มเข้าใจว่า มีจริงๆ เป็นเราจริงๆ สิ่งนี้ก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งที่เข้าใจในสิ่งนั้นไม่ถูกต้อง

    ท่านอาจารย์ จึงบัญญัติใช้คำว่า มิจฉาทิฏฐิ หรือความเห็นผิด

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ขณะที่เป็นเราเห็น หรือเป็นดอกไม้ที่เราชอบ สิ่งนี้ก็เป็นความเห็นผิดตลอด

    ท่านอาจารย์ พระพุทธเจ้ารู้ หรือไม่ว่าเป็นดอกไม้

    ผู้ฟัง ทราบค่ะ

    ท่านอาจารย์ แล้วเป็นความเห็นผิด หรือไม่

    ผู้ฟัง ต้องไม่มีค่ะ คือที่เรียนถามท่านอาจารย์เพราะสภาวะนั้นไม่ได้เกิดขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือเป็นเราเห็น เราได้ยิน เราคิดนึก ถึงแม้จะศึกษาว่า สิ่งนั้นเป็นธรรม แต่ก็ไม่ใช่ธรรมจริงๆ

    ท่านอาจารย์ เพราะศึกษายังไม่พอค่ะ ฟังมานาน แต่ที่เคยสะสมว่าเป็นเรา นานกว่า

    ผู้ฟัง แล้วมีความเป็นตัวตนที่ต้องการให้เป็นธรรม ทั้งๆ ที่จริงๆ ก็ยังเป็นเราเห็น เราได้ยิน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ประโยชน์จากการฟัง ยังไม่ได้คลายความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน แม้ขั้นฟัง ฟังแล้วฟังอีก ก็จะเห็นความหนาแน่นของการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา นานแค่ไหน กว่าจะค่อยๆ จาง ค่อยๆ ลด ค่อยๆ คลายลงไป แม้ในขั้นการฟัง ก็ฟังด้วยความเข้าใจถูกเพิ่มขึ้นว่า เป็นธรรมแน่นอน เห็นเดี๋ยวนี้เป็นธรรม เพราะความหมายก็คือว่า เป็นสิ่งที่มีจริง เกิดแล้วโดยไม่มีใครทำให้เกิดด้วย ใครทำให้เห็นเกิดได้ไหม มีไหมคะ ทำให้เห็นเกิดได้ไหม

    ผู้ฟัง จริงๆ พอฟังไปเรื่อยๆ หลายๆ ปี ก็รู้สึกว่า ทำไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ต่อไปก็ฟังไปอีกหลายๆ ปี แล้วเข้าใจเพิ่มขึ้น

    ผู้ฟัง แต่ก็ยังมีความรู้สึก

    ท่านอาจารย์ แต่เดี๋ยวนี้เป็นอย่างนี้ แต่ถ้าฟังต่อไปอีกหลายๆ ปี จะค่อยๆ เข้าใจเพิ่มขึ้นอีก หรือไม่

    ผู้ฟัง แต่ความยึดถือเหนียวแน่นที่ว่าเป็นเราเห็น เหมือนกับว่าตื่นลืมตาขึ้นมาคือเห็นทันที

    ท่านอาจารย์ โดยไม่รู้ว่า เห็นเป็นธรรม ก็ต้องเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ เพราะไม่รู้ว่า เห็นเป็นธรรม

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กล่าวบ่อยๆ ว่า เห็นเป็นธรรม แล้วท่านอาจารย์เบื่อที่จะกล่าวบ้าง หรือไม่คะ

    ท่านอาจารย์ ถ้าเบื่อคงไม่กล่าวอีก อาทิตย์หน้าก็ไม่มาแล้ว ใช่ไหมคะ

    ผู้ฟัง เพราะจริงๆ แล้วดูเป็นประโยคง่ายๆ ธรรมดา แล้วเราก็ฟัง ซ้ำแล้วซ้ำอีกๆ แต่คนอื่นกล่าวก็ไม่เหมือนท่านอาจารย์กล่าว แม้แต่ตัวเองกล่าว ก็มีความรู้สึกเหมือนกับเป็นตัวตนที่กล่าวประโยคนี้

    ท่านอาจารย์ ค่ะ จนกว่าจะเข้าใจขึ้น

    ผู้ฟัง ยากมากค่ะ

    ท่านอาจารย์ ไม่มีอะไรยากกว่านี้ค่ะ ในสังสารวัฏด้วย ไม่ใช่เฉพาะชาตินี้ชาติเดียว

    ผู้ฟัง แล้วความเข้าใจขึ้น มีจริงๆ ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ ฟังว่า ธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง เข้าใจแล้วใช่ไหมคะ

    ผู้ฟัง ฟังทุกครั้งก็เข้าใจตามประโยคที่กล่าว

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ไม่ขาดการฟัง เป็นพหุสัจจะ ผู้ฟังมากด้วยความเข้าใจ ไม่ใช่ฟังมากๆ แต่ไม่เข้าใจ

    เพราะฉะนั้น การฟังต้องละเอียดรอบคอบ เพื่อที่จะรู้ว่า ขณะนี้ที่กำลังฟังมีสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ ฟังแค่นี้เข้าใจแล้วในขั้นฟัง แล้วก็เป็นความจริงอย่างนี้ จนกว่าสามารถที่จะเริ่มไม่ติดในนิมิตอนุพยัญชนะ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 173
    13 ม.ค. 2567